<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 กันยายน 2548
 

บทที่ 3 demand function ภาคหนึ่ง

“หากต้องการให้ลูกค้า ซื้อของเราในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็ลดราคาสินค้าของท่านลงสิ”

หากเราเชื่อกฎของอุปสงค์ที่ว่า ราคาและปริมาณความต้องการซื้อ จะมีความสัมพันธ์ที่ผกผันกัน เราก็คงทำตามคำแนะนำข้างต้น เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายของเรา อันจะนำไปสู่กำไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
นั่นเป็นเพียงแค่การมองภาพของตัวแปรกำหนดปริมาณความต้องการซื้อของผู้บริโภค เพียงแค่ตัวแปรเดียวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีตัวแปรอีกมากมายที่มีอิทธิพลต่อดีมานด์ หรือปริมาณความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภค

นักเศรษฐศาสตร์พยายามอธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆที่มีอิทธิพลต่อดีมานด์ของผู้บริโภค โดยผ่านทางตัวแปรความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นว่า ตัวแปรเหล่านั้น มีผลกระทบต่อดีมานด์มากน้อยเพียงใด และเป็นไปในทิศทางใด

ยังมีตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อดีมานด์สินค้าของผู้บริโภค นอกเหนือจากราคาของสินค้านั้นๆ อาทิเช่น

- ระดับรายได้ของผู้บริโภค

- ราคาสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกัน และสินค้าที่ใช้ทดแทนกัน

- รสนิยมของผู้บริโภค

- ขนาดจำนวนประชากร หรือขนาดกลุ่มลูกค้า

- และอื่นๆ เช่น การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจ, นโยบายของรัฐบาล ,ผลของฤดูกาล เป็นต้น

หากเราอยู่ในฐานะของผู้ขาย หรือผู้ผลิตสินค้า การพยายามทำเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปรเหล่านี้ ที่มีผลต่อปริมาณการตัดสินใจซื้อ ก็คงจะมีส่วนช่วยในการวางกลยุทธ์ทั้งในเชิงรับ และเชิงรุกต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดได้ไม่น้อยทีเดียว





ปัจจัยประการแรก ..... ระดับรายได้ของผู้บริโภค

ปริมาณความต้องการสินค้าโดยส่วนใหญ่ จะแปรผันตรง กับระดับรายได้ของผู้บริโภค กล่าวคือ หากผู้บริโภคมีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเราเรียกสินค้าเหล่านี้ว่า สินค้าปกติ (Normal Goods)

แต่อย่างไรก็ตาม ระดับรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการบริโภคที่แตกต่างกัน บางสินค้าแม้ว่าระดับรายได้จะสูงขึ้นมาก ปริมาณการบริโภคก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สินค้าบางประเภท แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ปริมาณการบริโภคกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในทางเศรษฐศาสตร์ หากเราใช้ผลของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคอันเกิดจากรายได้นี้ว่ามากหรือน้อยเพียงใด เราจะสามารถแบ่งสินค้าปกติออกได้เป็นสองประเภท คือ

นั่นก็คือ สินค้าจำเป็น (Necessary Goods) และสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Goods) โดยสินค้าประเภทแรกจะเป็นสินค้าที่หากระดับรายได้สูงขึ้น จะทำให้ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้น ในระดับที่น้อยกว่าสินค้าประเภทหลัง

เมื่อเราเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าว ก็ทำให้เราเข้าใจและวิเคราะห์ได้ว่า ทำไมธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการอย่างการท่องเที่ยว ธุรกิจสปา หรือแม้กระทั่งสินค้าอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ต่างๆ จึงมีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ก็เพราะว่า สินค้าและบริการเหล่านี้ จัดอยู่ในหมวดหมู่สินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้น เมื่อประเทศยิ่งพัฒนามากขึ้นเพียงใด ระดับรายได้ของประชากรในประเทศก็ยิ่งสูงขึ้น จึงทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น หากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้า สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าของตนได้ การเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคในสัดส่วนที่สูงขึ้น ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของระดับรายได้ กับปริมาณการบริโภคมิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป ยังคงมีสินค้าบางประเภทที่มีความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ เมื่อระดับรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กลับส่งผลทำให้ปริมาณการบริโภคสินค้าดังกล่าวกลับลดลง

เช่น บริการขนส่งมวลชนรถเมล์ธรรมดา จะเป็นสินค้าบริการที่คนระดับรายได้ต่ำใช้บริการ แต่เมื่อระดับรายได้สูงขึ้น กลับทำให้ปริมาณการใช้บริการรถดังกล่าวน้อยลง เป็นต้น


ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกสินค้าดังกล่าวว่า สินค้าด้อย (Inferior Goods)


ซึ่งจริงๆแล้ว สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่าง ก็อาจจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับสินค้าด้อยตามที่ได้กล่าวมา..... เช่นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราจะพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่สินค้าอื่นๆ เผชิญกับภาวการณ์หดตัวของธุรกิจ แต่ยอดขายของบะหมี่สำเร็จรูปกลับโตขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการสวนกระแสกับระดับรายได้ที่ลดลงเสียจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในทัศนคติของผู้เขียนเอง ก็มิอาจจะฟันธงได้เสียทีเดียวว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าด้อย เพราะ ความสัมพันธ์ในทิศทางที่ผกผันกันลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ระดับรายได้สูงขึ้น หมายความว่า.....

ระดับรายได้ที่สูงขึ้น อาจจะมิใช่ตัวพยากรณ์ว่า ปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะลดลง

นอกจากนี้ ในการพิจารณา รายได้ของผู้บริโภค กับปริมาณการตัดสินใจซื้อนั้น ในบางครั้ง เราอาจจะต้องวัดจากรายได้ที่แท้จริง ซึ่งในที่นี้ หมายถึง ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยจริงๆ มิใช่รายได้ที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว !!!

ซึ่งประเด็นนี้ ก็จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ ในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าเหตุผลที่ภาวะที่ราคาน้ำมันถีบตัวขึ้นสูงเกือบใกล้สามสิบบาทต่อสิตร ส่งผลทำให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะ ผู้พนักงานบริษัทที่มีรายได้หลักจากเงินเดือน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคกันอุตลุด พ่อค้าแม่ค้า ต่างพากันบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขายของยากขึ้น มีแต่คนเดิน ไม่มีคนซื้อ....”

ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะ น้ำมันเป็นสินค้าพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอิทธิพลต่อต้นทุนการผลิตของสินค้าเกือบทุกชนิด ซึ่งอาจจะส่งผลผ่านต้นทุนการผลิตของสินค้าอันเกิดจากค่าวัตถุดิบการผลิตที่แพงขึ้น หรือ เกิดจากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้น ราคาสินค้าจึงต้องปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะต้นทุน ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ.... แต่รายได้ที่เป็นตัวเงิน (เงินเดือน) กลับไม่เพิ่มขึ้น ก็เท่ากับว่า รายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคลดลง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภค จึงลดลง ทั้งนี้ก็ยังคงเป็นไปตามความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ กับปริมาณการบริโภค ที่มักจะแปรผันตามกัน หากเพียงแต่ว่า เป็นการพิจารณาจากรายได้ที่แท้จริงเท่านั้นเอง

>>>> แล้วจะมาตั้งกระทู้ใหม่ สำหรับปัจจัยกำหนด ดีมานต์ ตัวอืนๆ นะคะ สำหรับกระทู้นี้ อย่างให้เพื่อนๆ ในห้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นนะคะ ว่า รายได้ของตน กับสถานการณ์ตอนนี้ มีผลต่อการตัดสินใจบริโภค เป็นไปตามทฤษฎีหรือไม่ .... แบบว่าแอบมีบ่นๆ ก็ไม่ว่ากันคะ เพราะเข้าใจหัวอกเดียวกัน>>>> หัวอก รายได้ที่เป็นตัวเงินไม่ได้เพิ่มไง อิอิ




Create Date : 15 กันยายน 2548
Last Update : 15 กันยายน 2548 6:55:34 น. 7 comments
Counter : 9358 Pageviews.  
 
 
 
 
//www.pantip.com/cafe/silom/topic/B3738887/B3738887.html เอาไปโพสไว้คะ เผื่อว่ามีใครมีความเห็นเพื่มเติม ลองลิงค์ไปอ่านดูได้นะคะ
 
 

โดย: AjarnTIk IP: 61.90.75.77 วันที่: 15 กันยายน 2548 เวลา:7:24:15 น.  

 
 
 
ปัจจัยประการที่สอง.... ราคาสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สินค้าทุกๆประเภท ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าอื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวข้องกับสินค้าของคู่แข่ง เกี่ยวข้องกับสินค้าอื่นๆในหมวดธุรกิจใกล้เคียงกัน หรือแม้กระทั่งอาจต้องถูกนำไปใช้ร่วมกับสินค้าอื่นๆในการบริโภค

โดยปรกติแล้ว ความสัมพันธ์ของสินค้าสองชนิดใดๆ จะมีความสัมพันธ์อยู่สองลักษณะคือ สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน (Substitute Goods) กับ สินค้าที่ใช้ประกอบกัน (Complementary Goods) ซึ่งปริมาณความต้องการของสินค้ากับระดับราคาของสินค้าอื่นๆ ก็จะมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของความเกี่ยวข้องของสินค้า ดังต่อไปนี้

หากสินค้า Aและ B เป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนกัน นั่นหมายความว่า เมื่อราคาสินค้า A เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะลดการบริโภคสินค้าA ลงแล้วหันไปบริโภคสินค้า B เพิ่มขึ้นแทน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้า A กับปริมาณความต้องการสินค้า B จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่อยู่ในตลาดเดียวกัน แต่คนละยี่ห้อ เราถือได้ว่าเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนกัน ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงเช่นนี้ หากคุณตัดสินใจที่จะเพิ่มราคาของสินค้าเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แล้วคู่แข่งของคุณยังคงไม่เปลี่ยนแปลงราคาสินค้า และยอมแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวเสียเอง ก็อาจจะเสี่ยงต่อการที่คุณจะสูญเสียดีมานด์ของสินค้าของคุณให้กับคู่แข่งได้

ในทางตรงกันข้าม หากคุณมีทำ R&D ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าคุณลดลงต่ำกว่าคู่แข่ง หรือการที่คุณตัดสินใจใช้กลยุทธ์ตัดราคา โดยที่คู่แข่งของคุณยังคงระดับราคาขายอยู่ ณ ระดับราคาเดิม ก็ย่อมส่งผลทำให้ตลาดเทมาหาคุณ แต่อย่างไรก็ตาม การตัดราคานั้น ผู้ผลิตควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามราคาด้วย เพราะหากเป็นเช่นนั้น ราคาของตลาดทั้งระบบลดลง จริงอยู่ว่าทำให้ปริมาณความต้องการของตลาดโดยรวมเพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าของคุณเพิ่มขึ้น แต่รายได้อาจจะได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นก็เป็นได้


ในทางตรงกันข้าม หากสินค้า A และ B เป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกัน นั่นหมายความว่า เมือราคาสินค้า A เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะลดการบริโภคสินค้า A ลง พร้อมๆ กับการลดการบริโภคสินค้า B ด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ ระหว่างราคาสินค้า A กับปริมาณความต้องการสินค้า B ในกรณีนี้ จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
ยกตัวอย่างเช่น กรณีรถยนต์ ฟิล์มติดรถยนต์ เครื่องเสียงรถยนต์ ถือว่าเป็นสินค้าประกอบกัน ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศให้อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในห้าของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมไอที อุตสาหกรรมสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมบริการ) บรรดาสินค้าประกอบกับสินค้ารถยนต์ทั้งหลาย ก็ย่อมได้อานิสงค์จากนโยบายครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากผลของนโยบายสัมฤทธิ์ผล นั่นก็หมายความว่า ยอดขาย หรือปริมาณดีมานด์ต่อรถยนต์จะสูงขึ้น ซึ่งสินค้าที่ใช้ประกอบกันก็จะมีดีมานด์ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากเราเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่กำลังหาลู่ทางทางธุรกิจอยู่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปแย่งชิงทำการตลาดกับสินค้าที่มีการแข่งขันในตลาดสูงอยู่แล้ว มีดีมานด์มากอยู่แล้ว หรือตลาดที่ได้รับการสนับสนุน อย่างเช่นกรณีรถยนต์ก็ได้ แต่เราสามารถมองโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกันกับตลาดดังที่ได้กล่าวมา ซึ่งช่องทางเหล่านี้ มักจะเป็นเหมือนเงาขนาดใหญ่ที่หลบอยู่ในมุมมืด จึงทำให้เราเห็นความสำคัญได้อย่างไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ....

... จะมีสักกี่คน ที่เห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น

นอกจากเรื่องราวของโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ได้เห็นกันตรงๆ ดังที่กล่าวมา ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสินค้าที่ใช้ประกอบกัน ก็ทำให้เราเข้าใจการคาดการณ์กลยุทธ์บางอย่างของตลาดได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีน้ำมันเชื้อเพลิง กับรถยนต์ ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกัน ดังนั้น ตามทฤษฎีแล้ว เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้รถยนต์เพื่อเป็นสินค้าประกอบกัน ก็ต้องลดลงด้วยเช่นกัน

ซึ่งจุดนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ย่อมรู้ดีถึงผลกระทบจากราคาน้ำมัน ดังนั้น เพื่อไม่ได้ตนได้รับผลกระทบมาก แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับเปลี่ยนก็คือ ต้องคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องยนต์เพื่อการประหยัดน้ำมัน หรือเครื่องยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันชนิดอื่นๆมาทดแทน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ไม่มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำมัน ซึ่งทำให้ความต้องการใช้รถจะได้ไม่ลดลง
จะเห็นได้ว่าสินค้าในตลาดหลายๆ ชนิด มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันไปมา อาจจะเป็นในรูปของเป็นสินค้าประกอบกัน หรือ สินค้าทดแทนกัน ดังนั้น เมื่อมีผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอก เช่น กรณีไข้หวัดนก, กรณีการก่อการร้าย หรือผลกระทบจากนโยบายต่างๆของภาครัฐ ผลกระทบดังกล่าว อาจจะไม่ได้กระทบต่อสินค้าบริการบางอย่างโดยตรง แต่แน่นอนว่าผลของความสัมพันธ์ระหว่างสินค้า ย่อมก่อให้เกิดปรากฎการณ์โดมิโนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 
 

โดย: AjarnTik (pinkoptio ) วันที่: 15 กันยายน 2548 เวลา:17:54:10 น.  

 
 
 
//www.pantip.com/cafe/silom/topic/B3739717/B3739717.html อันข้างบนนี่โพสไว้อีกกระทู้หนึ่งนะคะ วันนี้ทำไมขยันเขียนเสียจริง อิอิ
 
 

โดย: AjarnTik (pinkoptio ) วันที่: 15 กันยายน 2548 เวลา:17:55:12 น.  

 
 
 
เข้ามาอ่านเอาความรู้ค่ะ

ว่าจะเอาหลักการนี้ไปใช้ในความรักสักหน่อย เข้าท่าไหมเนี่ย คุณ อาจารย์


ปล. แต่ประเด็นคือ หนูไม่รู้ว่า ในเวทีความรักของหนูน่ะ หนูเป็น สินค้าจำเป็น หรือ สินค้าฟุ่มเฟือย ( ฮ่า ฮ่า ฮ่า )
 
 

โดย: อาราลียะ วันที่: 20 กันยายน 2548 เวลา:0:17:00 น.  

 
 
 
บลอคมีความรู้มากเลยคะ

นู๋ต้องใช้ข้อมูล มาทำงาน ได้ของพี่ เอิ้กๆ

โล่งไปหน่อยนึง

อยากนั่งคุยกะพี่มากกว่า



แต่คงเป็นไปไม่ไปไม่ได้

ขอบคุณคะ
 
 

โดย: nutjung IP: 58.147.70.32 วันที่: 20 สิงหาคม 2549 เวลา:17:21:57 น.  

 
 
 
ดิฉันได้นำบทความข้างต้นนี้ไปประกอบการเขียนรายงานต้องขอขอบคุณผู้มีความรู้ด้วย อยากให้มีการอัพเดทข้อมูลมากขึ้นด้วยนะคะ
-ราคาที่ใช้ใช้ในส่วนประสมการตลาดเพื่อใช้ในการพัฒนาบูรณาการ
 
 

โดย: แก้มป่องmara_kor@hotmail.cm IP: 124.120.201.204 วันที่: 1 กันยายน 2550 เวลา:20:37:01 น.  

 
 
 
อยากให้นำเรื่อง สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน
และสินค้าที่ใช้ร่วมกันเข้ามาอธิบายด้วยค่ะ
ขอบคุณล่วงหน้สนะคะ
 
 

โดย: นุ่มนิ่ม IP: 182.93.206.87 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2553 เวลา:12:33:53 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ajarntik
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ได้รับทุนภูมิพล(ปริญญาตรี)
เศรษฐศาสตร์ มธ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
แล้วได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มธ.)
มีประสบการณ์สอน 15 ปี จากสถาบันกวดวิชาเดอะเบรน
และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนจะผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว พร้อมๆไปกับงานที่ปรึกษา
[Add ajarntik's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com