<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
21 กุมภาพันธ์ 2549
 

หลักการคิดแก้ปัญหาแบบเศรษฐศาสตร์

เคยไหมที่เวลาเจอปัญหา ก็มักจะหาทางแก้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นวิเคราะห์จากอะไร สุดท้าย คำตอบวิธีการแก้ปัญหาที่ออกมา ก็กลายเป็นแนวคิดที่ลอกเลียนแบบจากคนอื่นบ้าง เป็นแนวคิดที่แก้ที่ปลายเหตุบ้าง ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ หากเรารู้จักวิธีการคิดแบบเป็นระบบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาต่างๆอย่างมีลำดับขั้นตอนแล้ว การได้มาซึ่งคำตอบ หรือแนวทางในการแก้ปัญหา ก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ปัญหาที่เราเผชิญ ก็มักเป็นปัญหาที่มีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย เช่น ตัวอย่างที่หนึ่ง บริษัทมีนโยบายให้ฝ่ายการตลาดจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายของบริษัทให้สูงขึ้น แต่ให้ระยะเวลาการส่งเสริมการขาย และงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมดังกล่าวที่จำกัด ตัวอย่างที่สอง โรงงานเห็นว่า ตลาดมีกำลังการซื้อที่ขยายตัวขึ้นจึงอยากที่จะผลิตสินค้าจำนวนมากๆ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องกำลังการผลิตและเครื่องจักรที่ไม่เพียงพอ ตัวอย่างที่สาม รัฐบาลมีแผนการลงทุนหลายๆโครงการเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็ติดปัญหา เรื่องงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น

แนวคิดการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์ เป็นแนวคิดที่พยายามวิเคราะห์ และหาคำตอบอย่างเป็นระบบภายใต้หลักเหตุและผลของการหาคำตอบที่อยู่บนพื้นฐานข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้เอง เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับทุกๆคนที่ยังคงต้องเผชิญกับการเลือก โดยทำความเข้าใจและนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ อันจะทำให้เราได้คำตอบที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่

การได้มาซึ่งคำตอบที่อยู่บนพื้นฐานของการมีข้อจำกัดต่างๆ เราควรศึกษาและเข้าใจสองประเด็นหลักๆคือ


ประเด็นที่หนึ่ง การตัดสินใจที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น มีอะไรเป็นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ (objective) และอะไรคือสิ่งที่จะทำให้บรรลุ (achieve) เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์นั้นๆ

เช่น ผู้บริโภคกำลังตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ “ความพอใจสูงสุด” (maximize utility) และสิ่งที่ทำให้เขาบรรลุถึงเป้าหมายนั้นๆ ก็คือ “ประเภทและปริมาณการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่ทำให้เขาได้รับความพอใจ”

ในขณะที่ผู้ผลิตเผชิญกับการตัดสินใจหลายอย่าง ทั้งการเลือกใช้ปัจจัยการผลิต, เลือกปริมาณผลผลิตที่จะต้องผลิต, เลือกกลยุทธ์ในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายหลัก คือ “กำไรสูงสุด” (maximize profit) และสิ่งที่ทำให้เขาบรรลุถึงเป้าหมายนั้นๆ ก็คือ “ชนิดของปัจจัยการผลิดต่างๆ ที่ต้องเลือก”, “ประเภทสินค้าและคุณภาพสินค้าที่ต้องเลือก”, “ระดับราคาที่ต้องเลือก” เป็นต้น


ประเด็นที่สอง ในการตัดสินใจนั้นๆ มีอะไรเป็นข้อจำกัด (constraints) ที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ปรารถนา

เช่น ผู้บริโภค ต้องเผชิญกับ “รายได้ที่จำกัด” ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าได้หลากหลายชนิด หรือซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่มากตามที่ต้องการ

ในขณะที่ผู้ผลิตเผชิญกับ “เงินทุน” ที่มีจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้มากอย่างที่ต้องการ, ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีเงินทุนหนากว่า เป็นต้น




เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า การตัดสินใจที่เรากำลังเผชิญอยู่ มีอะไรเป็นเป้าหมายหลัก และอะไรเป็นข้อจำกัด หลักการในการหาคำตอบที่สำคัญก็คือ “ลำดับการเลือก” สิ่งที่จะทำให้เป้าหมายนั้นๆบรรลุ ซึ่งหากเราเลือกได้อย่างถูกต้อง และมีความเหมาะสมในการเลือก แม้ว่าคำตอบที่ได้จะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดอย่างที่ปรารถนา (first-best solution) แต่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดมากมาย (optimal solution with constraints)

การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ผู้บริโภคจะเลือกตัดสินใจจัดสรรเงินรายได้ที่มีอยู่จำกัด โดยเลือกซื้อสินค้าที่ทำให้ได้รับความพอใจที่สูงกว่าก่อน หรือเลือกซื้อสินค้าที่เมื่อจ่ายเงินออกไปในจำนวนเท่ากันแล้วได้รับความพอใจที่สูงกว่าก่อน ส่วนสินค้าที่ได้รับความพอใจจากการบริโภคในระดับที่ต่ำกว่า ก็จะเลือกในลำดับถัดๆมา ซึ่งในที่สุดแล้วตัดสินใจเลือกดังกล่าว จะทำให้ได้ความพอใจมากที่สุดภายใต้เงินที่มีจำกัด

สำหรับการวิเคราะห์ในด้านพฤติกรรมผู้ผลิต หากผู้ผลิตต้องการเลือกจัดสรรเงินลงทุน ซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อมาผลิตสินค้า ผู้ผลิตจะเลือกปัจจัยการผลิตที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่สูงกว่า, เลือกปัจจัยการผลิตที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตก่อน เพื่อทำให้เงินลงทุนที่จ่ายไปคุ้มค่าที่สุด ก่อให้เกิดผลผลิตที่มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผลของการลงทุนและการตัดสินใจดังกล่าว จะนำไปสู่กำไรที่มากที่สุดภายใต้เงินลงทุนที่มีจำกัด




จากที่กล่าวมาข้างต้น คือ บทสรุปหลักการวิเคราะห์ของทฤษฏีเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจว่าเราจะนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์ในทางธุรกิจและสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วๆไปได้อย่างไร จึงขอยกตัวอย่างปัญหาการตัดสินใจที่เกิดในองค์กรธุรกิจ หรือแม้กระทั่งปัญหาการตัดสินใจในภาครัฐเองมาวิเคราะห์อย่างง่ายๆ




กรณีที่หนึ่ง.....
“บริษัทมีนโยบายให้ฝ่ายการตลาดจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายของบริษัทให้สูงขึ้น แต่ให้ระยะเวลาการส่งเสริมการขาย และงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมดังกล่าวที่จำกัด”

บริษัทโดยส่วนใหญ่ ต่างมีเป้าหมายที่คล้ายๆกัน คือ กำไรและอัตราการเติบโตของบริษัท โดยอาจจะเกิดจากการจัดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ การกระตุ้นยอดขาย การวางกลยุทธ์ทางด้านราคาและผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง และอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมต่างๆที่ลงทุนทำลงไป ต่างก็ต้องมีการใช้ทรัพยากรทั้งเงินทุนและบุคคลที่มีอยู่จำกัด
จากกรณีข้างต้น บริษัทต้องการกระตุ้นยอดขายจากการส่งเสริมการขาย บริษัทก็ต้องศึกษาก่อนว่า การส่งเสริมการขายในธุรกิจที่ตัวเองเผชิญอยู่นั้น กลยุทธ์ใดที่ได้ผลที่สุด กลยุทธ์ใดที่โดนใจและกระตุ้นความต้องการซื้อกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และมีการใช้งบประมาณเทียบกับกลยุทธ์อื่นๆแล้วไม่ได้ต่างกันมาก

นอกจากนี้เราต้องตระหนักอย่างยิ่งกว่า กลยุทธ์ของธุรกิจประเภทหนึ่ง อาจจะใช้ได้ดีกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีกับเรา สิ่งสำคัญ คือ เราต้องทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าของเราเสียก่อน เข้าใจถึงพฤติกรรมของเขา แล้วประเมินสถานการณ์ หาโอกาสที่จะทำการตลาดแบบใหม่ๆอยู่เสมอ




กรณีที่สอง.....
“ภาครัฐมีนโยบายต้องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องเผชิญกับงบประมาณแผ่นดิน ที่จัดสรรให้จำกัด”

สำหรับภาครัฐเองก็ต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือกในกิจกรรมและโครงการต่างๆภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ และงบประมาณแผ่นดินของประเทศที่ถูกตั้งขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ แต่ละกระทรวงกรม จะได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว และต้องบริหารจัดการไปในโครงการที่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ยุทธศาสตร์หลักประการหนึ่งของภาครัฐไทยในปัจจุบัน คือ “การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม” ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของประเทศ โดยมีตัวชี้วัด คือ การเพิ่มมูลค่า GDP และการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการของภาคอุตสาหกรรม

สิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ คือ โครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเสนอขึ้นมาเกือบพันโครงการ แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ถูกจัดสรรเพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมก็มีอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การบริหารจัดการ และการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ถูกเสนอเข้ามาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จะต้องหาหลักเกณฑ์พิจารณาว่าแต่ละโครงการนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ มากน้อยเพียงใด ใช้งบประมาณไปแค่ไหน แล้วเลือกโครงการที่นำไปสู่การบรรลุผลสูงสุดก่อน




ลองนำแนวคิดการแก้ปัญหาแบบเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของท่านกันเถอะ!!!



Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2549 14:14:45 น. 4 comments
Counter : 1986 Pageviews.  
 
 
 
 
จากบทความข้างต้น ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้

ถึงแม้กระบวนการคิดที่มีแบบแผน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่มิใช่หมายถึงการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ ขีดจำกัดด้านความถูกต้องของข้อมูล เช่น บริษัทฯ ต้องการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า เพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยการพิจารณาให้ใช้ กลยุทธ์ต่างๆ ที่บริษัทเลือกที่โดนใจลูกค้ามากที่สุด คุ้มค่ามากที่สุด แต่ผู้บริหารจะทราบ หรือรู้ได้อย่างไรว่า กลยุทธ์ไหนที่จะ "โดน" มากที่สุด ซึ่งการจะได้ข้อมูลในการตัดสินใจในลักษณะนี้ โดยมากจะตัดสินกันจากความเชื่อ จากประสบการณ์ของผู้บริหาร หรือ อย่างมาก เป็นการประชุมร่วมกันหลายๆ ฝ่าย แต่ทั้งนี้ไม่เสมอไปที่จะได้ผลลัพธ์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ประเด็นสำคัญคือ เราจะรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างเที่ยงตรงได้อย่างไร ? คงต้องพลิกตำราอีกหลายเล่ม เพื่อ หาระเบียบวิธีเก็บข้อมูล ในส่วนนี้ ซึ่งทั้งหมด เป็นเพียงการคาดการ์ณ โดยอิงจากข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น .....

 
 

โดย: dboy IP: 58.64.110.172 วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:23:03:15 น.  

 
 
 
 
 

โดย: คนดี IP: 202.57.165.23 วันที่: 15 กันยายน 2549 เวลา:10:12:53 น.  

 
 
 
ชอบจัง อยากแล้วได้ความรู้มากครับ
 
 

โดย: นู๋จอบ IP: 161.200.255.162 วันที่: 10 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:38:14 น.  

 
 
 
very very good
 
 

โดย: souk IP: 202.144.185.2 วันที่: 11 มีนาคม 2552 เวลา:15:18:00 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ajarntik
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ได้รับทุนภูมิพล(ปริญญาตรี)
เศรษฐศาสตร์ มธ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
แล้วได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มธ.)
มีประสบการณ์สอน 15 ปี จากสถาบันกวดวิชาเดอะเบรน
และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนจะผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว พร้อมๆไปกับงานที่ปรึกษา
[Add ajarntik's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com