<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
21 กุมภาพันธ์ 2549
 

Elasticity of Demand Theory and application

หลังจากที่เราได้ทราบไปแล้วว่า ดีมานด์ หรือปริมาณความต้องการซื้อของผู้บริโภค ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าของตัวมันเอง ระดับรายได้ ราคาสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จำนวนประชากร รสนิยมของผู้บริโภค ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาเราทราบเพียงว่า ความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ เป็นไปในทิศทางใด กล่าวคือ มีความสัมพันธ์ที่แปรผันตามกัน หรือแปรผกผันกัน

ซึ่งการทราบเพียงข้อมูลดังกล่าว อาจจะไม่เพียงพอที่ผู้ผลิต จะใช้ในการตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ หรือว่าเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์บางอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย ฯลฯ

หากแต่ว่าสิ่งที่ผู้ขายจะต้องรู้เพิ่มเติมขึ้น ก็คือ ค่าความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์ (Elasticity of demand) ซึ่งหมายถึง ระดับการตอบสนองหรือความอ่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปัจจัยที่ส่งผลต่อดีมานด์นั่นเอง หรือพูดง่ายๆ เราจะต้องทราบว่า การเปลี่ยนแปลงขนาดของตัวแปรแต่ละตัว จะส่งผลทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น หรือลดลงมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

ประเภทของค่าความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า เราสนใจที่จะดูระดับการตอบสนองของตัวแปรตัวใด เช่น ค่าความยืดหยุ่นต่อราคา (Price Elasticity) เป็นการพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงในปริมาณซื้อ เมือเทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลงในราคาของสินค้านั้นๆ เช่นเดียวกัน ค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้ (Income Elasticity) และค่าความยืดหยุ่นไขว้ (Cross Price Elasticity) ก็เป็นการพิจารณาเทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลงในรายได้ และราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ตามลำดับ




แต่ในที่นี้ จะขอพูดประเด็นของค่าความยืดหยุ่นต่อราคาก่อน โดยเหตุที่เราต้องสนใจค่าความยืดหยุ่นตัวนี้ เป็นเพราะว่า เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามากระทบต้นทุนการผลิต หรือคู่แข่งมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า เราซึ่งอยู่ในฐานะผู้ผลิตรายหนึ่ง จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์ทางด้านราคาของบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคอย่างแน่นอน

หากท่านที่จะตัดสินใจทำการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าของท่านเองเพียงอย่างเดียว โดยที่กลยุทธ์อื่นๆมิได้เปลี่ยนแปลง ท่านต้องพึงตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ปริมาณความต้องการ กับราคาสินค้านั้นๆ มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎของอุปสงค์ ดังนั้น ถ้าท่านตัดสินใจที่จะกระตุ้นยอดขายด้วยกลยุทธ์ด้านราคา ท่านก็ต้องลดราคาสินค้า แต่ถ้าท่านตัดสินใจเพิ่มราคาสินค้าเมื่อใด ปริมาณความต้องการก็ย่อมลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากความสัมพันธ์ที่แปรผกผันกันนี้ ทำให้เราไม่สามารถฟันธงได้ว่า รายรับ (ซึ่งเท่ากับผลคูณระหว่างราคาและปริมาณซื้อ) จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการเปลี่ยนแปลงราคา นอกเสียจากว่า เราจะทราบ ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใด

หากสินค้าใดที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาสูง เมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง จะทำให้ปริมาณการบริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (ในทิศทางตรงกันข้าม) ดังนั้น หากสินค้าของผู้ผลิตรายใดเป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นสูง ผู้ผลิตพึงที่จะระมัดระวังในการเพิ่มราคาสินค้า เพราะ การเพิ่มราคาสินค้า กลับจะยิ่งผลักดันให้รายได้ของผู้ผลิตลดลง
แต่ในขณะเดียวกัน สินค้าประเภทนี้การวางกลยุทธ์การทำสงครามราคากลับจะเป็นวิธีการกระตุ้นยอดขายที่ดี เพราะการลดราคา จะทำให้ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สำหรับสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ การเพิ่มราคาสินค้ากลับเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ของผู้ผลิต เพราะเมื่อเพิ่มราคาสินค้า ปริมาณการบริโภคจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลทำให้รายรับรวมเพิ่มขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันสินค้าดังกล่าวกลับไม่เหมาะสมที่จะกระตุ้นยอดขายด้วยการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายด้วยวิธีการลดราคา





เมื่อเราทราบว่า ค่าความยืดหยุ่นต่อราคามีอิทธิพลอย่างมากต่อการวางนโยบายทางด้านราคาของผู้ขาย เราจึงควรต้องพิจารณาว่า สินค้าที่เราทำการผลิตหรือขายอยู่นั้น มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคามากน้อยเพียงใด โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลกำหนดขนาดความมากน้อยของค่าความยืดหยุ่นต่อราคาของสินค้าหนึ่งๆ มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ได้แก่
- ความสามารถในการทดแทนกันของสินค้า
- ชนิดของสินค้า
- สัดส่วนของรายจ่ายในการซื้อสินค้าต่อรายได้
- ระยะเวลาการปรับตัว นับตั้งแต่ราคาเปลี่ยนแปลง


ปัจจัยประการที่หนึ่ง ---- ความสามารถในการทดแทนกันของสินค้า
ปัจจัยตัวนี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดค่าความยืดหยุ่นต่อราคาของดีมานด์ ดังนั้น ตัวผู้ผลิตเองควรที่จะเน้นวิเคราะห์ว่า สินค้าของท่านมีสินค้าอื่นๆ ทดแทนได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งสินค้าใดหาสินค้าทดแทนได้ยาก โอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตตามอัตราการเติบโตของตลาดก็จะเป็นไปได้ไม่ยาก และเป็นการยากที่คู่แข่งสินค้าอื่นๆ จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
สินค้าหรือบริการแต่ละชนิดมีความสามารถในการหาสินค้าอื่นๆ มาทดแทนได้ไม่เท่ากัน สินค้าใดที่สามารถหาสินค้าอื่นมาทดแทนได้ง่าย เมื่อราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคสินค้าที่ใช้ทดแทนได้แทน ทำให้การเปลี่ยนแปลงการบริโภคสินค้าดังกล่าวลดลงอย่างมาก ดังนั้น สินค้าที่หาสินค้าอื่นทดแทนได้ง่าย จึงมีค่าความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง

ในทางตรงกันข้าม สินค้าใดก็ตามยิ่งหาสินค้าอื่นทดแทนได้ยาก เมื่อราคาสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคยังคงมีความจำเป็นต้องบริโภคสินค้าดังกล่าวอยู่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคลดลงไม่มากนัก ดังนั้น ค่าความยืดหยุ่นของสินค้าลักษณะนี้ จึงมีค่าต่ำ
ยกตัวอย่างเช่น กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน เป็นพลังงานที่หาอย่างอื่นมาทดแทนได้ยาก ดังนั้น การที่การไฟฟ้าขึ้นค่าไฟ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ผู้บริโภค อยากที่จะประหยัดพลังงานลดการใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่สามารถหาพลังงานจากแหล่งอื่นมาทดแทน ดังนั้นปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนก็ลดลงไม่มากนัก ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาไฟฟ้าจึงมีค่าน้อย



ปัจจัยประการที่สอง ---- ชนิดของสินค้า
หากเราแบ่งประเภทสินค้าตามความสามารถในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เราสามารถแบ่งสินค้าได้เป็นสองลักษณะ คือสินค้าจำเป็น กับสินค้าฟุ่มเฟือย โดยสำหรับสินค้าจำเป็น แม้ว่าราคาจะสูงขึ้น ผู้บริโภค ก็ยังจะต้องบริโภคสินค้าดังกล่าวอยู่ ทำให้ปริมาณการบริโภคเปลี่ยนแปลงไม่มาก เมื่อเทียบกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่สู้จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์

ดังนั้น สินค้าใด เป็นสินค้าจำเป็น จะมีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาน้อย เมือเทียบกับสินค้าฟุ่มเฟือย



ปัจจัยประการที่สาม ---- สัดส่วนของรายจ่ายในการซื้อสินค้า ต่อรายได้
สินค้าใดที่มีสัดส่วนของรายจ่ายในการซื้อสินค้าต่อรายได้สูง เมื่อราคาสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบกระเทือนต่องบประมาณของผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้บริโภคพยายามลดการบริโภคสินค้าดังกล่าวลง เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการใช้จ่ายในสินค้าอื่นๆมากนัก ดังนั้น เราจะพบว่าสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยสูงๆ จะมีค่าความยืดหยุ่นต่อราคามากกว่าสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยต่ำๆ


ปัจจัยประการที่สี่ ----ระยะเวลาการปรับตัว นับตั้งแต่ราคาเปลี่ยนแปลง
นอกจากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา เมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง ปัจจัยในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภค จะมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับ ระยะเวลานับตั้งแต่ราคาสินค้านั้นๆเปลี่ยนแปลงด้วย เนื่องจากระยะเวลามีผลต่อการปรับตัวของผู้บริโภคในการหาสินค้าอื่นมาทดแทน หรือปรับพฤติกรรมความเคยชินในการบริโภคได้ ยิ่งระยะเวลาของการปรับตัวจากในการเปลี่ยนแปลงของราคายาวนานเท่าใด ค่าความยืดหยุ่นจะยิ่งมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกๆ ของภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคต่างยังคงเคยชินกับพฤติกรรมการใช้น้ำมันแบบเดิมๆอยู่ ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันมิได้ลดลงมาก แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นและไม่มีทีท่าที่จะลดลง ผู้บริโภคจะเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้น้ำมัน เช่น วางแผนในการเดินทางมากขึ้น ใส่ใจในการเช็คสภาพรถยนต์มากขึ้น หรือแม้กระทั่งอาจจะเปลี่ยนใช้รถยนต์ที่มีขนาดเครื่องที่เล็กลงในระยะยาว เป็นต้น ดังนั้น จึงทำให้ปริมาณการบริโภคน้ำมันลดลงได้




ในทางปฏิบัติแล้ว การหาค่าความยืดหยุ่นต่อราคาดังกล่าว คงจะต้องนำเครื่องมือและเทคนิคทางเศรษฐมิติ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น เราสามารถวิเคราะห์ได้ด้วย ปัจจัยดังที่ได้กล่าวมา พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าที่อยู่ในหมวดใกล้เคียงกับสินค้าที่เราทำการผลิต ก็จะทำให้เราพอทราบว่า สินค้าที่เราสนใจ มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคามากหรือน้อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกำหนดนโยบายทางด้านราคาของสินค้าได้






Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2549 14:11:26 น. 9 comments
Counter : 5686 Pageviews.  
 
 
 
 
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดิฉันของยกตัวอย่าง และข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับพฤติกรรมการตั้งราคาในตลาด เพื่อให้เห็นว่า ค่าความยืดหยุ่น เข้าไปมีอิทธิพลอย่างไร



กรณีศึกษาที่หนึ่ง.....
หากลองสังเกต เทียบระหว่างยารักษาโรค กับ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สินค้าทั้งสองประเภทนี้ จริงๆ แล้วโดยนัยยะของต้นทุนการผลิต คงจะไม่มีความแตกต่างกันสักเท่าใดนัก การตั้งราคาขายปกติก็มีสัดส่วนกำไรต่อหน่วยที่พอๆกัน แต่เราจะพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มักจะมีการจัดรายการโปรโมชั่นลดราคา เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายอยู่เป็นประจำ ในขณะที่ยารักษาโรคแทบจะไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวเลย ..... เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ค่าความยืดหยุ่นที่แตกต่างกันนั่นเอง ที่เป็นส่วนหนึ่งจากเหตุผลหลัก กล่าวคือ ยารักษาโรค ถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น (ในกรณีที่เกิดอาการเจ็บป่วย) ทำให้สินค้าดังกล่าวมีค่าความยืดหยุ่นที่ต่ำ การลดราคาสินค้าลงจึงไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้มากนัก แต่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เราถือได้ว่า เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน การลดราคาสินค้า ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ดี ในการเพิ่มยอดขาย (นอกจากนี้ สำหรับสินค้าประเภทหลังนี้ สิ่งที่ผู้ผลิตอาจจะวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขายได้อีกทางหนึ่ง ก็คือ การสร้างแบรนด์ และการสร้างค่านิยมให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และต้องรับประทานสม่ำเสมอ)

ลองถามตัวท่านเองดูว่า สินค้าที่ท่านผลิตอยู่ หรือขายอยู่ เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นสูงเหรอไม่เพียงใด เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าจำเป็น




กรณีศึกษาที่สอง....
เคยสังเกตหรือไม่ว่า ทุกครั้งที่มีการลดราคาสินค้า เสื้อผ้าแบรนด์ดัง หลากหลายยี่ห้อ กลุ่มผู้บริโภคที่แห่กันมาซื้อประหนึ่งดั่งได้ฟรี คือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะต่ำจนถึงปานกลาง ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง กลับไม่สนใจเท่าใดนัก.... อะไรคือสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว?

ค่าความยืดหยุ่น ถือได้ว่า เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง แม้ว่าสินค้าที่ผู้บริโภคทุกคนเผชิญ จะเป็นสินค้าที่มีราคา(คิดเป็นตัวเงิน) ที่เท่ากัน แต่หากเราเทียบสัดส่วนของรายจ่ายในการซื้อสินค้าต่อรายได้ เราจะพบว่ามีสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ทำให้สินค้าชนิดเดียวกันโดยเปรียบเทียบแล้วสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยจะมีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้สูง จึงทำให้คนกลุ่มรายได้น้อยมีความอ่อนไหวต่อราคาที่เปลี่ยนแปลงได้มากกว่า คนที่มีรายได้สูง

ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตจะต้องตระหนัก และตอบตัวเองให้ได้ว่า สินค้าที่ท่านกำลังขายอยู่ จับตลาดไปที่ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใดเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะถ้าตอบตัวเองไม่ได้ การวางกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจจะส่งผลเสียตามมา ไม่เฉพาะแค่รายได้ที่อาจจะลดลง แต่หมายรวมไปถึงภาพลักษณ์ของสินค้าด้วย



กรณีศึกษาที่สาม....
สินค้าหลายๆชนิด มีการตั้งราคาที่แตกต่างกันสำหรับผู้บริโภค แต่ละกลุ่ม ทั้งๆที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกัน เช่น รถไฟฟ้า BTS มีการตั้งคิดราคาตั๋วผู้ใหญ่ กับตั๋วนักเรียนนักศึกษาที่ไม่เท่ากัน, ตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีการคิดราคาต่างกันระหว่างนักท่องเที่ยวคนไทย กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นต้น

ทำไมผู้ขายถึงสามารถตั้งราคาให้แตกต่างกันได้ และทำไมกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งจึงยอมจ่ายแพงกว่า..... คำตอบก็คือ สินค้าเดียวกัน มุมมองต่อความสามารถในการทดแทนกันของสินค้าผู้บริโภคแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น กรณีของรถไฟฟ้า สำหรับผู้ใหญ่ที่มีเวลาจำกัด ต้องเร่งรีบในการเดินทาง จะเห็นว่า การเดินทางด้วยวิธีอื่น ทดแทนการเดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ยาก เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนนักศึกษา, กรณีของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อมาเที่ยวในเมืองไทยแล้ว ด้วยเหตุของเวลาที่จำกัด และข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆที่น้อยกว่าคนไทย ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ หาที่อื่นๆมาทดแทนได้ยากโดยเปรียบเทียบ

ดังนั้น หากสินค้าที่เผชิญอยู่หาสินค้าอื่นๆ มาทดแทนได้ยาก ค่าความยืดหยุ่นจะยิ่งต่ำ การขึ้นราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้น สำหรับคนกลุ่มนี้ จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะผลของการขึ้นราคา ไม่กระทบปริมาณการบริโภคเท่าใดนัก เราจึงพบว่า ทั้งผู้ใหญ่ (กรณีรถไฟฟ้า) และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (กรณีค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว) จึงเผชิญกับราคาต่อหน่วยที่สูงกว่า

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกวิธีการตั้งราคาที่แตกต่างกันนี้ว่า “price discrimination”




กรณีที่สี่....
นอกจากค่าความยืดหยุ่นจะมีความสำคัญต่อผู้ขาย ที่จะเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงด้วย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างกรณียาเสพติด เช่นยาบ้า ที่ภาครัฐพยายามที่จะทลายให้ เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่จะตามมา

โดยปรกติแล้ว การแทรกแซง เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในตลาด ให้ยาเสพติดหมดไป มีวิธีในการแก้ไขอยู่สองฝั่งแนวคิด .... แนวคิดแรก ก็คือ การปราบปรามทางด้านผู้ค้า และผู้ผลิต ซึ่งจะส่งผลทำให้ปริมาณการขายน้อยลง ถือเป็นการแทรกแซงทางด้าน supply (ปริมาณเสนอขาย) กับแนวคิดที่สอง การรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ถึงโทษของยาเสพติด วิธีการหลีกเลี่ยง ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ที่ติดยาให้เลิกเสพ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการซื้อลดลง ถือเป็นการแทรกแซงด้าน demand

แม้ว่า การแทรกแซงทั้งสองอย่างจะทำให้ปริมาณยาบ้าในตลาดลดลง แต่การปราบปรามกลับทำให้ผู้ติดยาบ้าหายาได้ยากขึ้น และค่าความยืดหยุ่นต่อราคาที่สูงมากสำหรับผู้ที่ติดยา เพราะหาอย่างอื่นมาทดแทนไม่ได้ ผลคือ ทำให้ราคายาถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก

แม้ว่า ผู้ขายจะขายได้น้อยลง แต่ว่า เมื่อเทียบกับราคาที่สูงขึ้น กลับส่งผลทำให้รายได้โดยรวมจากการค้ายามากขึ้น ปัญหาการค้ายาบ้าจึงไม่หมดไป ดังนั้น หากสินค้าใดก็ตามที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาสูง การแทรกแซงด้วยการลดปริมาณการขายในตลาด กลับไม่ใช่วิธีที่ได้ผลนัก การรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า แต่ละลดปัญหา ได้อย่างถาวร เพราะเมื่อไม่มีคนซื้อ ก็ย่อมไม่มีคนขายนั่นเอง




โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่า การเข้าใจถึงค่าความยืดหยุ่น ถือได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีเหตุมีผลในตัวของมันเอง
 
 

โดย: ตัวอย่างประยุกต์ค่ะ (pinkoptio ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:14:08:56 น.  

 
 
 
ขอโทษทีค่ะ เขียนไว้ หลายตอนแล้ว แต่ไม่ได้เอามาลงใน blog ให้อ่านกัน เพราะคิดว่า จะทำเว็บของตัวเองเสียที แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่ได้เริ่ม เลยเอาความรู้มาลงในนี้ก่อนดีกว่า
 
 

โดย: อาจารย์ติ๊ก (pinkoptio ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:14:12:54 น.  

 
 
 
ถ้าทำ "เวบของตัวเองเสียที" เสร็จเมื่อไหร่ ช่วยประชาสัมนพันธ์ด้วยนะครับ อาจารย์
 
 

โดย: Nutty Professor วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:16:59:28 น.  

 
 
 
ให้ความรู้ดีมากเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ ทำให้เข้าใจความยืดหยุ่นของราคาได้เยอะเลย
 
 

โดย: นานา IP: 203.158.4.155 วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:17:24:51 น.  

 
 
 
ขอบคุงคับที่ให้แสงสว่างจ้าให้กะผม
 
 

โดย: รันรัน IP: 125.26.198.115 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:19:32:52 น.  

 
 
 
สุดยอด
 
 

โดย: อนุสิต IP: 202.28.179.13 วันที่: 22 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:33:10 น.  

 
 
 
เก่งจังค่ะ มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ กระจ่างขึ้นเลยค่ะ ^^
 
 

โดย: 000 IP: 125.24.222.245 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา:15:38:29 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากคับ
 
 

โดย: tae IP: 58.97.10.38 วันที่: 28 มีนาคม 2553 เวลา:21:03:34 น.  

 
 
 
Thx u so much ka, It's very good: clear and make picture. I'm studying abroad ka. Yr article help me a lot.
 
 

โดย: Noon IP: 145.107.9.7 วันที่: 28 มกราคม 2557 เวลา:3:18:53 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ajarntik
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ได้รับทุนภูมิพล(ปริญญาตรี)
เศรษฐศาสตร์ มธ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
แล้วได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มธ.)
มีประสบการณ์สอน 15 ปี จากสถาบันกวดวิชาเดอะเบรน
และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนจะผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว พร้อมๆไปกับงานที่ปรึกษา
[Add ajarntik's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com