<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
28 กันยายน 2548
 

บทที่ 4 demand function ภาคสอง

ปัจจัยประการที่สาม รสนิยมของผู้บริโภค

สำหรับปัจจัยตัวนี้ อาจจะกล่าวง่ายๆว่า ก็คือ ทัศนคติ หรือมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าชนิดหนึ่งๆ หากผู้ซื้อมีทัศนคติที่ดีต่อการบริโภคสินค้านั้นๆ ก็เป็นการง่ายที่ผู้ขายจะกระตุ้นยอดขายสินค้าของตน ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริโภคมีมุมมองที่ไม่ดีต่อการบริโภคสินค้าดังกล่าว ก็อาจจะทำให้ความต้องการซื้อลดลงก็ได้


ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างทั้งกรณีที่ผู้ผลิตหรือหน่วยงานต่างๆ กระตุ้นก่อให้เกิดทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับสินค้าต่างๆทั้งในแง่บวกซึ่งส่งผลทำให้ดีมานด์ต่อสินค้านั้นๆ เพิ่มขึ้น และในแง่ลบ ที่ทำให้ดีมานด์ต่อสินค้านั้นๆลดลง ดังต่อไปนี้


กรณีกระแสนิยมกาแฟสด เนื่องมาจากความนิยมในการดื่มกาแฟได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ดีมานด์ต่อกาแฟสดพุ่งสูงขึ้น ส่งผลทำให้ร้านกาแฟสดที่ผลุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุก ๆ ย่านตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้า, ย่านธุรกิจ, โรงแรม, โรงพยาบาล รวมไปถึง สถานีบริการน้ำมัน เมื่อเรามาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจการดื่มกาแฟสดกันมากขึ้นทดแทนการดื่มกาแฟสำเร็จรูปในอดีต ก็เป็นเพราะแรงกระตุ้นหลายๆด้าน อาทิเช่น การเข้ามาของธุรกิจกาแฟซึ่งเป็นแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง สตาร์บัคส์ ทำให้คนไทยมีความรู้และมีรสนิยมในการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น, การสร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟและทำให้ร้านกาแฟกลายเป็นพื้นที่ที่สามที่เป็นพื้นที่เปิดสำหรับผู้คนกลุ่มหนึ่งในการพบปะสังสรรค์หรือเจรจาธุรกิจกัน เป็นต้น


หรือแม้กระทั่ง การรณรงค์ของภาครัฐ ให้ประชาชนหันมาห่วงใยและรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ก็ส่งผลให้ประชาชนมีการออกกำลังกายมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งผลของมาตรการดังกล่าว ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่องและธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเครื่องออกกำลังกาย รวมไปถึงธุรกิจสถานออกกำลังกาย ที่นับวันจะกระจายอยู่ทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครที่มีประชากรอยู่หนาแน่น


เราจะเห็นได้ว่า ทั้งสองกรณีข้างต้น เป็นกรณีที่ผู้บริโภคได้รับแรงกระตุ้นจากผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ดีมานด์ได้รับการกระตุ้นจากเดิมที่มีอยู่ไม่มาก ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งในตลาด..... เคยคิดที่จะปรับทัศนคติของผู้บริโภคต่อสินค้าของคุณ เพื่อกระตุ้นยอดขายแล้วหรือยัง???


สำหรับในแง่ทัศนคติทางด้านลบต่อสินค้า ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ผลิตรายใดอยากให้กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นกับสินค้าของตนเอง ทุกคนต่างพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าของตนเป็นไปในทางลบ แต่บางครั้งก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง หากสินค้าที่คุณเป็นผู้ผลิตเป็นอันตรายต่อสังคม หรือผู้บริโภค


ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่าง “บุหรี่” เราจะเห็นได้ว่าในอดีตที่ผ่านมาเนื่องจากค่านิยมผิดๆเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ว่าสูบแล้วเท่ห์ สูบแล้วเข้าสังคมกับเพื่อนฝูงได้ ส่งผลทำให้เยาวชนของเราหลายต่อหลายราย ตกเป็นทาสของบุหรี่ แต่ทัศนคติตรงจุดนี้เริ่มเปลี่ยนไป หลังจากที่ภาครัฐพยายามออกมารณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับภัยของบุหรี่ นอกจากนี้ ยังให้ดารานักแสดงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ตัวอย่างเยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลยาเสพติด และมาตรการอื่นๆอีกมาก เราจึงเห็นได้ว่า ผู้บริโภคเริ่มมีทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลทำให้ดีมานด์ของบุหรี่ ไม่ขยายตัวมากอย่างในอดีตอีกด้วย





Create Date : 28 กันยายน 2548
Last Update : 28 กันยายน 2548 7:46:58 น. 11 comments
Counter : 1131 Pageviews.  
 
 
 
 
ปัจจัยประการที่สี่ ขนาดจำนวนประชากร หรือขนาดกลุ่มลูกค้า


“หากสินค้าใดก็ตาม ยิ่งมีกลุ่มฐานลูกค้ามากเท่าใด สินค้านั้นๆ ก็ย่อมมีสิทธิขายได้มากเท่านั้น” จากความสัมพันธ์ของปัจจัยข้างต้น เราอาจจะกล่าวได้ว่า ขนาดของจำนวนประชากร หรือฐานของกลุ่มลูกค้าต่อสินค้าหนึ่งๆมีความสัมพันธ์ที่เป็นบวกกับความต้องการของสินค้า ยิ่งมีจำนวนประชากรมากขึ้นเพียงใด ความต้องการสินค้าก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว


ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า การค้าขายในอดีตเวลาเราจะตัดสินใจส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เราก็มักจะพิจารณาจากหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อของคนในประเทศ ผู้ผลิตคู่แข่งในประเทศ รวมไปถึง ขนาดจำนวนประชากรของประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เรานำเข้ามาพิจารณาด้วย


เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยิ่งประชากรมาก ดีมานด์ก็มาก โอกาสทางธุรกิจก็มากตามเช่นกัน
และในบางครั้ง จำนวนประชากรทั้งประเทศอาจจะมิได้เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ฐานลูกค้าที่บริโภคสินค้าที่เราขาย เพิ่มขึ้น เราก็อาจจะกล่าวได้ว่า จำนวนประชากรผู้บริโภคสินค้าของเราเพิ่มขึ้นก็เป็นได้เมื่อเราพิจารณาถึงฐานกลุ่มลูกค้า
เช่น กรณีอัตราผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ของบ้านเราที่มีมากขึ้น จากการที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเรา ทั้งการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ การทำงาน และการเจรจาติดต่อการค้า ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ปริมาณการใช้คอมพิวเตอร์จึงมีอัตราที่สูงกว่า อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรในประเทศ เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว จากการที่การค้าขายในโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน อันเนื่องมาจากขนส่งที่สะดวกขึ้น และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆที่เอื้ออำนวยทำให้การค้าขายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในประเทศอีกต่อไป กลุ่มประชากรของสินค้าหนึ่งๆที่เราเคยได้แต่ลูกค้าในประเทศ เดี๋ยวนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า หากเรารู้จักที่จะทำการตลาดใหม่ๆ ออกสู่ตลาดโลก ก็เท่ากับว่า จำนวนประชากรที่บริโภคสินค้าเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล กลายเป็นการพิจารณากลุ่มประชากรจากตลาดโลกไปแล้ว


แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องตระหนักด้วยว่า เมื่อเราส่งไปขายได้ ผู้ผลิตจากต่างประเทศก็เข้ามาแข่งขันกับเราได้เช่นกัน แม้ว่า ปัจจัยทางด้านดีมานด์ ซึ่งก็คือ ขนาดจำนวนประชากรต่อสินค้าของเราจะมีมากขึ้น แต่ทางด้านซัพพลาย (ผู้ขาย) ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงเช่นเดียวกัน






 
 

โดย: AjarnTik (pinkoptio ) วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:7:48:09 น.  

 
 
 
ปัจจัยอื่นๆ เช่น การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจ, นโยบายของรัฐบาล ,ผลของฤดูกาล เป็นต้น


เราได้กล่าวถึงปัจจัยหลักๆที่ส่งผลต่อดีมานด์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าของมันเอง, ระดับรายได้, ราคาสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง, รสนิยมของผู้บริโภค ตลอดจนขนาดจำนวนประชากร แต่ละปัจจัยก็มีผลกระทบในทิศทางที่ต่างกันไป แต่นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลกระทบการปริมาณความต้องการซื้อของผู้บริโภค ซึ่งในที่นี้ เราขอรวมปัจจัยเหล่านี้ ไว้เป็นปัจจัยอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยแรกๆเลย


โดยผลกระทบของปัจจัยอื่นๆเหล่านี้ อาจจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการสินค้า (ดีมานด์) โดยตรง หรืออาจจะส่งผลทางอ้อมผ่านปัจจัยก่อนๆที่ได้กล่าวมาแล้วก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์นั่นเอง


ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมความรู้ด้านไอทีของภาครัฐ ก็ทำให้ประชากรกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ดีมานด์ต่อคอมพิวเตอร์ก็สูงขึ้น , การสนับสนุนให้ความรู้เกี่ยวกับแก๊สโซฮอล ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมีทัศนคติที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพลังงานทดแทนดังกล่าว (ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าทดแทนของน้ำมันที่นับวันยิ่งมีราคาแพง) ก็ทำให้ดีมานด์ต่อแก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้นได้ เป็นต้น


ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะวิเคราะห์ความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผลกระทบโดยตรง จากเหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามาก็ได้ ยกตัวอย่างกรณี ช่วงเทศกาลต่างๆจะทำให้ดีมานด์สินค้าเพิ่มขึ้น เช่น เทศกาลวาเลนไทน์ ความต้องการดอกกุหลาบเพิ่มขึ้น และคนก็ยินดีที่จะจ่ายเงินให้กับสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย , เทศกาลกินเจ จะเห็นว่า คนกินผักในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน อย่างนี้เป็นต้น


หรือแม้กระทั่ง การคาดการณ์สภาวะการณ์ต่างๆในอนาคตของผู้บริโภคก็อาจจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการสินค้าในปัจจุบันเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอน ทั้งๆที่รายได้ของประชากรยังมิได้ลดลง แต่ว่า ผู้บริโภคอาจคาดการณ์ว่ารายได้ในอนาคตจะลดลง จึงส่งผลทำให้มีการออมมากขึ้น และตัดสินใจบริโภคลดลง


หรือการคาดการณ์ราคาสินค้าในอนาคต ก็อาจจะส่งผลต่อปริมาณการบริโภคในปัจจุบันได้ เช่นราคาทองคำที่คาดว่าจะสูงขึ้น ก็ทำให้ประชาชนแห่ไปซื้อทองคำได้เช่นกัน หรือการประกาศราคาน้ำมันขึ้น เนื่องจากราคาต่างประเทศขึ้น ผู้บริโภค ภาคขนส่งที่ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจจะเกิดการกักตุนน้ำมันในช่วงที่ราคายังไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจจะทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน


เราจะพบเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในสถานการณ์ในช่วงที่มีการปรับราคาน้ำมันแรกๆ (ที่ผู้ใช้รถยังไม่เคยชิน) จำได้ว่า ช่วงหัวค่ำ คืนก่อนวันเปลี่ยนราคาน้ำมัน สถานีบริการน้ำมันเนืองแน่นไปด้วยรถยนต์ที่รอกันเติมน้ำมันราคาถูกก่อนการปรับขึ้นราคา (ทั้งๆที่ไปเติมวันรุ่งขึ้นก็อาจจะแพงกว่ากันไม่ถึง ยิ่สิบบาทเสียด้วยซ้ำ)
 
 

โดย: AjarnTik (pinkoptio ) วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:7:49:03 น.  

 
 
 
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการยกตัวอย่าง และการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นที่มีผลกระทบต่อดีมานด์ของสินค้าต่างๆ จากปัจจัยที่แตกต่างกันไป หากคุณซึ่งอาจจะมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจที่เป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว หรืออาจจะเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในเวลาเดียวกัน การที่เราเข้าใจความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ก็ย่อมทำให้เราสามารถวางแผนการบริโภค หรือการผลิตได้ดีขึ้น แม้ว่าเรื่องที่กล่าวมาอาจจะดูเป็นเรืองยาก เป็นเรื่องหนักเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ แต่เราก็ไม่ควรที่จะหลีกเลี่ยงที่จะพยายามทำความเข้าใจมัน เพราะเศรษฐศาสตร์ ก็อยู่รอบๆตัวเราในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันนั่นเอง

อิอิ ยาวไปหน่อยคะ เที่ยวนี้ กะว่าที่เดียวอ่านแล้วหลับ (เอ้ย อ่านแล้วได้ความรู้ครบถ้วนเลย) ค่อยๆอ่านแล้วกันคะ ใครอยาก save เก็บ หรือให้ comment อะไรยินดีนะคะ

ลงในนิตยสาร Strategy and marketing S+M น่าจะเป็นเดือนหน้าอ่ะคะ

เพื่อนๆสามารถเข้าไปดูความเห็นของท่านอื่นๆในห้องสืลมได้ที่ //www.pantip.com/cafe/silom/topic/B3768115/B3768115.html#4 นะคะ
 
 

โดย: AjarnTik (pinkoptio ) วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:7:50:04 น.  

 
 
 
แหม...ชื่นใจครับ ที่ได้เห็นอาจารย์ติ๊กได้นำทฤษฎีเศรษศาสตร์มาเขียนแบบให้เห็นภาพโดยรวม มีตัวอย่างทำให้เข้าใจง่าย ส่งกำลังใจขอให้เขียนนานๆ มีไฟในการเขียนเยอะๆๆๆๆๆ
 
 

โดย: ติ๋ง น้ำหยด IP: 61.91.81.172 วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:12:59:42 น.  

 
 
 
เป็นบทความที่มีความครบถ้วนทั้งในด้านเศรษฐศาตร์ และการตลาด ทำให้ Marketting นำมาประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น
ขอส่งกำลังใจให้ อ.ติ๊ก มีไฟในการนำเสนอบทความประเภทนี้ต่อไป และจะเป็นแฟนคลับ เข้ามาเยี่ยมบ่อยๆ
 
 

โดย: ขลัง (สมชาย) IP: 203.144.230.38 วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:16:34:21 น.  

 
 
 
ขอบคุณ นะคะ ทั้งพี่ติ๋ง และคุณสมชาย ดีใจจัง เข้ามาเยี่ยมบล็อกเราด้วย แต่ความรู้ข้ายังด้อย เร่งศึกษาคะ อิอิ
 
 

โดย: AjarnTik IP: 58.8.150.81 วันที่: 1 ตุลาคม 2548 เวลา:11:32:35 น.  

 
 
 
ยังรออ่านอะไรที มากกว่านี้ อยู่นะครับ
 
 

โดย: Nottingham Castle IP: 62.254.0.56 วันที่: 3 ตุลาคม 2548 เวลา:4:24:46 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากๆๆๆๆนะคะอยากได้ความรู้เร่องอุปสงค์และอุปทานอีกได้ไหมคะ
 
 

โดย: sasa2 IP: 61.19.38.194 วันที่: 6 กันยายน 2550 เวลา:12:32:41 น.  

 
 
 
ต้องการทราบความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบันนี้
 
 

โดย: มะนาวหวาน IP: 202.44.135.243 วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:15:46:41 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากเลยค่ะ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น อาจารย์ที่สอนยังไม่ละเอียดขนาดนี้
 
 

โดย: crazyshinchan IP: 118.175.161.195 วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:9:16:55 น.  

 
 
 
ขอบคุณค่ะ กำลัง งง อยู่พอดีเลยค่ะ
 
 

โดย: เอบิโกะ IP: 203.146.125.30 วันที่: 2 ธันวาคม 2553 เวลา:16:23:33 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ajarntik
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ได้รับทุนภูมิพล(ปริญญาตรี)
เศรษฐศาสตร์ มธ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
แล้วได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มธ.)
มีประสบการณ์สอน 15 ปี จากสถาบันกวดวิชาเดอะเบรน
และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนจะผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว พร้อมๆไปกับงานที่ปรึกษา
[Add ajarntik's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com