สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 
กฎหมายกับการพัฒนาสังคม

กฎหมายกับการพัฒนาสังคม

รัฐในสมัยปัจจุบัน นอกจากใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมเบี่ยงเบนของสังคมแล้ว กฎหมายยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในสังคมจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมทันสมัยกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์และค่านิยมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่จะให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่ดีมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการพัฒนาสถาบันกฎหมายทั้งในด้านการศึกษาและการปฏิบัติด้วย

อดัม สมิท (Adam Smith) เขียนเรื่องหน้าที่ของรัฐในหนังสือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nation (การค้นหาถึงลักษณะและสาเหตุของการอยู่ดีกินดีของประเทศต่าง ๆ) ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ โดยเห็นว่าหน้าที่อันสำคัญของรัฐจะต้องมีดังนี้ คือ ป้องกันประเทศ จัดกระบวนการยุติธรรม และจัดตั้งสถาบันบางประการที่จำเป็นและจัดการด้านสาธารณูปโภค

ในอดีตรัฐได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงและความยุติธรรม แต่ใน
ปัจจุบันรัฐได้ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสาธารณูปโภคหรือการพัฒนาในทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสนองและควบคุมความต้องการของมนุษย์จะเข้ามารองรับระบบเศรษฐกิจทั้งหลาย อันได้แก่ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันได้เริ่มสู่สภาพเป็นรัฐสวัสดิการ (State Welfare)
แล้ว เช่น การนำโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือการประกันการว่างงานมาใช้ เราจึงควรที่จะใช้และสร้างกฎหมายทางสังคม (Social Legislation) แทนกฎหมายในลักษณะทุนนิยม (Capitalism) อันเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสภาพทุนให้เป็นพลังที่สำคัญเหนือปัจจัยอื่น ๆ ในโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่คำนึงถึงลักษณะอันเป็นส่วนร่วมอื่น ๆ ที่มีอยู่ในสังคมเดียวกัน จนเกิดการใช้กฎหมายในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้หรือมีช่องว่างในทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนคนรวยห่างกันมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดในการสร้างและใช้กฎหมายอย่าง “ไม่เท่าเทียมกัน” เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันหรือเกือบจะเท่าเทียมกันในสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ กฎหมายที่คุ้มครองสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตอันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเป็นผู้ใช้แรงงานมีรายได้ต่ำ เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ในสังคมที่มีความซับซ้อนและรัฐได้เข้าแทรกแซงในกิจการสำคัญมากขึ้น บทบาทและหน้าที่ของกฎหมายในสังคมจึงเพิ่มขึ้นจากการควบคุมสังคมและการระงับข้อพิพาทขัดแย้งในสังคม อีกประการหนึ่งคือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างและปรับปรุงแก้ไขสังคมให้ดีขึ้นโดยเน้นลักษณะการประสานประโยชน์ของสมาชิกทุกกลุ่มในสังคม หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายเป็นเครื่องมือวิศวกรทางสังคม” ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจึงต้องมีการประสานงานจากหลายฝ่ายอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ที่สาเหตุเป็นหลัก กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ประกอบในการแก้ปัญหาดังกล่าวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การนำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ผ่าน ๆ มาไปปฏิบัติ ได้ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้มากยิ่งขึ้น โดยเอื้อประโยชน์ให้คนส่วนน้อยที่มีฐานะดีอยู่แล้วร่ำรวยยิ่งขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ที่มีฐานะไม่ดีกลับยิ่งยากจนลง ดังนั้น การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจน อาจทำได้ ๒ ทาง คือ

(๑) การให้ความเสมอภาคทางโอกาสตามกฎหมายแก่คนยากจน โดยการยกเลิก

หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ทวีปัญหานี้หรือเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้คนยากจนสามารถช่วยตนเองในทางเศรษฐกิจได้ประการหนึ่ง ได้แก่

(๑.๑) การสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้คนจนต้องสูญเสีย

กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญไปโดยง่าย เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๑ หมวด ๔ ส่วนที่ ๑ มาตรา ๔๙๑ – ๕๐๒ เรื่อง “ขายฝาก” เพื่อคุ้มครองเกษตรกรหรือผู้ขายฝากที่ดินไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกโกงเอาที่ดินทำกินไปโดยง่าย เป็นต้น

(๑.๒) การสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ยากจนให้มีทรัพย์

สินอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น การบัญญัติพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อควบคุมมิใช่ค่าเช่านาสูงเกินไปและมีสิทธิซื้อที่นาก่อนบุคคลอื่น การบัญญัติพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อจัดหาที่ทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนตามสมควร เป็นต้น

(๑.๓) การใช้มาตรการทางกฎหมายให้คนยากจนสามารถช่วยตนเองหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ เช่น การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อให้เกษตรกรขายผลิตผลได้ในราคาสูงขึ้น การบัญญัติพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้ขายผลิตผลการเกษตรได้ราคาโดยไม่ถูกกดราคาให้ต่ำลง การยกเว้นภาษีเงินได้ของชาวนาที่ได้จากการขายข้าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๒ (๑๕)

(๒) การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือระดมความช่วยเหลือจากประชาชนทุกฝ่ายใน

การแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้มาตรการทางการคลังและภาษีอากรในการจูงใจ ได้แก่

(๒.๑) การเก็บภาษีอากรจากผู้ที่มีฐานะดีมากกว่าผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้ลง เช่น การเก็บภาษีผลได้จากทุน นอกจากนี้ยังมีภาษีที่ดินและภาษีมรดกที่ถูกยกเลิกการจัดเก็บไปแล้ว ซึ่งควรพิจารณานำกลับมาใช้ใหม่

(๒.๒) การแก้ไขประมวลรัษฎากรยอมให้ทรัพย์สินและเงินที่มีผู้บริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้ หรือการลดภาษีแก่ผู้ประกอบการในกิจการที่ช่วยและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ยากจนในชนบท

อนึ่ง รัฐควรมีกฎหมายพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการ

พัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญในการกระจายรายได้และทรัพยากรให้ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานผู้ยากไร้ให้สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อควบคุมกำกับและพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน เช่น การใช้กฎหมายกระตุ้นการเพิ่มหรือลดจำนวนประชากร โดยใช้การจำกัดสิทธิและการใช้สวัสดิการต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ เช่น สิทธิการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้เพียง ๒ คน การใช้กฎหมายบังคับให้เด็กต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาภาคบังคับ (๑๒ – ๑๔ ปี) เพื่อให้คนมีการศึกษามากขึ้น การมีกฎหมายควบคุมอาหารและยาเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน การใช้กฎหมายช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การให้บริการรักษาพยาบาลฟรีหรือราคาถูก การใช้กฎหมายป้องกันมิให้บิดามารดาขายบุตรหญิงไปเป็นโสเภณี การใช้กฎหมายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากครอบครัว การใช้กฎหมายควบคุมผังเมือง อนุรักษ์และควบคุมมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โดยต้องพัฒนาระบบกฎหมายและระบบกระบวนการยุติธรรมให้เพียงพอ

และทันต่อความต้องการแก่กรณีที่จะต้องคุ้มครองประชาชนและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เช่น การเร่งส่งเสริมให้มีการศึกษาแนวทางการออกกฎหมายใหม่เพื่อให้ทันกับสภาพความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษและใช้วิธีพิจารณาความในคดีพิเศษโดยเฉพาะให้ทั่วถึง การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความให้เกิดความสะดวกรวดเร็วประหยัดและเป็นธรรมแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาองค์กรต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดการประสานงาน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน สามารถถ่วงดุลตรวจสอบกัน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายจะต้องมีความสัมพันธ์กับทุกศาสตร์ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ การเปิดกว้างสำหรับผู้เชี่ยวชาญในทุกศาสตร์และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ของกฎหมายให้เข้าสู่กระบวนการในการร่างและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เป็นการร่างเขียนกฎหมายภายในระยะเวลาอันสั้นและแก้ไขเพียงบางเรื่องตามแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจหรือการบีบบังคับจากต่างชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาและยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมได้ให้ความสนใจกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย และมีนักศึกษาจำนวนมากที่หันมาสนใจเรียนวิชานิติศาสตร์กันมากขึ้น ในเบื้องต้นคนส่วนใหญ่ล้วนต้องการประสบความสำเร็จในวิชาชีพกฎหมายดังที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ และในเบื้องหน้านักวิชาชีพ นักวิชาชีพกฎหมายนอกจากจะต้องยึดถือจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือวัฒนธรรมองค์กรของตนแล้ว ผู้เขียนก็ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตนระดับหนึ่งแล้ว เมื่อท่านได้ทราบแนวคิดที่เป็นประโยชน์จากบทความนี้ก็ขอให้นำข้อคิดที่ได้ไปบูรณาการปรับใช้กฎหมายเพื่อให้มีบทบาทในการพัฒนาสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยตามกำลังความสามารถของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมของเราดำรงคงอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้าสืบต่อไปยังชนรุ่นหน้า




Create Date : 31 สิงหาคม 2550
Last Update : 31 สิงหาคม 2550 11:39:28 น. 0 comments
Counter : 12962 Pageviews.

hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.