สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 
ความไม่สมบูรณ์แห่งนิติกรรม (2) - - โมฆะ

โมฆะ

นิติกรรมที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นโมฆะเรียกว่า โมฆะกรรม หมายถึงความเสียเปล่า ใช้บังคับกันไม่ได้เลย กฎหมายไม่ยอมรับรองการกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความผูกพันใดๆ ในทางกฎหมายเกิดขึ้น และไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้เลย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจากการกระทำอันเป็นโมฆะหรือเสียเปล่านั้น จะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตามที่กฎหมายวางหลักไว้ว่า โมฆะกรรม นั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้นขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
นิติกรรมที่เป็นโมฆะ ได้แก่ นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมไม่ถูกต้องตามแบบ การแสดงเจตนาซ่อนเร้น การแสดงเจตนาลวง และการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่ง นิติกรรม เป็นต้น
อธิบายดังนี้
วัตถุประสงค์ของนิติกรรม
วัตถุประสงค์ของนิติกรรม คือ ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ผู้แสดงเจตนาออกทำนิติกรรม มุ่งประสงค์ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ มีกฎหมายบัญญัติว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ แยกพิจารณาได้ คือ
1.การใดมีวัตถุประสงค์ของนิติกรรมต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายการนั้นเป็นโมฆะ
2. การใดมีวัตถุประสงค์ของนิติกรรมเป็นการพ้นวิสัยการนั้นเป็นโมฆะ คำว่า พ้นวิสัย หมายถึง วัตถุประสงค์ที่เหลวไหล เป็นไปไม่ได้ ใช้บังคับกันไม่ได้จริง
3. วัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ วัตถุประสงค์ของนิติกรรมจะเป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป จะวางหลักตายตัวไม่ได้เพราะกาลเวลาย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัฒน์ ถ้าหากวัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็เป็นโมฆะ
4. วัตถุประสงค์ของนิติกรรมแตกต่างกับ บทบัญญัติของกฎหมายแต่ ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ กล่าวคือ แม้นิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์ผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้าไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วก็ไม่เป็นโมฆะ เช่น การบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง หลักกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระเงินขาดเท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น แต่ในทางปฏิบัติ คู่สัญญาจะตกลงกันไว้ว่า เมื่อบังคับจำนองขายทอดตลาดแล้วเงินขาดจำนวนเท่าใด ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้ให้จนครบ ซึ่งข้อตกลงเช่นนี้ใช้บังคับกันได้ เพราะไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับกันได้
แบบแห่งนิติกรรม
แบบแห่งนิติกรรม หมายถึง หลักเกณฑ์หรือพิธีการอันใดอันหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ปฏิบัติตามแม้ว่าจะได้กระทำครบองค์ประกอบแห่งนิติกรรม การกระทำนั้นก็ต้องตกเป็นโมฆะตาม ปพพ. มาตรา 152 ซึ่งมาตรานี้ บัญญัติไว้ว่า การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้การนั้นเป็นโมฆะแม้ว่ากฎหมายจะเคารพในการแสดงเจตนาของบุคคล แต่ถ้าการแสดงเจตนาของบุคคลไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด กฎหมายก็ไม่บังคับให้และยังกำหนดให้การนั้น ตกเป็นโมฆะทันที ไม่เกิดเป็นผลนิติกรรมแต่อย่างใดแบบแห่งนิติกรรม แบ่งได้ เป็น 5 แบบ คือ
1. แบบทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายกำหนดไว้ว่า นิติกรรมประเภทใดบ้างที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำจะเป็นโมฆะ ทันทีไม่มีผลบังคับตามกฎหมายแต่อย่างใด เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การขายฝาอสังหาริมทรัพย์ แลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ การให้ การจำนอง เป็นต้น นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะเป็นทรัพย์สินประเภทที่มีค่ามากรัฐต้องเข้าควบคุมการโอน การเปลี่ยนมือ เพื่อป้องกันการหลอกลวง การฉ้อโกง การข่มขู่ซึ่งอาจเกิดมีขึ้นได้
2. แบบต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ประเภทนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่บังคับให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จัดตั้งบริษัทจำกัด การจดทะเบียนบริษัท การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น
3. แบบต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมแบบนี้คล้ายการจดทะเบียน ต่างที่เพียงแต่ไปปรากฏตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงตนโดยทำเป็นหนังสือไม่มีแบบพิมพ์หรือแบบฟอร์มให้ เช่น ทำพินัยกรรมฝ่ายเดียว ทำพินัยกรรมเอกสารลับ เป็นต้น
4. แบบต้องทำเป็นหนังสือระหว่างกันเอง คือ ไม่จำเป็นต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับรู้เป็นเพียงเกี่ยวข้องกันระหว่างคู่สัญญา เช่น ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ การโอนหนี้สัญญาหย่าโดยความยินยอม เป็นต้น
5. แบบอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ เป็นแบบเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องๆ ไปต่างไปจากนิติกรรม 4 แบบ ดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น เช็ค ต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องมีรายการระบุไว้ มิฉะนั้นจะเป็นเช็คและตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น
การแสดงเจตนาที่มีผลเป็นโมฆะ

1. เจตนาซ่อนเร้น เจตนาลวง และนิติกรรมอำพราง เจตนาที่แท้จริงของบุคคลย่อมเกิดขึ้นในใจก่อน ต่อมาจึงแสดงออกซึ่งเจตนาที่แท้จริงอยู่ในใจนั้น ถ้าเจตนาที่แท้จริงในใจกับเจตนาที่แสดงออกตรงกันปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ตรงกันจะเป็นโดยตั้งใจคือรู้ตัวในการแสดงเจตนาหรือไม่ตั้งใจคือแสดงโดยไม่รู้ตัว ปัญหาย่อมเกิดขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กฎหมายจึงวางหลักไว้ ดังนี้
1.1 เจตนาซ่อนเร้น คือ เจตนาที่แท้จริงในใจกับเจตนาที่แสดงออกไม่ตรงกันซึ่งหลักกฎหมายกำหนดว่า การแสดงเจตนาแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หากเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น
1.2 เจตนาลวง หลักกฎหมายกำหนดว่า การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมอำพรางมาใช้บังคับ
หลักกฎหมาย กำหนดไว้เป็น 2 วรรค วรรคหนึ่งเป็นเรื่อง การแสดงเจตนาลวง กล่าวคือ ผู้แสดงเจตนารู้ตัวขณะแสดงเจตนาออกไปไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของตนที่มีอยู่ในใจซึ่งคล้ายๆ กับเจตนาซ่อนเร้น แต่แตกต่างกันตรงที่จำนวนตัวบุคคลผู้แสดงเจตนา คือ เจตนาซ่อนเร้นเป็นการแสดงเจตนาเพียงคนเดียวเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจผิด แต่เจตนาลวงเป็นการแสดงเจตนาร่วมกันสองฝ่าย โดยสมรู้ร่วมคิดกันแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริง เป็นการทำนิติกรรมหลอกๆ กันไว้ เพื่อลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด กฎหมายบัญญัติให้การแสดงเจตนาลวงนี้เป็นโมฆะ ใช้บังคับกันไม่ได้ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

1.3นิติกรรมอำพราง เป็นการทำนิติกรรมลวง เพื่อปกปิดนิติกรรมอันแท้จริงจึงเป็น นิติกรรมเกี่ยวข้องกันสอง นิติกรรม นิติกรรมแรกเป็นนิติกรรมลวงทำกันไว้หลอกๆ ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา แต่ปกปิดเอาไว้ไม่ต้องการให้ผู้ใดทราบ นิติกรรมที่ถูกปกปิดนี้ เรียกว่า นิติกรรมอำพราง (นิติกรรมที่ถูกอำพราง) กฎหมายบัญญัติให้นำบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูก อำพรางมาใช้บังคับ
2.การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดเป็นการแสดงออกของบุคคลที่ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริง พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า เข้าใจผิด หลงผิด หรือพลาดไป ทั้งหมดนี้เรียกว่า สำคัญผิด การสำคัญผิด กฎหมายบัญญัติให้การแสดงออกต้องเสื่อมเสียไม่สมบูรณ์ 2 กรณี คือ สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็น สาระสำคัญแห่งนิติกรรม และสำคัญผิดใน คุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน
2.1 สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หลักกฎหมายกำหนดว่าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น
คำว่า สาระสำคัญแห่งนิติกรรม คือ สิ่งที่จำเป็นต้องมีของนิติกรรมนั้น ถ้าไม่มีก็จะไม่เป็นนิติกรรม สาระสำคัญแห่งนิติกรรม ได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีแห่ง นิติกรรม และตัวทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
(1) สำคัญผิดในลักษณะแห่งนิติกรรม คือ สำคัญผิดในวัตถุที่ประสงค์ของ นิติกรรม เช่น นายดำต้องการจะค้ำประกันเงินกู้ที่นายแดงกู้เงินนายรวย แต่นายดำสำคัญผิดว่าผู้ค้ำประกันต้องลงลายมือชื่อคู่กับนายแดงในสัญญากู้ จึงกลายเป็นฐานะผู้กู้ร่วม เช่นนี้ การแสดงเจตนาของนายดำย่อมเป็นโมฆะ เพราะวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรม คือ เป็นผู้ค้ำประกันไม่ใช่ผู้กู้ร่วม
(2) สำคัญผิดในตัวบุคคล คือ สำคัญผิดในตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณี เช่น จำเลยเช่าตึกพิพาททำสัญญากับโจทก์ยอมออกจากตึกโดยเข้าใจว่าโจทก์เป็นเจ้าของ โจทก์รู้ดีว่าตนมิใช่เจ้าของแต่ปกปิดเอาไว้หากจำเลยรู้จะไม่ทำสัญญากับโจทก์ ดังนี้ สัญญาเป็นโมฆะเพราะเกิดจากจำเลยสำคัญผิดในตัวบุคลซึ่งเป็นสาระสำคัญในตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 2602/2517)
(3) สำคัญผิดในตัวทรัพย์สินหรือวัตถุแห่งนิติกรรม เช่น นายดำต้องการซื้อม้าจากนายแดง แต่นายแดงนำเอาลามาส่งมอบให้ โดยสำคัญผิดคิดว่า ลา คือ ม้า นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ



Create Date : 08 สิงหาคม 2550
Last Update : 8 สิงหาคม 2550 15:25:46 น. 0 comments
Counter : 5538 Pageviews.

hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.