สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 

เร่งหาคำตอบซีแอลยา

เร่งหาคำตอบซีแอลยา [29 ก.พ. 51 - 18:47]

รัฐมนตรียุติธรรมประเดิมผลงานชิ้นโบแดง ด้วยการย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ที่อึงคะนึงไปแล้ว คราวนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของรัฐมนตรีสาธารณสุข คือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 3 ตำแหน่ง ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ ได้แก่ การย้ายนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

แม้รัฐมนตรีสาธารณสุขจะยืนยัน ว่า เป็นการย้ายเพื่อความเหมาะสม ไม่เกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) แต่ประธานชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่าเป็นการย้ายที่ไม่ชอบมาพากล ไม่ใช่การย้ายตามปกติ และผู้ที่ถูกย้ายก็ไม่มีความผิด แต่มีความชัดเจนเรื่องการประกาศซีแอล เพราะ นพ.ศิริวัฒน์เป็นประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายากับบริษัทยาข้ามชาติ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีเสียงวิจารณ์ ในทำนองนี้ เนื่องจากรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ได้ประกาศ จะทบทวนนโยบายการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือซีแอล ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่ด้วยซ้ำ แต่เรื่องกลับเงียบๆ ไปหลังจากที่ถูกวิจารณ์ว่าเอาใจบริษัทธุรกิจยายักษ์ใหญ่ข้ามชาติ และเมินเฉยต่อผู้ป่วย และต่อมารัฐบาลได้มอบหมายให้ 3 ปลัดกระทรวง ร่วมกันพิจารณาเสนอแนะแนวทาง

คำประกาศที่ว่าจะ “ทบทวน” ซีแอล ถูกตีความหมายว่าจะ “ยกเลิก” การทำซีแอล ที่รัฐมนตรีสาธารณสุขคนก่อนได้ทำไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ถึงกุมภาพันธ์ 2551 โดยทำซีแอลกับยา 7 รายการ เป็นยารักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจและมะเร็ง ผลการประกาศทำซีแอลทำให้ราคายาถูกลงมาก เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ ลดลงจาก 1,400 บาท เหลือ 670 บาท ต่อคนต่อเดือน

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก มีอิทธิพลทางการเมืองมาก ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป สามารถอ้างสิทธิบัตรยาที่ครอบคลุมทั่วโลก และกำหนดราคายาแพงกว่าต้นทุนการผลิต ตั้งแต่ 5 เท่าถึง 20 เท่า โดยเฉพาะยารักษาโรคร้ายแรง เช่น เอดส์ โรคหัวใจและมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ไม่สามารถเข้าถึงยา จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการประกาศซีแอล

การประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือซีแอล ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยสามารถผลิตยาเองด้วยต้นทุนที่ต่ำ และขายยาในราคาถูกได้ แต่ซีแอลก็ยังเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอยู่ ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าทำให้ผู้ ป่วยด้วยโรคร้ายเข้าถึงยาในราคาถูก และช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เป็นอันมาก แต่ฝ่ายที่คัดค้านอ้างว่า สหรัฐฯอาจตัดสิทธิพิเศษทางการค้า และไทยอาจสูญเสียเป็นเงินหลายพันล้านบาท

รัฐบาลนี้ได้มอบหมายให้ 3 ปลัดกระทรวง คือ กระทรวงสาธารสุข การต่างประเทศ และพาณิชย์ ร่วมกันปรึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม เกี่ยวกับนโยบายการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาแล้ว และน่าจะได้คำตอบโดยเร็ว เพราะชมรมแพทย์ชนบทเริ่มรู้สึกว่า “เหมือนเป็นเจ้าของบ้านที่มีผีป่ามาสิงอยู่ร่วมบ้าน จะต้องเร่งเสกคาถาเรียกเวทมนตร์มาไล่ ผีป่าให้ออกจากบ้านเราให้เร็วที่สุด”.




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:34:01 น.
Counter : 480 Pageviews.  

5 เหตุผลทำไมต้องเดินหน้า ‘ซีแอล’

งานเขียนชิ้นนี้ “มาตรการช่วยชีวิต: 5 เหตุผลทำไมต้องเดินหน้า ‘ซีแอล’ ” จัดทำขึ้นโดย จอน อึ๊งภากรณ์, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ประชาไท 27 ก.พ. 51

มาตรการช่วยชีวิต: 5 เหตุผลทำไมต้องเดินหน้า ‘ซีแอล’

1 การประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ ซีแอล มีความชอบธรรม เป็นมาตรการที่ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจนภายใต้คำประกาศโดฮาว่าด้วยความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ดังนั้น การประกาศบังคับใช้สิทธิของไทย เป็นการทำตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศทุกประการ

รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งประเทศร่ำรวยใช้การประกาศบังคับใช้สิทธิปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประกันการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม สนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งใช้ควบคุมการผูกขาดราคา

ประเทศไทยมีสิทธิที่จะปกป้องพลเมืองของตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บ คำขู่ที่จริงหรือลวงของผู้แสวงผลประโยชน์ ไม่ควรมีบทบาทชี้นำการตัดสินใจของประเทศไทยในการปกป้องพลเมืองของตัวเองจากความตายและโรคร้ายผ่านการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ

2 การประกาศบังคับใช้สิทธิช่วยชีวิตผู้คน ถ้าไม่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิประเทศไทยจะไม่สามารถให้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิ คนยากคนจนจะตาย ไม่ใช่เพราะไม่มีวิธีการรักษา แต่เพราะว่าพวกเขาไม่มีเงินมากพอ

งบประมาณที่ประหยัดได้จากการประกาศบังคับใช้สิทธิ สามารถขยายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การลดการผูกขาด ยังช่วยทำให้เกิดการแข่งขันด้านยา ซึ่งทำให้สามารถประหยัดงบประมาณรายจ่ายด้านยาได้อีกจำนวนมาก

การประกาศบังคับใช้สิทธิในยาสำคัญคือ ยาต้านไวรัส ยาโรคหัวใจ และยามะเร็ง ไม่เพียงทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถขยายการรักษาไปยังโรคดังกล่าว แต่ยังสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายการรักษาไปยังโรคอื่นๆ เช่น โรคไตวาย

3 ประเทศไทยสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ที่ผ่านมานักธุรกิจไทยจำนวนมากได้รับประโยชน์จากจีเอสพีของสหรัฐอเมริกา แต่อีกไม่นานจีเอสพีจะสิ้นสุดลง ไม่ใช่เพราะการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิแต่เป็นเพราะระดับอำนาจการซื้อของไทยที่สูงขึ้น ทำให้ในที่สุดจะหมดสิทธิการได้รับจีเอสพี

บริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยามะเร็ง เป็นบริษัทของยุโรป ดังนั้น ยิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ในปีที่ประเทศไทยประกาศบังคับใช้สิทธิ 3 ตัวแรก การส่งออกไปสหรัฐก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพี

4 การประกาศบังคับใช้สิทธิจะไม่ปิดโอกาสคนไทยในการเข้าถึงยาใหม่ๆ เมื่อบริษัทแอ๊บบอทปฏิเสธที่จะขึ้นทะเบียนยาอลูเวียร์ในประเทศไทย ยาชื่อสามัญ โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (ชนิดเม็ด) จากอินเดียก็มาขึ้นทะเบียนแทนที่ด้วยคุณภาพที่เท่ากันในราคาที่ถูกกว่ามาก อีกทั้งการที่บริษัทปฏิเสธที่จะขึ้นทะเบียนในยาตัวสำคัญ ก็สามารถเป็นเหตุให้รัฐสามารถบังคับใช้สิทธิได้

การประกาศบังคับใช้สิทธิไม่ได้หยุดยั้งนวัตกรรม การประกาศบังคับใช้สิทธิสร้างโอกาสการเข้าถึงยาสำหรับคนที่ไม่มีปัญญาเข้าถึงยาเหล่านั้นมาก่อน บริษัทยายังสามารถหากำไรจากตลาดหลักในประเทศที่ร่ำรวยและคนรวยในประเทศยากจนได้ต่อไป โดยสามารถใช้เงินที่ได้จากตลาดเหล่านั้นในการวิจัยและพัฒนา

แน่นอนว่า การประกาศบังคับใช้สิทธิไม่ได้ฆ่าอุตสาหกรรมยา จนถึงขณะนี้ประเทศประกาศบังคับใช้สิทธิในยาช่วยชีวิตที่มีราคาแพงแค่ 7 ตัวเท่านั้น ในระหว่างปี 2512-2536 แคนาดาประกาศบังคับใช้สิทธิกับยา 613 ตัว ทำให้เป็นประเทศที่มียาราคาถูกมากที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว และมีอุตสาหกรรมยาที่เข้มแข็งยิ่งเสียกว่าในสหรัฐ

5 การคัดค้านการประกาศบังคับใช้สิทธิของไทยโดยอุตสาหกรรมยาและพวกที่สมประโยชน์กัน ตั้งอยู่บนคำโกหก การชี้นำที่ผิดๆ หรือการเพิกเฉยต่อความเป็นจริงและข้อสมมติฐานบนอคติ ความลวงเหล่านี้รวมถึงการอ้างว่าสิทธิบัตรเป็นระบบที่ปกป้องการเข้าถึงยาของคนยากจน เพราะนักวิจัยยาจะได้มีแรงจูงใจในการวิจัยยาจากการผูกขาด แต่จากประวัติศาสตร์แล้วแสดงให้เห็นว่า ข้อความที่อ้างเหล่านี้เป็นความลวงทั้งสิ้น




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:33:29 น.
Counter : 382 Pageviews.  

ประเทศอื่นเลียนแบบไทยแห่ทำซีแอล

เอ็นจีโอสหรัฐระบุบริษัทยามะกันกลัวประเทศอื่นเลียนแบบไทยแห่ทำซีแอล

ผู้อำนวยการโครงการผู้บริโภคด้านเทคโนโลยีองค์กรพัฒนาเอกชนจากสหรัฐระบุในสหรัฐมีการใช้มาตรการซีแอลแล้วกว่า 40,000 ครั้ง ผ่าน 3 มาตรการ เหตุที่โจมตีประเทศไทย เพราะบริษัทยาห่วงประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จะเลียนแบบใช้มาตรการซีแอลเหมือนประเทศไทย นายเบนจามิน โครห์มาล ผู้อำนวยการโครงการผู้บริโภคด้านเทคโนโลยี องค์กรพัฒนาเอกชนจากสหรัฐอเมริกา บรรยายเรื่อง “ความจริงในการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล)” ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในสหรัฐมีการใช้ซีแอลจำนวนมาก โดยมีการประเมินกันว่าตั้งแต่มีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาจนถึงปี 2549 สหรัฐได้ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรไปแล้วไม่ต่ำกว่า 40,000 ครั้ง แต่การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรของสหรัฐมีหลากหลายรูปแบบ และไม่ได้เรียกว่าการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอล (Compulsory Licenses) แต่เลี่ยงไปใช้คำอื่น ๆ แทน โดยดำเนินการผ่าน 3 มาตรการ คือ การใช้สิทธิโดยรัฐ การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และตามคำพิพากษาของศาลพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา

นายเบนจามิน กล่าวว่า ในช่วงปี 2530 สหรัฐได้ตั้งศาลพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อดูแลระบบสิทธิบัตรในสหรัฐโดยเฉพาะ ซึ่งหลังจากที่มีการตั้งศาลดังกล่าว ทำให้การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในสหรัฐลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาคำพิพากษาของศาลดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรมากขึ้น จากเดิมที่เน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตร ดังนั้น จึงประเมินได้ว่าจากนี้ไปการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในสหรัฐจะเพิ่มมากขึ้น โดยผ่าน 3 ช่องทางดังกล่าว

นายเบนจามิน กล่าวว่า การใช้ซีแอลของประเทศไทยในยา 3 ตัวคือ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ยาคาเลตราและยาพลาวิกซ์หรือโคลพิโดเกรล ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันในสหรัฐเองก็มีการใช้ซีแอล เช่น ยาโคลพิโดเกรล ซึ่งเป็นยาชื่อสามัญของยาพลาวิกซ์ ของบริษัท ซาโนฟี ในปี 2549 บริษัท อโปเท็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทของแคนาดาได้ขายยาโคลพิโดเกรลในสหรัฐ ได้ยอดขายสูงถึง 36,000 ล้านบาท ทั้งที่ยาดังกล่าวเป็นยาที่ติดสิทธิบัตร และบริษัทซาโนฟี่ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้บริษัทอโปเท็กซ์เลิกขายยานี้ในสหรัฐ และศาลตัดสินให้บริษัท ซาโนฟี ชนะ แต่อนุญาตให้บริษัทอโปเท็กซ์ สามารถขายยาโคลพิโดเกรลที่ผลิตออกมาก่อนมีคำตัดสินของศาลในสหรัฐได้

“ยอดขายยาพลาวิกซ์ในประเทศไทยมีเพียง 700 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทซาโนฟีสูญเสียรายได้ในสหรัฐไม่ต่ำกว่า 36,000 ล้านบาท แต่กลับมีปฏิกิริยาอย่างมากในการที่ไทยใช้ซีแอล ทั้งที่รายได้จากการขายยาในไทยมีอัตราส่วนเพียง 1 ใน 50 ของยอดขายในสหรัฐ อาจเป็นเพราะว่า เกรงประเทศกำลังพัฒนาจะใช้ซีแอลเหมือนกันกับประเทศไทยหรือซื้อยาชื่อสามัญในตลาดอินเดียมากขึ้นทำให้ราคายิ่งลดลง” นายเบนจามินกล่าว




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:32:13 น.
Counter : 332 Pageviews.  

อ่านใจสหรัฐอเมริกา ผ่านปัญหา CL.

อ่านใจสหรัฐอเมริกา ผ่านปัญหา CL.

ผศ.พระครูสุนทรธรรมโสภณ
๒๑ กันยายน ๒๕๕๐

ความนำ
คนเราการที่จะดูให้รู้ความคิดหรือจะมองเจตนาอันแท้จริงของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา แต่หากจะคาดเดา ควรเริ่มจากการกระทำหรือพฤติกรรมของเขาแล้วตามไปดูที่ฐานความคิด ที่นักกฎหมายมักใช้คำว่า “กรรมเป็นตัวชี้เจตนา” แน่นอนอาจไม่ตรงเสียเดียวระหว่างการกระทำกับเจตนาจริง ๆ เพราะพฤติกรรมบางครั้งอาจไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริง เพราะเป็นพฤติกรรมซ่อนเร้น(Hidden Behavior) แต่มันเป็นวิธีการเดียวเท่านั้น ที่จะตามไปสู่ต้นตอของเจตนาของผู้นั้นได้
“มหาสมุทรสุดลึกล้น คณนา สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้ เขาสูงอาจวัดวา กำหนด จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” จากโลกนิติคำโคลง คำ ๆ นี้ยังให้ความหมายได้ดีและใช้ได้ในทุกกาลสมัย และคำว่า“งาช้างไม่มีวันงอกจากปากหมา ความเมตตาไม่มีจากใจพญามาร” แต่อย่างไรก็ตามในการที่อยากจะรู้ว่าใครคิดอย่างไร คงไม่วิธีการอื่นที่ดีไปกว่าตามดูจากการกระทำหรือพฤติกรรมที่แสดงออกตามที่กล่าวแล้ว
เพราะตามความเป็นจริงในหลาย ๆ กรณีเราสามารถที่จะคาดเดาความคิดของคนว่าเขาคิดอย่างไร โดยผ่านวิธีการสังเกตพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออก ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมนั้น และวิธีการสังเกตมักใช้ควบคู่วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในหลาย ๆ วิธี เช่นการสัมภาษณ์ การสนทนา การร่วมกิจกรรม และอื่น ๆ อีกได้เป็นอย่างดี แต่ในกรณีการอ่านใจสหรัฐอเมริกาผ่านปัญหา CL. ในคราวนี้ เป็นการอ่านพฤติกรรมภายใต้บริบทวัฒนธรรมแบบสังคมวัตถุบริโภคนิยม และอยู่แนวหน้าของสังคมโลกในปัจจุบัน และปัจจุบันนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประชากรประมาณ ๓๐๐ ล้านกว่าคน เป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากประเทศจีนที่มีประชากรเป็นอันดับ ๑ คือมีประชากรประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านคน ประเทศอินเดียเป็นอันดับ ๒ มีประชากรประมาณ ๑,๑๐๐ ล้านคน แต่ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่มีความเจริญในด้านเทคโนโลยี และสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาบริโภคได้มากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ของโลก ทั้ง ๆ ที่มีประชากรคิดเป็นร้อยละ ๕ ของประชากรโลก แต่กลับบริโภคทรัพยากรธรรมชาติไปร้อยละ ๔๐ ของโลก เหมือนมีเงิน ๑๐๐ บาท แต่คนเพียง ๕ คนใช้ไปแล้ว ๔๐ บาท เหลือเงินเพียง ๖๐ บาทให้คนอีก ๙๕ คนใช้ ในทางที่สืบเนื่องกันสหรัฐอเมริกา เป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจากที่สุดในโลก อันดับสองรองลงมา คือประเทศจีน นั้นหมายถึงการแข่งกันกินสิ่งที่ดี แล้วขับถ่ายสิ่งที่เสียใส่โลกมากขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตของสังคมโลก ท่านผู้อ่านคงคาดผลที่จะตามมาได้
ดังนั้นต่อไปนี้สังคมโลกจะมีปัญหาในด้านใหญ่ ๆ อยู่ ๓ ด้านที่ต้องหาทางจัดการแก้ไขและป้องกันไว้ คือ ๑) ด้านประชากร (Population) โดยเฉพาะ Overpopulation คือปัญหาประชากรที่เกิดมาจะล้นโลก ซึ่งจะต้องลดหรือควบคุมด้วยการวางแผนครอบครัว ๒) ด้านทรัพยากรร่อยหรอ (depletion) คือการร่อยหรอสูญสิ้นของทรัพยากร ซึ่งจะต้องหยุดยั้งการทำลายทรัพยากร และฟื้นฟูให้กลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา และ ๓) ด้านมลภาวะของเสีย (Pollution) ซึ่งจะต้องกำจัด ทำให้ลดน้อยลงหรือทำให้หมดไป ความจริงแล้วก็เป็นหลักคิดง่าย ๆ คือคนเกิดมากในขณะที่แผ่นดินไม่ได้งอกเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่โลกยังเท่าเดิม ภาวะคนล้นโลกต้องเกิดมีแน่นอน คนแย่งที่ทำกิน แย่งที่อยู่อาศัยจะต้องตามมาในอนาคต เมื่อคนมีมากก็ต้องกินมาบริโภคมาก เพราะโดยธรรมชาติคน คือกินสิ่งที่ดีแล้วขับถ่ายสิ่งที่เสียใส่โลก เมื่อของเสียมาก ๆขึ้นโลกนี้จะเต็มไปของเสีย นั้นคือปัญหาด้านมลภาวะ ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางเสียง และปัญหาอื่น ๆ อีกจะตามเป็นองคาพยพ และขณะปัจจุบันนี้ได้ส่อแววของปัญหาเหล่านั้นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ที่กล่าวนำมาทั้งหมดนี้ เพื่อต้องการจะตามดูและพิจารณาจากพฤติกรรมและจะได้อ่านพฤติกรรมของคนทั้งจากอดีตและปัจจุบัน ดังคำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า “หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” และนอกจากนั้นยังจะได้เตรียมความพร้อมทั้งกาย ใจ เพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาของสังคมโลกที่จะเกิดขึ้น “ปัญหาที่จะแย่งอาหารกันกิน แย่งดินกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาสและแย่งอำนาจกันเป็นใหญ่” และปัญหาทั้งหลายเหล่านั้นมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ในบทความนี้ต้องการชวนผู้อ่านพฤติกรรมหนึ่ง โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาที่แสดงออกทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังกระทำอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ อย่างกรณี ในเรื่องของ การประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่และโดนทั้งเอกชนและในนามของสหรัฐอเมริกาเล่นงานอยู่ในขณะนี้
CL. คืออย่างไร ใครได้ ใครเสียประโยชน์
ในเนื้อหาต่อไปนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านได้ทราบข้อเท็จจริงว่า CL คือ อะไร คำตอบ ก็คือ การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) คำว่าการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยา หมายถึงการไม่ทำตามกฎสิทธิบัตรยา ในกรณีเพื่อมนุษยธรรมสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีสิทธิในการผลิตยาเอง ซึ่งจะมีราคาถูกลง และจะทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ทุกคนได้มีโอกาสได้ใช้ยาได้อย่างทั่วถึงหรือที่ใช้คำว่ามีโอกาสเข้าถึงยานั้นเอง ใครได้ประโยชน์ก็คือคนป่วยโรคเอดส์ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น รวมไปถึงผู้ป่วยโรคเอดส์ทั่วโลกประมาณ ๔๒ ล้านคน หากมีความกล้าหาญอย่างที่ประเทศอินเดียและประเทศไทยกำลังกระทำเป็นตัวอย่าง ส่วนใครจะเสียประโยชน์ ก็คือ บริษัทสหรัฐอเมริกา ที่ผูกขาดการผลิต ตั้งราคาขายที่แสนจะแพง เป็นการขูดรีดอย่างทารุณโหดร้าย ที่ไร้มนุษยธรรมมากที่สุดกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่โชคร้ายอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทที่เป็นนายทุนให้เงินอุดหนุนพรรครัฐบาล ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในขณะนี้ ส่วนในรายละเอียดของเนื้อหาผู้เขียนจะได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อไป
การประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) ที่บริษัทสหรัฐกำลังหวาดผวาเนื่องต้องสูญเสียผลประโยชน์อันมหาศาล จึงพยายามใช้มาตรการกดดันให้ไทยยกเลิกบังคับใช้ CL.(Compulsory Licensing) อยู่ในขณะนี้ ในการประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) เป็นความชอบธรรมที่ไทยสามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยการประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) ถือเป็นหลักที่สร้างความสมดุลให้กับ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่มีการจดสิทธิบัตร ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ประเทศไทยจะประกาศบังคับใช้สิทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อบริษัทยาเสียผลประโยชน์ย่อมทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาล และผู้เขียนเชื่อว่าทางสหรัฐอเมริกา จะพ่นพิษด้วยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ตามมาอีกมาก เพราะเป็นพฤติกรรมหรืออาการของผู้มีสารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณมาก คือสารโลภะ และเขาได้แสดงพฤติกรรมในลักษณะอย่างนี้กับนานาประเทศ แต่ไม่มีประเทศใดกล้าออกมาพูด เพราะแต่ละประเทศตกอยู่ภาวะน้ำท่วมปาก พูดไม่ออก
การประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) กับสิทธิบัตรยานั้นถือว่าเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นคือการบังคับใช้ตามประกาศนั้น เพราะจนถึงวันนี้แม้ไทยจะประกาศกับตัวยา ๓ ตัว คือ ๑) ยาต้านไวรัสเอชไอวี “เอฟฟาไวเรนช์”ของบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ๒) ยาต้านไวรัสเอชไอวี “คาเลตรา” ของบริษัทแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด และ ๓) ยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ “พลาวิกช์” ของบริษัท ซาโนฟี อเวนตีส(ประเทศไทย) จำกัด แต่ยาที่ผ่านกระบวนการทำ CL. และสามารถแจกจ่ายให้ถึมือผู้ป่วยโรคเอดส์หรือเอสไอวี มีเพียงยา “เอฟฟาไวเรนช์”ของบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เท่านั้น ส่วนยาอีก ๒ ตัวยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับเจ้าของบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพราะบริษัทข้ามชาติเหล่านี้เวลาพูดมักอ้างหลักสิทธิมนุษยชน แต่เวลาทำยึดผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง และไร้มนุษยธรรมสิ้นดี ท่านผู้อ่าน ท่านอ่านใจสหรัฐได้แล้วเนอย่างไร
ในที่สุดเมื่อประเทศไทยลุกขึ้นมาประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing) ได้มีนานาประเทศลุกขึ้นแสดงตัวออกมาสนับสนุนมาตรการของประเทศไทยมากขึ้นจากทั่วโลกและในขณะเดียวกันมี คณะเภสัช ๑๒ แห่งจากคณาจารย์ นิสิต และนักศึกษา จากคณะเภสัชศาสตร์ ในประเทศไทย เป็นต้นว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯ ได้สนับสนุนมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐตามสิทธิบัตรยา ของกระทรวงสาธารณสุขและเพราะเห็นว่าระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นระบบใหม่ในการสร้างจักรวรรดิใหม่ทางการค้า โดยยึดเอาทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลัก แต่วิธีสร้างการผูกขาดทางการค้า โดยมีสหรัฐเป็นหลัก สิ่งนี้น่าจะเรียกว่าระบบทรราชเอกชน ไม่ใช่ระบบการค้าที่ถูกต้อง แต่สหรัฐพยายามใช้อิทธิพลทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสื่อบิดเบือนความจริงเพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้กับตนเอง
การประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing)ของประเทศไทย ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้จึงเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องขึ้นบัญชีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในฐานะที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะการประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา จะทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ใช้ยาราคาถูก ผู้ป่วยจะเข้าถึงยาง่ายขึ้นและสามารถผลิตยาออกจำหน่ายได้ทั่วโลก เหมือนที่ประเทศประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาอยู่ในขณะนี้ทำให้ยามีราคาถูกมากถึง ๖๕๐ เหรียญสหรัฐ ต่อคนต่อปี ทั้ง ๆที่สหรัฐอเมริกาเองราคาแพงมากถึง ๒,๒๐๐ เหรียญสหรัฐ ต่อคน ต่อปี และต่อรองได้ ๑,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ต่อคน ต่อปี
ในการแสวงหาผลประโยชน์ความร่ำรวยบนหยดน้ำเหลืองคราบน้ำตาของผู้ป่วยโรคเอดส์ นั้นที่สุดได้มีหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ” ซึ่งแปลจากหนังสือชื่อ “ The Truth About the Companies : How they deceive us and what to do about it. โดยแพทย์หญิงมาร์เซีย แอนเจลล์ .ซึ่งในเนื้อหาได้เปิดโปงเล่ห์เหลี่ยมบริษัทยาข้ามชาติในการแสวงหากำไรสูงสุดแบบไร้ศีลธรรม ในหนังสือนั้นตอนหนึ่งกล่าวว่า อุตสาหกรรมยาทั่วโลกในปี ๒๕๔๕ มียอดขายตามที่หมอสั่งประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญหรือประมาณ ๑๖ ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งขายในสหรัฐอเมริกา จากตัวเลขดังกล่าวนี้จะเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมยามีขนาดใหญ่มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือดีจีพีของประเทศไทยถึง ๒ เท่า จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำบริษัทยาเหล่านี้จึงมีอิทธิพลมหาศาลในการตัดสินใจในรูปแบบต่าง ๆ แก่นักการเมือง สำนักงานอาหารและยา บุคลากรทางการแพทย์และผู้คนในวงการต่าง ๆ ให้เป็นเครื่องมือของตน และรายการยา ๕๐๐ รายการที่จำหน่ายในตลาดโลก จากบริษัทยาของสหรัฐ ๑๐ บริษัทมีมูลค่ารวมกัน ๒๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญ(ประมาณ ๘.๖๘ ล้านล้านบาท) มีค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ ๑๔ (ประมาณ ๓๑,๐๐๐ ล้านเหรียญ) มีกำไรร้อยละ ๑๗ (ประมาณ ๓๖.๐๐๐ ล้านเหรียญ) ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายในการวิจัย แต่สิ่งที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายในการตลาดกลับสูงถึงร้อยละ ๓๑ หรือประมาณ ๖๗,๐๐๐ ล้านเหรียญ มากกว่าค่าใช้จ่ายในการวิจัยถึง ๒ เท่า และบวกลบคูณหาร รวบยอดให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แน่นอนเขาจะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและคนในชาติเขา เองก่อนเป็นเบื้องต้น แต่อย่าทำจนเกินไป อย่าเอาเปรียบคนอื่น ชาติอื่นจนเกินไป
เพราะโดยธรรมดาใครก็ต้องรักชาติของตน ทำไปเพื่อผลประเทศชาติและคนในชาติของตนทั้งนั้น เพียงแต่การกระทำหรือการแสดงออกที่แตกต่างกัน การกระทำนั้นจะเป็นไปตามพลังความเห็นแก่ตัว สุดแล้วแต่ใครมีมากใครมีน้อย ใครมีความเห็นแก่ตัวมากก็จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวระราน เป็นพฤติกรรมที่อหังการ ข่มขู่เพื่อให้ตนเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด โดยที่มองไม่เห็นความทุกข์ความเดือดร้อนผู้อื่น โดยเฉพาะการกระทำคราวนี้มีผลต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ทั่วโลก ประมาณ ๔๓ ล้านคน และมีแนวโน้มจะขยายมากยิ่งขึ้น และผู้ป่วยเหล่านั้นประมาณ ๘๐ % อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ยากจน กล่าวคือเขามีความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่แล้ว เราไม่อยากจะเชื่อเลย คนอเมริกันจะแสวงหาผลประโยชน์ความร่ำรวย “บนหยดน้ำเหลืองคราบน้ำตาของผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ลงคอ” และคำถามที่สหรัฐไม่เคยตอบได้ไม่ว่าจะเป็นในศาลหรือในที่สาธารณะ คือ ทำไมราคายาสหรัฐจึงแพงมาก และทำไมสิทธิบัตรยาจึงได้รับคุ้มครองนานเกินไป ขณะที่ผู้ป่วยทั่วโลกต้องทนทุกข์ทรมานจากราคาแพงเข้าไม่ถึงยา ทำให้ต้องล้มตายทุกวันราวใบไม้ร่วง อันที่จริง สิทธิบัตรยาไม่ใช่ปิดกั้นเฉพาะผู้ป่วย แต่ปิดกั้นมันสมองคนไทย ห้ามคิด ห้ามวิจัย ห้ามผลิตตามอายุสิทธิบัตรยาที่คุ้มครอง ปิดโรงงานเป็นแถวที่เหลือก็แค่รับจ้างผลิต ค่าใช้จ่ายในการตลาดทั้งหลายเหล่านี้ในที่สุดตกมาให้ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นค่ายาที่สูงขึ้น
กรณีดังกล่าวแล้วนี้ ทำให้ประเทศไทย โดย น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์. ประธานคณะกรรมการการบริหารองค์การเภสัชกรรม ได้โต้ตอบ องค์การยูเอสเอ ฟอร์ อินโนเวชั่น ว่า ในการพัฒนาชีวภาพยาจีพีโอเวียร์ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้ยา และได้ศึกษาชีวสมมูล(Bioequivalence Study) เทียบกับยาต้นแบบแล้ว พบว่าได้ผลดีเท่ากัน เมื่อผลออกมามีคุณภาพเท่าเทียมกัน แต่มีราคาที่ถูกกว่าแล้วเรายังจะโง่ซื้อเขาต่อไปอยู่อีกหรือ ให้เด็กอนุบาลช่วยตอบด้วย



อาการของคนที่สารโลภะกำเริบ
ท่านผู้อ่านเคยคิดสงสัยหรือไม่ว่าการที่สหรัฐอเมริกาไปรุกรานในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมัน เพื่อปล้นทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อปล้นน้ำมันของเขา จนถึงกับหลับหูหลับตาอ้างอะไรสารพัดเพื่อให้เป็นเหตุในการใช้กำลังเข้ารุกราน อย่างกรณีไปรุกรานอีรักเป็นต้น ในกรณีที่สืบเนื่องกัน ขณะนี้สหรัฐอเมริกากำลังใช้แรงกดดันกับอิหร่าน ในเรื่องโครงการพลังงานนิวเคลียร์ แน่นอนผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการผลิตอาวุธโดยประการทั้งปวง เพราะการผลิตอาวุธทุกประเภท การผลิตระเบิดทุกชนิดมันเกิดจากฐานคิดที่ทำลายล้าง ผลิตขึ้นเข่นฆ่ากัน แม้จะอ้างเหตุผลประการใดสุดแล้วแต่ หากแต่ กรณี โครงการพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่านผู้เขียนอยากจะมองโลกในแง่ดีบ้างว่า เมื่ออิหร่านอยู่ในกลุ่มพ่อค้าน้ำมันขนาดใหญ่ เขาน่าจะรู้ข้อมูลลึก ๆ ของปริมาณน้ำมันโลกว่ามันใกล้จะหมดแล้ว จึงคิดหาพลังงานทดแทน นั่นคือพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกันสหรัฐเองเมื่อคุมในเรื่องน้ำมันของอีรัก อิหร่านไม่ได้ เมื่อตัวเองซุ่มพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้ว ในอนาคตจะมีพลังงานทดแทนคือพลังงานนิวเคลียร์เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น สหรัฐอเมริกาจะคุมการจำหน่ายและคุมราคา มันหมายถึงเป็นผู้มีอำนาจคนเดียวในโลก จึงกระทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ประเทศอื่นมีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ เพราะจะเป็นผู้ขัดผลประโยชน์ เป็นผู้ลิดรอนอำนาจการควบคุม และเป็นคู่แข่งทางการค้า นี้ก็เป็นอาการหรือพฤติกรรม ของคนที่มีสารโลภะกำเริบ และมีอาการกำเริบมานานแล้วด้วย
เมื่อคนไทยโดนละเมิดสิทธิทางปัญญา แต่ชาวอเมริกัน ไปบังอาจจดสิทธิบัตร ข้าวไทย ยาไทยและอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อไทยร้องเรียนไป ทางการสหรัฐอเมริกาตอบมาว่า เป็นเรื่องของเอกชน ประเทศเรามีสิทธิเสรีภาพ ทางการจึงไม่สามารถทำอะไรเขาได้ พอถึงคราวไทยจะช่วยเหลือป่วยโรคเอดส์ทั้งในไทยและ ๔๒ ล้านคนทั่วโลก กลับโดนรุมทั้งจากเอกชนและรัฐบาลสหรัฐ
ในการประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing)ของประเทศไทยในคราวนี้ไม่เพียงแต่นานาประเทศเท่าที่ออกมาให้การสนับสนุน แต่ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาแถลงการณ์ชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง และเศรษฐกิจจากประเทศอุตสาหกรรมและบริษัทข้ามชาติที่สูญเสียผลประโยชน์ ทั้งที่ดำเนินการถูกต้องตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒ และเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าขององค์การค้าโลก
นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ประณามท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่พยายามให้มาตรการทางการค้าโดยวิธีการต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือสร้างแรงกดดันต่อประเทศไทย แสดงถึงความไม่พอใจของบริษัทข้ามชาติสหรัฐและรัฐบาลสหรัฐต่อการที่ปะเทศไทยประกาศการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกตามหลักมนุษยธรรม เพราะยาเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อชีวิต สิทธิในการเข้าถึงยาจึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนจะพึงได้รับ เป็นสิทธิที่ต้องมีอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ทางการค้า จากกรณีนี้เป็นตัวชี้วัดได้ว่าสหรัฐมีความจริงใจต่อสิทธิมนุษยชนเพียงใด การที่ออกมากดดันให้ประเทศไทยยอมรับเงื่อนไข ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ของสหรัฐ ตรงกันข้ามหากแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ

สรุป
เหตุการณ์เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานมาจาก พลังโลภะเป็นแรงขับเคลื่อน ผู้อ่านต้องเข้าใจนิยามของคำว่า “โลภะ” เพราะโลภะ คือ อยากได้แบบขี้โกง แสวงหาผลประโยชน์โดยวิธีการทุจริต สร้างความร่ำรวยบนความทุกข์ จากหยดน้ำเหลือง คราบเลือด หยาดน้ำตาของผู้อื่น จะน้อยหรือมากไม่ใช่ประเด็น แต่หลักทางศาสนาสนใจที่เจตนาและวิธีการแสวงหา หากมีเจตนาที่ทุจริต นั่นคือเชื้อของโลภะ ตามที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นว่า “ อย่าหางาช้างจากปากหมา อย่าเรียกร้องขอความเมตตาจากพญามาร” แม้คนนั้น ประเทศนั้นจะมีเงินทอง มีทรัพย์สินมากแล้วก็ตาม เพราะโดยความเป็นจริง หากการพัฒนา การแสวงหาเพื่อสนองโลภะ หรือสนองความโลภ คือ แสวงหาผลประโยชน์โดยวิธีการที่ปราศจากหลักมนุษยธรรม ไร้เมตตาธรรม และการแสวงหานั้นจะไม่มีวันจะสนองได้เพียงพอ แม่น้ำเรายังเห็นวันที่เต็มและล้นฝั่ง แต่การได้ การมีและการแสวงหาเพื่อสนองโลภะ สนองตัณหานั้นจะไม่มีวันเต็ม ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองโลภะและปกป้องผลประโยชน์ของเขา ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า สหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อขัดขวาง โจมตี ทำลายล้างการประกาศมาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL.(Compulsory Licensing)ของประเทศไทย อีกต่อไป เรื่องนี้ต้องยาวเป็นละครชีวิตแน่นอน ขอให้ไทยเตรียมตัวรับไว้ให้ดีก็แล้วกัน ขอให้คนไทยเข้าใจไว้ด้วยว่า นี้คือธาตุแท้ของมหามิตรผู้ดีเลิศประเสริฐศรีของปวงชนชาวไทย
ทั้งนี้ผู้เขียนแม้จะรู้ตัวเองว่ามีพลังเพียงน้อยนิด แต่จะขอใช้พลังความคิดที่มีอยู่เพื่อปกป้องความเป็นธรรม ความชอบธรรมของสังคมทั้งสังคมไทย และสังคมโลกอย่างสุดกำลังความสามารถจะพึงกระทำได้ พร้อมที่จะรวบพลังความรู้ พลังความคิดบนฐานของพลังเมตตาธรรมแล้วแปรเป็นพลังแห่งความกล้าหาญ เพื่อชี้นำทางความคิดแก่สังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามหลักพุทะธรรมตลอดไป แม้ตนเองจะประสบกับเหตุการณ์เรื่องราวใด ๆ ก็ตาม




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:31:15 น.
Counter : 439 Pageviews.  

การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร

ขอตามกระแสเรื่องสิทธิบัตรยาสักวัน
โดย มานิดา ซินเมอร์แมน

วันนี้ ขอชวนท่านผู้อ่านถอยหลังกลับมาหนึ่งก้าว มาดูเรื่อง “สิทธิบัตร” และทำไมถึงต้องมีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร
“สิทธิบัตร” คืออะไร ?

“สิทธิบัตร” คือ สิทธิผูกขาดที่รัฐบาลให้เป็นรางวัลแก่ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือวิจัยที่ลงทุนลงแรงในการ “คิดค้น” “พัฒนา” หรือ “ประดิษฐ์” สิ่งใหม่ๆ ขึ้น เพราะถ้ารัฐไม่คุ้มครองหรือไม่ให้รางวัล แรงจูงใจของเอกชนที่จะลงทุนประดิษฐ์คิดค้นอะไรได้ก็คงลดลงหรือถ้าคิดค้นอะไรได้ก็จะเก็บรักษาเป็นความลับ ไม่เผยแพร่ความรู้นั้นสู่สาธารณชน เพราะกลัวถูกลอกเลียนแบบ

ด้วยเหตุนี้ การให้ความคุ้มครองตามสิทธิบัตรจึงมีข้อกำหนดด้วยว่านอกจากการประดิษฐ์คิดค้นนั้นจะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแล้ว ยังต้องเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

ในการขอรับสิทธิบัตรนั้น ผู้ประดิษฐ์จะต้องเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์คิดค้นนั้นๆ ให้ชัดเจนพอที่ผู้มีความรู้ในระดับสามัญของวิทยาการนั้นๆ จะสามารถทำและปฏิบัติตามได้

การที่รัฐตกลงให้สิทธิผูกขาดเพื่อแลกกับการเปิดเผยข้อมูลความรู้วิทยาการที่มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น ผลที่สังคมส่วนรวมจะได้รับก็คือ สมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมสามารถต่อยอดจากความรู้นั้นๆ ได้ ส่วนคนที่ลงทุนลงแรง ลงความคิดก็ได้รับความคุ้มครองให้มี “สิทธิผูกขาด” เพื่อแสวงหาประโยชน์จากผลงานของตัวเองได้

ดังนั้น เราจะเห็นว่าการที่รัฐจะให้ “สิทธิผูกขาด” แก่ใครนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่มีเงื่อนไขเพราะรัฐกำลังตัดสิทธิของคนทั้งสังคม เพราะการผูกขาดตามกฎหมายสิทธิบัตรนั้น จะมีผลเป็นการห้ามเอกชนคนอื่นๆ ในการคิดหรือออกแบบสิ่งประดิษฐ์แบบเดียวกันได้ด้วยความรู้ของตนเองแม้จะไม่ได้มีการลอกเลียนความรู้หรือข้อมูลของคนที่ได้รับการคุ้มครองก็ตาม

ประเด็นที่ว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการประดิษฐ์ใหม่ และมีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้นนี้ก็มีมุมที่น่าสนใจอยู่พอสมควร เพราะมีข้อมูลมากมายที่กำลังชี้ไปว่า บรรดา “สิทธิบัตรยา” ที่บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ขอรับการคุ้มครอง อาจไม่ใช่ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น” หรือไม่ใช่ “ยาใหม่” แต่เป็นแค่การเปลี่ยนโมเลกุลของยาบางตัวหรือดัดแปลงยาบางอย่างที่มีคุณภาพในการรักษาเหมือนเดิมทุกอย่าง รัฐบาลอินเดียเองก็เคยไม่ยอมรับสิทธิบัตรยาของบริษัทข้ามชาติบางตัว เพราะยานั้นไม่ใช่ยาใหม่จนมีการฟ้องร้องเป็นคดีความกันด้วยซ้ำไป
ยังมีแนวคิดที่ไม่ได้สนับสนุนการให้สิทธิผูกขาดตามสิทธิบัตรอย่างเต็มที่ด้วย เพราะในการประดิษฐ์คิดค้นอะไรสักอย่าง ในความเป็นจริงก็คือ ต้องมีการอาศัยความรู้ ความคิดของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญที่คิดกันมาก่อนแล้ว คงไม่มีใครจะสามารถคิดอะไรขึ้นมาได้เองจากศูนย์ นั่นก็หมายความว่า การที่คนเราจะคิดจะประดิษฐ์อะไรได้ ก็ใช้ประโยชน์จากต้นทุนความรู้จากสิ่งที่สังคมวิทยาการมีอยู่แล้วไม่มากก็น้อย จึงไม่ควรจะอ้างสิทธิเพื่อแสวงหาประโยชน์ได้เพียงผู้เดียว โดยไม่มีเงื่อนไข


จึงขอเรียนย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายสิทธิบัตร แม้จะต้องการให้ประโยชน์เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่นักประดิษฐ์ก็จริง แต่กฎหมายก็คำนึงถึงสาธารณประโยชน์หรือคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้น เราคงไม่ได้เห็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่อนุญาตให้มีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในกฎหมายไทยและในข้อตกลงระหว่างประเทศอย่าง TRIPS ซึ่งแม้แต่กฎหมายของสหรัฐฯเองก็มีบทบัญญัติในเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรด้วย
ถามต่อว่ามีแต่ประเทศไทยเท่านั้นหรือที่เลวร้ายไปเอารัดเอาเปรียบบริษัทยาด้วยการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร คำตอบที่หลายๆ ท่านก็ทราบกันดีอยู่ว่า สหรัฐอเมริกาเองก็เคยบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยามานับครั้งไม่ถ้วน อย่างหลังเหตุการณ์ 911 ที่มีข่าวลือว่าจะมีการใช้เชื้อโรคแอนแทรกซ์มาติดหัวจรวดเข้าโจมตีสหรัฐ นั่นแค่ “ข่าวลือ” รัฐบาลสหรัฐยังบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยารักษาโรคแอนแทรกซ์ทันที

แต่นี่ปัญหาโรคเอดส์ในเมืองไทยไม่ใช่ข่าวลือ แต่มีผู้ติดเชื้อหลายแสน มีผู้เสียชีวิตปีละหลายหมื่น


รัฐบาลไทยไม่มีสิทธิให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตคนไทยหลายแสนคนเหนือกว่าสิทธิในการผูกขาดสิทธิบัตรหรือ

หัวใจของข้อขัดแย้งของการบังคับใช้สิทธิบัตรตามสิทธิบัตรที่ไทยมีข้อพิพาทกับสหรัฐอยู่ตอนนี้ จึงไม่น่าใช่เรื่องไทยไม่มีสิทธิบังคับใช้สิทธิบัตรยา แต่เป็นเรื่อง “ค่าตอบแทน” ที่ทางบริษัทยาต้องการต่างหาก
ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลไทยทำผิดขั้นตอนตามกฎหมาย พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 หรือผิดขั้นตอนของข้อตกลงระหว่างประเทศจริง รัฐบาลสหรัฐฯคงจะมีมาตรการตอบโต้อย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นคดีในระดับโลกเพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมแห่งการใช้สิทธิตามกฎหมายมากขนาดไหน

แต่จนถึงตอนนี้รัฐบาลสหรัฐก็ไม่ได้มีท่าทีในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาแต่อย่างใด จึงน่าจะเชื่อได้ว่า การกระทำของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ถูกขั้นตอนตามกฎหมาย
ลองสังเกตวิธีการตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐฯที่เลือกใช้วิธีการปลุกปั่นให้คนไทยมาทะเลาะกันเอง โดยอาศัยผลประโยชน์ที่จะให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มเป็นตัวชี้นำ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ อาจเข้าใจไปว่า กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร คือ คนมีฐานะหรือกลุ่มทุนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ คงเข้าใจเอาเองต่อไปอีกว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับรายได้หรือผลกำไรของกลุ่มทุนในประเทศ มากกว่าชีวิตของคนไทยกลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม แม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ “ค่าของความเป็นคน” ในสายตาผู้ครองอำนาจรัฐก็ดูจะไม่เคยเท่ากัน

ผู้เขียนหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯคงเข้าใจผิดเพราะรัฐบาลผู้ยึดมั่นในคุณธรรมและความพอเพียงชุดนี้ ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนหลักการที่ว่า ไม่ว่าคนๆ นั้น จะยากดีมีจนเพียงใด มีการศึกษาสูงต่ำแค่ไหนเพียงใด

ชีวิตคนไทยทุกคนก็มีค่าเท่าเทียมกัน




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:30:07 น.
Counter : 555 Pageviews.  


hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.