สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 

การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรส่งผลเสียในระยะยาว

การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : รัฐบาลไทยได้บังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (compulsory licensing) สำหรับยาต่อต้านโรคเอดส์ และยาช่วยให้เลือดจาง (เพื่อช่วยรักษาโรคหัวใจ) กล่าวคือ รัฐบาลจะจัดหายาที่เลียนแบบยาของเจ้าของตำรับในราคาที่ถูกกว่าของแท้มาก ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยาในราคาถูก แต่เจ้าของยาคัดค้านอย่างมากและบริษัทยารายหนึ่งคือ Abbott Laboratories ของสหรัฐ ได้ประกาศว่าจะไม่นำยาตำรับใหม่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ กำลังรณรงค์เพื่อต่อต้าน Abbott ทั่วโลก โดยกล่าวหา Abbott ว่า เห็นแก่กำไรมากกว่าสุขภาพของประชาชน

อย่างไรก็ดี Abbott ยืนยันท่าทีของตน และบริษัทยักษ์ใหญ่อีกบริษัทหนึ่งคือ Bayer ของเยอรมนี แสดงท่าทีสนับสนุน Abbott ปัญหานี้ยากที่จะตอบได้ว่าใครถูกใครผิด แต่สำหรับผมนั้นการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร คือการละเมิดการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แม้จะมองได้ว่าเป็นเรื่องของสุขภาพและความเป็นความตายของประชาชน

กรณีของยานั้น เรามักจะมองว่าน่าจะเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย และในกรณีของยาต่อต้านโรคเอดส์ ของ Abbott ที่ถูกบังคับใช้สิทธิบัตรคือ Kaletra นั้น ตั้งราคาเอาไว้สูงถึง 82,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ยาตำรับสามัญหรือยาที่เลียนแบบตัวยาของจริงจะสามารถนำเข้าได้จากอินเดีย, บราซิล หรือผลิตเองได้ในราคาเพียง 35,000 บาทต่อปี

รัฐบาลไทยให้เหตุผลว่า ขณะนี้ ภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขสูงมากอยู่แล้ว (250,000 ล้านบาท) และเพิ่มให้ปีละ 10% ดังนั้น จึงต้องการยาในราคาถูก เพื่อให้คนที่ต้องใช้ยาดังกล่าวประมาณ 600,000 คน ได้เข้าถึงยา Kaletra ที่ราคาปัจจุบันนั้น คนไทยที่มีกำลังซื้อ จะมีเพียงไม่ถึง 100,000 คน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้บังคับใช้ยาอีก 2 ตำรับ คือ ยา Efavirenz (โรคเอดส์) และยา Plavix (โรคหัวใจ) โดยให้เหตุผลเดียวกัน

รัฐบาลไทยอ้างว่าทำตามกฎเกณฑ์องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งให้บังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรได้ในกรณีที่ประเทศเผชิญกับภาวะฉุกเฉินในด้านสาธารณสุข (National public health emergency) ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึงกรณีของเกิดโรคติดต่อร้ายแรง เช่น ไข้หวัดนกกลายพันธุ์ติดมนุษย์ต่อมนุษย์ได้โดยง่าย เป็นต้น ปัญหาคือโรคเอดส์และโรคหัวใจมิได้เป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ยาก
และการกระทำของประเทศไทย จะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ที่เพียงอ้างภาระงบประมาณ เพื่อบังคับใช้สิทธิบัตรได้ ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่าบริษัทยาคงจะร่วมมือกันดำเนินการกับประเทศไทยอย่าไม่ลดละ และเราคงจะเห็นมาตรการอื่นๆ จากบริษัทยาตามมาอีก

การที่ Abbott ถอนการนำเอายาใหม่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย 7 ตำรับนั้น หมายความว่าเราจะไม่สามารถเข้าถึงยา Kaletra รุ่นใหม่ที่ไม่ต้องแช่เย็น และยังมียาโรคหัวใจ ยาลดความดัน ยาโรคไต ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ และยาโรคกระดูก ที่ไทยจะไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ เพราะหากเจ้าของยาไม่นำเอาข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับยาต้นตำรับมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยาของไทยแล้ว ผู้ผลิตยาเลียนแบบก็จะไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนยาได้ เพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับตำรับยาดังกล่าว

แปลว่า หากมีอีก 1-2 บริษัทที่ทำตาม Abbott ไทยก็จะประสบปัญหาด้านสาธารณสุขในระยะยาว เพราะเราจะไม่มียารุ่นใหม่ใช้ ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อสุขภาพของคนไทย (โดยเฉพาะคนจนที่ไม่สามารถเดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศ) แล้ว ก็ยังกระทบต่อโรงพยาบาลของไทย ที่กำลังก้าวสู่ธุรกิจสาธารณสุขระดับโลก เพราะการรักษาพยาบาลของไทยกำลังเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติอย่างแพร่หลาย

ดังจะเห็นได้ว่า ในกรณีของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นั้น ได้มีข้อตกลงที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นชอบให้คนญี่ปุ่นมารักษาพยาบาลที่ประเทศไทย โดยสามารถเบิกเงินประกันสังคมและประกันสุขภาพจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ ผมเข้าใจว่าในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้นผู้ให้ประกันสังคมบางรายก็เริ่มพิจารณาว่า จะส่งเสริมให้สมาชิกมารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะมาตรฐานสูงและค่าบริการก็ต่ำ เพียง 1/4-1/5 ของค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐ แต่หากประเทศไทยไม่มียาที่ทันสมัยก็คงต้องล้มเลิกความคิดดังกล่าวไป

นอกจากนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงว่าบริษัทยาจะไปฟ้องกล่าวโทษประเทศไทยต่อรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ บริษัทยาก็กำลังล็อบบี้ให้ประเทศไทยถูกเลื่อนอันดับมาเป็นประเทศที่ต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษ (Priority Watch List -PWL) ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากไทยอยู่ใน PWL รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็จะต้องเข้ามาเจรจาให้ไทยแก้ไข และหากไม่แก้ไขรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็จะริเริ่มการไต่สวนภายใต้มาตรการ 301 ซึ่งอาจใช้เวลาเพียง 6-12 เดือน และหากได้ผลไม่เป็นที่พอใจของสหรัฐก็จะนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าได้

ประเด็นที่ฝ่ายไทยยกว่ามีความจำเป็นในด้านงบประมาณนั้น บริษัทยานำเสนอข้อมูลกับรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐว่า รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการปฏิวัตินั้นได้ปรับเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร 20% และประเทศไทยก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง รายได้ต่อคนประมาณ 3,000 ดอลลาร์ต่อปี จึงมิได้เป็นประเทศยากจนแต่อย่างใด นอกจากนั้น ก็มิได้เผชิญภาวะฉุกเฉินในด้านสาธารณสุข
จึงต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่าในประเทศไทยเราจะไม่ค่อยเห็นข่าวเรื่องนี้ (เพราะเราให้ความสนใจกับการเมืองและปัญหาภาคใต้เป็นหลัก) แต่ต่างประเทศนั้น เรื่องบังคับใช้สิทธิบัตรยาเป็นเรื่องที่ถูกนำไปรายงานอย่างแพร่หลาย




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:37:36 น.
Counter : 656 Pageviews.  

เหตุผล 5 ประการที่การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้ป่วย

เหตุผล 5 ประการที่การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร
ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้ป่วย

แถลงการณ์จากนายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา)

ข้อมูลอ้างอิง: การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ในอุตสาหกรรมยานั้นคือ การที่ภาครัฐใช้อำนาจบังคับให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยา ยินยอมให้รัฐหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผลิตหรือจัดหายาเลียนแบบยาต้นแบบภายใต้สิทธิบัตรของเขาได้ ก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุการคุ้มครอง กฏหมายระหว่างประเทศนั้นยอมให้มีการทำซีแอลก็ต่อเมื่อมีภาวะฉุกเฉินในระดับชาติ และไม่มีจุดประสงค์ในเชิงการค้า

ยาต่างจากสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ตรงที่ยาจะได้รับระยะเวลาการคุ้มครองที่มีเวลาจำกัด คือเพียงประมาณ 10 ปี หลังการออกจำหน่ายในตลาดยา

เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิดังกล่าว ผู้คิดค้นยาจะต้องเปิดเผยข้อมูลสูตรยา และวิธีการผลิตหลังจากสิ้นอายุการคุ้มครองตามสิทธิบัตรเพื่อให้ผู้อื่นสามารถผลิตลอกเลียนแบบได้

อย่างไรก็ตาม สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่รัฐให้กับเจ้าของสิทธิบัตรยานั้น ไม่ใช่สิทธิในการผูกขาดทางการตลาด เนื่องจากมิได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้อื่นคิดค้นวิจัยสูตรยาตัวอื่นๆ ที่ใช้รักษาโรคเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุด ผู้อื่นสามารถคิดค้นและผลิตยาที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันหรือดีกว่าออกสู่ตลาดได้

“ยาสามัญ” คือยาเลียนแบบที่ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายหลังจากที่สิทธิบัตรยารายการหนึ่งๆ หมดอายุความคุ้มครอง

ดังนั้น บริษัทที่มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและคิดค้นสร้างตัวยาใหม่ๆ จึงไม่ได้ต่อต้านการผลิตยาสามัญ

สิทธิบัตร นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้วิจัยยาพยายามค้นคว้าและพัฒนาให้ได้ยาใหม่ที่สำคัญในการรักษาโรค การอนุญาตให้ผู้คิดค้นหรือนักประดิษฐ์มีสิทธิแต่เพียง

ผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดด้วยการให้สิทธิบัตรคุ้มครอง เพื่อให้ทำธุรกิจและจำหน่ายผลงานนวัตกรรมที่ตนคิดค้นพัฒนาขึ้นมานั้น นับเป็นการกระตุ้นให้ผู้คิดค้นหรือนักประดิษฐ์อยากลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยต่อไป

1. การที่รัฐบาลยึดเอาทรัพย์สินของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อเหตุผลใดๆ ก็ตาม การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น หากมีนักการเมืองประกาศว่า “เราต้องการผลิตภัณฑ์ของท่าน แต่เราไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อ ฉะนั้นเราจะใช้อำนาจรัฐดำเนินการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของท่าน” เมื่อรัฐบาลเริ่มการกระทำดังกล่าว รัฐบาลได้ทำลายความมั่นใจของผู้ลงทุนไทยและต่างชาติในประเทศของเรา เงินลงทุนจากต่างประเทศนับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ คนไทยทั้ง

63 ล้านคนจะต้องเผชิญภาวะยากลำบาก

2. การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะทำลายชื่อเสียงของประเทศบนเวทีโลก ช่วงที่ไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ชื่อเสียงของประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก

สื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ทามส์ (Financial Times) และวอลสตรีท เจอนัล (Wall Street Journal) เขียนพาดหัวข่าววิจารณ์ว่า ประเทศไทยเป็น “ผู้ขโมย” ไม่ว่าคำพูดดังกล่าวจะจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พาดหัวข่าวนั้นได้ทำลายความน่าเชื่อถือของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย หากจะพูดว่าการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณ เราจะต้องถามว่าการประหยัดงบที่ว่าจะคุ้มค่ากับการกระทำหรือไม่ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยด้านสุขภาพได้อย่างไร หากผู้คิดค้นขาดความมั่นใจได้ว่านวัตกรรมของเขาจะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

3. ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเสียผลประโยชน์ทางด้านการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากประวัติการไม่ให้ความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญา การประกาศใช้สิทธิเหนือ-สิทธิบัตรยาของรัฐบาลที่ผ่านมาอาจทำให้ถูกมองเป็นเช่นนั้น หากเราเสียผลประโยชน์ทางการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ความเสียหายดังกล่าวจะส่งผลต่ออุตสากรรมมากมาย ทั้งยังส่งผลต่อแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ รองเท้า และผลิตภัณฑ์ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาอื่นๆ อีกมากมายเกินกว่าจะนับ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคการเกษตรกรรมที่พึ่งการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มูลค่ากว่า 131,500 ล้านบาทไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) ปีที่แล้วรัฐบาลได้ประหยัดงบประมาณ การซื้อยาได้เพียง 15 ล้านบาทจากการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรสำหรับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวแรก แทนที่จะสร้างความเสี่ยงให้เกิดผลกระทบกับคนไทยเป็นล้านๆ คน ทำไมรัฐบาลไม่พยายามลงทุนเพิ่มในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ด้วยการจัดหายาโดยไม่ต้องใช้ซีแอลภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ายาเอง

4. ผู้ป่วยไทยควรได้รับยาที่มั่นใจในคุณภาพได้มากกว่ายาเลียนแบบ ผู้ป่วยควรได้รับยาต้นแบบ และรัฐบาลควรหาจัดตั้งโครงการที่จะจัดหายาที่เชื่อถือได้และมีคุณภาพสูงแก่ผู้ป่วย

5. การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยานับเป็นการสร้างภาพ การแก้ปัญหาสุขภาพ เชิงประชาสัมพันธ์ แต่การกระทำดังกล่าวทำให้เรามองข้ามการแก้ปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับระบบการรักษาสุขภาพของประเทศไทย การบังคับใช้สิทธิเพื่อการใช้ยาเลียนแบบไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มให้กับคนไทยอีกมากมาย ประเทศต้องจัดงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาซื้อยาคุณภาพและยาที่ดีที่สุดของโลกมาบริการประชาชน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณให้กับการรักษาสุขภาพน้อยมาก เพียงแค่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ซึ่งแม้แต่ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ในลิเบอร์เรีย โมแซมบิค ระวันดา ซูดาน และเซเนกัล ยังจัดงบประมาณด้านสุขภาพเทียบกับค่าจีดีพีมากกว่าประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในประเทศอย่างปากีสถาน มาเลเซีย และอิรัก มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่อัลจีเรีย เม็กซิโก และเอควาดอร์มีจำนวนสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรมากกว่าไทยถึงสามเท่า มีเพียง บางประเทศในโลกที่มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่แพทย์ 4 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน

พรีม่าเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมวิจัยพัฒนายาที่ประกอบการอยู่ในประเทศไทย เราเชื่อว่าการบังคับใช้สิทธิกับยาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) จะไม่เกิดประโยชน์และผลดีในระยะยาวต่อผู้ป่วย และไม่ใช่ทางออกที่ดีต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย แต่จะทำให้เราหลงทางในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยวิธีของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การแก้ปัญหาในระบบสุขภาพของไทยที่เป็นอยู่จะใช้วิธีการง่ายๆ ไม่ได้ การพัฒนาเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีคุณภาพและยั่งยืนจะบรรลุได้ด้วยการปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น การมีแพทย์เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยในชนบท การให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ยาอย่างถูกต้อง

การจัดสรรงบประมาณการสาธารณสุขที่เพียงพอ และการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนระหว่างแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออก และได้จัดสรรงบประมาณการสาธารณสุขคิดเป็นร้อยละของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ต่ำที่สุด พรีม่าตระหนักดีถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และได้ผลักดันจนเกิดคณะกรรมการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมยาขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการร่วมแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในระบบสุขภาพของไทย

พรีม่าและบริษัทวิจัยพัฒนายาในประเทศไทย ยืนหยัดและทุ่มเทเพื่อการเป็นภาคีกับรัฐบาลและผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ในระบบสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพในระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวม

กระผมและผู้ร่วมงานในพรีม่าจะรอโอกาสการเข้าพบและหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับระบบสุขภาพของไทยอย่างยั่งยืน




 

Create Date : 10 มีนาคม 2551    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 14:36:01 น.
Counter : 548 Pageviews.  


hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.