สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 
ความไม่บริสุทธิ์ของเจตนา

การแสดงเจตนาต้องเป็นการกระทำโดยมุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ดังนั้น ต้องมีการแสดงเจตนาออกมาให้ปรากฏ โดยเจตนาที่อยู่ในใจกับเจตนาที่ปรากฏจะต้องตรงกัน จึงจะทำให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์

เจตนาซ่อนเร้น
“การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”

ผลของการแสดงเจตนาซ่อนเร้น ขึ้นอยู่กับว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้หรือไม่ว่าคู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาออกมาให้ปรากฏนั้นต้อการผูกนิติสัมพันธ์ด้วยหรือไม่
เช่น ผู้แสดงเจตนาทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ยอมคืนที่ดินที่เปล่าให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ภายหลังบุคคลที่แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองยอมคืนที่ดินมือเปล่า อ้างว่าไม่มีเจตนาสละการครอบครองที่ดิน ที่ทำหนังสือฉบับนั้นให้ก็เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นดีใจจะได้หายวิกลจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นิติกรรมที่แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองนั้นสมบูรณ์ เพราะฝ่ายที่ได้รับการสละนั้นไม่รู้เรื่องด้วยว่าไม่ได้ตั้งใจคืนให้จริงๆ (หากฝ่ายที่ได้รับการสละรู้ว่าที่ทำหนังสือฉบับนั้นให้ก็เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นดีใจจะได้หายวิกลจริต นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ)

การแสดงเจตนาที่แสดงออกมาไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงในใจนั้น โดยทั่วไปอาจเกิดได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ
1. การแสดงเจตนาซ่อนเร้น – เป็นการแสดงเจตนาออกมาโดยผู้ที่แสดงเจตนารู้อยู่แล้วว่า เจตนาที่ตนแสดงออกมานั้นไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงในใจของตน แต่เป็นกรณีที่ผู้แสดงเจตนาแกล้งแสดงเจตนาออกมาให้ผิดไปจากเจตนาที่แท้จริงในใจของตน
2. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด – เป็นการแสดงเจตนาออกมาโดยผู้ที่แสดงเจตนานึกว่าเจตนาที่ตนแสดงออกมาตรงกับเจตนาแท้จริงในใจของตน แต่ปรากฏว่าเจตนาที่ตนแสดงออกมานั้นกลับไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงในใจ ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด
ฉะนั้น การแสดงเจตนาซ่อนเร้นและการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดมีความแตกต่างกันตรงที่ว่า ผู้แสดงเจตนานั้นรู้หรือไม่ว่า เจตนาที่ตนแสดงออกมานั้นตรงกับเจตนาที่แท้จริงในใจหรือไม่ ถ้ารู้ว่าไม่ตรง แต่แกล้งแสดงออกให้ผิดไปจากเจตนาที่แท้จริง ก็เป็นเรื่องเจตนาซ่อนเร้น แต่ถ้าไม่รู้ว่าไม่ตรง ก็เป็นเรื่องการสำคัญผิด

เจตนาลวง
“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”

การแสดงเจตนาลวง คือ การที่ผู้แสดงเจตนาทั้งสองฝ่ายสมรู้กัน โดยต่างก็รู้ตัวอยู่ในขณะที่แสดงเจตนาออกมาว่า เจตนาที่ตนแสดงออกนั้นไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงที่ตนมีอยู่ในใจ แต่เป็นการแสดงเจตนาออกมาเพื่อที่จะหลอกลวงบุคคลภายนอกอื่นๆ โดยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันเลย

ผลของการแสดงเจตนาลวง แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
1. ผลของนิติกรรมที่เกิดขึ้นกับคู่กรณี – นิติกรรมเป็นโมฆะเสมอ
เช่น สามีภริยาไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ แต่ความจริงทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ที่ทำไปเพื่อจะลวงผู้อื่นเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยานั่นเอง แล้วภริยาทำสัญญาขายที่ดินและบ้านเรือนอันเป็นสินเดิมให้สามีเพื่อกีดกันบุตรของภริยาอันเกิดแต่สามีเก่า ความจริงมิได้ขายกัน ดังนี้ นิติกรรมซื้อขายย่อมเป็นโมฆะ ที่ดินและบ้านเรือนยังเป็นกรรมสิทธิ์ของภริยาอยู่
2. ผลของนิติกรรมที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก – จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องเสียหายอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ข้อสังเกต
- บุคคลภายนอกต้องสุจริต และ
- ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงด้วย --- ที่ว่าต้องเสียหายนั้น หมายถึงบุคคลภายนอกต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ไป หากการแสดงเจตนาลวงนั้นเป็นโมฆะ
เช่น จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ทั้งสองบังคับจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงซื้อขายกัน การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะ

เจตนาอำพรางหรือนิติกรรมอำพราง
“ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของ
กฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”

นิติกรรมอำพราง คือ การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันทำนิติกรรมอันหนึ่งขึ้นมาให้ปรากฏ ซึ่งในเจตนาที่แท้จริงมิได้ต้องการผูกพันตามนิติกรรมนี้ แต่ทำเพื่อจะอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีปิดบังไว้และต้องการที่จะผูกพันต่อกันนิติกรรมอำพรางจึงเป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นมาอย่างน้อย 2นิติกรรม คือมีนิติกรรมอันหนึ่งที่ประสงค์ผูกพันกันแต่ปกปิดไว้ โดยคู่กรณีได้ทำนิติกรรมอันที่สองซึ่งไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงขึ้น (นิติกรรมลวงซ้อนนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่แท้จริง) เพราะฉะนั้นนิติกรรมที่ปรากฏจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง ซึ่งเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมที่แท้จริงแต่ถูกปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้ ย่อมมีผลบังคับได้

เช่น โจทก์จำเลยเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท แต่ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เป็นโมฆะ ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด
เป็นเรื่องที่ผู้แสดงเจตนาออกมาไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงที่มีอยู่ในใจ โดยที่ผู้แสดงเจตนาไม่รู้ตัวว่าเจตนาที่ตนแสดงออกมาให้ปรากฏนั้นต่างกับเจตนาแท้จริงที่อยู่ในใจเพราะถ้าผู้แสดงเจตนารู้ว่าเจตนาที่แสดงออกไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงในใจ ก็เป็นเรื่องเจตนาซ่อนเร้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องเจตนาลวง โดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดอาจเกิดเพราะสำคัญผิดเอง หรือมีผู้มาหลอกให้สำคัญผิดก็ได้

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดที่จะเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาเสื่อมเสียไปนั้นมี 2 ประการ คือ

1. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะ
“การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”
- สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หมายถึง การสำคัญผิดเกี่ยวกับชนิดและประเภทของนิติกรรม คือ ผู้แสดงเจตนาตั้งใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแสดงเจตนาออกมาแล้วกลายเป็นว่า ผู้แสดงเจตนานั้นได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมิใช่นิติกรรมที่ตั้งใจทำ

เช่น ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ 3 โฉนด จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินโฉนดที่มีเนื้อที่มากที่สุดให้แก่บิดาโจทก์ โดยลงชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รับ ทนายความผู้เขียนสัญญาดูแต่ภาพถ่ายด้านหน้าโฉนด ไม่ได้ดูสารบัญจดทะเบียนเข้าใจว่าเป็นโฉนดที่ 2600 มีเนื้อที่มากที่สุด จึงได้เขียนสัญญาประนีประนอมยอมความไปตามนั้น จำเลยจำเลขโฉนดและเนื้อที่ทั้งสามแปลงไม่ได้ เข้าใจว่าทนายความลงเลขโฉนดและเนื้อที่ดินในสัญญาถูกต้องตรงเจตนาของจำเลยจึงรับว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อให้ไว้ แท้จริงโฉนดที่ 2598 มีเนื้อที่มากที่สุด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินโฉนดที่ 2600 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ

- สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม เป็นเรื่องผู้แสดงเจตนาตั้งใจจะทำนิติกรรมกับบุคคลหนึ่ง แต่เมื่อแสดงเจตนาทำนิติกรรมจริงๆ แล้ว กลายเป็นทำนิติกรรมกับอีกคนหนึ่ง และข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่า ถ้าไม่ใช่บุคคลที่ตนเข้าใจแล้ว ผู้แสดงเจตนาก็จะไม่ทำนิติกรรมนั้นด้วยเลย เช่น การทำสัญญาเช่า คุณสมบัติของตัวบุคคลที่เช่าย่อมเป็นสาระสำคัญ
เช่น จำเลยเป็นผู้เช่าตึก ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โดยเข้าใจว่าโจทก์ยังเป็นเจ้าของตึกพิพาท แต่ความจริงโจทก์เคยเป็นเจ้าของและรู้ว่าไม่ใช่ตึกของตนแล้ว แต่ปกปิดความจริงไว้ ถ้าจำเลยรู้ความจริงก็จะไม่ยอมทำสัญญากับโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเกิดขึ้นเพราะจำเลยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม คือสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีนิติกรรมสัญญาตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

- สำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม หมายถึง สำคัญผิดในตัวทรัพย์สินที่คู่กรณีจะต้องส่งมอบแก่กัน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น

2. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆียะ
“การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์เป็นโมฆียะความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะไม่ได้ทำขึ้น”

- การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินไม่ใช่เรื่องสำคัญผิดในตัวบุคคลหรือตัวทรัพย์สิน แต่เป็นการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม แต่เป็นเรื่องที่ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับบุคคลหรือแสดงเจตนาทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นโดยถูกต้อง เพียงแต่ผู้แสดงเจตนาสำคัญว่าบุคคลที่ตนทำนิติกรรมด้วยหรือทรัพย์สินที่ตนทำนิติกรรมอันนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ในกรณีนี้ถ้าคุณสมบัติที่ผู้แสดงเจตนาเข้าใจว่าบุคคลหรือทรัพย์อันนั้นมีอยู่ตามปกติแล้วถือได้ว่าคุณสมบัติอันนั้นเป็นสาระสำคัญ ซึ่งถ้าผู้แสดงเจตนาไม่สำคัญผิดเช่นนั้น ก็จะไม่ทำนิติกรรมกับบุคคลนั้น หรือไม่ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินอันนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่า การเจตนาทำนิติกรรมของบุคคลนั้นเกิดจากความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือในคุณสมบัติของทรัพย์นั้นเป็นโมฆียะ

- ต้องดูว่าตามลักษณะของนิติกรรมที่ได้มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมว่าคุณสมบัตินั้นเกี่ยวเนื่องกับการชำระหนี้หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามนิติกรรมที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าคุณสมบัติไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย ก็ไม่เป็นคุณสมบัติที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมนั้น เว้นแต่คู่กรณีจะเจาะจงให้คุณสมบัติข้อนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ เช่น จ้างแม่ครัว (ไม่จำเป็นต้องเต้นรำเป็น)

เช่น การที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทโดยหลงเชื่อตามที่โจทก์ฉ้อฉลว่าที่ดินพิพาทติดถนนไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ ซึ่งความจริงที่ดินพิพาทมิได้อยู่ติดถนน ถือว่าจำเลยแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อ ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะ

การแสดงเจตนาเพราะกลฉ้อฉล
“การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะการถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้นถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การ
แสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉล
นั้น”

การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล หมายถึง การแสดงเจตนาที่ได้มาเพราะมีการใช้อุบายหลอกลวงให้ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรม โดยผู้ที่ใช้อุบายหลอกลวงนั้นได้กล่าวข้อความอันเป็นเท็จหรือแกล้งปกปิดความจริงเอาไว้เพื่อจะหลอกลวงให้ผู้แสดงเจตนาหลงเชื่อตามที่ได้หลอกลวงกลฉ้อฉลนี้ หากมองในด้านผู้ถูกฉ้อฉล ก็เป็นเรื่องผู้ถูกฉ้อฉลแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงนั่นเอง คือเข้าใจข้อเท็จจริงผิดไปจากความเป็นจริง ดังนั้น การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นการแสดงเจตนาที่ตรงกับเจตนาที่อยู่ในใจ (แต่เกิดจากความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ผิดไปเพราะถูกอีกฝ่ายหรือคนภายนอกหลอกลวงให้หลงเชื่อในข้อเท็จจริงนั้น) ซึ่งต่างกับเจตนาซ่อนเร้นและเจตนาลวง (แสดงเจตนาไม่ตรงกับเจตนาที่อยู่ในใจ)

การแสดงเจตนาเพราะกลฉ้อฉลเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดทุกกรณี แต่การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดไม่จำเป็นต้องเกิดจากกลฉ้อฉลเสมอไป คือ
􀂃 หากสำคัญผิด ก็ต้องดูว่าเรื่องอะไร หากสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม ก็เป็นโมฆะ แต่หากสำคัญผิดในคุณสมบัติ ก็เป็นโมฆียะ
􀂃 ส่วนถูกกลฉ้อฉลนั้น ไม่ได้ทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะเสมอไปเพราะกลฉ้อฉลต้องถึงขนาด คือถึงขนาดว่าถ้าไม่มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น ก็จะไม่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมกันเลย

การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่
“การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ”
“การข่มขู่” เป็นเรื่องที่ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมถูกบังคับให้เกิดความกลัวภัยแล้วก็แสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมา เพราะความกลัวภัยที่ถูกขู่ไว้
- การข่มขู่ต้องถึงขนาด คือ จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะไม่ทำขึ้น ซึ่งแยกองค์ประกอบได้ คือ
1. ผู้ข่มขู่อาจเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอก หรือบุคคลทั้งสองกรณีร่วมกันข่มขู่ก็ได้
2. ผู้ข่มขู่จะต้องมีเจตนาข่มขู่ผู้ที่แสดงเจตนาทำนิติกรรม และการข่มขู่นั้นจะต้องเป็นเรื่องของการข่มขู่ว่าจะกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3. ผู้ถูกข่มขู่ต้องมีมูลกลัวภัยที่จะเกิดจากการข่มขู่ ( ให้พิเคราะห์ถึงเพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย และภาวะแห่งจิตของผู้แสดงเจตนาตลอดจนพฤติการณ์และสภาพแวดล้อมอื่นๆ อันเกี่ยวกับการนั้น)
4. จะต้องเป็นภัยที่ใกล้จะถึง
5. ต้องเป็นภัยที่ร้ายแรงถึงขนาดที่จูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว – เปรียบเทียบระหว่างการทำนิติกรรมที่ถูกขู่ให้ทำ กับภัยที่ขู่ว่าจะก่อให้เกิดขึ้น ว่าอันไหนร้ายแรงกว่ากันการกระทำซึ่งกฎหมายไม่ยอมให้ถือว่าเป็นการข่มขู่ คือ การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ และการใดที่ทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้ทำลงเพราะถูกข่มขู่
􀂃 การขู่ว่าจะฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญา หรือแจ้งความให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีต่อผู้ถูกขู่นั้น ถ้าผู้ขู่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีเช่นนั้นต่อผู้ถูกขู่แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ ถือเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม
􀂃 ความกลัวเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ เช่นความยำเกรงต่อพ่อแม่ หรือของศิษย์ที่นับถือยำเกรงครูบาอาจารย์



Create Date : 22 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2550 9:33:35 น. 0 comments
Counter : 1310 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.