จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2561 ตอนที่ 1

ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าปัจจุบันไม่ว่าจะมองไปที่วงการไหน คำว่าจรรยาบรรณก็มักจะปรากฏให้เห็นได้บ่อยครั้ง เนื่องจากจรรยาบรรณมีส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรหรือสถาบันทางวิชาชีพต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือ เป็นหลักปฏิบัติที่ยึดถือร่วมกัน หากใครฝ่าฝืน ก็ย่อมต้องได้รับบทลงโทษ เพราะทำให้ความน่าเชื่อถือของสถาบันหรือสมาคมดังกล่าวได้รับความเสียหาย

 

สภาวิชาชีพบัญชีก็เช่นกันค่ะ ทางสภาฯได้ทำการกำหนด Code of Ethics หรือจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีขึ้นมา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทุกคนจะต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด จรรยาบรรณนี้ได้มีการปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อให้ทันสมัยและง่ายต่อการจดจำมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มในส่วนของการนำไปปฏิบัติให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

ในตอนนี้ เราจะมาดูกันว่า หลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณมีอะไรบ้าง โดยอ้างอิงจากข้อบังคับของสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2561

 

หลักการพื้นฐานจรรยาบรรณ

  1. ความซื่อสัตย์สุจริต

ประพฤติตนอย่างตรงไปตรงมา จริงใจในความสัมพันธ์ทั้งมวล ทั้งทางวิชาชีพและทางธุรกิจ

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปิดบังซ่อนเร้นสิ่งที่เจอเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนหรือด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม

 

  1. ความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ

ไม่ยอมให้อคติ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรืออิทธิพลอันเกินควรของบุคคลอื่น มาลบล้างการใช้ดุลยพินิจทางวิชาชีพหรือทางธุรกิจ

สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่น ต้องมีความเป็นอิสระจากลูกค้า ประกอบด้วย ความเป็นอิสระทางจิตใจ และความเป็นอิสระเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ให้บริการสามารถแสดงข้อสรุป และแสดงให้บุคคลภายนอกเห็นว่า ตนได้ข้อสรุปโดยปราศจากความลำเอียง ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรืออิทธิพลอันเกินควรของบุคคลอื่น

สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในหน่วยงานธุรกิจ ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานตามหลักการพื้นฐานนี้ด้วย

ความอิสระและความเที่ยงธรรมหมายความว่าผู้ประกอบวิชาชีพสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่เกิดความลำเอียง รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม มาจากการใช้ดุลยพินิจทางวิชาชีพหรือธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ตัวข้อบังคับได้แบ่งความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระเป็นสองส่วน คือส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการสาธารณะ เช่น เหล่าAuditor ใน Audit firm หรือนักทำบัญชีจากบริษัทที่รับ outsource ทำบัญชี และส่วนผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในหน่วยงานธุรกิจ เช่น พนักงานบัญชีในบริษัทต่าง ๆ CFO, Accounting manager ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานเช่นกัน ไม่ใช่ว่าทาง CEO สั่งมาว่าให้ลงบัญชีแบบนี้แล้วเราจะทำตามได้เลย ต้องดูความเหมาะสมและถูกต้องด้วย

 

  1. ความรู้ ความสามารถ ความเอาใจใส่ การรักษามาตรฐานในการปฏิบัติงาน

คือการรักษาไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ และความชำนาญทางวิชาชีพในระดับที่รับรองได้ว่า ลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างได้รับบริการทางวิชาชีพที่ถึงพร้อมด้วยวิวัฒนาการล่าสุดในวิธีการ หรือเทคนิคการปฏิบัติงาน หรือตามกฏหมาย และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

ใครบอกว่าไม่รู้ไม่ผิด สำหรับวิชาชีพนี้ไม่ได้นะคะ ไม่อย่างนั้นคุณจะผิดจรรยาบรรณ เพราะทางสภาได้กำหนดข้อบังคับนี้ไว้ว่า เหล่าผู้ประกอบวิชาชีพทางบัญชีจะต้องมีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ และยังไม่พอ หลังจากที่ได้ความรุ้ความสามารถถึงระดับแล้ว ยังต้องคอยหมั่นรักษาระดับความรู้ความสามารถเอาไว้ให้ได้ และใส่ใจในการทำงาน ระมัดระวังให้ถึงที่สุด เพื่อให้งานที่ออกมาเป็นไปตามมาตรฐานและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แค่ได้อ่านก็ปาดเหงื่อแล้วล่ะค่ะ

 

  1. การรักษาความลับ

ให้ความสำคัญกับความลับของข้อมูลที่ได้มาจากความสัมพันธ์ทางวิชาชีพและธุรกิจ ดังนั้น จึงไม่พึงเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้กับบุคคลที่สาม โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจอย่างถูกต้อง และเฉพาะเจาะจง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามสิทธิทางกฏหมายหรือสิทธิทางวิชาชีพ หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องเปิดเผย หรือไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อบุคคลที่สาม

เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอันเป็นความลับของลูกค้า เพราะกฏหมายเขียนไว้ว่าเราขอข้อมูลอะไรบริษัทจะต้องให้ ไม่อย่างนั้นเราก็ทำงานกันได้ไม่เต็มที่ แต่ความลับเหล่านั้นถ้าเราเอาไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าจะกับครอบครัวที่ใกล้ชิด หรือกับใครก็ตาม แล้วเรื่องแดงขึ้นมา ไม่เพียงจะสูญเสียความไว้วางใจที่ลูกค้ามอบให้ แต่ยังเป็นความเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือของกลุ่มวิชาชีพโดยรวมด้วย ดังนั้นเราต้องเป็นคนฟังหูไว้หูให้ได้นะคะ อย่าเอาความลับที่ได้รู้มาจากการทำงานไปเพร่งพรายเด็ดขาด ความลับเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นสูตรการผลิต ข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ 

 

  1. พฤติกรรมทางวิชาชีพ

ปฏิบัติตามกฏหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียแห่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี

กรณีที่จะถือเป็นการประพฤติผิดจรรยารรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี มีดังต่อไปนี้

(1) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบัญชีตามข้อบังคับนี้ และเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

(2) เคยถูกลงโทษโดยคำสั่งถึงที่สุดเนื่องจากประพฤติผิดจรรยาบรรณตามมาตรา 49 แห่งพรบ.วิชาชีพบัญชีพ.ศ. 2547 แต่ยังประพฤติซ้ำ หรือไม่หลาบจำ หรือไม่มีความเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบัญชี

(3) กระทำความผิดในการประกอบวิชาชีพบัญชีตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 269 โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(4) กรณีอื่นที่คณะกรรมการจรรยาบรรณเห็นว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี

ข้อนี้พูดง่าย ๆ ก็คือการทำตัวดี ๆ อยู่ในร่องในรอยนั่นแหล่ะค่ะ อะไรที่เขาห้ามก็อย่าไปหาทำ (เช่น รับเซ็นงบมือปืน)

 

  1. ความโปร่งใส

แสดงภาพลักษณ์ให้เห็นถึงการปฏิบัติงานตามกฏหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ และมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ และไม่ปกปิดข้อเท็จจริง หรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบได้

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องแสดงให้คนภายนอกเห็นว่าเราทำงานด้วยความโปร่งใส ถึงแม้ว่าเราจะต้องรักษาความลับของลูกค้า แต่กระบวนการทำงานของเราจะต้องตรวจสอบได้เสมอนะคะ ถ้าเป็น Scale เล็ก ๆ ก็เช่น ในมุมของ External Audit การ Link สูตรใน Workdone เสมอ อย่า Paste Value เพราะคนอื่นๆ เขาจะไม่ทราบว่าเราเอาเลขมาจากไหน หรือถ้าเราอ้างอิงเอกสารอะไรของลูกค้า ก็ควรใส่เลข Ref ไว้ให้ชัดเจน เวลาคนอื่นมาดูไม่ว่าจะเป็น Manager ของจ็อบนั้น หรือน้องที่จะมาทำต่อจากเราปีหน้า หรือเจ้าหน้าที่กลต.ที่มาตรวจสอบ Workdone เขาก็สามารถค้นเจอข้อมูลของเราได้อย่างง่ายดาย

 

สำหรับตอนนี้เราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณไปแล้ว ตอนหน้าเราจะมาคุยกันเกี่ยวกับหมวดที่ 3 ในข้อบังคับตัวนี้ที่ว่าด้วยการนำหลักการพื้นฐานไปปฏิบัติค่ะ

 

หวังว่าสรุปกฏหมายตัวนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขอบคุณผู้อ่านทุกคนนะคะ




Create Date : 15 เมษายน 2564
Last Update : 15 เมษายน 2564 6:26:38 น.
Counter : 5925 Pageviews.

2 comment
การให้ความเห็นชอบของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ตอนที่ 2

ตอนก่อนหน้าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนกันไปแล้ว ครั้งนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าหน้าที่ของผู้สอบบัญชีในตลาดทุนนั้นมีอะไรบ้าง

 

โดยในประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สช. 39/2553 ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบไว้ดังนี้

 

  1. ผู้สอบฯต้องปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินด้วยความรับผิดชอบตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และตามข้อกำหนดของฏฏหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามประกาศที่ออกตามกฏหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  2. ดำเนินการให้งบการเงินของบริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ลูกค้าที่มีหุ้น Trade ใน SET หรือ MAI) และบริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ลูกค้าที่กำลัง IPO) จะต้องผ่านการพิจารณาของผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงาน (Engagement Quality Control Reviewer : EQCR) ก่อนลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงิน
  3. ผู้สอบบัญชีที่สอบบัญชีให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มีหน้าที่จัดทำงบการเงินและรายงานฐานะทางการเงิน ให้กับสำนักงานกลต. จะต้องจัดทำบทสรุปประเภทรายงานของผู้สอบบัญชีจากการตรวจสอบหรือการสอบทานงบการเงิน ตามแบบ 61-4 (ดาวน์โหลดได้จากเว็บของสนง.กลต.)
  4. ผู้สอบฯจะต้องจัดทำคำชี้แจงหรือนำส่งข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสอบบัญชี หรือดำเนินการอื่นใดในการให้ความร่วมมือกำสำนักงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีในตลาดทุนตามที่สำนักงานร้องขอ

 

นอกจากนี้ ถ้าหากผู้สอบฯที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้สอบในตลาดทุนมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าของ Audit firm ที่ทำงานอยู่ด้วย เขาก็จะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมอีกดังนี้

  1. จะต้องจัดให้มีระบบควบคุมคุณภาพงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เขียนไว้ในตอนที่ 1 (เพียงพอ น่าเชื่อถือ ว่าผู้สอบบัญชีใน Audit firm นี้จะทำงานตามมาตรฐานบัญชีได้)
  2. ดูแลให้ผู้สอบฯในสังกัดทำงานสอบบัญชีตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และตามข้อกำหนดของกฏหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี และข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่น ๆ ของกฏหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้แทนของสำนักงานกรณีที่จะเข้ามาตรวจสอบคุณภาพงาน
  4. จัดทำคำชี้แจงหรือส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสอบบัญชี หรือดำเนินการอื่นใดในการให้ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีในตลาดทุนตามที่สำนักงานร้องขอ

 

 

โดยหน้าที่เหล่านี้ ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นอาจเป็นเหตุให้ทางสำนักงานกลต.เพิกถอนการให้ความเห็นชอบได้ โดยประกาศนี้ได้กำหนดไว้ว่า การให้ความเห็นชอบของผู้สอบบัญชีดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อ

  1. ผู้สอบบัญชีแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานถึงความประสงค์จะยุติการปฏิบัติงานเป็นผู้สอบที่ได้รับความเห็นชอบ (พอแล้ว เหนื่อย ขอลาออกเอง)
  2. CPA License ขาด หรือไม่ได้เป็น Partner Audit firm อีกต่อไป
  3. มีลักษณะต้องห้ามตามนี้
    1. กลายเป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถ ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบ CPA จากคณะกรรมการจรรยาบรรณ (15)(1)
    2. ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณ (15)(2)
    3. ถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานกลต.โดยความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยทุจริต เอกสารเท็จ สอบบัญชีผิดกฎหมาย หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
    4. ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีคำพิพาษาให้ลงโทษหรือไม่ก็ตาม
  4. สำนักงานกลต.สั่งให้เพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือสั่งพักการให้ความเห็นชอบตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบทีเหลืออยู่

 

ในส่วนของการเพิกถอนการให้ความเห็นชอบโดยสำนักงานกลต. จะทำได้ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ขึ้นก่อน

  1. ผู้สอบบัญชีปฏิเสธที่จะส่งเอกสารให้กับสนง. กลต. ตามที่ร้องขอ
  2. ผู้สอบบัญชีมีพฤติกรรมไม่ดี (ขาดจรรยาบรรณ แสดงข้อความเท็จ ทุจริตหลอกลวง)
  3. ผู้สอบบัญชีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง
  4. ผู้สอบบัญชีสังกัดสำนักงานหลายแห่งพร้อมกัน หรือสังกัดสำนักงานที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพตามที่กำหนด โดยไม่แก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว
  5. ผู้สอบดังกล่าวสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพงานตามข้อกำหนดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าระบบควบคุมคุณภาพงานมีความบกพร่อง และสำนักงานกลต.ไม่ได้รับความร่วมมือให้เข้าไปตรวจสอบระบบดังกล่าวได้

 

หากปรากฏข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมา สำนักงานกลต.มีสิทธิ์ที่จะไม่ยกเหตุเหล่านั้นมาสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบก็ได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ผู้สอบบัญชีปฏิบัติตามบทลงโทษที่เสนอโดยผู้สอบบัญชีนั้นเอง (Enforceable Undertaking) ซึ่งสำนักงานกลต.ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น
  2. ผู้สอบบัญชีปรับปรุงแก้ไขตามที่สำนักงานฯสั่ง ในกรณีที่เหตุดังกล่าวมีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ
  3. สำนักงานสอบบัญชีสามารถแก้ไขระบบควบคุมคุณภาพงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดได้ภายในระยะเวลาที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน สำนักงานอาจเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของสำนักงานต่อบุคคลใด ๆ ตามอำนาจในมาตรา 24/1 แห่ง พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535




Create Date : 12 เมษายน 2564
Last Update : 12 เมษายน 2564 16:02:46 น.
Counter : 214 Pageviews.

0 comment
การให้ความเห็นชอบของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ตอนที่ 1

สำหรับใครที่ยังไม่ทราบนะคะ ผู้สอบบัญชีที่มี License CPA ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเซ็นงบตลาดได้ โดยงบตลาดที่พูดถึงในที่นี้ หมายถึงงบการเงินของกิจการดังนี้

  1. งบการเงินของบริษัทที่กำลังขออนุญาต IPO
  2. งบการเงินของบริษัทหลักทรัพย์ที่มีหน้าที่จัดทำและส่งงบการเงินและรายงานฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานต่อสำนักงานกลต.
  3. งบการเงินของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่ยื่นแบบแสดงการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน
  4. งบการเงินของบริษัทหลักทรัพย์
  5. งบการเงินของกองทุนรวม
  6. งบของกองทุนส่วนบุคคลที่สนง.กลต.ประกาศตามม.140 ในพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  7. งบการเงินของบริษัทออกหลักทรัพย์จดทะเบียน
  8. งบการเงินของบริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์หลักทรัพย์
  9. งบของกองทรัสต์ตามกฏหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

 

โดยผู้สอบบัญชีที่มีความต้องการจะเซ็นงบที่กล่าวไปข้างต้นได้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามประกาศเรื่องการให้ความเห็นชอบของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน (สช. 39/2553)

 

ซึ่งในประกาศตัวนี้ ก็ได้กำหนดวิธีการยื่นเอาไว้ดังนี้

  1. ยื่นแบบ 61-1 (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสนง.กลต.) โดยแนบหลักฐานดังนี้

1.1 หนังสือรับรองและยินยอมจาก Audit firm ที่ผู้สอบได้สังกัดอยู่ โดยต้องใช้แบบ 61-2 เพื่อรับรองว่า Audit firm นั้นมีระบบควบคุมคุณภาพงานและสามารถให้สำนักงานเข้าตรวจสอบระบบดังกล่าวได้ และรับรองว่า จะดูแลพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพงานดังกล่าวแม้หลังจากที่ผู้สอบได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้วต่อไป แล้วก็ต้องอนุญาตให้สำนักงานกลต.เข้ามาตรวจสอบระบบดังกล่าวเมื่อได้รับแจ้งจากสำนักงานด้วย

  1. เอกสารอื่น ๆ (เช่น ใบ CPA etc.)

 

เมื่อทางสำนักงานกลต.ได้รับเอกสารจากผู้สอบบัญชีครบถ้วนแล้ว สำนักงานฯ จะต้องสอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอน ให้เสร็จภายใน 90 วัน ทั้งนี้ ถ้าหากว่ามีจุดที่สำนักงานฯ เอ๊ะ ขึ้นมา ผู้สอบฯ จะต้อง Standby ไว้เพื่อส่งมอบหลักฐานเพิ่มเติม โดยทางสนง.กลต.จะกำหนดระยะเวลาให้ผู้สอบฯมาชี้แจงตัวเองไม่น้อยกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 21 วัน (คือให้เวลา 2-3 อาทิตย์นั่นเอง)

 

หลังจากที่ได้รับเอกสารเพิ่มเติมครบถ้วน ทางสนง.กลต.ก็จะดำเนินการพิจารณาอีกรอบให้เสร็จภายใน 60 วัน แล้วก็จะแจ้งผู้สอบให้ทราบว่า ได้รับความเห็นชอบในการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่สามารถตรวจสอบงบการเงินในตลาดทุนได้หรือไม่

 

สำหรับคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีที่ต้องการจะขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนได้มีดังนี้

  1. เป็นผู้สอบบัญชีที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นผล
  2. เป็นหัวหน้าสำนักงานสอบบัญชี (ระดับ Partner)
  3. ทำงานสอบบัญชีมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี (รวมระยะเวลาที่เป็นผู้ช่วยผู้สอบด้วย และช่วงที่เป็นผู้สอบทานควบคุมคุณภาพงานด้วย)
  4. เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้เซ็นชื่อแสดงความเห็นในงบการเงินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปีในช่วงห้าปี
    1. แต่ถ้าเคยเซ็นงบมาแค่สองปีในช่วงห้าปีก่อน ถ้ามีประวัติเคยเป็นผู้สอบทานงานขั้นสุดท้ายก่อนผู้สอบจะลงลายมือชื่อไม่น้อยกว่าสี่ปี ก็ใช้ได้ (รวมทั้งหมด 6 ปี)
    2. หรือถ้าเคยเซ็นงบมาแค่ปีเดียว แต่เคยเป็นผู้สอบทานงานขั้นสุดท้ายก่อนผู้สอบจะลงลายมือชื่อไม่น้อยกว่าห้าปี ก็ใช้ได้ (รวมทั้งหมด 6 ปี)
  5. ได้เซ็นงบไม่น้อยกว่า 3 บริษัทในปีล่าสุด โดยบริษัทเหล่านั้นต้องไม่มีการประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทั้งหมด รวมทั้งต้องมีความซับซ้อนในระดับเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของผู้สอบฯ และคุณภาพงานสอบบัญชี
  6. สังกัด Audit firm เพียงแห่งเดียว

 

สำหรับคุณสมบัติของ Audit firm ที่ผู้สอบฯอยู่นั้น จะต้องมีลักษณะดังนี้

  1. มีระบบควบคุมงานที่เพียงพอและน่าเชื่อถือว่าผู้สอบบัญชีจะทำงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพบัญชี และควบคุมคุณภาพงานให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมคุณภาพงานที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี
  2. มี CPA ทำงานเต็มเวลาและผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่จบปริญญาตรีบัญชีและเป็นสมาชิกสภาฯไม่น้อยกว่าห้าคน โดยมีเงื่อนไขดังนี้ด้วย
    1. ในกรณีที่ผู้สอบฯนั้นทำงานเต็มเวลา จะต้องมีผู้สอบตลาดทุนอยู่ใน Firm ด้วยไม่น้อยกว่า 2 คน
    2. ในกรณีที่ผู้สอบฯนั้นทำงานพาร์ทไทม์ จะต้องมีผู้สอบตลาดทุนอยู่ใน Firm ด้วยไม่น้อยกว่า 4 คน

 

เมื่อผู้สอบบัญชีได้รับความเห็นชอบจากสนง.กลต.ให้สามารถเซ็นงบในตลาดทุนได้แล้ว สิทธิ์นี้อยู่ได้ไม่เกินครั้งละ 5 ปี โดยที่ผู้สอบดังกล่าวสามารถยื่นขอความเห็นชอบใหม่ได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนและระยะเวลาเหมือนกับตอนที่ขอความเห็นชอบครั้งแรก โดยระหว่างที่ยื่นขอต่ออายุ ผู้สอบยังสามารถเซ็นงบตลาดฯต่อไปได้ เพียงแต่มีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนับแต่ครบกำหนด5 ปี ทั้งนี้ ผู้สอบจะต้องได้รับความเห็นชอบจากลูกค้า เป็นการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อนที่ระยะเวลาการให้ความเห็นชอบจะหมด และต้องยื่นเรื่องขอต่ออายุกับสำนักงาน กลต. 2 เดือนก่อนที่ความให้เห็นชอบจะหมดอายุ

 

 

ต่อมามาดูกันว่าลักษณะแบบไหนที่ทางผู้สอบห้ามมีเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะถูกเพิกถอนการให้ความเห็นชอบได้ โดยจะแบ่งเป็น คุณสมบัติ และพฤติกรรม

 

คุณสมบัติ

  1. เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลที่ศาลสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  2. เป็น CPA ที่มีคุณสมบัติดังนี้
    1. อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
    2. มีประวัติถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยคกก.จรรยาบรรณ
    3. มีประวัติถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตโดยคกก.จรรยาบรรณในช่วงสามปีก่อนขอความเห็นชอบ
  3. อยู่ระหว่างถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุน
  4. อยู่ระหว่างการกล่าวโทษของ Audit firm ที่ทำงานอยู่ โดยคำกล่าวโทษนั้นมีเนื้อหาสูงสุดให้จำคุก ไม่ว่าศาลจะพิจารณาลงโทษหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนยื่นคำขอ
  5. อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษด้วยหน่วยงานที่ดูแลสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นที่ในประเทศหรือต่างประเทศ ยกเว้นพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนยื่นคำขอ

 

พฤติกรรม

  1. มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการชาดจรรยาบรรณ
  2. มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ
  3. มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางไม่สุจริตหรือหลอกลวงผู้อื่น

 

ในส่วนของพฤติกรรมนี้ สนง.กลต.อาจจะพิจารณาเพิ่มเติมถึงระยะเวลาและความร้ายแรงของพฤติกรรมดังกล่าว โดยที่ผู้สอบที่ขอความเห็นชอบจะต้องได้รับโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งคำกล่าวหาดังกล่าวได้

 

ทั้งนี้หากผู้สอบที่ขอความเห็นชอบมีพฤติกรรมดังกล่าวจริง ๆ ทางสนง.กลต.อาจจะไม่เพียงปฏิเสธคำขอให้ความเห็นชอบเท่านั้น แต่สามารถลงโทษสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบไปได้เลยทีเดียว




Create Date : 12 เมษายน 2564
Last Update : 12 เมษายน 2564 15:17:49 น.
Counter : 662 Pageviews.

0 comment

Kurobina
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ยินดีที่ได้รู้จัก หวังว่าเราจะได้ทำดีต่อกัน

ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำซ้ำ คัดลอก ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดใน Blog นี้ ทั้งโดยเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นการส่วนตัวหรือเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด
Motivation and Habits are keys to success.
  •  Bloggang.com