การให้ความเห็นชอบของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ตอนที่ 2

ตอนก่อนหน้าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนกันไปแล้ว ครั้งนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าหน้าที่ของผู้สอบบัญชีในตลาดทุนนั้นมีอะไรบ้าง

 

โดยในประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สช. 39/2553 ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบไว้ดังนี้

 

  1. ผู้สอบฯต้องปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินด้วยความรับผิดชอบตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และตามข้อกำหนดของฏฏหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามประกาศที่ออกตามกฏหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  2. ดำเนินการให้งบการเงินของบริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ลูกค้าที่มีหุ้น Trade ใน SET หรือ MAI) และบริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ลูกค้าที่กำลัง IPO) จะต้องผ่านการพิจารณาของผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงาน (Engagement Quality Control Reviewer : EQCR) ก่อนลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงิน
  3. ผู้สอบบัญชีที่สอบบัญชีให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มีหน้าที่จัดทำงบการเงินและรายงานฐานะทางการเงิน ให้กับสำนักงานกลต. จะต้องจัดทำบทสรุปประเภทรายงานของผู้สอบบัญชีจากการตรวจสอบหรือการสอบทานงบการเงิน ตามแบบ 61-4 (ดาวน์โหลดได้จากเว็บของสนง.กลต.)
  4. ผู้สอบฯจะต้องจัดทำคำชี้แจงหรือนำส่งข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสอบบัญชี หรือดำเนินการอื่นใดในการให้ความร่วมมือกำสำนักงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีในตลาดทุนตามที่สำนักงานร้องขอ

 

นอกจากนี้ ถ้าหากผู้สอบฯที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้สอบในตลาดทุนมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าของ Audit firm ที่ทำงานอยู่ด้วย เขาก็จะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมอีกดังนี้

  1. จะต้องจัดให้มีระบบควบคุมคุณภาพงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เขียนไว้ในตอนที่ 1 (เพียงพอ น่าเชื่อถือ ว่าผู้สอบบัญชีใน Audit firm นี้จะทำงานตามมาตรฐานบัญชีได้)
  2. ดูแลให้ผู้สอบฯในสังกัดทำงานสอบบัญชีตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และตามข้อกำหนดของกฏหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี และข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่น ๆ ของกฏหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้แทนของสำนักงานกรณีที่จะเข้ามาตรวจสอบคุณภาพงาน
  4. จัดทำคำชี้แจงหรือส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสอบบัญชี หรือดำเนินการอื่นใดในการให้ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีในตลาดทุนตามที่สำนักงานร้องขอ

 

 

โดยหน้าที่เหล่านี้ ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นอาจเป็นเหตุให้ทางสำนักงานกลต.เพิกถอนการให้ความเห็นชอบได้ โดยประกาศนี้ได้กำหนดไว้ว่า การให้ความเห็นชอบของผู้สอบบัญชีดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อ

  1. ผู้สอบบัญชีแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานถึงความประสงค์จะยุติการปฏิบัติงานเป็นผู้สอบที่ได้รับความเห็นชอบ (พอแล้ว เหนื่อย ขอลาออกเอง)
  2. CPA License ขาด หรือไม่ได้เป็น Partner Audit firm อีกต่อไป
  3. มีลักษณะต้องห้ามตามนี้
    1. กลายเป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถ ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบ CPA จากคณะกรรมการจรรยาบรรณ (15)(1)
    2. ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณ (15)(2)
    3. ถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานกลต.โดยความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยทุจริต เอกสารเท็จ สอบบัญชีผิดกฎหมาย หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
    4. ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีคำพิพาษาให้ลงโทษหรือไม่ก็ตาม
  4. สำนักงานกลต.สั่งให้เพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือสั่งพักการให้ความเห็นชอบตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบทีเหลืออยู่

 

ในส่วนของการเพิกถอนการให้ความเห็นชอบโดยสำนักงานกลต. จะทำได้ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ขึ้นก่อน

  1. ผู้สอบบัญชีปฏิเสธที่จะส่งเอกสารให้กับสนง. กลต. ตามที่ร้องขอ
  2. ผู้สอบบัญชีมีพฤติกรรมไม่ดี (ขาดจรรยาบรรณ แสดงข้อความเท็จ ทุจริตหลอกลวง)
  3. ผู้สอบบัญชีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง
  4. ผู้สอบบัญชีสังกัดสำนักงานหลายแห่งพร้อมกัน หรือสังกัดสำนักงานที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพตามที่กำหนด โดยไม่แก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว
  5. ผู้สอบดังกล่าวสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพงานตามข้อกำหนดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าระบบควบคุมคุณภาพงานมีความบกพร่อง และสำนักงานกลต.ไม่ได้รับความร่วมมือให้เข้าไปตรวจสอบระบบดังกล่าวได้

 

หากปรากฏข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมา สำนักงานกลต.มีสิทธิ์ที่จะไม่ยกเหตุเหล่านั้นมาสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบก็ได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ผู้สอบบัญชีปฏิบัติตามบทลงโทษที่เสนอโดยผู้สอบบัญชีนั้นเอง (Enforceable Undertaking) ซึ่งสำนักงานกลต.ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น
  2. ผู้สอบบัญชีปรับปรุงแก้ไขตามที่สำนักงานฯสั่ง ในกรณีที่เหตุดังกล่าวมีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ
  3. สำนักงานสอบบัญชีสามารถแก้ไขระบบควบคุมคุณภาพงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดได้ภายในระยะเวลาที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน สำนักงานอาจเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของสำนักงานต่อบุคคลใด ๆ ตามอำนาจในมาตรา 24/1 แห่ง พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535




Create Date : 12 เมษายน 2564
Last Update : 12 เมษายน 2564 16:02:46 น.
Counter : 214 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Kurobina
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ยินดีที่ได้รู้จัก หวังว่าเราจะได้ทำดีต่อกัน

ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำซ้ำ คัดลอก ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดใน Blog นี้ ทั้งโดยเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นการส่วนตัวหรือเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด
Motivation and Habits are keys to success.
  •  Bloggang.com