|
ธุรกิจ เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 12 ปรัชญาจากวอเรน บัฟเฟต

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมบังเอิญได้ซื้อหนังสือเล่มบางๆ มาเล่มหนึ่ง ซึ่งหลังจากได้อ่านแล้ว ผมก็คิดว่าเป็นหนังสือที่ดีมากๆ เล่มหนึ่งเท่าที่ผมได้เคยอ่านมา หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า The Tao of Warren Buffett ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดวิธีการทำธุรกิจจากสุดยอดนักธุรกิจคนหนึ่งของโลก คือ วอเรน บัฟเฟตต์ ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะรวยเป็นอันดับสองของโลก รองจาก บิลล์ เกตส์ แต่ในภาพของการทำธุรกิจโดยทั่วไปแล้ว ผมคิดว่า วอเรน มีความเหนือกว่าบิล เกตส์อย่างมาก
วอเรน นั้นประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าในการประเมินศักยภาพของธุรกิจที่มีอยู่ในตลาดหุ้นแล้วเข้าไปช้อนซื้อในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าจริงเมื่อมีโอกาส รวมทั้งบางครั้งเขาก็แสวงหาผู้บริหารที่ดีให้เข้าไปบริหารกิจการเหล่านั้น แล้วเขาก็เพียงแค่คอยดูการเติบโตที่มีอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเหล่านั้น
ในขณะที่บิลล์ เกตส์นั้นอาจเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวจากการสร้างระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ (ที่จริงบิลก็ไปซื้อลิขสิทธิ์ต้นแบบของคนอื่นมาพัฒนาอีกที) แต่ที่ทำให้บิลรวยกว่าวอเรนนั้นก็เพราะสิ่งที่เขาผลิตนั้นเป็นสินค้าปฏิวัติโลก เช่นเดียวกับสินค้าหลอดไฟฟ้าที่เอดิสันเคยประดิษฐ์ได้ บวกกับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ การประสบความสำเร็จเพียงครั้งเดียวนี้ จึงทำให้เขาร่ำรวยที่สุดในโลกได้อย่างไม่ยากเย็น (ผมเคยวิเคราะห์ไว้แล้วในบท Success Analysis) ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Key Success นั่นเอง คล้ายๆ กับนักธุรกิจไทยอีกหลายคนที่ผมไม่อยากเอ่ยถึงโดยตรง (เดี๋ยวจะถูกฟ้อง) แต่ผมพบว่าพวกเขานั้นอาศัยการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งสำคัญเพียงครั้งเดียว ที่ทำให้เขาสามารถร่ำรวยมหาศาลอยู่ได้ในทุกวันนี้ ในขณะที่ถ้าเทียบความสามารถกันโดยละเอียดแล้ว ผมพบว่ายังมีนักธุรกิจระดับรองๆ ลงมาอีกหลายคนที่เก่งกว่าพวกเขามาก เงินจึงไม่ได้วัดระดับความสามารถได้เสมอไป แต่เราต้องศึกษาและวิเคราะห์กันโดยละเอียด
มาเข้าประเด็นกันต่อ ในด้านหลักการทำธุรกิจโดยทั่วไปแล้ว ผมจึงถือว่า วอเรน บัฟเฟตต์เป็นสุดยอดกูรูคนหนึ่งที่เราสมควรที่จะเรียนรู้จากเขาด้วย ผมจึงจะได้นำแนวคิดดังกล่าวบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ถ้าสนใจก็ไปซื้อหามาอ่านกันได้แบบเต็มๆ (มีเล่มแปลแล้วครับ)
1.วอเรนบอกว่า ถ้าคุณลงทุนเหมือนกับว่าคุณต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต และไม่สามารถที่จะยกเลิกการลงทุนในธุรกิจของคุณได้ ถ้าคุณคิดแบบนี้ มันก็จะทำให้คุณทำการบ้านมาอย่างดีที่สุด ก่อนเข้าไปลงทุนในบริษัทนั้นๆ หลักการนี้ ผมเห็นว่าตรงกับหลักการที่ผมได้กล่าวไปแล้วเช่นกันในเรื่องของ Know How ก็คือ คุณต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะลงทุนไปทำธุรกิจใดๆ ถ้าคุณคิดแบบวอเรนว่า คุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียว หรือคิดว่าคุณต้องอยู่กับมันตลอดชีวิต เปลี่ยนไม่ได้ บางทีคุณจะทำการบ้านมาอย่างดี ซึ่งทำให้โอกาสประสบความสำเร็จมีมากขึ้น อย่าไปเชื่อคำแนะนำของนักธุรกิจรุ่นก่อน ที่บอกว่าทำๆ ไปเถอะ แล้วเรียนรู้เอา ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของธุรกิจก็คือ คุณต้องลงทุนด้วยเงิน และการขาดเงินทุน จะทำให้คุณเริ่มธุรกิจใหม่ได้ยากมาก ไม่เหมือนกับการลองผิดลองถูกในอาชีพอื่น ที่คุณอาจไม่ต้องเสียอะไร นอกจากแรง (เช่นนักกีฬา) นักธุรกิจเหล่านั้น เขาอาจเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จทั้งๆ ที่ทำการบ้านมาน้อย แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ทำแบบเดียวกันแต่ล้มเหลว เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่มีโอกาสมาพูด เพราะเสียงของคนที่ประสบความสำเร็จย่อมดังกว่า (แต่ไม่แน่ว่ามันจะถูกกว่าเสมอไป)
วอเรน พิสูจน์แล้วว่า การจะประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีสัดส่วนของการประสบความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลวนั้น ต้องมาจากการทำการบ้านที่ดีแต่แรกเริ่ม แล้วการทำงานหนักแต่แรกเริ่มนี้ จะทำให้คุณทำงานและร่ำรวยได้ง่ายในภายหลัง
2.วอเรน ศึกษาหลักการจนลึกซึ้งก่อนทำอะไร จะไม่มีวอเรนที่ร่ำรวยอันดับสองของโลกในวันนี้ ถ้าไม่มีเบนจามิน เกรแฮม และฟิล ฟิชเชอร์ สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เขาได้นำหลักการการลงทุนของทั้งสองคนมาผนวกเป็นหลักการที่ดีที่สุดของตนเอง วอเรนนั้นเป็นนักธุรกิจที่เน้นหนักไปในทางใช้สติปัญญามากกว่าความบ้าระห่ำ เขาใจเย็นที่จะรวยช้าๆ แต่แน่นอน ไม่ลงทุนสุ่มสี่สุ่มห้า แต่อดทนที่จะรอคอยเวลาที่เหมาะสมมาถึง เขาจึงชอบที่จะศึกษาเรื่องราวต่างๆ ให้ลึกซึ้งก่อนลงไปทำอะไร และเมื่อเขารู้จักมันดีทั้งหมด โอกาสของการประสบความสำเร็จของเขาก็สูงมาก และสามารถทำซ้ำๆ ได้เสมอ ซึ่งต่างจากนักธุรกิจทั่วไป ที่นิยมความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งสอนคนรุ่นต่อไปว่า การเสี่ยงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (แน่นอน ธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง แต่ถ้าคุณศึกษาจนรู้จริง โอกาสล้มเหลวจะน้อยมากๆ )
3.วอเรน รู้ว่าตัวเองต้องคิดต่างจากคนส่วนใหญ่เสมอ คนที่จะประสบความสำเร็จต้องทำตัวเองให้คิดต่างจากคนส่วนใหญ่ที่จะเป็นแค่คนธรรมดา หรือคนล้มเหลว ฉะนั้น ถ้าคุณยังมีแนวคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป นั่นอาจเป็นข้อสรุปได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งเหมือนกันว่า คุณจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (ตามหลักปิรามิด ที่คนประสบความสำเร็จจะมีน้อยกว่าคนทั่วไปเป็นลำดับชั้นลงไป ถ้าคุณคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ คุณก็จะเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่) แนวคิดการลงทุนของวอเรน จึงต่างจากคนเล่นหุ้นในตลาดหุ้นมาก
4.คนฉลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น ประสบการณ์เป็นสิ่งมีค่า แต่คนฉลาดจะไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง พวกเขารู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น โดยเฉพาะที่ล้มเหลว (อะไรไม่ควรทำ)
5.วอเรน ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อเงิน แต่เขาสนุกกับมันมากกว่า แนวคิดนี้จะทำให้นักธุรกิจประสบความสำเร็จทั้งสองด้าน คือได้ทั้งเงินและความสุข ไม่ใช่พอได้เงินแล้วก็ชักเบื่อ ไม่อยากทำธุรกิจแล้ว หรือทนทำธุรกิจเพื่อเงิน ก่อนที่คุณคิดจะลงมาทำธุรกิจ จึงต้องใคร่ครวญและศึกษาให้ดีว่า ธุรกิจนั้นมีบางส่วนที่คุณชอบมันจริงๆ และสามารถทนทำมันได้ตลอดชีวิต
เท่านี้ก่อนนะครับ หนังสือเล่มนี้มีคำสอนและปรัชญาในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจที่ดีมากๆ เล่มแปลก็แค่ 158 บาท ใช้กันได้ตลอดชีวิต ไม่มีหมด คุ้มค่าจริงๆ ผมสนับสนุนให้ทุกคนไปหาซื้อมานะครับ
Create Date : 06 เมษายน 2552 | | |
Last Update : 6 เมษายน 2552 10:20:47 น. |
Counter : 3262 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ธุรกิจ เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 11 อย่าฝืนทำคนเดียว ถ้าทำไม่ได้

ปัญหาอีกประการหนึ่ง ของคนที่อยากริเริ่มทำธุรกิจแล้วต้องประสบความล้มเหลวก็คือการฝืนทำคนเดียว
การเริ่มทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียว(หมายถึงเจ้าของคนเดียว) นั้นดีแน่นอน ถ้าทำได้ เพราะเราจะเป็นคนตัดสินใจทุกเรื่องได้อย่างเด็ดขาด และผลประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกอยู่กับเราคนเดียว เพียงแต่ว่า ในหลายๆ ครั้ง บางคนไม่ได้มีปัจจัยในตัวเองที่เหมาะสมและพร้อมที่จะเริ่มธุรกิจได้ด้วยตัวคนเดียว เช่น ขาดเงินทุน หรือเก่งการผลิต แต่ขาดความเข้าใจเรื่องการตลาด(Key Success) การฝืนทำธุรกิจในลักษณะนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก หรือโชคแล้ว โอกาสประสบความล้มเหลวจะมีได้มากๆ
การทำธุรกิจโดยมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ขาอย่างมั่นคงจึงสำคัญมากๆ เพราะจะมีผลต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จในครั้งแรก หรือกระทั่งในระยะยาว
นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ หลายคนประสบความสำเร็จจากการเริ่มบริษัท หรือธุรกิจในแบบหุ้นส่วน ตั้งแต่คนที่รวยที่สุดในโลกอย่าง บิล เกตส์ (ร่วมกับพอล อัลเลน) หรืออย่างอันดับสองอย่าง วอเรน บัฟเฟต (ร่วมกับเพื่อนชื่อ ชาลี มังเกอร์) คู่หูนาย Bill Hewlett กับ Dave Packard (ผู้สร้างบริษัท ฮิวเลทท์แพคการ์ด) หรืออย่างคนไทยก็เช่น คุณปัญญา นิรันดร์กุล กับคุณประภาส ชลศรานนท์ หรืออากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กับพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ เป็นต้น
หลายคู่ที่ผมศึกษามา ล้วนเป็นคู่ที่ต้องพึ่งพาอาศัยความสามารถของกันและกันในการประสบความสำเร็จ หากขาดใครไปคนใดคนหนึ่ง ความสำเร็จก็อาจไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยกว่านี้มาก เช่น คนหนึ่งถนัดในการประดิษฐ์สินค้าสุดยอด ส่วนอีกคนหนึ่งถนัดในการทำการตลาด หรือในการดำเนินการทำสินค้านั้นให้ขายได้ (ส่วนใหญ่จะลงทุนเงินร่วมกัน) แต่อีกหลายกรณีที่เราอาจพบรอบๆ ตัว ก็เป็นไปในลักษณะ คนหนึ่งลงเงิน และอีกคนลงแรง ก็เป็นได้เช่นกัน
ร่วมหุ้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
แม้การทำงานกับคนเป็นเรื่องไม่ง่ายที่คนสองคนจะสามารถทำงานร่วมกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง ในท่ามกลางการฝ่าฟันอุปสรรคปัญหา (ที่มักทำให้หลายคู่แตกแยกกันไปก่อน) แต่มันก็อาจไม่ได้ยากเกินไปนัก หากเรามีวิธีหรือหลักการในการพิจารณาหาหุ้นส่วน ซึ่งจากประสบการณ์ของผมในเรื่องเกี่ยวกับคน ผมพบว่าเราควรพิจารณาลักษณะของคนที่จะมาเป็นหุ้นส่วนดังนี้
1.หาคนที่มีเป้าหมายชีวิต และต้องการประสบความสำเร็จ คนเหล่านี้มักจะมีแรงผลักดันในตัวเองที่จะทำงาน หรือทำธุรกิจ การได้พบคนที่มีความสามารถ แต่ขาดแรงผลักดันที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ เพราะงานจะไม่เกิด และพวกเขาจะล้มเลิกอะไรได้ง่ายๆ เพียงเพราะมันเริ่มเหนื่อยและเครียดเกินไป
นอกจากนั้น แรงผลักดันที่เขามี ต้องตรงกับธุรกิจ เพราะมีเหมือนกันที่แม้จะมีแรงผลักดันในตัวเอง แต่เราไปเสนอธุรกิจที่เขาไม่สนใจ หรือไม่ชอบ ไม่ถนัด โอกาสที่เขาจะทำอย่างเต็มที่ก็ยากเหมือนกัน
2.หาคนที่มีความคิดพื้นฐานคล้ายๆ กัน ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ควรจะมีการทำความรู้จักนิสัยใจคอกันก่อนระดับหนึ่ง (นอกจากการร่วมหุ้นแบบนักธุรกิจใหญ่ที่เน้นไปที่การทำสัญญา แต่ก็อาจมีปัญหาได้อยู่ดี) การมีแนวคิดหรือทัศนคติคล้ายๆ กัน จะทำให้เมื่อเวลาธุรกิจประสบปัญหา คนสองหรือสามคน ก็จะสามารถฟันฝ่าไปได้ ไม่แตกคอกันไปเสียก่อน
3.คนๆ นั้นต้องไม่มีลักษณะของ Self Centered มากเกินไป ผมพบว่าคนที่มีลักษณะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเกือบทั้งหมด ต้องทำอะไรด้วยตัวคนเดียว ไม่สามารถมีหุ้นส่วนได้ เพราะทุกอย่างเขาจะไม่ค่อยคิดประนีประนอม (ซึ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน) การหาหุ้นส่วนจึงควรตัดคนประเภทนี้ออกไปจากรายชื่อโดยเร็วที่สุด และอย่าลังเล เพียงเพราะเห็นแก่เงินทุน หรือความสามารถของเขา
4.มีความสามารถต่างกัน และเป็นขาที่สำคัญของธุรกิจ เช่นคนหนึ่งถนัดการผลิต คนหนึ่งถนัดการตลาด หรือการขาย ซึ่งเป็นสองขาสำคัญของธุรกิจ อันจะทำให้คนสองคนต้องพึ่งพาอาศัยกันไป ธุรกิจจึงจะอยู่รอด เป็น win-win ถ้าแยกกันก็ lose-lose รวมทั้งหุ้นส่วนต่างต้องยอมรับในความสามารถและความรับผิดชอบของอีกฝ่ายด้วย เพราะมีในหลายกรณีที่พอทำงานกันจริงๆ บางคนมักชอบที่จะคิดว่าตนเองรู้ไปหมดทุกเรื่อง และก้าวก่ายงาน (ซึ่งเป็นมากในกลุ่ม Self Centered ดังที่กล่าวไปแล้ว) อันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นส่วนไม่ดี และหากคิดว่าหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่เก่งพอ เราก็ไม่ควรจะเลือกเขามาตั้งแต่แรกแล้ว
ฉะนั้น เมื่อเลือกแล้ว ต้องวางใจ จนกว่าผลงานมันจะแสดงความสามารถของเขาออกมาเอง
โดยหลักการแล้ว ธุรกิจจะมีกี่คนก็ตามแต่ ก็ควรเน้นที่เรื่องให้มีครบทั้ง 3 ขา (ความเชี่ยวชาญการผลิต เงิน และปัจจัยของความสำเร็จ) แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรมีหุ้นส่วนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยง การมากคนยิ่งมากความครับ
Create Date : 26 มีนาคม 2552 | | |
Last Update : 26 มีนาคม 2552 13:47:40 น. |
Counter : 3262 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ธุรกิจ เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 10 แรงผลักดันคือจุดเริ่มต้น

ในบรรดาปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้งมวล เช่น ความสามารถ สติปัญญา โชค จังหวะ เส้นสาย แรงผลักดัน ฯลฯ ผมยกให้แรงผลักดันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลมากที่สุด เป็นปัจจัยที่ทำให้คนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะหากขาดซึ่งแรงผลักดันที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำแล้ว ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีสติปัญญาดีแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีความสามารถสูงเพียงใดก็ตาม และไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีโชค หรือมีคนส่งเสริมผลักดันเพียงใดก็ตาม หากขาดซึ่งความต้องการหรือแรงผลักดันที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นๆ การกระทำก็จะไม่เกิด และเมื่อการลงมือกระทำไม่เกิด ความสำเร็จก็ย่อมไม่เกิดไปด้วย
เพราะอย่างน้อยที่สุด แม้คนที่มีสติปัญญาน้อยที่สุด แต่หากเขามีแรงผลักดันอย่างสูง บางครั้ง โอกาสฟลุ๊ก หรือโชคก็อาจเข้าข้างเข้าสักวัน แต่ในทางตรงกันข้าม คนบางคน แม้โอกาสจะผ่านมาตรงหน้าก็กลับไม่ไขว่คว้า ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งนั้นไม่ใช่ความต้องการของเขา หรืออาจไม่มีแรงผลักดันที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งใดทั้งสิ้น (เพียงแค่รักสบาย หรือชอบการมีเงินเท่านั้น)
การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากผมจะประเมินใครสักคนว่ามีโอกาสที่จะทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น สิ่งแรกที่ผมจะมองก็คือแรงผลักดันในตัวเองของคนๆ นั้น เพราะผมพบว่า คนที่มีแรงผลักดันในตัวเองสูงมากๆ นั้น จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ(ในระดับหนึ่ง) เกือบจะ 100 % ผมยังไม่เคยพบคนที่แรงผลักดันสูงมากแล้วไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลยมาก่อน แต่สิ่งที่จะกำหนดว่าเขาจะไปได้ไกลแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่จะสนับสนุน เช่น สติปัญญา การช่วยเหลือของคนอื่น โชค ฯลฯ
จากที่ผมเล่ามาทั้งหมด เราจะพบว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องการการทำการบ้าน (หรือการวางแผน) อย่างดีพอสมควร ถ้าใครคิดว่าการทำธุรกิจนั้นง่าย(เกินไป) จนไม่ยอมลงทุนทำงาน ทำการบ้าน คิดง่าย ทำง่าย รับรองว่าคนๆ นั้นจะประสบความล้มเหลวค่อนข้างจะแน่นอน
นอกจากนี้ จากการสังเกตคน ผมพบว่า คนเรานั้นแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม คล้ายๆ กับที่พระพุทธเจ้าแบ่งคนออกเป็นบัว 4 เหล่า คือ คนที่แทบจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จเลย คือ แรงผลักดันในตัวเองก็ไม่มี(ส่วนใหญ่เป็นคนขี้เกียจ) สติปัญญาก็ไม่ได้ดีเด่น แถมไม่มีคนอื่นคอยช่วยเหลือสนับสนุน การประสบความสำเร็จของคนประเภทนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยโชคล้วนๆ
และก็มีคนในกลุ่มที่ผมกล่าวไปแล้วคือแรงผลักดันสูง คนกลุ่มนี้ มักมีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างจะแน่นอน (ในระดับหนึ่ง) โดยไม่ต้องมีใครคอยสอน ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมาจากคนชั้นล่างที่พื้นฐานครอบครัวทำให้ต้องปากกัดตีนถีบ พวกเขาจึงไม่ค่อยมีเงื่อนไขในชีวิต ทำได้ทุกอย่าง
ส่วนคนที่เหลือก็จะเป็นคนอีก 2 ประเภท ที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ ต้องอาศัยปัจจัยอื่นมาประกอบ คนเหล่านี้จึงจะประสบความสำเร็จได้ เพราะแรงผลักดันของพวกเขาไม่สูงมาก มีพอประมาณ หรืออาจมีเงื่อนไขชีวิตบางอย่างที่ไม่ได้ปากกัดตีนถีบ พวกคนที่เกิดมาแบบคนชั้นกลางและคนชั้นสูง จึงอยู่ในกลุ่มนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยคนชั้นสูงนั้น ก็มักมีพ่อแม่ที่อาจสร้างธุรกิจ หรือมีเส้นสายสัมพันธ์คอยช่วยเหลือสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยากนัก
ส่วนกลุ่มคนชั้นกลางที่มักเกิดมาสบายในระดับหนึ่ง แต่พ่อแม่เป็นพนักงานประจำ ไม่ได้มีทุนรอนทางการเงินหรือทางความคิดในด้านธุรกิจให้มากนัก คนส่วนนี้ จึงมีโอกาสน้อยอยู่เหมือนกัน (ส่วนใหญ่จึงยังเป็นพนักงานต่อไป) และการเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นก็เป็นเรื่องยากเอาการอยู่เหมือนกัน
หากคุณรู้ว่า ตัวเองไม่มีแรงผลักดันมากเท่าที่ควร แต่อยากประสบความสำเร็จ วิธีที่ดีที่สุด ก็คือการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมที่ทำให้เราต้องเกิดแรงผลักดัน เช่น อยู่ในสังคมที่ทุกคนแสวงหาความสำเร็จ หรือสังคมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในระดับเหนือกว่าเรา (แน่นอนว่า มันย่อมเกิดความเครียดบ้าง แต่นั่นแหละ มันจะช่วยในการพัฒนาแรงผลักดันของเรา) เมื่อเราเอาตัวเองไปอยู่ในสังคมแบบนี้เป็นระยะเวลานานระดับหนึ่ง พฤติกรรมที่เราเปลี่ยนจากการถูกกดดันนั้น จะกลายมาเป็นนิสัยของเราโดยถาวร ฉะนั้น หากอยากเป็นคนไฟแรง อยากเป็นคนมีแรงผลักดันสูง จงใฝ่หาการสังคมกับคนที่ไฟแรง หรือแสวงหาการประสบความสำเร็จเช่นกัน การสังคมกับคนที่มีทัศนคติด้านลบ หรือคนขี้เกียจ คนล้มเหลว มีแต่จะทำให้เราพลอยกลายเป็นคนล้มเหลวไปด้วย จงออกห่างคนเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
อ้อ อย่าลืมตรวจสอบตัวเองด้วยนะครับว่า คุณมีอะไรบางอย่างที่รัก ที่ชอบอยู่ในธุรกิจด้วย การทำธุรกิจเพียงเพราะต้องการเงิน หรือความสบายจากเงิน มักทำให้เราเดินหลงทางมานักต่อนักแล้วครับ การทำสิ่งๆ หนึ่งด้วยความรัก จึงเป็นการทำสิ่งที่เรามีแรงผลักดัน ซึ่งทำให้เรามีโอกาสของความสำเร็จมากยิ่งขึ้นครับ
Create Date : 23 มีนาคม 2552 | | |
Last Update : 26 มีนาคม 2552 13:50:48 น. |
Counter : 3180 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ธุรกิจ เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 9 ระบบ การจัดการ และพลวัต
เมื่อธุรกิจเริ่มดำเนินไปได้แล้ว ตอนนี้ก็มาถึงระบบการทำงาน ที่จะทำให้ธุรกิจรันไปได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงสามารถเติบโตได้ ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า ระบบของธุรกิจที่ผมคิดค้นหรือค้นพบนั้นมีลักษณะเป็น 3 ขา หรือมี 3 ปัจจัยหลัก ซึ่งมีรูปแบบลักษณะการทำงานดังนี้

ซึ่งมันจะดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ หากไม่เกิดสะดุดอะไรขึ้นเสียก่อน แต่หากผู้ที่ฉลาดพอ ก็จะนำเงินกำไรที่ได้มาจากธุรกิจนั้น เติมกลับเข้าไปในธุรกิจด้วยการเสริมอีกสองขาให้แข็งแรงขึ้น คือ ขา Know How และขา Key Success แทนที่จะเก็บเงินไว้ให้โตแต่ขาเดียว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ เหมือนสามขานั้นแข็งแรงอยู่ขาเดียว ย่อมไม่อาจแบกรับน้ำหนักของธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นได้ ดังรูปนี้

พอถึงตรงนี้ก็เท่ากับว่าธุรกิจนั้นมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นมากขึ้น เก่งกาจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น (Know How) และอาจมีเงินไปจ้างนักการตลาดเก่งๆ นักขายเก่งๆ หรืออะไรก็ตามที่เป็น Key Success ของธุรกิจนั้นให้แข็งแรงมั่นคงมากขึ้น เหมือนดังที่ธุรกิจใหญ่ๆ ก็ย่อมจะได้เปรียบธุรกิจเล็กๆ ในหลายๆ ด้านและตรงนี้นี่เองที่ ทักษะด้านการจัดการเริ่มเข้ามีผลและความสำคัญ
ผู้ประกอบการที่ขาดทักษะด้านการจัดการ จะไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ เพราะยิ่งพนักงานมากขึ้น เขาก็ยิ่งควบคุมไม่อยู่ นอกจากพวกเขาจะตัดสินใจให้คนรุ่นลูก หรือรุ่นสอง หรือจ้างมืออาชีพด้านการจัดการเข้ามาบริหารส่วนนี้แทน กิจการจึงจะสามารถเติบโตต่อไปได้
ทักษะด้านการจัดการจึงเป็นสิ่งแยกระหว่าง ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ออกจากกัน ซึ่งเท่าที่ผมพบมา คนรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะที่มีชีวิตที่ยากลำบากมาก่อน จะมีทักษะในการเริ่มต้นกิจการเองได้ง่ายกว่า เพราะทำได้ทุกอย่าง และมานะอดทน แต่ก็มักขาดทักษะในด้านการบริหารจัดการ (ส่วนพวกที่ทำได้ดีทั้งสองอย่างนั้น มีน้อยกว่า ซึ่งก็ทำให้มีบางคนเท่านั้นที่สามารถประสบความสำเร็จอย่างสูงในรุ่นเดียวได้) ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจในรุ่นที่สอง แม้จะขาดความอดทน หรือขาดทักษะที่จะเริ่มธุรกิจด้วยตัวเองจากมือเปล่าได้ แต่ก็มักมีทักษะในด้านการบริหารจัดการได้ดีกว่า อันเนื่องมาจากการมีความรู้และการศึกษา (เห็นไหมครับ ว่าการบริหารธุรกิจ กับการเริ่มต้นธุรกิจนั้นใช้ทักษะที่ต่างกัน หากผู้ที่ต้องเริ่มต้นธุรกิจเป็นรุ่นแรกด้วยตัวเอง การไปเน้นศึกษาด้านการบริหารธุรกิจแต่แรกเริ่ม ไม่ได้ช่วยอะไรในการเริ่มต้นธุรกิจมากนัก แต่มันช่วยสำหรับการสานต่อธุรกิจมากกว่า)

ถ้าถึงขั้นนี้ได้แล้ว ธุรกิจก็จะค่อยๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งใครเน้นการเติมเงินกลับลงไปในสาอีกสองข้างให้เข้มแข็งกว่าคู่แข่ง ธุรกิจนั้นก็จะยิ่งเติบโตในอัตราที่สูงกว่าคนอื่น เพราะได้เปรียบในการแข่งขัน
พลวัตของธุรกิจ
จากตรงนี้ เราจะสังเกตเห็นว่า ธุรกิจนั้นจึงมีพลวัตในแบบเร่งสปีด เมื่อแรกเริ่มธุรกิจนั้น อัตราการเติบโตจะช้า หรือการทำอะไรต่างๆ จะค่อนข้างยาก ยิ่งเมื่อต้องไปแข่งกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ด้วยแล้ว อะไรๆ ก็จะยิ่งยาก แต่เมื่อสามารถฟันฝ่าจนธุรกิจยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง และมีเงินทุนสำรองเยอะ การทำธุรกิจก็จะเริ่มง่ายขึ้นในระยะหลังๆ ดังที่นักธุรกิจหลายคนเคยกล่าวว่า การหาเงินล้านที่สองนั้น ง่ายกว่าเงินล้านแรกมาก
ธุรกิจที่มั่นคงแล้ว จะสามารถดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานด้วย และมีเงินพอที่จะจ้างมืออาชีพเก่งๆ เหล่านั้น แบรนด์ก็มั่งคงแข็งแรงเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง ผู้นำธุรกิจ(ในไลน์นั้นๆ)จึงมักเป็นผู้นำต่อไป เพราะได้เปรียบในหลายๆ ด้าน สินค้าที่ยิ่งขายดี ก็จะยิ่งขายง่าย และขายดี(คนมีความเชื่อมั่น และเหตุผลทางการตลาด) และก็ทำให้ยิ่งมีเงินทุนมาทำอะไรอีกมากมาย
นี่คือพลวัตของธุรกิจ ในช่วงแรกๆ ผู้ลงทุนทำธุรกิจจึงควรหาทุนสำรองให้มากที่สุด หรือเป็นการร่วมกันของคนเก่งให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถร่วมงานกันได้ เพราะนั้นจะทำให้ได้เปรียบ และมีโอกาสอยู่รอด หรือเติบโตมากกว่าการทำอะไรคนเดียว แล้วทุกอย่างขาดแคลนไปหมด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ต้องอดทนให้กิจการนั้นอยู่รอดเป็นระยะเวลานานๆ ได้ แล้วหลายสิ่งหลายอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ถ้าเจ้าของกิจการนั้นไม่ได้ขาดทักษะในการเรียนรู้ หรือสินค้าคุณภาพแย่จริงๆ มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นครับ
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเริ่มต้นธุรกิจด้วยความขาดแคลนไปหมด ธุรกิจนั้นก็จะเกิดพลวัตทางลบ คือ ยิ่งขาดทุนก็ยิ่งขาดปัจจัยไปแก้ไข ธุรกิจนั้นก็จะเจ๊งไปโดยเร็ว ความแตกต่างระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลวในก้าวแรกนั้นจึงต่างกันมาก (คิดไปและกลับ) กิจการที่เริ่มต้นได้ดี ในปีที่สอง อะไรๆ ก็จะพร้อมมากขึ้น(ง่ายขึ้น) แต่กิจการที่เริ่มต้นไม่ดี ในปีที่สองก็จะยิ่งยากขึ้น และโอกาสล้มเหลวยิ่งมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นจงเตรียมการอย่างรอบคอบและละเอียดครับ
Create Date : 18 มีนาคม 2552 | | |
Last Update : 19 มีนาคม 2552 7:14:33 น. |
Counter : 3306 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ธุรกิจ เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 8 เพราะมันคือเรื่องของคน

สาเหตุที่คนเรามีความถนัดเฉพาะทาง และไม่อาจจะเปลี่ยนตัวเองให้ไปเก่ง หรือไปถนัดในด้านอื่นๆ ได้มากนัก เพื่อที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับธุรกิจ ก็เนื่องจากคนเรานั้นมีระบบทางความคิดและแนวทางในการแก้ปัญหาแตกต่างกัน หรืออาจเรียกว่า Thinking System และนิสัยหรือพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ยาก มันจึงกลายเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน
ข้อดีคือ ธรรมชาติข้อนี้จะกลายเป็นความถนัดของคนที่ทำให้คนอื่นที่ไม่ใช่ หรือไม่มีธรรมชาติการคิดแบบเดียวกัน สามารถมาแข่งขันกับเราได้ยาก ส่วนข้อเสียก็คือ คนเรานั้นจึงปรับเปลี่ยนตัวเองได้ยาก เราจึงต้องปรับธุรกิจให้เข้ากับคน ไม่ใช่ปรับคนให้เข้ากับธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลักการแบบนี้มันก็จะไปตรงกับเรื่อง Put the right man to the right job หลักการง่ายๆ ที่เราได้ยินได้ฟังมานาน แต่ก็ชอบมองข้ามไปเสมอๆ ไม่นำมาปฏิบัติ
มันคือหลักที่วอเรน บัฟเฟต มหาเศรษฐีของโลกให้ในการบริหารคน และทำให้เขาสบายขึ้น มันคือหลักการที่ จิม คอลลิน นักคิด นักเขียนด้านการบริหาร ได้ทำวิจัยและเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Good to Great ซึ่งประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ ความแตกต่างระหว่างบริษัทธรรมดากับบริษัทในระดับยอดเยี่ยมก็คือ บริษัทที่ยอดเยี่ยมให้หลัก เลือกคนให้ถูกต้อง(มีแรงผลักดันและมีความสามารถ)ให้เข้ามาสู่บริษัทก่อน จากนั้นจึงจับพวกเขาลงไปสู่งานที่เหมาะสม พวกเขาเริ่มต้นจากคนก่อน แล้วปรับงานให้เข้ากับคน ไม่ใช่ปรับคนให้เข้ากับงาน
ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้อบรมเกี่ยวกับการประกอบการจำนวนมากไม่รู้และไม่ได้ศึกษา พวกเขาศึกษาแต่หลักการของธุรกิจ แต่ลืมศึกษาเรื่องคน เรื่องศักยภาพของคน (ซึ่งเผอิญเป็นสิ่งที่ผมสนใจศึกษาอยู่พอดี) หลักการที่สอนๆ กันอยู่ทั่วไป จึงไม่มีประสิทธิผล หรือเรียกว่า Put the wrong man to the right job
และการเข้าใจเรื่องคนเป็นหัวใจของความสำเร็จทุกชนิด เพราะความสำเร็จทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากคนก่อน และผมค้นพบว่า คนนั้นเปลี่ยนได้ยาก เราจึงต้องเลือกงานให้เข้ากับคน เลือกงานที่เหมาะสมกับตัวเอง เราจึงจะประสบความสำเร็จได้
จากการสังเกตของผมในหลายๆ ครั้ง มนุษย์เราจะมีระบบการคิดและแนวทางในการแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจง อันเนื่องมาจากบุคลิกนิสัยที่ได้มาจากการเกิดและการเลี้ยงดู หรือจากประสบการณ์ในวัยเด็ก
เมื่อคนสิบคนประสบปัญหาอย่างเดียวกันอย่างหนึ่ง ทุกคนจะมีวิธีคิด วิเคราะห์ และแนวทางในการแก้ปัญหาแตกต่างกันออกไป ตามนิสัยและความถนัด ฉะนั้น มันจึงทำให้คนเหล่านี้ แก้ปัญหาธุรกิจด้วยวิธีแบบนี้
นักขาย จะไม่ค่อยสนใจเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากนัก แต่จะเน้น ขาย ขาย และขาย เขาจะเน้นเรื่องเทคนิคการขาย เขาจะคิดว่า จะมีเทคนิคการขายอย่างไร ให้สินค้านั้นขายได้
นักประดิษฐ์หรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะเน้นทางแก้ที่ สินค้าของตนจะต้องดีที่สุดเสมอ พวกเขาจะโฟกัสความคิดไปที่ตัวสินค้าเกือบทุกครั้ง
นักการตลาดจะมองเรื่อง ตำแหน่งทางการตลาด เช่น จุดขายที่แตกต่าง หรือการทำโปรโมชั่นดึงดูดใจ
นักสร้างสายสัมพันธ์จะชอบใช้วิธีลัด คือ เข้าหาคนและสร้างความสนิทสนมในการขาย (เกือบคล้ายนักขาย แต่จะชอบสร้างสัมพันธ์กับคนเป็นนิสัย เพื่อนจะเยอะ)
นักการเงินและชอบลดต้นทุนหรือประหยัดค่าใช้จ่าย
ผู้ประกอบการจะชอบคิดหาช่องวางทางการตลาดที่ยังไม่มีใครเติม (สินค้าเดิมๆ ในแหล่งใหม่ๆ)
ฯลฯ
ลองดูเถอะครับ ว่าวิธีคิดของตัวเองเป็นอย่างไร ของคนอื่นเป็นอย่างไร คุณจะเริ่มแบ่งแยกชนิดของคน แตกต่างกันออกไป และทุกคนจะคิดแบบเดิมเกือบทุกครั้ง แต่ก็จะมีบางคนที่ระบบการคิด ไม่เหมาะที่จะทำธุรกิจ เพราะไปโฟกัสเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น โฟกัสแต่เรื่องสนุกๆ อะไรประมาณนั้น
อย่างผมเอง ผมก็รู้ได้เลยว่า ผมเป็นคนชอบเรื่องมหภาค เรื่องกลยุทธ์หรือหลักการเชิงโครงสร้าง เมื่อเกิดปัญหา ผมจะมองภาพกว้างๆ เสมอ ซึ่งนั่นทำให้ผมถนัดที่จะเป็นนักกลยุทธ์ เพราะผมสนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงร่างและระบบกว้างๆ
ดังที่เล่าไปแล้วว่า แม้ว่าผมจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับการขายมามาก มันก็ไม่ได้ทำให้ผมกลายเป็นนักขายชั้นยอดได้เลย เพียงแต่ทำให้รู้เรื่องทักษะที่นักขายที่ดีควรจะเป็น (เอาไว้ประเมินคุณสมบัติของคน) และนอกจากนักคิดแล้ว ผมจะสนใจเรื่องการตลาดมากที่สุด เพราะมันเกี่ยวข้องกับจิตวิทยา(ผู้บริโภค) อันตรงกับความสนใจและธรรมชาติของผม
ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเฉพาะเลย 1 บทความ ก็เพราะว่า ต้องการให้ท่านผู้อ่าน เข้าใจและเห็นจริงว่า ธุรกิจนั้นเกี่ยวกับคนเป็นหลัก ถ้าเป็นคนอื่น ก็ให้เรารู้จักเลือกคน(อันเป็นสิ่งที่นักธุรกิจใหญ่ๆ ทำกัน พวกเขารู้ตัวว่าไม่เก่งทุกอย่าง และไม่พยายามจะเก่งทุกอย่าง แต่พวกเขาจ้างคนเก่งมาทำในสิ่งที่เขาไม่ถนัด) แต่คนเราไม่อาจเปลี่ยนตัวเองได้เหมือนการจ้างคนอื่น ฉะนั้น จึงต้องปรับงานหรือเลือกงาน หรือเลือกธุรกิจที่เหมาะสมตรงกับบุคลิกนิสัยของตนเอง โดยเฉพาะความถนัดที่จะกลายเป็น Key Success ได้
ผู้ประกอบการรุ่นเก่า ชอบที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเปลี่ยนแปลงได้ยาก และสิ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ(ในระดับหนึ่ง) ไม่ใช่ตรงนั้น พวกเขาประสบความสำเร็จได้เพราะ ผู้ประกอบการจะมองหาช่องว่างทางการตลาด และเติมธุรกิจลงไปเสมอๆ ซึ่งนั่นหมายถึง การทำธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อย (ในตลาดหนึ่งๆ) และทำให้การเก่ง Key ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสูงนัก ตามที่ผมบอกไปแล้วว่า การที่ไม่มี Key Success อะไรเลยนั้น มีอย่างเดียวที่ทำได้ คือ ธุรกิจนั้นมีการแข่งขันต่ำ
แต่เมื่อช่องว่างเริ่มหายาก คนเหล่านี้ก็จะเริ่มต้น และไม่ค่อยเติบโตมากนัก ซึ่งจะต่างจากนักธุรกิจอีกระดับหนึ่ง ที่ฉลาดพอที่จะวางตัวเองเป็นนักบริหาร โดยเฉพาะบริหารคน งานของพวกเขาจึงง่าย และสบาย แค่เลือกคนเป็น มองคนออก และรู้โครงสร้างของธุรกิจที่ตัวเองจะทำ จากนั้นก็เซ็ตระบบธุรกิจขึ้นมา เอาคนที่ถูกลงไปในงานที่ถูก ง่ายๆ แค่นั้นเองครับ หลักง่ายๆ แต่ก็ไม่ค่อยจะทำกันครับ เพราะตามที่บอกไปแล้ว คนนั้นเปลี่ยนความคิดยากครับ
Create Date : 15 มีนาคม 2552 | | |
Last Update : 15 มีนาคม 2552 12:07:09 น. |
Counter : 2848 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|
Location :
[Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

|
จากทักษะของการเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ บวกกับความสนใจใน"กระบวนการ"และ"ปัจจัย"ที่ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จ ที่ทำให้ผมศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวจำนวนมาก จนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้พอที่จะขอเรียกตัวเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งความสำเร็จ"
|
|
|
|
|
|
|