Group Blog
 
All blogs
 

“ธุรกิจ” เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 2 ค้นหารูปแบบ



โดยธรรมชาติของผมเป็นคนที่บุคลิกของนักคิด นักวิเคราะห์อยู่แล้ว และสิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์ชอบที่จะต้องมีไว้ในใจ ก็คือรูปแบบ หรือ Format ของสิ่งต่างๆ ที่ถูกต้อง เพื่อเอาไว้แยกแยะสิ่งที่จะวิเคราะห์ในอนาคตว่า อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ถ้าคนที่ไม่สนใจเรื่องรูปแบบนี้ และไม่เคยวิเคราะห์รูปแบบของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นว่า มีอะไรเหมือนกัน หรือแตกต่างกัน คนๆ นั้นอาจเรียกได้ว่าไม่ใช่นักวิเคราะห์ที่ดี

และด้วยความเป็นนักคิด นักวิเคราะห์นี้ ในขณะที่ผมกำลังสนใจจะหาคำตอบเรื่องรูปแบบ และความแตกต่างระหว่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จกับธุรกิจที่มีแนวโน้มจะล้มเหลว ผมก็ตั้งคำถามตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ไปเจออะไรที่ผิดแปลกไป เช่น ไปเจอนักธุรกิจที่ไม่เก่ง(ในสายตาของผม) แต่ประสบความสำเร็จ ดังที่กล่าวไปแล้ว ผมก็จะตั้งคำถาม และพยายามค้นหาคำตอบที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงให้คำตอบแบบว่า “โชคของเขา” แล้วก็จบ ซึ่งนั่นไม่ได้ให้ความรอบรู้เพิ่มเติมอะไรแก่ผม

ผมตั้งคำถาม คำถาม และคำถาม แล้วก็ได้คำตอบ คำตอบ และคำตอบ แต่ยังไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงเป็นหลักการเดียวกันได้ จนวันหนึ่งผมก็คิดเรื่องหนึ่งได้ ขณะที่กำลังกินข้าวอยู่ในร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่ง ผมได้คิดย้อนกลับไปถึงหลักคิดที่เบสิคที่สุดของการทำธุรกิจ นั่นก็คือ การที่เรามีเงินทุนเพียงพอ ที่จะสามารถนำเงินทุนนั้นไปผลิตสินค้า หรือบริการ ที่มีคุณภาพเพียงพอ (หรือการซื้อสินค้ามาขาย) แล้วสุดท้ายก็คือ มีความสามารถในการทำให้สินค้านั้นขายได้ในราคาที่มีกำไร

แค่นี้จบ ธุรกิจมีแค่นี้ แค่นี้จริงๆ หรือใครจะเถียง (แต่มันมีรายละเอียดที่คนมักไม่เข้าใจ ซึ่งผมจะได้อธิบายต่อไป)

ผมจึงเขียนโครงร่างนี้ไว้ในสมุดบันทึกในลักษณะ เงิน >> ความสามารถ >> ทำให้สินค้านั้นขายได้

แต่ด้วยความชอบในหลักการของ mind map ซึ่งคือการสร้างระบบความจำเป็นภาพ ผมจึงพยายามโยงหลัก 3 ข้อนี้กับภาพอะไรสักอย่างเพื่อการจดจำที่ง่าย และต้องเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะ

แล้วผมก็นึกถึงขาตั้งกล้องขึ้นมาได้ (ผมมีอาชีพเดิมเป็นช่างภาพ) จึงเขียนอธิบายมันไว้ในสมุดบันทึกอีกครั้งในลักษณะของรูปขาตั้ง 3 ขา แล้วเรียกมันว่า Tripod Theory (ยังเป็นแค่ทฤษฎีในใจของผม ที่ยังต้องการการตรวจสอบอีกหลายครั้ง)

และเพื่อความง่าย ผมใช้คำย่อๆ สำหรับแต่ละขานี้อีกครั้งว่า Know How / Money / Key to Success

จากนั้น ผมก็ตรวจสอบหลักการด้วยการนำเอารูปแบบที่ผมพบสำหรับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต่างๆ มาเทียบเคียงกับหลักพื้นฐานที่ว่านี้ ซึ่งก็ใช้ได้ เพียงแต่ว่าในข้อที่เป็นวิธีการทำให้สินค้าขายได้(หรือที่เรียกว่า Key to Success หรือ Key Success Factor) นั้น มักจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละกรณี
ใช่แล้วครับ ในที่สุด ผมก็ค้นพบ ”รูปแบบ” หรือ Format บางอย่าง รูปแบบที่แม้ผมจะอ่านหนังสือฮาวทูแนวธุรกิจมามากมายหลายเล่ม ทั้งของฝรั่ง ของคนไทย ก็ยังไม่มีใครให้ภาพความคิดในการทำธุรกิจที่เข้าใจง่าย(อย่างน้อยก็สำหรับผม) ได้อย่างนี้มาก่อน

ใช่แล้วครับ ผมได้พบเงื่อนงำบางอย่าง จากภาพของหลักการประกอบธุรกิจ ที่เคยแต่ยิ่งศึกษา ยิ่งอ่านมาก ก็ยิ่งซับซ้อนและยิ่งงง แต่ผมไม่ชอบอะไรที่ซับซ้อน ชอบอะไรที่เข้าใจง่ายๆ สุดท้าย ผมจึงค้นพบหลักการง่ายๆ ด้วยตัวของผมเอง

รออ่านต่อไปครับ ตอนต่อไป ผมจะอธิบายเนื้อหาของแต่ละขา ของหลักการ 3 ขา โดยเฉพาะตัว Key to Success ที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันมากที่สุดด้วย






 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2552 12:02:25 น.
Counter : 3617 Pageviews.  

“ธุรกิจ” เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 1 นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนเก่งเสมอไป




ย้อนไปอ่านบทเกริ่มของผมก่อนได้ที่นี่ครับ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=jimmywalker&month=26-02-2009&group=12&gblog=1


ผมเริ่มต้นตอนแรก ด้วยความจริงที่ขัดแย้งกับตรรกะพื้นฐานที่หลายๆ คนเชื่อ อันเป็นความคิดที่ผิด และการค้นพบเรื่องนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมได้ค้นพบหลักการทำธุรกิจที่แท้จริง ที่ไม่เหมือนกับตำราทุกเล่มที่เคยอ่านมา และไม่ใช่คำพูดโอ้อวดสวยหรู ของบรรดานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จบางคนที่พยายามโปรโมทตัวเอง

ผมเริ่มคิดสงสัยเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เมื่อได้อ่านหลักการทำธุรกิจและหลักการบริหารหลายๆ เล่ม อันเป็นหลักการที่ดี แต่กลับต้องพบว่า นักธุรกิจใหญ่(และประสบความสำเร็จ)หลายคนที่ผมพบ(บางคนพบในฐานะของลูกค้า) ซึ่งบางคนนั้นมีกิจการขนาดที่เรียกได้ว่ายอดขายปีละเกือบพันล้าน หรือบางคนเป็นมหาเศรษฐีมีกิจการใหญ่โต และมีหุ้นติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย กลับไม่ใช่คนที่เก่งเลอเลิศอย่างที่ผมคาดคิด

บางคนมีทักษะในการบริหารที่แย่ บางคนไม่มี leadership ที่ดี และบางคนก็ดูไม่เหมือนนักธุรกิจที่ดีเอาเสียเลย แต่ธุรกิจของพวกเขาก็ไปได้ดี และร่ำรวย

ทำไม? เป็นคำถามที่ผมเฝ้าถาม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จากคำตอบหนึ่งสู่อีกคำตอบหนึ่ง จนเมื่อหลายๆ คำตอบมารวมกัน ผมก็ค้นพบรูปแบบบางอย่าง ที่ตรงนี้แหละทำให้ผมเริ่มเข้าใจเรื่องราวของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และถ้าต้องการประสบความสำเร็จบ้าง ต้องทำอย่างไร(ถ้าทำได้) ซึ่งผมจะยังไม่เปิดเผยตอนนี้นะครับ เดี๋ยวจะหมดสนุก และเรื่องราวจะเริ่มไม่เรียงลำดับ

เรื่องนี้พูดไปก็เหมือนกับความสงสัยที่คุณอาจพบว่า คนทำดี ทำไมถึงไม่ได้ดี แต่คนทำชั่วบางคนกลับลอยนวล ถ้าคุณไม่เอาความเชื่อแบบ “สักวันผลกรรมต้องตามทัน” คุณจะพบว่าโลกนี้ไม่ใช่โลกแห่งอุดมคติอย่างที่เคยคิดเสมอไป สิ่งที่ควรจะเป็น อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่โลกมันเป็น ก็เพราะมันมี”เหตุเหมาะสม”ให้มันเป็นอย่างนั้นต่างหาก

นอกจากผมค้นพบว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เก่งทุกอย่างเสมอไป (ผมขอยกตัวอย่างอีกสักกรณีหนึ่ง เช่น ถ้าคนๆ หนึ่งเกิดด้วยเหตุใดไม่ทราบ ไปได้เช่าที่ตรงทำเลที่ดีที่สุดของสวนจตุจักร สยามสแควร์ หรือในห้างพันทิป ก็คงไม่อาจบอกได้ว่า พวกเขาเก่งมากๆ เพราะการมีร้านในทำเลเช่นนั้น มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมากๆ อยู่แล้ว)

แต่ผมก็ยังพบอีกว่า นักวิชาการที่สอนๆ เกี่ยวกับธุรกิจนั้น หลายๆ คนก็ไม่เคยเข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง(*เน้นว่าบางคนนะครับ) เพราะพวกเขาศึกษากันแต่เคสใหญ่ๆ แบรนด์ใหญ่ๆ โดยลืมเรื่องราวของธุรกิจเล็กๆ อย่างข้าวมันไก่ข้างถนน คำแนะนำจากนักวิชาการที่จบสูงๆ จึงไม่แน่ว่าจะถูกเสมอไป

แต่ทฤษฎีของผมนี้ ผมรวบรวมเรื่องราวของธุรกิจทุกกรณี เพราะผมต้องการเข้าใจภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด ไม่มียกเว้น ว่าเหตุใด การลงมือทำธุรกิจหนึ่งๆ จึงจะประสบความสำเร็จได้ ทำไมคนจบป. 4 ที่ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย(หมายถึงไม่รู้จริงๆ นะครับ ไม่เข้าใจหลักการตลาดอะไรทั้งสิ้น) จึงทำร้านข้าวมันไก่แล้วรวย !!!

ซึ่งผมเชื่อว่าทฤษฎีที่เกิดจากการรวบรวมเรื่องจริงเหล่านี้แหละ เป็นวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีคิดแบบตรรกะ ที่จะทำให้เราค้นพบความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่

รออ่านตอนต่อไปนะครับ ผมจะปูพื้นหลักคิดอีกนิดเดียว แล้วจะเริ่มเข้าเนื้อหาแล้ว ผมไม่ต้องการเยิ่นเย้อ แต่การปูพื้นตรงนี้ก็สำคัญ เพราะบางที คุณต้องทลายความคิดความเชื่อผิดๆ เสียก่อน คุณต้องเชื่อหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์เสียก่อน ผมถึงจะไปต่อได้ ถ้าคุณยังเป็นคนที่คิดอะไรแบบใช้ความเชื่อ มันก็คงจะยากที่จะคุยกันเรื่องเหตุผล เพราะทุกอย่างมันเป็นเรื่องของความเชื่อล้วนๆ ไม่ต้องมีเหตุผลรองรับ แบบนั้นก็จะปรับความคิดกันยาก

รอตอนหน้า อีกสองสามวันนะครับ





 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2552 12:52:45 น.
Counter : 2873 Pageviews.  

“ธุรกิจ” เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย (เกริ่น)



ตั้งใจว่าอยากจะเขียนเรื่องหลักการทำธุรกิจนี้นานแล้ว แต่งานยุ่งๆ หลายเรื่อง เลยยังไม่มีโอกาส อีกทั้งตอนปรับปรุงบล็อกคราวก่อน ที่ตั้งใจว่าจะเขียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (Success Analysis กับ Success Strategies) ก็กลายเป็นภาระที่ทำให้เครียดแทนที่จะเพลิดเพลิน เพราะต้องหาข้อมูลอ้างอิงก่อนเขียน

แต่เรื่องหลักการทำธุรกิจนี้ เป็นสิ่งที่ผมศึกษามาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง และเขียนหนังสือไปแล้วเล่มหนึ่ง ทุกอย่างจึงอยู่ในหัว ไม่ต้องไปศึกษาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมมาก จึงคิดว่าน่าจะเขียนได้ง่ายหน่อย ไม่ต้องใช้เวลามาก

แต่เรื่องหลักการทำธุรกิจที่ผมจะได้เขียนเป็นตอนๆ นี้ รับรองว่าไม่น่าจะเคยได้อ่านจากที่ใด เพราะเป็นหลักการที่ผมซึ่งจัดว่าเป็นนักอ่านตัวยงคนหนึ่ง ก็ยังไม่เคยอ่านของใครที่ให้หลักการอันจะทำให้เข้าใจเรื่องของธุรกิจได้ทั้งหมดเช่นนี้ และหลักการของผมนี้ ก็เขียนและคิดขึ้นมาจากประสบการณ์ตรงที่ผมประสบ และจากการเก็บเคสของจริงขึ้นมาค้นหารูปแบบความจริง มันจึงไม่ใช่ทฤษฎีแบบที่คิดขึ้นมาเอง หรือทฤษฎีที่ดูสวยหรูแบบอุดมคติ แต่เป็น”ความจริง”ของการทำธุรกิจ อันจะทำให้เราเข้าใจของจริง และผมสามารถตอบคำถามแย้งได้ทุกกรณี

เพราะทฤษฎีนี้ ผมไม่ได้คิดขึ้นเพื่อจะเอาไว้ชื่นชมใคร หรือเป็นข้อแก้ตัวให้ใคร แต่เกิดจากการต้องการค้นหาความจริง ยิ่งเมื่อหลังจากที่ผมได้ออกหนังสือไปหนึ่งเล่มแล้ว ผมก็ยังนำทฤษฎีมาคิดเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ได้ข้อปลีกย่อยมาเติมแต่งให้เข้าใจง่าย และผมเองก็เข้าใจมันมากขึ้นไปอีก จนถึงวันนี้ อาจพูดได้ว่า ผมเข้าใจเรื่องธุรกิจอย่างสมบูรณ์(หรือเกือบสมบูรณ์ ขอเผื่อใจไว้นิดหน่อย) ว่าทำไม บางคนจึงประสบความสำเร็จ ในขณะที่บางคนไม่ แม้ว่าคนหลังอาจจะดูเหมือนเก่งกว่าในหลายๆ ด้าน หรือกระทั่งประสบความสำเร็จมาก่อนหน้าแล้วในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ(แบบลูกจ้าง)

แต่ดังที่จั่วหัวไว้แล้วว่า ธุรกิจนั้นเป็นเรื่องง่ายที่อาจไม่ง่าย ฉะนั้นการเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดตามที่ผมจะอธิบายต่อไป ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณคนนั้นจะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเป็นเลิศก็หาไม่ เพราะอะไร? ค่อยๆ อ่านไป ค่อยๆ ทำความเข้าใจแล้วจะพบคำตอบในช่วงท้ายๆ นะครับ การเข้าใจ กับการทำได้จริง จึงเป็นเรื่องต่างกัน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดอีกเช่นกัน เราจึงมีหลักสูตรการสอนทำธุรกิจเหมือนกับว่าถ้าเข้าใจแล้ว จะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน หรือเข้าใจไปว่า คนที่ประสบความสำเร็จสูงๆ ในธุรกิจคือคนที่เก่งรอบด้านในเรื่องธุรกิจ

แต่หลักการนี้ ถ้าเข้าใจทั้งหมด และคุณมีคุณสมบัติเบื้องต้นที่เหมาะสมจะนำไปใช้ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้คุณสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจและรวยสุดๆ ได้เลย โดยไม่ต้องทำอะไรมากนัก (แบบ วอเรน บัฟเฟต มหาเศรษฐีอันดับสองของโลก ที่เพียงจัดวางทุกอย่างให้เข้าที่ แล้วเขาก็แค่ค่อยๆ ดูเงินที่เขาลงทุนนั้นงอกเงย โดยไม่ต้องเหนื่อยอะไรมากนัก)

อ้อ ขอเกริ่นไว้อีกอย่างหนึ่งว่า การเขียนของผม อาจจะไม่ค่อยสนุกมาก เพราะไม่เน้นสนุก และไม่ใช่สไตล์ที่ผมถนัด ผมจึงจะเขียนแบบเป็นหลักวิชาการหน่อยๆ แต่พยายามจะให้เข้าใจง่าย ไม่ใช่วิชาการจ๋า แบบอ่านแล้วหลับ แต่อย่างไร ผมก็น้อมรับข้อแนะนำ หรือติติงที่มีเหตุผลน่าฟังนะครับ

ขอบคุณครับ



อ่านตอนแรกต่อได้ที่นี่เลยครับ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=jimmywalker&month=26-02-2009&group=12&gblog=2




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2552 12:17:23 น.
Counter : 2768 Pageviews.  

1  2  3  

Jimmy Walker
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




จากทักษะของการเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ บวกกับความสนใจใน"กระบวนการ"และ"ปัจจัย"ที่ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จ ที่ทำให้ผมศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวจำนวนมาก จนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้พอที่จะขอเรียกตัวเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งความสำเร็จ"
Friends' blogs
[Add Jimmy Walker's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.