หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้





หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้

อุรุดา โควินท์


น่าดีใจอย่างยิ่ง ที่ศรัทธาต่อการเขียนทำให้เรามีศรัทธาต่อชีวิต

มองเห็นได้ว่าชีวิตคือสิ่งมหัศจรรย์ และเราหาได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล

ทั้งเราไม่ได้ตายไปพร้อมความว่างเปล่า

มันเป็นอย่างนี้ใช่มั้ย ? ศรัทธาต่อการเขียนชักนำไปสู่ศรัทธาต่อชีวิต

และเพราะมีศรัทธาต่อชีวิตนั่นเอง ทำให้เราเขียน

- กนกพงศ์ สงสมพันธุ์,

คำนำนักเขียนในรวมเรื่องสั้น “โลกหมุนรอบตัวเอง”

ปรากฏอีกครั้งในคำนำนักเขียน

เรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ของอุรุดา โควินท์



ร้านหย่อนญาณ ณ ช่างชุย แวะมาซื้อหนังสือ นั่งจิบกาแฟกันได้


ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เก็บมาเล่าครั้งนี้ “เป็นความบังเอิญ” แม้ว่าผมตั้งใจขอตามรุ่นพี่ที่ทำงานไปเที่ยว “ช่างชุ่ย” Community Mall แห่งใหม่ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น อาณาจักรแห่งศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ 

ความตั้งใจแรกเริ่ม คือกะอาศัยรถคนอื่นเขาไปเที่ยวชมช่างชุ่ยเฉย ๆ หลังจากได้ยินคนพูดกันทั่วว่า สวย เท่ เจ๋ง มุมถ่ายรูปดี ครั้นพอไปถึงช่างชุ่ย รุ่นพี่เจ้าของรถก็ชักชวนผมไปฟังเสวนา หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้ เปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุดของ คุณชมพู - อุรุดา โควินท์ ผมก็เลยเออออไปกับเขาด้วย เพราะรู้จักชื่อของนักเขียนคนนี้มานานจากผลงานตามแผงหนังสือ และจากเสียงของนักอ่านหลายคน ซึ่งร่ำลือกันว่าผลงานของคุณชมพูมีความละมุนละไม เนื้อเรื่องดี มีเอกลักษณ์ ให้พลัง

ผมเลยนึกอยากอ่านงานของคุณชมพูดูบ้าง (หลังจากเคยเล็งไว้ แล้วไม่ยอมซื้อมาอ่านสักที เพราะกองดองที่บ้านสูงท่วมหัว) ต่อเมื่อได้ฟังการเสวนาเพียงไม่ถึงสิบนาที ผมก็บอกกับตัวเองว่า “เราคงต้องตั้งใจฟังเขาพูดแล้วละ”





บรรยากาศการเสวนากำลังสนุก

ตอนนั้นเหมือนมีอะไรบางอย่างดึงดูดให้ผมขยับจากแถวยืนด้านหลังสุด ไปนั่งเก้าอี้ด้านหน้าเพื่อฟังการเสวนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว นับจากนาทีนั้น ถ้อยคำของคุณชมพู และมุมมองจากผู้ร่วมเสวนาก็พาผมไปรู้จักกับนักเขียนสาวคนนี้มากขึ้น รู้จักความทุ่มเทในการสร้างงานเขียนของเธอ และเหนือไปกว่านั้น คือได้รู้จัก “คนรัก” ของเธอ ผ่านเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดไว้ในนวนิยายเรื่อง หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ซึ่งกำลังเปิดตัวอยู่ตรงหน้า ณ ร้านหย่อนญาณ ช่างชุ่ย เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า คุณชมพูเป็นภรรยาของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2539 ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่งานเสวนาครั้งนี้ต้องการนำเสนอ คือให้เหล่านักอ่านและแฟนหนังสือของอุรุดา โควินท์ และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้สัมผัสกับเบื้องหลังชีวิต ความรัก ความทรงจำ ของสองนักเขียนที่เคยมีร่วมกัน ผ่านนวนิยายที่แต่งเติมขึ้นจากชีวิตจริงของทั้งคู่ และถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งในอาชีพนักเขียนของอุรุดา โควินท์





วงสนทนาเล็ก ๆ แต่มีคนสนใจฟังอยู่รอบด้าน

ผมขอไม่พูดถึงรายละเอียดในนวนิยายหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา แต่อยากฝากความน่ารักที่คุณชมพูเขียนเอาไว้ในบทที่หนึ่งมาให้ได้อ่านกันสักเล็กน้อย --- ถ้าหากคุณลืมไปแล้วว่า นวนิยายเรื่องนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องจริง ตัวละครมีตัวตนจริง ๆ คุณก็จะมองเห็นความน่ารักแก่น ๆ แอบขี้งอนนิด ๆ ของนางเอก และนิสัยกวน ๆ น่าหมั่นไส้ของพระเอก เรียกว่า เคมีเข้ากันสุด ๆ แม้นางเอกของเราจะยืนยันว่า พระเอกของเธอไม่ใช่ชายรูปงามหรือถึงกับมากเสน่ห์ แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าเขาดึงดูดเธอ...


พี่จอดรถรอหน้าตึก หยอดเหรียญโทรศัพท์ใต้ตึกนั่น “โควินทะ ไปดูหนังตะลุงมั้ย”

พี่รู้มั้ย ฉันรำคาญสุด ๆ ที่พี่เรียกฉันด้วยนามสกุล แถมยังเติม ‘ทะ’ เข้าไป จะลำบากอะไรนักหนา ถ้าพี่จะอยากฉันว่าพู, ชมพู หรือชื่อจริง เอาเถอะ ถ้าอยากแสดงระยะห่างอย่างตะวันตก ก็กรุณาเรียกฉันว่า ‘โควินท์’ นามสกุลของฉันมาจากแซ่โคว้ เป็นจีนแต้จิ๋ว ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับสิทธารถะ อย่ามั่วนิ่ม

เก็บเรื่องนามสกุลไว้ก่อน ถ้าเรียกอีกที ฉันจะสาธยายให้แจ่มแจ้ง


ระหว่างการเสวนา ผมไม่เพียงแต่สนุกและซาบซึ้งไปกับช่วงเวลาที่นักเขียนทั้งสองเคยมีร่วมกัน แต่สิ่งสำคัญที่ผมได้รับจากคุณชมพู คือ พลังใจและความมุ่งมั่นในการเขียนหนังสือ เพื่อเดินหน้าต่อไปบนถนนสายวรรณกรรมอย่างภาคภูมิ



คุณชมพูพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือของเธอ

คุณชมพูเล่าว่า หลังจากเธอลาออกจากงานธนาคาร เธอมีหนังสือของตัวเองที่ตีพิมพ์แล้วเพียง 2 เล่ม เธอรู้สึกไม่อยากเขียนเรื่องรัก ๆ อีกต่อไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเลิกเป็นนักเขียน แต่คุณกนกพงศ์คือผู้จุดประกายให้เธอเขียนหนังสือต่อ เขาบอกกับเธอว่า “คนทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง ถ้าคนอื่นเขียนได้ เราก็สามารถเขียนได้”

คำพูดที่คุณกนกพงศ์เคยมอบให้คุณชมพูในวันนั้น เชื่อว่าคงเป็นแรงผลักดันหนึ่ง ที่ส่งให้เธอเป็นที่ต้อนรับ ยอมรับ และเป็นอุรุดา โควินท์ที่นักอ่านหลายคนหลงรัก ตลอดจนเป็นแรงใจให้เธอเขียนหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตาได้สำเร็จ


“การที่เรารอถึงสิบปี กว่าจะเขียนเรื่องนี้ คือรอให้ใจของเราเข้มแข็ง รอชีวิตที่ดี มีความสุข และรอฝีมือซึ่งเราค่อย ๆ ฝึกฝนจนดีขึ้น เพราะไม่ใช่เขียนเล่มแรกแล้วจะดีเลย การเขียนนวนิยายต้องใช้ทั้งฝีมือและประสบการณ์ พอครบรอบ 10 ปีที่พี่กนกพงศ์จากไป เราเลยคิดว่าน่าจะมีอะไรระลึกถึงเขาบ้าง เราอยากจะเก็บเสน่ห์และความน่าหมั่นไส้ของเขาเอาไว้ในหนังสือ อยากให้เขาเกิดใหม่อีกครั้งในรูปของหนังสือ มีชีวิตในทุกขณะที่มีคนหยิบนวนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เราปรารถนาอย่างนั้น” 


คุณชมพูบอกเล่าถึงความตั้งใจในการเขียนนวนิยายเล่มล่าสุดของเธอ

นอกจากนี้ คุณอ้น – จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรม และหนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนาก็พูดถึงมุมมองของเขา ที่มีต่อนวนิยายเล่มนี้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า


“ความงามของ ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ คือความจริง การเอาเรื่องจริงมาเขียนเป็นนวนิยาย มันงามด้วยรายละเอียด มีมิติที่น่าสนใจ ภาษาก็สวยแบบพอดี เพราะฟังดูจริงอย่างที่คนพูดกัน --- ตอนอ่าน สิ่งที่ผมคิดก็คือ คน ๆ หนึ่งเก็บความทรงจำเหล่านี้มาได้อย่างไร ส่วนบทสรุปสำคัญของเรื่องนี้ ผมว่าอยู่ตรงคำถามของ เป้-วาด รวี ที่ถามชมพูว่า ‘คุณอยู่กับกนกพงศ์แล้วคุณมีความสุขหรือเปล่า’ ตรงนี้คงไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดบนเส้นทางความรักของคนสองคน ความสุขและความทุกข์มันมาด้วยกันเสมอ”


มุมมองของคุณอ้น คืออีกหนึ่งเหตุผลที่กระตุ้นให้ผมอยากอ่าน หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา มากขึ้นในทุกขณะที่นั่งฟังการเสวนา อยากรู้ว่าความจริงที่ถูกหยิบมานำเสนอในรูปแบบนวนิยาย ผ่านปลายปากกาของอุรุดา โควินท์จะงดงามแค่ไหน แล้วจะให้อะไรแก่เราบ้าง







(ภาพบน) คุณชมพูกับคุณเจน สงสมพันธุ์ (พี่ชายของกนกพงศ์)
(ภาพล่าง) คุณชมพูกับแฟนหนังสือ
Cr. ขอบคุณภาพจากเพจ Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน

นาฬิกาบอกเวลาจวนสองทุ่มแล้ว ช่วงเวลาแห่งการพูดคุยใกล้สิ้นสุด คุณชมพูกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการเสวนาถึง ‘คำพูดของคุณกนกพงศ์’ ที่ให้กำลังใจแก่เธอในการเขียนหนังสือ ซึ่งเธอยังคงจดจำถ้อยคำเหล่านั้นได้ไม่เคยลืม


“มีประโยคหนึ่งที่เขาเคยบอกว่า ‘ให้พูเขียนหนังสือ แล้วงานเขียนจะปกป้องพูจากทุกอย่าง’ เวลาที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ พิสูจน์แล้วว่าคำพูดของเขามันจริง ที่เรายังเป็นนักเขียนอย่างวันนี้ได้ ก็เพราะเรายังเขียน อีกอย่างที่ไม่เคยลืม คือ ตาของเขากับคำว่า ‘ดี’ เวลาที่เขาอ่านเรื่องสั้นของเรา เราจะมองเห็นประกายในดวงตาของเขา และในประกายนั้นเราก็แอบเห็นความริษยานิด ๆ ด้วย (หัวเราะ) ทุกครั้งที่เขียนงาน เราก็จะนึกถึงคำพูด น้ำเสียง และดวงตาของเขาอยู่เสมอ”


นักเขียนสาวแย้มยิ้มกับความทรงจำของเธอ สิ่งที่เธอเล่าให้ฟังนั้น ทำให้ผมถึงกับขนลุกซู่ด้วยความประทับใจ ขณะนั่งฟังอยู่ในมุมแคบ ๆ ของวงเสวนาตลอดสองชั่วโมง แล้วสุดท้ายผมก็ต้อง ‘จิตอ่อน’ ตัดสินใจซื้อ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา กลับมาอ่านในวันเดียวกันนั้น พร้อมทั้งได้รับ “รอยจูบกับลายเซ็น” ของคุณชมพูมาเป็นที่ระลึกด้วย





ช่วงแจกลายเซ็นพร้อมประทับรอยจูบ จาก อุรุดา โควินท์

เมื่อได้ลองอ่าน ‘คำนำ’ จบแล้ว ความรู้สึกมากมายที่สัมผัสได้จากข้อความในคำนำ ก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งชื่นชอบงานของอุรุดา โควินท์มากเป็นพิเศษ รุ่นน้องคนนั้นพูดถึงนักเขียนที่เธอปลื้มว่า


“...อ่านงานของอุรุดาแล้วรู้สึกได้พลัง เหมือนความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในทุก ๆ เรื่องราวของชีวิต (โดยเฉพาะความรัก) เราสามารถเล่าออกมาเป็นนิยายได้ ไม่ต้องมีวิธีการเล่าที่พิสดาร เพียงเล่าอย่างรู้สึกตรงไปตรงมา...”


ผมว่าคำพูดของรุ่นน้องคนนี้ น่าจะเป็นบทสรุปที่ยอดเยี่ยม ว่าทำไมผมถึงประทับใจกับงานเสวนาที่ ‘ความบังเอิญ’ พามารู้จักกับนักเขียนสาวที่น่าชื่นชมคนหนึ่ง เลยขอฝากตัวเป็นแฟนหนังสือของ อุรุดา โควินท์ อีกหนึ่งคนครับ



บทสัมภาษณ์ อุรุดา โควินท์ ในนิตยสาร a day ฉบับ 203
Cr. ขอบคุณภาพจาก godaypoets.com


ขอบคุณพี่ชมพูมากครับ
ดีใจที่พี่ชมพูได้อ่านบล็อกนี้ของผมเช่นกันนะครับ


Jim-793009

23 : 07 : 2017





Create Date : 23 กรกฎาคม 2560
Last Update : 27 สิงหาคม 2560 23:08:02 น.
Counter : 8459 Pageviews.

3 comment
ย้อนความทรงจำหลังเลนส์ 19th Century Photography of Siam by Robert Lenz






ย้อนความทรงจำหลังเลนส์

19th Century Photography of Siam by Robert Lenz



“ภาพหนึ่งภาพ แทนคำพูดได้นับพัน นับหมื่นคำ” 

ผมนึกถึงวลีข้างต้นขึ้นมาทันที หลังจากได้ฟังวิทยากรนำชมเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับภาพถ่ายเก่าแต่ละภาพ ซึ่งแขวนเรียงกันอยู่บนผนังสีขาวภายในห้องจัดนิทรรศการ

เมื่อวันอังคาร ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ผมได้นัดกับเพื่อนซึ่งเป็นช่างภาพสาวคนหนึ่งไปชมนิทรรศการ 120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ และห้องภาพในสยาม : 19th Century Photographs of Siam by Robert Lenz แม้จะเป็นนิทรรศการเล็ก ๆ สำหรับโชว์ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ณ Open House ชั้น 6 เซ็นทรัลแอมบาสซี กรุงเทพฯ แต่เมื่อได้เดินเข้าไปชม สัมผัสรายละเอียดของแต่ละภาพ และฟังเรื่องราวเบื้องหลังจากจัดนิทรรศการแล้ว ก็ทำให้ผมรู้สึกดีใจที่ตัดสินใจมาชมภาพถ่ายเก่าเหล่านี้ ก่อนการจัดแสดงวันสุดท้ายเพียงหนึ่งวัน (แต่ได้ข่าวมาว่าเขาขยายเวลาเพิ่มอีกหนึ่งวันด้วย)














มุมจัดแสดงภาพภายในนิทรรศการ มีโปสการ์ดที่ระลึกจำหน่ายด้วย


ภาพถ่าย 17 ภาพจากฝีมือของ โรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz) ถูกคัดสรรมาจาก Collection สะสมส่วนหนึ่งของคุณอรรถดา คอมันตร์ โดยลิขสิทธิ์ภาพต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ (Siam Renaissance) ภาพที่จัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ

1.ภาพทิวทัศน์กรุงสยามสมัยพระพุทธเจ้าหลวง จำนวน 8 ภาพ

2.ภาพบุคคล แบ่งเป็น ภาพพระบรมวงศานุวงศ์ จำนวน 4 ภาพ และภาพบุคคลทั่วไป จำนวน 5 ภาพ












บรรยากาศภายในนิทรรศการ มีวิทยากรนำชมภาพถ่ายเก่า


ภาพถ่ายเก่าทุกภาพที่นำมาใส่กรอบจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ไม่ใช่การล้างอัดภาพแล้วนำมาโชว์เฉย ๆ แต่ทางผู้จัดนิทรรศการได้ทำการคัดเลือกภาพ แล้วพิมพ์ลงบนเนื้อกระดาษที่มีความพิเศษด้วยเทคนิคแบบ Fine Art จากนั้นจึงระบายสีน้ำลงบนบางส่วนของภาพ เรียกว่าเทคนิค Multiple Tone เป็นการเพิ่มสีสัน ให้ภาพดูมีชีวิตชีวา ด้วยการแต้มสีน้ำบาง ๆ ลงบนตำแหน่งภาพที่มั่นใจว่าน่าจะมีสีนั้น ๆ เช่น สีเขียวของใบไม้ สีเหลืองของกระเบื้อง ฯลฯ เพื่อให้ผู้ชมภาพเกิดจินตนาการถึงสีสันที่แท้จริงของภาพในอดีต หรือลองเปรียบเทียบความเข้มของสีในแต่ละตำแหน่ง แล้วจินตนาการต่อไปว่า ตำแหน่งใดบ้างที่น่าจะเป็นโทนสีเดียวกัน ดังนั้น การลงสี Multiple Tone จึงไม่ใช่เทคนิคการลงสีเพื่อให้เกิดเป็นภาพสีแต่อย่างใด





วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มองเห็นประตูเมือง พระเจดีย์สี่รัชกาล ถ่ายจากพระปรางค์วัดอรุณฯ


ช่างเขียนฝรั่งกำลังวาดภาพวัดโพธิ์


เรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยรัชกาลที่ 5


การคล้องช้าง เชื่อว่าเป็นการแสดงคล้องช้างให้ชาวต่างชาติได้ชมในสมัยรัชกาลที่ 5

วิทยากรนำชมแนะนำให้ผมฟังว่า หากมองผ่าน ๆ ภาพทิวทัศน์หลาย ๆ ภาพ ดูจะเป็นภาพธรรมดาทั่วไป แต่เชื่อหรือไม่ ว่าภาพบางภาพก็มีที่มาไม่ธรรมดา เพราะเกิดจากการเซตฉาก หรือเป็นภาพ Stop Motion ซึ่งนายโรเบิร์ต เลนซ์ เซตทุกอย่างไว้ก่อนลั่นชัตเตอร์ ไม่ใช่เดิน ๆ ไปเจอแล้วกดถ่ายเลย

ตัวอย่างภาพที่วิทยากรชี้ให้ผมชม คือภาพเรือนแพกลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งคนไทย คนฝรั่ง บ้างนั่งบ้างยืนอยู่ในเรือและเรือนแพ ภาพนี้มีความคมชัดมากแทบทุกจุด ด้วยถูกเซตตำแหน่งไว้ให้นิ่งก่อนถ่ายแล้ว เพราะถ้านายโรเบิร์ตนั่งเรือผ่านมาเห็นแล้วกดถ่ายภาพทันที คิดว่ากล้องยุคโบราณไม่น่าจะจับภาพได้คมชัดขนาดนี้ เช่นเดียวกับภาพบุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมาย เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งรูปที่ดูเหมือนนายเลนซ์พยายามจะเซตให้บุคคลในภาพอยู่นิ่ง ๆ แต่ปรากฏว่าเด็ก ๆ ที่อยู่ในเฟรมพากันขยับตัว ขะยุกขะยิก ใบหน้าของพวกเขาเลยเบลอ กลายเป็นเสน่ห์ของภาพแทน



ตัวอย่างภาพ Stop Motion ของโรเบิร์ต เลนซ์
Cr. art.com


การส่งโทรเลข หรือคนสยามเรียกกันว่า "ตะแล็บแก๊บ" เพี้ยนมาจากคำว่า Telegraph


บุรุษไปรษณียุคแรกของสยาม เด็กขยับตัวจนหน้าเบลอ มีการลงสีเขียวตรงใบมะขาม


นางละคร (เดาว่าอาจเป็นผู้ชายแต่งหญิงแบบขนบละครนอก) มีการลงสีแดงตรงผ้าห่มนาง


หญิงสาวชาวบ้าน มีการลงสีเขียวตรงใบไม้


นอกจากนี้ ผู้จัดนิทรรศการยังได้คัดเลือกบางภาพมาขยายใหญ่ด้วย แต่วิธีขยายของเขาใช้เทคนิค Lithography หรือภาพพิมพ์หิน เป็นเทคนิคการพิมพ์ภาพแบบโบราณ ประดิษฐ์ขึ้นโดย อล็อยส์ เซอเนอเฟลเดอร์ (Alois Senefelder) ชาวบาวาเรีย เมื่อปี พ.ศ.2339 (ค.ศ.1796) ซึ่งทางผู้จัดตั้งใจนำมาถ่ายทอดให้ผู้ชมลองสังเกตรายละเอียดความงามของภาพพิมพ์ และถือเป็นการอนุรักษ์นวัตกรรมการพิมพ์แบบโบราณไปในตัวด้วย




ภาพเจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์ฯ ในพิธีโสกันต์ 
ได้รับการขยายด้วยเทคนิคภาพพิมพ์หิน (Lithography)


ตัวอย่างแม่พิมพ์หิน
Cr. SCIENCE MUSEUM GROUP

ว่าแต่ “นายโรเบิร์ต เลนซ์” เป็นใคร ทำไมถึงต้องเลือกรูปถ่ายของเขามาจัดแสดง คิดว่าหลายคนคงเริ่มสงสัยกันแล้ว ? ผมเลยเรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจากหนังสือประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย และจากป้ายนิทรรศการมาให้อ่านกันพอสังเขปครับ

โรเบิร์ต เลนซ์ เป็นช่างถ่ายรูปชาวเยอรมัน เคยตั้งร้านถ่ายรูปขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางเข้ามารับหน้าที่ช่างภาพหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในปี พ.ศ.2437 นายเลนซ์เคยพาคณะช่างภาพเข้ามารับจากถ่ายรูปในเมืองไทยเป็นการชั่วคราว มีสำนักอยู่แถวโรงแรมโอเรียนเต็ล ย่านบางรัก ต่อมาในปี พ.ศ.2439 นายเลนซ์และบริษัทของเขาจึงได้เข้าตั้งร้านถ่ายรูปถาวรขึ้น ณ บริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทอง



โฆษณาร้านถ่ายรูปโรเบิร์ต เลนซ์
Cr. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย


ตัวอย่างภาพถ่ายจากร้านเลนซ์ แล บริษัท (ด้านหนัง)
(ข้อมูลบนภาพ : ถ่ายวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๔ อายุได้ ๒๕ ปี
หลวงประไพพิทยาคุณ ผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา)
ตัวอย่างภาพถ่ายจากร้านเลนซ์ แล บริษัท (ด้านหลัง)
Cr. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย

ว่ากันว่า ร้านของโรเบิร์ต เลนซ์ติดตั้งกล้องและจัดห้องถ่ายภาพอย่างหรูหรา มีการลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อเชิญชวนชาวสยามให้มาใช้บริการ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะกิจการถ่ายภาพของเขาดำเนินไปได้ด้วยดี กลายเป็นร้านถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคสมัยนั้น ลูกค้ามีตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง พ่อค้า และผู้มีสตางค์ทั้งหลาย นอกเหนือจากรับถ่ายรูปเป็นอาชีพ ร้านของเขายังเป็นแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายรูปต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายรูป น้ำยา กรอบรูป อัลบั้มภาพ โปสการ์ด และบัตรอวยพรต่าง ๆ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่คนไทยกำลังนิยมเล่นกล้องถ่ายรูปกันอย่างแพร่หลาย เมื่อนายโรเบิร์ต เลนซ์ ผู้มีฝีมือในการถ่ายรูปและมีฐานะเป็นถึงช่างภาพหลวงมาเปิดร้านให้บริการ จึงมีผู้นิยมและเชื่อถือในฝีมือของเขาค่อนข้างมาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อคราวมีงานประชันรูปในปี พ.ศ.2448 ซึ่งนายเลนซ์ได้รับงานเป็นผู้เข้ากรอบรูป ความว่า


“...เวลานี้กำลังชุลมุนกันไปทุกหนทุกแห่ง แต่ค่าปิดรูปทำกรอบอ้ายเลนซ์เห็นจะรวยสักร้อยชั่ง...”


กระทั่งในปี พ.ศ.2449 นายเลนซ์จึงได้ขายกิจการร้านถ่ายรูปให้แก่นายอีมิล กรูต (Emil Groote) และนายซี ปรุส (C. Pruss) แต่เข้าใจว่านายเลนซ์เองยังคงช่วยงานและเป็นช่างภาพที่ร้านต่อไป และร้านถ่ายรูปแห่งนี้ก็ดำเนินกิจการเรื่อยมาจนเมื่อปี พ.ศ.2460 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ร้านถ่ายรูปโรเบิร์ตเลนซ์จึงถูกรัฐบาลสยามยึดเอาไว้ ด้วยเหตุว่าเป็นร้านของคนเยอรมัน จากนั้นรัฐบาลก็เข้าไปบริหารกิจการต่อในปี พ.ศ.2461 แล้วเป็นชื่อเสียใหม่ว่า ร้านฉายานรสิงห์



นายอีมิล กรูต (Emil Groote) ผู้ซื้อกิจการต่อจากนายเลนซ์

เรื่องราว Inside ของโรเบิร์ตเลนซ์ ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ ใครสนใจอยากรู้จักอดีตช่างภาพ ผู้บันทึกความทรงจำของสยามในอดีตผ่านภาพถ่ายเอาไว้มากมาย ผมขอแนะนำให้ลองเข้าไปอ่านในเพจ Siam Renaissance หรือในหนังสือ ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย เขียนโดย เอนก นาวิกมูล กันดูนะครับ

การได้มาชมนิทรรศการ 120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ และห้องภาพในสยาม ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดี เพราะไม่เพียงแต่เราจะได้เห็นภาพถ่ายเก่าแสนล้ำค่า แต่ยังได้รู้จักช่างภาพที่มีชื่อเสียงแห่งยุคคนหนึ่ง ผู้ทำให้ภาพความทรงจำหลังเลนส์เป็นเหมือน “จิ๊กซอว์ของอดีตกาล” ที่ค่อย ๆ ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


Jim-793009

15 : 07 : 2017





Create Date : 15 กรกฎาคม 2560
Last Update : 17 กรกฎาคม 2560 10:31:43 น.
Counter : 10525 Pageviews.

3 comment
บ้านตุ๊กตา มรดกของสะสม ของเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5







บ้านตุ๊กตา

มรดกของสะสม ของเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5


เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเสวนาเรื่อง สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5 จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ (Siam Renaissance) ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เรียบเรียงหนังสือ “ตราสะสมเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5”

เนื้อหาหลักของการเสวนา คือ เล่าถึงตราประจำพระองค์ ตราราชสกุล และสกุลต่าง ๆ ที่เจ้าจอมเลียมเป็นผู้สะสม และเก็บรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ถือได้ว่าคุณจอมท่านนี้เป็นนักสะสมหญิงที่น่ายกย่องมากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะตราสะสมของท่านนั้นหาชมยาก และน้อยคนนักที่จะสะสมไว้ได้มากมายถึงขนาดนี้ ใครที่สนใจชมภาพตราสะสมต่าง ๆ ที่มาจากสมุดสะสมของเจ้าจอมเลียม สามารถชมได้จากหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว สวยงามมาก ไว้มีโอกาสคงได้นำมารีวิวให้ชมกันครับ








เจ้าจอมเลียม 
Cr.เพจ Siam Renaissance

ในวันนี้ ผมไม่ได้พาทุกคนไปรู้จักกับงานสะสมตราต่าง ๆ ของเจ้าจอมเลียม แต่จะพาไปรู้จักกับของสะสมอีกหนึ่งชิ้นของท่าน ที่ภายในงานเสวนาได้กล่าวถึงและพาผู้ร่วมงานไปชม นั่นคือ “บ้านตุ๊กตา” ผลงานประดิดประดอยของจิ๋วฝีมือเจ้าจอมเลียม ซึ่งท่านได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นสมบัติของชาติ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2494 จัดแสดง ณ ห้องมหรรฆภัณฑ์ ห้องด้านหลังอาคารพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

ความน่าสนใจของบ้านตุ๊กตาของเจ้าจอมเลียม คือ ของจิ๋วทุกชิ้นที่จัดวางอยู่ภายในบ้าน คุณจอมท่านประดิษฐ์ด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีฝีมือด้านงานประดิษฐ์ อย่างแก้วน้ำใส ๆ ก็ใช้หลอดดูดใสมาตัดแล้วทำก้นแก้ว ข้าวของมีทั้งที่ใช้ไม้ทำ และใช้ดินปั้นแล้วลงสี ผมเห็นแล้วชอบและทึ่งมาก ไม่คิดว่าคนโบราณเขาจะทำออกมาได้ดีขนาดนี้ และถ้าจำไม่ผิด ผู้บรรยายยังบอกด้วยว่า ฝีมือการทำตุ๊กตาชาววังของเจ้าจอมเลียมนั้นก็งดงามไม่แพ้ใครเช่นกัน









บรรยากาศการชมบ้านตุ๊กตาของเจ้าจอมเลียม
มีผู้สนใจถ่ายภาพอย่างมากมาย

บ้านตุ๊กตาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีเพียง หลังเท่านั้น (ขออนุญาตเรียกเป็นหลัง) แบ่งเป็นบ้านแบบไทยหนึ่งหลัง แบบฝรั่งอีกหนึ่งหลัง จัดแสดงอยู่ในมุมที่ค่อนข้างมืด ถ้าไม่มีใครแนะนำ หลายคนก็อาจจะเดินผ่านไปเลย และคงไม่รู้ว่าบ้านตุ๊กตาทั้งสองจะมีคุณค่าถึงขนาดนี้ แถมยังทำให้ผมนึกถึง TV Champion รายการโปรดสมัยเด็ก ๆ ที่มีการแข่งขันหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือแข่งทำบ้านตุ๊กตาและของจิ๋วที่ดูสมจริง


บ้านตุ๊กตาแบบไทย

อันที่จริงมีลักษณะเป็นตู้กระจกใสสองชั้น ภายในจัดวางข้าวของเครื่องใช้ที่คุ้นตาในบ้านของคนไทยยุคโบราณ ซึ่งเจ้าจอมเลียมแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนให้ดูง่าย เช่น โซนห้องศิลปะและดนตรีไทย โซนห้องพระ โซนเครื่องครัว ของจิ๋วแต่ละชิ้นถูกทำขึ้นอย่างประณีตและดูเหมือนของจริงมาก ภายในบ้านตุ๊กตาหลังนี้ ยังมีโปสการ์ดปัจฉิมโอวาทของเจ้าจอมเลียมที่ท่านเขียนขึ้น เพื่อตั้งใจมอบให้เป็นของที่ระลึกในงานศพของท่านเอง เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ เพราะน้อยคนนักจะคิดตระเตรียมเรื่องความตายของตนเองเอาไว้ล่วงหน้าเช่นนี้ แสดงถึงการที่คุณจอมท่านมองความตายเป็นของธรรมดาอย่างแท้จริงด้วย



โปสการ์ดปัจจิมโอวาทขนาดเล็กของเจ้าจอมเลียม


เครื่องบวชพระ


โต๊ะหมู่บูชา มีพระแก้วมรกต


โซนจัดแสดงเครื่องแก้ว


เครื่องครัวที่นิยมใช้ในวังและบ้านผู้ดี มีพานประดับมุข เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยเบญจรงค์


เครื่องปั้นดินเผา และของใช้ในครัว


โซนห้องดนตรี


โซนห้องศิลปะ

บ้านตุ๊กตาแบบฝรั่ง

บ้านหลังนี้เป็นตู้กระจกทรงสี่เหลียม แบ่งพื้นที่ภายในเป็น 3 ชั้น 7 ห้อง และ 2 โถงทางเดิน ชั้นบนสุดเป็นห้องนอน ห้องน้ำ และห้องพระ ถัดลงมาชั้นสองเป็นห้องทำงาน โถงทางเดิน และห้องอาหาร ส่วนชั้นล่างสุดมีห้องครัว โถงทางเดินกับบันได และห้องนั่งเล่น 

แม้ว่าข้าวของส่วนใหญ่ในบ้านตุ๊กตาหลังนี้ จะมีลักษณะเป็นเครื่องเรือนแบบฝรั่ง แต่จะเห็นว่ามีเครื่องเรือนแบบไทยและวิถีชีวิตแบบไทยแฝงอยู่ภายในบ้านหลังนี้แถบทุกชั้น ซึ่งสังเกตได้ง่ายสุด คือ ห้องพระ และไม่เพียงการประดิษฐ์ข้าวของให้เหมือนจริงเท่านั้น แต่ผนัง เพดาน พื้นห้องยังได้รับการลงสีวาดลวดลายเลียนแบบบ้านสไตล์ฝรั่งจริง ๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าน่าทึ่งในความพยายามของเจ้าจอมเลียมมาก ๆ



ห้องนอน


ลวดลายพรมดูสมจริง


ห้องน้ำสไตล์ตะวันตก


ห้องพระ


ห้องทำงาน


โถงทางเดินชั้นสอง มีตะกร้าผ้า


ห้องรับประทานอาหาร มีตู้โชว์เหล้า


ห้องครัว


เครื่องครัว จานชาม ดูสมจริง


โถงทางเดินชั้นล่าง มีบันได และห้องใต้บันได


ห้องนั่งเล่น


ชั้นสองและชั้นสาม


เครื่องเรือนภายในห้องครัว มีกระต่ายขูดมะพร้าว


ตู้หนังสือภายในห้องทำงาน

บ้านตุ๊กตาของเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5 จึงถือเป็นมรดกของสะสมที่มีคุณค่า น่าไปชมด้วยตาตัวเอง เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงของทำเล่น แต่ยังบอกถึงรูปแบบสิ่งของที่สะท้อนรสนิยมในอดีตเอาไว้ด้วย




เจ้าจอมเลียม
Cr.เพจ Siam Renaissance

บันทึกเพิ่มเติม

เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2424 เป็นหนึ่งในเจ้าจอมจากตระกูล “บุนนาค” ด้วยท่านเป็นบุตรีคนที่สี่ของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) กับ ท่านผู้หญิงตลับ (โอสถานนท์) จึงมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เมื่อเจ้าจอมเลียม อายุ11 ปี ท่านผู้หญิงตลับได้ส่งเข้าพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ในสำนักของท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) ผู้เป็นอา ต่อมาท่านได้ถวายตัวรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าจอม ในภายหลังเจ้าจอมเลียมได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์ เข็มพระชนมายุสมมงคล เข็มพระกำนัล เหรียญรัชฎาภิเษก ประพาสมาลา ทวีธาภิเษก และมีส่วนในพระราชพินัยกรรมด้วย

หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 5 สวรรคตได้สองปี เจ้าจอมเลียมก็กราบถวายบังคมลาออกมาอยู่บ้านเดิม ณ ตำบลตลาดแขก ฝั่งธนบุรี แล้วต่อมาท่านจึงล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2503 จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2503 เวลา 15.50 น. สิริอายุ 78 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี



ปัจจิมโอวาทของเจ้าจอมเลียม ที่ท่านเขียนไว้ก่อนถึงแก่อนิจกรรม
Cr. เพจ Siam Renaissance


Jim-793009

10 : 07 : 2017





Create Date : 10 กรกฎาคม 2560
Last Update : 10 กรกฎาคม 2560 20:30:02 น.
Counter : 9348 Pageviews.

0 comment
ในหลวง ในดวงใจนิรันดร์





ในหลวง...ในดวงใจนิรันดร์


“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

- พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

วันศุกร์ ที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493



นับจากวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ในที่สุดก็มาถึงวาระครบสิบห้าวันแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อหลายวันก่อน ผมนั่งดูถ่ายทอดสดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวารพระบรมศพ (อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สะ-มะ-วาน) แล้วรู้สึกหวิวๆ ในใจ ถามเพื่อนที่นั่งดูทีวีด้วยกันว่า “นี่ในหลวงท่านจากเราไปแล้วจริงๆ ใช่ไหม”

เราได้รู้จักพระองค์ท่านผ่านทางทีวี ปฏิทิน บอร์ดวันพ่อ โรงหนัง บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ เราเห็นพระองค์ท่านจนชินตา และคิดเสมอว่า “พระองค์ท่านจะอยู่ในที่ของท่านแบบนั้นเสมอ” แต่ถึงตอนนี้ในหลวงท่านจากเราไปจริงๆ แล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านจะกลายเป็นตำนานของคนรุ่นหลัง เป็นตำนานที่คนไทยคงไม่มีวันลืม

“เราไม่เคยอยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่าน” นี่อาจเป็นหนึ่งในความรู้สึกเสียดายของหลายๆ คน แต่ผมกลับมองเห็นข้อดีอย่างหนึ่งว่า การที่เราไม่เคยได้อยู่ใกล้ๆ ท่าน ทำให้เรายังรู้สึกอยู่เสมอว่า พระองค์ท่านยังคงอยู่ที่เดิม อยู่ตรงนั้น...ในใจของราษฎร





คำว่า ในหลวง นับเป็นคำเรียกพระมหากษัตริย์อย่างง่ายแทนชื่อของพระองค์ท่าน ซึ่งน่าจะใช้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “ใน” แปลว่า ของ, แห่ง นิยมใช้เป็นนามศัพท์เรียก เจ้านาย ผู้มีฐานะเป็นเจ้ากรมขึ้นไป เช่น เสด็จในกรม ส่วนคำว่า “หลวง” แปลว่า ใหญ่ หรือเป็นใหญ่เหนือกว่าอื่นๆ ในหลวงจึงหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน




ลายพระหัตถ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถึงหม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เทวกุล


"...ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว..."

- พระราชนิพนธ์ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์


นี่คงเป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยได้ยินกันจนชินหู และรู้ไหมว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากในหลวงทรงรับราชสมบัติได้ไม่นาน แล้วจำเป็นต้องเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงเก็บเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านประชาชนที่มาเฝ้าฯ เมื่อปี 2498 เขียนเป็นพระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านเนื้อเรื่องเต็มๆ จากนิตยสารแพรว ปีที่ 37 ฉบับ 883 มิถุนายน 2559 ฉลองการครองราชย์ 70 ปี เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง พอได้ข่าวว่าพระองค์ท่านสวรรคต เลยนึกเสียใจว่า “ทำไมตัวเองถึงรู้จักพระองค์ท่านน้อยเหลือเกิน”



ประชาชนมากมายต่างมาถ่ายรูปร่วมกับพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวง


เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2559 ผมนัดกับเพื่อนๆ ว่าจะไปถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 แถวหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพอดีกับที่มีข่าวว่าจะมีการถ่ายทำ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ครั้งประวัติศาสตร์ เลยถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วม แต่เนื่องจากไปสาย คนจึงแน่นเต็มสนามหลวงหมดแล้ว ผมเลยหนีมาร้องเพลงอยู่ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งคนค่อนข้างบางตาหน่อย โชคดีที่ตั้งใจหยิบกล้องถ่ายรูปมาด้วย พอเสร็จจากการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เลยสบโอกาสถ่ายภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวง ที่น้องๆ นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันวาดถวายเพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในฐานะ “อัครศิลปิน” ในหัวใจของชาวศิลปากร จำนวน 9 ภาพ ผมเลยขออนุญาตเก็บภาพสวยๆ ทั้งเก้ามาเล่าเรื่องผ่าน Bloggang และขอขอบคุณคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นอย่างยิ่ง ที่ถ่ายทอดภาพแห่งความทรงจำเหล่านี้ ให้เราได้ชื่นชมและระลึกถึงในหลวง




ในหลวงทรงเล่นรถสามล้อ 

เมื่อครั้งประทับในเมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ (เดือนตุลาคม 2476)


ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 เวลา 08.45 น. ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเซต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นมีพระยศเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” ภายหลังในหลวงมักเขียนพระนามพระองค์เองว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” และนิยมใช้เรื่อยมา

ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเรียกในหลวงรัชกาลที่ 8 ว่า “พระองค์ชาย” และเรียกในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พระองค์เล็ก” ในหลวงของเราเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระองค์เล็ก ท่านเป็นเด็กฉลาดเฉลียวมาก และดูพระองค์ท่านจะคงแก่เรียนมาแต่เล็กๆ ดังปรากฏในจดหมายฉบับวันที่ 27 กันยายน 2478 ที่สมเด็จย่าทรงเขียนเล่าให้พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฟังว่า


“นันทช่างไม่เอาใจใส่การเรียนเลย อยากแต่จะเล่นตลอดเวลา เวลาหม่อมฉันช่วยทำการบ้านและท่องหนังสือก็มัวไปคิดแต่เรื่องเล่น เลยต้องดุเอาจริงๆ ค่อยดีหน่อยเล็กยังรู้จักเป็นห่วงการเรียน มีหนังสือเขาให้ท่อง 2-3 คำ ก็คอยยุ่งท่องอยู่เสมอ...เล็กเดี๋ยวนี้ตั้งต้นว่าคนเก่ง ว่าท่านรัศมี (ม.จ.รัศมีสุริยัน สุริยง) บอกว่าชื่อหนูไม่เห็นดี เดี๋ยวแมวมากัด เมื่อเช้านี้นันทโกรธ ก็ว่านันทว่าโกรธมากไม่ดี แก่เร็ว และหัวจะล้านด้วย”





ในหลวงทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเรือหลวงศรีอยุธยามาแต่ทรงพระเยาว์ “เรือหลวงศรีอยุธยา” เป็นเรือธงราชนาวีไทย ใช้นำเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สู่ท่าราชวรดิษฐ์ ข้างพระบรมหาราชวัง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2481 เวลา 16.00 น. ในการเสด็จนิวัตพระนครเป็นการชั่วคราว

ความประทับใจต่อเรือหลวงศรีอยุธยาในครั้งนั้น คงทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเรือหลวงลำนี้มาก กระทั่งต่อมาได้ทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลองด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และได้พระราชทาน “เรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง” เพื่อการประมูลหาทุนบำรุงโรงพยาบาลปราบวัณโรคด้วย





ในหลวงทรงเป็นช่างภาพส่วนพระองค์

ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

กล้องที่ใช้เป็นกล้องตัวแรก รุ่นคอนแท็กซ์ทู (Contax II)


ภาพในหลวงรุ่นหนุ่มถือกล้อง เป็นอีกภาพหนึ่งที่คุ้นตาคนไทย เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 ในการเสด็จนิวัตพระนคร เยี่ยมราษฎรในราวปี 2488-2489 และทรงถือเป็นผู้ทำหน้าที่ “ช่างภาพส่วนพระองค์” ในช่วงเวลานั้น ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 คู่กับกล้องถ่ายรูป จึงเป็นอีกความทรงจำที่ราษฎรไทยจดจำได้ติดตา เพราะไม่ว่าพระองค์ท่านเสด็จไปเยือนที่ใด ก็มักจะถ่ายภาพเก็บไว้เสมอ อีกทั้งพระองค์ยังเคยรับสั่งอีกว่า


“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ก็เคยมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือน เดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้เขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาคงให้ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”


หลังจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นพระประมุขของประเทศไทย พระองค์ท่านทรงใช้กล้องส่วนพระองค์ในการถ่ายภาพเหล่าพสกนิกร และสถานที่ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนเสมอ ส่วนหนึ่งทรงใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อจัดทำแผนพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และอีกส่วนหนึ่งอันสำคัญยิ่ง คือทรงถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และสร้างความสุข


"...รูปที่ถ่ายเราก็ตัดเอาไปให้เลือกพิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่ให้ความสุขให้ความสบายใจ เพราะว่าการถ่ายรูปนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นเพียงแต่กดชัตเตอร์ไว้สำหรับเก็บให้เป็นที่ระลึก แล้วก็ถ้ารูปนั้นดี มีคนได้มาเห็นรูปเหล่านั้นและก็พอใจ ก็ทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้กับผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป..."

- พระราชดำรัส ในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ และนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายหนังสือ "ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ" ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันอังคาร ที่ 15 มีนาคม 2537





ในหลวงทรงอ่านหนังสือ


หลังจากทรงรับราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ แทนวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม พระองค์ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และสเปน และขณะที่ในหลวงทรงศึกษาอยู่ในยุโรป ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระสหาย ท่อนหนึ่งมีเนื้อความกินใจมากๆ ว่า


“...เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง...”


นอกจากนี้ ในหลวงยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียน นักประพันธ์ ครั้งหนึ่งนั้น พระองค์ท่านทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2515 อันแสดงถึงจรรยาบรรณในการเขียนหนังสือในมุมมองของพระองค์ด้วยว่า


“นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือแสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”





ในหลวงทรงเล่นกับคุณติโต ขณะทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง


คุณติโต เป็นแมวทรงเลี้ยงตัวเดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ขนสีน้ำตาลเข้ม ส่วนหู ขา และหางออกสีเข้มกว่าลำตัว ขนอกสีอ่อน นัยน์ตาสีฟ้า ในหลวงทรงตั้งชื่อตามประธานาธิบดีติโตแห่งยูโกสลาเวีย และเป็นชื่อเดียวกับพระราชนิพนธ์ทรงแปลเรื่องแรก โดยภาพคุณติโตนั่งเล่นบนเปียโน ขณะในหลวงทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง เป็นภาพหนึ่งที่ประทับใจหลายๆ คน เพราะทรงแสดงออกถึงความรักที่มีต่อแมวทรงเลี้ยง

ในหลวงของเราทรงเริ่มพระราชนิพนธ์บทเพลงครั้งแรก เมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา โดยเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ คือเพลง “แสงเทียน” แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์คำร้อง ปัจจุบันทรงพระราชนิพนธ์ไว้ทั้งสิ้น 48 บทเพลง โดยพระองค์ท่านมีพระราชดำรัสถึงเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นครั้งแรกแก่สมาคมดนตรีว่า


“...จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ...ในระยะเวลา20 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 2 เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลง และนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างก็แสดงความพอใจ และความนิยมพอสมควร จึงเป็นกำลังใจให้แก่ฉันเรื่อยมา...”





ในหลวงทรงแซกโซโฟน


ในหลวงทรงซื้อเครื่องดนตรีชิ้นแรก คือ คลาริเน็ต เมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา ด้วยเงินส่วนพระองค์ที่ทรงเก็บออมไว้ และต่อมาพระองค์ก็ทรงสนพระราชหฤทัยและโปรดดนตรีแจ๊สอย่างจริงจัง เราจึงมักเห็นแซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต เป็นเครื่องดนตรีประจำพระองค์มาโดยตลอด โดยในหลวงเคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่นิตยสาร Look อย่างมีพระอารมณ์ขัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2510 ว่า


“...หนังสือพิมพ์ที่อเมริกาพากันลงว่า เป็นกษัตริย์ที่คลั่งดนตรี ซึ่งก็ไม่ว่าอะไร แต่ที่ไปลงจนเลยเถิดว่า แซกโซโฟนที่เป่าอยู่เป็นประจำนี้ ทำด้วยทองคำ อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก...”


นอกจากนี้ เมื่อคราวเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในปี 2503 ก็ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกัน ในรายการวิทยุเสียงอเมริกัน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2503 อันแสดงถึงความรักในเสียงดนตรีอย่างลึกซึ้งว่า


“...ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่ต่างๆ กันออกไป...”





ในหลวงทรงงานจิตรกรรม


ในหลวงเริ่มสนพระราชหฤทัยในด้านจิตรกรรม มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชา คราวประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ราวปี 2480-2488 เป็นต้นมา โดยทรงฝึกเขียนภาพด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาจากตำราต่างๆ เมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินท่านใด ก็จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้น เพื่อมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของพวกเขา แล้วจึงนำเทคนิคที่ได้ทรงเรียนรู้มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับของพระองค์เอง อาจารย์ทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ได้กล่าวถึงในหลวงว่า


“...พระองค์จะประทับอยู่ในห้องแสดงงานศิลปกรรม และสนพระราชหฤทัยงานศิลปะทุกชิ้นนานที่สุดเท่าที่โอกาสจะอำนวย ทรงวิจารณ์ภาพเขียนว่างานชิ้นไหนเป็นสไตล์อะไรอย่างถูกต้องและคล่องแคล่วเสมอ และทรงมีความจำล้ำเลิศว่า งานของศิลปินคนไหนเปลี่ยนแปลงคลี่คลายแตกต่างออกไปจากงานปีก่อนๆ ของเขาอย่างไร...”





ในหลวงทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง


เรือใบเป็นกีฬาโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งลำแรกด้วยพระองค์เอง เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานนามว่า “ราชปะแตน” หมายถึง แบบของพระราชา และต่อมาทรงต่อเรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class) ด้วยพระองค์เอง ระหว่างปี 2509-2510 มี 3 แบบ พระราชทานนามว่า เรือมด ซูเปอร์มด และไมโครมด โดยรับสั่งถึงที่มาของชื่อเรือทั้งสามว่า


“ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี”





ในหลวงทรงเรือใบ


ในหลวงของเราไม่ได้โปรดกีฬาเรือใบแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทรงมีน้ำใจนักกีฬาด้วย ในการแข่งขันเรือใบครั้งหนึ่ง หลังจากทรงเรือใบออกจากฝั่งได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นเรือกลับฝั่ง แล้วตรัสกับผู้มาคอยเฝ้าฯ ว่า เรือของพระองค์แล่นไปโดนทุ่นเข้า ในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แต่พระองค์ก็ทรงซื่อสัตย์ ยึดตามหลักกติกามาก และเคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการแข่งขันว่า


“แพ้หรือชนะไม่ประหลาด ความพยายามที่จะเอาชนะต่างหากที่สำคัญ”


และด้วยพระปรีชาสามารถทางการกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิคสากล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิคแก่ในหลวงของเรา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับเหรียญทองอิสริยาภรณ์โอลิมปิคชั้นสูงสุดนี้




ทุกคนต่างชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ "อัครศิลปินในหัวใจชาวศิลปากร"

ผมเขียน “เก็บมาเล่า” ครั้งนี้ยาวเหยียดทีเดียว และหากใครได้อ่านจนจบก็คงคิดว่า ผมเขียนขาดๆ เกินๆ และอาจไม่ได้เรียงร้อยเรื่องราวให้ดีมากพอ แต่ทั้งหมดที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ ก็เพียงเพราะผมได้มีโอกาสไปเก็บพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาจากกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ แล้วอยากหยิบแต่ละภาพมาเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ไม่อยากแค่มองภาพเหล่านั้นผ่านไปเฉยๆ เลยต้องไปค้นหาข้อมูลมานำเสนอเสียมากมาย ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องเล่าคุ้นหูที่หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว โดยผมตั้งใจว่าสิ่งที่นำมาถ่ายทอดนี้ คือหนึ่งในความรักและความรำลึกถึงในหลวงอย่างสุดซึ้ง ที่ผมพอจะหาพื้นที่นำเสนอได้บ้าง แม้กระทั่งเขียนมาถึงตรงนี้ ผมก็ยังคงมีความรู้สึกติดค้างอยู่ในใจว่า “ทำไมตัวเองถึงรู้จักพระองค์ท่านน้อยเหลือเกิน” นับเป็นความเสียดายอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็คงเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตปุถุชนที่ว่า... 

“คนเรามักมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ก็ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไปเสียแล้ว” 

แต่สำหรับในหลวงของเราสิ่งดีๆ ที่พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง พระบรมราโชวาทที่เคยกล่าวสอนสั่ง ก็คงเปรียบได้กับพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้มอบให้แก่ปุถุชนไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งพาแทนตัวพระองค์ท่าน หากเราคนไทยศรัทธาในพระธรรมของพระพุทธเจ้าฉันใด เราก็ควรศรัทธาในคำสอนอันดีงามของในหลวงฉันนั้น

นี่ต่างหากที่เรียกได้ว่า “พระองค์ท่านทรงสถิตอยู่ในใจของเรานิรันดร์”




หนังสือ "เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์"

พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ


ขอขอบคุณพระบรมสาทิศลักษณ์อันงดงามจากนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “My King ในหลวงของเรา” ของ National Geographic และหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ซึ่งประมวลเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเอาไว้อย่างน่าสนใจ




ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์


สุดท้ายนี้ ผมขอฝากพระราชดำรัสของในหลวงไว้เป็นเครื่องเตือนใจคนไทยในยุคข้าวยากหมากแพง และยุคสารพัดข่าวเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนที่กำลังทุกข์ยาก ทั้งจากปัญหาเก่าๆ และปัญหาใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา จากผู้หวังกอบโกยผลประโยชน์จากประชาชนคนไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา และกำลังจะดึงคนไทยให้ตกเป็นทาสของทุนนิยมอย่างถอนตัวลำบาก...

เราลองมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คนในยุค 90 คงเคยได้ยินว่า “ไทยคือเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ซึ่งเป็นคำที่ใช้อ้างถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงเวลานั้น ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนไทยถูกจับตามองอย่างมาก ว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นเสือตัวที่ห้า แต่ท้ายที่สุดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 เศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย เรายังคงเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดิม แต่ทว่าในหลวงท่านก็ทรงปลอบโยนพวกเรา ให้เรามองเห็นหนทางเดินหน้าต่อไปว่า...


“...การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

- พระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540


วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยถึงคราวฟองสบู่แตก สถาบันการเงินล้มครืน ความยากจนแผ่กระจายไปทั่วเมืองไทย หลายคนประสบปัญหาหนี้สินจนหมดตัว และเกือบหมดตัว แต่ในภาวะเศรษฐกินพังทลาย จิตใจหลายคนสลดหดหู่ ในช่วงปลายปี 2540 นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทาน ส.ค.ส. 2541 ที่ทรงให้กำลังใจแก่ประชาชนคนไทย ด้วยข้อความที่ว่า 

"ใจเอ๋ยใจ ใจหายใจคว่ำ หายใจยาว ใจดีสู้เสือ" 

พระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง ทรงพาคนไทยพ้นวิกฤตมามากมาย และไม่เคยละทิ้งประชาชนอย่างที่ทรงให้คำมั่นสัญญาไว้จริงๆ











ประมวลภาพบรรยากาศการร่วมมือร่วมใจของบรรดาศิษย์เก่า
คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในการวาดภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ปัจจุบันจัดแสดงและเปิดให้เข้าชมภายในคณะจิตรกรรมฯ 
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ


ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้


Jim-793009 
01 : 11 : 2016





Create Date : 01 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 18 กรกฎาคม 2560 17:48:31 น.
Counter : 10124 Pageviews.

0 comment
ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ เยี่ยมชมแฟชั่นสตรีสยามจากภาพถ่ายเก่า






ฉัฐรัช พัสตราภรณ์


เยี่ยมชมแฟชั่นสตรีสยามจากภาพถ่ายเก่า



เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไม่เพียงเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ แต่เมื่ออารยธรรมของมนุษย์เริ่มงอกงาม เกิดแบบแผนในการดำเนินชีวิตมากมาย เสื้อผ้าก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้านตัวตน เอกลักษณ์ของคนแต่ละชนชาติ และถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงฐานะทางสังคมไปในตัวด้วย 

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2559 ผมมีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการ “ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ : ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก” ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ภายในงานเป็นนิทรรศการภาพถ่ายเก่า ที่เน้นนำเสนอแฟชั่นเสื้อผ้าของสตรีสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งก็ตรงตามชื่อนิทรรศการ เพราะคำว่า “ฉัฐรัช” หมายถึง รัชกาลที่ 6 หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว






บรรยากาศของนิทรรศการ ภายในหอวชิราวุธานุสรณ์


เป็นที่รู้กันดีว่า ชาวสยามเริ่มนิยมแต่งตัวแบบชาวตะวันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และนิยมมากจนเกิดเป็นแบบแผนการแต่งตัวยุคใหม่ของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น ให้ผู้ชายสวมชุดราชปะแตน หรือแต่เดิมเรียก “ราชแปตแตน” เพี้ยนมาจากคำว่า Raj Pattern - ราชแพตเทิร์น (Royal Pattern) หมายถึง “แบบหลวง” ใช้เป็นชุดข้าราชการพลเรือน ประกอบด้วย เสื้อสูทสีขาวคอตั้งสูง มีกระดุมห้าเม็ด นุ่งโจงกระเบน สวมถุงเท้ายาว และรองเท้าหุ้มส้น เป็นรูปแบบชุดที่คิดว่าหลายคนคงคุ้นตากันดี นอกจากนี้ ผู้ชายยังหันมาสวมชุดสูทสากลนิยมแบบตะวันตกกันด้วย 

สำหรับเครื่องแต่งกายสตรี คนสมัยก่อนเขาก็เข้าใจ Mix and Match ความเป็นไทยกับตะวันตกได้อย่างลงตัวเช่นกัน คือ เลือกสวมเสื้อผ้าลายลูกไม้ เสื้อแขนหมูแฮม นุ่งโจงกระเบน มีสายสะพายพาดเฉียงบ่า และสวมใส่เครื่องเพชร สร้อยไข่มุก นับเป็นแฟชั่นของไฮโซโบราณที่เฟื่องฟูมากตลอดสมัยรัชกาลที่ 5



สตรีสยามสมัยต้นรัชกาลที่ 6

สวมเสื้อลูกไม้บางผสมผ้าไหมชีฟองแบบพอง คอสูง แขนเสื้อยาวเลยศอก

ส่วนบุรุษสวมชุดราชปะแตน


แม้กระทั่งผ่านมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในช่วงต้นรัชสมัย อิทธิพลหรือความนิยมในการแต่งตัวของสตรีตามแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงนิยมสืบเนื่องกันมา โดยเฉพาะการนุ่งโจงกระเบน ซึ่งสตรีสยามนุ่งกันมานานจนเป็นแบบแผนประเพณี กระทั่งถึงช่วงกลางรัชสมัย การแต่งตัวของสตรีสยามจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนและก้าวหน้ามากขึ้น โดยรับเอาแฟชั่นตะวันตกที่เฟื่องฟูมากในช่วงเวลานั้น มาประยุกต์เข้ากับความเป็นไทยสยาม เปลี่ยนจากการนุ่งโจงกระเบน มานุ่งซิ่นแทน รวมถึงการเปลี่ยนทรงผมจากทรงดอกกระทุ่ม มาเป็นผมยาว ผมยาวเกล้ามวย และผมบอบสั้น เรียกได้ว่า “เกิดแฟชั่นในการแต่งกายที่หลากหลายมากขึ้น” เหมือนดังข้อความในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่หลายคนคงเคยได้ยิน หรือผ่านตากันมาบ้าง



สตรีสยามสมัยรัชกาลที่ 6 นิยมสวมเสื้อผ้าลูกไม้ สวมเครื่องประดับ 


...วันหนึ่งคุณเปรมพูดขึ้นว่า “แม่พลอย ฉันเห็นว่าต่อไปนี้แม่พลอยเลิกนุ่งผ้าเสียทีก็จะดี”

“แล้วกันคุณเปรม!” พลอยร้องเสียงหลง “ทำไมพูดอย่างนั้นละ อยู่ดีๆ จะให้ฉันเลิกนุ่งผ้าเสียแล้ว!”

คุณเปรมหัวเราะชอบใจพูดว่า “แม่พลอยนี่คงเห็นฉันเป็นบ้าพิลึก! เปล่าหรอก ฉันไม่ได้หมายความว่าจะให้แม่พลอยเลิกนุ่งผ้าเสียเลย แต่ฉันอยากให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน”

“ตายจริง! นี่คุณเปรมเห็นฉันเป็นลาวมาตั้งแต่เมื่อไร ?”

พลอยถามเพราะไม่เข้าใจความหมายของคุณเปรมเลยแม้แต่น้อย

“ในหลวงท่านโปรด” คุณเปรมตอบสั้นๆ แต่ก็เป็นการอธิบายที่มีความหมายลึกซึ้ง...


จะเห็นว่า พอคุณเปรมบอกให้แม่พลอยนุ่งซิ่น แม่พลอยถึงกับออกปากบอกว่า “คุณเปรมเห็นฉันเป็นลาว” ก็เพราะแต่เดิมนั้น วัฒนธรรมการนุ่งผ้าซิ่นเป็นของคนลาวและยวน ซึ่งสมัยก่อนคนสยามมักเรียกคนภาคเหนือ (ล้านนา) ว่าเป็น “คนลาว” เช่นกัน ส่วนสตรีสยามชนชั้นสูงแต่ดั้งเดิม นิยมนุ่งผ้าไหมแบบจีบหน้านาง ก่อนจะเปลี่ยนมานุ่งโจงกระเบนกันจนเป็นแบบแผนในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง



คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ ภริยาพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ)

แต่งกายตามจารีตนิยมของเจ้านายฝ่ายเหนือ 

สวมเสื้อลูกไม้ นุ่งซิ่นตีนจกแบบไทยวน ผมเกล้าพองแบบสตรีตะวันตก 

และเป็นทรงผมที่นิยมในสตรีชนชั้นสูงของญี่ปุ่น



แฟชั่นสตรีตะวันตกยุคเอ็ดวอร์เดียน (ค.ศ.1901-1910)


ภายในนิทรรศการจะแบ่งภาพถ่ายออกเป็น 3 ช่วงเวลา ตลอด 15 ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

ช่วงต้นรัชกาล (ค.ศ.1910-1915) ตรงกับแฟชั่นโลกสมัยเอ็ดวอร์เดียนตอนปลาย (Late Edwardian) ต่อแฟชั่นสมัยทีนส์ตอนต้น (Early Teens – ค.ศ.1911-1915) ระยะนี้สตรีสยามมักสวมเสื้อผ้าลูกไม้โปร่งบาง และยังนิยมการนุ่งโจงกระเบนตามแบบสมัยรัชกาลที่ 5



สตรีสยามสมัยต้นรัชกาลที่ 6

สวมเสื้อลูกไม้ ทิ้งชายเสื้อยาว นุ่งโจงกระเบน 

เกล้าผมโปร่งตามแฟชั่นทรงผมสมัยเอ็ดวอร์เดียนตอนปลาย


คุณใหญ่ (บุนนาค) สิงหเสนี

สวมเสื้อลูกไม้คอกว้าง แขนเสื้อยาวเสมอศอก

ไว้ผมยาวเกล้าโปร่ง ประดับผ้าริบบิ้น


ช่วงกลางรัชกาล (ค.ศ.1915-1920) ตรงกับแฟชั่นโลกสมัยทีนส์ตอนปลาย ระยะนี้เกิดกระแสพระราชนิยมในการแต่งกายสตรีขึ้น คือ เจ้านายฝ่ายในเริ่มหันมานุ่งซิ่นยาว มีทั้งซิ่นไหม และซิ่นผ้าผ้ายแบบทางเหนือ สวมเสื้อแพร เสื้อลูกไม้ หรือเสื้อทรงหลวมชายยาวถึงเข่า



สตรีสยามสมัยกลางรัชกาลที่ 6

แต่งกายตามแบบกระแสพระราชนิยม 

สวมผ้าแพรชีฟองตัวยาว แขนเสื้อยาวถึงข้อศอก นุ่งซิ่นยาวแทนโจงกระเบน

ไว้ผมยาวดัดลอน ประดับศิราภรณ์


ท่านผู้หญิงตลับ ยมราช ยังคงแต่งกายแบบจารีตนิยมสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนธิดา (ล่างขวา) น.ส.ประจวบ สุขุม แต่งกายแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6

สวมเสื้อแพรคอกว้าง นุ่งซิ่นยาว สวมรองเท้าส้นสูง และไว้ผมยาว


สตรีสยามวัยสาวในสมัยรัชกาลที่ 6 นิยมแต่งตัวตามกระแสพระราชนิยม

สวมเสื้อคอกว้าง นุ่งซิ่น สวมรองเท้าส้นสูง และไว้ผมยาวแทนทรงดอกกระทุ่ม


ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี

แต่งกายตามกระแสพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 6

สวมเสื้อทิ้งชายยาวถึงหัวเข่า กับกระโปรงผ้าไหม ไว้ผมสั้นดัดลอน


ช่วงปลายรัชกาล (ค.ศ.1920-1925) ตรงกับแฟชั่นโลกช่วงแฟลปเปอร์ (Flappers) หรืออาร์ตเดคโคตอนต้น (Art Deco) ระยะนี้สตรีสยามนิยมสวมเสื้อผ้าทรงตรงดิ่ง ไม่รัดรูป เอวเลื่อนลงมาช่วงสะโพกและต้นขา แขนเสื้อสูงถึงข้อศอก หรือแขนสั้นถึงหัวไหล่ นุ่งผ้าซิ่นสูงขึ้นถึงระดับน่องและต้นขา นิยมสวมถุงน่องและรองเท้า ไว้ผมบอบสั้นกันมากขึ้น



พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (พ.ศ.2467)

ทรงฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวสไตล์อาร์ตเดคโค (Art Deco)


สตรีสยามสมัยปลายรัชกาลที่ 6

แต่งกายตามแฟชั่นตะวันตกช่วงอาร์ตเดคโค

สวมเสื้อแพรยาวถึงเข่า แขนกุดสั้นถึงหัวไหล่ นุ่งกระโปรงสั้นถึงหน้าแข่ง 

นิยมสวมถุงน่อง สวมรองเท้าส้นสูง


สตรีสยามสมัยปลายรัชกาลที่ 6

นิยมไว้ผมสั้นดัดลอน


สตรีสยามสมัยปลายรัชกาลที่ 6

นุ่งเสื้อตัวหลวม แขนเสื้อสูง ไว้ผมบอบสั้น


นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีบอร์ดให้ความรู้เรื่องการถ่ายภาพฟิล์มกระจกแบบโบราณเอาไว้ด้วย ใครสนใจไปชมนิทรรศการคงต้องรีบกันหน่อยแล้ว เพราะตามกำหนดเดิม นิทรรศการจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 แต่เจ้าหน้าที่ในงานบอกกับผมว่า ตอนนี้กำลังมีความคิดจะขยายนิทรรศการออกไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ปลายเดือนนี้เลย ใครสนใจความรู้เรื่องแฟชั่นสตรีสยาม แวะเข้าไปชมกันได้นะครับ

ก่อนกลับบ้าน อย่าลืมแวะถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เพราะเจ้าหน้าที่เขาจัดฉากถ่ายภาพแบบโบราณไว้ให้ชักภาพกันด้วย เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่สนุก และน่าประทับใจมากครับ เดิมชมได้ไม่เบื่อเลย



ฉากถ่ายภาพเป็นที่ระลึก


Jim-793009

09 : 10 : 2016




Create Date : 09 ตุลาคม 2559
Last Update : 16 กรกฎาคม 2560 9:50:23 น.
Counter : 28564 Pageviews.

4 comment
1  2  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments