ในหลวง ในดวงใจนิรันดร์





ในหลวง...ในดวงใจนิรันดร์


“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

- พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

วันศุกร์ ที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493



นับจากวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ในที่สุดก็มาถึงวาระครบสิบห้าวันแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อหลายวันก่อน ผมนั่งดูถ่ายทอดสดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวารพระบรมศพ (อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สะ-มะ-วาน) แล้วรู้สึกหวิวๆ ในใจ ถามเพื่อนที่นั่งดูทีวีด้วยกันว่า “นี่ในหลวงท่านจากเราไปแล้วจริงๆ ใช่ไหม”

เราได้รู้จักพระองค์ท่านผ่านทางทีวี ปฏิทิน บอร์ดวันพ่อ โรงหนัง บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ เราเห็นพระองค์ท่านจนชินตา และคิดเสมอว่า “พระองค์ท่านจะอยู่ในที่ของท่านแบบนั้นเสมอ” แต่ถึงตอนนี้ในหลวงท่านจากเราไปจริงๆ แล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านจะกลายเป็นตำนานของคนรุ่นหลัง เป็นตำนานที่คนไทยคงไม่มีวันลืม

“เราไม่เคยอยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่าน” นี่อาจเป็นหนึ่งในความรู้สึกเสียดายของหลายๆ คน แต่ผมกลับมองเห็นข้อดีอย่างหนึ่งว่า การที่เราไม่เคยได้อยู่ใกล้ๆ ท่าน ทำให้เรายังรู้สึกอยู่เสมอว่า พระองค์ท่านยังคงอยู่ที่เดิม อยู่ตรงนั้น...ในใจของราษฎร





คำว่า ในหลวง นับเป็นคำเรียกพระมหากษัตริย์อย่างง่ายแทนชื่อของพระองค์ท่าน ซึ่งน่าจะใช้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “ใน” แปลว่า ของ, แห่ง นิยมใช้เป็นนามศัพท์เรียก เจ้านาย ผู้มีฐานะเป็นเจ้ากรมขึ้นไป เช่น เสด็จในกรม ส่วนคำว่า “หลวง” แปลว่า ใหญ่ หรือเป็นใหญ่เหนือกว่าอื่นๆ ในหลวงจึงหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน




ลายพระหัตถ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถึงหม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เทวกุล


"...ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว..."

- พระราชนิพนธ์ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์


นี่คงเป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยได้ยินกันจนชินหู และรู้ไหมว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากในหลวงทรงรับราชสมบัติได้ไม่นาน แล้วจำเป็นต้องเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงเก็บเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านประชาชนที่มาเฝ้าฯ เมื่อปี 2498 เขียนเป็นพระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านเนื้อเรื่องเต็มๆ จากนิตยสารแพรว ปีที่ 37 ฉบับ 883 มิถุนายน 2559 ฉลองการครองราชย์ 70 ปี เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง พอได้ข่าวว่าพระองค์ท่านสวรรคต เลยนึกเสียใจว่า “ทำไมตัวเองถึงรู้จักพระองค์ท่านน้อยเหลือเกิน”



ประชาชนมากมายต่างมาถ่ายรูปร่วมกับพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวง


เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2559 ผมนัดกับเพื่อนๆ ว่าจะไปถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 แถวหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพอดีกับที่มีข่าวว่าจะมีการถ่ายทำ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ครั้งประวัติศาสตร์ เลยถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วม แต่เนื่องจากไปสาย คนจึงแน่นเต็มสนามหลวงหมดแล้ว ผมเลยหนีมาร้องเพลงอยู่ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งคนค่อนข้างบางตาหน่อย โชคดีที่ตั้งใจหยิบกล้องถ่ายรูปมาด้วย พอเสร็จจากการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เลยสบโอกาสถ่ายภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวง ที่น้องๆ นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันวาดถวายเพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในฐานะ “อัครศิลปิน” ในหัวใจของชาวศิลปากร จำนวน 9 ภาพ ผมเลยขออนุญาตเก็บภาพสวยๆ ทั้งเก้ามาเล่าเรื่องผ่าน Bloggang และขอขอบคุณคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นอย่างยิ่ง ที่ถ่ายทอดภาพแห่งความทรงจำเหล่านี้ ให้เราได้ชื่นชมและระลึกถึงในหลวง




ในหลวงทรงเล่นรถสามล้อ 

เมื่อครั้งประทับในเมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ (เดือนตุลาคม 2476)


ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 เวลา 08.45 น. ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเซต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นมีพระยศเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” ภายหลังในหลวงมักเขียนพระนามพระองค์เองว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” และนิยมใช้เรื่อยมา

ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเรียกในหลวงรัชกาลที่ 8 ว่า “พระองค์ชาย” และเรียกในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พระองค์เล็ก” ในหลวงของเราเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระองค์เล็ก ท่านเป็นเด็กฉลาดเฉลียวมาก และดูพระองค์ท่านจะคงแก่เรียนมาแต่เล็กๆ ดังปรากฏในจดหมายฉบับวันที่ 27 กันยายน 2478 ที่สมเด็จย่าทรงเขียนเล่าให้พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฟังว่า


“นันทช่างไม่เอาใจใส่การเรียนเลย อยากแต่จะเล่นตลอดเวลา เวลาหม่อมฉันช่วยทำการบ้านและท่องหนังสือก็มัวไปคิดแต่เรื่องเล่น เลยต้องดุเอาจริงๆ ค่อยดีหน่อยเล็กยังรู้จักเป็นห่วงการเรียน มีหนังสือเขาให้ท่อง 2-3 คำ ก็คอยยุ่งท่องอยู่เสมอ...เล็กเดี๋ยวนี้ตั้งต้นว่าคนเก่ง ว่าท่านรัศมี (ม.จ.รัศมีสุริยัน สุริยง) บอกว่าชื่อหนูไม่เห็นดี เดี๋ยวแมวมากัด เมื่อเช้านี้นันทโกรธ ก็ว่านันทว่าโกรธมากไม่ดี แก่เร็ว และหัวจะล้านด้วย”





ในหลวงทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเรือหลวงศรีอยุธยามาแต่ทรงพระเยาว์ “เรือหลวงศรีอยุธยา” เป็นเรือธงราชนาวีไทย ใช้นำเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สู่ท่าราชวรดิษฐ์ ข้างพระบรมหาราชวัง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2481 เวลา 16.00 น. ในการเสด็จนิวัตพระนครเป็นการชั่วคราว

ความประทับใจต่อเรือหลวงศรีอยุธยาในครั้งนั้น คงทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเรือหลวงลำนี้มาก กระทั่งต่อมาได้ทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลองด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และได้พระราชทาน “เรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง” เพื่อการประมูลหาทุนบำรุงโรงพยาบาลปราบวัณโรคด้วย





ในหลวงทรงเป็นช่างภาพส่วนพระองค์

ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

กล้องที่ใช้เป็นกล้องตัวแรก รุ่นคอนแท็กซ์ทู (Contax II)


ภาพในหลวงรุ่นหนุ่มถือกล้อง เป็นอีกภาพหนึ่งที่คุ้นตาคนไทย เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 ในการเสด็จนิวัตพระนคร เยี่ยมราษฎรในราวปี 2488-2489 และทรงถือเป็นผู้ทำหน้าที่ “ช่างภาพส่วนพระองค์” ในช่วงเวลานั้น ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 คู่กับกล้องถ่ายรูป จึงเป็นอีกความทรงจำที่ราษฎรไทยจดจำได้ติดตา เพราะไม่ว่าพระองค์ท่านเสด็จไปเยือนที่ใด ก็มักจะถ่ายภาพเก็บไว้เสมอ อีกทั้งพระองค์ยังเคยรับสั่งอีกว่า


“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ก็เคยมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือน เดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้เขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาคงให้ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”


หลังจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นพระประมุขของประเทศไทย พระองค์ท่านทรงใช้กล้องส่วนพระองค์ในการถ่ายภาพเหล่าพสกนิกร และสถานที่ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนเสมอ ส่วนหนึ่งทรงใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อจัดทำแผนพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และอีกส่วนหนึ่งอันสำคัญยิ่ง คือทรงถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และสร้างความสุข


"...รูปที่ถ่ายเราก็ตัดเอาไปให้เลือกพิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่ให้ความสุขให้ความสบายใจ เพราะว่าการถ่ายรูปนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นเพียงแต่กดชัตเตอร์ไว้สำหรับเก็บให้เป็นที่ระลึก แล้วก็ถ้ารูปนั้นดี มีคนได้มาเห็นรูปเหล่านั้นและก็พอใจ ก็ทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้กับผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป..."

- พระราชดำรัส ในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ และนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายหนังสือ "ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ" ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันอังคาร ที่ 15 มีนาคม 2537





ในหลวงทรงอ่านหนังสือ


หลังจากทรงรับราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ แทนวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม พระองค์ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และสเปน และขณะที่ในหลวงทรงศึกษาอยู่ในยุโรป ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระสหาย ท่อนหนึ่งมีเนื้อความกินใจมากๆ ว่า


“...เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง...”


นอกจากนี้ ในหลวงยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียน นักประพันธ์ ครั้งหนึ่งนั้น พระองค์ท่านทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2515 อันแสดงถึงจรรยาบรรณในการเขียนหนังสือในมุมมองของพระองค์ด้วยว่า


“นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือแสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”





ในหลวงทรงเล่นกับคุณติโต ขณะทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง


คุณติโต เป็นแมวทรงเลี้ยงตัวเดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ขนสีน้ำตาลเข้ม ส่วนหู ขา และหางออกสีเข้มกว่าลำตัว ขนอกสีอ่อน นัยน์ตาสีฟ้า ในหลวงทรงตั้งชื่อตามประธานาธิบดีติโตแห่งยูโกสลาเวีย และเป็นชื่อเดียวกับพระราชนิพนธ์ทรงแปลเรื่องแรก โดยภาพคุณติโตนั่งเล่นบนเปียโน ขณะในหลวงทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง เป็นภาพหนึ่งที่ประทับใจหลายๆ คน เพราะทรงแสดงออกถึงความรักที่มีต่อแมวทรงเลี้ยง

ในหลวงของเราทรงเริ่มพระราชนิพนธ์บทเพลงครั้งแรก เมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา โดยเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ คือเพลง “แสงเทียน” แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์คำร้อง ปัจจุบันทรงพระราชนิพนธ์ไว้ทั้งสิ้น 48 บทเพลง โดยพระองค์ท่านมีพระราชดำรัสถึงเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นครั้งแรกแก่สมาคมดนตรีว่า


“...จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ...ในระยะเวลา20 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 2 เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลง และนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างก็แสดงความพอใจ และความนิยมพอสมควร จึงเป็นกำลังใจให้แก่ฉันเรื่อยมา...”





ในหลวงทรงแซกโซโฟน


ในหลวงทรงซื้อเครื่องดนตรีชิ้นแรก คือ คลาริเน็ต เมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา ด้วยเงินส่วนพระองค์ที่ทรงเก็บออมไว้ และต่อมาพระองค์ก็ทรงสนพระราชหฤทัยและโปรดดนตรีแจ๊สอย่างจริงจัง เราจึงมักเห็นแซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต เป็นเครื่องดนตรีประจำพระองค์มาโดยตลอด โดยในหลวงเคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่นิตยสาร Look อย่างมีพระอารมณ์ขัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2510 ว่า


“...หนังสือพิมพ์ที่อเมริกาพากันลงว่า เป็นกษัตริย์ที่คลั่งดนตรี ซึ่งก็ไม่ว่าอะไร แต่ที่ไปลงจนเลยเถิดว่า แซกโซโฟนที่เป่าอยู่เป็นประจำนี้ ทำด้วยทองคำ อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก...”


นอกจากนี้ เมื่อคราวเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในปี 2503 ก็ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกัน ในรายการวิทยุเสียงอเมริกัน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2503 อันแสดงถึงความรักในเสียงดนตรีอย่างลึกซึ้งว่า


“...ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่ต่างๆ กันออกไป...”





ในหลวงทรงงานจิตรกรรม


ในหลวงเริ่มสนพระราชหฤทัยในด้านจิตรกรรม มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชา คราวประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ราวปี 2480-2488 เป็นต้นมา โดยทรงฝึกเขียนภาพด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาจากตำราต่างๆ เมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินท่านใด ก็จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้น เพื่อมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของพวกเขา แล้วจึงนำเทคนิคที่ได้ทรงเรียนรู้มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับของพระองค์เอง อาจารย์ทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ได้กล่าวถึงในหลวงว่า


“...พระองค์จะประทับอยู่ในห้องแสดงงานศิลปกรรม และสนพระราชหฤทัยงานศิลปะทุกชิ้นนานที่สุดเท่าที่โอกาสจะอำนวย ทรงวิจารณ์ภาพเขียนว่างานชิ้นไหนเป็นสไตล์อะไรอย่างถูกต้องและคล่องแคล่วเสมอ และทรงมีความจำล้ำเลิศว่า งานของศิลปินคนไหนเปลี่ยนแปลงคลี่คลายแตกต่างออกไปจากงานปีก่อนๆ ของเขาอย่างไร...”





ในหลวงทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง


เรือใบเป็นกีฬาโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งลำแรกด้วยพระองค์เอง เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานนามว่า “ราชปะแตน” หมายถึง แบบของพระราชา และต่อมาทรงต่อเรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class) ด้วยพระองค์เอง ระหว่างปี 2509-2510 มี 3 แบบ พระราชทานนามว่า เรือมด ซูเปอร์มด และไมโครมด โดยรับสั่งถึงที่มาของชื่อเรือทั้งสามว่า


“ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี”





ในหลวงทรงเรือใบ


ในหลวงของเราไม่ได้โปรดกีฬาเรือใบแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทรงมีน้ำใจนักกีฬาด้วย ในการแข่งขันเรือใบครั้งหนึ่ง หลังจากทรงเรือใบออกจากฝั่งได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นเรือกลับฝั่ง แล้วตรัสกับผู้มาคอยเฝ้าฯ ว่า เรือของพระองค์แล่นไปโดนทุ่นเข้า ในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แต่พระองค์ก็ทรงซื่อสัตย์ ยึดตามหลักกติกามาก และเคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการแข่งขันว่า


“แพ้หรือชนะไม่ประหลาด ความพยายามที่จะเอาชนะต่างหากที่สำคัญ”


และด้วยพระปรีชาสามารถทางการกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิคสากล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิคแก่ในหลวงของเรา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับเหรียญทองอิสริยาภรณ์โอลิมปิคชั้นสูงสุดนี้




ทุกคนต่างชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ "อัครศิลปินในหัวใจชาวศิลปากร"

ผมเขียน “เก็บมาเล่า” ครั้งนี้ยาวเหยียดทีเดียว และหากใครได้อ่านจนจบก็คงคิดว่า ผมเขียนขาดๆ เกินๆ และอาจไม่ได้เรียงร้อยเรื่องราวให้ดีมากพอ แต่ทั้งหมดที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ ก็เพียงเพราะผมได้มีโอกาสไปเก็บพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาจากกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ แล้วอยากหยิบแต่ละภาพมาเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ไม่อยากแค่มองภาพเหล่านั้นผ่านไปเฉยๆ เลยต้องไปค้นหาข้อมูลมานำเสนอเสียมากมาย ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องเล่าคุ้นหูที่หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว โดยผมตั้งใจว่าสิ่งที่นำมาถ่ายทอดนี้ คือหนึ่งในความรักและความรำลึกถึงในหลวงอย่างสุดซึ้ง ที่ผมพอจะหาพื้นที่นำเสนอได้บ้าง แม้กระทั่งเขียนมาถึงตรงนี้ ผมก็ยังคงมีความรู้สึกติดค้างอยู่ในใจว่า “ทำไมตัวเองถึงรู้จักพระองค์ท่านน้อยเหลือเกิน” นับเป็นความเสียดายอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็คงเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตปุถุชนที่ว่า... 

“คนเรามักมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ก็ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไปเสียแล้ว” 

แต่สำหรับในหลวงของเราสิ่งดีๆ ที่พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง พระบรมราโชวาทที่เคยกล่าวสอนสั่ง ก็คงเปรียบได้กับพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้มอบให้แก่ปุถุชนไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งพาแทนตัวพระองค์ท่าน หากเราคนไทยศรัทธาในพระธรรมของพระพุทธเจ้าฉันใด เราก็ควรศรัทธาในคำสอนอันดีงามของในหลวงฉันนั้น

นี่ต่างหากที่เรียกได้ว่า “พระองค์ท่านทรงสถิตอยู่ในใจของเรานิรันดร์”




หนังสือ "เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์"

พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ


ขอขอบคุณพระบรมสาทิศลักษณ์อันงดงามจากนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “My King ในหลวงของเรา” ของ National Geographic และหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ซึ่งประมวลเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเอาไว้อย่างน่าสนใจ




ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์


สุดท้ายนี้ ผมขอฝากพระราชดำรัสของในหลวงไว้เป็นเครื่องเตือนใจคนไทยในยุคข้าวยากหมากแพง และยุคสารพัดข่าวเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนที่กำลังทุกข์ยาก ทั้งจากปัญหาเก่าๆ และปัญหาใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา จากผู้หวังกอบโกยผลประโยชน์จากประชาชนคนไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา และกำลังจะดึงคนไทยให้ตกเป็นทาสของทุนนิยมอย่างถอนตัวลำบาก...

เราลองมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คนในยุค 90 คงเคยได้ยินว่า “ไทยคือเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ซึ่งเป็นคำที่ใช้อ้างถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงเวลานั้น ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนไทยถูกจับตามองอย่างมาก ว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นเสือตัวที่ห้า แต่ท้ายที่สุดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 เศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย เรายังคงเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดิม แต่ทว่าในหลวงท่านก็ทรงปลอบโยนพวกเรา ให้เรามองเห็นหนทางเดินหน้าต่อไปว่า...


“...การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

- พระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540


วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยถึงคราวฟองสบู่แตก สถาบันการเงินล้มครืน ความยากจนแผ่กระจายไปทั่วเมืองไทย หลายคนประสบปัญหาหนี้สินจนหมดตัว และเกือบหมดตัว แต่ในภาวะเศรษฐกินพังทลาย จิตใจหลายคนสลดหดหู่ ในช่วงปลายปี 2540 นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทาน ส.ค.ส. 2541 ที่ทรงให้กำลังใจแก่ประชาชนคนไทย ด้วยข้อความที่ว่า 

"ใจเอ๋ยใจ ใจหายใจคว่ำ หายใจยาว ใจดีสู้เสือ" 

พระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง ทรงพาคนไทยพ้นวิกฤตมามากมาย และไม่เคยละทิ้งประชาชนอย่างที่ทรงให้คำมั่นสัญญาไว้จริงๆ











ประมวลภาพบรรยากาศการร่วมมือร่วมใจของบรรดาศิษย์เก่า
คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในการวาดภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ปัจจุบันจัดแสดงและเปิดให้เข้าชมภายในคณะจิตรกรรมฯ 
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ


ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้


Jim-793009 
01 : 11 : 2016





Create Date : 01 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 18 กรกฎาคม 2560 17:48:31 น.
Counter : 10108 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments