บ้านบาตร หัตถศิลป์โบราณกับเสียงกังวานในลมหายใจ







บ้านบาตร

หัตถศิลป์โบราณกับเสียงกังวานในลมหายใจ



การตัดสินเดินออกจากบ้าน เลือกย่ำเท้าไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง หลายครั้งก็ทำให้เราได้รู้จักสิ่งที่คิดว่า “รู้จักดีแล้ว” เพิ่มมากขึ้น

หลังจากวางแผนมาร่วมสัปดาห์ เช้าวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2559 ผมก็ได้ไปเยือนชุมชนช่างโบราณในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายสมใจอยากสักที ชุมชนแห่งนี้คือ “บ้านบาตร” หมู่บ้านช่างทำบาตรพระที่ซ่อนอยู่ในตรอกซอยเล็กๆ ของกรุงเทพฯ ทันทีที่ผมเดินทางมาถึงปากทางเข้าชุมชน เสียงค้อนกระทบแผ่นโลหะก็ดังกังวานไล่เรียงกันมาเป็นจังหวะ ชวนให้เอียงหูฟังว่าดังมาจากตรงไหนบ้าง แล้วเริ่มออกตามหาต้นตอของเสียง นั่นคือเสน่ห์อย่างแรกของบ้านบาตรที่ผมได้สัมผัส เป็นเสียงแห่งวิถีชีวิตที่ดังต่อเนื่องมานานกว่าร้อยปีแล้ว


บาตรเหล็ก และ บาตรสเตนเลส วางอยู่ภายในบ้านช่างตีบาตรจำนวนมาก


บ้านบาตร กรุงเทพฯ ถือเป็นชุมชนช่างบาตรโบราณ ที่ทำบาตรพระด้วยมือแห่งเดียวในเมืองไทย พวกเขาสืบทอดงานฝีมือกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเดิมทีบรรพบุรุษชาวช่างบาตรโยกย้ายถิ่นฐานมาจากกรุงศรีอยุธยา คุณลุงอมร ช่างเชื่อมบาตรหนึ่งเดียวประจำชุมชนเล่าให้ฟังว่า 


“ผมทำสืบต่อจากรุ่นพ่อแม่ คนบ้านบาตรแต่ก่อนมาจากอยุธยา เราแยกตัวออกมาจากกลุ่มช่างตีเหล็ก ช่างตีมีด และช่างทำขันลงหิน (บ้านบุ) มาตั้งชุมชนอยู่กันที่นี่เพื่อทำเฉพาะบาตรพระ ซึ่งตอนนี้เหลือแค่ห้าเจ้าเท่านั้น แต่การทำบาตรต้องใช้ช่างหลายคน ก็ได้คนในชุมชนนี่แหละ ทำคนละหน้าที่ แต่ช่างเชื่อมหรือสมัยโบราณเรียก ช่างแล่น เหลือผมเพียงคนเดียว”



คุณลุงอมร ช่างเชื่อมบาตรประจำชุมชนบ้านบาตร กรุงเทพฯ

ใครสนใจเข้ามาเยี่ยมชมชุมชน สามารถติดต่อผ่านคุณลุงได้เลย โทร. 085-157-1673


บาตรทำจากเหล็ก เป็นหนึ่งในอัฐบริขารของพระภิกษุ-สามเณร คนบ้านบาตรบอกตรงกันว่า บาตรของที่นี่ตีขึ้นอย่างถูกต้องตามพระวินัยกำหนด คือ ประกอบด้วยโลหะ 8 ชิ้น มีโครงบาตร 1 ฝาข้าง 2 หน้าวัว 4 และขอบบาตร 1 เชื่อมรอยต่อด้วยเหล็กหรือทองแดง แล้วนำไปตีขึ้นรูปทรงกลม แต่บางเจ้าอาจจะใช้แค่ 6 ชิ้น ปรับเปลี่ยนตามความสะดวก แต่ถ้าเป็นกลุ่มพระวัดป่าที่เคร่งครัดการปฏิบัติจริงๆ จะสั่งบาตรที่ประกอบจากเหล็กแปดชิ้นเท่านั้น พอตีจนได้รูปทรงตามต้องการแล้ว จึงนำบาตรมารมดำด้วยการเผาไฟ


“บาตรแบบโบราณ เมื่อรมดำแล้วสีจะออกดำอมน้ำตาล ไม่ดำสนิท แต่ปัจจุบันช่างบางคนก็หันมาใช้การทาสีดำ แล้วเผาเคลือบแทน ทำให้ได้บาตรสีดำผิวมันวาวอย่างที่คุ้นตากันดี ยิ่งเดี๋ยวนี้พระใช้บาตรสเตนเลสกันมากขึ้น ส่วนใหญ่จะนิยมโชว์เนื้อสเตนเลส ก็ไม่จำเป็นต้องรมดำ”


คุณป้ากฤษณา เจ้าของร้านหัตถกรรมไทยโบราณประจำชุมชนบ้านบาตรอธิบายให้ผมฟังด้วยรอยยิ้มอิ่มเอม ระหว่างนั่งตีบาตรในช่วงบ่าย บนโต๊ะหน้าบ้านของคุณป้ามีบาตรหลากหลายขนาดวางโชว์ ตั้งแต่ลูกเล็กเท่ากระบวยและขันตักน้ำ ไปจนถึงลูกใหญ่อย่างที่พระภิกษุใช้กัน ผมขอเข้าไปดูใกล้ๆ สังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นชิ้นงานที่ตั้งใจทำขายเป็นของที่ระลึก เขียนลวดลายตกแต่งดูแปลกตาดี



คุณป้ากฤษณา แสงไชย เจ้าของร้านหัตถกรรมไทยโบราณ



บาตรขนาดต่างๆ ผลิตภัณฑ์ประจำร้านของคุณป้ากฤษณา 

สนใจติดต่อ 086-997-6621 และ 085-919-2607


บาตรของที่นี่มี 3 รูปทรงหลัก ได้แก่ ทรงไทยเดิม (บ้างก็เรียกทรงหัวเสือ) ก้นบาตรค่อนข้างแหลมเหมือนก้นลูกข่าง ยกขอบสูง ทรงมะนาว ก้นบาตรแบน ขอบยกสูง ปากบาตรคุ่มเข้าหากันเล็กน้อย และ ทรงลูกจัน ก้นบาตรคล้ายทรงมะนาว แต่ขอบเตี้ยกว่า

เรื่องรูปทรงของบาตร ถือเป็นความรู้ใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยินได้ฟัง เพราะแต่ก่อนผมมักมองบาตรพระเหมือนกันหมด ใครจะคิดว่าเขามีการแยกประเภทเสียด้วย



บาตรเหล็กประกอบด้วยแผ่นเหล็ก 8 ชิ้น เมื่อเชื่อมติดกัน แล้วนำมาตีขึ้นรูป

(ภาพ : ญดา ศรีเงินยวง)



บาตรสเตนเลสเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านบาตร ใช้วิธีทำมือเช่นเดียวกับบาตรเหล็ก


สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นตลอดทางเดินเข้ามาในตรอกบ้านบาตร คือ กะล่อน อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการตีบาตร ลักษณะเป็นเสาเหล็กฝังลงในดิน ปักหัวหมุดเหล็กทรงกลมไว้รองรับก้นบาตรเวลาตี ไม่ว่าจะเดินเข้าออกซอยไหน ก็เห็นเจ้ากะล่อนเรียงรายไปทั่ว บอกให้รู้ว่า ชุมชนแห่งนี้เขาทำบาตรกันหลายครัวเรือนจริงๆ



การทาสีดำบนผิวบาตร ก่อนนำไปเผาไฟ แล้วเคลือบผิวให้มันวาว


แม้ว่า “บ้านบาตร” จะเป็นชุมชนเดียวในเมืองไทยที่ยังตีบาตรขาย แต่เพราะมีบาตรหล่อจากโรงงานอุตสาหกรรมออกมาตีตลาดในราคาถูกกว่า จึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มช่างตีบาตรอย่างมาก เพราะกว่าจะได้บาตรเหล็กลูกหนึ่ง ต้องใช้เวลาตีอย่างน้อย 2-3 วัน ชิ้นงานทุกชิ้นจึงต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ อาศัยประสบการณ์ในการควบคุมคุณภาพ ทำให้บาตรเหล็กตีด้วยมือค่อนข้างแพง ราคาประมาณลูกละ 2,000 บาท หรือถ้าเป็นบาตรสเตนเลสก็แพงขึ้นมาอีกเท่าตัว ตลาดบาตรพระจึงไม่ได้คึกคักอย่างสมัยก่อน แต่ยังคงมีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าพรรษา ซึ่งคนไทยนิยมบวชกุลบุตรกันมาก รายได้ส่วนหนึ่งจากการทำบาตรขาย จึงมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านบาตรด้วย

จากชุมชนช่างศิลป์โบราณ ก็ถึงคราวต้องปรับตัวมาสู่ยุคแห่งการท่องเที่ยว นำฝีไม้ลายมือและเสน่ห์ของชิ้นงานออกมาอวดให้เหล่านักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้ชื่นชม เปลี่ยนเป็นชุมชนที่เปิดกว้างให้เหล่าคนแปลกหน้าอย่างเราๆ เข้าไปเยี่ยมเยียน เดินเข้าตรอกออกซอย สอบถามความรู้จากคุณลุงคุณป้าได้ทุกหลังคาเรือน เพราะทุกคนเต็มใจที่จะเผยแพร่ ส่วนผมเองก็มีความสุขที่ได้เข้าไปสัมผัสงานช่างอันล้ำค่า และได้พูดคุยกับช่างตีบาตรอย่างใกล้ชิด



บาตรเหล็กขนาดเล็กที่ยังไม่ได้ตีเก็บรายละเอียด มองเห็นทองแดงที่เชื่อมโลหะแต่ละส่วนเอาไว้ชัดเจน


สิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากบาตรขนาดเล็ก ซึ่งขายเป็นของที่ระลึก บางชิ้นโชว์เนื้อเหล็ก มองเห็นเนื้อทองแดงประสานรอยต่อชัดเจน แต่บางชิ้นก็รมดำเขียนลายไทยสีทองแต่งแต้มอย่างสวยงาม คือ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคใหม่ ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหลือเกิน ในขณะที่ช่างตีบาตรนับวันจะหาคนมาสืบสานได้ยากเต็มที ถึงกระนั้น การสานต่องานช่างควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว เพื่อให้คนภายนอกได้ตระหนักถึงคุณค่าของ “การทำบาตรแบบโบราณ” ก็ถือเป็นทางออกหนึ่ง ที่ทำให้คนชุมชนบ้านบาตรมีกำลังใจ อยากสืบสานมรดกศิลปกรรมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป

ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจเห็นลูกหลานชาวบ้านบาตร ต่อยอดการตีบาตรไปเป็นงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมอื่นๆ อีกก็ได้

การมาเที่ยวครั้งนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า แม้บาตรพระจะเป็นสิ่งของที่ชาวพุทธคุ้นตากันดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า “บาตร” มีความเป็นมาอย่างไร ฉะนั้น หากมีเวลาอยากชวนให้หาโอกาสมาเดินชมกันสักครั้ง เพราะคุณไม่เพียงจะได้เห็นวิธีการตีบาตร แต่เชื่อว่าหลายคนอาจได้สัมผัสถึงคุณค่าและลมหายใจของเหล่าช่าง ที่กังวานมากับเสียงตีบาตรเหมือนกับผมก็ได้



ช่างตีบาตรกับการทำอุตหกรรมภายในครัวเรือน ทุกคนช่วยกันทำคนละหน้าที่ เพื่อให้ได้บาตรพระหนึ่งลูกสำหรับจำหน่าย



ช่างเชื่อมบาตร สมัยก่อนเรียกว่า "ช่างแล่น" 



ชุมชนบ้านบาตร

ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

แนะนำให้เข้าไปเยี่ยมชมชุมชนในช่วงเวลา 11.00 เป็นต้นไป เพราะช่างจะเริ่มตีบาตรกันจนถึงเย็น แต่วันอาทิตย์ช่างส่วนใหญ่จะหยุดพักกัน


Jim-793009

26 : 07 : 2016





Create Date : 26 กรกฎาคม 2559
Last Update : 16 กรกฎาคม 2560 10:01:16 น.
Counter : 7421 Pageviews.

4 comment
1  2  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments