The Musa Blues Band บลูส์แมน ๆ ที่ผมคิดถึง
เล่าเรื่องโดย เวสารัช (แฟนดิฉันเอง)Track 1 - The Musa Blues Band Stormy Monday Blues - The Musa Blues Band ตกค่ำ คนเรามักมีชั่วขณะหนึ่งที่ได้กลับมาเป็นตัวเอง จะด้วยการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ หรือ กลไกของสังคมก็ตามที พอถึงเวลาที่แดดเริ่มอ่อนจาง สีน้ำเงินเข้มกระเดียดดำละลายไปเคล้าผืนฟ้า ช่วงรอยต่อระหว่างกลางวัน-กลางคืน เรามักจะกลับมาเป็นตัวเอง ด้วยการสูดหายใจเต็มปอดและผ่อนลมออกช้าๆยืดยาดตามความพึงใจ เพราะนาทีนั้น ไม่มีใครจะมาสั่งเราได้ว่า “คุณอย่าเสือกหายใจนานเกินไป” หรือ “นี่ไม่ใช่เวลาเข้าส้วม” หรือ“จงทำงานให้คุ้มค่าเงินที่ผมจ่ายลงไปกับคุณ” เป็นตลกขำ-ขื่น ที่ความเป็นตัวของตัวเองแหวกว่ายกลับมาสู่เรา พร้อมความอ้างว้าง เหมือนเราใช้เวลาทั้งวัน ว่ายน้ำหนีตัวเองจนเหนื่อยอ่อน เพื่อจะมาสมทบกันอีกครั้งในยามเย็น พึมพำกับตัวเอง “เราได้ทำอะไรไปบ้างในวันนี้?” เพียงการเป็นตัวเองเท่านั้นก็เจ็บปวดแล้ว? เพลงบลูส์ก็เป็นเช่นนี้ บลูส์เกิดมากับคนอเมริกันผิวดำที่ถูกใช้งานเหมือน ทาสในไร่ฝ้ายเมื่อศตวรรษที่แล้ว หย่อนก้นลงในเพิงพัก เล่นกีต้าร์เก่า ๆ ด้วยความรู้ทางดนตรีแบบงูๆปลาๆ เพียงต้องการจะปลดเปลื้องความรู้สึกที่ถูกล้อมกรอบ น่าคิดว่าคนงานผิวดำคนแรกที่เริ่มดีดกีต้าร์แล้วแผดเสียงร้อง โหยหวนเป็นทำนองแปร่งหูแบบบลูส์ บลูส์ นี้ ก็น่าจะเริ่มร้องเริ่มเล่นเป็นเพลงตอนย่ำค่ำเหมือนกัน กว่าศตวรรษผ่านพ้น คนเป็นทาส นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวน ตัวผมเองก็ร่วมขบวนไปกับเขาด้วย ตกค่ำ ย่ำเท้าอยู่กับที่ รอจนตัวตนของตัวเอง เดินทางกลับเข้าร่างได้ ก็ออกพล่านไปตามแหล่งบันเทิงที่มีเสียงเพลง… เพลงบลูส์ คืนฤดูหนาวของปีพ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) บรรยากาศตามลานเบียร์ แช่มชื่นกว่าทุกวันนี้(ตามความรู้สึกของผม)เพลงบลูส์ยังหาฟังได้ง่าย ผมกับเพื่อนสามสี่คนที่ยังไม่สำเนียกในความเป็นทาสของตัวเอง และยังเป็น แค่นักศึกษาปีหนึ่งปีสอง นิยมไปนั่ง ‘ดัดจริต’ อยู่ตามลานถองข้าวหมักที่ มีวงดนตรีแจ่ม ๆ มาเล่นให้ฟังเป็นบางวัน ทุกครั้งที่แวะไปลานว่างหน้าห้างเวิร์ลเทรดเก่า หรือลานสันทนาการข้างตึกสยามดิสคัฟเวอรี่ ผมจะแอบหวังใจอยู่เล็ก ๆ ให้นักดนตรีกลุ่มหนึ่งเดินขึ้นมาบนเวที ไม่เบร็คแรกตอนหนึ่งทุ่ม ก็เป็นเบร็คสองประมาณสามทุ่ม นักร้องนำผมยาวหยักศก หน้าซูบตอบหนวดเครารกครึ้ม สะพายกีต้าร์กิ๊บสันเลสพอลสีดำกระด้างดูเก่าเก็บพอกันกับเจ้าของ มือกีต้าร์ลี้ด ผมยาวตรงรวบไว้กลางหลังลุ๊กส์เหมือนอินเดียนแดง สะพายกีต้าร์เฟนเดอร์สตราโตแคสเตอร์ อเมริกันสแตนดาร์ด สีเทาที่ดูอมเหลืองขะมุกขะมอมจากการคลุกควันบุหรี่ทุกวี่วัน มือเบสผมหยิกหยอย หน้าตายิ้มแย้ม สะพายอิเล็กทริคแจ๊สเบสของเฟนเดอร์ และ มือกลองผู้มีทรงผมสั้นเต่อที่สุดในวง (ณ วันนั้นถ้าจำไม่ผิด เจ้าตัวจะไว้หนวดเข้ม ๆ เหนือริมฝีปากบน) สารรูปของประดาคุณพี่เหล่านี้ บรรยายออกมาแล้ว ก็คงไม่มีอันใดประหลาด คุณอาจจะคิดว่า ตั้งแต่ยุคซิกซ์ตี้ส์ เป็นต้นมา ทั่วโลกต่างมีนักดนตรีลักษณะท่าทางแบบนี้อยู่ออกเกลื่อน ถูกของคุณ ! เพราะสิ่งที่ได้ใจชาวทาสอย่างผมและ ผองเพื่อนไปเต็ม ๆ นั้นไม่ใช่รูปลักษณ์ แต่คือเสียงที่พวกเขาเล่น และร้องออกมา ซึ่งถ้าเรียกตามหลักเกณฑ์ของวงศ์วานนักวิจารณ์ ก็ต้องเรียกว่า บลูส์ร็อค หรือ บางเพลงก็ต้องเรียกเป็น บลูส์-ฟังก์ จะเรียกอย่างไหนให้ฟังเก๋ก็ตามที สำหรับผมแล้วดนตรีที่ได้ฟัง ในหลาย ๆ คืนของปีนั้น มันก็คือบลูส์แท้ ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่พยางค์แรกที่ อ.มูซา นักร้องนำเอื้อนเสียงออกมา ‘บลูส์โน้ต’ * ก็ลอยละล่องไปทั่วบรรยากาศ พี่สงค์ มือกีต้าร์ลี้ดของวง กลายเป็นกีต้าร์ฮีโร่ของผม นับแต่วันนั้น (จนวันนี้) การเล่นของแกในเพลงช้าจะมีทั้งวลีที่สวยงาม และบีบคั้นไปพร้อม ๆ กัน ส่วนเพลงเร็วก็มีความมันส์ที่ก่ออาการ คันขึ้นในหัวใจคนฟัง ยิ่งลีลา ‘โยก’ ตอนพี่แกเค้นเสียงแต่ละเสียง ออกมาถึงจุด ‘กระสัน’ ของบทเพลงด้วยแล้ว ป๊อดโมเดิร์นด็อก ก็เถิด พึงระวัง! พี่แกจัดเป็นนักกีต้าร์ที่เล่น’หมดตัว’จริง ๆ เล่น เอาผมเองเกิดอาการเสียวสันหลังวาบหลายครั้งตอนที่โน้ตบางตัว พุ่งปรี๊ดไปโดนต่อม ตกค่ำของปีพ.ศ. 2551 ยังไม่ทันถึงหน้าหนาว ผมก็เกิด อารมณ์แบบทาสที่ปรารถนาการปลดปล่อยเสียได้ เพราะฝน ที่ตกไม่หยุดหย่อนพาอากาศเย็นเยือกมาสะกิดต่อมรับรส ให้อยากลิ้มเบียร์เย็น ๆ เคล้าเพลงบลูส์ น่าสงสาร (ตัวเอง) ที่ ‘เบียร์’ นั้นหาง่ายแต่ ‘บลูส์ ‘ กลับหาฟังแทบไม่ได้แล้ว ตามร้านเหล้าเคล้าดนตรีของพ.ศ.นี้ จงบทจรไปเถิด ให้ถ้วนทั่ว ทุกแหล่งที่ระบุว่าเป็น blues & jazz pub คุณจะพบกับสมรภูมิ ของหลายเหล่าทัพเสียง มือกีต้าร์ที่พยายามจะเป็น สตีวี เรย์ วอห์น แต่เลียนแบบมาได้แค่สามสี่วลีเพลงกับการทุบตีทารุณกรรมกีต้าร์ เสียงคนเล่นแฮมมอนออร์แกนเหมือนคนพิการไม่มีนิ้ว (พ่อคุณสไลด์มือผ่านคีย์บอร์ดไปมา ๆ รูดปื๊ด ๆ ไม่มีท่วงทำนองเล็ดลอดมาให้ได้ยินสักแอะ กับมือกลองที่พยายามตียังไงก็ได้ ให้ขัดแย้งกับคนอื่น (!?) อย่ากระนั้นเลย เมื่อความมืดมาเยือน และเราท่านต่าง กลับมาเป็นตัวของตนเอง ขอบรรณาการบทเพลง ‘บลูส์’ ที่ เดอะ มูซาบลูส์แบนด์ เคยร้อง-เล่น ไว้ เมื่อร่วมสิบปีก่อน - - - - - - -
Track 2 - The Musa Blues Band crosscut saw - The Musa Blues BandTrack 9 - The Musa Blues Band crossroad - The Musa Blues BandTrack 12 - The Musa Blues Band Kansascity - The Musa Blues BandTrack 5 - The Musa Blues Band Cash Talkin' *The Musa Blues Band (เป็นแผ่นซีดีที่ผลิตขึ้นมาเพียง 100 แผ่น ที่ผมไปได้มาจากงาน แจ๊สริมน้ำ เมื่อหลายปีก่อน) มูซา ชอบสันติ (อ.มูซา) : ร้องนำ, กีต้าร์ Wayn John Dikken : Saxsophone สมประสงค์ โกละกะ (พี่สงค์) : กีต้าร์ Visout : คีย์บอร์ด ภูมิใจ เรืองรุ่ง : เบส ทศ พนมขวัญ : กลอง งานชิ้นนี้ไม่ใช่งานสตูดิโอ แต่เป็นบันทึกการแสดงสด ๆ จากลานเบียร์ หน้าห้างเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ เมื่อปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) ทางสมาชิกวงอธิบายถึงเหตุผลในการผลิตผลงานชุดนี้ออกจำหน่ายจ่ายแจก ดังนี้ “เราตัดสินใจทำมันออกมา เพื่อรำลึกถึง เวย์น จอห์น ดิ๊กเก้น เพื่อนรักของเรา ที่จากไป เราเปลี่ยนชื่อวงเกือบทุกปี แต่ก็ตัดสินใจกลับมาใช้ มูซา บลูส์ แบนด์ เพื่อรำลึกถึงทุกคนที่เคยร่วมเล่นและร่วมสนุกกับเรา...กับวันเวลาที่ผ่านมา” เวย์น จอห์น ดิ๊กเก้น ก็คือเจ้าของเสียงแซ็กโซโฟนที่ทั้งกลมกล่อมและจัดจ้าน ที่เราได้ยินกันในผลงานชุดนี้ นี่เอง ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ * blues note : ตามทฤษฎีดนตรีสมัยใหม่ หมายถึงโน้ตตัวที่ แฟลต 7 (6 ครึ่ง) ของบันไดเสียงนั้น ๆ ซึ่งเป็นตัวสร้างคาแร็กเตอร์ให้คอร์ดโดมิแนนต์ หรือ คอร์ดเซเว่น อันเป็นพื้นฐานของดนตรีบลูส์ แต่ในทีนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะสื่อถึงความรู้สึกที่ จับไม่ได้ ไปไม่ถึง อันเป็นอารมณ์ แบบบลูส์ * ไม่นานเดือนก่อน ผมบังเอิญไปเจอ ‘พี่สงค์ ฟอร์มวงทริโอขึ้นใหม่ ไปเล่นอยู่ที่ร้าน Overtone RCA และบังเอิญจริง ๆ ที่พกซีดีบันทึก การแสดงสดของ เดอะมูซาฯ เมื่อปี 1999 ไว้กับตัว เลยได้เข้า ไปทักทาย และขอลายเซ็น ;) >
Create Date : 21 กันยายน 2551
Last Update : 9 ตุลาคม 2551 15:07:51 น.
Counter : 1049 Pageviews.