<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. (4)

เรื่องต่อเนื่อง: [คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. (3)], [(2)], [(1)]




“คนที่ไม่ได้อยู่บ้านนั้นแหละ ถึงจะมีสิทธิพูดได้ว่า ฉันคิดถึงบ้าน”

คำกล่าวข้างบนนี้ อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป
เพราะคนที่มีบ้านอยู่แล้วในปัจจุบัน ก็อาจจะคิดถึงบ้านที่เคยอยู่อาศัยมาในอดีตก็เป็นได้

บางเวลา สำหรับบางคน….
“การโหยหาบ้านเกิดเมืองนอน จึงเป็นโรคประจำตัวชนิดหนึ่ง”

แต่บางคน ก็ไปแล้ว ไปเลย ได้หน้า ก็ลืมหลัง
ลืมถิ่นเกิด บ้านเดิม ….ไปตายเอาดาบหน้า

แต่เชื่อข้อยเถอะ...ไม่ว่าจะเป็นตายร้ายดี จะเป็นอยู่อย่างไร
คนเราก็ต้องมีเวลาคิดถึง “บ้าน” จนได้
หรือใครว่าไม่จริง?


คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos.

About This VDO: Warning! this song is protected by the U.S copy right.
The artist is Miss Champaseng Sangsayarath former pakse radio station anchor.Author is BounTeum Phongkhamtay. All right Reseved. This song is special for all Laotian who lives apart from their love one.
From: champadeng Added: May 09, 2007
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=alm3J-QQjMw&feature=related


เพลง: คิดฮอดเมืองลาว
คำร้องและทำนอง: บุนเติม ฟองคำใต
ศิลปิน: จำปาแสงสัง ไชยะลาด
(ใน about this Video โพสต์ว่า ศิลปินคือนางจำปาสัง แสงชัยราช อดีตผู้สื่ข่าวสถานีวิทยุปากเซ และผู้เขียนเพลงคือบุญเติม ฟองคำใต ...ขออภัยหากถอดชื่อนามไม่ถูกต้อง)


กลิ่นลำดวน ยังหอมหวนซาบซึ้งอุรา
กลิ่นจำปา หอมซึ้งอุราบ่มีวันหาย
แม่น้ำของ ระดู*1 น้ำลง ยังจำฝั่งใจ
ผักกุ่ม*2 ดอกไค้** ก็ยังจำได้บ่เคยลืมไล

ปั้นข้าวเหนียว กับ แกงเห็ดบด ยามเดือนยี่
บุญเข้าจี่*3 เดือนสามเดือนสี่ ติดใจไม่หาย
ตรุษ*4 สงกรานต์ บุญปีใหม่ วันอวยพรชัย
คิดฮอดบ่หาย ยานนี่ห่างไกล ใจข้า กล้ำกลืน*5

โชคบ่ดี จึ่งต้องหนีไกลห่าง
ความหวังยังอยู่ในใจ จะมาเยี่ยมเยือน*6
อยู่ห่างไกล หัวใจข้าเศร้าสุดฝืน
วันและคืน คิดเถิงเมืองลาว อยู่บ่เซา*7

ท้องท่งนา*8 ป่าไม้ ภูเขา ทุกท้องถิ่น
บ่อนเคยหลิ้น*9 ถิ่นเคยเซา เมื่อคราวยังเยาว์
กราบไหว้วอน พระพรหมให้ช่วย ครอบงำ*10
สุขเลิศล้ำ จงชั่วนิรันดร์เถิด เมืองลาวเอย







หมายเหตุของ a_somjai

*1 ระดู ฤดู

* 2 ผักกุ่ม และ ดอกไค้**

  • "กุ่ม" เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจำแนกตามลักษณะที่เกิดเป็น 2 ชนิดคือ กุ่มบก และ กุ่มน้ำ คนไทยสมัยก่อนปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค ต้นกุ่มนับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกในทิศตะวันตก เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวและเศรษฐานะเป็นกลุ่มเป็นก้อนดั่งชื่อของต้นไม้ นอกจากนี้เปลือกกุ่มน้ำยังใช้ทำเยื่อกระดาษและเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของชาวชนบท

    1) "กุ่มบก" ชื่อวิทยาศาสตร์ "CratevaReligiosaHam"; ชื่อพื้นเมือง "กุ่มบก(ชลบุรี),กุ่ม(เลย),กุ่มบก (ในภาคกลาง),ทะงัน(เขมร)"



    กุ่ม ผักกุ่ม; กุ่มบก(ไทยภาคกลาง), ทะงัน(เขมร), กะงัน สะเบาถะงัน ก่าม (อีสาน) กุ่ม(เลย)
    ภาพ: www.panmai.com


    2)"กุ่มน้ำ" ชื่อวิทยาศาสตร์ "CratevaAdansoniiCE." "C.RoxburghiiR.Br.(Syn.)"; ชื่อพื้นเมือง "อำเภอ(สุพรรณบุรี),เหาะเกาะ (กระเหรี่ยง-ตะวันตก),ผักกุ่ม(พิจิตร, ปราจึนบุรี, อุดรธานี), ผักก่าม(มหาสารคาม), กุ่มน้ำ(ไทยภาคกลาง,ภาคตะวันตก),รอถะ(ลัวะ-เชียงใหม่), ผักกุ่ม(พังงา,ระนอง),กุ่มน้ำ(สงขลา,ชุมพร,ระนอง)"


    กุ่มน้ำ(ไม้ยืนต้น) ผักกุ่ม ผักก่าม เหาะเถาะ(กะเหรี่ยง-ตะวันตก)
    ภาพ: เว็บพรรณพฤกษ์ไพรดอกไม้สายเหนือของ 026

    นอกจากนี้ยังมี ผักกุ่มเครือ เป็นพืชในสกุล Neothorelia Capparaceae สกุลผักกุ่มเครือเป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในลาวและไทย

    ประโยชน์ทางอาหารของผักกุ่ม
    ใบอ่อนและดอกอ่อนของกุ่มบกและกุ่มน้ำเก็บมากินได้ ชาวบ้านทุกภาคของไทยรับประทานผักกุ่มโดยวิธีเดียวกัน คือการนำใบอ่อนและดอกอ่อนมาดองก่อนแล้วจึงนำไปรับประทาน หรือนำไปปรุงเป็นอ่อมผักกุ่ม ทำคล้ายกับแกงขี้เหล็กโดยการนำออกมาต้มคั้นน้ำทิ้งสัก 1-2 ครั้ง เพื่อลดรสขมและปรุงรสด้วยข่าอ่อน ตะไคร้ น้ำปลาร้า น้ำปลา เกลือ ข้าวสารเล็กน้อย ใบแมงลัก ผักชีฝรั่ง ถ้าใส่น้ำคั้นใบย่านางลงไปด้วยจะทำให้ผักกุ่มจืดเร็ว

    ชาวอีสานนำผักกุ่มน้ำไปดองหรือหมักกับน้ำเกลือและน้ำซาวข้าวนาน 2-3 วัน รับประทาน เอิ้นว่า "ส้มผักกุ่ม" เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือป่นปลา หรืออาจปรุงเป็นอาหารโดยนำไปผัดหรือแกงก็ได้

    สำหรับชาวใต้นำผักกุ่มดองไปรับประทานกับขนมจีนน้ำยา

    และชาวเหนือ(เชียงใหม่)นำยอดผักกุ่มมาเผาและแกล้มกับลาบปลา ในช่วงหน้าหนาวเรามักพบผักกุ่มดองวางขายในตลาดสด ดังเนื้อร้องในเพลง: ของกิ๋นบ้านเฮา ของจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินเชียงใหม่ เอ่ยถึง ผักกุ่ม ว่า "...... แกงแคชิ้นงัว ไส้อั่วชิ้นหมู แกงหน่อไม้ซาง คั่วบะถั่วพู น้ำพริกแมงดา กับน้ำพริกอ่อง คั่วผักกุ่มดอง หนังพองน้ำปู...."




  • "ไค้" เป็น พืชพรรณที่พบในป่าบุ่ง ป่าทาม (ความรู้พื้นบ้านอีสานเรื่อง ไค้และป่าทาม หากค้นหาอ่านในลิงค์เว็บไซต์ ESANvoice.net - เสียงฅนอีสาน ไม่ได้ ขอให้ลองเข้าไปดูที่ ไค้นุ่น (บก), และ ไค้น้ำ,

    พูดแบบคัดย่อได้ว่า.ไค้..ไม้พรรณชนิดนี้เป็นพืชอาหารตามฤดูกาลในเขตป่าน้ำท่วม ที่เรียกกันว่า ป่าบุ่ง - ป่าทาม (Seasonal Flooded Forest) นอกจากเป็นพืชอาหารของเมืองลาว ดังที่เอ่ยชื่อ "ดอกไค้" ในเพลงลาวนี้แล้ว ในประเทศไทย ป่าบุ่ง - ป่าทาม มีเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนอีสานมาช้านานในลักษณะของ "ป่าชุมชน" โครงสร้างของป่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่และไม้พุ่มหนามขนาดเล็กที่ทนการแช่ขังของน้ำได้ดี ป่าบุ่ง-ป่าทาม เป็นที่ลุ่ม สามารถรองรับน้ำป้องกันอุทกภัย และเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์ต่าง ๆ มากมาย)


*3 บุญเข้าจี่


ที่มา: ผญาฮีต ๑๒ กับคนอีสาน //www.wichaichan.th.gs/


*4 ตรุษ, คำ/ควม/ความเว้าลาวอีสาน กุด ก็ว่า

* กล้ำกลืน (ยกไปไว้หลัง *10)

*6 เยี่ยมเยือน เป็นคำไทย, เยี่ยมยาม จึงจะเป็นคำลาว เพราะคำว่า เยี่ยม และคำว่า เยือน ในภาษาลาวโบราณนั้นไม่มี

[updated: 2008-01-03 คำว่า "เยี่ยมยาม" ที่ใช้ในภาษาลาวปัจจุบัน ดูได้ที่ เว็บไซต์ "ประชาชน" เสียงของสูนกางพักปะซาซนปะติวัดลาว ข่าววันที่ 3 เดือนมังกร (มกราคม) 2008 ข่าวนี้ (ข้อความพาสาลาว ต้องมี Lao fonts จึงจะอ่านได้) ----> ที่ //www.pasaxon.org.la/content/3-1-08/news1.htm พาดหัวข่าว ความว่า....
"ປະທານສູນກາງແນວລາວສ້າງຊາດເຄື່ອນໄຫວຢ້ຽມຢາມແຂວງຫົວພັນ"
"ประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติเคลื่อนไหว เยี่ยมยาม แขวงหัวพัน"]

แต่มีข้อสังเกตว่า เยี่ยมและเยือน น่าจะมาจากคำว่า เยือง หรือ เยียง ซึ่งแปลว่า ส่อง, มอง เช่นเว้าว่า แยงไฟ เยียงไฟ, หากมองดูตัวเอง เว้าว่า เยียงคีง แยงคิง ก็ว่า, และในวรรณกรรมสังข์ศิลป์ชัยว่า “ดาราพร้อมประกายวงเยืองโลก” เป็นต้น. ความจริงแล้วคำว่า แยง นั้นหมายถึง พุ่งตรงไป (อย่างคำไทยว่า แยงรู เดินทะแยง กระมัง) เมื่อ แยง ถูกใช้กับการมอง หมายถึงมองตรงไป เช่นเว้าว่า แยงเงา คือ มอง ดู เบิ่งเงา, แยงแว่น แปลว่า ส่องกระจก เดี๋ยวนี้เห็นใช้ว่า เบิ่ง แยง มอง ดู กันทั่วไปแล้ว. ส่วนคำว่า ยาม ในภาษาลาวนั้น หมายถึง เยี่ยม ไปมาหาสู่ หรือแม้แต่การไปเบิ่ง ไปดู ไปกู้ ไปเก็บ ไปติดตามผลงาน ก็เว้าว่า ไปยาม อย่างเช่นชาวประมงไปดูเครื่องมือดักสัตว์ที่วางล่อจับเหยื่อไว้เรียกว่า ไปยามลอบ ยามไซ, หากคนแรงงานอพยพกล่าวว่า ไปเยี่ยมแม่ จะเว้าว่า ไปยามแม่ หรือเรามักได้ยินคนอีสานพูดว่า ไปเยี่ยมยามถามข่าวกันแน้เด้อ เป็นต้น.

*7 เซา หยุด, และคำลาวก็ว่าอย่าง คำลื้อ หรือ คำเมืองเหนือ ล้านนา ว่า ยั้ง, อนึ่งมีเมืองเก่าโบราณก่อนยุคหรือร่วมยุคกับเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองเชลียง ชื่อว่า เมืองทุ่งยั้ง, ทุ่งยั้ง แปลว่า ทุ่งหยูดพักหรือสถานที่ลงตั้งอยู่ ปัจจุบันอยู่ในเขต ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และ มีชื่อ บ้านยั้งเมิน หมู่ที่ 3 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่, ยั้งเมิน แปลว่า หยุดอยู่เมิน/นาน อีกด้วย. ___ส่วนที่ยังพบมีการใช้ในคำไทยกลาง ได้แก่คำว่า ยั้งมือ ยั้งคิด หยุดยั้ง เป็นต้น.

*8 ท่งนา, คำลาวเอิ้นทุ่งว่า ท่ง, คำลื้อ โท่ง ก็ว่า หรือ คำเมืองเหนือล้านนาว่า โต้ง

*9 หลิ้น, เล่น

*10 ครอบงำ กำหนด, บันดาล, ทำให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจ. ในที่นี้ใช้ขยายความเชื่อเรื่องอำนาจของพระพราหมณ์ผู้ลิขิตความเป็นไปของโลกและมนุษย์,


*5 กล้ำกลืน เป็นคำไทย, คำเว้าลาว น่าจะว่า กลั้นกลืน

คำว่า กลืน นั้นก็คือ การกระทำให้ของอะไรผ่านล่วงลำคอลงไป

ส่วนคำว่า ก้ำ ทั้งคำไทย คำลาวและคำล้านนา ต่างแปลว่า เบื้อง, ข้าง, ทิศ, ฝ่าย เหมือน ๆ กันเช่นว่า ก้ำเหนือ กำใต้ อย่างคำไทยว่า ก้ำกึ่ง แปลว่าเกือบเท่า ๆ กัน พอ ๆ กัน คือไม่เอียงไปข้างใดมากกว่า ส่วนในวรรณกรรมภาษาลาวเรื่อง ย่าสอนหลาน ว่า “คันเจ้าได้ขี่ช้าง อย่าได้ลืมหมู่งัวควาย มันหากคูณคนทางต่างกันคนก้ำ ช้างหากดียามสงครามได้ขี่ ดีเมื่อเข้าเขตห้องนครกว้างอาจอง”

หรือใน "การบาศรีสูตรขวัญ" เมื่อมีการสวดขวัญ คนอีสานว่า "สูตรขวัญ" มีคำเยอขวัญว่า “ผูกก้ำซ้ายให้ขวัญมา ผูกก้ำขวาให้ขวัญอยู่ ว่ามาเยอขวัญเอยขวัญเจ้า” เป็นต้น (เห็นเดี๋ยวนี้ใช้ว่า บายศรีสู่ขวัญ กันจนตัวเราเองก็ยังเชื่อจำมาอย่างนั้น แม้ลางเทื่อข้อยจะคึดอยากหัว ลงต่ำไป บาย (แปลว่า จับ ต้อง) สีที่อยู่บน ห.หีบ ก็มีเดละพี่น้อง **อ้างอิงเกี่ยวกับคำว่า "บา" "บาศรี" และ "บาย" ผู้สนใจค้นคว้าได้จากหนังสือสารานุกรม ภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ปรีชา พิณทอง, โรงพิมพ์ศิริธรรม, อุบลราชธานี, พ.ศ. 2532 สำหรับคำว่า บาย อธิบายความหมายไว้ในหน้า ๔๖๘ ดังนี้ บาย ๑ น. ข้าว / บาย ๒ ก. จับ, หยิบ, ฉวยเอา***)

เข้าเรื่องดีกว่า....
คำไทยว่า กล้ำ นั้นหมายว่า ควบ, ทำให้เข้ากัน, กลืนกิน เมื่อพูดว่า กล้ำกลืน หมายว่า ฝืนใจ, อดกลั้นไม่แสดงให้เห็น และส่วนคำว่า “กลั้น” ทั้งคำไทยและคำลาว แปลว่า อด, ทน ถ้าสะกดใจ ว่า กลั้นใจ เป็นต้น, ภาษาเมืองเหนือล้านนาเมื่อเกิดการอดอยาก ขาดแคลนอาหาร อู้ว่า กลั้นข้าวกลั้นน้ำ เป็นต้น ดังนั้นจึงเห็นว่าแม้จะมีความหมายใกล้เคียงมาก แต่หากเป็นคำกลอน/เพลงลาวน่าจะเว้าว่า กั้นกืน (กลั้นกลืน) มากกว่า กล้ำกลืน

จังใด ๆ ข้อยก็…คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. มาถึงตอนที่ ๔ แล้ว
ก็เลยถือโอกาสนี้ “บาศรีสูตรขวัญ” พี่น้องหมู่เฮากันส่งท้ายเสียเลย

ส่วนเรื่องว่า ทำไมจึง “บาสี หรือ บาศรีสูตรขวัญ” ไม่ใช่พูดเขียนว่า “บายศรีสู่ขวัญ” เหมือนดังที่ใช้กัน(ผิดจากบรรพชนคนลาวเก่าเดิมมา) ให้เห็นอยู่ทั่วไปในอีสานบ้านเฮาหรือที่อื่น ๆ ในเมืองไทยเวลานี้ อย่างที่เขาเขียนหัวเรื่องไว้ใน VDO ที่นำมาแปะไว้ให้ชมกันต่อไปนี้นั้น

….หากท่านใดอยากรู้ ก็ต้องติดตามมา คิดฮอดเมืองลาว ตอนที่ 5 ผ่านกลุ่มบล็อก Lao study – ลาวศึกษา นี้ ก็แล้วกัน เด้อพี่น้องเด้อ
….อะ อะ …. จะมี “สูตรขวัญ” (สวดขวัญ เรียกขวัญ) แบบเมืองลาวแท้ ๆ มาให้ดูชมด้วยนะเอ้า

ตอนนี้ ขอเชิญท่านผู้มีเกียรติดูชม "ฟ้อนบายศรี" แบบประยุกต์ของลาวอีสานบ้านเฮา แบบว่าร่วมสมัย ไปพลางก่อน ละกัน


Ponglang Ubon Isaan รำบายศรีสู่ขวัญ วงโปงลางอุบลราชธานี

About This VDO: โดย อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์
From: JQUE06 Added: January 23, 2007
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=j0l9deFiH_4



รำบายศรี (ฟ้อนบายศรี วงโปงลางมรดกอีสาน)

About This VDO: "รำบายศรี เป็นการรำที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อมีแขกมาเยือน ส่วนใหญ่จะประกอบเพื่อเป็นสิริมงคล ในพิธีจะมีพานบายศรีและพราหมณ์ผู้ทำพิธี เนื้อร้องก็จะอธิบายถึงความสวยงาม ของบายศรี และเป็นการเรียกขวัญ พอรำเสร็จก็จะมีการผูกข้อมือแขกด้วยฝ้ายขาว ซึ่งผ่านพิธีกรรมแล้วถือว่าฝ้ายที่ใช้ผูกนั้นจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข" (อ้างจากเว็บไซต์ เอกสารประกอบการสอนวิชาดนตรีอีสาน 1 เรียบเรียงโดยอ.สุรพล เนสุสินธ์ สาขาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น )
From: maxbravo Added: May 06, 2006
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=v05ER1TAyZc


เพลง: ฟ้อนบายศรี
คำร้องทำนอง: อาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล
ท่าฟ้อน/ท่ารำ: อาจารย์พนอ กำเนิดกาญจน์
(วิทยาลัยครูอุดรธานี / มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี)

มา...เถิดเย้อ มาเยอขวัญเอย มาเย้อ..ขวัญเอย
หมู่...ชาวเมืองมา เบื้องขวานั่งซ่ายล่าย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว
ยอ..พาขวัญ ไม้จันทร์เพริศแพร้ว
ขวัญ.มาแล้ว มาสู่ คีงกลม

เกศ..เจ้าหอมลอยลม ทัดเอื้องชวนดม เก็บเอาไว้บูชา
ยาม..ฝนพรำเจ้าอย่าแข็ง แดดร้องแรงเจ้าอย่าคลา
(คำร้องเดิมว่า "ยามเมื่อฝนเจ้าอย่าคลาย ยามแดดสายเจ้าอย่าคลา")
อยู่.ที่ไหนจ่ง(เดิมว่า"จุ่ง")มา รัดด้ายไสยา(ดู->ด้ายสายสิญจน์) มาคล้องผ้าแพรกระเจา

อย่า...เพลินเผลอ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
อยู่..แดนดินใด หรือฟ้าฟาก(เดิมว่า "ฟากฟ้า")ไกล ขอให้มาเฮือนเฮา
เผือ..อย่าคิดอาลัยซู้เก่า ขออย่าเว้า ขวัญเจ้าจะตรม

หมอก..น้ำค้างพร่างพรม ขวัญอย่า.เพลินชม ป่าเขาลำเนาไพร
เชิญ..ไล้ทาประทินกลิ่นหอม ชมพวงพยอมให้ชื่นใจ
(เดิมว่า "เชิญมาทัดพวงพยอม ทาน้ำหอมให้ชื่นใจ")
เหล่า..ข้าน้อยแต่งไว้ ร้อยพวง..มาลัย มาคล้องให้สวยรวย.








posted by a_somjai on Sunday , December 9, 2007 @ 4:59 AM
<<กลับหน้าหลัก Lao Study - ลาวศึกษา >>




Create Date : 09 ธันวาคม 2550
Last Update : 4 ตุลาคม 2551 21:42:01 น. 1 comments
Counter : 4316 Pageviews.

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:19:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.