<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. (2)

เรื่องต่อเนื่องจาก [ คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. (1)]



จะว่าไปแล้ว
เรื่อง คนลาวอพยพ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แปลกประหลาด อะไรดอก เพราะว่า…
การย้ายถิ่น การอพยพ หรือว่า การเคลื่อนย้าย ของประชากร พลโลก เป็นปรากฏการณ์สามัญที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั่วโลก จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมประชากรของชาวโลกเมืองมนุษย์ก็ว่าได้…..

หากจะอ้างอิงวิชาการกันเสียหน่อย ก็ขอนำมาบอกกล่าวกันว่า แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก(Anders Hjorth Agerskov) ยังบอกกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2005/2548 เลย สรุปได้ดังนี้


- ประมาณ 3% ของประชากรโลกเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานข้ามรัฐข้ามประเทศ ก็ตีว่ามีอยู่ราว 175 ล้านคนที่ต้องระหกระเหินไปอยู่นอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น มีคนต่างด้าว (เกิดต่างประเทศ) อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 10% ของพลเมืองสหรัฐฯ, และคนด่างด้าวในประเทศแถบยุโรปมีอยู่ประมาณ 5% ของพลเมืองยุโรป เป็นต้น. สมมติว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นเหล่านี้ (migrants) ได้มาอาศัยรวมกันอยู่ในบริเวณแหล่งเดียวกันแล้วละก็ ถิ่นประเทศนั้นก็จะมีขนาดประชากรใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกเลยทีเดียวเชียวแหละ ที่ว่ามานี้ขนาดว่ายังไม่รวมประชากรโลกบางส่วนที่ยังไม่อาจรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของพวกเขาได้ชัดเจน อย่างพลเมืองที่เข้าไปทำงานข้ามไปมาระหว่างชายแดนรัฐต่าง ๆ เป็นต้น (ก็ลองนึกเห็นภาพ “แรงงานข้ามรัฐ” แถวเมืองชายแดนไทย เป็นต้นว่า ชายแดนติดพม่า…แม่สาย แม่สอด, ติดเมืองลาว…. หนองคาย มุกดาหาร นครพนม และอุบลราชธานี, ไหนจะแถวพรมแดนไทย-กำพูชา และจังหวัดภาคใต้ที่ติดต่อกับฝั่งทะเลพม่า หรือเขตแดนมาเลเชีย ลองวาดภาพดูก็แล้วกัน)

- ว่ากันว่า การเคลื่อนย้ายอพยพของพลโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1800/พ.ศ. 2343 [ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2310 - 2367)] เป็นต้นมา แล้วก็ต่อมาจากช่วงเวลาระหว่าง ปี 1870/2413 [ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 - 2453)] คาบเกี่ยวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีการอพยพโยกย้ายของเหยื่อสงครามโลกครั้งแรกนี้ เฉพาะผู้คนพลเมืองชาวยุโรปมากกว่า 50 ล้านคน ชาวยุโรปเหล่านั้นหนีภัยสงครามจากภาคพื้นยุโรปไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา, แคนนาดา, ลาตินอมริกา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์, ขณะที่พลเมืองผู้ยากจนชาวเอเชียบางส่วน ราว ๆ 50 ถึง 60 ล้านคนเป็นผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยัง the West Indies , Africa และ แหล่งอื่น ๆ . ต่อจากนั้นมาจนหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในรายงานเดียวกันนี้บอกว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานก็เริ่มชะลอตัวลงในระหว่างช่วงปี 1965-1975/ 2508-2518 (อัตราการเคลื่อนย้ายของประชากรทั่วโลกลดลงเหลือเพียง 1.16% ต่อปี) เมื่อเปรียบเทียบกับการเพิ่มของประชากรพลเมืองทั่วโลก แต่อัตราการอพยพแรงงานก็กลับเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 15 ปีต่อมา กล่าวคือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างช่วงปี1985-1990/2528-2533 , คือเพิ่มสูงขึ้นเป็นปีละ 2.6% เท่ากับหนึ่งเท่าของสถิติปี 1960s/2503 เป็นต้นมา, ส่วนว่าหากมองไปในอนาคตข้างหน้าแล้วละก็ จากรายงานขององค์การระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับการอพยพ [(รายงานปี 2003/2546) โดย International Organization for Migration (IOM) ] คาดการณ์ว่า จำนวนทั้งหมดของผู้อพยพในปี 2050/2593 จะเท่ากับร้อยละ 2.6 ของประชาการโลกทั้งหมด

- ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ผู้สนใจควรจะรู้ไว้ คือว่าประเทศในทวีบยุโรปและทวีปเอเชียไม่เพียงแต่เป็นผู้ส่งออกผู้อพยพเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรองรับเอาผู้อพยพในลักษณะการแลกเปลี่ยนผู้คนระหว่างกันในอัตราสูงอีกด้วย กล่าวคือ ยุโรป 33% และเอเซีย 28%, ส่วนจุดหมายปลายทางที่สามของผู้อพยพ ก็เป็นอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ คือผู้อพยพส่วนมากจะเล็งไปที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ คิดเป็นจำนวนมากถึง 23% ของผู้อพยพทั้งโลกเราในเวลานี้เลยทีเดียว

ที่มา: Seminar Number 14: Remittances and Migration — Emerging Links with Poverty By Anders Hjorth Agerskov, Senior Policy Officer, International Affairs, World Bank เสนอรายงานไว้ในการประชุมสัมมนา จัดโดยธนาคารโลก เรื่อง Global Development Challenges Seminar Series, A Pilot Program, April-July, 2005 ที่มหาวิทยาลัยโกเบและฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2005/2548





คุยกันถึง การอพยพของประชากรในโลก ในกรอบของ การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามรัฐข้ามประเทศ เสียยืดยาว จนดูเหมือนจะออกนอกเรื่องเมืองลาว หรือ ลาวศึกษา - Lao Study ไปไกลโขเสียแล้ว

แต่ก็นั้นแหละ เราต้องยอมรับว่า ในยุคตลาดไร้พรมแดนหรือแรงงานไร้พรมแดน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า Global, Globally, Globalization อย่างทุกวันนี้ ไม่มีใคร ใผ ผู้ใด หรือว่าประเทศชาติ ชุมชน บ้านเมืองใดในโลกนี้ที่จะอยู่อย่างโดยเดี่ยว ไม่เกี่ยวข้องกับประชาคมโลกทั้งหมดทั้งมวล ได้อีกต่อไปแล้ว

เมื่อโลกแคบลงเป็นเหมือนหมู่บ้านเดียวกัน
คนลาวอพยพ คนลาวในต่างแดน ก็ตกอยู่ในกรอบ บริบท แวดล้อม ของเหตุปัจจัยให้เป็นมา เป็นอยู่และเป็นไป ไม่ต่างจาก ประชากรผู้อพยพชาวโลก เท่าใดนัก และมีขอบเขตที่เจ้าของบล็อกนี้สามารถจะยื่นหน้า หู ตา จมูก/ดัง ปาก ไปหยิบยกเอามาเล่าสู่กันอ่าน/กันฟังได้มากมาย ไม่รู้สุดสิ้น

ดังนั้นก็จะคัดเลือกเอามาเล่าสู่กันพอหอมปากหอมคอก็แล้วกัน คิดว่าแม้ข้อมูลที่คว้าหามาได้จะมีไม่มากนัก แต่ก็ยังทำให้เราพอมองเห็นภาพอะไรต่อมิอะไรได้บ้าง

สำหรับบล็อกเรื่องนี้ คงต้องเอาไว้ว่าต่อกัน ตอนหน้า
เพราะโพสต์กรอบหนึ่ง ๆ ยาวไป คนอ่านบล็อก มักเบื่อข่าวสารข้อมูลกัน

สำหรับวันนี้
ขอตบท้ายด้วย เพลงในท่วงทำนองรำวงของคนลาว
อันได้สะท้อน ความคิดนึกของ ชาวลาวต่างแดน ผู้ย้ายอพยพไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ด้วยเหตุอันใดก็ดี
แล้วพวกเขาก็คิดถึง “เมืองลาว” อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน
จนต้อง ถ่ายทอดส่วนลึกภายในใจ ออกมาในรูปบทเพลง ส่งถึง “เพื่อนลาว” ทั้งหลาย ผู้พลัดพรากจากบ้านเมืองออกมาดิ้นรน ทำงานหาเลี้ยงชีวิตในโลกกว้าง ต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค์นานับประการเช่นเดียวกัน
แล้วก็ลงทุนลงแรงบันทึกเสียงและภาพลง VDO นำออกเผยแพร่สู่กันไว้ในรูปสื่อต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันความรู้สึกระหว่างกัน
และ โดยเฉพาะการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์นี้ไว้บนโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อสื่อสารถึงกันได้ทุกที่ทุกเวลา

ท่านผู้อ่านครับ…ขอเชิญรับชมรับฟังเพลง
“สบายดี เพื่อนลาว”
ได้ ณ บัดนี้


sabaydi pheuane Lao

From: kapimok (กะปิหมก) Added: March 21, 2007
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=Q6GXlbUwdyQ



เพลง: สบายดีเพื่อนลาว
ผลงานของ: พน อ้วนสวัสดิ์
ขับร้องโดย: จันทะรา และ บุนสอน

สบายดี*บ่ เพื่อนลาวเจ้าเอย
แต่ก่อนนี้เคยมีความสุขี
ต้องจากเฮือนซานบ้านเกิดเมืองนอน
ซ้อน*ตัวอยู่นี้ สูญสิ้นศักดิ์เสียแล้วหรือนั้น

สบายดีบ่ เพื่อนลาวทั้งหลาย
หญิงชายน้อยใหญ่ คงได้เวียกการ*
ตั้งจิตทำงาน เพิ่มพูนวิชาหาเลี้ยงชีวัน
ด้วยจิตเบิกบาน สำราญไมตรี

จงฮักฮ่วมกัน ฮ่วมจิตสัมพันธ์ เสริมสร้างความสามัคคี
ชาติลาว จะมี ชาติจะเฮืองศรี ก็ลาวเฮานี้ มีความปรองดอง

สบายดีบ่ ชาติลาวนี้หนา
ลุง อาว* น้า อา อย่าลืม อย่าหลง
จะกลับเมืองลาว จะต่าว* คืน เมือ เพื่อญาติวงศ์
เสริมสร้างให้คงถาวรต่อไป



หมายเหตุของ a_somjai:

*สบายดีบ่ นอกจากเป็นคำถามไถ่ทุกข์สุขกันแล้ว สบายดี ยังใช้เป็นคำทักทายของคนเมืองลาว ส่วนคนที่เมืองไทยใช้ทักทายกันว่า สวัสดี

*ซ้อน ร้องว่า ซ้อนตัวอยู่นี้ แปลว่า ทับกันอยู่นี้ แต่หากเว้าว่า ซ่อนตัวอยู่นี้ จะแปลว่า บัง แอบแฝงอยู่นี้

*เวียก การ งาน ความจริงแล้วทางล้านนาเชียงใหม่ แต่เดิมมาก็คงมีคำว่า เวียก การ ใช้อู้อยู่ เพราะในผู้สูงอายุตามชนบทก็ยังมีใช้คำนี้พูดกันอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้เหลือเพียงคำอู้ว่า การ งาน เท่านั้น มีหลักฐานในวรรณกรรมล้านนาอ้างอิงถึงการใช้คำว่า เวียก การ นี้อยู่ อย่างเช่นตำนานมูลสาสนา สำนวนล้านนา รจนาโดย พระมหาเถระพุทธญาณ และพุทธกาม พระภิกษุชาวเชียงใหม่ เล่าตอนที่หมู่คนที่มาจากเมืองละโว้กับนางจามเทวีเพื่อมาสร้าง เมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน)นั้น เมื่อนางจามเทวีไปลาขอพรพระยาละโว้ นางได้ทูลขอคนหมู่ต่าง ๆ จากพ่อนาง ว่าดังนี้ “ข้าจักขอเอามหาเถระเจ้าหลายฝูงทรงปิฎก ผ้าขาวทังหลาย (คือ)ฝูง(ผู้ที่)ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ ก็ได้ บัณฑิต ช่างจลัก(แกะสลัก) ช่างแก้วช่างแหวน พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง (คนมีเงินมีทองมีฐานะดี) หมอหูรา หมอยา ช่างเงิน ช่าง(ทอง)คำ ช่างตีเหล็ก ช่างแต้ม หมู่ช้างทังหลาย หมู่พ่อค้าทังหลาย หมู่พ่อเวียกพ่อการทังหลาย(คนคุ้มงานอย่างเรียกพ่อครัวแม่ครัวเป็นต้น) เพื่อเป็นประโยชน์ภายในภายนอกแล”

*อาว อา คำเรียกลำดับเครือญาติ คนไท-ลาวแต่เดิม ใช้เรียกน้องของพ่อ ถ้าเป็นผู้หญิงเรียก อา, เป็นผู้ชายเรียก อาว อย่างในวรรณคดีเรื่องสังข์ศิลป์ชัย มีคำประพันธ์ว่า "ขอให้อาได้เห็นอาวยามน้อย" และในมหากาพย์เรื่อง ท้าวฮุ่งขุนเจือง ว่า "เขาพี่น้องเนืองสู้ช่อยอาว" คำ ช่อย ซ่อย หมายว่า ช่วย ช่วยเหลือ, อนึ่งเรื่องความสำคัญของญาติฝ่ายข้างพ่อนี้ ในตำนานจามเทวีวงส์ เนื้อหาส่วนที่อยู่ใน "มูลศาสนา สำนวนล้านนา" ที่แต่งโดยพระภิกษุชาวเชียงใหม่ ตอนที่นางจามเทวี อพยพมาจากเมืองละโว้ เพื่อมาสร้าง เมืองหริภุญชัย นั้น เมื่อจะปรึกษาหารือผู้รู้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ติดตามมาด้วยกัน พระนางก็มักจะเอ่ยอ้างอิงถึงบรรดาญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อ ใช้คำเรียกว่า "อา อาว" ดังกล่าวนี้อยู่เสมอ

*ต่าว คืน เมือ กลับ คำว่า คืน เมือ กลับ มีความหมายเดียวกัน ส่วนทางล้านนา เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา ฯ ในปัจจุบันนอกจากใช้คำดังกล่าวแล้ว ยังอู้ว่า พลิก ออกเสียงว่า ปิ๊ก หมายถึง กลับ คืน เมือ อีกด้วย, ส่วนคำว่า ต่าว นั้น ล้านนาใช้ในภาษาเขียนว่า ต่าว หรือ ท่าว ภาษาพูดออกเสียงว่า ต่าว แปลว่า หกล้ม (ส่วน โค่น ที่หมายถึง ล้ม หรือ ทำให้ล้มลง คำปากคนเมืองเหนือว่า โก่น)



posted by a_somjai on Tuesday , December 4, 2007 @ 5:04 PM
<<กลับหน้าหลัก Lao Study - ลาวศึกษา >>



Create Date : 04 ธันวาคม 2550
Last Update : 16 มีนาคม 2551 17:00:19 น. 4 comments
Counter : 1006 Pageviews.

 

i like Laos.


โดย: Nagano วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:7:51:42 น.  

 
อยากไปเที่ยวประเทศลาวบ้างจัง
มิวสิค นี่เค้าทำเก่งจัง ตัดต่อภาพดีนะ เสียงโอเคเลย


โดย: อินทรีทองคำ วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:12:04:11 น.  

 
สบายดี
อินทรีทองคำ

หายหน้าไปเป็นปีเชียว
นึกว่า
กิจการค้าคงเจริญรุ่งเรือง จนลืมเพื่อน ๆ บล็อกเสียแล้ว

555

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม ทักทายเพื่อนเก่า


โดย: a_somjai วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:13:01:52 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:22:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.