เช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) จุดตรวจผ่านแดนในยุคสงครามเย็น

            จุดเช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie)  เป็นจุดตรวจผ่านแดนในอดีตในยุคสงครามเย็น ที่กั้นประชาชนชาวเยอรมัน 2 ฝ่าย คือฝั่งเสรีประชาธิปไตย (ฝั่งตะวันตก) ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรดูแลอยู่ และฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ฝั่งตะวันออก) ซึ่งประเทศรัสเซียดูแลอยู่ ตั้งโดยองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO: North Atlantic Treaty Organization) ซึ่งเป็นองค์การที่ฝ่ายพันธมิตรซึ่งปกครองเยอรมนีตะวันตกในขณะนั้น  จุดตรวจผ่านแดน (Checkpoint Charlie) คำว่า "Charlie" เป็นชื่อใช้เรียกตัวอักษรในการสื่อสาร คือตัวอักษร "C" ตามการสื่อสารวิทยุขององค์กรนาโต (NATO) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือนั่นเอง

 

              เช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) เป็นสถานที่สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นอีกแห่งหนึ่ง และยังเป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงความพยายามอย่างมากและหลากหลายรูปแบบของคนที่ต้องการจะหลบนี้มาจากเบอร์ลินตะวันออกมายังฝั่งตะวันตก 



           จุดตรวจผ่านแดนต่างๆ ในเบอร์ลินในยุคนั้น มี 3 จุดด้วยกัน มีชื่อเรียกเรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ได้แก่
           1) จุดตรวจผ่านแดนอัลฟา (Checkpoint Alpha ; A) ในเขตเฮล์มสเต็ดท์ (Helmstedt) อยู่ในความดูแลของฝรั่งเศส
           2) จุดตรวจผ่านแดนบราโว (Checkpoint Brovo ; B) ในเขตเดรียลินเดน (Dreilinden) อยู่ในความดูแลของอังกฤษ
           3) จุดตรวจผ่านแดนชาร์ลี (Checkpoint Charlie ; C) ที่ถนนฟรีดริชสตราสเซอ (Friedrichstraße) ซึ่งเช็คพอยท์ชาร์ลีนั้นเป็นจุดผ่านแดนแห่งที่สามที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายพันธมิตร อยู่ในความดูแลของสหรัฐอเมริกา เป็นจุดตรวจผ่านแดนจุดเดียวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ได้ปรับเปลี่ยนหน้าที่จากจุดตรวจผ่านแดนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเท่านั้น





            โดยผู้ที่สามารถผ่านเข้าออกได้มีเพียงแค่นักการทูตและชาวต่างชาติเท่านั้น จุดเช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) ด่านข้ามกำแพงเบอร์ลินในดินแดนการรักษาระหว่างเขตปกครองของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 1961 หลังจากการเริ่มสร้างกำแพงเบอร์ลินได้เพียงไม่ถึง 5 สัปดาห์ เป็นจุดตรวจที่สามที่เปิดโดยฝ่ายพันธมิตรในกรุงเบอร์ลิน



            บรรยากาศจุดเช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) ในยุคสงครามเย็นในอดีตเปรียบเทียบกับบรรยากาศจริงในปัจจุบัน อาคารจุดเช็กพอยท์ยังเหมือนเดิมแต่บรรยากาศล้อมรอบเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ดูมีชิวิตชีวา สดใสขึ้นมาก

    
             
              จุดเช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie) หากมองจากฝั่งตะวันออกจะเห็นแผ่นป้ายรูปถ่ายหน้าตรงของทหารรัสเซียที่ไม่ปรากฎชื่อว่าเป็นผู้ใด             



 
              หากมองจากฝั่งตะวันตก มายังแผ่นป้ายนี้ จะเห็นรูปถ่ายหน้าตรงของทหารอเมริกัน ปรากฎชื่อว่า ส.อ.เจฟ ฮาร์เปอร์ (Sergeant Jeff Harper) 



            ปัจจุบันทหารของ Checkpoint Charlie ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบหนังสือเดินทางอีกแล้ว แต่เป็นจุดที่ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกกับทหารปลอมที่มายืนโพสท่าในบรรยากาศย้อนยุค  



            บริเวณรอบๆ ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร และสินค้าแผงลอยให้เลือกซื้อไปเป็นของฝาก เช่น หมวกทหารรัสเซีย หรืออุปกรณ์ ของใช้ที่เกี่ยวกับช่วงสงครามเย็นก็มีให้เลือกตามใจชอบ รวมถึงชิ้นส่วนกำแพงเบอร์ลินที่ตัดมาขายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวด้วย


   
            หากมีโอกาสได้มาเยือนนครเบอร์ลินอย่าลืมมาเช็คอิน สถานที่ประวัติศาสตร์จุดตรวจผ่านแดนชาร์ลี (Checkpoint Charlie) แห่งนี้ 
 




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2563   
Last Update : 11 สิงหาคม 2563 10:58:49 น.   
Counter : 1783 Pageviews.  


East Side Gallery แกลเลอรี่กลางแจ้งที่ใช้กำแพงเบอร์ลินจัดแสดง

            อีสต์ ไซด์ แกลเลอรี่ (East Side Gallery) เป็นแกลเลอรี่กลางแจ้งขนาดใหญ่ที่ใช้กำแพงเบอร์ลินเป็นสถานที่ในการจัดแสดง ภาพเหล่านั้นถูกวาดลงบนกำแพงจริงๆ ไม่ใช่ภาพในกรอบรูปที่เอามาติดเอาไว้ เป็นงานฝีมือ ที่แสดง ความรู้สึก อารมณ์ ที่ถูกแสดงออกจากศิลปินจำนวนมาก หลากหลายเชื้อชาติ



             ความยาวของ อีสต์ ไซด์ แกลเลอรี่ (East Side Gallery) คือแนวกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในส่วนที่เหลืออยู่ 1.3 กิโลเมตร ที่ยังคงเก็บอนุรักษ์ไว้ซึ่งถือว่าเป็นกำแพงส่วนที่ยาวที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน  ที่นี่มีภาพเขียนมากมายไม่ซ้ำแบบ ไม่ซ้ำไอเดีย จนกลายเป็นแกลลอรี่กลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ใครๆต้องไปเดินชม แต่กว่าจะชมให้ครบ ก็ต้องใช้เวลามากอยู่พอสมควร



             การชม อีสต์ ไซด์ แกลเลอรี่ (East Side Gallery)  ทำให้เราทราบแนวคิด ที่สื่อออกมาของศิลปินแต่ละท่าน ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อด้านลัทธิการปกครองที่ทำให้เกิดกำแพงเบอร์ลินกั้นคนในชาติเดียวกันให้แยกจากกัน สิ่งเหล่านี้เป็นความกดดันและผลักมันออกมาเป็นภาพจิตรกรรมบนกำแพงแห่งนี้หลังมีการรวมชาติ



           ภาพวาดตลอดแนวกำแพงยาว 1.3 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งกำแพง กว่า 100 ภาพขนาดใหญ่ แต่ละภาพมีมิติ ความลึก มีความหมายในตัวมันเอง  แกลเลอรี่แห่งนี้เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเพียง 3 เดือน โดยศิลปิน 118 คนจาก 21 ประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองอิสรภาพด้วยงานศิลปะ โดยการวาดลงบนกำแพงฝั่งตะวันออกของกำแพงเบอร์ลิน หวังให้เป็นไปได้ที่มันจะเป็นห้องแสดงภาพกลางแจ้งที่ใหญ่ และคงทนที่สุดในโลก 



                 ภาพแต่ละภาพ อาจไม่ได้เน้นความสวยแบบโรแมนติค คลาสสิค แต่มีความลึก มีทั้งแสดงถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยวมนุษยชาติ การใส่โซ่ตรวนให้ผู้คน การวิ่งหนีจากกำแพงเพราะต้องการอิสรภาพ ความยุ่งเหยิงที่ปรากฏเหมือนภาพแอพสแตร็ก



                การเลือกใช้สีเข้ม สีอ่อน ภาพสี ภาพลายเส้น ตัวอักษรสั้นๆ สื่อความหมายทันที หรือบางครั้งก็ต้องตีความอีกครั้งว่าหมายถึงสิ่งใด





        ด้วยระยะทางของแกลลอรี่ที่เน้นความยาวตลอด 1.3 กิโลเมตร ไม่ได้ทำให้เราเบื่อเลย ด้วยการสื่อนำเสนอเป็นรูปภาพของเหล่าศิลปิน กลับทำให้เราเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจไปด้วย ระหว่างการชมภาพในแกลลอรี่




 

            ภาพสตรีตอาร์ตที่โด่งดังมากที่สุดในโลกภาพหนึ่ง นั่นก็คือภาพ “Fraternal Kiss” โดย ดิมิทรี วรูเบล (Dimitri Vrubel) ศิลปินชาวรัสเซีย ซึ่งวาดล้อเลียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1979 เป็นภาพการจูบปากกันของ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) ผู้นำโซเวียต และ เอริค โฮเน็กเกอร์ (Erich Honecker) ผู้นำเยอรมันตะวันออก



       ทุก ๆ วันจะต้องมีนักท่องเที่ยวรุมต่อคิวถ่ายรูปกับภาพนี้ เมื่อเราเดินตามแนวกำแพงไปเจอคนรุม ๆ ก็จะรู้แล้วว่าเดินมาถึงไฮไลต์ของกำแพงเบอร์ลินแล้ว 




           กำแพงเบอร์ลินอาจเป็นสิ่งเลวร้ายในยุคนั้น แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวเบอร์ลินในปัจจุบัน เหมือนกับว่าพวกเขาได้อุทิศช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิตสร้างมรดกอันล้ำค่านี้ส่งมอบให้คนรุ่นหลัง หากมาเบอร์ลินให้มาเช็คอินที่อีสต์ ไซด์ แกลเลอรี่ (East Side Gallery) แห่งนี้ครับ




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2563   
Last Update : 11 สิงหาคม 2563 10:59:38 น.   
Counter : 2125 Pageviews.  


กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) สัญลักษณ์ของสงครามเย็น

              กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) เป็นกำแพงที่ถูกสร้างขึ้นโดยฝั่งโซเวียต เป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็น เริ่มต้นจากหลังครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยอรมันถูกแบ่งการควบคุมเป็นสองฝั่ง ฝั่งตะวันตกเป็นเสรีประชาธิปไตย ส่วนฝั่งตะวันออกปกครองโดยประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์
 


          เมืองเบอร์ลิน (Berlin) ก็ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนเช่นกัน  คือฝั่งตะวันออกถูกยึดครองโดยรัสเซียซึ่งเป็นโลกสังคมนิยม ส่วนฝั่งตะวันตกถูกควบคุมโดยเป็นฝ่ายเสรีอยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประเด็นที่สำคัญคือพื้นที่ทั้งหมดของนครเบอร์ลินตะวันตกที่เป็นโลกเสรี อยู่ในส่วนพื้นที่ของเยอรมันตะวันออก แปลว่าส่วนของเบอร์ลินตะวันตกถูกห้อมล้อมด้วยฝ่ายโซเวียตทุกทิศทุกทาง 



           ภายใต้ชะตากรรมที่นครเบอร์ลินเป็นจุดกันชนของสองระบบการปกครอง และยังถูกซ้ำเติมโดยมีการสร้างกำแพงโดยสหภาพโซเวียตขึ้นมาแบ่งพื้นที่เมืองเบอร์ลินออกเป็นสองฝั่ง จากญาติพี่น้อง เพื่อน ถูกแบ่งแยก และกั้นขวางเสรีภาพด้วยกำแพง  กำแพงเบอร์ลินนี้มีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตร เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)



                จุดประสงค์การสร้างที่ทำเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเยอรมันฝั่งตะวันออกที่ถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่เห็นความต่างของทั้งสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้คนของสองฝั่งประเทศและต้องการหนีไปอยู่ฝั่งตะวันตก



            กำแพงเบอร์ลินที่มีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตรเมตร เป็นกำแพงที่มีความสูง 3.6 เมตร กว้างของแต่ละบล็อก 1.2 เมตร   รวมถึงหอคอยตรวจตากว่า 300 จุด ขณะที่ยังมีกำแพงส่วนที่เป็นรั้วลวดหนามอีกยาว 66.5 กม. แม้ว่าจะเป็นกำแพงสูงและแข็งแรง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนพยายามหลบหนีและถ้าถูกจับได้มีโทษสถานเดียวคือ ตาย   



           มีเรื่องเล่าว่า ถ้าใครพยายามจะหลบหนีเพื่อข้ามกำแพงไปฝั่งตะวันตกละก็จะโดนยิงทิ้งทันที ที่น่าเศร้าคือผู้เสียชีวิตจากการหลบหนี 137 ศพ หลังจากสร้างกำแพง 28 ปี ได้เกิดการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน มีการทุบทำลายและรื้อถอนกำแพง แต่ยังมีร่องรอยหลงเหลือไว้เป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ มีแนวสัญญาลักษณ์เขตตลอดแนวกำแพงที่ทุบทำลายไปแล้ว ให้เห็นกันทั่วกรุงเบอร์ลิน 



         ปัจจุบันสามารถแกะรอยตามเส้นทางแนวของกำแพงเบอร์ลินได้ตามถนนบางสายของกรุงเบอร์ลิน ซึ่งจะมีการทำเครื่องหมายไว้ให้เห็นเด่นชัด บางที่พ่นสีและมีอักษรบอกชัดเจนว่าส่วนไหนคือ ฝั่งตะวันออก (OST) และฝั่งตะวันตก (WEST)



             ร่องรอยกำแพงเบอร์ลินหลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์แห่งประวัติศาสตร์ ให้นักท่องเที่ยวไปตามรอย จะเห็นแนวสัญญาลักษณ์เขตตลอดแนวกำแพงที่ทุบทำลายไปแล้ว ให้เห็นกันทั่วกรุงเบอร์ลิน 



            สุดท้ายกำแพงเบอร์ลินนี้ก็พังลงในปี ค.ศ. 1989 ทุกวันนี้เหลือแต่เพียงซากกำแพง ที่มีความยาวเพียง 1.3 กิโลเมตร ที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้เป็นหนึ่งในเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งเคยแบ่งแยกดินแดนกัน บริเวณนี้เรียกว่า อีสต์ ไซด์ แกลเลอรี่ (East Side Gallery)




           
          อีสต์ ไซด์ แกลเลอรี่ (East Side Gallery) ช่วงกำแพงที่ที่เหลือ  ขนานไปกับแม่น้ำสเปร์ (Spree) และถือเป็นกำแพงส่วนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ณ ปัจจุบัน แนวกำแพงช่วงนี้ถูกแต่งแต้มสีสันเล่าเรื่องราวโดยศิลปินจำนวนร้อยกว่าคนจากนานาประเทศ กลายเป็นสตรีทอาร์ตแกลเลอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราจะไปชมกันในบล็อกต่อไปครับ  




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2563   
Last Update : 2 กันยายน 2563 15:33:59 น.   
Counter : 5094 Pageviews.  


อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust: The Memorial to the Murdered Jews of Europe)

            อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (The Memorial to the Murdered Jews of Europe) หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ Holocaust Memorial เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวผู้บริสุทธิ์กว่า 6 ล้านคนที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ไร้ซึ่งมนุษยธรรม โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี





         
 รัฐสภาเยอรมันได้จัดตั้งอนุสรณ์นี้ขึ้น โดยจัดหาผู้ออกแบบจากผู้ที่ผ่านการเข้าแข่งขัน และผู้ชนะคือ สถาปนิกจากนิวยอร์กชื่อ Peter Eisenman เขาได้ออกแบบให้อนุสรณ์สถานแห่งนี้ โดยใช้พื้นที่ 19,000 ตารางเมตร เป็นที่กลางแจ้ง เปิดโล่ง ทั้งหมด



            แนวความคิดในการออกแบบ โดยการนำบล็อกคอนกรีตจำนวน 2,711 บล็อก ในความสูงที่ไม่เท่ากัน สูงบ้างต่ำบ้าง บนพื้นที่ที่มีความเอียงลาด จะทำให้มองเห็นบล็อกคอนกรีตลักษณะคล้ายเป็นคลื่น เพื่อต้องการสื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชม ได้รับรู้ถึงช่วงเวลาของความรู้สึกหวาดกลัวในความไม่แน่นอน เหมือนที่ผู้บริสุทธิ์ชาวยิวเหล่านั้นต้องพบเจอในห้วงเวลานั้นนั่นเอง

           บล็อกคอนกรีตที่นำมาวางในเป็นอนุสรณ์สถาน  การจัดเรียงตัวเป็นแถวเป็นแนว มองอีกทีคล้ายๆ กับโลงศพ แต่ ณ จุดนี้กลายเป็นมุมให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก บางมุมคือความงามของศิลปะสถาปัตยกรรม และมีต้นไม้เขียวเพียงเล็กน้อย เหมือนตั้งใจให้ดูเหมือนบรรยากาศแบบอึมคลึมไม่ต้องการให้มีความสดใสนัก


 
              อนุสรณ์สถานสงครามโลกในโลกหลาย ๆ แห่ง ส่วนใหญ่คล้ายๆ กัน คือถูกสร้างสุสานเล็กๆ เรียงเป็นระเบียบ ประดับตกแต่งสวยงาม แต่สำหรับที่นี่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีความขรึม และไม่เน้นความสดชื่นนัก





                  อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (The Memorial to the Murdered Jews of Europe) แห่งนี้อยู่ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ไม่ไกลจากประตูเมืองบรันเดนบูร์ก (Brandenburg Gate) และรัฐสภาเยอรมัน (Reichstag) สามารถเยี่ยมชมได้โดยสะดวกเนื่องจากอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน


            พอซูมดูจากภาพอาคารรัฐสภาเยอรมัน (Reichstag) อยู่ด้านหลังนี่เอง สามารถเดินเที่ยวชมได้เลย  หากมาเยี่ยมชมนครเบอร์ลิน อย่าพลาดมาชมอนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (The Memorial to the Murdered Jews of Europe) แห่งนี้นะครับ

 




 

Create Date : 12 มิถุนายน 2563   
Last Update : 11 สิงหาคม 2563 11:00:37 น.   
Counter : 2614 Pageviews.  


อาคารรัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Reichstag)

           อาคารรัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Reichstag) ตั้งอยู่ในส่วนของอาคาร Reichstag ซึ่งเป็นอาคารที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดมของ Reichstag Berlin สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1894 ตามรูปแบบอาคารที่ได้รับการสร้างแบบจำลองตาม Memorial Hall ของเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา



           
อาคารไรชส์ทาค (Reichstag) ที่ตั้งของรัฐสภาเยอรมัน และโดมกระจกรูปทรงกรวยที่ตั้งอยู่เหนือห้องอภิปรายนั้น จะสะท้อนแสงอยู่ตรงกลางของอาคาร และเป็นตัวนำแสงเข้าไปข้างในตัวอาคาร Reichstag  ว่ากันว่าแสงที่สะท้อนนั้นสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากแสงธรรมชาติของอาคารได้เลยทีเดียว



             
อาคารไรชส์ทาค เป็นอาคารหลักของรัฐสภา อนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์เยอรมันเมื่อครั้งเริ่มสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ครั้งหนึ่งถูกทำลาย และการกลับมาเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนทั่วทุกมุมโลกต้องแวะไปเช็คอินเสมือนหนึ่งได้เข้าไปมีส่วนรับรู้ประวัติศาสตร์ของที่นี่


           
         
 อาคารแห่งนี้ถูกออกแบบโดยใช้ศิลปะนีโอเรอเนสซองซ์ ดูภูมิฐาน อาคารเป็นระนาบมีศูนย์กลาง และขยายไปสองข้างอย่างสมดุล เสาเป็นลักษณะกลมใหญ่ เป็นแถวและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอิตาลีแนวนี้ ตรงกลางจะมีหน้าจั่วเป็นสามเหลี่ยม มีศิลปะลายนูน ด้านบนโซนกลางจะเป็นรูปโดม



           
ที่นี่เคยใช้เป็นศูนย์กลางอำนาจทางประวัติศาสตร์ของฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการที่เคยยึดอำนาจเยอรมันเอาไว้ได้ แต่ที่นี่เคยถูกวางเพลิงและทำลายไป จนต้องทิ้งร้างเอาไว้หลายสิบปี รอจนกระทั่งมีการรวมประเทศเยอรมันสองฝั่งเข้าด้วยกัน จึงได้มีการดูแล บูรณะขึ้นใหม่ในรูปแบบเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์ อุทาหรณ์เรื่องราวในประวัติศาสตร์ อีกทั้งได้ศึกษาศิลปะสถาปัตยกรรมคลาสสิคของที่นี่


             
             
ธงเยอรมันที่ปลิวไสวอยู่ทั้งเหนืออาคารด้านข้างทั้งสองข้างและด้านหน้า สีของอาคารที่ทำให้ดูเก่ามีความขลัง ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ด้านหน้าเป็นสนามหญ้าเพื่อไม่ให้มีอะไรมาบดบังความยิ่งใหญ่ ระหว่างเสาแต่ละต้นเป็นกระจกโค้งเหมือนๆ กัน จนถึงโซนกลางที่ต้องขึ้นบันไดเข้าสู่ทางเข้าอาคาร



         
เราสามารถจองคิวเข้าชมพื้นที่ภายในอาคารได้ และมีเจ้าหน้าที่นำเยี่ยมชม โดยติดต่อที่ฝ่าย Information ที่เป็นอาคารตู้คอนเทนเนอร์ด้านหน้านี้เอง แต่วันนี้เราพลาดโอกาสเข้าชมภายในอาคารเนื่องจากมีข้อผิดพลาดทางด้านเอกสารเล็กน้อย ซึ่งหากได้ชมภายในจะทำให้เราเห็นถึงแนวคิดในการออกแบบอาคารสมัยใหม่ คือ มีระบบควบคุมสภาวะอากาศที่มีการออกแบบที่นี่ได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานไฟฟ้า  มีระบบเก็บความเย็นจากธรรมชาติในฤดูหนาวเอาไว้ด้วย




         
         
  หากมีโอกาสได้มาเยือนนครเบอร์ลินแห่งนี้ อย่าพลาดมาเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเฉพาะตัวอาคารด้านใน หากมีโอกาสภายหน้าได้เยี่ยมชมภายในอาคาร จะนำเสนอให้ชมกันครับ




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2563   
Last Update : 17 สิงหาคม 2563 13:21:05 น.   
Counter : 1667 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

camel_27
 
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add camel_27's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com