เบอร์โน (Brno) เมืองมรดกโลกของสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic)

             เมืองเบอร์โน (Brno) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) เป็นเมืองรองจากกรุงปราก(Prague) เมืองหลวงของประเทศ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ  มีประชากรประมาณ 405,337 คน เมืองเบอร์โน (Brno) ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่ถ้าหากมองในมุมประวัติศาสตร์แล้วเมืองนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกในปี ค.ศ. 2011  เมืองเบอร์โน (Brno) เป็นเมืองหลวงของแค้วนเซ้าท์โมเรเวีย ( South Moravia )  และเป็นที่รู้จักในความโดดเด่นของอาคารสถาปัตยกรรมศิลปะที่งามสง่ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์และพอล (Brno’s Cathedral of St. Peter and Paul) ที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 14



           จากการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ พบว่าในการตั้งถิ่นฐานของเมืองเบอร์โน (Brno) ครั้งแรก ประมาณปี ค.ศ.1243 และในราวศตวรรษที่ 19 เมืองนี้เป็นป้อมปราการ และหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมืองนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลักของโมราเวีย



             หากพูดถึงสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง พรมแดนทางตอนเหนือจรดประเทศโปแลนด์ ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือจรดเยอรมนี ทางใต้จรดออสเตรีย และทางตะวันออกจรดสโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก(Czech Republic)  ประกอบด้วยภูมิภาคที่เก่าแก่สองส่วน คือ โบฮีเมียและโมราเวีย และส่วนหนึ่งของภูมิภาคที่สาม เรียกว่า ไซลีเชีย ประเทศนี้ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547





          สภาพภูมิอากาศในเบอร์โน (Brno) นั้นดีมาก ไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป เป็นภูมิอากาศแบบยุโรปที่มีอุณหภูมิปานกลาง เป็นฤดูหนาวและฤดูร้อนที่อบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีมีความผันผวนประมาณ 9° C   (ในฤดูร้อน 17.8 ° C และในฤดูหนาว -1° C) ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาโดยลมตะวันตก และหิมะไม่ค่อยตก เดือนที่อากาศสบายที่สุดสำหรับการเดินทาง คือ พฤษภาคม - กันยายน



            ธรรมชาติเมืองเบอร์โน (Brno) ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่งดงามมาก สามด้านล้อมรอบด้วยเนินเขาที่เต็มไปด้วยป่าไม้ในภาคใต้ คือที่ราบเซาท์มอเรเวียใต้ และทางตอนเหนือ เมืองนี้ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำ 2 สาย คือแม่น้ำ Svitava และ Svratka พื้นที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 191-426 เมตร


           
               ภายในเมืองมีรถรางที่เป็นขนส่งมวลชนหลัก วิ่งผ่านจตุรัสใหญ่กลางเมืองที่เรียกว่า Freedom Square ที่เป็นจุดศุนย์กลางธุรกิจ การค้า และแหล่งช็อปปิ้งชั้นนำ เวลาเดินต้องระมัดระวังอาจโดยรถรางชนได้







                    เมื่อมาถึงเมืองเบอร์โน (Brno) สัญญลักษณ์ของเมืองจะเห็น Brno’s Cathedral of St. Peter and Paul ที่เป็นทั้งโบสถ์และอนุเสาวรีย์แห่งชาติ ตั้งอยู่บนเนินเขา สวยงามโดดเด่นมาแต่ไกลเลย ล้อมรอบด้วยสวนอันร่มรื่นและเงียบสงบ ถือเป็นโบสถ์ประจำเมือง มีเรื่องราวประวัติศาสตร์อันสำคัญของเมืองนี้ และยังเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมของแคว้น South Moravia ที่สำคัญที่สุด



        แม้ยามค่ำคืน บนจตุรัสกลางเมือง (Freedom Square) เป็นย่านท่องเที่ยวตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองเก่า รายล้อมไปด้วยอาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมหลายแห่ง มีเส้นทางรถรางผ่านกลางจตุรัส มีสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้งร้านค้าให้ ผู้คนยังเดินช็อปปิ้งกัน 


     
            บรรยากาศเมืองเบอร์โน (Brno) แห่งนี้สวยงามมาก ทั้งเวลากลางวันและแสงสีในเวลากลางคืน รายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเมือง เป็นอีกเมืองหนึ่งในยุโรปที่ไม่ควรพลาดการเยี่ยมชม




 

Create Date : 23 เมษายน 2563   
Last Update : 23 เมษายน 2563 10:55:59 น.   
Counter : 2782 Pageviews.  


ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz Concentration Camp) รอยแผลและความทรงจำ ตอน 5

              ออกจากอาคารด้วยอาการหดหู่ สถานที่สำคัญอีกที่หนึ่งคือ Death Wall or Black Wall ผนังแห่งความตาย หรือผนังดำ ผนังนี้ตั้งอยู่บนลานระหว่างเรือนนอนสองหลังคือ BLOCK 10 กับ BLOCK 11  (อาคาร BLOCK 10 เป็นอาคารการทดลองแสนโหดเหี้ยมต่างๆ ใช้นักโทษคนเป็นๆ มาทดลอง ส่วนอาคาร BLOCK 11 (death block) คือห้องขังที่ทรมานมากกว่าที่เห็นกันอยู่) ผนัง Death Wall or Black Wall นี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่สุดโหด ภายในค่ายเอาชวิตซ์ เพียงชั่วเวลาสั้นจากปี 1940 - 1944 ระยะเวลาเพียง 4 ปี ผนังแห่งนี้เป็นพยาน ของแห่งความโหดเหี้ยมของเหล่านาซีเยอรมันที่ยิงนักโทษกว่า 20,000 ศพ โดยผนังบริเวณที่ใช้เป็น ลานประหารโดยการยิงกระสุนเข้าบริเวณกระดูกต้นคอข้อสุดท้ายที่ต่อกับกระโหลก โดยเพชรฆาตสองหมื่นศพผู้นี้มีชื่อว่า " Rapportfürher Gerhard Palitzsch " เหยื่อของมันมีไม่เว้นแม้แต่ เด็ก และผู้หญิง  ที่มาของ ชื่อ ผนังดำ เนื่องจาก ผนังค่ายสร้างจากอิฐ จะมีฉากสร้างจากท่อนไม้ บุหน้าด้วยไม้ค็อกทาด้วยสีดำ เนื่องจากพวกนาซีกลัวว่าผนังอิฐสวย ของ พวกเขาจะเป็นรอยจากกระสุนปืน



         ไกด์พาเราเดินมายังห้องรมแก๊ส ซึ่งเป็นเนินดินที่มีอาคารอยู่ใต้ดิน มีช่องสี่เหลี่ยมด้านบนเพื่อหย่อนสารเคมีที่ปล่อยแก๊สลงมา นักโทษจะถูกหลอกว่าให้มาอาบน้ำ ดังนั้นจึงถอดเสื้อผ้าเข้ามารวมกันอยู่ในห้อง



              ในค่ายเอาชวิตซ์  (Auschwitz ) สร้างห้องรมแก๊สเนื่องจากพวกนาซีรู้สึกเสียดายลูกกระสุน ที่ต้องเสียไปในการยิงชาวยิวทิ้ง ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันไม่คุ้มเสียเลยที่ต้องแลกระหว่าง กระสุน 1 นัด กับ 1 ชีวิตชาวยิว จึงคิดหาวิธีที่สามารถกำจัดชาวยิวได้ครั้งละมาก และต้องราคาถูกด้วย และห้องรมแก๊สพิษคือคำตอบ โดยห้องรมแก๊สพิษห้องแรกถูกออกแบบและดัดแปลงจากอาคารหลุมหลบภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว

  • a พื้นที่ให้เชลยรอก่อนเข้าห้องรมแก๊สพิษ
  • b ห้องกองเถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผา และห้องล้างทำความสะอาด
  • c บริเวณพื้นที่รมแก๊สพิษ
  • d ห้องเผาศพที่เสียชีวิตจากการรมแก๊สพิษ
  • e ปล่องควัน ที่เหลือจากการเผาศพ
  • f ห้องเก็บถ่านหิน และเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพ
  • g ออฟฟิซผู้คุม
  • ผังด้านซ้ายจะเป็นแปลนห้องดังเดิมที่สร้างเมื่อปี 1942
  • ผังด้านขวาเป็นแปลนห้องรมแก๊สพิษ ที่สร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพวกนาซีได้เผาทำลายห้องรมแก๊สเพื่อทำลายหลักฐานความชั่วร้ายของตนเอง

             บริเวณภายในห้องรมแก๊สพิษ ห้องทึบสี่เหลี่ยม นักโทษจะถูกหลอกว่าพาไปอาบน้ำ ให้ถอดเสื้อผ้าที้งหมดออกและเดินมายังห้องนี้ จากนั้นก็จะปิดประตูขังไว้


 
             บนเพดานก็จะมีช่องให้หย่อนสารพิษที่ชื่อ Zyklon B  โดนสารนี้เป็นของแข็งและจะระเหยเมื่อโดนความร้อนและปล่อยสารพิษจำพวกไซยาไนด์และทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยผู้ที่เสียชีวิตในห้องนี้ส่วนมากเป็นนักโทษชาวยิว โปแลนด์ โซเวียต พวกยิปซี และรักร่วมเพศกระป๋องที่บรรจุ Zyklon B แต่ละกระป๋องสามารถฆ่าคนได้ประมาณ 400-500 ดังนั้นในการรมแก๊สแต่ละครั้งจะใช้ประมาณ 5 กระป๋องต่อครั้ง





           แล้วควันไซยาไนด์ก็จะฟุ้งตลบห้อง
บรรยากาศเต็มไปด้วยการกรีดร้อง คนทีแข็งแรงก็พยายามพังประตู และเหยียบคนที่อ่อนแอกว่าเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ด้านบน บางส่วนจะตายทันที แต่บางส่วนที่ไม่ตายทันทีก็จะส่งเสียงกรีดร้องจนเสียงค่อยๆ เงียบไปเอง ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่านักโทษทุกคนตายหมดแล้วก็จะมีการเปิดห้องและนำศพมาเผาที่เตาเผาเหล่านี้ ทรัพย์สินจากศพของผู้เสียชีวิต เช่น แหวน ฟันเลี่ยมทอง ก็จะถูกถอดออกและหลอมนำกลับไปเยอรมัน   ส่วนผมก็จะถูกตัดเพื่อนำไปขายให้แก่โรงงานทอพรม หรือทำเสื้อผ้าต่อไป อวัยวะบางส่วนของศพจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อต่อให้กับทหารที่บาดเจ็บจากการรบ จากนั้นพวกนาซีก็จะปิดประตู  ประตูห้องจะถูกปิดไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง และนำไปเผาต่อไป   บางครั้งก็มีศพมากเกินไป ศพผู้ตายบางส่วนก็จะถูกนำไปเผากลางแจ้ง





                 เมื่อจัดการศพเรียบร้อยก็ส่งศพเข้าเตาเผาที่อยู่ข้างห้องรมแก๊ส โดยเตาเผามีปล่องอิฐสี่เหลี่ยมโผล่ขึ้นมาบนดินคล้ายกับปล่องเมรุ ขี้เถ้าที่ได้จะนำไปโรยเป็นปุ๋ยในทุ่งนารอบๆค่าย ทำให้สงสัยว่าทุกย่างก้าวของเราที่เดินในที่นั้นอาจเหยียบย่ำไปบนฝุ่นเถ้ากระดูกของผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตในที่แห่งนี้หรือเปล่า
                เมื่อออกมาจากห้องรมแก๊ส ไกด์ได้ชี้ให้ดูบ้านผู้คุมที่อยู่นอกรั้วต้นไม้เตี้ยๆไม่ไกลจากห้องรมแก๊สนัก เป็นสถานที่ที่สภาพแตกต่างกับในค่ายราวฟ้ากับดิน บ้าน 2 ชั้นหลังโต มีสระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น ดูช่างน่าสุขสบาย จนน่าคิดว่าจิตใจของผู้คุมทำด้วยอะไรจึงทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างทรมานในขณะที่ตัวเองเสวยสุขอยู่อย่างนั้น



     
           สถานที่แห่งนี้คือลานประหารชีวิตอดีตผู้บัญชาการค่ายเอาชวิตซ์ (Auschwitz )  ที่ชื่อ Rudolf Höss ซึ่งได้หนีไปหลบซ่อนตัวหลังจากเยอรมันยอมแพ้สงคราม ต่อมากองทัพอังกฤษพบภรรยาและลูกของเขา  กองทัพอังกฤษขู่ว่าจะส่งลูกทั้ง 3 คนของเธอไปเป็นนักโทษในค่ายที่ไซบีเรีย เธอจึงยอมบอกที่หลบซ่อนตัวของ Rudolf Höss ให้แก่กองทัพอังกฤษ และเขาถูกตัดสินประหารชีวิต โดยการแขวนคอที่ค่ายแห่งนี้ ใกล้ๆกับบ้านพักในค่ายของเขานี่เอง



            นับว่ายังมีความเป็นธรรมอยู่ในโลกบ้าง ได้เวลาพอสมควรล่ำลาไกด์และขอขอบคุณไกด์ท้องถิ่นที่สละเวลามาบรรยายข้อมูลอันละเอียดเจาะลึกให้เราทราบ ถึงแม้ว่าไกด์จะบรรยายให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมที่นี่เป็นประจำอยู่แล้ว เป็นร้อยครั้งพันครั้ง ที่สังเกตุไกด์จะน้ำตาซึมทุกครั้งเมื่อพูดถึงลูกหลานชาวยิวที่ต้องมาประสบกับชะตากรรม ณ สถานที่แห่งนี้



                   การจัดแสดงและการเข้าชมของประเทศตะวันตกที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตน โดยการจัดแสดงได้สื่อถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นแต่ไม่ชี้นิ้วหรือตอกย้ำว่าใครเป็นคนผิด ในทางกลับกันให้ข้อคิดถึงความผิดพลาดในอดีตที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตถือว่าเป็นสิ่งที่ดี



                   สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าการแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้บ้าง ดีกว่าจะเก็บข้อมูลไว้คนเดียวแล้วไปให้จางหายไปตามวันและเวลา และหากข้อมูลในบทความนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ ผมขออุทิศผลบุญที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประสบเคราะห์กรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ขอให้ดวงวิญญาณของผู้บริสุทธิ์ไปสู่ภพภูมิที่ดีและไม่ต้องกลับมาพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีกไม่ว่าชาติภพไหนๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1) บันทึกการเดินทางยุโรปตะวันออก 2562 ของหมอเอ๋ย (นาวาเอกหญิง กัญญรัตน์ อุปนิสากร)

2) https://pantip.com/topic/30763839




 

Create Date : 05 เมษายน 2563   
Last Update : 12 เมษายน 2563 12:25:37 น.   
Counter : 1891 Pageviews.  


ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz Concentration Camp) รอยแผลและความทรงจำ ตอน 4

             อาคารหรือ (BLOCK) ภายในค่ายเอาชวิตซ์ 1 (Auschwitz I) ได้จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของค่าย ที่ไกด์จะพาชมจะมี 5 BLOCK สำคัญ หลังจากที่เราชม BLOCK 4 ไปแล้ว  เรามาดู BLOCK ต่อมา คือ Block 5 (Physical evidence of crime) เป็นอาคารรวบรวมข้าวของ ของผู้โชคร้ายนับแสนคน  เมื่อเราขึ้นไปชั้น 2 จะเห็นห้องกระจกที่เต็มไปด้วยมัดผมที่ผู้คุมนาซี กร้อนออกมาจากศีรษะนักโทษที่เข้ามาในค่ายแห่งนี้  มีจำนวนมากมายหลายตัน กองตั้งแค่พื้นจนถึงเพดาน (ไกด์ขอไม่ให้ถ่ายรูป) ซึ่งผมของนักโทษเหล่านี้ ทหารนาซีส่งขายเพื่อนำไปสิ่งทอ ไม่รู้ว่าคนที่ได้ใช้ผ้าทอผสมผมจะรู้สึกอย่างไรเหมือนกัน ภายหลังจากที่กองกำลังรัสเซียเข้ามายึดค่ายยังพบกระสอบผมที่ตกค้างจากการส่งออกไปขายและไม่ถูกทำลายอีกถึงกว่า 7 ตัน



                ห้องกระจกถัดๆ มาเป็นห้องกระเป๋า ห้องภาชนะประจำตัว ที่นักโทษเขียนชื่อของตนเองไว้ คงเหมือนเวลาเราไปโรงเรียนแล้วเขียนชื่อบนสิ่งของของตัวเองกันไม่ให้สับสนกับคนอื่น ชื่อบนกระเป๋าบางใบระบุว่าเป็นหมอแสดงว่า แม้จะเป็นใครก็ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ทั้งสิ้นในค่ายนี้ สัมภาระเหล่านี้มาพร้อมกับนักโทษขณะเดินทางมายังค่าย หลังจากคัดแยกนักโทษสิ่งของเหล่านี้จะถูกจัดเก็บ คัดแยกเอาของมีค่าไปขาย







                  ห้องรองเท้าที่กองกันเป็นภูเขามีทั้งรองเท้า ชายและหญิงรวมกันอยู่  นอกจากรองเท้าผู้ใหญ่แล้ว ที่หดหู่มากๆ คือมีรองเท้าเด็กเล็กๆ จำนวนมาก น่าจะเด็กพึ่งหัดเดินเอง  ทั้งหมดต้องมาทิ้งชีวิตไว้ในค่ายแห่งนี้อย่างไร้มนุษยธรรม





        ห้องแขนขาเทียมและไม้เท้า สิ่งที่ทำให้สะเทือนใจมากคือการที่ได้รับรู้ว่าสิ่งของต่างๆทุกชิ้นในทุกห้องนั้นเป็นของผู้ที่ไร้ลมหายใจจากการกระทำที่โหดร้ายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน



                   เมื่อลงมาชั้นล่างจะพบกับผนังที่แขวนภาพของนักโทษระบุ อาชีพ อายุ วันที่เข้ามาในค่าย และวันที่เสียชีวิต บางคนอยู่ในค่ายได้ 2 อาทิตย์ บางคน 3 เดือน บางคนก็เกือบ 2 ปี การอยู่ได้นานหรือไม่นอกจากสภาพร่างกายแล้ว อาชีพก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่พ่อค้าอาจอยู่ได้ไม่นานเมื่อเทียบกับนักบวช รูปภาพทุกรูปที่มองตรงมาแววตาช่างเศร้าสร้อย ไร้ความหวัง เหมือนมีคำถามอยู่ในนั้นว่าเขามีความผิดอะไรจึงต้องถูกส่งมายังค่ายแห่งนี้





           อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้เชลย ที่ยึดมาได้มีมากมายจนเต็มไปหมด 




 
               สภาพห้องส้วมในอาคารหรือ BLOCK ในค่ายเอาชวิทซ์ 1 (Auschwitz I) สภาพยังดีกว่าค่ายเอาชวิตซ์ 2-เบียร์เคเนา (Auschwitz II-Birkenau) อยู่มาก  ทั้งตัวอาคารถาวรและสิ่งอำนวยความสะดวก


 
           สภาพห้องอาบน้ำในอาคารสังเกตุว่าจะมีชั้นวางสบู่ให้ แต่ความจริงนักโทษไม่มีโอกาสได้ใช้สบู่เลย 



             สภาพเตียงนอนยังเป็นเตียง 3 ชั้น เช่นเดียวกับค่ายเบียร์เคเนา (Birkenau) แต่ความแออัดน่าจะใกล้เคียงกัน



             มาดูชะตากรรมของเด็กกันบ้าง มีเด็กประมาณ 232,000 คนที่ถูกนำตัวมายังค่ายแห่งนี้ ประกอบด้วย ชาวยิว 216,000 คน ยิปซี 11,000 คน ชาวโปลิส 3,000 คน และอีก 1,000 คนเป็นชาวสลาฟและชาติอื่นๆ  ส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กชาวยิวจะถูกส่งตัวไปยังห้องรมแก๊สประมาณ 22,000 คน









          สภาพเด็กๆ ที่อยู่ในค่ายแห่งนี้ น่าเศร้าที่บางคนจำชื่อตัวเองไม่ได้ เพราะใช้เพียงหมายเลขแทนการเรียกชื่อ หลังจากค่ายได้รับการปลดปล่อย มีเด็กเหลืออยู่ในค่ายเพียง 650 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี อยู่ถึง 450 คน



                ไกด์เล่าว่าทุกเดือนมกราคมจะมีหญิงชราคนหนึ่ง เธอคือผู้ที่รอดชีวิตออกมาจากค่ายแห่งนี้ ในขณะนั้นอายุเพียงประมาณ 5-6 ขวบ ต่อจากนั้นเธอได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยที่ฝาแฝดและครอบครัวของเธอเสียชีวิตในค่ายเเห่งนี้ เธอมารำลึกถึงเหตุการณ์ต่อหน้าภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่ติดอยู่ที่ผนังของอาคารซึ่งมีรูปของตัวเธอ ฝาแฝด และครอบครัวในนั้น เธอจะนั่งอยู่ตรงนั้น นิ่ง นาน โดยไม่มีผู้รบกวนใดๆ



           ยังมีอีกหลาย BLOCK ที่เราไม่ได้เข้าไปเนื่องจากเวลาจำกัด เช่น การทดลองแสนโหดเหี้ยมต่างๆ ใช้นักโทษคนเป็นๆ มาทดลอง และที่โหดสุดคือ BLOCK 11 (death block) ภายในเป็นห้องขังที่ทรมานมากกว่าที่เห็นกันอยู่ทั้งขังยืน (standing cell) คุกยืน นักโทษจะถูกขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมขนาด 1.2 x 1.2 เมตร (1.5 ตารางเมตร ) ครั้งละอย่างน้อย 4 คน ซึ่งมันแคบจนไม่สามารถขยับตัวได้ ทุกคนจะต้องยืนอยู่อย่างนั้นตลอดการคุมขัง  ห้องขังอดอาหารจนตาย (starvation cell) นักโทษจะไม่ได้รับ น้ำ หรือ อาหาร อีกเลยจนกว่าจะเสียชีวิต  
             ขอพักความโหดร้าย ไว้ตรงนี้ก่อน บล็อกหน้าจะเดินออกมาชมบรรยากาศ ห้องรมแก๊สกันต่อไปครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1) บันทึกการเดินทางยุโรปตะวันออก 2562 ของหมอเอ๋ย (นาวาเอกหญิง กัญญรัตน์ อุปนิสากร)
2) https://pantip.com/topic/30763839




 

Create Date : 04 เมษายน 2563   
Last Update : 20 มิถุนายน 2563 11:48:19 น.   
Counter : 1238 Pageviews.  


ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz Concentration Camp) รอยแผลและความทรงจำ ตอน 3

           ค่ายเอาชวิตซ์ 1 (Auschwitz I) ตัวอาคารอยู่ในสภาพดี ลักษณะกลุ่มอาคาร 2 ชั้นก่อด้วยอิฐแดง ซึ่งดัดแปลงจากค่ายทหารโปแลนด์เดิมมาเป็นค่ายกักกัน จึงเป็นอาคารถาวรก่ออิฐแดง มีรั้วไฟฟ้าและรั้วรวดหนามรายล้อมอาคารต่างๆ อาคารเหล่านี้จะเรียกว่า BLOCK ซึ่งในแต่ละ BLOCK จะมีเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับค่ายกักกันจัดแสดงอยู่ เราจะได้เห็นสภาพห้องพักนักโทษแบบดั้งเดิมเหมือนกับในอดีต ได้เห็นสภาพห้องน้ำกับห้องอาบน้ำของนักโทษ ได้เห็นรูปถ่ายจริงของนักโทษ เครื่องแบบของนักโทษของจริง สัมภาระต่างๆของนักโทษที่ถูกยึด ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา รองเท้า หวี หรือแม้แต่กระทั่งผมที่โดนโกนออกมาจากหัวนักโทษ  



       อาคาร BLOCK ทั้งหมดภายในค่ายมีจำนวนมาก ที่ใช้เป็นโรงนอนมี 28 BLOCK แต่ BLOCK หรืออาคารที่จัดแสดงเรื่องราวหลักๆ ของค่าย มี 5 BLOCK ที่ไกด์จะพาชม คือ BLOCK 4 (Extermination) เป็นเรื่องเล่าภาพรวมของค่ายเอาชวิตซ์ (Auschwitz)  BLOCK 5 (Physical evidance of crime) รวบรวมข้าวของของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย BLOCK 6 (Life of prisoners) เรื่องราวการใช้ชีวิตที่หดหู่ของคนที่อยู่ในค่าย BLOCK 10 (Experiment) แสดงการทดลองแสนโหดเหี้ยมต่างๆ และ BLOCK 11 (death block) ภายในเป็นห้องขังที่ทรมานมากกว่าที่เห็นกันอยู่ทั้งขังยืน (standing cell)  ห้องขังอดอาหารจนตาย (starvation cell) ส่วนที่เหลือหากมีเวลานักท่องเที่ยวสามารถเดินชมเองได้





       อาคารแรกที่เข้าไปคืออาคาร BLOCK 4 (Extermination) เป็นเรื่องเล่าภาพรวมของค่ายเอาชวิตซ์ (Auschwitz)  เข้าไปเป็นมีแผนที่ทวีปยุโรปแสดงถึงประเทศที่มาของนักโทษ ซึ่งจะเห็นได้ว่านักโทษจากประเทศทั่วยุโรปถูกส่งมาที่ค่ายนี้ ซึ่งที่นี่เป็นตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของยุโรปนับเหมาะสมเลยที่เดียว มีภาพแสดงการ ขนย้าย การเผาศพนักโทษ การคัดแยกสิ่งของส่วนตัวของนักโทษ มีแท่นวางโกศแก้วใสใส่กระดูกของนักโทษ



                 ค่ายเอาชวิทซ์  (Auschwitz) ค่ายนี้เริ่มทำการ ระหว่างปี 1940-1945 ได้มีการนำนักโทษเข้ามายังค่ายนี้ อย่างน้อย 1,300,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวยิว 1,100,000  คน ชาวโปลิส 140,000-150,000 คน ชาวยิปซี 23,000 คน อาญากรสงครามโซเวียต 15,000 คน และ นักโทษอื่นๆ อีก 25,000 คน ในจำนวนนี้ ประมาณ 1,100,000 คน ซึ่ง 90% ของเหยื่อที่เสียชีวิตที่ค่ายแห่งนี้เป็นชาวยิว



           แบบจำลองแสดงแบบแปลนของห้องรมแก๊ส  เนื่องจากพวกนาซีรู้สึกเสียดายลูกกระสุน ที่ต้องเสียไปในการยิงชาวยิวทิ้ง ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันไม่คุ้มเสียเลยที่ต้องแลกระหว่าง กระสุน 1 นัด กับ 1 ชีวิตชาวยิว จึงคิดหาวิธีที่สามารถกำจัดชาวยิวได้ครั้งละมาก และต้องราคาถูกด้วย และห้องรมแก๊สพิษ คือคำตอบ ที่สามารถสังหารเหยื่อได้ครั้งละมากๆ 



                  ตู้กระจกแสดงกระป๋องสารเคมีเป็นจำนวนมาก และเกล็ดของสารเคมีที่เมื่อผสมน้ำจะได้ก๊าซไซยาไนด์ที่ใช้รมนักโทษ ซึ่งก็คือ Zyklon B มีฤทธิ์ในกลุ่มไซยาไนด์ และกระป๋องสารเคมีนี้ไกด์บอกว่าสารเคมีเพียง 1 กระป๋องสามารถรมนักโทษได้ถึง 1,500 คน





                 ขั้นตอนของนักโทษที่เข้ามาในค่ายจะต้องผ่านการคัดกรองโดยแพทย์ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ชี้เป็นชี้ตาย นักโทษที่อ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ พิการ จะถูกนำไปรมแก๊สทันที โดยไม่ให้เหยื่อรู้ตัวเพียงแจ้งว่าจะพาไปอาบน้ำ ส่วนผู้ที่แข็งแรงก็จะเข้าค่ายกักกัน โดยมีการทำประวัติ และถ่ายรูป 



                     มีการตีตราหมายเลขนักโทษที่ได้มีการทดลองสักตามที่ต่างๆของร่างกาย เช่น หน้าอก ต้นขา แต่มาลงตัวที่แขนซ้ายด้านใน ที่น่ารันทดคือ ไกด์บอกว่า ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาในค่ายจะสิ้นสุดการใช้ชื่อและนามสกุล พร้อมทั้งสิทธิมนุษยชนที่พึงมี จะได้ใช้เพียงแค่หมายเลขนักโทษเพื่อแทนตัวเท่านั้น



           เครื่องแต่งกายของนักโทษเป็นเหมือนชุดนอนลายทางสีขาวน้ำเงิน ไม่ว่าอากาศจะร้อน หรือจะหนาวติดลบ นักโทษต้องใส่ชุดนี้ตลอดเวลา  แบ่งแยกประเภทด้วยสัญญลักษณ์เป็นสีต่างๆ ที่หน้าอก ได้แก่ ยิว ยิปซี แม้แต่พวกรักร่วมเพศ





                    มีภาพของนักโทษที่รอดชีวิต หลังกองทัพรัสเซียเข้ามาบุกยึดค่ายมีลักษณะผอมจนหนังหุ้มกระดูก กล้ามเนื้อสลายไปจนเกือบหมด น้ำหนักลดลงจากก่อนเข้าค่ายอย่างมาก บางรายน้ำหนักลดจาก 68 เหลือ 30 กว่ากิโลกรัม ซึ่งบางส่วนก็เสียชีวิตหลังออกจากค่ายแล้ว



           ผู้คุมจะให้นักโทษเหล่านี้ใช้แรงงานต่างๆ ทั้งในค่ายและทำงานภายนอก แลกกับอาหารประทังชีวิต ตามภาพตัวอย่าง ที่มื้อเช้าคือซุปใส กลางวันมีขนมปังแข็งๆ 1 ก้อนกับเนยหืนๆ ก้อนเล็กๆ และมื้อเย็นก็เป็นซุปใสเช่นกัน มีการคำนวณว่าจากอาหารเท่านี้จะได้พลังงานวันละไม่เกิน1500 กิโลแคลอรี่  หรือสรุปว่าวันๆ หนึ่งนักโทษจะได้รับอาหาร ดังนี้

  • ขนนปัง 350 กรัม ต่อวัน
  • น้ำที่ทำกลิ่นรสเลียนแบบ กาแฟ ( ersatz coffee ) ตอนเช้าครึ่งลิตร
  • ซุปผักกาด กับ มันฝรั่ง 1 ลิตร ตอนเที่ยง โดยในซุปจะมีเนื้ออยู่ประมาณ 20 กรัม



        บางคนยังแอบเก็บขนมปังไว้แลกกับของอื่นจากเพื่อนนักโทษ ดังนั้นพวกที่รอดชีวิตแต่แรกอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยอาการขาดอาหาร การติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยอื่นๆ หรืออาจถูกนำไปรมแก๊สภายหลัง ชีวิตนักโทษอันหดหู่ไร้ความหวัง โดยไม่รู้ว่าจะตายวันไหน ยังมีต่อให้ติดตามในบล็อกต่อไปครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1) บันทึกการเดินทางยุโรปตะวันออก 2562 ของหมอเอ๋ย (นาวาเอกหญิง กัญญรัตน์ อุปนิสากร)
2) 
https://breathemyworld.com/2016/10/06/lessons-from-the-past-auschwitz
3) https://pantip.com/topic/30763839




 

Create Date : 02 เมษายน 2563   
Last Update : 12 เมษายน 2563 12:29:34 น.   
Counter : 1310 Pageviews.  


ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz Concentration Camp) รอยแผลและความทรงจำ ตอน 2

           อนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียเคเนา (Auschwitz -Birkenau Concentration Camp) แบ่งออกเป็น 2 แห่งคือ คือค่ายเอาชวิตซ์  1 (Auschwitz I) ซึ่งเป็นค่ายหลัก และค่ายเอาชวิตซ์ 2-เบียร์เคเนา (Auschwitz II-Birkenau) ที่เราไปเยี่ยมชมมาแล้ว โดยจะมีรถบัสโดยสาร (shuttle bus) รับ-ส่งนักท่องเที่ยวระหว่างสองค่ายนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย   เรามาชมค่ายเอาชวิตซ์ 1 (Auschwitz I) ซึ่งเป็นค่ายหลักกัน ค่ายนี้เริ่มทำการ ระหว่างปี 1940 -1945  ภายในประกอบด้วยตัวอาคาร ประมาณ 30 หลัง ซึ่ง ในแต่ละอาคารก็จะมีเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับค่ายกักกันจัดแสดงอยู่ เราจะได้เห็นสภาพห้องพักนักโทษแบบดั้งเดิมเหมือนกับในอดีต ได้เห็นสภาพห้องน้ำกับห้องอาบน้ำของนักโทษ ได้เห็นรูปถ่ายจริงของนักโทษ เครื่องแบบของนักโทษของจริง สัมภาระต่างๆของนักโทษที่ถูกยึด ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา รองเท้า หวี หรือแม้แต่กระทั่งปอยผมที่โดนโกนออกมาจากหัวนักโทษ แล้วระหว่างนี้ไกด์ก็จะบรรยายข้อมูลต่างๆให้ฟังด้วย 



              การเยี่ยมชมค่ายเอาชวิตซ์ 1 (Auschwitz I) ให้เข้ามาบริเวณหน้าค่ายที่ตึกอำนวยการหรือ Information หากมีสัมภาระก็ให้เอา กระเป๋า เป้ และอื่นๆ ไปฝากที่ข้างๆตึกอำนวยการ  ไม่อนุญาตให้เอากระเป๋าเข้าไปด้านในตัวค่ายกักกัน  และจะต้องผ่านด่าน security control เข้าไปยังด้านในตัวค่าย การตรวจผู้เข้าชมแบบละเอียดเหมือนตอนผ่านเข้าสนามบินที่สำคัญคือห้ามนำไฟแช็คและอาวุธเข้า ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการป้องกันลูกหลานชาวยิวที่มาเยี่ยมชมแล้ว แล้วเกิดอารมณ์ขึ้นอยากจะเผาให้ราบ แต่ที่แปลกก็คือเสื้อแจ็คเก็ตของชาวคณะบางคนมีการปักหรือสกรีนคล้ายนกอินทรีจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่เข้าข้างใน  หรือถ้าจะใส่ก็ต้องปิดไม่ให้เห็น อาจเป็นได้ว่าคล้ายกับสัญลักษณ์ของนาซีที่อาจไปปลุกเร้าอารมณ์ผู้เข้าชมอีกเช่นเดียวกัน



                 รอยังจุดนัดพบพร้อมกับรับหูฟังสำหรับฟังบรรยายจากไกด์ ไกด์ท้องถิ่นที่จะเป็นลูกหลานชาวยิวเป็นอาสาสมัครจิตอาสานำเยี่ยมชมภายในค่าย พอได้เวลาไกด์ก็จะพาเราเดินเข้าไปดูในอาคารต่างๆ ที่ในอดีตเป็นที่พักของนักโทษในค่ายกักกัน ในแต่ละอาคารก็จะมีเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับค่ายกักกันจัดแสดงอยู่ สภาพอาคารโดยทั่วไปเป็นอาคารก่ออิฐเรียงกันเป็นระเบียบ ที่เราจะเรียกกันว่าบล็อก (Block) ซึ่งจะมีอยู่มากมายหลายบล็อก  ที่ใช้เป็นโรงนอนมีจำนวน  28 BLOCK ซึ่งในแต่ละ BLOCK หรืออาคารที่จัดแสดงเรื่องราวหลักๆ ของค่ายแตกต่างกัน หากมีเวลานักท่องเที่ยวสามารถเดินชมเองได้ ตามผังบริเวณค่ายเอาชวิทซ์ 1 (Auschwitz I) และเส้นทางเยี่ยมชมภายในค่าย



               จากจุดนัดพบเมื่อรับหูฟังสำหรับฟังบรรยายจากไกด์ ไกด์จะนำเราเดินลัดเลาะมาตามทางเดินเข้าค่าย ซึ่งจะผ่านอาคารสำนักงานและอาคารที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือระดับผู้บังคับบัญชาของค่ายแห่งนี้ เพื่อมุ่งสู่ประตูทางเข้าไปยังสถานที่ใช้เป็นที่กักกันนักโทษ





           เราจะเห็นทางเข้าค่ายหรือ Main Gate ซึ่งเป็นซุ้มประตูเหล็กดัดเขียนเป็นภาษาเยอรมันว่า "Arbeit Macht Frei" ภาษาอังกฤษคือ "Work will set you free" ที่แปลว่า  "จงทำงานเพื่อให้เป็นอิสระ" เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อที่โหดร้ายเท่านั้น ที่ว่าสักวันนักโทษเหล่านี้จะได้รับอิสรภาพ



          Arbeit Macht Frei หรือ การทำงานจะนำไปสู่อิสระภาพ ตัวอักษรที่ประตูแห่งนี้สร้างโดยนักโทษชาวยิวโดยคำสั่งของนาซี จะสังเกตุได้ว่า ตัว B นั้นจะกลับหัว คงเป็นความตั้งใจของนักโทษที่จะสื่อความหมายว่า ประโยคนี้มันไม่ได้มีความหมายอย่างนั้นจริงๆ และความจริงแล้วมีชาวยิวกว่าล้านคนต้องเสียชีวิตที่นี่ เป็นอิสระภาพด้วยความตายเป็นส่วนใหญ่



        นักโทษจะเดินผ่านประตูนี้ทุกวัน ในทุกเช้าและเย็นหลังเลิกงานจะผ่านประตูค่าย โดยจะมีการเล่นดนตรีเพื่อให้จังหวะ และเพื่อให้ง่ายต่อการนับจำนวนนักโทษที่เข้าออกในทุกวัน จำนวนนักโทษในตอนเช้าต้องเท่ากับตอนเย็น ไม่มีขาดหายไปไหน ใครหมดแรง ป่วย หรือตายก็ต้องแบกหามศพกลับเข้ามาในค่ายแห่งนี้ เพื่อขานชื่อว่าอยู่ครบ ไม่มีคนหาย





   
         
               เมื่อผ่านประตู  Arbeit Macht Frei เข้ามาจะเห็นอาคารชั้นเดียวที่มีปล่องสี่เหลี่ยมมากมายบนหลังคาอยู่ทางด้านขวามือ อาคารนี้คือโรงครัว ที่ใช้ในการประกอบอาหารให้กับนักโทษภายในค่าย ถึงแม้จะเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในค่ายแต่ก็ประกอบอาหารได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของนักโทษ ซึ่งนักโทษโดยเฉลี่ยจะได้รับอาหารคิดเป็นวันละประมาณ 1,500 กิโลแคลอรี่เท่านั้น 


     
       อาคารชั้นเดียวที่มีปล่องไฟเยอะๆ ทางด้านซ้ายมือนี่แหละคือโรงครัว ที่ใช้ในการประกอบอาหารให้กับนักโทษภายในค่าย  





               สภาพภายในค่ายเอาชวิทซ์ 1 (Auschwitz I) ตัวอาคารอยู่ในสภาพดีกว่าค่ายเอาชวิตซ์ 2-เบียร์เคเนา (Auschwitz II-Birkenau) ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับนักโทษเพิ่ม ค่ายเอาท์ชวิตซ์แห่งนี้จะเป็นกลุ่มอาคาร 2 ชั้นก่อด้วยอิฐแดง ซึ่งดัดแปลงจากค่ายทหารโปแลนด์เดิมมาเป็นค่ายกักกัน จึงเป็นอาคารถาวรก่ออิฐแดง มีรั้วไฟฟ้าและรั้วรวดหนามรายล้อมอาคารต่างๆ เพื่อกันนักโทษหลบหนี


  
         หากนักโทษหลบหนีไปจากค่าย ครอบครัวของเขาถูกจับส่งมายังค่ายเอาชวิทซ์  และจะถูกยืนประจานเพื่อประกาศให้ทราบว่าเพราะเหตุที่นักโทษหลบหนี และจะยืนจนกว่านักโทษจะถูกจับตัวมายังค่าย เหตุผลก็เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้นักโทษอื่นๆ คิดจะหลบหนีไปจากค่าย







        บรรยากาศภายในค่าย ดูวังเวง เงียบเหงามาก แม้จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ทุกคนเงียบ สงบ เพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต ณ ที่แห่งนี้ และถึงเวลาที่เราจะเข้าเยี่ยมชมอาคารในแต่ละอาคารที่เรียกว่าบล็อกกันเลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1) บันทึกการเดินทางยุโรปตะวันออก 2562 ของหมอเอ๋ย (นาวาเอกหญิง กัญญรัตน์ อุปนิสากร)
2) 
https://pantip.com/topic/30763839




 

Create Date : 01 เมษายน 2563   
Last Update : 7 เมษายน 2563 15:29:15 น.   
Counter : 1327 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

camel_27
 
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add camel_27's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com