ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz Concentration Camp) รอยแผลและความทรงจำ ตอน 5

              ออกจากอาคารด้วยอาการหดหู่ สถานที่สำคัญอีกที่หนึ่งคือ Death Wall or Black Wall ผนังแห่งความตาย หรือผนังดำ ผนังนี้ตั้งอยู่บนลานระหว่างเรือนนอนสองหลังคือ BLOCK 10 กับ BLOCK 11  (อาคาร BLOCK 10 เป็นอาคารการทดลองแสนโหดเหี้ยมต่างๆ ใช้นักโทษคนเป็นๆ มาทดลอง ส่วนอาคาร BLOCK 11 (death block) คือห้องขังที่ทรมานมากกว่าที่เห็นกันอยู่) ผนัง Death Wall or Black Wall นี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่สุดโหด ภายในค่ายเอาชวิตซ์ เพียงชั่วเวลาสั้นจากปี 1940 - 1944 ระยะเวลาเพียง 4 ปี ผนังแห่งนี้เป็นพยาน ของแห่งความโหดเหี้ยมของเหล่านาซีเยอรมันที่ยิงนักโทษกว่า 20,000 ศพ โดยผนังบริเวณที่ใช้เป็น ลานประหารโดยการยิงกระสุนเข้าบริเวณกระดูกต้นคอข้อสุดท้ายที่ต่อกับกระโหลก โดยเพชรฆาตสองหมื่นศพผู้นี้มีชื่อว่า " Rapportfürher Gerhard Palitzsch " เหยื่อของมันมีไม่เว้นแม้แต่ เด็ก และผู้หญิง  ที่มาของ ชื่อ ผนังดำ เนื่องจาก ผนังค่ายสร้างจากอิฐ จะมีฉากสร้างจากท่อนไม้ บุหน้าด้วยไม้ค็อกทาด้วยสีดำ เนื่องจากพวกนาซีกลัวว่าผนังอิฐสวย ของ พวกเขาจะเป็นรอยจากกระสุนปืน



         ไกด์พาเราเดินมายังห้องรมแก๊ส ซึ่งเป็นเนินดินที่มีอาคารอยู่ใต้ดิน มีช่องสี่เหลี่ยมด้านบนเพื่อหย่อนสารเคมีที่ปล่อยแก๊สลงมา นักโทษจะถูกหลอกว่าให้มาอาบน้ำ ดังนั้นจึงถอดเสื้อผ้าเข้ามารวมกันอยู่ในห้อง



              ในค่ายเอาชวิตซ์  (Auschwitz ) สร้างห้องรมแก๊สเนื่องจากพวกนาซีรู้สึกเสียดายลูกกระสุน ที่ต้องเสียไปในการยิงชาวยิวทิ้ง ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันไม่คุ้มเสียเลยที่ต้องแลกระหว่าง กระสุน 1 นัด กับ 1 ชีวิตชาวยิว จึงคิดหาวิธีที่สามารถกำจัดชาวยิวได้ครั้งละมาก และต้องราคาถูกด้วย และห้องรมแก๊สพิษคือคำตอบ โดยห้องรมแก๊สพิษห้องแรกถูกออกแบบและดัดแปลงจากอาคารหลุมหลบภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว

  • a พื้นที่ให้เชลยรอก่อนเข้าห้องรมแก๊สพิษ
  • b ห้องกองเถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผา และห้องล้างทำความสะอาด
  • c บริเวณพื้นที่รมแก๊สพิษ
  • d ห้องเผาศพที่เสียชีวิตจากการรมแก๊สพิษ
  • e ปล่องควัน ที่เหลือจากการเผาศพ
  • f ห้องเก็บถ่านหิน และเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพ
  • g ออฟฟิซผู้คุม
  • ผังด้านซ้ายจะเป็นแปลนห้องดังเดิมที่สร้างเมื่อปี 1942
  • ผังด้านขวาเป็นแปลนห้องรมแก๊สพิษ ที่สร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพวกนาซีได้เผาทำลายห้องรมแก๊สเพื่อทำลายหลักฐานความชั่วร้ายของตนเอง

             บริเวณภายในห้องรมแก๊สพิษ ห้องทึบสี่เหลี่ยม นักโทษจะถูกหลอกว่าพาไปอาบน้ำ ให้ถอดเสื้อผ้าที้งหมดออกและเดินมายังห้องนี้ จากนั้นก็จะปิดประตูขังไว้


 
             บนเพดานก็จะมีช่องให้หย่อนสารพิษที่ชื่อ Zyklon B  โดนสารนี้เป็นของแข็งและจะระเหยเมื่อโดนความร้อนและปล่อยสารพิษจำพวกไซยาไนด์และทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยผู้ที่เสียชีวิตในห้องนี้ส่วนมากเป็นนักโทษชาวยิว โปแลนด์ โซเวียต พวกยิปซี และรักร่วมเพศกระป๋องที่บรรจุ Zyklon B แต่ละกระป๋องสามารถฆ่าคนได้ประมาณ 400-500 ดังนั้นในการรมแก๊สแต่ละครั้งจะใช้ประมาณ 5 กระป๋องต่อครั้ง





           แล้วควันไซยาไนด์ก็จะฟุ้งตลบห้อง
บรรยากาศเต็มไปด้วยการกรีดร้อง คนทีแข็งแรงก็พยายามพังประตู และเหยียบคนที่อ่อนแอกว่าเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ด้านบน บางส่วนจะตายทันที แต่บางส่วนที่ไม่ตายทันทีก็จะส่งเสียงกรีดร้องจนเสียงค่อยๆ เงียบไปเอง ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่านักโทษทุกคนตายหมดแล้วก็จะมีการเปิดห้องและนำศพมาเผาที่เตาเผาเหล่านี้ ทรัพย์สินจากศพของผู้เสียชีวิต เช่น แหวน ฟันเลี่ยมทอง ก็จะถูกถอดออกและหลอมนำกลับไปเยอรมัน   ส่วนผมก็จะถูกตัดเพื่อนำไปขายให้แก่โรงงานทอพรม หรือทำเสื้อผ้าต่อไป อวัยวะบางส่วนของศพจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อต่อให้กับทหารที่บาดเจ็บจากการรบ จากนั้นพวกนาซีก็จะปิดประตู  ประตูห้องจะถูกปิดไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง และนำไปเผาต่อไป   บางครั้งก็มีศพมากเกินไป ศพผู้ตายบางส่วนก็จะถูกนำไปเผากลางแจ้ง





                 เมื่อจัดการศพเรียบร้อยก็ส่งศพเข้าเตาเผาที่อยู่ข้างห้องรมแก๊ส โดยเตาเผามีปล่องอิฐสี่เหลี่ยมโผล่ขึ้นมาบนดินคล้ายกับปล่องเมรุ ขี้เถ้าที่ได้จะนำไปโรยเป็นปุ๋ยในทุ่งนารอบๆค่าย ทำให้สงสัยว่าทุกย่างก้าวของเราที่เดินในที่นั้นอาจเหยียบย่ำไปบนฝุ่นเถ้ากระดูกของผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตในที่แห่งนี้หรือเปล่า
                เมื่อออกมาจากห้องรมแก๊ส ไกด์ได้ชี้ให้ดูบ้านผู้คุมที่อยู่นอกรั้วต้นไม้เตี้ยๆไม่ไกลจากห้องรมแก๊สนัก เป็นสถานที่ที่สภาพแตกต่างกับในค่ายราวฟ้ากับดิน บ้าน 2 ชั้นหลังโต มีสระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น ดูช่างน่าสุขสบาย จนน่าคิดว่าจิตใจของผู้คุมทำด้วยอะไรจึงทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างทรมานในขณะที่ตัวเองเสวยสุขอยู่อย่างนั้น



     
           สถานที่แห่งนี้คือลานประหารชีวิตอดีตผู้บัญชาการค่ายเอาชวิตซ์ (Auschwitz )  ที่ชื่อ Rudolf Höss ซึ่งได้หนีไปหลบซ่อนตัวหลังจากเยอรมันยอมแพ้สงคราม ต่อมากองทัพอังกฤษพบภรรยาและลูกของเขา  กองทัพอังกฤษขู่ว่าจะส่งลูกทั้ง 3 คนของเธอไปเป็นนักโทษในค่ายที่ไซบีเรีย เธอจึงยอมบอกที่หลบซ่อนตัวของ Rudolf Höss ให้แก่กองทัพอังกฤษ และเขาถูกตัดสินประหารชีวิต โดยการแขวนคอที่ค่ายแห่งนี้ ใกล้ๆกับบ้านพักในค่ายของเขานี่เอง



            นับว่ายังมีความเป็นธรรมอยู่ในโลกบ้าง ได้เวลาพอสมควรล่ำลาไกด์และขอขอบคุณไกด์ท้องถิ่นที่สละเวลามาบรรยายข้อมูลอันละเอียดเจาะลึกให้เราทราบ ถึงแม้ว่าไกด์จะบรรยายให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมที่นี่เป็นประจำอยู่แล้ว เป็นร้อยครั้งพันครั้ง ที่สังเกตุไกด์จะน้ำตาซึมทุกครั้งเมื่อพูดถึงลูกหลานชาวยิวที่ต้องมาประสบกับชะตากรรม ณ สถานที่แห่งนี้



                   การจัดแสดงและการเข้าชมของประเทศตะวันตกที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตน โดยการจัดแสดงได้สื่อถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นแต่ไม่ชี้นิ้วหรือตอกย้ำว่าใครเป็นคนผิด ในทางกลับกันให้ข้อคิดถึงความผิดพลาดในอดีตที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตถือว่าเป็นสิ่งที่ดี



                   สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าการแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้บ้าง ดีกว่าจะเก็บข้อมูลไว้คนเดียวแล้วไปให้จางหายไปตามวันและเวลา และหากข้อมูลในบทความนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ ผมขออุทิศผลบุญที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประสบเคราะห์กรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ขอให้ดวงวิญญาณของผู้บริสุทธิ์ไปสู่ภพภูมิที่ดีและไม่ต้องกลับมาพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีกไม่ว่าชาติภพไหนๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1) บันทึกการเดินทางยุโรปตะวันออก 2562 ของหมอเอ๋ย (นาวาเอกหญิง กัญญรัตน์ อุปนิสากร)

2) https://pantip.com/topic/30763839




Create Date : 05 เมษายน 2563
Last Update : 12 เมษายน 2563 12:25:37 น. 1 comments
Counter : 1892 Pageviews.  
 
 
 
 
 
 

โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 5 เมษายน 2563 เวลา:20:57:37 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

camel_27
 
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add camel_27's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com