|
ทางเดินสู่มืออาชีพ
จากความเห็นที่ 28 กระทู้ "จะทำงานเป็นมืออาชีพได้อย่างไร" //www.pantip.com/cafe/silom/topic/B7447464/B7447464.html
**********************************************
ความคิดเห็นที่ 28
สวัสดีอีกรอบค่ะ
ตอบโกก่อนค่ะ "การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องที่ดูเหมือนยาก แต่ก็ง่าย ดูเหมือนง่ายแต่ก็ยาก.... อยู่ที่เราสามารถชี้ให้เค้าเห็น"ศักยภาพ"ในตัวเค้าหรือไม่???? และเค้าพร้อมที่จะพัฒนาตนเองหรือไม่???
แบมว่าจริงไม๊??? "
แบมตอบว่า จริงค่ะ เพราะเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องสองฝั่ง คือ ผู้ให้ + ผู้รับ ผู้ให้พยายามที่จะให้ + ผู้รับกระตือรือล้นที่จะรับ = เรื่องง่าย ง่ายที่จะได้เห็นองค์กรเติบโตและมั่นคง ผู้ให้ลืมที่จะให้ + ผู้รับกระตือรือล้นที่จะรับ = เรื่องง่าย เพราะทนลูกกระตือรือล้นไม่ไหว เดี๋ยวผู้ให้ก็ใจอ่อน (หรือนึกขึ้นได้) สุดท้ายจะหันมาให้เอง ผู้ให้พยายามที่จะให้ + ผู้รับไม่อยากรับ = เรื่องง่าย ถ้าผู้ให้ "พยายาม" อย่างแท้จริง และมีศิลปะในการใช้ความพยายามมากพอ ผู้รับจะสำนึกได้ว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนในวันหนึ่ง ผู้ให้ลืมที่จะให้ + ผู้รับไม่อยากรับ = เรื่องยาก ยากที่จะเห็นองค์กรนี้เติบโตอย่างยั่งยืน
สรุป เป็นเรื่องง่าย มากกว่า ยาก แฮะ ดังนั้นอย่าลังเลที่จะเป็น ผู้ให้ และ ผู้รับที่ดี ค่ะ โอกาสที่จะสนุกกับเรื่องง่าย ๆ นี้มีตั้ง 75% แน่ะ เห็นป่าว 5555
************************************************
เอ๊ะ ! พี่ศักดิ์ชัยมา ในความเห็นที่ 18 แบมไม่ได้ทักขออภัยค่ะ พี่สบายดีนะคะ ไม่เจอกันนานมากเลยค่ะพี่ มาคุยกันเยอะๆ หน่อยค่ะ มาบรรทัดเดียวอย่างนี้ เหมือนไม่ใช่ตัวจริงเลย ยืมล็อกอินพี่ศักดิ์ชัยมาป่าววว
************************************************
แวะทักพี่โต๋ ก่อนค่ะ
"ถ้าประคับประคองจิตใจไว้ไม่ดี ก็มักจะมีอาการเบื่อๆ เซ็งๆ ให้ผลงานล่าช้า หรือ ด้อยประสิทธิภาพลง"
พี่คะ วัยเราๆ นี่ ต้องหักดิบตั้งแต่ "มีอาการเบื่อๆ เซ็งๆ" ค่ะ ห้ามแช่แป้งปล่อยให้เลยเถิดนะคะพี่ อาการนี้อันตรายค่ะ 555555 มีอยู่วันหนึ่ง แบมประชุมเสร็จแล้วแบบ โอย ไม่ไหวแล้ว อะไรกันนี่ ๆๆ ประชุมอะไรนั่งว่ากันไป แก้ตัวกันมา และ จบแบบไร้มติ โอย เซ็งๆๆ เดินผ่านหน้าห้องเจ้านาย นายถามว่า แบมรีบไปไหน โพล่งตอบไปว่า "ไปดูหนังค่ะ" โอ๊ะ! ลืมตัว 5555 คือจริงๆ การดูหนังคือการหักดิบอาการเบื่อเซ็งสำหรับแบม แบมจะหาเรื่อง take new story เข้าตัว ประกอบกับแบมเป็นคนขี้ลืม ออกจากโรงหนังก็หายเซ็งไป แล้วพี่โต๋หักดิบด้วยวิธีอะไร?
************************************************
กลับมาต่อที่แบมค้างคาไว้
เมื่อคนๆ หนึ่งต้องการเป็นมืออาชีพ และเตรียมคุณสมบัติตนเองให้พร้อมแล้ว ไม่แปลกที่คนนั้นจะได้รับเลือกเข้าองค์กร
และไม่แปลกที่เราจะได้พบว่า คนๆ นั้น
ได้รับเลือก แต่ทำงานกับทีมไม่ได้ ได้รับเลือก แต่แก้ปัญหางานไม่ได้ ได้รับเลือก แต่พัฒนาปรับปรุงงานให้ดีขึ้นไม่ได้ ได้รับเลือก แต่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไม่ได้
ไม่อยากเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ และเอาหัวเป็นประกันได้ว่า ในทุกองค์กร เราจะได้พบเห็นคนที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยม แต่เมื่อได้ทำงานจริงกลับปรากฎผลตามข้างต้น พวกเราอาจแค่รู้สึกสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนนี้ หรือ อาจแค่เซ็งหากต้องร่วมงานกับคนนี้ แต่คนที่จะต้องออกอาการ "ทำใจ" มากที่สุด ก็คือเจ้าขององค์กรนั่นเอง
มีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้คนๆ หนึ่งที่คุณสมบัติพร้อม กลับเดินไม่ถึงการเป็น "มืออาชีพ" และหากคุณมีโอกาสได้นั่งคุยกับพวกเขา อย่าแปลกใจถ้าจะได้ฟัง สิบล้านเหตุผล สิบล้านคำอธิบาย สิบล้านอุปสรรค ที่เขาต้องเผชิญในองค์กร จนทำให้เขาไปถึงความเป็นมืออาชีพไม่ไหว และในสิบล้านที่กล่าวมานั้น ไม่เคยมีแม้แต่หนึ่ง ที่เกิดจากตัวเขาเอง สำหรับแบม เมื่อได้ฟัง แบมกลับคิดเหตุผลที่สิบล้านหนึ่ง ขึ้นมา และตัดสินใจ ตัดสิบล้านเดิมที่ได้ฟังทิ้งไป เหลือแค่หนึ่งเหตุผล คือ "วิธีคิด" ของคนเรานี่เอง ที่ทำให้ตัวตนคนเราแต่ละคนแตกต่างกัน เรื่องอื่นๆ เราอาจเติม เสริมแต่ง หรือแม้แต่เลียนแบบกันได้ แต่วิธีคิดนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้หนทางสู่เป้าหมายของแต่ละคนแตกต่างกัน
"วิธีคิด" ได้มาจากการบ่มเพาะ ปลูกฝัง อบรม เรียนรู้ ตลอดชีวิตของแต่ละคน วิธีคิดที่สั่งสมในตัวคนสะท้อนออกมาเป็นทัศนคติ และ วุฒิภาวะในการจัดการกับอารมณ์และใจของตนเอง
เมื่อมีคนถามว่า "แบมคิดเรื่องนี้ได้ยังไง?" แบมไม่เคยตอบได้ เพราะแบมก็สงสัยเหมือนกันว่า "ทำไมคุณไม่คิดถึงเรื่องนี้"
เมื่อมีคนถามว่า "แบมโกรธไปทำไมเรื่องแค่นี้เอง" แบมไม่เคยตอบได้ เพราะแบมก็สงสัยเหมือนกันว่า "ทำไมคุณถึงไม่โกรธ ในเมื่อความเสียหายมันมากขนาดนี้"
เมื่อมีคนถามว่า "แบมให้อภัยคนๆ นี้ได้ยังไง" แบมไม่เคยตอบได้ เพราะแบมก็สงสัยเหมือนกันว่า "แล้วคุณจะเจ็บแค้นต่อไปเพื่ออะไร"
เมื่อมีคนถามว่า "ทำไมแบมต้องทำอะไรมากมายขนาดนี้" แบมไม่เคยตอบได้ เพราะแบมก็สงสัยเหมือนกันว่า "ทำไมคุณไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่มีเรื่องมากมายต้องทำ"
ดังนั้นอย่ามาถามเรื่อง "วิธีคิด" กับแบมเลย แบม งง และ ไม่สามารถบอกให้คุณคิดเหมือนแบมได้ แต่ถ้าคุณบังเอิญคิดเหมือนแบม แบมก็ดีใจล๊าลลาไป
และต่อไปนี้ คือ วิธีคิดของแบมล้วนๆ ที่คิดว่าทำให้คนที่คุณสมบัติพร้อม ไม่สามารถเดินไปถึงจุดที่คนอื่นเรียกว่า "มืออาชีพ" ได้ ไม่เกี่ยวกับทฤษฎีใดๆ (หมายเหตุ : ย้ำว่า จุดที่คนอื่นเรียกว่ามืออาชีพ นะคะ ไม่ใช่เรียกตัวเอง)
: ทำงานกับทีมไม่ได้
แบมจะปวดหัวที่สุด ถ้าต้องนั่งฟังคนๆ หนึ่งบ่นเรื่องทำงานกับทีมไม่ได้ โชคร้ายที่ว่า เรื่องนี้ติดชาร์ต Top Three ประเด็นบ่น ของคนทำงานเสียด้วย ดังนั้น ไม่รอดหรอก ยังไงแบมก็ต้องได้ฟังตลอดไป บ่นไปเพื่ออะไร แบมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ยังไม่เคยมองไม่เห็นประโยชน์จากการบ่น หากมาปรึกษาหารือ หรือ ขอให้รวมหัวช่วยกันคิดว่า "ทำยังไงถึงจะทำงานร่วมกับทีมได้" ยังจะสร้างสรรค์กว่า
ถ้าคุณรักจะเป็นมืออาชีพ แต่คุณยังนั่งบ่นประเด็นนี้ แบมคิดว่า อืม ยากแล้วล่ะค่ะ วิธีคิดคุณมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้คุณหาจุดลงตัวให้กับการทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ น่าหดหู่มากที่ต้องบอกว่า หากคุณมองหาศักยภาพของคนอื่นไม่เจอ หรือ ไม่สามารถหยิบศักยภาพของทีมงานขึ้นมาสร้างงานที่ดีได้ คนอื่นเค้าก็มองหาศักยภาพของคุณไม่เจอเช่นเดียวกัน คนทุกคนมีแง่มุมที่ดีทุกคนค่ะ แต่การหานั้นต้องมีศิลปะกันหน่อย ส่วนถ้าเจอแล้วพบว่าศักยภาพนั้นไม่ match กับความต้องการของคุณ อันนี้อีกปัญหาหนึ่งค่ะ
: แก้ปัญหางานไม่ได้
ข้อนี้สำคัญสูงสุด เป็นบันไดขั้นแรกแห่งการพิสูจน์ตนสู่การเป็นมืออาชีพ ถ้าคุณทำได้ บันไดนั้นจะกลายเป็นบันไดเลื่อนทันที อันนี้เรื่องจริง ไม่ได้ปด เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่คุณต้องทำเมื่อก้าวเข้าสู่องค์กร ยังไม่ต้องคิดใหม่ทำใหม่อะไรทั้งนั้น เก็บความอยากของคุณไว้ก่อน ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ทุกองค์กร ทุกงานมีปัญหาทั้งนั้นแหละค่ะ หาให้เจอและแก้ให้ได้ คุณไม่ต้องสั่งให้ใครเชื่อคุณหรอก เพราะคุณไม่มีสิทธิบังคับความเชื่อคน แต่ถ้าคุณแก้ปัญหางานที่มีอยู่ได้ คุณจะได้รับความเชื่อจากคนอื่นแม้ไม่ได้สั่ง ลองดู
: พัฒนาปรับปรุงงานให้ดีขึ้นไม่ได้
ถ้าคุณทำข้อที่ผ่านมาไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าคุณจะมีโอกาสที่จะพัฒนาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น เพราะโอกาสที่คุณขอจากองค์กรจะถูกบล็อกด้วยความไม่เชื่อของผู้อื่น และคุณไม่มีสิทธิหงุดหงิดด้วย แต่คุณมักไม่เข้าใจ ว่าทำไมคุณไม่ได้รับโอกาสให้ทำเรื่องยิ่งใหญ่ คุณจะฟาดงวงฟาดงาหาว่าคนอื่นไร้วิสัยทัศน์ เล่นพรรคเล่นพวก ไม่เห็นคุณค่าของคุณ ก่อนจะเลยเถิดไปกันใหญ่ ให้กลับไปทำข้อที่ผ่านมาให้ได้เสียก่อนจะดีกว่า เรียกความเชื่อกลับคืนมา เรียกให้เร็วด้วย ก่อนที่มันจะไม่เหลือให้คุณเรียกอีกต่อไป
: สร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไม่ได้
แบมคิดเองเออเองว่า สิ่งนี้เป็นขั้น advance สูงสุดของการเป็นมืออาชีพ ถ้าคุณเดินถึงจุดนี้ ไม่มีอะไรเหมาะสมที่จะเรียกคุณมากไปกว่าคำว่า "มืออาชีพ" คุณจะเป็นความภาคภูมิใจขององค์กร เป็นบุคลากรที่มีค่าของผู้ร่วมงาน ซึ่งไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกอย่างไร ในเมื่อคุณผ่านสามข้อข้างต้นไม่ได้ และเรื่องมันข้ามขั้นไม่ได้เสียด้วย หากวิธีคิดของคุณข้ามขั้น เช่น คุณคิดว่าเมื่อได้เข้าสู่องค์กรคุณจะ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นเรื่องแรก รับรองว่า คุณได้เผชิญอาการช็อคทางวัฒนธรรมแน่นอน
แต่ถ้าคุณมีคุณสมบัติครบถ้วน และทำได้ทั้ง 4 เรื่องนี้แล้ว ก็ยินดีด้วยค่ะ เพราะคุณจะไม่ต้องหวาดหวั่นกับความไม่แน่นอนในชีวิตการทำงาน แม้เมื่อคุณได้เป็น "มืออาชีพ" แล้ว คุณจะเผชิญข้อหาหมั่นไส้ ข้อหาเด่นเกินเหตุ ข้อหาแตกต่างจนเป็นภัย หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้คุณมั่นคง ขอให้คุณมั่นใจว่าคุณได้ทำหน้าที่ลูกจ้างที่ดีจนถึงที่สุดแล้ว คุณไม่เคยสร้างอาการ "ทำใจ" ให้แก่เจ้าของกิจการ ขอให้คุณภาคภูมิใจในตัวเอง และอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
แม้ในวันหนึ่ง เมื่อความไม่แน่นอนเดินทางมาถึง และคุณต้องจากองค์กรไป ขอให้คุณเชื่อเถอะว่า คุณยังคงเป็น "มืออาชีพ" ที่มีค่าสำหรับองค์กรอื่นอีกมากมาย
โชคดีและฝันดี ทุกคนค่ะ
Create Date : 25 มกราคม 2552 | | |
Last Update : 25 มกราคม 2552 2:30:25 น. |
Counter : 784 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
คุณสมบัติของมืออาชีพ
จากหลายความเห็นของแบมในกระทู้ "จะทำงานเป็นมืออาชีพได้อย่างไร" //www.pantip.com/cafe/silom/topic/B7447464/B7447464.html
***********************************************
โดยความสัตย์จริง คือ แบมไม่ค่อยอยากแปลคำว่า "มืออาชีพ" เท่าไร เพราะแบมรู้สึกว่ามันแปลยาก ความหมายมันดิ้นไปตามเงื่อนไขของแต่ละผู้แปล
เอาเป็นว่าแบมไม่แปลดีกว่า แต่แบมพูดโดยตัวตน โดยวิธีคิดของแบมดีกว่า
โกกล่าวไว้ว่า เคยมีเพื่อนถามผมเหมือนกันว่า.."มีกิจการเยอะๆทำได้ไง...???" ผมตอบทีเล่นทีจริงว่า..."ข้อแรก คุณต้องทำใจก่อน..."
แบมจะตอบว่า แบมทำงานโดยไม่ได้มุ่งหมายว่าตัวเองต้องได้อะไรอย่างไร แต่แบมทำงานโดยแบมตระหนักอย่างมาก ว่าคนเป็นเจ้าของกิจการเค้าต้อง "ทำใจ" แบมทำงานโดยวิธีคิดแบบใจเขาใจเรา แบมจะเสียใจมาก ถ้าการทำงานของแบม ทำให้เจ้าของกิจการต้อง "ทำใจ"
แบมเชื่อว่า การถูกเลือก การถูกว่าจ้างของลูกจ้างทุกคนนั้น เกิดขึ้นเพราะความคาดหวังลึกๆ ของเจ้าของกิจการว่า ผมจะไม่ต้อง "ทำใจ" ใช่ไหม ถ้ามีคุณอยู่ในองค์กร ทุกๆ วันของการทำงาน แบมทำด้วยวิธีคิดอย่างนี้ ทุกๆ วันที่มองเห็นปัญหา แบมพูดตรงๆ แบบไม่ได้อยากสร้างภาพว่า แบมสงสารเจ้าของกิจการ ทุกๆ วันที่มองเห็นพนักงานทำงานแบบไร้พลังและจิตวิญญาณ แบมก็สงสารเจ้าของกิจการ
และแบมจะค่อนข้างโรคจิตเป็นพิเศษ เมื่อได้ยิน ได้เห็น ผู้ที่กล่าวถึงองค์กรในทางแย่
กลับมาเขียนต่อ เพื่อตอบคำถามหัวกระทู้ค่ะ "จะทำงานเป็นมืออาชีพได้อย่างไร" (แต่ยังยืนยันไม่กล้าแปลคำนี้นะคะ)
แบมคิดว่า เราควรเริ่มที่ "การรู้จักตน" ก่อนค่ะ การใช้เวลาเพื่อรู้จักตนของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนทำงานมาเป็นสิบปียังไม่รู้ว่าตนเองเหมาะกับงานอะไรก็มี อาจเพราะไม่เคยถามตัวเอง หรือ กลัวคำตอบที่จะได้จากการถามตัวเอง แต่บังเอิญว่า ถ้างานคือส่วนสำคัญในชีวิตคุณ คุณจำเป็นต้องกลั้นใจถามตัวเองว่า คุณเหมาะกับงานอะไร? คุณทำงานประเภทไหนได้ดีเป็นพิเศษ และ มีความสุขในการทำสิ่งนั้น?
อ๊ะ อย่ามั่วประเมินตนแบบหลงตัวเอง คำว่า "ทำงานได้ดีเป็นพิเศษ" มิใช่สิ่งที่คุณคิดเอง แต่ต้องมีหลักฐานเป็นรูปธรรม มีผลงานเป็นที่ชื่นชมของผู้อื่น คนรอบข้างต่างก็ลงความเห็นว่า คุณทำสิ่งนั้นได้ดี แถมตัวคุณก็ยังมีความสุขในการทำสิ่งนั้นอีก นั่นคือความหมายที่แท้จริง
ถ้าคุณค้นพบแล้วว่าคุณเหมาะกับอะไร เราจะไปต่อกันที่ "เป้าหมายคุณคืออะไร?" ถ้าคุณใฝ่จะเป็น "มืออาชีพ" ก็อย่าเขินที่จะตั้งเป้าหมายให้สุด ทำไมคนเราจะไม่มีสิทธิฝันในเมื่อเราเหมาะ? บนเส้นทางที่คุณเหมาะนั้นสูงสุดอยู่ที่ไหน?
มองเห็นเป้าหมายแล้ว ต่อไปคุณต้อง "เติมความพร้อมของตัวเอง" จากตรงนี้จนถึงจุดนั้น คุณยังต้องเติมอะไรอีกบ้าง บางคนต้องการเติมความรู้ บางคนต้องการเติมประสบการณ์ ก็แล้วแต่ แบมค้นพบว่า หลายคนตกม้าตายตรงจุดนี้ การชินกับการมุ่งมั่นในสิ่งที่รับผิดชอบอยู่ ทำให้คนเราลืมทบทวนตัวเอง
ทั้งๆ ที่คุณรู้ว่าคุณต้องเติมความรู้ คุณกลับให้เหตุผลว่า "ไม่มีเวลาไปศึกษาต่อ" เป็นคำอธิบายที่น่าเสียดายแทนมาก เพราะคุณแปลข้อความ "งานคือสิ่งสำคัญของชีวิต" ว่า "งานที่นี่ คือสิ่งสำคัญของชีวิต" คุณเข้าใจผิดแล้ว คุณลืมแล้วหรือ ว่า ไม่มีคำว่าแน่นอนและมั่นคงในโลกการทำงาน ทำไมถึงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คุณมีอยู่ในมือในวันนี้ จะยังอยู่ในวันพรุ่งนี้ มันไม่มีอะไรเป็นของคุณถาวรทั้งนั้น สิ่งที่จะเป็นของคุณอย่างแท้จริงเพียงอย่างเดียว คือ "ความรู้" รีบกอบโกยเสียในขณะที่ชีวิตคุณยังมีเวลา กอบโกยเสียในขณะที่ความรู้เป็นสิ่งมีค่าที่จะนำพาคุณไปสู่จุดหมาย อย่าหาข้ออ้างที่จะไม่รับความรู้ค่ะ โปรดรู้ไว้ว่า ในโลกทำงานมีคนมากมายที่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเพื่อที่จะเงยหน้าขึ้นในวันหนึ่งแล้วพบว่า สายเกินไปที่จะเติมความรู้เพื่อสนับสนุนการเดินสู่เป้าหมาย บางทีโอกาสสำหรับคุณก็ไม่ได้อยู่รอคุณทั้งชีวิตนะคะ
ทั้งๆ ที่คุณรู้ว่าคุณต้องเติมประสบการณ์ในสายงานนี้ คุณกลับให้เหตุผลว่า "คุณอยากไปเรียนรู้งานอื่นบ้าง" ว่าแล้วคุณก็กระโดดข้ามห้วย ข้ามองค์กร ข้ามสายงานไปอยู่ในงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับงานที่คุณคิดว่าเหมาะกับตัวเองเลย ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ ช่างเป็นเรื่องที่น่าเสียดายแทนมาก ที่คุณเลือกที่จะเดินออกจากเส้นทางที่เหมาะกับคุณ และ ละทิ้งเป้าหมายของคุณไป กว่าจะเจอสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ก็ยากเย็น คุณกลับปล่อยให้ ใคร หรือ อะไร ก็ไม่รู้พัดพาใจคุณออกจากเส้นทางที่คุณเลือกแล้ว แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไป???? กลับไปเริ่มต้นค้นหาสิ่งที่เหมาะใหม่ กลับไปเริ่มต้นตั้งเป้าหมายกันใหม่ อย่างนั้นหรือ??? เป้าหมายในชีวิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนกันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ?
อ่ะ ย้ำกันอีกรอบ รู้จักตน >> ตั้งเป้าหมาย >> เติมความพร้อมตัวเอง
หมดไปหนึ่งตอน ได้มาแค่ แสดงให้โลกรู้ว่า เราพร้อมที่จะเสนอคุณสมบัติของตัวเองให้พิจารณา หากองค์กรต้องการ"มืออาชีพ"
แต่ยังไม่ไปถึงการทำงานของ "มืออาชีพ" เลย คุณสมบัติพร้อมก็แค่จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น ยังเหลืออีกจิ๊กซอว์อีกมากมาย ซึ่งหากขาดตัวใดตัวหนึ่งไป
Create Date : 25 มกราคม 2552 | | |
Last Update : 25 มกราคม 2552 2:19:16 น. |
Counter : 857 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
การแข่งขันอย่างสันติ และการตั้งสมมติฐานก่อนทำธุรกิจ
จากความเห็นที่ 148 และ 156 กระทู้ "อุบล.....หนาวมาก" //www.pantip.com/cafe/silom/topic/B7337347/B7337347.html
**********************************************
ความเห็นที่ 148
............................................. .............................................
เรื่องที่สองที่แบมคิดว่าเราต้องตั้งสติก่อนทำแผนคือ "ย้ำเตือนตัวเองให้แข่งขันอย่างสันติเสมอ"
แม้ว่าแบมจะชอบพูดเปรียบว่ากำลังจะออกไปสงคราม แต่ในความจริงแล้วแบมคิดว่าการทำธุรกิจและสงครามมีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ประการ
1) สงครามนั้น ไม่ว่าจะยาวนานขนาดไหน ก็มีจุดสิ้นสุดเสมอ แต่การแข่งขันธุรกิจนั้นไม่เคยจบลงอย่างหมดจด
2) ในสมรภูมิรบ ภารกิจหลักคือ กวาดให้สิ้น ฆ่าไม่ได้ก็จับไปเป็นเชลย แต่ในสนามธุรกิจนั้น ไม่มีใครให้ฆ่า มีแต่ต้องแข่งกันทำให้ (ลูกค้า) รัก
ในภาวะที่คุณยังหา "นวัตกรรม" ไม่เจอ โปรดย้ำเตือนตัวเองให้แข่งขันอย่างสันติเสมอ เพราะสิ่งนี้จะช่วยรักษาโอกาสในการทำกำไร และ ยืดชีวิตธุรกิจคุณไปจนกว่าคุณจะคลำหา "นวัตกรรม" เจอ นั่นแหละ
การแข่งขันอย่างสันติ เริ่มตั้งแต่การที่คุณตั้งหัวใจตัวเองไว้ที่ "การมุ่งรักษาระดับกำไร" ด้วยจุดที่ยึดมั่นนี้ คุณจะไม่ยอมพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่หมกมุ่นอยู่แต่การสิ้นเปลืองทรัพยากรไปเพื่อแข่งกับใคร เพราะคุณจะรู้สึกว่า มันไร้สาระสิ้นดี ที่ต่างฝ่ายต่างยกเหตุผลในการต่อสู้แข่งขันว่า เพื่อ "ปกป้อง" ตัวเอง แถมในบางสนามแข่งกันมานานจนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าต้นเรื่องมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คุณจะเลือกที่จะหมกมุ่นอยู่กับการ "สร้างความแตกต่าง" ให้กับตัวเอง ในสนามที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าจะเป็น "ผู้ชนะ" ประเด็นของเรื่องนี้ คือ การประเมินหาสนามที่เหมาะสม ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่การนั่งนึก หรือไปถามกับบรรดาผู้ตั้งตนว่าเป็นกูรู การประเมินที่แม่นตรงที่สุด คือการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง คุณจำเป็นต้องระบุตำแหน่งสนามที่ผู้แข่งขันคุณแต่ละรายยืนอยู่ คุณไม่จำเป็นต้องเสียดายบางสนามที่คู่แข่งคุณแข่งแกร่งด้วยทรัพยากรที่เหลือเฟือ แต่คุณจำเป็นต้องกวาดตามองหาสนามที่คุณมั่นใจว่า คุณสามารถสร้างความแตกต่าง หรือ ดีกว่า คู่แข่งที่ยืนอยู่กลางสนามนั้น
บางสนาม คุณพบว่า คู่แข่งของคุณก็ไม่ได้เหนือกว่าคุณสักเท่าใด คุณน่าจะชนะได้ แต่อย่ามั่นใจจนกว่า คุณจะได้ถามตัวเองอย่างซื่อตรงว่า คุณดีกว่าเค้าจริงๆ เหรอ??? ตรงไหนล่ะ??? ทำไมลูกค้าต้องเลือกคุณด้วย??? ถ้าคุณถามตัวเองแล้วไม่ได้คำตอบ หรือ เขินที่จะตอบ คนที่จะตอบคุณได้อย่างปรุโปร่งที่สุด คือ ลูกค้าของคุณ เตรียมรับคำตอบของพวกเขาไว้ให้ดี เพราะบ่อยครั้งมันช่างแตกต่างจากสิ่งที่คุณคิด มันจะตรง แรง และ เจาะใจคุณจนบางทีคุณอยากจะเบือนหน้าหนี คุณอาจตกใจที่พวกเค้าตอบคุณว่า ไม่ๆ คู่แข่งคุณไม่ได้ดีกว่าคุณตรงไหน แต่คุณมันแย่เหลือทนในเรื่องดังต่อไปนี้..............
คุณจะหนีไหม เมื่อเจอคำตอบนี้? หรือจะพาลด่าคู่แข่งคุณที่ทำให้ลูกค้ามีทัศนคติที่ไม่ดีกับคุณ เรียนรู้ที่จะแข่งแบบสันติเสีย ในโลกธุรกิจ บางทีมันก็ไม่มีใครมาทำให้คุณแพ้หรอก นอกจากตัวคุณเอง
ทบทวนตัวเองกันบ่อย ๆ ค่ะ
ไว้ว่ากันใหม่เรื่อง สิ่งที่ต้องเตือนสติข้อที่สาม เพราะตอนนี้แบตหมดแย๊วววว
จากคุณ : bam_ka@ - [ 6 ม.ค. 52 23:19:03 ]
: Mythica88, mpl2004, คุณไข่เป็ด
************************************************ ความคิดเห็นที่ 156
เรื่องที่สามที่ควรเตือนสติตัวเอง ก่อนทำแผน ที่แบมติดเอาไว้ คือ "ตั้งสมมติฐานของคุณจากเรื่องจริงเท่านั้น" เวลาเราจะกำหนดวิธีเดิน เรามักจะเคยชินที่จะถามตัวเองเป็นคนแรก ว่าจะเดินยังไงหรือแม้จะถามว่า จะเดินดีไหม ถ้าถามตัวเองแล้วยังไม่แน่ใจ เราจะเลือกถามคนที่เราสนิทคุ้นเคย เราทำอย่างนั้น เพราะเราชิน แต่สิ่งที่เราชินนี้ควรเก็บไว้ใช้กับเรื่องอื่น ไม่ใช่กับเรื่องธุรกิจ
ถ้าคุณจะทำธุรกิจ การตั้งสมมติฐานของคุณจำเป็นต้องมาจากเรื่องจริงเท่านั้น บุคคลที่เป็นผู้กำข้อมูลเรื่องจริงทั้งหมดคือ ลูกค้า และ ข้อมูลสิ่งที่เกิดขึนในอดีต (ถ้ามี) ทั้งหมดนั่นคือ สิ่งที่คุณต้องศึกษาเพื่อตอบทุกสมมติฐาน ทุกคำถามในใจคุณ แต่ถ้าคุณใช้วิธีถามตัวเอง หรือ คนรอบข้างคุณที่ไม่มีคุณลักษณะของลูกค้าเป้าหมาย แล้วตัดสินใจในเรื่องธุรกิจของคุณ ภาษาสั้นๆ ห้วนๆ เรียกว่า "นั่งเทียน"
ถ้าคุณ "นั่งเทียน" แล้วฟลุค ตัดสินใจถูกถือว่าเฮง และ โชคดี แต่เชื่อเถอะว่า บนเส้นทางธุรกิจ ความเฮงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ธุรกิจเป็นเรื่องราวที่มี ที่มาที่ไป มีคำอธิบายสำหรับทุกสถานการณ์ หลักฐานที่แสดงว่า ความเฮงไม่ได้เกิดบ่อย คือ ตัวเลขของธุรกิจที่ปิดกิจการซึ่งมีทุกวัน วันละไม่ใช่น้อยๆ
Create Date : 25 มกราคม 2552 | | |
Last Update : 25 มกราคม 2552 2:08:20 น. |
Counter : 783 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
อยากได้ รายได้ หรือ กำไร มากกว่ากัน?
จากความเห็นที่ 146 กระทู้ "อุบล.....หนาวมาก" //www.pantip.com/cafe/silom/topic/B7337347/B7337347.html
**********************************************
ความคิดเห็นที่ 146
55555 *O* มาแล้ว มาแล้ว
กราบโกค่ะ สวัสดีพี่น้องค่ะ
หายไปนี่ ไม่ได้เขียนแผนเสร็จแล้วนะคะ ยังไม่เสร็จค่ะ รอสัญญาณบางอย่างจากเบื้องบนอยู่ค่ะ
ที่จำเป็นต้องหายสำหรับช่วงเวลาเขียนแผน เพราะต้องกอบโกยสมาธิ และ สติ อย่างมากมายค่ะ มันเป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบทบาทผู้นำทีม สติต้องเริ่มเกิดตั้งแต่ยังไม่เริ่มก้าวเดินด้วยซ้ำ สติต้องเริ่มเกิดตั้งแต่คุณถามใจตัวเองด้วยซ้ำ ว่าคุณกำลังจะนำทีมไปไหน คุณต้องตอบคำถามนี้ด้วยสติ และทบทวนจริตกับความทะยานอยากของคุณด้วย เพราะสิ่งที่คุณจะพูดนับแต่นี้ไป มันหมายถึงอนาคตของตัวเอง ของทีมงาน หรือ แม้แต่องค์กรของคุณเอง
คำถามแรกที่คุณต้องถามใจตัวเอง : คุณอยากได้ รายได้ หรือ กำไร มากกว่ากัน?
ตอนเด็กๆ แบมอาจตอบได้อย่างไม่ลังเล ว่าแบมอยากได้ทั้งสองอย่างมากพอๆ กันนั่นแหละ แบมจะขยายตลาด แบมจะลดต้นทุน แบมจะใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุดนี้แบมค้นพบว่า รายได้บางทีก็เป็นภาพลวงที่กระตุ้นใจผู้นำที่ทะเยอทะยานให้ตะกายเข้าไปหา มันมีพลังดึงดูดให้จริตของคุณติดอยู่กับมูลค่ารายได้ และ ส่วนแบ่งตลาด เมื่อใดที่เราสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป เราจะเริ่มกวาดตามองหาศัตรู เราเรียกเค้าว่าศัตรู และคุณจะเริ่มมีพฤติกรรมของการรุกรานคู่แข่ง เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่คุณยึดติดว่ามันควรเป็นของคุณกลับคืนมา โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว คุณได้สร้าง"วัฒนธรรมการเอาคืน" ศัตรูของคุณให้กับทีมงานทั้งองค์กร คุณได้ฝังเป้าหมายให้ทีมงาน "ทำทุกอย่าง" เพื่อรักษาลูกค้าไว้ จนเกิด "วัฒนธรรมการยอมโดยไม่มีเงื่อนไข" แผ่ไปทั้งองค์กร
เกิดอะไรขึ้น เมื่อองค์กรมี วัฒนธรรมการเอาคืนคู่แข่ง และ วัฒนธรรมการยอมทำตามลูกค้าแบบไม่มีเงื่อนไข
เมื่อคุณเอาคืนคู่แข่ง และจริตของคู่แข่งคุณก็พอๆ กันกับคุณ สุดท้ายการแข่งขันในตลาดจะรุนแรงขึ้น นำสู่ความหน้ามืดตามัวกับการใช้วิธีการตัดราคา สุดท้ายแล้วคุณจะค้นพบว่า ในขณะที่คุณห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น ความพยายามของคุณแทบไม่มีผลในการเพิ่มอุปสงค์ของตลาด เพราะเมื่อคุณก้มดูส่วนแบ่งตลาดในมือที่คุณแย่งกลับมาจากคู่แข่งได้ คุณจะพบว่า สิ่งที่คุณเพิ่งทำลงไปนั้นส่งผลกระทบทางลบต่อกำไรอย่างแทบจะถาวร
เมื่อคุณยอมลูกค้าแบบไม่มีเงื่อนไข คุณจะได้รับสมญานามว่าเป็นคนดี แต่ลูกค้าของคุณจะเรียกร้องมากกว่าเดิมในราคาที่ต่ำกว่าเดิม และลูกค้าของคุณจะนำคุณไปเป็นตัวอย่างเพื่อเรียกร้องต่อผู้ขายรายอื่น กลายเป็นวงจรที่น่ากลัว สุดท้าย เมื่อคุณก้มดูรายได้ในมือของคุณ คุณก็จะพบว่า มันแทบไม่เหลือกำไร
เอ่า แล้วมันจะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะได้ทั้งรายได้ดีและกำไรงาม เป็นไปได้ค่ะ ถ้าคุณ "กำเนิดนวัตกรรม" พร้อมๆ กับการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีนวัตกรรมคุณจะปลอดจากเงื่อนไขของการตั้งราคา และ ไร้คู่แข่ง ส่วนลูกค้ายังไงก็ต้องรักคุณอยู่ดี
แต่คุณคิดว่า "นวัตกรรม" มันเกิดขึ้นง่ายๆ ภายในวันสองวันไหม? แล้วคุณคิดว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วคุณจะได้สุขอยู่กับช่วงเวลาฮันนิมูนนี้ได้นานแค่ไหน? ถ้าเมื่อหลายปีก่อนคุณเป็นสตาร์บัคส์ บอกได้ว่าโมเดลธุรกิจของสตาร์บัคส์นั้นคือ นวัตกรรม สตาร์บัคส์ขยายตลาดกวาดรายได้ทั่วโลกเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่นวัตกรรมของสตาร์บัคส์เสื่อมเร็วพอๆ กับความเร็วในการขยายตลาด วันนี้มันไม่เหลือคำว่านวัตกรรมสำหรับโมเดลธุรกิจนี้อีกต่อไป เมื่อเครื่องทำเอสเพรสโซ่หาได้ง่ายดาย ใครจะรู้ว่าบรรทัดสุดท้ายของสตาร์บัคติดตัวแดงมาต่อเนื่องหลายปี วันนี้ไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นสตาร์บัคทยอยปิดสาขาในอเมริกาหลายร้อยแห่ง วันนี้ถึงจุดที่สตาร์บัคต้องทบทวนตัวเองอีกครั้ง ว่าต้องการยอดขาย หรือ กำไร มากกว่ากัน
นิทานอีกเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเอาคืนคู่แข่ง และ การเกิดนวัตกรรม คือ เรื่องของ มิสเตอร์โดนัท และ ดังกิ้นโดนัท (เรียกว่านิทาน เพราะเป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้น และ จบลงแล้ว และวันนี้ถูกใช้เป็น case study ในการเรียน MBA หลายแห่งแล้ว ถือเป็นการหยิบข้อมูลทุติยภูมิมาเขียน มิได้นินทาผู้ร่วมวงการแต่อย่างใด) แบมจะไม่ระบุว่าใครเริ่มก่อนหรือเอาคืน แต่เรื่องราวมันเกิดขึ้นเมื่อ ฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นมาทุบราคาโดนัท จากชิ้นละเกือบ 20 บาท เหลือชิ้นละ 9 บาทและได้กินส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่พร้อมต่ำแหน่งผู้นำตลาด ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทนนั่งวิเคราะห์ผลที่แท้จริงได้อีกต่อไป ตัดสินใจลุกขึ้นเอาคืนด้วยการเสนอราคาโดนัทชิ้นละ 9 บาท เช่นเดียวกัน ผลคือ ส่วนแบ่งตลาดเทกลับคืนมาบางส่วน ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาห้ำหั่นกันอยู่นานพร้อมๆ กับต่างฝ่ายต่างไม่หยุดขยายตลาด จนเมื่อฝ่ายหนึ่งตัดสินใจเงยหน้าขึ้นมาเพื่อพบความจริงว่า แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดจะยังอยู่ แต่มูลค่าตลาดรวมหายไปครึ่งหนึ่งจากที่ควรจะเป็น และเป็นการหายไปแบบยากที่จะเอาคืน เพราะทั้งตลาดถูกลูกค้าเขี่ยลงมาเทียบชั้นกับโดนัทหน้าตลาดที่ราคาพอๆ กัน เมื่อนั้นจึงถึงจุดที่ต้องทบทวนตัวเองอีกครั้ง ว่าต้องการส่วนแบ่งตลาด หรือ กำไร เมื่อสรุปกับตัวเองได้ จึงตัดสินใจยุติตำนานโดนัท 9 บาทของตน อย่างไรก็ตาม ยังต้องใช้ความพยายามไม่ต่ำกว่าห้าปีในการไต่กลับสู่ตลาดของตัวเอง
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บจากการต่อสู้ยาวนานเป็นสิบปีที่ไม่เคยได้เห็นตัวเลขสีดำในบรรทัดกำไร จนเมื่อวันหนึ่งสินค้าที่ถือเป็น "นวัตกรรม" ก็เกิดขึ้น การจะเรียกนวัตกรรมได้นั้น ไม่ใช่แค่การเกิดสินค้าใหม่ แต่สินค้าใหม่นั้นต้องสามารถเปลี่ยนการรับรู้เดิมๆ ของผู้บริโภคได้โดยสิ้นเชิง วันหนึ่งนวัตกรรมได้เกิดขึ้นท่ามกลางความสิ้นหวังของคนทั้งองค์กร ไม่มีใครมีอารมณ์มองเห็นค่านวัตกรรมนี้ หากแต่มีผู้หนึ่ง ผู้เดียวจริงๆ ที่ยืนยันว่า นี่คือ นวัตกรรมที่จะมาพลิกตลาดโดนัทแบบ turn around นับเป็นเส้นฟางสุดท้ายที่ถูกหยิบยื่นมา และโชคดีที่ทั้งองค์กรตัดสินใจจะลุกขึ้นลองสนับสนุนนวัตกรรมนั้น ผู้หนึ่งเดียวนั้นยืนยันให้จำหน่ายในราคาสูง เลิกล้มการยึดติดกับโดนัท 9 บาท ผลที่เกิดขึ้นคือ รายได้ที่ฟื้นกลับเกินกว่า 100%
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นถือเป็นปรากฎการณ์ ได้มาทั้งรายได้และกำไร แต่ทุกคนรู้ดีว่าปรากฎการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และไม่รู้เลยว่าช่วงเวลาฮันนิมูนนี้จะยาวนานแค่ไหน จึงถึงเวลาที่องค์กรต้องทบทวนจริตของตัวเอง ว่าต้องการรายได้ หรือ กำไร
ยังไม่ทันที่จะตอบตัวเองได้ นวัตกรรมนั้นก็หมดอายุขัยลงเมื่ออีกฝ่ายสามารถผลิตสินค้าที่เหมือนกันไม่มีที่ติ พร้อมปรับรื้อแบรนด์อย่างมโหฬาร ทั้งสองฝ่ายสร้างยอดขายและภาพลักษณ์อันเป็นผลมาจากนวัตกรรมนี้ จนสามารถกลับขึ้นมาสู่ตลาดบนได้ทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายมองหน้ากัน แค่มองตาก็รู้ถึงจริตของกันและกัน ทั้งสองตัดสินใจหยุดต่อสู้ และเดินบนทางของตนอย่างสงบต่อไป นับเป็นการทบทวนสติที่มีค่ายิ่ง เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปที่ตำนานโดนัท 9 บาท เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว วันนี้โชคดีเหลือเกินที่มูลค่าตลาดกลับมาสู่ระดับที่มากกว่าในวันนั้น มากกว่าเท่าตัว หากจะมีใครคิดสั้นลุกขึ้นมาต่อสู้กันในวันนี้ ความสูญเสีย คงไม่อยากประเมินกัน
เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุดที่ได้ผ่านพบนิทานการตลาดมากมาย แบมตัดสินใจได้ว่า แบมต้องการกำไร มากกว่ารายได้ แบมยินดีที่จะละทิ้งตลาดที่แบมไม่สามารถทำกำไรได้ และแบมจะมองหาโอกาสที่จะทำกำไรมากขึ้นในตลาดที่ทำได้ดี และสุดท้าย แบมจะไม่ละทิ้งความพยายามที่จะสร้างนวัตกรรมด้วยการลงทุนที่เหมาะสม
เขียนมายาว ขอเรียนว่า เป็นแค่ความเห็นของคนๆ หนึ่งเท่านั้น แบมยังมีอีกสองเรื่องที่คุณต้องตั้งสติก่อนทำแผน แต่วันนี้ยาวแล้ว พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ค่ะ
จากคุณ : bam_ka@ - [ 6 ม.ค. 52 00:20:09 ]
: Mythica88, mpl2004, คุณไข่เป็ด
Create Date : 25 มกราคม 2552 | | |
Last Update : 25 มกราคม 2552 2:01:21 น. |
Counter : 799 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ทำงานที่ไม่ใช่งาน
จากความเห็นที่ 116 กระทู้ "อุบล.....หนาวมาก" //www.pantip.com/cafe/silom/topic/B7337347/B7337347.html
**********************************************
ความเห็นที่ 116
........................................ .......................................
วันนี้เอาเรื่องนี้ดีกว่า วันนี้เพิ่งใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงกับเรื่องนี้ค่ะ คุณเคยเห็นคน "ทำงานที่ไม่ใช่งาน" ไหมคะ? ประเภทยุ่งทั้งวัน เหนื่อยมาก แต่ตอบไม่ได้ ว่าทำไปเพื่ออะไร? อย่างนี้เรียกว่า "ทำงานที่ไม่ใช่งาน" นับเป็นการสูญเสียต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล โดยที่ไม่เกิดประสิทธิผลใดๆ คืนมา
ลักษณะนี้ แบมไม่โทษพนักงาน นะคะ แบมว่าเกิดความ error ในระบบขององค์กร และ ความ error ของหัวหน้างานอย่าง อืมมมม... อย่างอะไรดี ไม่สามารถระบุได้จริงๆ ค่ะ
วันนี้แบมประเมินผลพนักงานร้านสาขาเป็นรายบุคคลค่ะ เอาเป็นว่าไม่เจาะจงแล้วกันนะคะ ว่าเป็นตำแหน่งใดบ้าง เพราะคงเดากันได้ ว่า ถ้าระบบองค์กร error แล้วละก็ เหอะๆๆๆ คุณได้พบคนที่ "ทำงานที่ไม่ใช่งาน" มากกว่าหนึ่งตำแหน่งเป็นแน่แท้
ถึงคิวพนักงานคนหนึ่งได้รับการประเมินผล แบมก็นั่งฟังหัวหน้างานประเมินไป จดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ซักพัก แบมเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมพนักงานในตำแหน่งงานนี้ ทำงานที่แบมได้มอบหมายให้ ไม่เคยเสร็จตรงเวลาและถูกต้องเลย? แบมก็เลยถามน้องว่า พี่แบมอยากรู้ว่าในวันหนึ่งๆ นู๋ทำอะไรบ้าง ช่วยเล่าให้พี่ฟังได้ไหม?
น้องตอบว่า " พี่แบมคะ งานปกตินู๋เยอะมากๆ ค่ะ งานที่พี่แบมได้มอบหมายมานั้น นู๋ขอโทษจริงๆ ที่เสร็จล่าช้าตลอดเลย มันไม่ทันจริงๆ ค่ะ"
"อ่อ จ้ะ ใจเย็นๆ ค่อยๆ เล่าให้พี่ฟังว่า ในหนึ่งวันนู๋ทำอะไรบ้าง"
น้องก็นั่งเล่าให้แบมฟัง สรุปใจความได้ว่า ในวันหนึ่งๆ น้องต้อง "จดบันทึก" รายงานประมาณ 10 รายงาน และ ที่แบมได้มอบหมายให้อีก 2 รายงาน รวมเป็น 12 รายงาน แบมเอ๋อไปเลยนะ หันไปถามหัวหน้างานว่าตำแหน่งงานนี้ ทุกคน ต้องทำงานอย่างนี้หรือ?????? หัวหน้างานตอบว่า ค่ะพี่ แบมก็เริ่ม "เอ๊ะ" ในหัวใจแล้ว แจ้งน้องพนักงานว่า ไปเดินเล่นก่อนนะนู๋ พี่แบมขอคุยกับหัวหน้านู๋แป๊บเดียว
พอน้องเดินไป แบมถามยัยนู๋หัวหน้างานว่า เมื่อนู๋ให้น้องทำรายงานทั้ง 10 ฉบับนั้น แล้วน้องต้องทำอย่างไรต่อ "น้องก็จัดเรียงเข้าไฟล์ไว้ค่ะ" แล้วอย่างไรต่อคะ?? "ก็เก็บไฟล์ไว้ค่ะ" -_-' (ช่างเป็นคำตอบที่เหมือนไม่ได้ตอบโดยแท้" แล้วนู๋เอาสิ่งที่เด็กๆ จดบันทึกนั้นไปทำอะไรต่อคะ? (แบมพยายามอดทนถามต่อไป) "ทุกวันนี้ นู๋ก็ยังไม่ได้เอามาทำอะไรค่ะ เพราะนู๋ยุ่งมากๆ แต่นู๋รู้ว่ามันสำคัญ เพราะเป็นข้อมูลการขายที่เราสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อสร้างยอดขายให้สูงขึ้นได้ค่ะ"
"โอเคค่ะ ขอบคุณที่นู๋เห็นว่าข้อมูลมีความสำคัญ แต่นู๋รู้ไหม ข้อมูลนั้นจะไม่มีค่าเลย ถ้าไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาแปล มาวิเคราะห์ แล้วดำเนินการตามผลการวิเคราะห์ ที่สำคัญไปกว่านั้น นู๋รู้ไหมว่า รายงานทั้ง 10 ประเภทที่นู๋ให้เด็ก "จดบันทึก" นั้น พี่สามารถกดปุ่มประมาณสามปุ่ม ที่เครื่อง server ระบบงานขายเพื่อเรียกดูได้ เพราะทุกสาขาของนู๋บันทึกการขายด้วยระบบ POS !"
"สำหรับงาน 2 รายงานที่พี่แบมมอบหมายให้น้องๆ ทำแต่น้องไม่เคยมีเวลาที่จะทำเสร็จนั้น เป้าหมายของมันคือ พี่ต้องการฝึกน้องๆ เรียนรู้เรื่อง การตั้งเป้าหมายยอดขายและแปลสาเหตุที่ยอดขายไม่ถึงเป้าหมาย และ การควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายของร้าน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการบริหารร้านสาขาให้มีกำไร และเป็นรายงานที่ระบบ POS ที่มีอยู่วิเคราะห์ออกมาไม่ได้"
ยัยนู๋หัวหน้างานนั่งอึ้งไปสามสิบวินาที ก่อนที่จะถามว่า ระบบ POS มีรายงานทั้งหมดนี้เลยเหรอคะพี่?
-_-' แม่เจ้า! แบมนั่งตั้งสติ อดกลั้นและอดทนต่อคำถามนี้มาก เพราะยัยนู๋อยู่กับแบรนด์นี้มาสองปีแต่ถามคำถามนี้กับแบมซึ่งมาทำงานสองเดือน แม่เจ้า! โอเคค่ะ ในเมื่อเป็นทีมงานเดียวกันแบมก็ต้องพยายามตอบอย่างสร้างสรรค์ค่ะ
"ใช่ค่ะ เดี๋ยวพรุ่งนี้พี่สอนดูให้นะ เราอย่าให้เด็ก "ทำงานที่ไม่ใช่งาน" อีกต่อไปเลย เด็กๆ ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก มากมายเหลือเกิน เราต้องช่วยกันเคลียร์สิ่งที่ไม่ใช่งานออกจากตัวเค้า เพื่อเติมความรู้ที่เค้าควรจะมีลงไปได้นะคะ สำหรับงานของนู๋คือ เมื่อพี่สอนดูรายงานทั้ง 10 จากระบบแล้ว นู๋ช่วยมาตอบพี่แบมหน่อย ว่านู๋ค้นพบปัญหาอะไรหรือแนวทางเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าอย่างไร จากทั้ง 10 รายงาน เมื่อเราพิจารณาร่วมกันแล้ว เราจะได้กลับมาบอกแนวทางการทำงานเพื่อแก้ไขสิ่งนั้นกับเด็กๆ ของเราได้ โอเคไหม?"
"ค่ะพี่แบม แล้วถ้านู๋ดูรายงานแล้ว นู๋หาสิ่งที่พี่แบมสั่งไม่เจอล่ะคะ?"
"-_-' อ่ะ พี่จะสอนวิธีการวิเคราะห์รายงานแต่ละอย่างนะ พรุ่งนี้เรามานั่งดูด้วยกัน" (ตอนที่พูดนี่ จิตนับหนึ่งถึงร้อย ไปหมื่นรอบแล้วค่ะ)
ลองกลับไปมองดูองค์กรของคุณเองนะคะ แบมเชื่อว่า ยังมีคน "ทำงานที่ไม่ใช่งาน" อยู่อีกมากมายค่ะ เฮ้ออออ วันนี้เหนื่อยมากๆ ค่ะ
จากคุณ : bam_ka@ - [ 30 ธ.ค. 51 00:09:21 ]
: คุณไข่เป็ด, ไซโค เสก
Create Date : 25 มกราคม 2552 | | |
Last Update : 25 มกราคม 2552 1:55:36 น. |
Counter : 717 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|