กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2567
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
space
space
6 พฤษภาคม 2567
space
space
space

พุทธธรรม

พุทธธรรม

1. ธรรมของพระพุทธเจ้า, พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า  คัมภีร์มหานิทเทสระบุจำนวนไว้ว่ามี ๖ ประการ   แต่ไม่ได้จำแนกข้อไว้  อรรถกถาโยงความให้ว่า  ได้แก่

๑. กายกรรมทุกอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามพระญาณ   (จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจ)
๒. วจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
๓. มโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต
๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต
๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน;

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย  จำแนกพุทธธรรมว่ามี ๑๘ อย่าง คือ

๑. พระตถาคตไม่ทรงมีกายทุจริต
๒. ไม่ทรงมีวจีทุจริต
๓. ไม่ทรงมีมโนทุจริต
๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต
๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต
๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน
๗. ทรงมีกายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
๘. ทรงมีวจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
๙. ทรงมีมโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
๑๐. ไม่มีความเสื่อมฉันทะ   (ฉันทะไม่ลดถอย)
๑๑. ไม่มีความเสื่อมวิริยะ   (ความเพียรไม่ลดถอย)
๑๒. ไม่มีความเสื่อมสติ   (สติไม่ลดถอย)
๑๓. ไม่มีการเล่น
๑๔. ไม่มีการพูดพลาด
๑๕. ไม่มีการทำพลาด
๑๖. ไม่มีความผลุนผลัน
๑๗. ไม่มีพระทัยที่ไม่ขวนขวาย
๑๘. ไม่มีอกุศลจิต

2. ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่  พุทธการกธรรม คือ บารมี ๑๐  3. ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้  คือ  สติปัฏฐาน ๔  อินทรีย์  ๕  มรรคมีองค์  ๘  ขันธ์ ๕ เป็นอาทิ



 


น. ๑๑๔๔

    หนังสือนี้เต็มไปด้วยหลักฐานที่มา  หรืออ้างอิงคัมภีร์มากมาย  จนหลายท่านอาจเห็นว่าเกินจำเป็น   การที่ทำเช่นนี้มิใช่เป็นการยึดมั่นติดคัมภีร์  หรือเกาะตำราแน่น  โดยถือว่า  เมื่อเป็นคัมภีร์แล้ว  ต้องถูกต้องตายตัว
 
    เป็นการแน่นอนว่า  ในคัมภีร์ที่ล่วงเวลามาแสนนาน  โดยเฉพาะคัมภีร์รุ่นหลังๆ   ย่อมจะมีส่วนที่คลาดเคลื่อนบันทึกผิด  เติมพลาด  ปนอยู่ด้วยบางส่วน   แต่กระนั้น  คัมภีร์ทั้งหลายก็เป็นหลักฐานสำคัญมาก  และความสำคัญนั้นก็ลดหลั่นกันเป็นระดับๆ  ตามฐานะ และยุคสมัยของคัมภีร์ * เหล่านั้น
 
     ถ้าเราถือว่าความคิดเห็นของเราสำคัญ  เราก็ไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของคำอธิบาย และทัศนะในคัมภีร์เหล่านั้น   เพราะท่านผู้รวบรวมเรียบเรียงและบันทึกคัมภีร์เหล่านั้น  ก็เป็นบุคคล และมักเป็นบุคคลผู้รู้  ซึ่งหลายท่านสามารถเป็นตัวแทนของวงการศึกษาพระพุทธศาสนาสมัยนั้นๆ  อีกทั้งอยู่ในยุคที่ใกล้คำสอนเดิมแท้ยิ่งกว่าเรา
 
     การอ้างหลักฐานไว้มาก   เป็นการยอมรับความสำคัญ ของสิ่งที่สำคัญ  ตามฐานะแห่งความสำคัญของสิ่งนั้นๆ  ถ้าเป็นคัมภีร์รุ่นหลังๆ  ก็เป็นการที่เรายอมรับฟังความคิดเห็นของท่านผู้อื่นด้วย  เรื่องราวส่วนใดต้องการหลักฐาน  ก็เป็นอันได้ให้หลักฐานไว้แล้ว   ไม่ต้องเถียงกันในแง่นั้นอีก เรื่องราวส่วนใดควรแก่การแสดงทัศนะ   ก็ได้เปิดโอกาสแก่ทัศนะที่ได้เคยมีมาแล้ว
 
     พระพุทธศาสนาสอนว่า  ไม่ควรปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำรา  หรืออย่าเชื่อเพียงเพราะอ้างคัมภีร์ คือ  อย่าเชื่อตำรางมไป   บางท่านตีความเลยไปว่า  พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่อตำรา หรืออย่าเชื่อตำรา
 
     ความจริง  ทั้งการเชื่อตำรา  และการไม่เชื่อตำรา  ถ้าทำโดยขาดวิจารณญาณ  ก็สามารถเป็นความงมงายได้ด้วยกันทั้งคู่  คือ เชื่ออย่างงมงาย และไม่เชื่ออย่างงมงาย
 
     ทางปฏิบัติที่รอบคอบ  และไม่ผิด  ในการไม่เชื่อตำรา  ก็คือ  ไม่ให้เป็นการไม่เชื่ออย่างเลื่อนลอย  ก่อนจะตัดสินหรือแม้แต่ตัดขาดกับตำรา  ควรศึกษาให้ชัดเจนตลอดก่อนว่า  ตำราว่าอย่างไร  ดูว่าท่านพูดไว้อย่างไรให้เต็มที่ก่อนแล้ว  ต่อนั้น  จะตีความ หรือเห็นต่างออกไปอย่างไร  ก็ว่าของเราไป   โดยเฉพาะ  ท่านผู้เขียนคัมภีร์ทั้งหลายล้วนล่วงลับไปสิ้นแล้วท่านเสียเปรียบ   ไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาแสดงความเห็น  หรือคอยตามโต้เถียงเรา  เราจึงควรให้โอกาสโดยไปตามค้นหาแล้วพาท่านออกมาพูดเสียให้เต็มที่   เมื่อรับฟังท่านเต็มที่แล้ว   เราจะเห็นด้วย  หรือไม่เห็นด้วย   ก็นับว่าได้ให้ความเป็นธรรมแก่ท่านแล้วพอสมควร
 
    ความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง  ในการแสดงหลักฐานที่มาไว้มาก หรือถือเอาคัมภีร์ที่อ้างอิงเป็นหลักเป็นแกนเป็นเนื้อตัวของหนังสือนี้  ก็เพื่อทำให้หนังสือนี้เป็นอิสระจากผู้เขียน  และให้ผู้เขียนเอง  ก็เป็นอิสระจากหนังสือด้วย  เท่าที่จะเป็นไปได้  ด้วยว่า  ผู้เขียนจัดทำหนังสือนี้อย่างเป็นนักศึกษาผู้หนึ่ง  ทำหน้าที่เป็นผู้ไปสืบค้นรวบรวมเอาเนื้อหาทั้งหลายของพุทธธรรมมาส่งวางให้แก่ผู้อ่าน  ถ้าสิ่งที่นำมาส่งวางให้นั้น  เป็นของแท้จริง   หยิบมาถูกต้อง  ผู้นำส่งก็หมดความรับผิดชอบ  จะหายตัวไปไหนก็ได้  ผู้ได้รับ  ไม่ต้องมองทีผู้นำส่งอีกต่อไป  คงยุ่งอยู่กับของที่เขานำมาส่งเท่านั้นว่า  จะเอาไปใช้เอาไปทำอะไรอย่างไรต่อไป   แต่ถ้าของส่วนใดยังไม่ใช่ตัวของแท้ที่ถูกต้อง  ผู้นำส่ง  ก็ยังเปลื้องตัวไม่หมด   ยังไม่พ้นความรับผิดชอบ  โดยนัยนี้  การทำให้งานและตัวเป็นอิสระจากกันได้  จึงเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของหนังสือนี้
 
     เท่าที่ทำมาถึงคราวนี้  คงจะยังหวังไม่ได้ว่าจะทำตัวให้เป็นอิสระได้สิ้นเชิง  แต่ก็พึงประกาศให้ทราบความมุ่งหวังไว้  ผู้เขียนนำเอาตัวพุทธธรรมมาแสดงแก่ผู้อ่านได้สำเร็จ  ก็เหมือนกับได้พาผู้อ่านเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาเองแล้ว  ผู้อ่านก็ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้เขียนอีกต่อไป  พึงตั้งใจสดับ   และพิจารณาพุทธธรรมที่แสดงจากพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดาโดยตรง
 
     โดยเหตุที่หนักในด้านหลักฐาน  หนังสือนี้จึงเน้นในด้านหลักการและวิธีปฏิบัติทั่วไป   มากกว่าภาคปฏิบัติโดยตรง  เพราะรายละเอียดของการปฏิบัติ  ขึ้นต่อปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง  และสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเฉพาะกรณี  พร้อมทั้งกลวิธีที่เหมาะกัน
 
     อย่างไรก็ตาม   หลักการและวิธีปฏิบัติทั่วไปนี่แหละ  เป็นแหล่งที่มาแห่งรายละเอียดของการปฏิบัติ  ซึ่งเมื่อเข้าใจดีแล้ว  ย่อมสามารถคิดกำหนดวางรายละเอียดเฉพาะกรณีต่างๆได้เอง   และทั้งมีเครื่องมือสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของการปฏิบัติด้วย

     
ในพุทธธรรมฉบับเดิม  หลักฐานที่มา  หรือคัมภีร์ที่อ้างอิง   ได้จำกัดเลือกเอาเฉพาะในพระบาลี  คือพระไตรปิฎกแทบทั้งสิ้น   มีหลักฐานจากคัมภีร์รุ่นหลัง  เช่น  อรรถกถาเข้าไปปนน้อยอย่างยิ่ง

     ส่วนในพุทธธรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและขยายความ  นี้   แม้จะยังไม่ทิ้งหลักการเดิม  คือ ถือพระไตรปิฎกเป็นหลัก  แต่ได้เปิดรับหลักฐานจากคัมภีร์รุ่นหลังเข้ามามากด้วย  เพื่อให้ผู้ศึกษารับรู้รับฟัง  มีเครื่องประกอบพิจารณามากยิ่งขึ้น  การนำเอามติของคัมภีร์รุ่นหลัง  เช่น  อรรถกถา เป็นต้น  เข้ามาปะปนด้วยนั้น   ถ้าไม่ระมัดระวัง  อาจทำให้เกิดผลเสียขึ้นได้  เพราะคำสอนที่แท้ของพระพุทธเจ้า  เราย่อมถือเอาพุทธพจน์ในพระบาลี  คือพระไตรปิฎก  มติของคัมภีร์รุ่นหลัง   เราถือเป็นเพียงส่วนเสริมช่วยให้กระจ่าง   และยอมรับเฉพาะส่วนที่สอดคล้องกับพระบาลี
 
     หนังสือทางพระพุทธศาสนาที่แต่งกันทั่วไปจำนวนมาก   ที่ไม่ได้แสดงหลักฐานที่มา  บางครั้งก็ทำให้ผู้อ่านสับสนหรือถึงกับเข้าใจผิด  จับเอาเรื่องในคัมภีร์รุ่นหลัง  หรือมติของพระอรรถกถาจารย์  เป็นต้น  ว่าเป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า  บางที  แม้แต่ผู้แต่งหนังสือเหล่านั้น  ก็สับสนหรือเข้าใจผิดอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นข้อพึงระมัดระวังในเรื่องความสับสนเกี่ยวกับหลักฐานที่มานี้
 
     มีตัวอย่างที่น่าสนใจ  เช่น  บางท่านผู้ศึกษาพระอภิธรรม  เข้าใจว่า  หลักปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการ  เป็นเรื่องของกระบวนธรรมช่วงยาวคร่อมชาติสามชาติ  และวางใจว่าความหมายเช่นนี้เป็นไปตามหลักอภิธรรม  แต่ความจริงกลับเป็นไปในทางตรงข้ามว่า  ปฏิจจสมุปบาทแบบอภิธรรมแท้ๆ   (หมายถึงพระอภิธรรมปิฎก)  เป็นเรื่องของความเป็นไปในขณะจิตเดียวเท่านั้น  ส่วนที่จะตีความให้เป็นช่วงยาวคร่อมสามชาติได้นั้น  ทำได้ด้วยอาศัยปฏิจจสมุปบาทแนวพระสูตรต่างหาก
 
     ที่กล่าวกันว่า  คำอธิบายคร่อมสามชาติเป็นหลักอภิธรรมนั้น  ความจริง  เป็นคัมภีร์อภิธรรมชั้นอรรถกถาและฎีกา  ซึ่งอธิบายตามแนวการจำแนกความแบบพระสูตร  (สุตตันตภาชนีย)  ที่ได้ยกมาแสดงในอภิธรรมปิฎกนั้นด้วย  (เรื่องนี้ได้ชี้แจงไว้แล้วในบทที่ ๔)
 
     เพื่อป้องกัน และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักฐานที่มาอย่างนั้น  ในหนังสือนี้  แม้จะอ้างอิงคัมภีร์รุ่นหลังเข้ามาร่วมด้วยมาก  แต่ก็ได้ช่วยให้ผู้อ่านสามารถแยกหลักฐานฝ่ายพระบาลี   กับ   ฝ่ายคัมภีร์รุ่นหลังออกจากกัน  โดยระบุไว้ให้ชัดในเนื้อความ  แยกคำอธิบายไว้ต่างหาก  และแสดงหลักฐานที่มากำกับไว้  อย่างใดอย่างหนึ่ง   หรือทั้งสองหรือสามอย่าง


     เกี่ยวกับการอ้างหลักฐานที่มา   มีข้อควรทราบบางอย่าง  คือ
 
     ก. สำหรับผู้คุ้นเคยกับคัมภีร์พุทธศาสนาอยู่แล้ว  เมื่อเห็นอักษรย่อคัมภีร์  ก็รู้ได้ทันทีว่า  อันใดเป็นคัมภีร์ในพระไตรปิฎก   อันใดเป็นคัมภีร์รุ่นหลัง  แต่สำหรับผู้ไม่คุ้น  อาจสังเกตง่ายๆจากเลขบอกที่มา  คือ  คัมภีร์ในพระไตรปิฎก  เรียง เลข  ๓  ช่อง  เป็น  เล่ม/ข้อ/หน้า   ส่วนคัมภีร์รุ่นหลังเรียงเลขเพียง  ๒  ช่อง  เป็น เล่ม/หน้า  นอกจากนั้น  คัมภีร์ที่เป็นอรรถกถา  อักษรย่อจะลงท้ายด้วย  อ.   ที่เป็นฎีกา  จะลงท้ายด้วย  ฎีกา   (อักษรย่อคัมภีร์  ที่ใช้ระบบอื่นก็มี   แต่ที่นี้  ใช้ระบบนี้  โดยเห็นว่าดีที่สุด   ด้วยเหตุผลข้อนี้ด้วยอย่างหนึ่ง)
 
     ข. ตามปกติ  เรื่องใดอ้างอิงหลักฐานที่มาในคัมภีร์ชั้นต้นที่สำคัญกว่าแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องอ้างหลักฐานที่มาในคัมภีร์ชั้นรองลงไป  ที่สำคัญน้อยกว่า  เช่น  อ้างพระไตรปิฎกแล้ว  ก็ไม่ต้องอ้างอรรถกถาอีก   เว้นแต่มีเหตุผลพิเศษ  เช่น  มีคำอธิบายเพิ่มเติม เป็นต้น
 
     ค. เมื่ออ้างที่มาหลายแห่ง  จะเรียงตามลำดับประเภท  หมวด  และรุ่นของคัมภีร์  เช่น  เรียงพระไตรปิฎกก่อนอรรถกถา  อรรถกถาก่อนฎีกา  หรือในจำพวกพระไตรปิฎกด้วยกัน   ก็เรียงพระวินัยก่อนพระสูตร  พระสูตรก่อนพระอภิธรรม  ในพระสูตรด้วยกัน ก็เรียงตามลำดับนิกาย  ในนิกายเดียวกัน  ก็เรียงตามลำดับคัมภีร์  เป็น  วินย. ที.สี. ที.ม. ที.ปา. ม.มู. ม.ม. ฯลฯ  อภิ.สํ. อภิ.วิ. ฯลฯ  วินย. อ. ที.อ. ม.อ. ฯลฯ  วิภงฺค.อ. ฯลฯ  วินย. ฎีกา  ฯลฯ  เว้นแต่มีเหตุผลพิเศษ  เช่น  เป็นคัมภีร์ลำดับหลัง  แต่กล่าวถึงเรื่องนั้นไว้มาก  เป็นหลักฐานใหญ่เฉพาะกรณีนั้น   ก็เรียงไว้ข้างต้น  หรือคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องนั้นไว้คล้ายกัน  ก็เรียงไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน   เป็นต้น
 
     อนึ่ง  มิใช่เฉพาะหลักฐานที่มาเท่านั้น  ที่มีมากมาย  แม้เชิงอรรถชี้แจงเรื่องปลีกย่อยต่างๆ  ก็มากมายเช่นกัน  ผู้อ่านบางท่าน  อาจรู้สึกรกรุงรังน่ารำคาญตา  แต่ขอให้เห็นแก่ศึกษา  ซึ่งจะได้รับประโยชน์
 
     ข้อความในเชิงอรรถนั้น  เป็นแง่มุมอื่นๆของเรื่องราวที่อยู่ข้างบน  จะเขียนไว้ด้วยกัน  ก็จะทำให้ฟั่นเฝือ   จึงเขียนไว้ต่างหากบ้าง  เป็นความรู้ที่เกินจำเป็น  ใครสนใจจึงควรอ่านเพิ่มเติมบ้าง  เป็นความรู้พิเศษที่มีประโยชน์  แต่จะเขียนแทรกในเนื้อความข้างบน  ก็เข้ากันไม่สนิท   จึงแยกไว้ต่างหากบ้าง  ดังนี้เป็นต้น
 
     เฉพาะอย่างยิ่ง  ความในเชิงอรรถบางตอนอาจเป็นประโยชน์มาก   แก่ผู้ต้องการค้นคว้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป  เชิงอรรถมากแห่ง   เป็นเหมือนเค้าความของเรื่องใหญ่อื่นๆ  ที่ควรแก่การศึกษา  เป็นเครื่องชี้ชองสำหรับการแสวงหาความรู้ขยายพิสดารออกไป   เป็นเหมือนมีหนังสืออื่นอีกหลายเล่มรวมติดอยู่ด้วย
 
     เมื่อเน้นในด้านหลักฐาน  ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่หนังสือนี้จะหนักไปทางวิชาการ   หรืออาจพูดได้ว่า  มุ่งแสดงหลักวิชาทางพระพุทธศาสนาโดยตรง  คำนึงถึงการอธิบายหลักธรรม  มากกว่าจะคำนึงถึงพื้นฐานของผู้อ่าน
 
     ดังนั้น  หนังสือพุทธธรรมนี้   จึงเป็นหนังสือสำหรับผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว  หรือสำหรับผู้ต้องการศึกษาอย่างจริงจัง  มุ่งหาความรู้อย่างไม่กลัวความยาก  ใจสู้  จะเอาชนะทำความเข้าใจให้จงได้  ไม่ใช่หนังสือสำหรับชวนให้ศึกษาหรือเข้าไปหาผู้อ่าน  เพื่อชักจูงให้มาสนใจ   คือ  ถือเอาหลักวิชาเป็นที่ตั้ง   มิใช่ถือเอาผู้อ่านเป็นที่ตั้ง  แต่กระนั้น   ก็มิใช่จะยากเกินกำลังของผู้อ่านทั่วไป   ที่มีความใฝ่รู้และตั้งใจจริง  จะเข้าใจได้
 
     เมื่อเป็นหนังสือแสดงหลักวิชา  ก็ย่อมมีคำศัพท์วิชาการทางพระพุทธศาสนา  คือ ถ้อยคำทางธรรมที่มาจากภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก   ข้อนี้  เป็นเหตุอีกอย่างหนึ่ง  ที่ทำให้หนังสือนี้ยากยิ่งขึ้น  สำหรับผู้ไม่คุ้นกับศัพท์ธรรม  หรือคำที่มาจากบาลี   แต่ก็ไม่เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรหลีกเลี่ยง  ในเมื่อต้องการจะรู้หลักกันจริงๆ
 
     อันที่จริง  พุทธธรรมนั้น  ถ้ารู้แจ้งเข้าใจจริงแล้ว   เมื่อพูดชื้แจงอธิบาย  แม้จะไม่ใช้ศัพท์ธรรมคำบาลีสักคำเดียว  ก็เป็นพุทธธรรม   แต่ตรงข้าม  ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ  หรือรู้ผิดเข้าใจผิด   แม้จะพูดออกมาทุกคำล้วนศัพท์บาลี   ก็หาใช่เป็นพุทธธรรมไม่   กลายเป็นแสดงลัทธิอื่นที่ตนสับสนหลงผิดไปเสีย
 
     อย่างไรก็ตาม  สำหรับผู้ที่รู้เข้าใจด้วยกันแล้ว  คำศัพท์กลับเป็นเครื่องหมายรู้  ที่ช่วยสื่อถึงสิ่งที่เข้าใจได้โดยสะดวก   พูดกันง่าย  เข้าใจทันที  หรือแม้สำหรับผู้ศึกษาประสงค์จะเข้าใจ  หากอดทนเรียนรู้ศัพท์สักหน่อย  คำศัพท์เหล่านั้นแหละ   จะเป็นสื่อแห่งการสอน ที่ช่วยให้เข้าใจพุทธธรรมได้รวดเร็ว   หากจะชี้แจงสั่งสอนกันโดยไม่ใช้คำศัพท์เลย  ในที่สุด  ก็จะต้องมีศัพท์ธรรมภาษาอื่น  รูปอื่น  ชุดอื่น  เกิดขึ้นใหม่อยู่ดี   แล้วข้อนั้นอาจจะนำไปสู่ความสับสนยิ่งขึ้น
 
    โดยนัยนี้  คำศัพท์อาจเป็นสื่อนำไปสู่ความเข้าใจพุทธธรรมก็ได้   เป็นกำแพงกั้นไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรมก็ได้  เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว  พึงนำศัพท์ธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน  คือ  รู้เข้าใจ  ใช้ถูกต้อง  รู้กาลควรใช้  ไม่ควรใช้  ให้สำเร็จประโยชน์  แต่ไม่ยึดติดถือคลั่ง
 
ฯลฯ
 
     อันตรายอย่างหนึ่งต่อความก้าวหน้าในธรรม  ซึ่งหาได้ไม่ยากนัก  ก็คือ  บางท่านมีความเชื่อความเห็นหรือความรู้บางอย่าง  ซึ่งได้รับมาอย่างคลุมเครือ  และยึดถือเอาไว้ว่าเป็นพระพุทธศาสนา  แล้วยึดติดถือมั่นในความเชื่อความเห็น หรือความรู้นั้นแน่นหนารุนแรง  จนเป็นเหตุให้บังหน้าบังตาตนเอง  ทำให้ไม่ยอมรับฟังแม้แต่พระดำรัสของพระพุทธเจ้าเอง  อาจถึงกับปฏิเสธคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา
 
     การมีท่าทีอย่างผู้ศึกษา  ย่อมมีส่วนช่วยป้องกันอันตรายนี้ได้  เพราะเหตุที่เปิดใจกว้างรับฟังอยู่เสมอพร้อมกับมีฐานของตนเองมั่นอยู่พอสมควร   เมื่อได้ยินสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อที่เคยยึดถือ  ก็ทำให้พยายามสืบค้นให้รู้ชัดว่านั่นคืออะไร  ทำให้ความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ชัดเจนขึ้น  และได้ความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ก้าวหน้าไป

134

     เรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงไว้ด้วย  คือ  ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งมีความหมายคลาดเคลื่อน เลือนกลายแปลกออกไปตามกาลสมัย

     ตัวอย่างสำคัญ  คือ คำว่า "ปฏิบัติธรรม"  ซึ่งความหมายที่แท้  ควรได้แก่การนำเอาธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต หรือการดำเนินชีวิตตามธรรม   แต่ปัจจุบัน   มักเข้าใจคำนี้ในความหมายว่า  เป็นการฝึกอบรมทางจิตปัญญาขั้นหนึ่งระดับหนึ่งโดยเฉพาะ   ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบ  และทำไปตามแบบแผนที่ได้กำหนดวางไว้   หนังสือนี้เองก็ได้พลอยใช้ตามความหมายแคบๆ อย่างนี้ด้วยหลายแห่ง  ผู้ศึกษาพึงอ่านโดยตระหนักตามคำชี้แจงนี้


     ที่กลายไปจนน่าขำ  ก็คือ  คำว่า "ศึกษา"  ที่มาคู่กับ "ปฏิบัติ"  เป็น  ศึกษาและปฏืบัติ   ความจริงแต่เดิมนั้น  ศึกษาหรือสิกขานั่นแหละ  คือ  ตัวแท้ของการปฏิบัติ  หรือเป็นตัวการปฏิบัตินั่นเอง  เพราะสิกขา  ได้แก่  ศีล  สมาธิ ปัญญา  ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติฝึกหัดอบรม (ดู วินย.อ.1/264 ฯลฯ)  โดยเฉพาะการเจริญปัญญา  หรือ ทำให้เกิดปัญญา  ย่อมเป็นการปฏิบัติระดับสูงสุด  ซึ่งจะทำให้บรรลุผลคือปฏิเวธ   ต่อมา  คำว่าศึกษาคงถูกใช้ในความหมายของการเล่าเรียน  อาจถึงกับเล่าเรียนโดยไม่ต้องคิด   หรือคิดอย่างเลื่อนลอย  คิดฟุ้งซ่าน  ไม่มีหลักไม่มีระเบียบ  คำว่า  "ศึกษา"   จึงมีความหมายกลายมาเท่ากับคำว่า "ปริยัติ"

     อีกคำหนึ่ง  แต่เป็นเรื่องของความหมายตามหลัก  ไม่ใช่ความหมายเลือนกลาย  คือ  คำว่า  “บาลี”   หรือ  “พระบาลี”   กับคำว่า  “ภาษาบาลี”   บาลี   หรือพระบาลี  หมายถึง ข้อความจากพระไตรปิฎก  ซึ่งแยกต่างจากคัมภีร์รุ่นหลัง  มีอรรถกถา  เป็นต้น   ส่วนภาษาบาลี  หมายถึงภาษาที่ใช้จารึกรักษาพระบาลีนั้น   มักเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษามคธ   ทั้งพระไตรปิฎก  และคัมภีร์รุ่นหลัง   เช่น  อรรถกถา  เป็นต้นนั้น  มีจารึกไว้เป็นภาษาบาลี  คือ อรรถกถา  เป็นต้น ก็ใช้ภาษาบาลีด้วย   แต่คำว่าบาลีหรือพระบาลีหมายถึงพระไตรปิฎกเท่านั้น   ไม่ใช่อรรถกถาฎีกา  หรือคัมภีร์อื่นๆ  คำว่า บาลี  และพระบาลี  มีใช้ในหนังสือนี้มากมายหลายแห่ง  ผู้ศึกษาพึงเข้าใจตามนี้
 
ฯลฯ
 
     พุทธธรรมฉบับนี้   ถือหลักฐานทางคัมภีร์เป็นสำคัญ   จึงเต็มไปด้วยข้อความที่แปลจากคัมภีร์ภาษาบาลี  ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา  ฎีกา  และคัมภีร์อื่นๆ  สำหรับพระบาลี คือ ความในพระไตรปิฎกนั้น   แม้จะแปลตรงจากฉบับเดิมที่เป็นภาษาบาลี  เพราะเป็นหลักฐานขั้นต้น  แต่ก็ได้อาศัย  พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง   เป็นที่ปรึกษา  ได้รับประโยชน์มิใช่น้อย   ส่วนคัมภีร์ภาษาบาลีรุ่นหลังต่อๆมา  ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว  มีเป็นจำนวนน้อย  อันใดพออาศัยได้ ก็ได้ใช้ปรึกษาบ้าง  ประกอบบ้าง  ไปตามควร   คัมภีร์ใดยังไม่ได้ตีพิมพ์ในประเทศไทย  หรืออุปกรณ์การศึกษาคัมภีร์อย่างใดๆ ยังไม่ได้จัดทำในประเทศไทย  ก็ได้อาศัยงานที่พิมพ์ในประเทศอังกฤษบ้าง  พม่าบ้าง  เป็นส่วนเสริม  จึงขอจารึกคุณความเกื้อกูลที่ได้รับจากแหล่งเหล่านั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย
 
ฯลฯ

 
 
จากซ้ายไปขวา.  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป.อ.ปยุตฺโต)  สมเด็จอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ  และสมเด็จอดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ 




* อ้างคัมภีร์อีกว่า  โบราณท่านจัดลำดับความสำคัญของหลักฐานไว้  เป็น  ๑. อาหัจจบท  (สูตร  หรือความที่ยกมาอ้างจากพระบาลี  ๒. รส  (ความที่สอดคล้องกับสูตร) ๓. อาจริยวงส์   (= อาจริยวาท)  ๔. อธิบาย  (อัตโนมัติ)  ๕. การณุตริย์  (เหตุผลประกอบของ ๔ อย่างนั้น) ดู มิลินฺท ๒๐๓ แต่ฉบับอักษรไทย  ข้อความตอนอธิบายตกหายไป  พึงดู  Miln. 148; ในสมัยอรรถกถา  จัดเป็น  ๑. สูตร  (= พระไตรปิฎก)  ๒. สุตตานุโลม  (ข้อที่สอดคล้องกับสูตร)  ๓. อาจริยวาท  (= อรรถกถา)  ๔. อัตโนมัติ.  ดู ที.อ. 2/19 และพึงดูหลักปหาปเทส ๔  ด้วย

 
คำศัพท์ : คัมภีร์

1. ลึกซึ้ง  2. ตำราที่นับถือว่าสำคัญหรือเป็นของสูง,  หนังสือสำคัญที่ถือเป็นหลักเป็นแบบแผน เช่น  คัมภีร์ศาสนา  คัมภีร์โหราศาสตร์

 


Create Date : 06 พฤษภาคม 2567
Last Update : 12 พฤษภาคม 2567 8:17:35 น. 0 comments
Counter : 66 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space