ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร...อริยมรรค ๘ ทางสายกลาง ควรเจริญให้เกิดขึ้นที่จิต

ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒
ตถาคตสูตรที่ ๑ ทรงแสดงพระธรรมจักร


[๑๖๖๔] ฯลฯพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ
ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นเป็นไฉน? คือ

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย
เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ประเสริฐไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์
ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านี้
อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น ... เป็นไฉน?
คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่
ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ
เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ


ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล
อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน


[๑๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ
ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์
ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ
ตัณหา อันทำให้มีภพใหม่
ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ
ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ
ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ
ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย


ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ



[๑๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขอริยสัจนั้น ควรกำหนดรู้
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขอริยสัจนั้น เรากำหนดรู้แล้ว

[๑๖๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขสมุทยอริยสัจนั้น ควรละ
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้น เราละแล้ว

[๑๖๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น ควรกระทำให้แจ้ง
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น เรากระทำให้แจ้งแล้ว

[๑๖๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น ควรเจริญ
...ข้อความซ้ำกับประโยคข้างต้น.... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น เราเจริญแล้ว


[๑๖๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง
มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด
เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง
มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา บริสุทธิ์ดีแล้ว

เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์


ก็ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า
วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ภิกษุปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค


[๑๖๗๑] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่

ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา
ฯลฯ

[๑๖๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า

โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
เพราะเหตุนั้นคำว่า อัญญาโกณฑัญญะ
จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะด้วยประการฉะนี้แล.

จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

..................................

^

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นพระธรรมเทศนาแรกที่ทรงแสดงโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
หลังจากทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในขั้นต้นทรงพระปรารภถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร
อันพระองค์เคยไปศึกษาลัทธิของท่าน แต่เผอิญสิ้นชีวิตเสียก่อนแล้วทั้ง ๒ องค์

● ทรงแสดงส่วนสุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย กามสุขัลลิกานุโยค
การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ อัตตกิลมถานุโยค

ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ คือ อริยมรรค ๘
ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ
เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ


● ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔
ทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สมุทัย ตัณหา ๓ เป็นเหตุแห่งทุกข์
นิโรธ ความดับทุกข์ (ดับตัณหา ๓)
มรรค ทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่หนทางแห่งความดับทุกข์ คือ อริยมรรค ๘

อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงรู้โดยองค์เอง(ไม่มีใครสอนมาก่อน)
ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมที่เราไม่เคยฟังมาก่อน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค

● ทรงแสดงกิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้
สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ
นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง
มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ

ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ คือ
สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ



สัจจญาณ ความรู้ว่า
นี้ทุกข์
นี้สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์)
นี้นิโรธ
นีมรรค


กิจจญาณ ความรู้กิจควรทำตามหน้าที่ว่า
ทุกข์ ควรกำหนดรู้
สมุทัย ควรละ
นิโรธ ควรทำให้แจ้ง
มรรค ควรเจริญ


กตญาณ ความรู้ที่เกิดแต่ตรวจตราในหน้าที่นั้นๆอันได้ทำเสร็จแล้วเป็นความรู้เห็นสุดท้าย
คือ รู้ว่าเสร็จกิจแล้ว
ทุกข์ เรากำหนดรู้แล้ว
สมุทัย เราละแล้ว
นิโรธ เราทำให้แจ้งแล้ว
มรรค เราเจริญแล้ว


● เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่
ธรรมจักษุ คือ ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

ท่านผู้ได้ธรรมจักษุ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน
โดยนัยนี้ ธรรมจักษุได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค

ท่านโกณทัญญะได้บรรลุโลกุตรธรรมเป็นปฐมสาวก
เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา

เป็นอันว่าทรงยังความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์
ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามได้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว
ทรงเปล่งพระอุทานว่า

อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ แปลว่า
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ

เพราะอาศัยพระอุทานว่า อญฺญาสิ ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว
คำว่า อญฺญาโกณฺฑัญฺโญ จึงได้เป็นนามของท่านโกณฑัญญะตั้งแต่นั้นมา

ส่วนนี้คัดลอกมาจากพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส


สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา


ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา
ทรงสอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ต้องไปจัดแจงหรือแก้ไขอะไร

แต่ต้องละตัณหา ๓ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์
คือ ความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
นั่นคือ จิตเมื่อแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ ที่จะไม่เกิดทุกข์ขึ้นที่จิตนั้น เป็นไม่มี

ถ้าละความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ได้เมื่อใด
ทุกข์ย่อมดับไปจากจิต (นิโรธ) เมื่อนั้น เป็นธรรมดา
จึงทรงสอนว่า นิโรธ ให้ทำให้แจ้งชัดขึ้นที่จิต

โดยการเจริญอริยมรรค ๘
เพราะการเจริญอริยมรรค ๘ เป็นการละความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์

ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(สติปัฏฐาน๔ = สัมมาสติ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
โดยอาศัยความเพียรประคองจิตให้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(สัมมาวายามะ)จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว
จิตจะเกิดปัญญารู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง(สัมมาทิฐิ)
และเกิดพลังปัญญาปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตได้ตามลำดับ(สัมมาสังกัปปะ)
ทุกข์ย่อมดับไปจากจิต

ในการเจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ) นั้น จิตจะบรรลุปฐมฌานได้
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)ด้วย

ครบ อริยมรรคมีองค์ ๘

ดังนั้น อริยมรรค ๘ จึงต้องเจริญ ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต
ถึงอารมณ์จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
จิตก็ไม่ทุกข์ไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เพราะจิตไม่ยึดถืออารมณ์นั้นๆ
อารมณ์นั้นๆก็สักเป็นเพียงอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิต



● สรุป
ความรู้อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฐิ
ต้องเกิดจากการปฏิบัติอริยมรรค ๘ ดังที่ตรัสไว่ว่า มรรค ควรเจริญให้เกิดขึ้น

ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ”
โดยทำกิจควบคู่กับ “สัมมาสติ” และ “สัมมาวายามะ” เพื่อให้จิตตั้งมั่นชอบเป็นสมาธิ

เมื่อจิตตั้งมั่นชอบเป็นสมาธิแล้ว
จะเกิดปัญญาเห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง(สัมมาทิฐิ)
พร้อมกับเกิดพลังปัญญาปล่อยวางอารมณ์(สัมมาสังกัปปะ) ตามลำดับ

ดังได้ทรงตรัสรับรองไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้


ความรู้จากการอ่าน การฟัง การท่องจำ ไม่ใช่ความรู้ตามความเป็นจริง
ต้องปฏิบัติอริยมรรค ๘ ตามเสด็จเท่านั้น จึงเกิดญาณรู้ตามความเป็นจริงได้


ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






Create Date : 15 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2552 9:43:09 น. 0 comments
Counter : 2620 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]