มหาตัณหาสังขยสูตร...พระสาติกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยเข้าใจผิดว่า จิตคือวิญญาณขันธ์

มหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก

[๔๔๐] ...ฯลฯ...สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร (บุตรชาวประมง)
มีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น

[๔๔๒] ...ฯลฯ...พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?

สาติภิกษุทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

สาติภิกษุทูลว่า
สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย
ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า

ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ
ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย
จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกรโมฆบุรุษก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ

[๔๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย

วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้นก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณอาศัย จักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ
วิญญาณอาศัย โสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ
วิญญาณอาศัย ฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ
วิญญาณอาศัย ชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ
วิญญาณอาศัย กายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ
วิญญาณอาศัย มนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ


ส่วนหนึ่งจาก มหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก

◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆

^
● พระสาติ มีทิฐิลามก กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระสาติมีความเห็นผิดว่า
วิญญาณ(ขันธ์)นี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น
วิญญาณ(ขันธ์)ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว


● พระพุทธองค์จึงตรัสแก้ให้ฟังว่า
วิญญาณ(ขันธ์)อาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
ความเกิดแห่งวิญญาณ(ขันธ์) เว้นจากปัจจัย ไม่ได้

วิญญาณ(ขันธ์)อาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้นก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ


วิญญาณอาศัย จักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ
วิญญาณอาศัย โสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ
วิญญาณอาศัย ฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ
วิญญาณอาศัย ชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ
วิญญาณอาศัย กายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ
วิญญาณอาศัย มนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ



● ซึ่งตรงกับ ฉฉักกสูตร ที่กล่าวไว้ถึง หมวดวิญญาณ ๖

[๘๑๔] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า
พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ

บุคคลอาศัยจักษุและรูป จึงเกิด จักษุวิญญาณ
อาศัยโสตะและเสียง จึงเกิด โสตวิญญาณ
อาศัยฆานะและกลิ่น จึงเกิด ฆานวิญญาณ
อาศัยชิวหาและรส จึงเกิดชิวหาวิญญาณ
อาศัยกายและโผฏฐัพพะ จึงเกิดกายวิญญาณ
อาศัยมโนและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ



● และตรงกับ มหาปุณณมสูตร ที่กล่าวว่า
นามรูป เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ วิญญาณขันธ์ ฯ

◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆ ◆

● สรุป

พระสาติ มีทิฐิลามก กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระสาติมีความเห็นผิดว่า
วิญญาณ(ขันธ์)นี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น
วิญญาณ(ขันธ์)ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว


เพราะ พระสาติ เข้าใจผิดว่า จิต คือ วิญญาณขันธ์ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเห็นว่า จิต คือ วิญญาณขันธ์
ก็น่าจะเข้าข่ายมีทิฐิลามก กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าแบบพระสาติ

เพราะ จิตคือตัวเสวยวิบากกรรมทั้งดีทั้งชั่ว
ไม่ใช่วิญญาณขันธ์เสวยวิบากกรรมทั้งดีทั้งชั่ว



● โดยอธิบาย

★ วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕

วิญญาณขันธ์เป็นอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
คือการรับรู้อารมณ์ของจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

วิญญาณขันธ์ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัย

และนามรูป เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณขันธ์ นั่นคือ
ตา+รูป เกิดวิญญาณทางตา
หู+เสียง เกิดวิญญาณทางหู
จมูก+กลิ่น เกิดวิญญาณทางจมูก
ลิ้น+รส เกิดวิญญาณทางลิ้น
กาย+กายสัมผัส เกิดวิญญาณทางกาย
ใจ+ธัมมารมณ์ เกิดวิญญาณทางใจ


★ วิญญาณขันธ์ จึงไม่ใช่ตัวรองรับวิบากของกรรม

จิตคือตัวบันทึกกรรม ตัวเสวยวิบากของกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว
จิตจุติ(เคลื่อน)ออกจากร่างกายที่ตายไป ไปเกิดตามอำนาจกรรมดีกรรมชั่ว
โดยจิตเกาะกุมอารมณ์สุดท้าย(มโนวิญญาณ)ในเวลาใกล้จะตาย
เป็นปฏิสนธิวิญญาณพาไปเกิดในภพภูมิใหม่ตามแรงกรรม


★ จิต ไม่ใช่ วิญญาณ(ขันธ์)

จิตคือวิญญาณธาตุ(ธาตุรู้) ไม่ใช่วิญญาณขันธ์
จิตมีดวงเดียว (เอกจรํ=ดวงเดียวเที่ยวไป) ไม่เป็นกอง แต่ขันธ์เป็นกอง

วิญญาณขันธ์ มี ๖ แบ่งตามวิถีทางที่อารมณ์เข้ามา
คือ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จัดเป็นสสังขาริก...อาศัยทวารทั้ง ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
วิญญาณทางใจ จัดเป็นอสังขาริก...ไม่อาศัยทวารทั้ง ๕


★ จิตคือธาตุรู้ ทรงความรู้ทุกกาลสมัย

ธาตุรู้ยังไงก็เป็นธาตุรู้วันยังค่ำ ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุดิน น้ำ ลม หรือ ไฟ

แต่สิ่งที่ถูกจิตรู้ต่างหากที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิตตลอดวันตลอดคืน นั่นคือ


★ จิตไม่เกิดดับ

แต่ขันธ์ ๕ ซึ่งรวมถึงวิญญาณขันธ์ เกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต

ไม่ว่าวิญญาณทางตาจะเกิดขึ้นแล้วดับไป
เกิดวิญญาณทางหูขึ้นแทนแล้วดับไป
เกิดวิญญาณทางอื่นๆขึ้นแทน...ฯลฯ...
จิตย่อมรู้ตลอดเวลาที่วิญญาณเหล่านั้นเกิดขึ้นและดับไปจากจิต

ถ้าจิตเกิดดับ หรือจิตคือวิญญาณขันธ์
ตอนที่จิตดับคือรู้ดับ ก็ต้องไม่รู้ไรเลย แต่ทำไมยังรู้ล่ะว่าวิญญาณทางตาดับ
เกิดวิญญาณทางหูแทน วิญญาณทางหูดับ เกิดวิญญาณทางอื่นขึ้นแทน...ฯลฯ...
ถ้าไม่รู้ไรเลย ย่อมบอกออกมาไม่ได้!!!


★ จิตคือธาตุรู้ รู้ผิด หรือรู้ถูก

ปุถชน จิตรู้ผิดจากความเป็นจริง ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ หลงผิดยึดขันธ์ ๕ เป็นตน
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป จิตก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป

พระอริยสาวก จิตรู้ถูกตามความเป็นจริง รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เพราะจิตหลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา เกิดวิชชาขึ้นแทนที่
จิตไม่หลงผิด จิตปล่อยวางการยึดขันธ์ ๕ เป็นตน
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป

ดังมีกล่าวไว้ใน นกุลปิตาสูตร ว่า

ปุถุชน กายกระสับกระส่าย จิตกระสับกระส่าย
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวน ทุกข์จึงเกิดขึ้นที่จิต


พระอริยสาวก กายกระสับกระส่าย จิตหากระสับกระส่ายไม่
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวน ทุกข์ไม่เกิดขึ้นที่จิต



ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






Create Date : 05 มกราคม 2553
Last Update : 5 มกราคม 2553 7:17:02 น. 21 comments
Counter : 1420 Pageviews.  

 
พระสูตรดังกล่าว ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายปรับความเห็นผิดของพระสาติในประเด็นที่ "จิตเป็นวิญญาณขันธ์" เลย...

จุดที่พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุกำลังปรับความเห็นผิดของพระสาติ คือ ประเด็นไปยึดว่า "วิญญาณ(ขันธ์)" นั่นเที่ยง เป็นอัตตา เป็นเรา เป็นของเรา เรียกว่าเป็น "สัสสตทิฏฐิ" จึงได้แสดงให้เห็นว่าวิญญาณนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งเที่ยง หรือเป็นอัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเลย วิญญาณย่อมมีเหตุมีปัจจัยต่างๆ อาศัยกันเกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัยวิญญาณย่อมดับไปเท่านั้น...

ประเด็นของพระสูตรนี้ อรรถกถาได้แสดงไว้เช่นกัน ดังนี้

[b]"ทีนั้น เธอได้มีความคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารเหล่านี้ ย่อมดับไปในที่นั้นๆ นั่นแหละ แต่วิญญาณย่อมท่องเที่ยว ย่อมแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น จากโลกอื่นสู่โลกนี้ ดังนี้ จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ."[/b]

การเห็นว่าจิตเป็นวิญญาณขันธ์นั้นไม่ผิดอะไร เพราะความหมายแบบเฉพาะเจาะจงจิตจะเป็นวิญญาณขันธ์ แต่หากไม่เจาะจงจิตจะมีความหมายกว้างกว่าวิญญาณขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ จะต้องไม่เห็นว่า จิตนั้นเที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอัตตา หรือวิญญาณขันธ์นั่นเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา


//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=440


โดย: ศิรัสพล IP: 58.136.30.84 วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:10:06:12 น.  

 
ท่านศิรัสพลครับ ท่านอ่านไม่เข้าใจเองหรือแกล้งไม่เข้าใจครับ
ขนาดผมเป็นคนที่อ่านพระสูตรมาไม่มาก ผมยังเข้าใจได้เลย

๑.ด้วยความเข้าใจผิดของพระสาติที่คิดว่าจิตเป็นวิญญาณขันธ์
เมื่อตายไปวิญญาณขันธ์ย่อมท่องเที่ยว ย่อมแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น จากโลกอื่นสู่โลก จึงเป็นสัสสตทิฐิ

เมื่อขันธ์๕ดับไปนั้น จิตก็ย่อมจุติ(เคลื่อน)ไปเกิดใหม่ในภพนั้นๆ
ด้วยอำนาจของอารมณ์สุดท้ายที่เข้ามาประชิดจิต

๒.ในนกุลปิตาสูตร ก็กล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่า จิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ และวิญญาณขันธ์ก็ไม่ใช่จิต

พระสูตรกล่าวไว้ออกชัดเจนว่า
ปุถุชน กายกระสับกระส่าย จิตกระสับกระส่าย
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวน ทุกข์จึงเกิดขึ้นที่จิต

พระอริยสาวก กายกระสับกระส่าย จิตหากระสับกระส่ายไม่
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวน ทุกข์ไม่เกิดขึ้นที่จิต

ถ้าจิตเป็นวิญญาณขันธ์จริง ทำไมมีแต่โลกียจิตหรือโลกุตรจิต
ไม่เคยเห็นที่ไหนในพระสูตรที่กล่าวไว้ว่า โลกียวิญญาณหรือโลกุตรวิญญาณเลย.

โดยเฉพาะในอนัตตลักขณสูตรกล่าวไว้ชัดเจนว่า
"เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้น
จากการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์๕"

ท่านครับมีที่ไหนในพระสูตร ที่เขียนว่าวิญญานหลุดพ้นบ้าง เอามาโชว์ด้วยครับ...

เจริญในธรรม
จิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์








โดย: จิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ IP: 118.174.9.21 วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:17:28:05 น.  

 
พอพูดถึงเรื่องจิตนี่แปลกนัก
ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้ทั้งรู้อยู่ว่า คนเรานั้นมีจิตคนละดวง ของใครของเค้า

จิตอยู่ในร่างกายนี้ เอาร่างกายเป็นที่อาศัย เอาเป็นที่ใช้สอยเท่านั้น
ถ้าไม่ใช่จิตของเรา(ตน) แล้วจะเป็นจิตของใครหละ???

เราทำกรรมดีกรรมชั่ว ล้วนถูกบันทึกลงที่ไหนหละ?
ถ้าไม่ใช่บันทึกลงที่จิตดวงนี้(ที่ทำกรรมดี กรรมชั่ว) แล้วบันทึกลงที่จิตดวงไหนหละ?
เมื่อทำกรรมดี กรรมชั่วแล้วไปบันทึกลงที่จิตดวงอื่นก็ดีสิ
ทำแล้วไม่ต้องชดใช้กรรมที่ทำ การที่คิดแบบนี้เป็นพวกโมฆบุรุษ

ดังมีมาในพระพุทธวจนะดังนี้
ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า
จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา
กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร


ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น
ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้
ไม่รู้แล้ว ตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่
พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า


การจะกล่าวร้ายใครว่า เป็นมิจฉาทิฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฐินั้น
ควรหันกลับมาดูตนเองด้วยว่า ตนเองเข้าใจเรื่องจิตที่แท้จริงหรือไม่?
จึงสับสนกับคำว่า “จิตเที่ยง”


ในความหมายคำว่า “จิตเที่ยง” ที่เข้าข่ายสัสสตทิฐินั้น หมายถึง
ผู้ที่มีความเชื่อไปว่า เคยเกิดมาเป็นอย่างไร
เมื่อตายไปแล้ว ก็จะกลับมาเกิดเป็นอย่างนั้นเหมือนเดิมอีก
ไม่ว่าจะเกิด-ตายอีกกี่หนกี่ครั้ง(กี่ภพ กี่ชาติ)ก็ตาม
ก็จะกลับเกิดมาเป็นอย่างเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
โดยที่บาปบุญคุณโทษไม่มีผลต่อการเกิดในแต่ละครั้ง
ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ

ส่วนพวกที่เข้าใจว่า เมื่อตายลงไปแล้วนั้น
จิตที่บันทึกกรรมครั้งสุดท้ายที่มาประชิดจิต เป็นคติเครื่องไปสู่ภพภูมิต่างๆ
ตามกรรมดี กรรมชั่ว ที่บันทึกลงที่จิตในวาระสุดท้ายก่อนตาย
จิตที่ไปเกิดนั้น ก็เป็นจิตใครจิตเค้าที่ทำกรรมดี กรรมชั่ว
เป็นคติเครื่องไปของสัตว์(ผู้ข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย
ความเข้าใจอย่างนี้ย่อมเป็น สัมมาทิฐิ

เหมือนน้ำที่สะอาดได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งต่างๆ
ถ้าน้ำปนเปื้อนสิ่งที่ดี ก็ได้อยู่ในที่ๆหรือภาชนะที่ดี
ถ้าปนเปื้อนสิ่งสกปรกโสมม ก็ต้องอยู่ที่ๆหรือภาชนะที่ไม่ดี(ไม่ประณีต)

ส่วนความเข้าใจที่ว่า การไปเกิด เป็นจิตดวงใหม่
ที่ได้รับการสืบต่อจากจิตดวงเก่า เพื่อไปเกิดใหม่นั้น
เป็นพวกมิจฉาทิฐินอกพุทธศาสนา

ขอถามว่า การจะสืบต่อได้นั้น ถ้าพิจารณาตามหลักความเป็นจริงแล้ว
จิตดวงเก่าต้องยังไม่ดับในทันที เพื่อรอจิตดวงใหม่มาเกิดก่อน
จึงจะส่งต่อหรือสืบต่อกรรมดี กรรมชั่วให้ได้

เมื่อเรามาพิจารณาให้ดีแล้ว เป็นการพูดขัดแย้งกันเองว่า
“จิตใจอัตภาพร่างกายนี้เกิดแล้วดับไป เกิดจิตอีกดวงนึงในร่างกายใหม่
คนละดวงกัน ไม่ใช่ดวงเดิม แต่มันสืบเนื่องกันไป”


เมื่อจิตเกิด-ดับไปแล้วจะเอาช่วงเวลาตรงไหน มาถ่ายทอดกรรมดี กรรมชั่วกันล่ะ
ก็อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่า จิตดวงเก่ายังจะดับไปไม่ได้หรอก
ต้องรอจิตดวงใหม่เกิดขึ้นมาก่อน จึงสืบต่อกรรมดี กรรมชั่วกันได้
ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะจะมีจิตพร้อมกัน ๒ ดวงในเวลาเดียวกันไม่ได้

อีกเหตุผลนึงที่รองรับว่า จิตมีดวงเดียวเท่านั้นของใครของเค้า
เพราะ อวิชชาจะเกิด-ดับไปตามจิตไม่ได้
อวิชชาจะดับได้เพียงสถานเดียวเท่านั้น คือต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
จนกระทั่งจิตเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง
เมื่อวิชชาเกิดขึ้น อวิชชาจึงจะดับไปครับ
ถ้าจิตเกิด-ดับจริง อวิชชาก็ต้องเกิดดับไปตามจิตด้วยสิ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ดังมีพุทธวจนะรับรองไว้ว่า จิตไม่เคยดับตายหายสูญ
มีพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้:

“จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา,
สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ
ความเวียนว่ายของเรา
เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้”


หมายความว่า
จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปเวียนว่าย
จากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่งติดต่อกันไปหลายพระชาติ
เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนทรงตรัสรู้
และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธานทุกชาติ
ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม.


ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญ
พระพุทธองค์ทรงระลึกพระชาติได้ทุกพระชาติก่อนที่จะตรัสรู้
เป็นการแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า
จิตดวงเดียวกันนี้ที่เวียนว่ายเข้าไปสู่ภพน้อยใหญ่อันยาวนานนับไม่ถ้วน
ถ้าเป็นจิตคนละดวงแล้ว พระองค์จะทรงระลึกชาติของจิตดวงอื่นได้หรือครับ???

อ่านต่อ ดูจิตโดยไม่รู้จักจิตที่แท้จริงแล้ว ย่อมเข้าใจผิดคิดว่าจิตเป็นปูเสฉวน


เจริญในธรรมครับ
ธรรมภูต


โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:20:03:03 น.  

 
อนุโมทนา คุณศิรัสพล, คุณจิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ และคุณธรรมภูต
ที่กรุณาเข้ามาแสดงความคิดเห็นครับ

ธรรมะของพระพุทธองค์ เป็นเรื่องของการปฏิบัติทางจิต
การอบรมจิต จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา
เพื่อให้จิตปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ซึ่งก็หมายรวมวิญญาณขันธ์ด้วยนั่นเอง

ถ้าจิตเป็นวิญญาณขันธ์ ในพระสูตรที่มีมา ทำไมจึงไม่เคยมีแสดงไว้เลยว่า
วิญญาณหลุดพ้นจากการถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เพราะ จิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ นั่นเอง จึงมีแสดงไว้มากมายว่า
จิตหลุดพ้นจากถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 7 มกราคม 2553 เวลา:6:37:17 น.  

 
พระสูตรดังกล่าว ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายปรับความเห็นผิดของพระสาติในประเด็นที่ "จิตเป็นวิญญาณขันธ์" เลย...

จุดที่พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุกำลังปรับความเห็นผิดของพระสาติ คือ ประเด็นไปยึดว่า "วิญญาณ(ขันธ์)" นั่นเที่ยง เป็นอัตตา เป็นเรา เป็นของเรา เรียกว่าเป็น "สัสสตทิฏฐิ" จึงได้แสดงให้เห็นว่าวิญญาณนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งเที่ยง หรือเป็นอัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเลย วิญญาณย่อมมีเหตุมีปัจจัยต่างๆ อาศัยกันเกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัยวิญญาณย่อมดับไปเท่านั้น...

โดย: ศิรัสพล IP: 58.136.30.84 วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:10:06:12 น.


^
ลองอ่านพระสูตรดูสักหลายๆครั้งนะครับ

[๔๔๒] ...ฯลฯ...พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?

สาติภิกษุทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

สาติภิกษุทูลว่า
สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย
ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ


^
ความก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า พระสาติเข้าใจผิดคิดว่า
วิญญาณ(ขันธ์) เป็นผู้เสวยวิบากกรรมทั้งดีและชั่ว

พระพุทธองค์จึงว่าพระสาติกล่าวตู่พระพุทธองค์ เพราะทรงสอนไว้มากมายว่า
วิญญาณ(ขันธ์) เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ดังนั้นวิญญาณ(ขันธ์) ไม่เที่ยง

ในเมื่อวิญญาณ(ขันธ์) ไม่เที่ยง เกิดดับตามเหตุปัจจัย
วิญญาณ(ขันธ์) จะเป็นผู้เสวยวิบากกรรมทั้งดีและชั่วได้อย่างไร

คงไม่มีใครไม่รู้กระมังว่า จิตคือผู้เสวยวิบากกรรม เป็นผู้บันทึกกรรม !!!
ดังนั้น ถ้าใครคิดว่า จิตคือวิญญาณขันธ์
ก็จะเข้าทำนองเดียวกับพระสาติ กล่าวตู่พระผุ้มีพระภาคนั่นเอง


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 7 มกราคม 2553 เวลา:6:43:01 น.  

 
การเห็นว่าจิตเป็นวิญญาณขันธ์นั้นไม่ผิดอะไร เพราะความหมายแบบเฉพาะเจาะจงจิตจะเป็นวิญญาณขันธ์ แต่หากไม่เจาะจงจิตจะมีความหมายกว้างกว่าวิญญาณขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ จะต้องไม่เห็นว่า จิตนั้นเที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอัตตา หรือวิญญาณขันธ์นั่นเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา

โดย: ศิรัสพล IP: 58.136.30.84 วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:10:06:12 น.


พระพุทธพจน์บทที่ยกมาแสดง ก็ชัดเจนดีว่า
การเห็นว่าจิตเป็นวิญญาณขันธ์นั้นผิดเต็มๆ
เพราะจะเหมือนพระสาติที่เข้าใจว่า วิญญาณ(ขันธ์)เป็นผู้เสวยวิบากทั้งกรรมดีกรรมชั่ว

และคงไม่มีใครกล่าวว่า วิญญาณขันธ์นั่นเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา
เพราะมีพระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้มากมาย

จิตในโลก เป็นโลกียจิต
วนติดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จิตพ้นโลก เป็นโลกุตตรจิต
ไม่วนติดอยู่ในสังสารวัฏฏ์แล้ว ไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกขัง ไม่เป็นอนัตตาแล้ว
เป็นอมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา(ที่พึ่ง)

พระพุทธองค์จึงมีตรัสไว้ว่า เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว
พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าประมาท จงตามรักษาจิต
โดยกระทำที่พึ่งแก่ตน เพื่อให้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

โดยการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
เพื่อให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐาน(สติปัฏฐาน ๔) อย่างต่อเนื่องเนืองๆไม่ขาดสาย
เพื่อให้จิตไม่ซัดส่ายปรุงแต่งไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 7 มกราคม 2553 เวลา:7:06:00 น.  

 
ประเด็นของพระสูตรนี้ อรรถกถาได้แสดงไว้เช่นกัน ดังนี้

[b]"ทีนั้น เธอได้มีความคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารเหล่านี้ ย่อมดับไปในที่นั้นๆ นั่นแหละ แต่วิญญาณย่อมท่องเที่ยว ย่อมแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น จากโลกอื่นสู่โลกนี้ ดังนี้ จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ."[/b]

โดย: ศิรัสพล IP: 58.136.30.84 วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:10:06:12 น.


^
ในส่วนของอรรถกถาขอยกไว้ เพราะพระสูตรแสดงไว้ชัดเจนแล้ว

และมีท่านอรรถกถาจารย์อีกนั้นแหละ ที่รจนาไว้ว่า

ในปกิณณกะเหล่านั้น สุตตะ ใครๆ คัดค้านไม่ได้
เมื่อคัดค้านสุตตะนั้น ก็เท่ากับคัดค้านพระพุทธเจ้าด้วย

อรรถกถา ชื่อว่าอาจริยวาท
แม้อาจริยวาทเล่า ก็ควรถือเอาแต่ที่สมกับสุตตะเท่านั้น นอกนั้นไม่ควรถือเอา


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 7 มกราคม 2553 เวลา:7:14:00 น.  

 
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยง ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นเป็นอัตตา(ตัวตน)ของเรา
ไม่ควรพระพุทธเจ้าข้า

ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา(ตัวตน)ของเรา

เพราะสามัญสัตว์โลก จิตยึดขันธ์ ๕ เป็นอัตตา(ตัวตน) ของตน

มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว
ย่อมถึงภูเขา ป่า อารามและรุกขเจดีย์ว่า เป็นที่พึ่ง
ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม
เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้


ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์
ความก้าวล่วงทุกข์
และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์

ด้วยปัญญาอันชอบ
ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม
เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้


จึงทรงสอนให้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง จึงจะพ้นจากทุกข์ได้
โดยการปฏิบัติอริยมรรค ๘ หรือปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นการปฏิบัติทางจิต

เพื่อให้จิตรู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จิตไม่หลงผิดยึดขันธ์ ๕ เป็นอัตตา(ตัวตน)
เพราะจิตรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา(ตัวตน)ของตน
ขันธ์ ๕ พึ่งไม่ได้ ต้องพึ่งตนเอง

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลมีตนที่ฝึกดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลอื่นได้โดยยาก


ก็คือ จิตที่ได้รับการอบรมจนบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงนั้นแล
จิตตั้งมั่นอยู่โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ใดๆอีกต่อไป


ยินดีในธรรมครับ



โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 7 มกราคม 2553 เวลา:8:29:05 น.  

 
เจอตนแล้ว รู้จักตนแล้ว ก็รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ .....

ไอ้ที่หลงว่าใช่ตนที่มันไม่ใช่ตนก็วางลง .....

ตนจึงเป็นที่พึ่งของตนอย่างแท้จริง ...

แบบนี้รึ ป่าววนา ..


โดย: ศึกษามาน้อย IP: 114.128.210.1 วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:15:43 น.  

 
เป็นแนวคิดที่แปลกดีครับ น่าสนใจ
ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า จิตจะไม่ใช่วิญญาณ
แล้วที่ว่าจิตไม่เกิดดับ แปลว่าจิตเที่ยงใช่ไหมครับ



โดย: หมูอวกาศ IP: 58.8.140.67 วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:16:10:04 น.  

 
ความจริงเรื่องเหล่านี้ มีการถกกันมานานมากแล้ว

ฝ่ายอภิธรรม จะถือตามพระอรรถกถาจารย์ และมีมติไปในทางว่าจิตเกิดดับ จิตคือวิญญาณ(ขันธ์)

ฝ่ายพระสูตร จะถือตามพระสูตรที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ก็จะมีมติว่าจิตไม่เกิดดับ จิตไม่ใช่วิญญาณ(ขันธ์)

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ล้วนแต่แสดงไว้ว่าจิตไม่เกิดดับ จิตไม่ใช่วิญญาณ(ขันธ์)




โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:5:17:54 น.  

 
แล้วที่ว่าจิตไม่เกิดดับ แปลว่าจิตเที่ยงใช่ไหมครับ

โดย: หมูอวกาศ IP: 58.8.140.67 วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:16:10:04 น.


^

ที่ว่าจิตไม่เกิดดับ เพราะจิตคือธาตุรู้ ย่อมทรงความรู้ตลอดทุกกาลสมัย
ธาตุรู้ย่อมเป็นธาตุรู้วันยังค่ำ จะแปรเปลี่ยนเป็นธาตุไม่รู้ ไม่ได้
เพราะถ้าจิตเกิดดับ ก็แสดงว่าต้องเป็นธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้างน่ะสิ

จิตคือธาตุรู้ รู้ไม่มีดับ เพียงแต่ จิตรู้ถูก หรือ รู้ผิดจากความเป็นจริงต่างหาก

จิตรู้ผิดจากความเป็นจริง
เพราะอวิชชาครอบงำ (จิตไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง)

จิตยึดถืออารมณ์และปรุงแต่งไปตามอารมณ์ (รูป)
ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ตลอดเวลา
หรือก็คือเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตลอดเวลา นั่นเอง

ความที่จิตมีอวิชชาครอบงำ ทำให้หลงยึดว่าขันธ์ ๕ เป็นตน
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตลอดเวลาที่จิต
จิตก็แปรปรวนเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามขันธ์ ๕
จึงเข้าใจผิดไปว่าจิตเกิดดับ



ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงสอนให้พระสาวกและพุทธบริษัทปฏิบัติอริยมรรค ๘
ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อให้จิตรู้ถูกตามความเป็นจริง
หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา (จิตรู้จักอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง)

เพื่อให้จิตปล่อยวางการยึดถืออารมณ์ ไม่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ (รูป)
ทำให้ไม่เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
หรือก็คือไม่เกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิต

เพราะจิตรู้อยู่ เห็นอยู่ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕
ถึงขันธ์ ๕ จะแปรปรวน เกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไปที่จิต
จิตผู้ปฏิบัติก็ไม่แปรปรวน ไม่เกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไปตามขันธ์ ๕

เพราะจิตผู้ปฏิบัติสงบตั้งมั่นชอบอยู่ได้โดยลำพังตนเอง
โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ
จิตเป็นพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้รู้ รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
ผู้ตื่น ตื่นจากความมัวเมาในอารมณ์ (มัทนิมมัทโน)
ผู้เบิกบาน เบิกบานในธรรม (วิราคธรรม)




โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:6:16:15 น.  

 
แล้วที่ว่าจิตไม่เกิดดับ แปลว่าจิตเที่ยงใช่ไหมครับ

โดย: หมูอวกาศ IP: 58.8.140.67 วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:16:10:04 น.


^
เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
จะยึดถือและปรุงแต่งไปตามอารมณ์ตลอดเวลา
ทำให้เกิด กิเลส กรรม วิบาก หมุนวนเป็นวัฏฏะ
ทำให้จิตต้องเวียนเกิดเวียนตาย ได้รับทุกข์หนักเบาอยู่ในโลกไม่รู้จักจบสิ้น

ต่อเมื่อปฏิบัติ จนจิตหลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา
จิตสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้วเมื่อไหร่
ณ ตรงนั้น จิตบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง
ถึงที่สุดทุกข์ อยู่เหนือโลก พ้นโลก เป็นอมตธาตุ อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย
เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา(ที่พึ่ง) คือ เที่ยง เป็นสุข เป็นที่พึ่งที่แท้จริง

ดังพุทธพจน์ที่ทรงตรัสเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆว่า
"จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"

และพระพุทธพจน์ ที่ทรงตรัสก่อนปรินิพพานว่า
“วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย
เราจักละพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล อันดีเถิด
จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด

ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้
ผู้นั้นจักละชาติสงสาร แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้ ฯ”


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:6:45:29 น.  

 
ผมอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ
คงเป็นเพราะไม่ค่อยได้ปฏิบัติ

กรณีพระสาติ ถ้าท่านพูดว่า
จิตนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น
ก็จะถูกต้องใช่ไหมครับ


โดย: หมูอวกาศ IP: 58.8.225.240 วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:20:44:22 น.  

 
ผมอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ
คงเป็นเพราะไม่ค่อยได้ปฏิบัติ

กรณีพระสาติ ถ้าท่านพูดว่า
จิตนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น
ก็จะถูกต้องใช่ไหมครับ

โดย: หมูอวกาศ IP: 58.8.225.240 วันที่: 14 ตุลาคม 2553 เวลา:20:44:22 น.


^
จากพระพุทธพจน์ข้างต้น สรุปความได้ว่า

● พระสาติ มีทิฐิลามก กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสาติมีความเห็นผิดว่า
วิญญาณ(ขันธ์)นี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น
วิญญาณ(ขันธ์)ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว


นั่นคือ พระสาติเข้าใจผิดว่า จิต คือ วิญญาณ(ขันธ์) เป็นตัวบันทึกกรรม(ดี-ชั่ว)
ซึ่งถึงแม้ผู้ไม่ได้ปฏิบัติมามาก แต่ถ้าเชื่อในเรื่องกฏแห่งกรรมแล้ว
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า กรรมดี-กรรมชั่วที่กระทำนั้น ต้องถูกบันทึกลงที่จิต
จิตซึ่งมีดวงเดียว ไม่เกิดดับ

แต่วิญญาณขันธ์ แปรปรวนเกิดดับตลอดเวลา เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย
จะเป็นตัวบันทึกกรรมได้อย่างไร?

ความเข้าใจว่าวิญญาณขันธ์เป็นตัวบันทึกกรรม จึงเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง
พระพุทธพจน์จึงตรัสต่อว่า
ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ
ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี



โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:6:27:42 น.  

 
ธรรมะพระพุทธองค์ย่อมเชื่อมโยงกันหมด
ดังนั้น เราสามารถเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์อื่นๆประกอบกันได้
มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า จิตมีดวงเดียวเที่ยวไป

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา แปลว่า
ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆได้ ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว
ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร (คือกิเลส) ได้


เอก แปลว่า หนึ่ง คือ ดวงเดียว
จรํ แปลว่า เที่ยวไป คือ ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆได้
อสรีรํ แปลว่า ไม่มีรูปร่าง คือ จับต้องไม่ได้ ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา
คูหาสยํ แปลว่า มีถ้ำเป็นที่อาศัย คือ อาศัยอยู่ในรูปร่างกาย

ทั้งนี้แสดงว่า จิตของแต่ละคนมีดวงเดียว ไม่มีรูปร่างให้แลเห็นด้วยตา
นอกจากจะแสดง "ความรู้” ออกมาให้รู้สึก
โดยผ่านช่องทางซึ่งจิตใช้อาศัยสำหรับติดต่อกับอารมณ์เท่านั้น
(ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:6:34:55 น.  

 
จิตไม่เกิดดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติกฎแห่งกรรมลงที่จิต
ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ถ้าหากจิตเกิดดับจริง กฎแห่งกรรมที่ทรงบัญญัติไว้ก็ย่อมผิดหมด
หรือถ้าขืนอธิบายว่า กรรมตั้งอยู่กับอะไรก็ได้
และสามารถถ่ายทอดกรรมจากจิตดวงหนึ่ง ซึ่งดับไปแล้ว
ไปให้จิตอีกดวงหนึ่ง รับกรรมแทนกันเป็นทอดๆไป
ย่อมเป็นสิ่งที่ขาดเหตุผลไม่ควรเชื่อถืออย่างยิ่ง

มีพระบาลีในพระธรรมบท รับรองอยู่ดังนี้คือ

มโน ปุพพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน
ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ
แปลว่า
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ
ผู้ที่กล่าววาจา หรือกระทำการสิ่งใดด้วยใจคิดร้าย
กรรมย่อมตามผู้นั้นไป เหมือนดังล้อที่หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น


ทั้งนี้แสดงว่า บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้
ล้วนแล้วแต่มี จิต เป็นประธานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น
นั่นคือ บรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นทุกอย่างนั้น
ก็เพราะจิตเป็นผู้สั่งให้ลงมือกระทำทั้งทางกายและวาจาทั้งสิ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รับผลของกรรมนั้น ก็คือ จิตดวงนั้นนั่นเอง



โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:6:35:46 น.  

 
ดูเหมือนว่า จิตจะเป็นอมตธาตุ อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย มาตั้งแต่ต้นแล้ว
หรือเปล่าครับ เพราะว่าเที่ยง ไม่เกิดไม่ดับ เพียงแต่แล่นไปเกิดในภพต่างๆตามแรงกรรม
แบบที่เคยได้ยินว่าจิตเดิมแท้ประภัสสร หมายถึงจิตเดิมบริสุทธิ์อยู่แต่โดนอวิชชาเข้ามาครอบงำ

ถ้าจิตไม่รวมอยู่ในขันธ์ 5 อย่างนี้การแบ่งภพตามขันธ์ก็น่าจะเรียกใหม่ให้ถูกต้องว่า
ภพที่มี 5.1 ขันธ์ (.1 คือจิต)
ภพที่มี 4.1 ขันธ์
ภพที่มี 1.1 ขันธ์


โดย: หมูอวกาศ IP: 58.8.143.21 วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา:22:03:24 น.  

 
ดูเหมือนว่า จิตจะเป็นอมตธาตุ อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย มาตั้งแต่ต้นแล้ว
หรือเปล่าครับ เพราะว่าเที่ยง ไม่เกิดไม่ดับ เพียงแต่แล่นไปเกิดในภพต่างๆตามแรงกรรม
แบบที่เคยได้ยินว่าจิตเดิมแท้ประภัสสร หมายถึงจิตเดิมบริสุทธิ์อยู่แต่โดนอวิชชาเข้ามาครอบงำ

โดย : หมูอวกาศ วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา: 22:03:24 น.


^
พระพุทธพจน์ตรัสไว้ดังนี้ :

ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส
แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง


v

จิตประภัสสร ต่างกับ จิตบริสุทธิ์

คำว่า สภาพประภัสสรผ่องใส นี้
ได้เป็นจุดที่นักศึกษาธรรมะนำมาสนทนาถกเถียงโต้แย้งกันมากว่า
ถ้าสภาพเดิมของจิตบริสุทธิ์จริงแล้ว ก็ต้องเป็นจิตพระอรหันต์ จึงย่อมไม่มาเกิดอีกต่อไป

ความจริงแล้ว สภาพประภัสสร หมายถึง ความผ่องใสเลื่อมพราย
ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของจิต ที่เรียกว่า ภวังคจิต นั่นเอง
สภาพประภัสสรนี้จะปรากฏที่จิต หลังจากที่รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว
กับก่อนที่จะเปลี่ยนไปรับรู้อารมณ์อีกอย่างหนึ่งต่อไป ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่สั้นมาก
ถ้าจิตไม่มีสมาธิจริงๆแล้ว จะไม่เห็นจิตประภัสสรของตนเอง

ส่วนคำว่า จิตบริสุทธิ์ หมายถึง ความผ่องใสของจิต ชั้นพุทโธ ธัมโม สังโฆ
เพราะได้รับการศึกษาอบรมและปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ มาสมบูรณ์ดีแล้ว
จนรู้จักอารมณ์ทั้งหลายดีว่าเป็นทุกข์ ไม่มีแก่นสาร จึงสิ้นเยื่อใยที่จะยึดถือไว้อีกต่อไป

จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์ มีสภาพธรรมเหมือนกัน แต่แตกต่างกันโดยภาวะ คือ

จิตประภัสสรไม่มีสติควบคุมอยู่
ดังนั้น จึงถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำปรุงแต่งตลอดเวลา

แต่ จิตบริสุทธิ์ นั้น มีสติตื่นควบคุมอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
จนสามารถดำรงตนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ได้
โดยไม่เสียคุณภาพอันบริสุทธิ์ผ่องใสดังสามัญชนอีกต่อไป
ดุจใบบัวที่อยู่รวมกับน้ำได้ โดยตนเองไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น.

คัดลอกจากเรื่อง จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:8:52:34 น.  

 
ดูเหมือนว่า จิตจะเป็นอมตธาตุ อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย มาตั้งแต่ต้นแล้ว
หรือเปล่าครับ เพราะว่าเที่ยง ไม่เกิดไม่ดับ เพียงแต่แล่นไปเกิดในภพต่างๆตามแรงกรรม
แบบที่เคยได้ยินว่าจิตเดิมแท้ประภัสสร หมายถึงจิตเดิมบริสุทธิ์อยู่แต่โดนอวิชชาเข้ามาครอบงำ

โดย : หมูอวกาศ วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา: 22:03:24 น.


^

มีพระพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้ :

จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา, สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ แปลว่า
ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้


หมายความว่า
จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่ง
ติดต่อกันไปหลายพระชาติเป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วน ก่อนทรงตรัสรู้
และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธานทุกชาติไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน
แต่รูปร่างกายซึ่งถือกำเนิดเป็นพระชาติต่างๆนั้นต่างหากที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร
คือเปลี่ยนไปทุกพระชาติใหม่ทุกชาติ

ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวงหรือเปลี่ยนตามรูปร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว
ก็ย่อมตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น,ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ
แต่จิตชั้นสัมมาสัมพุทโธยืนรู้ อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติเกิดแล้วก็ตายไป
ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆโดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว.


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:9:02:52 น.  

 
ดูเหมือนว่า จิตจะเป็นอมตธาตุ อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย มาตั้งแต่ต้นแล้ว
หรือเปล่าครับ เพราะว่าเที่ยง ไม่เกิดไม่ดับ เพียงแต่แล่นไปเกิดในภพต่างๆตามแรงกรรม
แบบที่เคยได้ยินว่าจิตเดิมแท้ประภัสสร หมายถึงจิตเดิมบริสุทธิ์อยู่แต่โดนอวิชชาเข้ามาครอบงำ

โดย : หมูอวกาศ วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา: 22:03:24 น.


^

เมื่อปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จนจิตบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงแล้ว
เป็น อมตธาตุ อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย

v

จากภิกขุสูตรที่ ๒

[๓๒] ฯลฯ ดูกรภิกษุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า อมตะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
นี้แลเรียกว่าทางที่จะให้ถึงอมตะ


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:9:17:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]