ยินดีกับคุณแม่ที่ผ่านพ้นช่วงโปรสามเดือนมาแล้วนะคะ เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 (เดือน 4 - 6) ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากทีเดียวนะคะคุณแม่ ตอนนี้ คุณแม่หลายคนเริ่มหายแพ้ ช่วงนี้ ลูกเริ่มรับอาหารโดยตรงจากคุณแม่นะคะ คุณแม่ทานอะไร ลูกก็ได้รับด้วย หมายความว่า คุณแม่ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ลูกก็จะได้รับไปด้วย เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารของคุณแม่มีความสำคัญมากทีเดียว ประสบการณ์ที่ผ่านมา ดิฉันพบว่า อาการหิวยังคงอยู่ วันหนึ่งทานประมาณ 4-5 มื้อค่ะ คือ อาหารเช้า อาหารว่างตอนสาย ๆ อาการกลางวัน อาหารว่างตอนบ่าย และอาหารเย็น ดิฉันไม่ได้ทานอาหารมื้อดึก แต่ก็ทราบว่าคุณแม่หลายคนคงทานอาหารมื้อดึกกัน
น้ำหนักตัวนั้นสำคัญไฉน 2
การทานเยอะไม่ได้หมายความว่า ลูกได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วยทั้งหมดนะคะ เน้นของดี มีประโยชน์กับลูก และไม่เพิ่มน้ำหนักคุณแม่มากเกินไปจะดีกว่า ช่วงนี้ คุณแม่อาจถูกสังคมกดดัน หากตัวเล็กและท้องเล็กเกินไป ผู้คนมักจะถามว่า ทำไมน้ำหนักไม่ขึ้น หรือน้ำหนักขึ้นน้อย เช่นดิฉัน น้ำหนักในช่วง 6 เดือนแรกขึ้นเพียง 2-3 กก. เท่านั้น แถมน้ำหนักยังลดลงบางช่วงด้วย ทำให้กังวลมาก แต่พอพบคุณหมอที่ฝากครรภ์คุณหมอก็จะบอกว่า ให้ดูน้ำหนักลูกเป็นเกณฑ์ ถ้าน้ำหนักลูกดี คุณแม่ก็ไม่ต้องห่วงอะไรค่ะ น้ำหนักลูกควรเกิน 2500 กรัมแต่ไม่ควรมากเกินไป เพราะจะคลอดยาก ดิฉันเอง คลอดลูกน้ำหนัก 3874 กรัม ถือเป็นเด็กตัวใหญ่เลยทีเดียวในการตั้งครรภ์ทั่วไป ข้อมูลตามเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะบอกว่า คุณแม่ควรน้ำหนักขึ้นไม่เกิน 12 กก. ตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งก็เพื่อสุขภาพของคุณแม่เอง เพราะหากน้ำหนักขึ้นมาก ๆ ก็ต้องรีดน้ำหนักกันอีก แล้วจริง ๆ น้ำหนักทารกในครรภ์จะประมาณ 3-4 กก. รก และอื่น ๆ อีกประมาณ 6-7 กก. เท่านั้นเองค่ะ ส่วนเกินจากนี้ ลงที่คุณแม่หมด ดิฉันน้ำหนักขึ้นทั้งสิ้น 13 กก. ค่ะ ลดลงหมดเกลี้ยงเหลือเท่าก่อนท้องภายใน 2 สัปดาห์เพราะการเลี้ยงลุกอ่อนนี่แหละค่ะ ถ้าเกินกว่านี้คงไม่ไหว แต่พุงคุณแม่ต้องออกกำลังเท่านั้นถึงจะลดได้ค่ะ
การพักผ่อนนอนหลับ
ช่วงนี้ คุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้น ทานอาหารได้มากขึ้น อาการแพ้เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหายไปในที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่จะเริ่มเข้ามาแทนที่คือ ความหิว และความอ่อนเพลียค่ะ คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนได้วันละ 8-10 ชม. ตอนกลางคืนควรนอน 6-8 ชม. และงีบพักระหว่างวันอีก 1-2 ชม. ซึ่งคุณแม่ที่ต้องทำงานอาจทำได้ลำบาก ดิฉันเองเลิกงานกลับถึงบ้านค่อนข้างดึก ประมาณ 2-3 ทุ่ม และต้องตื่นไปทำงานแต่เช้า แต่ก็พยายามนอนให้ได้มากที่สุดเหมือนกัน ตอนกลางวันงีบไม่ได้ เพราะไม่สะดวก การนอนพักมาก ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่และคุณลูกนะคะ เพราะทั้งหัวใจ ปอด ตับ ไต อวัยวะภายในของคุณแม่ทำงานหนักเป็นสองเท่าเพื่อสร้างอวัยวะให้แก่ลูกน้อย ร่างกายจึงอ่อนเพลีย อ่อนล้าเป็นพิเศษ ค่ะ อย่าลืมด้วยว่า ควรรีบนอนพักมาก ๆ ที่สุดตั้งแต่ตอนนี้ เพราะช่วงไตรมาส 3 จะนอนได้ยาก แถมเมื่อคลอดลูกแล้ว จะหาเวลานอนเต็มตายากเหลือเกิน ^^
ลูกเริ่มดิ้นแล้ว สัญญาณแห่งชีวิตน้อย ๆ ในครรภ์ของเราเอง
ประสบการณ์ที่สำคัญในไตรมาส 2 นี้คือ ลูกในท้องของเราจะเริ่มดิ้นค่ะ บางคนเริ่มเร็ว บางคนเริ่มรู้สึกช้า อันนี้ แล้วแต่สภาพร่างกายของคุณแม่นะคะ ดิฉันเองเป็นคนมีผนังท้องหนามาก แถมรกยังเกาะด้านหน้าค่อนไปทางด้านบน ทำให้รู้สึกถึงการดิ้นของลูกช้ากว่าคนอื่น ๆ ตอนเจาะน้ำคร่ำก็จะเจ็บกว่าคนอื่น ๆ อีกต่างหาก อาการลูกดิ้น สำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อนจะรู้สึกได้ช้ามาก ความรู้สึกเหมือนมีน้ำอยู่ในท้อง ปลาตอดดุ๊บ ๆ จะเริ่มเบา ๆ ทีละน้อย ๆ และมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์และขนาดของลูกน้อยที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ ดิฉันรู้สึกว่าลูกดิ้นจริง ๆ ตอนสัปดาห์ที่ 20 แต่มีคุณแม่บางท่านรู้สึกว่าลูกดิ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 คุณแม่บางคนรู้สึกว่าลูกดิ้นตอนสัปดาห์ที่ 28-30 ก็มี โดยส่วนตัวคิดว่า ไตรมาสนี้มีความน่าห่วงกังวลเรื่องการดิ้นของลูกนี่แหละค่ะ เพราะลูกยังเล็ก ทำให้ดิ้นได้น้อย บางทีเราก็ไม่รู้สึก จะนับการดิ้นก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่คุณหมอจะให้นับการดิ้นของลูกในช่วงสัปดาห์ที่ 28 เป็นต้นไป ดิฉันไม่ได้นับ เพราะท้องหนา ลูกดิ้นไม่ค่อยรู้สึก จนถึงขั้นมาพบหมอเพราะนึกว่าลูกไม่ดิ้นแล้ว เมื่อตรวจอัลตราซาวน์เห็นว่าลูกดิ้นดี แต่แม่ไม่รู้สึกเอง! การดิ้นของลูกสำคัญมากนะคะ เพราะลูกน้อยดิ้นในท้องคุณแม่ตลอดเวลา บางทีอาจไปพันกับรก แบบกรณีรกพันคอ เพราะฉะนั้นถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้น มากกว่า 7 ชม. ควรเตรียมไปพบแพทย์ อย่างไรก็ดี ถ้าอายุครรภ์ประมาณ 20-22 สัปดาห์คุณพยาบาลมักจะบอกว่า การที่ไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะอายุครรภ์ยังน้อยอยู่ ดิฉันว่า อย่านิ่งนอนใจดีกว่า ใครจะหาว่าเราตื่นตูมไปก็ช่างเขา เอาปลอดภัยดีกว่า อย่างคุณแม่บางคนรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ปล่อยไว้เกือบ 3 วัน พอไปหาหมออีกที น้องเสียแล้วเพราะรกพันคอ
การฝากครรภ์
ไตรมาสที่ 2 นีิ้ คุณหมอที่ทำเด็กหลอดแก้วให้คุณแม่ คงจะแนะนำให้ไปฝากครรภ์ตามปกติได้แล้ว เพราะยาสอด และยาฮอร์โมนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะให้หยุดใช้ในช่วงนี้ เหลือเพียงยาบำรุง คือ Obimin AZ และแคลเซี่ยมเม็ดฟู่ ยาธาตุเหล็ก สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องเลือดต่าง ๆ การเลือกโรงพยาบาล และคุณหมอฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ผู้มีบุตรยากอาจเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าคุณแม่ที่มีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะการมีบุตรครั้งนี้ อาจเป็นครั้งเดียวของคุณแม่ก็เป็นได้ ดิฉันยังจำได้ว่า ถูกพี่พยาบาลดุ เมื่อพี่ถามว่า จะฝากพิเศษไหม? แล้วดิฉันตอบว่า ไม่ฝากพิเศษ พี่พยาบาลบอกว่า กว่าจะได้ลูกคนนี้มา ก็ยากลำบาก ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาก็หลายปี การเลือกหมอสำคัญนัก เพราะฉะนั้น ควรฝากพิเศษ พอถูกทักขึ้นมาแบบนี้ ดิฉันจึงฝากพิเศษ ด้วยความที่ดิฉันฝากครรภ์กับคุณหมอของโรงพยาบาลที่ดิฉันทำเด็กหลอดแก้วอยู่แล้ว จึงไม่ต้องผ่านกระบวนการเจาะเลือด ตรวจโรคต่าง ๆ ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อีก คุณแม่คงต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจโรคที่สำคัญ ๆ รวมทั้งโรคเอดส์ด้วย การฝากครรภ์ที่ใด กับคุณหมอท่านใด คุณแม่คุณพ่อหลายท่านคงมิวิธีเลือกที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เงินค่าแพ็คเกจคลอด ซึ่งบางแห่งอาจสูงถึงเกือบแสนบาท โรงพยาบาลและคุณหมอเน้นการคลอดธรรมชาติหรือไม่ เน้นการให้นมแม่หรือไม่ อย่างในกรณีของดิฉัน ให้ความสำคัญเรื่องสถานที่ตั้ง อยู่ใกล้ที่ทำงาน เกิดเหตุด่วนขึ้นมา สามารถไปหาหมอ และไปโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา อีกทั้งเป็นโรงพยาบาลรัฐซึ่งมีอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อม จึงได้เลือกโรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสฝากครรภ์กับคุณหมอที่ได้รับการแนะนำมาเป็นคุณหมอคิวทอง (คุณหมออดิเทพฯ) ที่คุณแม่หลายท่านนิยมอีกด้วย โรงพยาบาลรามาธิบดีมีการจัดอบรมคุณแม่คุณภาพให้แก่คุณแม่คุณพ่อมือใหม่ได้เตรียมตัวสำหรับการคลอดบุตรด้วยค่ะ โดยจะจัด 2 ครั้ง ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เนื้อหาที่อบรมจะให้ความสำคัญต่อการให้นมแม่ การเตรียมตัวก่อนคลอด การทำความรู้จักกับห้องคลอด การเตรียมเอกสารสำหรับการคลอดบุตรเพื่อทำสูติบัตร การหัดห่อตัวลูก ในการตรวจครรภ์แต่ละครั้ง คุณแม่จะต้องตรวจปัสสาวะ เพื่อหาค่าโปรตีนในปัสสาวะ หากพบว่ามี อาจเสี่ยงครรภ์เป็นพิษได้ สำหรับคุณแม่ที่คุณหมอเห็นว่ามีแนวโน้มจะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (ซึ่งจะหายไปเมื่อคลอดบุตร) ก็จะให้ตรวจคัดกรองว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ด้วยค่ะ ดิฉันน้ำหนักขึ้นไม่มาก จึงไม่ได้ตรวจเบาหวานตลอดการตั้งครรภ์สำหรับการคลอดว่าจะคลอดด้วยวิธีใดดีนั้น ขอให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอเป็นหลักเลยค่ะ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่ ท่าของลูกในครรภ์ และความเสี่ยงในการคลอด การคลอดบุตรมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นขอให้เชื่อคุณหมอและปรึกษากับคุณหมออย่างใกล้ชิดนะคะ อย่างกรณีของดิฉัน คลอดแล้วมีอาการครรภ์เป็นพิษหลังคลอดด้วย หากไม่ได้รับการรักษากับคุณหมอที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ อาจเป็นอันตรายได้
การเจาะน้ำคร่ำ
การเจาะน้ำคร่ำจะทำในช่วงไตรมาสที่ 2 สำหรับคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ่น่าจะตรวจคัดกรองวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงความปกติของลูกในครรภ์ ในกรณีของดิฉันนั้น ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากแล้วคือ 40 ปี จึงตัดสินใจเจาะน้ำคร่ำไปเลย จะได้เจ็บตัวหนเดียว การเจาะน้ำคร่ำจะเจาะตั้งแต่ 16-20 สัปดาห์ ดิฉันเจาะตอน 19 สัปดาห์ค่ะ เพราะติดวันหยุดยาว ตอนเจาะไม่เจ็บเท่าไหร่ เพราะห่วงลูก แม้ว่าคุณหมอจะบอกว่า รกเกาะด้านหน้า แถมผนังมดลูกหนา ดิฉันจะเจ็บตัวมากกว่าคนอื่น ๆ แต่พอเจาะจริงไม่ค่อยเจ็บอย่างที่นึกกลัวเลยค่ หลังเจาะคุณแม่ควรกลับบ้านทันทีและพักผ่อนระวังอาการ 2 วัน หากมีน้ำไหลออกมา มีเลือด หรือมีอาการปวดท้องควรพบแพทย์ทันที ระยะเฝ้าระวังประมาณ 2 สัปดาห์ค่ะ ความเสี่ยงในการเจาะน้ำคร่ำก็คือการแท้ง การติดเชื้อ น้ำคร่ำรั่ว ดิฉันโชคดีที่ไม่ได้เป็นอะไร ผลการเจาะน้ำคร่ำจะรอประมาณ 2-3 สัปดาห์ค่ะ ผลที่ทราบจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าทารกในครรภ์คุณแม่มีความผิดปกติทางโครโมโซมอะไรหรือไม่ รวมทั้งทราบเพศด้วย ดิฉันว่ามันดีมากเลยที่เรามีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจรับทราบว่าลูกเราปกติหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะไปคิดว่าจะทำแท้งหรือไม่ เราควรทราบก่อนว่า ลูกเราผิดปกติอะไร รักษาได้ไหม คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักจะบอกว่าถ้าคิดว่าไม่ทำแท้งก็ไม่ควรตรวจ แต่ดิฉันมองต่างมุมค่ะ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำแท้งหรือไม่ทำแท้ง ก็ควรทราบเพื่อการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์
ขอให้มีความสุขมาก ๆ กับทุกไตรมาสของการก้าวเข้าไปสู่การเป็นคุณแม่เต็มตัวค่ะ
เควินไม่สบายหลังจากไปฉีดวัตซีน
เควินลองหัดนั่ง
สามเดือนแล้วเริ่มหัดดูด
สี่เดือนแล้วเริ่มยิ้มมากขึ้นกะหัวเราะเสียงดัง
ได้ออกประจำการเสียที....แต่ต้องหนีร้อนไปถึงรัสเซียเชียวหรือ จะไหวรื้อ? เมื่อเขาฉันถามว่า "เธอจะบ้ารองเท้าไปถึงไหน?" ใครอยากได้วารสารสราญรมย์ หนังสือดี ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ โปรดเข้ามาอ่านด้วยจ้า Cast away ที่ La a Natu@Pranburi เมืองไทยในสายตาของพี่แจส ผ่านเลนส์ 10 ยอดการ์ตูนผู้หญิงในดวงใจ ภาค 1 เมื่อคิดจะแต่งงานกับฝรั่ง และย้ายฐานทัพมาอยู่เมืองไทย ต้องทำอย่างไร
Friends' bloggang MingDK TIDTYCHAN MoneyPenny แมวดำ_โดนสาป *พิณ* แมลงวันยิ้มแฉ่ง ColdOut Webmaster - BlogGang
ขอให้สุขภาพแข็งแรง เลี้ยงง่ายๆโตไวๆนะคะ