การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกแน่นอนว่า ว่าที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วย่อมมีความกังวลสูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีบุตรยากและใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ ย่อมมีความกังวลสูง เพราะเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียใจ กับเสียน้ำตามาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ความเจ็บปวด หวาดกลัวทำให้มีความกังวลสูงมากขึ้น เมื่อกังวลมากก็ยิ่งหาข้อมูลมาก เสิร์ทมันเข้าไปทั้งพันทิบ ทั้งอากู๋ ทั้งหนังสือตำราต่าง ๆ มีอาการอะไรนิดหน่อยก็จะเซ้นซิทีฟมาก ดิฉันขอแนะนำให้คุณแม่ทำใจให้สบาย ๆ อย่ากังวลให้มากเกินไป หากลูกจะอยู่กับเรา เขาย่อมอยู่กับเรา แต่ถ้าร่างกายของเขาไม่สมบูรณ์ ธรรมชาติ (อันโหดร้าย) ก็จะทำการคัดกรองให้ ตามแนวทาง "ผู้แข็งแรงกว่าย่อมอยู่รอดได้" แม้มันจะเป็นความจริงที่โหดร้่ายมาก ๆ คุณแม่ก็ต้องพยายามทำใจยอมรับมัน และสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าโทษตัวเองเด็ดขาด
ช่วงไตรมาสแรก หรือช่วงโปร 3 เดือนแรก
เป็นช่วงที่่สำคัญที่สุดของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ลูกน้อยที่เกิดการปฏิสนธิขึ้นในครรภ์จะอยู่รอดหรือไ่่ม่ และเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสำหรับคุณแม่หลายท่านเพราะมีอาการแพ้ท้อง ความเครียดกังวลใจจะเกิดขึ้นมาก ๆ ตลอดเวลา เนื่องจากภาวะการตั้งครรภ์เป็นภาวะใหม่ที่คุณแม่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทั้งเรื่องการประพฤติตัว การรับประทานอาหาร การเดินเหิน การใช้ชีวิตประจำวัน คุณแม่ทั้งหลายที่ตั้งครรภ์คร้งแรกจะห่วงไปหมดว่าทำโน่นทำนี่ได้หรือไม่
การใช้ชีวิตประจำวันในช่วงนี้
ช่วงนี้ คุณแม่อย่าเพิ่งทำตัวหักโหมมากนักเลยค่ะ ยิ่งคุณแม่ที่ไม่มีอาการแพ้ท้อง เบื่ออาหาร วิงเวียน มักจะลืมตัวว่าท้องอยู่ และใช้ชีวิตตามปกติ คือ เดินเร็ว ขึ้นลงบันไดมาก ๆ รวมทั้งไปช้อปปิ้งเป็นเวลานาน แม้จะมีคุณแม่หลายท่านแย้งว่า ตอนชั้นท้องได้สองเดือน ชั้นก็เดินเที่ยวได้ นั่งรถไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศได้ มีไปโพสต์ถามกันบ่อย ๆ ว่าทำได้ไหม ถามหมอแล้วทำได้ โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันคิดว่า ร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีบุตรยากทั้งหลาย อย่าฝืน หรือทำอะไรเสี่ยง ๆ จะดีกว่าค่ะ ตัวดิฉันเองตอนท้องได้ห้าสัปดาห์ ก็ไปเดินช้อปปิ้งเป็นเวลาสี่ชั่วโมง คืนนั้นเลือดออก จนต้องรีบไปพบคุณหมอ โดยพี่พยาบาลดุอีกต่างหาก ระวังเอาไว้ก็ไม่เสียหลาย แล้วก็ไม่ต้องมานั่งเสียใจจะดีกว่านะคะ
ช่วงนี้ คุณแม่อย่าเดินเร็ว อย่าวิ่ง เผื่อพลาดล้มขึ้นมา อย่าขึ้นลงบันไดมาก ๆ วันละเป็นสิบๆ รอบเลยนะคะ แล้วก็อย่าเดินทางไกลมากนัก อย่ายกของหนักมาก ๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าลืมนะคะว่า ความรับผิดชอบในฐานะคุณแม่ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อลูกน้อยมาปฏิสนธิในครรภ์ของคุณแม่ คุณพ่อก็ต้องคอยดูแลคุณแม่ด้วยนะคะ เป็นกำลังใจให้ อย่างโกรธ อย่าเหวี่ยง อย่างอน ถ้าคุณแม่เกิดวีน มีอารมณ์น้อยอกน้อยใจ น้ำหูน้ำตาไหลตลอดเวลา คนกำลังท้องกำลังไส้ อารมณ์จะแปรปรวนหนักค่ะ
อาหารการกิน
สำหรับอาหารการกินต่าง ๆ ในช่วงนี้ คุณแม่ทานได้ตามปกติ เพราะเด็กน้อยในครรภ์เขาทานอาหารจากถุงอาหารของตัวเขาเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณแม่จะโหมประโคมรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์แบบที่เคยทานมาอย่างเต็มที่นะคะ คุณแม่ที่แพ้ท้องมาก ๆ จนถึงขั้นทานน้ำก็อ๊อกนี่ น่าเห็นใจมาก ๆ ค่ะ ถ้าอะไรที่ทานได้ทานไปก่อน ช่วงนี่้ คุณแม่หลายท่านอาจจะอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ ถ้าคุณพ่อมีเวลา พาไปทานเถอะค่ะ เพราะบางท่านทานอะไรไม่ได้เลย และบางท่านถ้าไม่ได้ทานอย่างที่ประสงค์ อาจมีร้องห่มร้องไห้ ดราม่ากันไป การรักษาอารมณ์ของคุณแม่ให้มีความสุขจะเป็นการดีกับน้องในท้องมากที่สุด ถ้าคุณแม่แพ้ท้องจนทานอะไรไม่ได้ ก็อาจจะขอยาแก้แพ้ท้องมาทาน ส่วนใหญ่คือยาวิตามิน B6
คุณแม่ที่ติดชาหรือกาแฟมาก ๆ ให้ลดลงเหลือทานวันละหนึ่งแก้วก็พอนะคะ อาหารหมักดองไม่ควรทานมากนัก แต่ช่วงนี้ก็ยังพอไหวอยู่ ขอให้คุณแม่ระลึกเสมอว่า อะไรที่เราทานเข้าไป เราไม่ได้ทานคนเดียว มีอีกคนรอทานด้วยนะจ๊ะ เพราะฉะนั้น เลือกรับประทานอาหารดี ๆ มีประโยชน์เข้าไว้น่าจะดีกว่า
ช่วงนี้ คุณแม่ที่แพ้มาก ๆ อาจจะทานอะไรไม่ได้จนน้ำหนักลด อย่าเพิ่งเป็นกังวลนะคะ น้ำหนักตัวคุณแม่ควรขึ้นโดยเฉลี่ย 12 กก. ตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ ถ้าน้ำหนักมากกว่านี้ ส่วนใหญ่ลงที่คุณแม่ ไม่ใช่คุณลูกนะคะ คนส่วนใหญ่มักทักคุณแม่ว่าดูไม่เหมือนคนท้อง อย่าไปคิดมากค่ะ ดูน้ำหนักลูกในท้องเป็นหลักนะคะ
ยาบำรุงคุณแม่
สิ่งสำคัญคือ ทานยาบำรุงที่คุณหมอจัดให้อย่าสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ยาที่ได้คือ ยา Folic ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยเรื่องการป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น การปิดของกระโหลกศรีษะ และสันหลังค่ะ ส่วนยาบำรุงอื่น ๆ ส่วนใหญ่คุณหมอมักสั่งยาให้ทาน คือ ยา Obimin AZ และแคลเซี่ยมเม็ดฟู่
นอกจากนี้ คุณแม่ผู้มีบุตรยากยังมียาสอดกับยาฮอร์โมนทั้งหลายที่ต้องใช้อีก อย่าลืมยาสอด และยาฮอร์โมนทั้งหลายที่เราต้องทานเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นยา Duphaston ยาเม็ดสีฟ้า หรือยาสอด ท่องไว้นะคะว่าห้ามลืมเด็ดขาด ส่วนใหญ่คุณหมอมักให้เลิกยาตอนสัปดาห์ที่ 10-12 แต่คุณหมอบางท่านก็ให้คุณแม่ใช้ต่อไปจนถึงสัปดาห์ที่ 16 อันนี้ก็แล้วแต่คุณหมอและสภาพร่างกายของคุณแม่เองค่ะ อย่าไปเครียดว่าทำไมคุณหมอให้หยุดยาเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป ทุกอย่างให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคุณหมอดีที่สุด เว้นเสียแต่ว่า เมื่อหยุดยาแล้วคุณแม่มีอาการแปลก ๆ เช่น ปวดท้อง เลือดออกก็ให้รีบปรึกษาคุณหมอด่วน ๆ นะคะ
มักมีคำถามที่เห็นถามเสมอคือ การทานวิตามินเสริมนอกเหนือจากที่คุณหมอสั่ง อันนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลนะคะ แต่ขอแนะนำว่า ก่อนจะทานวิตามินอะไร ใช้ยาอะไร ปรึกษาคุณหมอก่อน รอให้คุณหมอพิจารณาก่อน เราไม่ใช่หมอ ไม่มีทางรู้ดีกว่าคุณหมอเด็ดขาด ดิฉันเองไม่กล้าทานวิตามินอื่น ๆ นอกจากที่คุณหมอจัดให้ เพราะได้ปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลเคสของดิฉันแล้ว คุณหมอแนะนำว่า อาหารเสริมต่าง ๆ อาจมีวิตามินที่มีความเข้มข้นเกินกว่าที่ร่างกายจะต้องการ ซึ่งอาจเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณกับลูกในท้องของเราก็ได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารตามธรรมชาติ และทานยาบำรุงที่หมอสั่งให้ก็เพียงพอแล้ว
สำรวจอาการของตัวเองเสมอ
ช่วงไตรมาสแรกนี้ ขอให้คุณแม่คอยสำรวจอาการของตัวเอง ว่า มีเลือดออกหรือไม่ มีการปวดท้องที่ผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการอะไรที่แปลก ๆ ไปจากปกติ ควรปรึกษาแพทย์นะคะ อย่ารอให้มีอาการรุนแรงเพราะอาจช้าเกินไปกว่าจะถึงมือหมอค่ะ
ในช่วงไตรมาสแรกนี้ อาการที่ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายกลัวที่สุด คงจะเป็นเรื่องการมีเลือดออก ยิ่งที่เป็นเลือดสด ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที ถ้าเป็นเลือดสีน้ำตาลอาจจะเสี่ยงกับอาการภาวะแท้งคุกคามได้ หากเป็นภาวะนี้ ขอแนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ลางานไปเลยอย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ค่ะ ทางที่ดีควรพบคุณหมอด้วยค่ะ เผื่อจะได้ทานยาหรือฉีดยากันแท้งทันเวลา
การตรวจคัดกรอง
ในช่วงสัปดาห์ที่สิบหรือสิบสอง อาจมีการตรวจคัดกรองดูว่าลูกในครรภ์มีโอกาสผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะดาวน์ซินโดรม เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรลองปรึกษาคุณหมอดูแต่เนิ่นๆ ว่า จะตรวจหรือไม่ ขอแนะนำว่า ถึงคุณแม่จะมีอายุน้อยกว่า 35 ก็ควรตรวจคัดกรอง การตรวจนี้ อย่าคิดว่าเป็นการตรวจดูว่าลูกผิดปกติหรือไม่เพื่อทำแท้ง คุณแม่จะทำหรือไม่ทำ ก็ควรตรวจดูให้ชัดเจนว่า ลูกเราปกติหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และการเตรียมแผนการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าคิดว่าจะไม่ทำแท้งก็ไม่ตรวจเลย การตรวจช่วยให้เราคิดวางแผนในอนาคต เตรียมการเงิน เตรียมใจ เตรียมศึกษาข้อมูลให้รอบด้านค่ะ
ขอให้มีความสุขมาก ๆ กับทุกไตรมาสของการก้าวเข้าไปสู่การเป็นคุณแม่เต็มตัวค่ะ
วันก่อนคลอดเพียงหนึ่งวันน้ำหนักขึ้น 13 กก.
นาทีที่รอคอยมาตลอด 39 สัปดาห์
กวินน้อยอายุได้ 1 วัน
จะคอยเชียร์ ติดตามเป็นแฟน blog นะค่าาา
อัพบ่อยๆนะค่า คุณแม่น้องกวิน blog นี้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจมากๆคะ