|
Osama - เรื่องเศร้าของโอซาม่า (ที่ไม่ใช่บินลาเดน)
เรื่องของการใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐเป็นสิ่งที่กระทำกันทุกประเทศ ทุกยุคสมัย

Osama เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่พุดถึงเรื่องนี้ได้อย่างทรงพลัง เรื่องราวเกิดขึ้นในกรุงคาบูล ประเทศอาฟกานิสถาน เมื่อกลุ่มติดอาวุธตาลีบันเข้าประเทศและได้ประกาศให้ให้ใช้นโยบาย Holy Low หรือรัฐอิสลามบริสุทธิ์ โดยนำข้อมูลต่างๆในคัมภีร์ทางศาสนามาตีความต่างๆตามใจตัวเองนำมาซึ่งกฎเกณฑ์มากมายที่กดขี่ประชาชนด้วยอ้างเหตุผลทางความมั่นคง
หนังมุ่งประเด็นไปที่สิทธิสตรีของชาวอาฟกัน พวกเธอถุกห้ามไม่ให้ทำงาน ห้ามไม่ให้ออกบ้านโดยไม่มีคนในครอบครัว (สามี พี่/น้อง ลูก) ไปด้วย ถ้าออกมาต้องคลุมผ้าตลอดหัวจรดเท้า และไม่ให้พูดกับคนที่ไม่รู้จัก
หนังเดินเรื่องใช้ตัวละครเด็กหญิงคนหนึ่งเป็นศูนย์กลาง ครอบครัวของเธอสูญเสียสมาชิกเพศชายในสงครามไปจนหมดสิ้น ย่าและแม่ของเธอต้องอ้อนวอนคนที่รู้จักอ้างตัวเป็นญาติเพื่อพาไปข้างนอก แต่ปัญหาคือพวกเธอไม่มีสิทธิที่จะทำงาน - จึงต้องใช้ทางออกคือให้ลูกสาวปลอมตัวเป็นเด็กชายเพื่อออกไปทำงานหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว
ที่อเมริกากว่าผู้หญิงจะได้รับการยอมรับเรื่องการทำงานนอกบ้านก็ไม่เกิน 40 ปีมานี้ ที่อินเดียยังมีประเพณีสตีที่หญิงม่ายต้องกระโดดเข้ากองไฟ ผู้หญิงต้องจ่ายค่าสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย ในประเทศไทยเรื่องสิทธิสตรีหลายๆอย่างก็ยังต้องมาคุยกัน
หนังทำได้อย่างน่าเชื่อถือ เปิดตัวเหมือนภาพหนังสารคดี ใช้กล้องแทนตาคนดู เห็นขบวนประท้วงของสตรีชาวอาฟกันมากมายเพื่อจะขอโอกาสได้ทำงานหาอาหารบ้าง แต่ตามมาด้วยการล้อมปราบอย่างรุนแรงของรัฐ พวกเขานำเอาน้ำมาไล่ฉีด เอากระบองมาทุบตี และกวาดต้อนพวกเธอจับเข้าขังในกรงหลังรถราวกับพวกอาชญากร

รัฐตาลีบันให้กำลังล้อมปราบอย่างรุนแรง
เรื่องราวค่อยๆเดินไปอย่างละเอียด หนังใช้ภาพอธิบายสถานการณ์ได้อย่างฉลาด ไม่บีบเรื่องและอารมณ์จนฟูมฟายเกินเหตุ เน้นไปที่ความเหลวไหลของนโยบายรัฐตาลีบันที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีแผนรองรับ จนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
"ฉันเกลียดพวกเขา พวกเขามา พวกเขาฆ่าพี่น้องฉัน และพวกเขาบังคับให้ฉันแต่งงาน" ตัวละครหญิงคนหนึ่งพูดเนิบๆ แต่น่าเห็นใจเป็นที่สุด
หนังยังมีแง่มุมของความสวยงาม เด็กหญิงคนนั้นที่ต้องใช้ชื่อชายว่า Osama ได้งานทำในร้านขายของชำที่เจ้าของร้านตกลงใจช่วยเหลือทั้งรู้ว่าเสี่ยง แต่เรื่องดีๆมันก็อยู่ได้ไม่นาน เธอถุกเกณฑ์ไปฝึกอาวุธ ฝึกอ่านคัมภีร์ และถูกลงโทษเพราะแสดงความอ่อนแอ จนกระทั้งความก็แตกจนได้ในวันหนึ่ง
ในแง่มุมทางสิทธิสตรีของไทย ในแง่อำนาจรัฐยังพอทำเนา ล่าสุดเรามีรัฐธรรมนูญที่เพิ่มสิทธิต่างๆของสตรีมากขึ้นทั้งการป้องกันการคุกคามทางเพศก็ละเอียดรอบคอบขึ้น แต่ในแง่ทัศนคติยังหลายๆเรื่องที่ผมรู้สึกว่าเรายังใช้สองมาตรฐานอยู่บ้าง - เอาง่ายๆ สามี ภรรยาทำงานทั้งคู่ แต่ถ้าเรื่องดูแลบ้าน ลูกๆ ถ้าไม่ดีก็ต้องเพศหญิงนั้นแหละโดนว่า คือจะทำงานก็ต้องดูแลบ้านให้ดีด้วย แต่พ่อบ้านน่ะเหรอไปหัวหกก้นขวิดที่ไหนก็ไม่มีใครว่า - ก็ผู้ชายนี่หว่า ต้องมีเที่ยวกันบ้าง....?
อันนี้ไม่นับถ้าเพศชายมีหลายกิ๊ก หลายเมีย ยังเชียร์กันว่า "ขุนแผน" แต่เปลี่ยนเป็นเพศหญิงทำยังงั้นบ้างก็จะกลายเป็น "วันทองสองใจ" ขึ้นมาทันที

ผมชอบฉากนี้มาก แสดงความแปลกแยกของเธอกับพวกเด็กชายอย่างชัดเจน ขณะที่ทุกคนวิ่งตีลังกาเล่นกันอย่างสนุกสนาน เด็กหญิงอย่างเธอที่ถูกกรอบจนแค่จะกระโดดเชือกยังแทบไม่ได้ จึงต้องยืนนิ่งๆ อย่างไม่เคยชิน
ภาพยนตร์จบลงอย่างชนิดที่ไม่ให้ความหวัง ฉากตัดสินโทษของพวกตาลีบันน่าเศร้ามาก นักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งถูกยิงตาย ผู้หญิงคนแรกที่มีความผิดใกล้เคียงกับเด็กหญิง ถูกตัดสินให้เอาไปฝังดินและเอาหินขว้างจนตาย ส่วนเด็กหญิงคนนั้นแม้จะรอดโทษตายมาได้ แต่สิ่งที่เธอต้องเจอ - ความตายอาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่าเสียอีก
หนังกำกับ - เขียนบท โดย ซิดเดียร์ มาร์มัก - Siddia Barmak ออกฉายราวๆปี 2003 ได้รับคำยกย่องมากมาย และได้รางวัลเท่าที่จำได้ก็ที่ เทศกาลหนังเมืองคานน์ / ลูกโลกทองคำของอเมริกา / ลอนดอนฟิลม์ของอังกฤษ
ผมน่ะ เชื่อในวิวัฒนาการของสังคม สิทธิต่างๆของชนกลุ่มน้อย และสตรีเพศควรจะได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างให้ได้เสียก่อนทั้งนี้ทั้งเพศหญิง เพศชาย เอาง่ายๆ มี สว.หญิงท่านหนึ่งเคยยืนยันว่า ภรรยาควรทำตัวเหมือนโสเภณีให้แก่สามี มีสามีคนเดียว ความเห็นผมตรงๆก็คือ หวังว่าตอนนี้ท่าน อดีต สว.หญิง คงรู้แล้วว่ากฎหมายใหม่น่ะ ถ้าภรรยาไม่เต็มใจสามีก็ไม่มีสิทธิบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย และถ้าเจอสามีเฮงซวยมากๆ ผมว่าก็ไม่ต้องไปทนอยู่กะมันหรอก
เรื่อง Double Standard แบบนี้ผมไม่ชอบเท่าไรบอกตรงๆ

เมื่อรู้ว่าเธอคือเด็กหญิง พวกทหารรีบเอาผ้ามาคลุม เป็นการประกาศอำนาจทางเพศอย่างชัดเจน
หนังเดินเรื่องโดยไม่เน้นประเด็นทางศาสนาแต่เป็นการระบุว่ากลุ่มตาลีบันเอาเรื่องศาสนามาเป็นข้ออ้างในการปกครองข่มเหงประชาชน ในหนังมีฉากเกี่ยวข้องกับหลักศาสนาอิสลามที่น่าสนใจมากมาย การสอนให้เด็กอาบน้ำให้ถุกหลักคัมภีร์ กินอาหาร สวดมนต์ ล้างเท้า - ส่วนเรื่องการห้ามผู้หญิงไม่ได้ทำงานไม่น่าจะจริง ก็ประเทศมุสลิมอย่างปากีสถานก็เคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นเพศหญิงมาแล้ว
หนังแจกแจงเรื่องเพศหญิงในตาลีบันได้อย่างสลดใจ พวกเธอไม่มีความหมายใดใดทั้งสิ้นผมมาดูรอบที่สองสังเกตได้อีกอย่างว่า ผมไม่รู้เลยว่าตัวละครเด็กหญิงนั้นน่ะ จริงๆแล้วชื่ออะไรกันแน่.... - โอซาม่า น่ะ เป็นชื่อเพศชายที่เธอจำเป็นต้องใช้เพื่อทำงานหาอาหารมาเลี้ยงแม่กับย่า
ราวกับหนังจะบอกว่า พวกเธอน่ะ ไม่มีตัวตนยังไงยังงั้น
Create Date : 27 กันยายน 2550 |
Last Update : 27 กันยายน 2550 11:43:30 น. |
|
10 comments
|
Counter : 1130 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: Bernadette วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:12:44:19 น. |
|
|
|
โดย: coming soon (The Yearling ) วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:13:20:00 น. |
|
|
|
โดย: haro_haro วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:14:04:31 น. |
|
|
|
โดย: mr.cozy วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:16:40:06 น. |
|
|
|
โดย: Bernadette วันที่: 29 กันยายน 2550 เวลา:13:49:11 น. |
|
|
|
โดย: coming soon (The Yearling ) วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:10:47:34 น. |
|
|
|
โดย: Bernadette วันที่: 1 ตุลาคม 2550 เวลา:12:43:08 น. |
|
|
|
โดย: mr.cozy วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:12:21:44 น. |
|
|
|
| |
|
|
บินลาเด็นเราเคยดูสารคดี ผู้หญิงคลุมผ้า การศึกษาน้อยมาก แนวปกครองออก เคร่งๆๆ เถรตรง ยังไงมะรู้อ่า
สำหรับเรา ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ หญิงเกิดจากซี่โครงของชาย ผู้ชายกะเป็นผู้ดูแลผู้หญิงอ่า