Group Blog
 
All Blogs
 

Chapter 9 : A Nameless Monster

... การจะฆ่าโยฮันนั้น เทมมะต้องเลือกทางเดินที่จะทำให้ตัวเองกลับกลายเป็น Monster ให้ได้ แต่จาก Chapter 8 จวบจน Chapter 9 เส้นทางของพระเอกคนนี้กลับห้อมล้อมด้วยบรรยากาศแห่งความอบอุ่น เอื้ออารีย์ ไม่ใช่แค่คนรอบข้างเค้าเท่านั้นที่หยิบยื่นความอบอุ่นให้ (ป้าในร้านอาหารที่เอาอาหารมาให้) แต่เป็นตัวเทมมะเองด้วย ที่คอยดูแลให้คนที่เค้าพบเจอ มุ่งหน้าไปสู่ทางแห่งแสงสว่าง (หมอสาวชาวเวียดนามที่ต้องเปิดคลินิกทั้งที่ไม่จบหมอ) ... ยิ่งไปกว่านั้นการพยายามลอบสังหารโยฮันครั้งแรกก็ถูกขัดจังหวะด้วยเรื่องราวของชายชราผู้ทำผิดต่อป่า ความรู้สึกผิดและสิ่งที่สูญเสียไปหลังจากคนดีๆคนหนึ่งต้องทำการพรากชีวิตผู้อื่นได้ถูกตอกย้ำมากขึ้น

... ในเรื่องของริชาร์ดผมเน้นถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึกผิด” เมื่อฆ่าใคร ทีนี้หากคิดขยายออกไปในเรื่อง “สิ่งที่สูญเสียไป” เมื่อฆ่าใครบ้าง ...คุณหลายคน(รวมทั้งผมด้วย)คงอดไม่ได้ที่จะเชียร์ให้ผู้ร้ายในเรื่องต่างๆโดนฆ่า แต่คุณลองนึกดูดีๆ ถ้า“ฉัน”ต้องฆ่าใครขึ้นมาจริงๆ “ฉัน”จะมองหน้าคนรอบข้างฉันยังไง เพื่อนที่รู้จักกัน คนที่ฉันรัก พี่น้อง พ่อแม่ ลูกหลาน ...ทั้งลูกของริชาร์ดและป่าของชายชราก็คือ เพื่อนและบุคคลอันเป็นที่รักของทั้งคู่ คุณจะมองหน้าเพื่อนหรือคนที่คุณรักยังไงถ้าคุณฆ่าใคร “อย่างจงใจ” ...ลองนึกถึงข่าวฆาตกรเลือดเย็นทั้งหลาย คุณอยากคบนายแพทย์/นักศึกษา XXX ที่วางแผนฆ่าเมีย/แฟนตัวเองรึเปล่า หรือแม้เค้าจะทำไปเพราะบันดาลโทสะ คุณจะอยู่ใกล้ๆฆาตกรที่บันดาลโทสะก็ฆ่าคนรึเปล่า (ฆาตกรในผับอะไรพวกนั้น เหอะๆๆ) ...เป็นการสูญเสียการยอมรับจากคนรอบข้าง (ป่าของชายชรา) และแม้นคนรอบข้างคุณจะให้อภัย แต่คุณก็อาจสูญเสียการยอมรับในตัวเอง(self respect) (ไปเจอหน้าลูกของริชาร์ด) ความรู้สึกถึง “ตัวตนของตัวเองในความคิดคนอื่น” และ “ตัวตนของตัวเองที่ตัวเองคิดว่าจะอยู่ในหัวคนอื่น” จะเปลี่ยนไป

... สิ่งทั้งหลายที่เทมมะต้องพบเจอเหล่านี้เหมือนกับจะพยายามฉุดรั้งพระเอกของเราไม่ให้เปลี่ยนไปเป็น Monster ประโยคจากลาของหมอสาวชาวเวียดนาม ไม่ใช่การเรียกร้องให้“ตัว”เทมมะกลับมาหาเธอในภายหลัง หากแต่เป็นความห่วงใยอยากให้“จิตใจ”เทมมะออกมาจากหนทางที่มืดมิด... “คุณจะกลับมาใช่มั้ย ดร.เทมมะ”

... การทำความเข้าใจถึงจิตใจเทมมะ และการพยายามเข้าใจถึงความรู้สึกที่จะตามมาเมื่อคุณต้องฆ่าใครนั้น คงทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมการเหนี่ยวไกยิงโยฮันในเล่ม 9 นี้ถึงยากเย็นนัก และคงอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมทั้งนีน่าและเทมมะต่างไม่อยากให้อีกฝ่ายเป็นคนฆ่าโยฮัน แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความคิดที่ว่า “ชั้นจะฆ่าเองเพราะชั้นมีความแค้นกับหมอนั่น” เหมือนกับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ แต่เป็นความรู้สึกที่จะยอมแบกรับสิ่งที่จะตามมาทั้งหมดและตัวเองนั่นแหละจะเป็น Monster ซะเอง

... ความเป็น Monster เกี่ยวกับเรื่องความโลภ เงิน และธุรกิจนั้นถูกนำเสนอให้เห็นในเล่ม 9 นี้ (อดีตของชูวาล์ดที่เป็นนักธุรกิจเลือดเย็น) ซึ่งแม้จะมีเพียงแค่ 1 หน้ากระดาษแต่ถ้าเราคิดให้ดีแล้วนี่ถือเป็น Monster ที่พบเห็นได้ในชีวิตจริงและใกล้ตัวมากที่สุดในชีวิตคนเราทั่วไปคงไม่ได้ฆ่าชีวิตคนโดยตรงมากนัก แต่ไม่น้อยเลยที่เราพบกับการฆ่าชีวิตคนโดยอ้อมผ่านธุรกิจและการเงิน มีกี่ชีวิตที่ล้มละลาย มีกี่ชีวิตที่เป็นหนี้ มีกี่ชีวิตที่ถูกโกง ถูกปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยสูงๆ เมื่อคุณกำลังย่ำยีชีวิตเหล่านั้นด้วยธุรกิจ ปล่อยให้เค้าเหล่านั้นตายอย่างช้าๆ คุณก็มองค่าชีวิตของเค้าลดลงเช่นกัน

... แผนของโยฮันในตอนแรกเค้าอาจจะอยากแค่ฆ่าชูวาล์ดและเข้าไปก่อกวนวงการธุรกิจเล่น แต่แผนได้เปลี่ยนไปและเหี้ยมโหดกว่าเดิม (ฆ่าคนสำคัญทั้งหมด) การเผาหนังสือนั้นสื่อได้ถึงการทำลายยิ่งกว่าชีวิตแต่เป็นสัญลักษณ์ของหลายๆสิ่งในตัว “มนุษยชาติ” ...ผมไม่ค่อยแม่นประวัติศาสตร์นัก แต่เหมือนจะเคยได้ยินมาว่า ห้องสมุดในยุคกรีกหรือโรมันหรืออียิปต์ซักอย่างเนี่ยแหละ ที่ชื่อว่า Alexandria Library ถูกเผาทำลายไป (อยู่ทางเหนือของอียิปต์ แต่ถูกเผาหลายครั้ง ทั้งยุคโรมันและยุคอาหรับบุก หาข้อมูลเพิ่มได้ link ตอนท้ายนะครับ และขอบคุณคุณ d.s. สำหรับข้อมูล) เป็นที่น่าเสียดายในประวัติศาสตร์มนุษยชาติยิ่งนัก ...

... ในสมัยนี้อาจจะนึกภาพไม่ออก เพราะหนังสือเรื่องนึงพิมพ์เป็นแสนเป็นล้านเล่มกระจายทั่วโลก แต่ถ้านึกถึงหนังสือสมัยก่อนที่มีอยู่ที่นั่นที่เดียว เป็นองค์ความรู้ที่รวบรวมมาจากที่ต่างๆ (ซึ่งผู้แต่งก็ใช้วิธีให้โยฮันเผาหนังสือเก่าหายากที่ไม่เหลือแล้ว) เป็นสัญลักษณ์แห่งมรดกที่สั่งสมมาจากอดีตและเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง(แสงสว่าง)ในอนาคต ...อะไรล่ะที่เราจะส่งต่อไปยังลูกหลานรุ่นถัดไปได้ถ้าไม่ใช่องค์ความรู้ (ลองสมมุติว่าทำลายงานวิจัยทั้งการแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ วิศวกรรม ทั้งหลายในปัจจุบันสิ เราต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่กว่าจะวิจัยรื้อฟื้นคืนมาได้ และไม่แน่ว่าได้องค์ความรู้ที่เหมือนเดิมซะด้วย) และนั่นเองคือสิ่งที่โยฮันจงใจจะกลั่นแกล้ง... “องค์ความรู้ที่สะท้อนถึงอนาคตของมนุษยชาติเหล่านั้น”

... การกระทำของโยฮันทั้งหมดใน 9 เล่มที่ผ่านมา ผู้แต่งเฉลยให้คนอ่านเข้าใจว่าทำไมโยฮันถึงทำเรื่องราวทั้งหมดโดยไร้ความรู้สึกได้ขนาดนั้น ด้วยการสื่อผ่านคำถามเพียงคำถามเดียวเท่านั้น ...สิ่งที่พวกคุณทุกคนคงจะเคยผ่านกันมาแล้ว... หรือพูดได้ว่า คุณก็เคยเป็นโยฮันที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตและทำไปอย่างไร้ความรู้สึกกันมาแล้ว... “คุณเคยแหย่ขบวนมดเล่นมั้ย?” ...สนุก? สงสาร? ไม่หรอกครับ บางทีคุณก็ไม่ได้รู้สึกทั้งสองอย่าง คุณแค่อยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะทำไงถ้าคุณไปขวางทางของมัน ถ้ามันถูกจับไปไว้ตรงนู้นนี้ โดนคุณเอาสารนู่นนี่ไปใส่มัน ...แต่นั่นคือ “ชีวิต” ของมัน... บางสิ่งที่เราไม่ให้ความสำคัญและไม่รู้สึกใส่ใจถึงมัน

... เนื้อเรื่องเล็กๆของคาร์ลในเล่มนี้ นอกจากจะเผยให้เห็นความสัมพันธ์ที่จะโยงไปยังแม่ของโยฮันแล้ว ยังสื่อให้เข้าใจได้ถึงความเหงาของผู้ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริง และความรู้สึกขาดอะไรบางอย่างนี้จะถูกเติมเต็มได้ด้วยการรับรู้ถึงความรักที่อบอุ่นจากผู้เป็นพ่อแม่ สิ่งนี้เป็นจุดสำคัญในภายหลังที่จะทำให้เราเข้าใจในตัวโยฮันมากขึ้น

... ขณะที่เทมมะพยายามเดินไปสู่ทางที่มืดมิด โยฮันก็ได้พบกับความมืดมิดที่มืดมิดยิ่งกว่า ความทรงจำที่เลือนหายไปของตัวละครไร้ความรู้สึกถึงค่าของชีวิตตัวนี้ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพร้อมกับรอยแผลในอดีตเมื่อได้อ่านนิทานภาพ “ความมืดมิดที่มืดมิดยิ่งกว่า” คุณทุกคนคงแอบรู้กันหมดแล้ว(อ่านจบกันหมดแล้วนี่) ว่ามันก็คืออดีตที่โยฮัน(สงสัยว่า)ถูกแม่ของตัวเองทอดทิ้ง นี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญกลางเนื้อเรื่อง ซึ่งประเด็นนี้จะขอเก็บไว้พูดละเอียดอีกทีนึงนะครับ (พูดหมดตอนนี้ เดี๋ยวช่วงหลังผมไม่มีไรจะโม้ดิ) ....และจะมีฉากไหนบรรยายถึงรอยแผลและความเจ็บปวดของอสูรกายคนนี้ ได้น่าเศร้าและหดหู่ไปกว่าเสียงกรีดร้องพร้อมกับภาพการหลั่งน้ำตาที่บาดลึกไปถึงจิตใจ

ปล. ขออนุญาตเก็บ“ปีศาจไร้ชื่อ”ไว้หลังสุดนะครับ แนวคิดของผมหลังอ่านรอบ 3 ไป 9 เล่ม กับแนวคิดที่ได้เมื่อปีที่แล้ว(อ่านรอบ2) ยังไม่ตรงกันเลย ขอวิเคราะห์ให้จบก่อน 18 เล่มดีกว่า เผื่อได้อะไรใหม่ๆ ไม่อยากจะมั่วตอนนี้น่ะครับ

ปล.2 ข้อมูลห้องสมุดอเลกซานเดรีย หาเพิ่มได้ทั่วไปใน google เช่น...
//www.milligazette.com/Archives/01122002/0112200252.htm




 

Create Date : 19 เมษายน 2548    
Last Update : 20 เมษายน 2548 16:10:51 น.
Counter : 2027 Pageviews.  

Chapter 8 : My Nameless Hero

... เมื่อสองผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอาชญากรเผชิญหน้ากัน สงครามเล็กๆก็อุบัติขึ้น ... การเชือดเฉือนคมกันครั้งนี้ เกิดขึ้นในสมรภูมิที่ถูกจัดวางอย่างตั้งใจ ไม่ใช่ที่บ้าน ไม่ใช่ห้องทำงาน แต่เป็น “ห้องสืบสวน” สถานที่ที่ทั้งคู่ต่างใช้เป็นที่เจาะลึกเข้าไปเค้นความจริงในใจของเหล่าอาชญากรมายาวนาน ลุงค์เก้เปิดฉากรุกก่อนด้วยวิธีการรบที่เค้าถนัด นั่นคือการจี้คำถามลำดับเรื่องราวที่ได้รับการวิเคราะห์อนุมานมาอย่างแม่นยำลึกซึ้ง ไล่ต้อน ดร. กิลเลน(รูดี้) จนจนมุม จากนั้นกิลเลนก็ออกอาวุธของเค้าสวนกลับไป ด้วยการเจาะลงไปถึงแรงกระตุ้นและปมในจิตใจของลุงค์เก้

... ความหยิ่ง ความดื้อ ของผู้ที่มั่นใจในตัวเอง ผู้ที่ไม่เคยมีคำว่าผิดพลาดอยู่ในสารานุกรมประจำตัว ผู้ซึ่งละทิ้งและถูกทอดทิ้ง ไม่เหลืออะไรนอกจากการไล่ตามสิ่งที่จะยึดเหนี่ยวให้ “ตัวตน” ของเค้ายังคงอยู่ ... ตัวละครตัวนี้ แม้จะถูกจี้ใจดำจากกิลเลน แม้เค้าจะมีโอกาสที่จะหันหลังกลับมาสู่เส้นทางที่ดี (ลูกสาวโทรมาให้พบหน้าหลาน แต่ไม่ไปตามนัด) แต่เค้าก็ยังคงเลือกทางเดินที่มืดมิดต่อไปเช่นเคย ...และแล้ว...คำพูดสุดท้ายของตัวละครตัวนี้ในเล่มนี้ ก็เอ่ยออกมาด้วยภาพเหงาๆของเงามืดสลัว ...คำพูดที่ดูจะเป็นการบอกตัวเองซะมากกว่า... “ มองดูผมสิ มองดูผมสิ อสูรกายในตัวผม ได้เติบใหญ่ขนาดนี้แล้ว”

… “ไม่เคยคิดเลยว่าการถูกทอดทิ้งจะเจ็บปวดขนาดนี้” “ใช่ ทุกสิ่งน่ะเจ็บปวดเสมอแหละ”... อะไรอยู่เบื้องหลังการนำเสนอเนื้อเรื่องของลอตเต้ ที่มาของสองประโยคนี้กันแน่? (ลอตเต้ เพื่อนของคาร์ล รู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการใส่ใจ หลังจากคาร์ลพบพ่อเค้าแล้ว) ... ในการ์ตูนเรื่องนี้ มีการพูดถึงการถูกทอดทิ้งในหลายๆรูปแบบ เด็กกำพร้าที่ไม่มีพ่อแม่, ลุงค์เก้ที่ถูกลูกและเมียทิ้งไป (ในทางกลับกันลูกเมียลุงค์เก้ก็ถูกทิ้งเพราะสามีสนแต่งาน), อีวาที่ถูกคนรักทิ้งไป แต่จะมีซักกี่คนล่ะครับที่ “รับรู้” จริงๆว่ามันแย่แค่ไหน

… เราๆท่านๆส่วนใหญ่ที่อ่านการ์ตูนกันอยู่คงอายุน้อยๆไม่ได้ถูกลูกเมียทิ้ง แม้ถูกคนรักทิ้งก็คงไม่ได้นิสัยแย่เหมือนอีวา และส่วนใหญ่คงเป็นคนที่มีพ่อแม่ปกติ (ขอโทษสำหรับผู้ที่กำพร้าที่ผ่านมาอ่านตรงนี้นะครับ ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีนะครับ) เวลาเราอ่านเนื้อเรื่องตอนอื่นๆ เราอาจจะรู้สึก “ผ่านๆ” กับการถูกทอดทิ้งเหล่านั้น ไม่ “อิน”ว่างั้นเถอะ เราๆท่านๆอาจจะ “เดา” ได้ว่าคนที่กำพร้าจะเหงาและน่าเศร้าเพียงใด แต่ถ้าพูดถึงการ “เข้าใจรับรู้” ความรู้สึกเค้าจริงๆนั้น ผมเชื่อว่าคงห่างไกลนัก ...แต่เนื้อเรื่องของลอตเต้นี้ เป็นเรื่องที่เราสามารถพบได้ในช่วงชีวิตวัยรุ่นของทุกคน ...คุณรู้สึกอย่างไรเวลาเพื่อนๆไม่สนใจ... ต้องนั่งกินข้าวคนเดียว... เพื่อนไม่เก็บชีทให้ ...มีอะไรไม่บอกกัน...หรือคนที่คุณชอบยุ่งกับสิ่งอื่นแล้วไม่ใส่ใจคุณ ... ถ้าคุณลองคิดถึงสิ่งเหล่านี้แล้วรู้สึกได้ว่า การถูกทอดทิ้งนั้นมันแย่เพียงใด นั่นล่ะครับ คุณอาจจะเริ่ม “อิน” และเข้าใจความโดดเดี่ยวของคาร์ลหรือโยฮันมากขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้วก็ได้

… อะไรสะท้อนอยู่ในแววตาของเด็กน้อย.... ในเล่มนี้ เราได้เห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของโยฮัน ในการเล่นกับเหล่าเด็กๆใน Chapter 6 และยังได้เห็นวิธีที่โยฮันล้างสมองเด็กเหล่านี้ด้วย เมื่อทำให้มันเป็นเกมส์ให้มันสนุก เมื่อมองแต่คำว่าชนะ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเอาโลกอันมืดมิดของผู้ใหญ่ทุกวันนี้ไปใส่ในแววตาของเด็กให้เห็นว่าโลกมันเลวร้าย เมื่อนั้นคุณค่าของชีวิตในแววตาของเด็กน้อยก็ถูกบดบังไป ...แต่เมื่อฝั่งโยฮันมีขุนพลเป็นเด็กน้อยมองโลกและชีวิตมืดมิดไร้ค่าไร้ความหมาย... ฝั่งเทมมะก็มีดีเทอร์ที่มาพร้อมกับความหวัง ที่ยอมรับโลกอันมืดมิดของผู้ใหญ่นี้แต่พร้อมจะหวังในสิ่งที่ดีขึ้น ...ว่าแต่ว่า เด็กทุกวันนี้มีอะไรในแววตาเค้าบ้างนะ... ในทีวี หนังสือพิมพ์ สิ่งแวดล้อมในครอบครัวหรือโรงเรียน มีแต่สิ่งเลวร้ายรึเปล่า? ..ที่สำคัญยิ่งกว่า เมื่อเด็กเหล่านั้นพบเห็นโลกอันมืดมิดของผู้ใหญ่ เค้ามีใครสักคนมาคอยสอนรึเปล่านะ ว่าแม้มันไม่ดีแต่เราก็หวังและทำให้มันดีขึ้นได้

... แม้ในแววตาเด็กน้อยเหล่านี้จะมีความมืดมิดสะท้อนอยู่ ...อย่างน้อย...ขอให้มีแสงสว่างเล็กๆสะท้อนที่มุมของแววตาเหล่านั้นบ้างก็ยังดี...

… เนื้อเรื่องของเทมมะและโยฮันในเล่มนี้ ขอยกยอดไปกล่าวถึงรวมกับ Chapter 9 นะครับ อะไรอยู่ในใจเทมมะที่ตัดสินใจจะฆ่าโยฮัน อะไรอยู่ในใจโยฮันเมื่อได้อ่านนิทานภาพ ....และอะไรคือ...

...“ผมได้เห็นความมืดที่มืดมิดยิ่งกว่า”...



.........................................................

ปล. ขอให้มีความสุขในวันสงกรานต์ปีใหม่นี้นะครับ เที่ยวให้สนุกนะครับ
ขอบคุณที่ติดตาม ... ตอนหน้า ก็ยังคงออกช้าหน่อยนะครับ ต้องสะสางงานอีกพักนึงเลย

(special thanx to คุณ Watch my back ที่มาลงแดงใน blog เลยนะเนี่ย เลยต้องปั่นต้นฉบับมาลงให้ ไงล่ะ เอายาวๆให้อ่านจนเข็ดไม่กล้าขออีกเลยมั้ยล่ะ ยาวๆ งี้ก็อย่าขี้เกียจอ่านละกัน หุหุ)




 

Create Date : 12 เมษายน 2548    
Last Update : 12 เมษายน 2548 9:35:13 น.
Counter : 642 Pageviews.  

Chapter 7 : Richard

... ริชาร์ด... นักสืบผู้มีอดีตอันขื่นขม ตัวละครที่มีอายุยืนเพียงแค่ช่วง 1 เล่มคนนี้ ทำเอาผมอึ้งและอินกับชะตากรรมของเค้ามาก ความเป็นดราม่าละครชีวิตเรียกอารมณ์และน้ำตาของผู้ชมในเล่มนี้ ถือว่าทำได้ 5 ดาวเลยทีเดียว (ทั้งฉากที่ริชาร์ดต้องตายลง, ฉากพ่อพบกับลูก, ความเศร้าของ ดร. ไรค์ไวน์) ผมเชื่อว่า หนังบางเรื่องสร้างขึ้นเพื่อเสนอแนวคิด ขณะที่หนังบางเรื่องสิ่งที่อยากจะสื่อคือ “อารมณ์” ..และเล่มนี้ ผมรู้สึกว่าผู้แต่งใช้เวลานานเป็นพิเศษในการเล่าเบื้องหลังของตัวละครที่มีอายุสั้นๆคนนี้ และนั่นทำให้ผู้อ่านรู้สึกร่วมไปกับอารมณ์ความสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง หรือในฉากท้ายเล่มที่สื่ออารมณ์ได้ดีเยี่ยมก็คือฉากที่เทมมะได้พบกับโยฮัน สายตาของเทมมะ ก่อนเจอ,ขณะเจอ และ หลังเจอ แสดงอารมณ์ตัวละคร,สภาพจิตใจและความคิดตัวละครโดยไม่ต้องใช้คำพูดมากมาย... เทคนิคการเล่าเรื่อง สร้างเบื้องหลังตัวละคร มุมกล้อง ฉาก อารมณ์ บท การตัดต่อ ถือเป็นจุดเด่นที่หาที่เปรียบได้ยากของ อ. Urasawa เลยทีเดียว เรียกว่าหนังบางเรื่องยังทำได้ไม่ดีเท่าภาพนิ่งของการ์ตูนจากนักเขียนท่านนี้เลยทีเดียว ...

...ในเล่มนี้ โยฮันทำให้สองพ่อลูกได้สวมกอดกันอย่างอบอุ่น และได้รับความไว้ใจอย่างที่สุดจากมหาเศรษฐีชูวาล์ด เรื่องราวความรักของ พ่อ-ลูก และความผิดในที่ติดฝังแน่นอยู่ในใจ ได้สื่อผ่านทั้งด้าน ชูวาล์ด และด้านชีวิตริชาร์ด ... เป็นความรักที่ทั้งคู่สามารถทนและทิ้งได้ทุกอย่าง เพื่อให้ได้สิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา ยิ่งไปกว่านั้น จุดที่อารมณ์ของตัวละครถึงขีดสุดก็คือ เมื่อความผิดของคุณได้รับการ “อภัย”

... ประเด็นทางจิตวิทยาที่แอบไว้ 2-3 หน้ากระดาษ ก็มีให้เห็นประปราย ...ฉากที่เด็กรอบๆโยฮันเล่นกัน ที่พูดถึงการครองโลก การทำลายล้างในใจมนุษย์ สะท้อนให้เห็นบางส่วนของความคิดโยฮันในตอนท้ายเรื่อง ผมก็ขอแปะไว้พูดในท้ายสุดนะครับ (ประเด็นนี้ยังปรากฏใน 20th century boys ด้วยนะ หุหุ พอละเด๋ว spoil )

... การย่างก้าวของโยฮันในเล่มนี้ ก็เรียบ เงียบ เชียบ แต่เลือดเย็น การพยายามฆ่าคนรอบข้างของ ชูวาล์ด เพื่อให้เกิดความเหงาและเข้าไปควบคุมนั้น ใช้เวลาดำเนินการถึง 4 ปี นี่เป็นการพยายามสร้างตัวละครของโยฮันให้มีความเป็นมนุษย์ธรรมดาและ“เป็นไปได้” เนื้อเรื่องไม่ได้พยายามให้โยฮันเป็นผู้วิเศษ มีพลังจิต หรือเวอร์เกินกว่าจะเป็นจริงได้ จุดนี้สำคัญกับการสื่อถึงชีวิตและความเป็นอสูรกายในชีวิตจริงที่ผู้แต่งพยายามสื่อออกมา ...ความเลือดเย็นเห็นได้อีกในตอนที่โยฮันได้เหยียบย่ำจุดอ่อนในใจของริชาร์ดให้แหลกลงไป ในเรื่อง ริชาร์ดเคยฆ่าเด็กอายุ 17 ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจ แล้วเค้าก็หลอกตัวเองและคนอื่นๆมาตลอดว่า ทำไปเพราะเมา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ...โยฮันใช้คำพูดจี้ลงไปถึงความผิดนั้น ... “คนที่ทำผิดเช่นนี้ ยังมีหน้าจะพบลูกได้อีกหรือ?” ...แนวคิดที่ว่า เราไม่มีสิทธิจะไปตัดสินให้ใครตาย ไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากพูดถึง ความรู้สึกผิดที่ฝังลึกนั่นต่างหากที่ผมอยากจะชวนคุณคิดต่อร่วมกันกับผม

... ในเรื่องนี้คุณอ่านแล้วอาจเกิดคำถามว่า ทำไมริชาร์ดถึงต้องรู้สึกผิดและหลอกตัวเองขนาดนั้น คนที่เค้าฆ่าเป็นฆาตกรที่สมควรตายไม่ใช่รึ ...มีมั้ยครับที่คุณอ่านหนังสือพิมพ์ เห็นโจรเลวๆ ฆ่าข่มขืน แล้วก็สาปแช่ง พอตำรวจยิงพวกนั้นตาย หรือโดยรุมบาทา คุณก็เห็นด้วย (ผมก็เห็นด้วยอ่ะว่ากันตรงๆ) แต่สิ่งที่ผมไม่เคยคิดก็คือ สภาพจิตใจของคนดี ๆ ที่ฆ่าคนอื่นแม้คนเหล่านั้นจะเลวก็ตาม มีการ์ตูนและหนังไม่น้อยที่พยายามอธิบายจิตใจของผู้ฆ่าว่าเค้าต้องเจ็บปวดและรู้สึกผิดแค่ไหน (เช่น ทหารผ่านศึก หรือตำรวจก็ตาม) จริงๆแล้วผมก็ไม่เข้าใจหรอกครับ เพราะผมก็ไม่เคยฆ่าใคร ไม่รู้ว่าจะรู้สึกยังไง แต่พอลองคิดดู ขนาดสัตว์เลี้ยงของผมตายเพราะความผิดผมเอง ผมยังรู้สึกแย่และผิดจนทุกวันนี้ หรือเวลาทำให้ใครเสียใจกับบางเรื่อง ก็มีความรู้สึกผิดติดตัวไปนานแสนนาน แล้วถ้ามันเป็นชีวิตคนล่ะ?... และเรื่องของริชาร์ดนี่ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ผู้แต่งอาจจะอยากให้เราคิดโยงไปถึงจิตใจของเทมมะ ที่หลายคนเชียร์นักหนาว่าทำไมสุดท้ายไม่ฆ่าโยฮันซักที กะไอ้แค่ฆ่าคนเลว ฆาตกรเลวๆแบบนี้สมควรตายไม่ใช่หรอ

... คนเลวพวกนี้สมควรตาย แต่คนที่ฆ่าคนเหล่านี้ คือคนดีที่ต้องทนทุกข์รึเปล่าน๊า? ... เด็กๆผมก็คิดว่าเป็นแค่ข้ออ้างของครูนะครับ กับคำที่ว่า “ครูตีพวกเธอ ครูก็เจ็บเหมือนกัน” จนถึงวันที่ผมต้องตีน้องๆ หลานๆ ...ผมถึงได้รู้ว่า ... ผมไม่ได้อยากตีเลยครับ...

.........................................................
ปล. หลังจากตอนนี้ ขอโทษด้วยถ้าผลิตตอนต่อไปช้าหน่อยนะครับ มีภารกิจต้องสะสาง ขอบคุณที่ติดตามครับ
ปล.2 ... ใครที่เคยเม้นไว้ใน blog ตอนอื่นนะครับ... ตามไปตอบเล็กๆน้อยๆให้ทุกคนแล้วนะครับ
ปล.3 ... ยังเหลือกี่ชีวิตที่ติดตามครับเนี่ย ^_^




 

Create Date : 01 เมษายน 2548    
Last Update : 3 เมษายน 2548 22:37:20 น.
Counter : 667 Pageviews.  

Chapter 6 : The secret woods

... ตัวละครนิสัยเสียตัวเดิม เดินโซซัดโซเซออกมาจากความมืดของห้องขัง มาสู่ที่โล่งที่มีแสงสว่างสาดส่องจนแสบตา –ห้องขังที่เธอเป็นคนทำตัวเองให้ต้องเข้าไปอยู่- เมื่อเธอไม่เหลืออะไรอีกต่อไป ทั้งเกียรติ เงิน ฐานะทางสังคม ...สิ่งที่เธอรู้มาตลอดลึก ๆ ก็คือ เธอได้ทำบางสิ่งหล่นหายไป บางสิ่งที่เงินก็เอาคืนมาไม่ได้ (ในเรื่องอีวาเมาจนโดนจับเข้าคุก และกระเป๋าก็หายไป ข้างในมีรูปเทมมะอยู่ และเธอก็ตามหามัน) ฉากที่เธอพบกับโรแบร์โต้ นักฆ่ามือขวาของโยฮัน ผู้กำลังพยายามตามลบทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโยฮัน แล้วเธอก็ถูกหลอกใช้ให้ไปฆ่าเทมมะที่ แต่แล้วก็หักหลังโรแบร์โต้ พยายามช่วยให้เทมมะรอด แม้ต้องแลกกับชีวิตของเธอเองก็ตาม (ถูกยิงที่ขาและไล่ให้ดีเทอร์ไปบอกเทมมะให้หนี โดยไม่ต้องมาช่วยเธอ)...ในฉากนั้น มุขเดิมๆที่เราเห็นจากการ์ตูนแทบทุกเรื่องก็คือ อีวาในใจลึกๆแล้ว อยากจะช่วยเทมมะจริงๆ ไม่อยากให้เทมมะตาย แต่เธอกลับอ้างว่า ไม่อยากให้ตายเพราะอยากให้เทมมะถูกจับมากกว่า ไม่ต่างอะไรกับเรื่องอื่นๆ ที่ตัวร้ายมาเป็นพวกพระเอกแล้วก็อ้างนู่นนี่ ว่าเพราะอยากกำจัดพระเอกเอง ...สิ่งที่(ผมว่า)แตกต่างก็คือ ในการ์ตูนเรื่องอื่น ตัวร้ายนั้นๆจะทำหน้าโกรธแบบเขินๆ ว่าไม่ได้อยากช่วยหรอกนะ(จ๊ะ) แต่เรื่องนี้ใบหน้าอันบูดเบี้ยวจริงจังของอีวาขณะสาปแช่งเทมมะ ทำให้รู้สึกได้ว่า สิ่งที่เห็นมันเป็นเพียงหน้ากากหรือเปลือกนอกเท่านั้น เป็นเปลือกที่ผุพังจนกลวงน่ารังเกียจ ขณะที่ภายในของเธอนั้น แม้เธอจะเคยนิสัยแย่มาก่อน แต่หลังจากสูญเสียทุกสิ่ง แล้วได้บทเรียนว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ ภายในของเธอก็ได้เปลี่ยนไป ... ในขณะที่ลุงค์เก้ค่อยๆกลายเป็น monster สนุกกับการไล่ล่า ไม่สนชีวิตใคร แม้แต่ชีวิตตัวเอง(เกือบตายตอนล่าเทมมะ) ...อีวากลับเป็นตัวละครที่ค่อยๆออกจากความมืด ...สู่แสงสว่างสาดส่องจนแสบตา...

... ไออุ่นของแสงแดดตกกระทบลงบนอุ่นไอของโต๊ะกินข้าว ... แสงแดดถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่ความหมายของความสว่าง แต่เป็นที่ความอุ่นของมัน ... ประเด็นด้านมืดอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา “ความโลภ” (จะว่าไปการ์ตูนเรื่องนี้ก็แตะประเด็นนี้เพียงแค่ผิวๆเท่านั้น) ในเรื่องมีการพูดถึงการเล่นสนุกของโยฮันในเรื่องความโลภและทำให้เกิดความวุ่นวาย ฆ่าชิงกันเพื่ออำนาจและเงิน

... หลังจากเราเห็นคุณค่าของชีวิต และการอยากมีชีวิตอยู่แล้ว ...เนื้อเรื่องได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต อำนาจ? เงิน? ความสำเร็จ?... เราได้เห็นแนวคิดนี้ทั้งในช่วงของเทมมะ-อีวา และช่วงท้ายเล่มซึ่งเป็นการปูเรื่องเพื่อไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเล่ม 9 (เรื่องของมหาเศรษฐีผู้มีอดีตที่เคยทิ้งลูกไป และลูกชายของเค้า) อะไรอยู่ในดวงตาของ คนที่มาถึงบั้นปลายของชีวิต ... อดีตที่ไม่อาจแก้คืน ...และอะไรเหลืออยู่ข้างกายบ้างเมื่อปีนขึ้นไปถึงยอดเขาที่เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้ว ประเด็นพวกนี้ผมคงทิ้งไว้ให้ไปพลิกๆอ่านเอาเองนะครับ

... ในเล่มนี้จะว่าไปแล้ว เป็นครั้งแรกที่เราเห็นบทบาทความคิดและการแสดงออกของโยฮันอย่างชัดเจนมากขึ้น (ตอนอื่นๆมีแต่เดินแว่บไปมา ไม่ก็แค่คนเอ่ยถึง) เราได้เห็นความน่ากลัวของโยฮันในการเจาะไปที่จุดอ่อนในใจคน แล้วกุมหัวใจคนคนนั้นไว้ในกำมืออย่างเลือดเย็นไร้ความรู้สึก สัญลักษณ์ของจุดอ่อนนั้นน่าจะเป็นสัญลักษณ์ผ่านคำว่า “the secret woods” ที่ซึ่งโยฮันได้ก้าวเข้าไปในใจมหาเศรษฐีชูวาล์ด ผู้พร้อมที่จะหลอกตัวเองทุกเมื่อถ้าเกี่ยวข้องกับอดีต ... ผมไม่แน่ใจว่า สิ่งที่แสดงออกทั้งการหลั่งน้ำตา(เมื่อฟังเรื่องลูกที่พลัดพรากจากพ่อแม่) และการเล่นกับเด็กกำพร้า เป็นสิ่งที่ออกมาจากจิตใต้สำนึก(เพราะเค้าลืมอดีต) เลยทำให้มีสองบุคลิก หรือเป็นการแสดงกันแน่ ..หรือทั้งสองอย่าง??

... ขณะที่อีวามีหน้ากากนางมารร้าย แต่ข้างในเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกผิด ...หน้ากากของโยฮันที่เป็นเทพบุตร แต่เบื้องหลังมีเพียงความว่างเปล่า เลือดเย็นไร้ตัวตนความรู้สึก ... ช่างเป็นฉากที่ชวนให้เสียวสันหลังจริงๆ ... และเมื่อนั้น...ระวังโยฮันจะก้าวเข้ามาใน the secret woods ของคุณแล้วกุมหัวใจคุณไว้ในมือล่ะครับ




 

Create Date : 29 มีนาคม 2548    
Last Update : 30 มีนาคม 2548 1:06:33 น.
Counter : 618 Pageviews.  

Chapter 5 : After the carnival

... รูดี้ นักจิตวิทยาอาชญากร เพื่อนเก่าของเทมมะสมัยเรียนหนังสือ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นพันธมิตรกับเทมมะในที่สุด เขาเข้ามาพร้อมกับการขยายคำถามและขอบเขตของคำว่า “อัตลักษณ์” หรือ “ตัวตน” ออกไปให้กว้างขึ้นไปอีกขั้น (เรื่องลอกข้อสอบแล้วเทมมะเห็น แล้วคิดว่าเทมมะดูถูกเค้ามาตลอด) เล่มที่แล้วการตั้งประเด็นอย่างตรงไปตรงมาของนายพลวูฟล์ ใครคือนายพลวูฟล์? อะไรจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นฉัน? เป็นการตั้งคำถามถึงการคงอยู่ของคนคนหนึ่ง การแสดงออกและการทำให้คนอื่นรับรู้ถึงตัวตนคนคนนั้นอยู่ที่ไหน ตัวตนในเล่มที่แล้วมีอยู่สองประเภท 1. ตัวตนของเราที่แท้จริงตอนนี้ กับ 2. ตัวตนของเราในการรับรู้ของคนอื่น(ในหัวคนอื่น) แต่สิ่งที่รูดี้ประสบปัญหาที่ฝังอยู่ในใจ และส่งผลกระทบไปยังพฤติกรรมและความคิดของเค้าเอง ก็คือตัวตนที่ 3 ..ตัวตนของเราที่เราคิดว่าอยู่ในหัวของคนอื่น

... และเนื้อเรื่องย่อยเล็กๆในเล่มนี้ ก็มีประเด็นน่าคิดหลายอย่างทีเดียว เกี่ยวกับการเกิดตัวตนที่ 2 ผ่านข้อมูลและการ “ตัดสิน” และมีการหักล้าง(ต่อสู้)กันระหว่างตัวตนที่ 1 กับตัวตนที่ 2 ... การต่อสู้กันของตัวตนทั้ง 3 ผมจะพูดถึงอีกทีนึงนะครับ

... นอกจากนี้เรายังได้เห็นวิธีการและความเป็น Monster ของโยฮันมากขึ้นในการควบคุมส่วนมืดในใจคน ให้ทำการฆาตกรรมดังที่ตัวเองต้องการ ทั้งเรื่องของฆาตกรที่ให้ไปอยู่ในห้องใต้ดินในบ้านเหยื่อแล้วการกระตุ้นรอยแผลในอดีต และเรื่องของอดีตตำรวจที่เคยฆ่าพ่อแม่ของนีน่า

... ความรู้สึก “ไม่อยากตาย” แล้วทำให้ “เห็นคุณค่าของชีวิต” ในเล่มนี้ ก็ขยายคำถามต่อไปอีกว่า มีเหตุอันใดให้คนเราไม่อยากตาย การบีบคั้นฆาตกรในเล่ม 3 ของเทมมะ หยุดแค่ที่ว่า “ผมไม่อยากตาย” แต่การบีบคั้นอดีตตำรวจของนีน่า ให้เหตุผลต่อไปอีกว่า เค้าไม่อยากตายเพราะอะไร ... เมื่อคนเรามีสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองไม่อยากจากไป นั่นคือเราอยากจะมีชีวิตอยู่ และเห็นค่าของชีวิตในที่สุด

... ช่วงสุดท้ายของเล่มเป็นเรื่องการไล่ล่าเทมมะของลุงค์เก้ ความเป็นลุงค์เก้ในอดีตอาจจะเป็นตำรวจที่ไม่สนอะไรขอแค่จับฆาตกรได้ และตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ลุงค์เก้ในตอนนี้เป็นตัวตนที่มีเพียงการไล่ล่าเทมมะเท่านั้น สิ่งอื่นๆดูจะ“ไม่มีค่า”ใดๆ เค้าเลือกทางเดินที่ปล่อยฆาตกรคนอื่นไป และยังใช้การข่มขู่นักข่าวอีกด้วย จะว่าไปแล้ววิธีการนี้ ก็คือการความคุมด้านมืดของคนอื่นให้เป็นไปตามที่เราต้องการเช่นเดียวกับโยฮันนั่นเอง เทมมะและนีน่าอาจจะมีเป้าหมายผิดศีลธรรม(การตามไล่ล่าฆ่าคน)แต่ทางเดินที่เค้าเดินคือทางที่มีแต่แสงสว่าง ในขณะที่ลุงค์เก้.. แม้เป้าหมายจะกำลังทำสิ่งที่ถูก(ไล่ล่าเทมมะเพื่อจับกุม โดยหลักฐานแล้ว เทมมะเป็นผู้ต้องสงสัยหลายคดี) แต่เค้าใช้เส้นทางที่ดำมืด ...แล้วการกระทำของคุณในชีวิตจริงล่ะ เป้าหมายหรือทางเดินที่สำคัญกว่ากัน?

... อย่าคิดว่าคำถามนี้ตอบได้ง่ายอย่างไร้เดียงสาล่ะครับ เมื่อคุณอ่านการ์ตูน คุณอาจตราหน้าว่าลุงค์เก้ผิด และเชียร์เทมมะพระเอกของเรา แต่ลองมานึกถึงชีวิตจริงกันเล่นๆบ้าง ... คุณว่า สส. รัฐมนตรี หรือแม้แต่นายก ถ้าเค้าเข้ามาเป็นแล้วทำประโยชน์ให้กับประเทศ แต่กว่าจะมาเป็นเค้าใช้เส้นทางไม่สะอาด คุณจะเชียร์มั้ย? ... แล้วไลท์ กับ แอล คุณเชียร์ใคร (555) ??? กับวิธีการของแอลที่บางครั้งก็โหดเหี้ยมเพียงเพื่อให้ได้ตัวไลท์ กับไลท์ที่ทำเพื่อโลกอันสงบสุขโดยวิธีการฆ่า

... หนังจีนเค้าว่าไว้... โลกนี้มีหลายสิ่งที่ยากจะแยกแยะถูกผิด ....




 

Create Date : 27 มีนาคม 2548    
Last Update : 30 มีนาคม 2548 1:08:08 น.
Counter : 597 Pageviews.  

1  2  3  

ว้างกลางหาว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ก็แค่... อยากคิดอยากเขียนกะเค้ามั่ง

Friends' blogs
[Add ว้างกลางหาว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.