bloggang.com mainmenu search






สวัสดีค่ะ



หลังจากพาไปหม่ำๆ และทำสิ่งที่เป็นกุศลรับปีใหม่ด้วยการไหว้พระ 9 วัดไปแล้ว 5 วัดดังนี้



ร้านอาหารร้านแรกของทริปปีใหม่ 2554 ไปแล้วคือ ไก่ถังวังทอง พิษณุโลก (คลิกเพื่ออ่าน)

ตามด้วย ข้าวมันไก่เกียรติโอชา + ร้านหวานละมุน (คลิกเพื่ออ่าน)

รีวิวทริปไหว้พระ 9 วัด วัดแรก ณ วัดลอยเคราะห์ (คลิกเพื่ออ่าน)

วัดที่สอง วัดหมื่นล้าน (คลิกเพื่ออ่าน)

วัดที่สาม วัดดวงดี (คลิกเพื่ออ่าน)

วัดที่สี่ วัดชัยพระเกียรติ (คลิกเพื่ออ่าน)

และวัดที่ห้า วัดเชียงมั่น (คลิกเพื่ออ่าน)











วันนี้จะพาไปวัดเชียงยืนกันบ้างนะคะ


ประัวัติวัดเชียงยืนจาก //www.chiangmai-thailand.net/temple/chiangyuan/chiangyuan.html ค่ะ



วัดเชียงยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดมงคลนาม หลาย ๆ วัดในเชียงใหม่เป็นวัดที่มีความสำคัญและโดดเด่นในด้านความเชื่อและประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่อย่างยิ่งวัดหนึ่ง


“วัดเชียงยืน” หรือในเอกสารโบราณเช่นพงศาวดารโยนกอาจเรียกว่า “วัดฑีฆชีวะวัสสาราม” หรือในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า “วัดฑีฆายวิสาราม” หรือ “ฑีฆาชีวิตสาราม” ซึ่งล้วนแล้วแต่หมายถึงชีวิตที่ยืนยาวทั้งสิ้น เฉกเช่นชื่อวัดที่เรียกกันโดยทั่วไปนั่นเอง ทำให้หลาย ๆ คนต่างมุ่งที่จะได้ไปไหว้ไปสาที่วัดแห่งนี้ในวันสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่สากล วันปีใหม่ไทย เป็นต้น


ความเป็นมาของวัดยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาเอาไว้ตามเอกสารของทางวัดว่าไว้ว่า น่าจะสร้างในสมัยพญามังราย ด้วยสร้างไว้ให้เป็นคู่กันกับวัดเชียงมั่นที่เป็นวัดแรกในเวียงเชียงใหม่ ส่วนวัดเชียงยืนเป็นวัดที่สอง สร้างไว้นอกเวียงทางด้านหัวเวียงเพื่อให้มีความหมายว่า “มั่นคง” และ “ยั่งยืน” นอกจากนี้ยังสร้างไว้ให้เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับศรัทธาข้าเมืองทั้งหลายที่อยู่รอบนอกกำแพงเมือง ยามเมื่อประตูเมืองปิดลง


การกล่าวถึงวัดเชียงยืนครั้งแรกนั้น ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ที่รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ ผู้เป็นปราชญ์แห่งล้านนาท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อปีเถาะจุลศักราช ๘๘๑ (พ.ศ. ๒๐๖๒) พระเมืองแก้วและมหาเทวีพระมารดาได้กระทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระสถูปใหญ่ที่วัดทีฆาชีวิตสาราม เมื่อวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๓”


ส่วนในปีถัดมา “ปีมะโรง จุลศักราช ๘๘๒ (พ.ศ. ๒๐๖๓) ฝ่ายพระราชากับพระราชมารดาได้โปรดให้จัดงานยกฉัตรมหาเจดีย์วัดทีฆาชีวิตสารามเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ยามเที่ยง” ทำให้เชื่อกันว่า เจดีย์วัดเชียงยืนแห่งนี้สร้างในสมัยพระเมืองแก้วและได้มีการบูรณะกันเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน องค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานเหลี่ยมสูง ย่อเก็จมีรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่ ๑ ตัว เล็ก ๒ ตัวประดับมุมฐานเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ กอปรกับตัวองค์เจดีย์นั้นได้มีการประดับด้วยดอกไม้สีทองอยู่ทั่วไปอีกด้วย


จนเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการบวงสรวงอัญเชิญยอดฉัตรเจดีย์ลงเพื่อทำการบูรณะใหม่ ปรากฏว่ามีการพบองค์พระธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณข้างในดอกบัวตูมยอดฉัตร จำนวน ๗ องค์ และได้อัญเชิญนำไปประดิษฐานไว้ในวิหารพระสัพพัญญูเจ้า เพื่อรอการอัญเชิญนำขึ้นประดิษฐานที่เดิม ยามที่ทำการบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว


ส่วนจุดที่ทำให้วัดเชียงยืนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้จักครองเมืองเชียงใหม่จะต้องมาทำการสักการะพระสัพพัญญู พระประธานในวิหารวัดเชียงยืนเสียก่อนทุกคราไปนั้น มาจากสมัยของพระไชยเชษฐาธิราชหรือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า พระญาอุปปโยในคราวที่มาครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากมหาเทวีจิรประภาผู้เป็นยาย หลังจากที่พระญาอุปปโยเดินทางจากล้านช้าง มาพักอยู่ที่เชียงแสน เชียงรายตามลำดับ จนมาถึงเหมืองแก้ว


ที่นั้นเหล่าบรรดาเสนาอามาตย์ได้นำเครื่องเทียมยศมาแห่ต้อนรับเอาพระญาอุป ปโยเข้าไปยังเวียงเชียงใหม่ เดินทางมาจนถึงวัดเชียงยืน ซึ่งในตำนานกล่าวไว้ว่า “อังคาสราธนาเข้ามาเถิงปะตูโขงวัดเชียงยืน พระเปนเจ้าถอดเครื่องประดับไว้ ทรงผ้าเสื้อขาว ทือขันเข้าตอกดอกไม้เทียนเงินเทียนคำ เข้าไพปูชาไหว้นบพระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืน” จากนั้นจึงทำการเข้าสู่เวียงทางประตูช้างเผือก อันถือเป็นด้านหัวเวียงไปสู่ราชมณเฑียรหอคำแท่นแก้ว จารีตนี้ได้สืบทอดต่อกันมา


แม้นว่าช่วงหนึ่งที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึงสองร้อยกว่าปี ตราบจนฟื้นม่านสำเร็จ พระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ เมื่อจักครองเมืองเชียงใหม่ก็ยังคงได้กระทำดังเช่นบูรพกษัตราธิราชได้กระทำมาแต่ก่อนนั้น ดังนี้

“เดือน ๖ ออก ๑๒ ฅ่ำ วัน ๕ ยามตูดเช้า ท้าวค็เสด็จเข้ายั้งอยู่วัดปุพพาราม ตามปุพพะทำนองโปราณะแห่งท้าวพระญาทังหลายฝูงอันเปนแล้วมาแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังปเวณี ค็ปทักขิณวัฏฏ์กระหวัดไพทิสสะหนใต้ ลำดับไพด้วยด้านวันตกไพเถิงวัดเชียงยืนด้านเหนือพระเปนเจ้าเข้าไพสักการบูชาไหว้พระเจ้าวัดเชียงยืนแล้ว เถิงเพลายามแตรจักใกล้เที่ยง ท้าวค็ยกเอาหมู่ยัสสปริวารเข้าเวียงหลวง ด้วยปะตูช้างเผือกทิสสะหนเหนือ หื้อลวะจูงหมาพาแชกนำเข้าก่อน”



เหล่านี้เป็นธรรมเนียมเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้ครองล้านนาเชียงใหม่ ตกทอดสืบถึงรุ่นหลังแต่ชาวบ้านทั่วไปก็เคารพนับถือพระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืนเป็นอย่างยิ่งกอปรกับชื่อวัดอันเป็นมงคลมักนิยมที่จะมาทำการสืบชะตาที่วัดเชียงยืนนี้ เพื่อหวังให้มีอายุที่ยืนยาว ดังจะเห็นเมื่อครั้งยามที่พระเจ้าอินทวิชชยานนท์หลังจากที่กลับมาจากกรุงเทพฯ โดยขึ้นที่ท่าน้ำวัดไชยมงคลก็จำไปทำการลอยเคราะห์ที่วัดลอยเคราะห์และดับภัยที่วัดดับภัยแล้วจึงมาทำการสืบชะตาที่วัดเชียงยืนแห่งนี้


ศาสนาสถานอีกแห่งหนึ่งของวัดนี้ ที่มีความงดงามโดดเด่นไม่แพ้พระธาตุเจดีย์หรือตัววิหารอันเก่าแก่แล้ว ยังมีอุโบสถทรง ๘ เหลี่ยม แตกแต่งตามสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่งดงามและสมควรที่จะอนุรํกษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง นับเป็นอาราม ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มายาวนานละฝังรากลึกถึงความเคารพและศรัทธาของสาธุชนคนทั่วไปที่มีต่อวัดเชียงยืนและองค์พระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืน อย่างแน่นแฟ้น ดังจะเห็นว่าชุมชนที่เป็นศรัทธาวัดเชียงยืนมาจากหลายชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเชียงยืน ชุมชนอุ่นอารีย์ ชุมชนสามัคคีพัฒนา และชุมชนป่าเป้าจะร่วมมือกันดูแลอุปปัฏฐากวัดนี้ไม่เคยขาด โดยจะมีงานประจำปีคือประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุวัดเชียงยืนในช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นลำดับถัดจากวัดเชียงมั่นเสมอ






สำหรับวันนั้นคุณซะมีขับรถไปเข้าด้านข้างของวัดค่ะ แล้วก็วนไปจอดที่ด้านหน้าวิหารหลังนี้นะคะ























แต่เราเดินเลาะไปทางด้านซ้าย (เมื่อหันหน้าเข้าวิหาร) ไปยังประตูที่รถวิ่งเข้ามาก่อนค่ะ

เนื่องจากเห็นป้ายแว้บๆ ว่ามีป้ายข้อมูลวัดอยู่ด้วยน่ะนะคะ





















ตัวองค์เจดีย์ด้านหลังวิหารค่ะ

จะเห็นว่ามีตุงกระด้างอยู่ที่ศาลาเล็กๆ ด้านหน้าเจดีย์ด้วย





















ข้อมูลเพิ่มเติมจากป้ายของทางวัดค่ะ

ทิศนี้ถือเป็นเดชเมืองนะคะ แต่แปลกที่กลับไม่ค่อยเจอใครมาไหว้วัดนี้เท่าไหร่ค่ะ

หรือเป็นจังหวะที่เราไปก็เป็นได้นะคะ























จากนั้นก็เดินกลับเข้าไปในวิหารหลวง เพื่อไปสักการะพระประธานของวัดนี้ค่ะ

พระสัพพัญญูเจ้าค่ะ























เสียดายว่า การไปไหว้พระครั้งนี้นี่ไม่ได้อ่านหนังสือไปก่อนเลยค่ะ (หอบไปแต่หนังสือเกี่ยวกับร้านอาหาร เห็นแก่กินจริงๆ ตรู เหอๆ ) แต่พอมาอ่านในเว็บปรากฏว่ามีหอธรรมศิลปะพม่ากับโบสถ์แปดเหลี่ยมแห่งเดียวในล้านนาด้วยค่ะ ยังไงถ้าอยากเห็นรูปก็ไปที่เว็บที่แปะไว้ข้างต้นแล้วกันนะคะ



















ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาที่บล็อกเราค่ะ

890484/6369/576
Create Date :24 มีนาคม 2554 Last Update :24 มีนาคม 2554 8:20:42 น. Counter : Pageviews. Comments :39