bloggang.com mainmenu search




สวัสดีฮ้าบบบ




เอนทรี่ล่าสุด รีวิวอาหารเจ ณ Din Tai Fung สาขา Central Embassy 




หลังจากปล่อยรีวิวทริปการไปพักที่อินเตอร์คอนติเนนตัล สมุย บ้านตลิ่งงามรีสอร์ทมาแล้วดังนี้


การเดินทางด้วยบางกอกแอร์เวย์ส เล้าจน์ และสนามบินสมุย

ห้องพักแบบ Club Premier Ocean View Room

Lunch at Flame

สระว่ายน้ำทั้งเจ็ด

Facilities ต่างๆ

ห้องพักแบบอื่นๆ ตอนที่ 1

Pool Villa และ 3 bedrooms

Air Bar, Pool Bar and Serene

Dinner at Flame

Breakfast at Amber

Cooking Class

Baan Thai Spa

Thai Night Dinner

Yoga Class



สำหรับเอนทรี่นี้ก็จะพาไปหม่ำอาหารมื้อกลางวันก่อนอำลาที่พักและไปเที่ยววัดต่างๆ รอบเกาะสมุยกันนะคะ





สำหรับวันที่สามซึ่งเป็นวันที่ต้องอำลาที่พักแล้ว หลังจากทำโยคะ ว่ายน้ำแล้วเราก็มาเก็บของ เช็คเอาท์ค่ะ จากนั้นก็ไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่ห้องอาหารแอมเบอร์นะคะ

โดยเครื่องดื่มเราเลือกน้ำแตงโมปั่น ซึ่งอร่อยค่ะ หวานธรรมชาติมากๆ ค่ะ ไม่ค่อยใส่น้ำเชื่อมเลยค่ะ ส่วนตัวขนมปังที่เป็นคอมพลิเมนทารี่ก็ทำมาได้ดีค่ะ ไม่แข็ง ไม่แห้งเหมือนครั้งแรกที่เจอนะคะ


สำหรับจานหลักวันนั้นเป็นอาหารจานเดียวค่ะ เป็นสปาเก็ตตี้ขี้เมาทะเลนะคะ รสชาติจัดจ้านดีค่ะ โอเลย








จากนั้นก็อำลาที่พัก จากนั้นก็เดินทางไปยังวัดแรกกันค่ะกับวัดแหลมสอ

สำหรับวัดนี้นะคะ ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากก็คือตัวเจดีย์และพระปฏิบัติชอบท่านหนึ่งค่ะ นั่นก็คือ หลวงพ่อแดง ติสโสนั่นเองค่ะ

มารู้จักท่านจากประวัติที่นำมาจาก //www.web-pra.com/Article/Show/1173 นะคะ


หลวงพ่อแดง ติสฺโส เป็นบุตรของ นายแก้ว-นางอ่อน ทองเรือง เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๔ ที่บ้านเขาปุก ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีพี่น้องด้วยกัน ๔ คน หลวงพ่อแดงท่านเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี (ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๕๖)บิดามารดาผู้มั่นคงในพระพุทธศาสนา เห็นว่าลูกชายสมควรที่จะได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสำเร็จ โดยมี พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เป็นพระอุปัฌชาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 


เมื่อบวชแล้วก็เคร่งครัดต่อพระวินัย เอาใจใส่ในกิจวัตร ตามหน้าที่ของพระใหม่จะพึงกระทำ อยู่เป็นพระได้ ๒ พรรษา ก็มีเหตุบังเอิญให้เป็นโรคผิวหนังคันไปทั้งตัว รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาเพื่อออกไปรักษาในเพศฆราวาส เมื่อรักษาหายแล้ว บิดามารดาเห็นว่าลูกชายได้บวชเรียนแล้วควรมีเหย้ามีเรือนต่อไป จึงได้สู่ขอ น.ส.แปลก บุตรสาวของนายเพชร-นางเหลือ ชาวบ้านสระเกศให้มาเป็นภรรยาท่าน เมื่อทำการสมรสเรียบร้อยแล้วอยู่กินกันมาเป็นเวลาประมาณ ๙ เดือนเศษ ก็มีเหตุให้ท่านต้องแยกทางกัน ภายหลังหย่าร้างอยู่ระยะเวลาหนึ่ง บิดามารดาก็เกลี้ยกล่อมให้ท่านมีครอบครัวใหม่(เพื่อมีบุตรหลานสืบสกุลตามธรรมดาของวิสัยชาวบ้านโดยทั่วไป แต่ด้วยจิตใจที่ไฝ่ในธรรม ท่านได้ปฏิเสธความประสงค์ของบิดามารดา 


ในที่สุดหลังจากได้ออกมาครองเพศฆราวาสยังไม่ถึง ๑ ปี ท่านก็ได้สละเพศคฤหัสถ์เข้าวัดบรรพชาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดสำเร็จโดยมี พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร วชิโร) วัดอัมพวัน เกาะพงัน อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ ๒ เป็นพระอุปัฌชาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ วัดประเดิม ภายหลังเป็นเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ ๓)และ พระอาจารย์ทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า"ติสฺโส" หลังจากท่านได้อุปสมบทแล้วก็ได้ติดตามพระอุปัฌชาย์(หลวงพ่อเพชร วชิโร)ไปอยู่ที่เกาะพงัน เพื่ออบรมสมถวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งอุปัฏฐากอุปัฌชาย์อาจารย์ตามหน้าที่ของบรรพชิตผู้บวชใหม่ เป็นเวลาประมาณ ๗ เดือน จึงได้ลากลับมาพำนักอยู่ที่วัดสำเร็จ 


ภายหลังเห็นว่าที่พำนักสงฆ์เขาเล่เป็นที่สงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้ออกจากวัดสำเร็จมาพำนักที่พำนักสงฆ์เขาเล่เป็นเวลาหลายปี (เขาเล่สร้างมาตั้งแต่ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สมเด็จพระปิยมหาราชเคยเสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ.๑๐๗และ ร.ศ.๑๐๘) 


ต่อมาวัดท้องกรูด(วัดสันติวราราม) เกิดขาดเจ้าอาวาส อุบาสกอุบาสิกาจึงพร้อมใจกันมานิมนต์ท่านไปอยู่ ท่านเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงรับนิมนต์ ท่านมาอยู่ที่วัดท้องกรูดเป็นเวลาหลายปี จนพระอุปัฌชาย์มอบหมายให้ทำหน้าที่พระอนุสาวนาจารย์ในการบวชกุลบุตร ท่านได้ทำหน้าที่อยู่หลายปี และสิ่งต่างๆที่ท่านได้สร้างขึ้นก็มีหลายอย่างเช่น โรงอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิที่อยู่ เป็นต้น ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท้องกรูด (วัดสันติวราราม) อยู่ประมาณ ๗ ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในภารกิจวงจรชีวิตของสมภาร โอกาสที่จะบำเพ็ญสมณธรรมลดน้อยลง จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส มุ่งหน้าหาความวิเวกสงบสงัดเป็นที่ตั้ง สถานที่ต่างๆที่ท่านได้จาริกธุดงค์ไปอยู่เช่นถ้ำยายละไม (ที่ซึ่งท่านและหลวงพ่อแดง วัดคุณาราม ได้ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานจากพระครูประยุตธรรมโสภิต(ทองไหล ผลผลา) อดีตเจ้าอาวาสวัดละไม) แหลมสอ แหลมเสร็จ น้ำรอบ วัดโพธิ์แหลมสอ วัดโพธิ์บ้านทะเล ท้องตะโหนด ตรอกยวน รูเหล็ด วัดพระคอหัก เกาะแตน เกาะมัดสุม เกาะราบ เกาะฟาน เป็นต้น


 เมื่อท่านปลดเปลื้องสิ่งที่หนักลงจากบ่าแล้ว หลวงพ่อแดงท่านได้สร้างเรือใบขนาดเล็กขึ้นมาลำหนึ่ง ท่านได้อาศัยเรือลำนี้ ข้ามท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เที่ยวธุดงค์รอนแรมหาความวิเวก ฝึกจิตใจให้เหนือวิสัยแห่งโลก อยู่ตามเกาะต่างๆรอบอาณาบริเวณเกาะสมุย บางครั้งก็ธุดงค์ขึ้นไปบนแผ่นดินใหญ่หรือไปบกบ้าง 


เมื่อหลวงพ่อแดง มาพำนักอยู่แถวริมทะเลใกล้เขาพระเจดีย์[เจดีย์แหลมสอเดิมตั้งอยู่บนเขา ใกล้กับวัดแหลมสอในปัจจุบัน ท่านพระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส)เป็นผู้สร้าง ปรมาณต้นปี พ.ศ.๒๔๕๑ ใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ ปี จึงแล้วเสร็จ หลังจากหลวงพ่อเพชร ติสฺโส มรณภาพลง เขาพระเจดีย์ก็รกร้างอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ต่อมาอาจเนื่องมาจากไม่มีสายล่อฟ้า จึงเกิดฟ้าผ่าลงต้องเจดีย์ ทำให้พระเจดีย์ชำรุด] เมื่อหลวงพ่อแดง มาพำนักอยู่แถวริมทะเลใกล้เขาพระเจดีย์ โดยระยะแรกท่านได้สร้างโบสถ์น้ำ ณ สถานที่ใกล้ๆกับที่ตั้งเจดีย์วัดแหลมสอ ในปัจจุบัน แต่ตอมาน้ำทะเลได้พัดเอาทรายมาถมคลองริมทะเล ทำให้ขาดคุณสมบัติของอุทกุกเขป หรือที่เรียกกันว่า "โบสถ์น้ำ"ทำให้ต้องยกเลิกอพัทธสีมา ท่านจึงหันไปพัฒนาบริเวณที่ตั้งวัดแหลมสอในปัจจุบันจนมีถาวรวัตถุ เสนาสนะพอประมาณแก่การปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยเหตุแห่งความกตัญญูกตเวทีของท่าน ที่พยายามดำเนินรอยตามบุรพชนในทางที่ชอบที่ควร ไม่ดูถูกเหยียดหยามในสิ่งที่อุปัฌชาย์อาจารย์ทำไว้ แต่กลับต่อเติมเสริมสร้างให้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อเจดีย์บนเขาที่หลวงพ่อเพชร ติสฺโส ได้สร้างไว้เกิดชำรุดจนเสียสภาพไป ท่านมิได้นิ่งนอนใจยอมลงทุนลงแรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยภูมิลักษณ์ จึงได้ย้ายจุดก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่มาอยู่ริมทะเล ใกล้บริเวณที่เคยเป็นอุทกุกเขปหรือโบสถ์น้ำเดิม(พระเจดีย์องค์ปัจจุบัน) 


เมื่อสร้างเสร็จก็ได้อันเชิญพระบรมธาตุที่พ่อท่านขิก ชาวท่าฉาง ถวายให้หลวงพ่อเพชร ติสฺโส จากเจดีย์องค์เดิมอันชำรุดบนเขาพระเจดีย์มาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์ใหม่ด้วย 





หลังจากทราบประวัติแล้วก็มาดูสถานที่จริงของวัดนี้กันบ้างนะคะ

รถจอดแล้วเราก็เดินไปทางชายทะเลค่ะ จะเห็นเจดีย์แหลมสอสีทองอร่ามสวยงามอยู่ที่ริมทะเลก่อนค่ะ แต่เราเดินไปที่อาคารทางขวามือก่อน เพื่อจะไปบูชาดอกไม้เพื่อนำมากราบที่อาคารด้านหน้าเจดีย์ค่ะ








เราสามารถนำดอกไม้ธูปเทียนมาไหว้ได้ที่อาคารหลังนี้นะคะ จะมีตู้รับบริจาคสร้างอุโบสถ และรูปของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และหลวงพ่อแดง ติสโส ตามภาพเลยค่ะ








เนื่องจากฝั่งที่เราไหว้ เวลาถ่ายรูป ณ ตอนบ่ายนั้นจะย้อนแสงนะคะ เลยเดินไปทางฝั่งทะเลเพื่อที่จะเก็บภาพที่สวยงามชัดเจนกว่าตามภาพเลยค่ะ








จากตัวองค์เจดีย์ หันหลังให้ทะเล จะเห็นอาคารทางฝั่งขวามือตามภาพค่ะ ตามไปดูกันว่ามีอะไรนะคะ








ภายในอาคารก็จะมีเรือของหลวงพ่อแดงอยู่ด้วยค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรือที่ท่านมรณภาพหรือเปล่านะคะ (ที่จริงพี่คนที่พาไปบอกว่า ที่จริงหลวงพ่อแดงท่านจะไม่มรณภาพก็ได้ แต่เหมือนท่านยอมเพราะต้องการแลกกับชีวิตคนอื่นๆ ให้รอดหรือว่าไงเนี่ยค่ะ แต่อันนี้เราไม่คอนเฟิร์มนะคะ)

แต่จะเห็นเรือที่บรรดาชาวบ้านเอามาแก้บนกันเยอะเชียวหละค่ะ เพราะว่าเค้าว่ากันว่า เวลาจะขออะไรจากท่านส่วนใหญ่ก็จะบนกันด้วยกล้วยน้ำว้าหรือไม่ก็เรือน่ะนะคะ








ซึ่งส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านนับถือ นอกจากการเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ก็ยังมีเรื่องเล่าถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านหลายเรื่องราวด้วยกันค่ะ


ข้อมูลจาก //www.oknation.net/blog/songrak/2010/08/03/entry-2

นางเจี้ยว ผู้มีถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบางเก่า เล่าว่าเช้าวันหนึ่งมีเหตุเดินทางไปยังอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช นางได้เห็นหลวงพ่อแดง ติสฺโส บิณฑบาตอยู่ที่อำเภอขนอม ครั้นในวันเดียวกันนั้นได้เดินทางไปยังเกาะราบ และได้พบหลวงพ่อแดง จึงแปลกใจยิ่งนัก จึงได้สอบถามชาวบ้าน ซึ่งต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเช้าหลวงพ่อแดง  บิณฑบาตอยู่ที่เกาะราบมิได้ไปที่ไหน

หลวงพ่อแดงเดินบนผิวน้ำ มีเรื่องเล่ากันว่า ปกติแล้วนั้น หลวงพ่อแดง จะเดินทางด้วยเรือชักใบลำเล็กๆ ของท่าน แต่มีอยู่วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อแดง ติสฺโส กำลังแล่นเรืออยู่กับนายอิ่ม ซึ่งพิการขาเป๋ ขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ระหว่างเกาะกะแตนกับเกาะสมุย เรือของท่านก็บังเกิดล่มจมลง ตรงบริเวณนั้นน้ำจะลึกประมาณไม่น้อยกว่า 7 วา หลวงพ่อแดง  ได้ร้องบอกให้นายอิ่มยืนขึ้น ปรากฏว่านายอิ่มสามารถยืนในน้ำได้ครึ่งร่าง ส่วนหลวงพ่อแดง สามารถเดินบนผิวน้ำได้ 


นายชม โอชารส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลหน้าเมือง มาแอบจับตามองหลวงพ่อแดง ที่ชาวบ้านเล่าขานกันว่า สมัยที่หลวงพ่อแดง ติสฺโส จำพรรษาอยู่ที่วัดน้ำรอบ บริเวณรอบๆ วัดจะมีน้ำล้อมโดยรอบ การเดินทางจะต้องข้ามฟากด้วยเรือ แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อแดง ติสฺโส ท่านข้ามมาโดยไม่ต้องอาศัยเรือ และจีวรไม่เคยเปียกน้ำแต่อย่างใดเลย จึงเป็นที่สงสัยของชาวบ้านยิ่ง จึงเฝ้าจับตามองดูว่า หลวงพ่อแดง ท่านข้ามฟากมาด้วยวิธีการใด  วันหนึ่งผู้ใหญ่ชม โอชารส ซึ่งแอบซุ่มเฝ้ามองดูอยู่ เห็นหลวงพ่อแดง  ยืนอยู่ริมฝั่งวัดน้ำรอบ แต่เพียงพริบตาเดียวหลวงพ่อแดง ก็มายืนอยู่ทางด้านฝั่งเดียวกับผู้ใหญ่ชม โดยที่จีวรไม่เปียกน้ำเลย ครั้นถามไถ่หลวงพ่อแดง ว่าท่านข้ามมาอย่างใด ก็ได้รับคำตอบว่า นั่งเรือมา แต่มองไปก็ไม่พบเรือสักลำ  


นายจันทร์ เพชรศรี ได้ประสบพบมา เมื่อครั้งนำอาหารไปถวายหลวงพ่อแดง ที่วัดแหลมสอ เมื่อเปิดประตูกุฏิไปก็ไม่เห็นหลวงพ่อแดง  จึงเอาปิ่นโตแขวนไว้ที่หน้ากุฏิแล้วนั่งคอยก็ไม่เห็นหลวงพ่อแดง มาสักที จึงได้ไปปลดปิ่นโตเพื่อนำไปไว้ในกุฏิ เมื่อเปิดประตูกุฏิก็เห็นหลวงพ่อแดง  นั่งอยู่ ครั้นถามท่านก็ตอบว่าไม่ได้ไปไหนนั่งอยู่ตรงนี้ตั้งแต่เช้าแล้ว 


การถ่ายรูปหลวงพ่อแดง หากไม่ขออนุญาตท่านเสียก่อน ก็ไม่สามารถถ่ายติดรูปท่านได้ นับเป็นที่แปลกอัศจรรย์ และมีผู้พบประสบมาหลายรายแล้ว 




นอกจากนั้นในเรื่องของการมรณภาพทางน้ำ จากลิงก์เดียวกันก็ได้บอกเล่าไว้ดังนี้ค่ะ

พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) วัดอัมพวัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อดีตเจ้าคณะแขวงอำเภอเกาะสมุย พระเกจิชื่อดังในอดีต ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อแดง ได้เคยกล่าววาจาไว้ว่า "หลวงพ่อแดงถึงจะเก่งอย่างไรก็จะต้องดับทางน้ำ" อีกทั้งหลวงพ่อแดง ก็เคยกล่าวกับนายโสพร ทองมั่น ซึ่งอยู่ที่ตำบลละไม อำเภอเกาะสมุย ว่า"อาตมาจะต้องมรณภาพทางน้ำ" ก่อนหน้าที่หลวงพ่อแดงจะมรณภาพไม่นานนัก

วาจาของพระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร) ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2519 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ได้มีผู้ที่นับถือและเคยช่วยเหลือหลวงพ่อแดงมาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้นิมนต์หลวงพ่อแดงไปฉันภัตตาหารเพื่อเป็นสิริมงคลที่บ้านดอน ซึ่งโดยปกติแล้วหลวงพ่อแดงไม่ค่อยจะรับนิมนต์เรื่องทำนองนี้จากผู้ใด หากครั้งนี้หลวงพ่อแดงได้ชักชวนนายดำ ผิวขำ ลูกศิษย์ท่านมาด้วย

ขณะที่หลวงพ่อแดงชักชวนนายดำนั้น นายอิน เมืองพรหม และนายโธ่ ศรีแสง อยู่ด้วย ซึ่งหลวงพ่อแดงได้กล่าวว่า"คำเอ๋ยเราไปให้พ้นกันเสียที" รุ่งขึ้นวันที่ 6 สิงหาคม ได้เดินทางกลับเกาะสมุย โดยเรือโดยสารพันธนูทอง หลวงพ่อแดงได้พักอยู่ในห้องพิเศษที่ทางเรือจัดไว้ให้เพียงรูปเดียว ส่วนลูกศิษย์ที่ติดตามมาได้พักอยู่หน้าห้อง รวมทั้งนายชั้น ชัยทวัฒน์ ขณะอยู่บนเรือนั้นหลวงพ่อแดงได้ทำมือพลิกคว่ำพลิกหงาย มีผู้โดยสารเรือเห็นกันมาตลอด 
นายชั้นก็เห็นแต่หาเฉลียวใจไม่ คิดเพียงว่าหลวงพ่อแดงท่านใบ้หวย แต่ก่อนที่หลวงพ่อแดงจะเข้าพักในห้องได้หันมาสั่งว่า "คืนนี้นอนก็นอนเถอะ แต่อย่าให้หลับ" นายชั้นสงสัยจึงถามกลับว่า "ทำไมจึงไม่ให้หลับ" หลวงพ่อแดงก็ไม่ตอบเดินเข้าห้องพักไป

กระทั่งเวลาประมาณหนึ่งนาฬิกา เรือโดยสารได้แล่นมาเกิดอุบัติเหตุด้วยเข้าผิดร่องน้ำ ไปเกยชานข้างร่องแล้วพลิกคว่ำลง ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งไม่กี่ไมล์ แต่ด้วยเป็นช่วงเวลาที่ผู้โดยสารต่างนอนหลับจึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 20 คน ในนั้นมีหลวงพ่อแดง และนายคำ ร่วมอยู่ด้วย   เมื่อได้ทำการกู้ร่างของหลวงพ่อแดงขึ้นมา และพยายามช่วยเหลือด้วยการเอาน้ำออกจากร่างหลวงพ่อแดง ด้วยคิดว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่มีน้ำอยู่ในท้องของท่านเลย ต่างไปจากผู้เสียชีวิตรายอื่นที่ล้วนมีน้ำอยู่เต็มท้อง อีกทั้งผิวพรรณยังผ่องใสเหมือนกับท่านยังมีชีวิตเพียงแต่นอนหลับอยู่เท่านั้น  จากสภาพที่เห็น ต่างเชื่อกันว่า หลวงพ่อแดงท่านได้ละสังขารไปก่อนที่เรือจะประสบอุบัติเหตุ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีน้ำในท้องของท่าน และเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยทราบถึงวาระแห่งชีวิต อันเป็นที่หลีกไม่พ้นได้.







วัดต่อไปค่ะกับวัดคุณารามนะคะ

ซึ่งวัดนี้ที่มีชื่อเสียงและได้รับความเคารพจากประชาชน ก็เนื่องด้วยพระภิกษุหนึ่งรูปเช่นกันค่ะ นั่นก็คือ หลวงพ่อแดง ปิยะสีโลนั่นเองค่ะ

หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล วัดคุณาราม(เขาโป๊ะ) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี เดิมชื่อ แดง สีชั้น เป็นบุตรของ หลวงพิทักษ์-นางน้อยหีต สง่าราษฏร์ เกิดที่บ้านตะพ้อ หมู่ 5 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี...

เมื่ออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณีได้ประมาณ 2 พรรษา จึงลาสิกขา ต่อมาได้สมรสกับ นางเขียว ทองทิพย์ ที่บ้านละไม ตำบลมะเร็ต มีบุตรธิดารวม 6 คน ในชีวิตฆราวาสนั้น หลวงพ่อแดง ได้สร้างฐานะครอบครัวจนจัดได้ว่า เป็นครอบครัวที่มีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง เป็นที่ยอมรับของสังคมในสมัยนั้น...

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวยากหมากแพง ท่านได้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและสิ่งของต่างๆที่พอจะช่วยได้ในยุคนั้น ..ต่อมาพอสงครามสงบลง ท่านได้นำเอา นายโรย มาบวชเป็นพระภิกษุ และพร้อมกันนั้นท่านก็ได้บวชด้วย..โดยมี พระครูทีปาจารคุณารักษ์(มี อินฺทสุวณฺโน) เจ้าอาวาสวัดสำเร็จ เจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ 4 ในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ตรงกับปี พ.ศ.2487 นับว่าท่านบวชครั้งที่ 2 เมื่ออายุครบ 50 ปีพอดี ...

พอเข้าพรรษาท่านก็ได้ขึ้นไปปฏิบัติสมถะกัมมัฏฐาน บนถ้ำยาย ที่เชิงเขาหมาแหงน โดยมี พระครูประยุตธรรมโสภิต (ทองไหล สิริวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดละไม เป็นอาจารย์สอนสม๔กัมมัฏฐานให้...ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขายายประมาณ 2 ปี จึงย้ายไปอยู่กับ หลวงพ่อแดง ติสฺโส ที่สำนักสงฆ์หัวแหลมสอ (วัดพระเจดีย์แหลมสอ ในปัจจุบัน) ..

หลวงพ่อแดง ติสฺโส ได้พาท่านออกธุดงค์เพื่อแสวงหาธรรมะที่แท้จริงเป็นเวลา 1 ปีเศษ ท่านจึงได้อำลา หลวงพ่อแดง ติสฺโส กลับมาพัฒนาวัดศิลางูอีก 4-5 ปี หลังจากนั้นท่านได้ออกธุดงค์อีก จนไปพบป่าไม้ที่เงียบสงบมากแห่งหนึ่งที่หาดเฉวง ท่านจึงได้ย้ายจากวัดศิลางู ไปปลูกกุฏิเล็กๆอยู่ปฏิบัติสมถะกัมมัฏฐานอยู่ 3-4 ปี 

ต่อมาทราบข่าวว่าที่ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพมหานคร ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ได้เปิดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น ท่านจึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครทันที และเข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับ ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฝึกจิตให้ได้มาซึ่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนกระทั่งสามารถนั่งสมาธิกำหนดจิตได้นานถึง 15 วัน โดยไม่มีการเคลื่อนไหว ตัวท่านแข็งเหมือนท่อนไม้ ท่านเป็นคนพูดจริงทำจริง ปฏิบัติเคร่งครัด ท่านฉันท์ภัตตาหารเพียงมื้อเดียว คือฉันท์ในบาตรตั้งแต่แรกบวชจนกระทั่งท่านดับสังขาร...

ท่านได้รับการฝึกสอนประมาณ 1 ปี มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในวิชาวิปัสสนาธุระ คณะอาจารย์ที่สอนลงความเห็นว่า สมควรส่งท่านไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตั้งสำนักวิปัสสนาจึงจัดหาที่ดินที่ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย ตั้งเป็นวัดสำนักวิปัสสนา คือ วัดบุญฑริการาม (หรือ วัดพังบัว) เปิดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นศิษย์ปฏิบัติวิปัสสนามากมายทีเดียว ท่านได้ประจำอยู่ที่ วัดบุญฑริการาม(วัดพังบัว) ประมาณ 20 ปี ระยะหลังท่านเกิดป่วยหนักขึ้น 2 ครั้งเกี่ยวกับสังขาร ซึ่งชราภาพกอบกับการคมนาคมสมัยนั้น ทางไปบ้านเฉวงกันดารมาก หมอที่จะรักษาก็ไม่มีเวลา ท่านเจ็บป่วยขึ้นมา ลูกศิษย์ก็ต้องรักษากันตามมีตามเกิด ต่อมาลูกศิษย์และลูกหลานจึงนิมนต์ท่านมาจำพรรษาตลอดไปที่ วัดคุณาราม(เขาโป๊ะ) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านเอง...

ท่านสามารถหยั่งรู้ถึงการแตกดับของสังขารตัวเอง ท่านได้สั่งให้ นายแคล้วกัยนายเพชร ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก ทำหีบศพแบบนั่งขัดสมาธิให้ใบหนึ่ง ท่านสั่งว่า "เมื่อถึงเวลาท่านตายจะได้เข้าไปนั่งสมาธิตายในหีบ ไม่ต้องยุ่งยากศิษย์หาวาเตและลูกหลาน" แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าท่านจะตายตามที่ท่านพูด เพราะคนใกล้ชิดกับท่านเห็นว่าถึงท่านจะอายุมาก แต่ร่างกายของท่านยังแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกประการ ...

พอขึ้นเดือน 5 ท่านก็เตือน นายแคล้วกับนายเพชรอีกว่า ให้รีบทำหีบศพให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเวลาชีวิตของท่านเหลือน้อยเต็มทีแล้ว นายแคล้วกับนายเพชรก็ยังไม่เชื่ออีก จนมาเดือน 5 ข้างแรม ท่านก็เตือนอีก ท่านบอกว่า"เดือน 6 ท่านจะตายแล้ว"แต่ก็ไม่มีใครเชื่อท่านอยู่ดี เพราะในอดีตไม่เคยปรากฏมาก่อน พอท่านมรณภาพลงตามวันที่ท่านบอกเอาไว้ลูกหลานทุกคนก็เสียใจ ที่ไม่เชื่อคำพูดของท่านแต่แรก ...

หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล หรือ พระครูสมถกิตติคุณ ท่านอยู่ในเพศสมณะจนถึงวันมรณภาพ นับเวลาของท่านได้ 29 ปี 8 เดือน ท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2516 ตรงกับ แรม 5 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู รวมสิริอายุได้ 79 ปี 8 เดือน.....

หลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว ลูกศิษย์และลูกหลานจึงได้นำสรีระสังขารของท่านบรรจุในท่านั่งในโลง ซึ่งได้เร่งทำขึ้นภายหลัง ตามลักษณะที่ท่านต้องการและประดิษฐานไว้บนศาลาที่วัดคุณาราม(เขาโป๊ะ) เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของท่านที่ได้เขียนสั่งไว้....ถึงแม้นท่านจะละสังขารไปนานร่วมเกือบ 40 ปีแล้วก็ตาม แต่สรีระสังขารของท่านก็มิได้เน่าเปื่อยแต่อย่างใด


หลังจากรถจอดเรียบร้อย เราก็เดินไปที่วิหารหลังนี้เลยค่ะ ตรงกลางก็จะเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อ โดยด้านหลังก็จะมีสังขารของหลวงพ่อแดงอยู่นะคะ ส่วนทางซ้ายมือจะเป็นพระประจำวันเกิดค่ะ ส่วนทางขวาก็จะมีกล่องรับบริจาคต่างๆ นะคะ








สรีระสังขารของหลวงพ่อแดงค่ะ วัดนี้ชาวต่างชาติมาเยอะพอสมควรเลยหละค่ะ เห็นพี่คนขับบอกว่า จะเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาวต่างชาติว่าเป็นพระมัมมี่น่ะค่ะ แหะๆ








ฝั่งตรงข้ามของพระประจำวันเกิดก็มีวัตถุมงคลให้บูชากลับบ้านด้วยนะคะ








จากนั้นก็เดินทางไปยังวัดต่อไปกันค่ะ นั่นก็คือวัดสำเร็จนั่นเองค่ะ

เข้าซุ้มประตูมาก็จะเจออุโบสถตามภาพก่อนเลยค่ะ แต่วันนั้นเราไม่ได้เข้าไปดูนะคะ เพราะพี่เค้าพาเดินไปด้านหลังก่อนเลย ซึ่งมาหาข้อมูลทีหลังปรากฏว่าที่จริงมีพระประธานของที่นี่ที่มีที่มาที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ

พระประธานศิลายวง พระประธานในอุโบสถวัดสำเร็จ แกะสลักจากหินขาว ที่ชาวเกาะเรียกว่า ศิลายวง จัดเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญอย่างหนึ่ง เป็นพระที่มีแหล่งกำเนิดในมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ที่ได้มาประดิษฐาน ณ เกาะพงัน - สมุย มีความเป็นมาดังนี้

พ่อท่านขิก ชาวท่าฉาง ได้มาพำนักอยู่ที่วัดมะเดื่อหวาน เกาะพงันประมาณ 2-3 ปี โดยมาพร้อมกับ พระดำ ใจกว้าง ชาวเกาะสมุย พ่อท่านขิก เคยเดินธุดงค์ไปพม่า ลังกา มาหลายหน จนช่ำชองในเส้นทางเป็นอย่างดี ท่านมักเล่าชาวบ้านถึงเรื่องพระศิลายวงในเมืองพม่าอยู่บ่อยๆว่ามีลักษณะผิวเนื้องดงาม เป็นสง่า กระทั่งชาวบ้านเกิดศรัทธาอยากได้มาสักการะบูชาในประเทศไทยบ้าง จึงได้ทำการเรื่ยไรเงินเพื่อไปอัญเชิญมาจากประเทศพม่า

ชาวบ้านรวบรวมเงินได้ประมาณ 8-10 ชั่งแล้ว พ่อท่านขิกพร้อมด้วยพระดำ ใจกว้าง พระวาด ชาวท่าฉาง(เป็นญาติกับพ่อท่านขิก) และสามเณรรุ่น ก็ได้ออกเดินทางไปอัญเชิญพระศิลายวงมาจากประเทศพม่า

การเดินทางเริ่มด้วยการนั่งเรือจากเกาะไปขึ้นฝั่งแล้วเดินธุดงค์ไปยังกระบุรี จังหวัดระนอง เมื่อถึงบริเวณฝั่งพม่า ใกล้บ้านปากจั่นขณะพักค้างแรมที่นั่น มีชาวบ้านถึงแก่ความตายด้วยไข้ทรพิษ เมื่อได้รับการนิมนต์ไปไปทำพิธีทางศาสนา พ่อท่านขิกเป็นผู้ชักผ้าบังสุกุลศพ เป้นเหตุให้ท่านติดเชื้อ

การเดินทางต้องชะงักลงเพราะพ่อท่านขิกป่วยด้วยไข้ทรพิษ พอครบ 7 วัน ก็มีอาการผิวหนังปริทั้งตัว แล้วหลุดร่วงลงมา ท่านเกิดอาการร้อนรนจนถึงแก่มรณภาพ ฝังศพพ่อท่านขิกแล้ว พระดำ ใจกว้าง ก็นำพระวาด และสามเณรรุ่น ออกเดินธุดงค์ตามเส้นทางที่พ่อท่านขิกบอกไว้ต่อไป

ระหว่างทางในเขตแดนพม่าได้ถูกพวกโจรปล้นชิงเงินถึง 2-3 ครั้ง เงิน 8-10 ชั่งในสมัยนั้นมีจำนวนมาก จนต้องให้พระวาด และสามเณรรุ่นเป็นผู้แบกถุงเงิน ในทุกครั้งที่ถูกพวกโจรปล้น พระดำ ได้ทำการต่อสู้ขัดขวางจนพวกโจรกระทำการมิสำเร็จ ต้องถอยหนีไป

เดินรอนแรมอยู่ในป่าเขาพงไพรที่แสนธุรกันดารเป็นเวลานาน ในที่สุดก็บรรลุถึงเมืองมัณฑะเลย์ ซื้อหาพระได้ตามต่้องการแล้ว เดินทางต่อไปยังท่าเรือ รอเรือนอก เรือเดินสมุทร เมื่อมีเรือก็จัดการบรรทุกพระศิลายวงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นจำนวนมากไปเมืองไทย แต่เรือนอกจอดเฉพาะที่เกาะสีชัง จึงต้องให้เรือสำเภาจากเกาะพงัน ของ นาย ลิ้มข้ายผั้ง มาบรรทุกพระจากเกาะสีชัง ไปยังเกาะพงันอีกต่อหนึ่ง

พระศิลายวงมาถึงเกาะพงันเมื่อ พศ. 2450 (ร.ศ.126) หลังจากเข้าพิธีสมโภชเบิกพระเนตรพระเป็นเวลา 3 วัน โดยมีพระครูวิบูลย์ธรรมสาร (หลวงปู่เพชร วชิโร) ร่วมในพิธีนี้ด้วยแล้ว ก็แจกจ่ายพระไปตามวัดต่างๆในเกาะพงันและเกาะสมุย
สำหรับที่เกาะสมุยนั้น กล่าวกันว่า เรือบรรทุกพระ จากเกาะพงันมาจอดที่อ่าวโจ่งคร่ำ แล้วลำเลียงแจกจ่าย ไปตามวัดต่างๆ เท่าที่มีข้อมูลคือ วัดปลายแหลม วัดแจ้ง วัดสำเร็จ วัดนาราเจริญสุขฯ

นายเทือม ศรีขวัญ เล่าว่า พระศิลายวง วัดสำเร็จถูกอัญเชิญชักลากไปตามทางสัญจรยุคเก่า คือ จากโจ่งคร่ำผ่านคลอง(ตะ)กั่ว ไปตลิ่งพัง หน้าเมือง แล้ววัดสำเร็จ ส่วนพระที่วัดปลายแหลม หรือวัดแหลมสุวรรณาราม บางท่านว่าปัจจุบันสูญหายไปแล้ว

ในบรรดาพระทั้งหมด พระศิลายวงที่เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสำเร็จ เกาะสมุย มีวรรณะ และพุทธลักษณะที่งดงามที่สุด ทั้งนี้คงเป็นเพราะพระดำ ใจกว้าง ซึ่งภายหลังได้ลาสิกขาบทแล้วรับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำตำบลมะเร็ต ปรากฏในเอกสารเมื่อ พศ.2479 ว่าในปีนั้น ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ มีราชทินนามว่า 'หมื่นพยาธิบำบัด' อยู่แล้วซึ่งเป็นผู้ดำเนินการอัญเชิญพระศิลายวงจากมัณฑะเลย์มายังเกาะสมุยเป็นผู้มีนิวาสสถานอยู่ในละแวกวัดสำเร็จ ท่านจึงคัดเลือกพระองค์ที่สวยสมบูรณ์ที่สุดมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสำเร็จ







จากนั้นเราก็เดินไปทางซ้ายมือค่ะ ผ่านอาคารต่างๆ ตามภาพไปนะคะ









ผ่านที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์พระครูทีปาจารย์ คุณารักษ์ ซึ่งด้านหลังเป็นเรือนรับรองพระอาคันตุกะ ฝีมือหมื่นพยาธิบำบัด ( ดำ ใจกว้าง) โดยมีบางเว็บบอกว่าสร้างมาจากหินปะการังด้วยนะคะ



โดยข้อมูลจาก //www.zoonphra.com/amulet/catalog.php?storeno=s052&idp=30099 ได้บอกเล่าประวัติของท่านไว้ว่า

ท่านพระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโน) อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย รูปที่ 4 และอดีตเจ้าอาวาสวัดสำเร็จ ต.หน้าเมือง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี...เดิมชื่อ มี นามสกุล บุญสิน เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้องทั้ง 9 คน ของ นายสม -นางไหม บุญสิน ..เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2421 "ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน 5 ปีขาล สัมฤทธิศก รศ.97 จศ.1240" ณ บ้านตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี...

ในวัยเด็กได้ศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นกับคุณตาของท่านเอง ต่อมาเมื่ออายุได้ 7 ปี ก็ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนภายในวัดตามสมัยนิยมในสมัยนั้นกับครูที่มาจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จนสามารถอ่านออกเขียนได้...เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ วัดประเดิม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมี พระครูวิบูลยธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์(รักษ์ อินฺทสุวณฺโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า " อินฺทสุวณฺโน"....

หลังจากอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดสำเร็จ ซึ่งท่านพระครูวิบูลยธรรมสาร (เพชร ติศฺโส) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น....ท่านได้ศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของ หลวงพ่อเพชร ติสฺโส เรียนพระสูตรต่างๆจนสามารถท่องจำได้ ท่านมีความขยันหมั่นเพียรและปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด...และได้ร่วมออกธุดงค์รอบเกาะสมุยกับ หลวงพ่อเพชร ติสฺโส และพระครู ศรีฟ้า (คุณพ่อของคุณครูพิศาล ศรีฟ้า) เริ่มออกธุดงค์ที่ป่าช้าวัดสำเร็จ พักตามป่าช้าต่างๆ หลายแห่ง แต่ละแห่งใช้เวลาไม่เท่ากัน 1 คืนบ้าง 2 คืนบ้าง บางแห่งนอนบนหลุมศพโดยไม่รู้ตัว การออกธุดงค์รอบเกาะสมุยใช้เวลาเป็นแรมเดือน เพราะบางแห่งเมื่อไม่สบายก็ต้องกลับมาพักผ่อนที่วัดก่อน มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ...ต่อมาเมื่อเที่ยวจาริกภายในเกาะสมุยโดยรอบครบทุกจุดแล้ว ได้ออกไปสู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ..

หลวงพ่อมี ท่านได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อในต่างจังหวัด อาทิเช่น ไปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี , ชุมพร , ระนอง ,นครศรีธรรมราช , ตรัง และภูเก็ต โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต ได้อยู่จำพรรษาที่วัดมงคลนิมิตร ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตในสมัยนั้นเพื่อเตรียมสืบเรือเดินสมุทร เพื่อจะเดินทางไปประเทศศรีลังกาและอินเดีย การออกธุดงค์ในครั้งนั้นใช้เวลาเป็นแรมปีจึงได้เดินทางกลับมายังเกาะสมุย อยู่จำพรรษาที่วัดสำเร็จ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ตามเดิม...

ต่อมา หลวงพ่อเพชร ติสฺโส ผู้เป็นอาจารย์ได้เล็งเห็นถึงความอุตสาห์ตั่งมั่นในด้านวิริยะอุตสาหะและความศรัทธาในการศึกษา จึงได้ส่งตัว หลวงพ่อมี เข้าศึกษาบาลีต่อใน กรุงเทพฯ ไปประจำอยู่ในสำนักวัดมหาธาตุฯ ซึ่งมีเพื่อนร่วมศึกษาในครั้งนั้นเท่าที่ทราบคือ พระธรรมถาวร อดีตเจ้าคณะ 4 รองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ในสมัยนั้น , สมเด็จพระพุฒาจารย์(โสม)อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ฯ เป็นต้น....ครั้นถึงกำหนดปี่ที่เข้าสอบบาลีใกล้เข้ามา ปรากฏว่า หลวงพ่อเพชร ติสฺโส ผู้เป็นอาจารย์เกิดล้มป่วยอาพาธหนัก ...ท่านจึงได้ตัดสินใจไม่เข้าสอบ กลับมาพยาบาลอาจารย์เพื่อแทนคุณ ยอมสละการเรียน การสอบ การศึกษาในครั้งนั้น....จนในที่สุด หลวงพ่อเพชร ติสฺโส ก็ได้มรณภาพลงในปีนั้นที่วัดประเดิม ท่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นประธานเรื่องศพและงานพระราชทานเพลิงที่วัดสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย เมื่อเสร็จการบำเพ็ญศพ หลวงพ่อเพชร ติสฺโส แล้วท่านได้ประจำอยู่ที่วัดสำเร็จ ตัดสินใจไม่ขึ้นไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ และรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสำเร็จในเวลาต่อมา ประมาณ ปี พ.ศ.2450 ขณะนั้นท่านอายุได้ 29 ปี...

เหตุผลประการสำคัญอีกประการหนึ่งที่ท่านยอมสละการศึกษาของท่านในขณะนั้นก็คือ ท่านคิดถึงอนาคตของเยาวชนเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านในถิ่น จัดสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น โดยท่านเป็นครูสอนเอง ขณะนั้นตามหัวเมืองต่างๆทางกระทรวงธรรมการยังไม่มีโรงเรียนที่จะให้การศึกษาแก่เยาวชน ท่านได้บุกเบิกจัดสร้างโรงเรียนร่วมกับประชาชน 2ตำบลที่วัดสำเร็จปัจจุบันขึ้น 1 หลัง ชื่อ โรงเรียน"เมร็ต หรือ คงคาคีรี"แล้วรวมเฉพาะเด็กชายที่ฝากไว้ที่วัดเมร็ตขณะนั้น กับวัดประเดิม และวัดละไม รวมเด็กประมาณ 50-60 คน เปิดสอนนักเรียนขึ้นครั้งแรกในอำเภอเกาะสมุย เมื่อประมาณ พ.ศ.2450 จนทางราชการยื่นมือเข้าช่วยเมื่อประมาณ พ.ศ.2455 และทำหน้าที่ครูใหญ่อย่างเป็นทางการ เมื่อ ปี พ.ศ.2460 จนถึง วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2480 ได้ลาออกจากราชการ การเป็นครูใหญ่ เมื่ออายุได้ 59 ปี เพราะต้องออกมารับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย รูปที่ 4 โดยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ "พระครูทีปาจารคุณารักษ์" และรับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีเดียวกัน....

ท่านได้ยึดระบบระเบียบอย่างเคร่งครัด จนทำให้ลูกศิษย์มีความประทับใจยึดเป็นแบบอย่าง และเกรงขามไปตามๆกันสำหรับผู้ที่นอกลู่นอกแบบ จนมีชื่อกระฉ่อนไปถึง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่นๆ ในสมัยนั้น....

ท่านพระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโน) ท่านดำรงสังขารจนถึง วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2517 ก็ได้ถึงแก่มรณภาพลง สิริอายุรวม 97 ปี พรรษา 75 ..หลังจากท่านมรณภาพลง ทางวัดและคณะกรรมการได้เก็บสรีระสังขารของท่านไว้บนโรงธรรม ซึ่งท่านดำริให้สร้างเพื่อการเก็บศพโดยเฉพาะ จนถึงวันกำหนดพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 15-19 เมษายน พ.ศ.2532 รวมระยะเวลาทั้งสินจากวันมรณภาพจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ รวม 14 ปี 7 เดือน 23 วัน








หลังจากนั้นเราก็เข้าไปในวิหารหลังนี้ค่ะ

จาก //samui-attractions.blogspot.com/2012/04/samret-temple.html

พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระปูนปั้นยุคเก่าจำนวนมาก เดิมที่ผนัง(ด้านเจดีย์ที่บรรจุอัฐิท่านขรัวพุทธสรณ์) มีรอยเท้าสองรอยประทับเป็นรอยอยู่อย่างรางเลือน และมีร่องรอยปิดทองโดยชาวบ้านผู้ศรัทธา รอยเท้าดังกล่าวเป็นรอยเท้าของท่านขรัวพุทสรณ์ดังที่ชีวิวัฒน์ กล่าวว่า "ที่ผนังข้างริมประตูข้างขวามีรอยเท้าคนกดอยู่ที่ออิฐผนังสองรอย ชาวเกาะนิยมถือว่าเป็นรอยเท้าขรัวพุดษรกดไว้" (หน้า 44) ปัจจุบันผนังพระวิหารได้รับการบูรณะใหม่แม้จะยังมีรอยปิดทองในตำแหน่งที่เคยมีรอยเท้า แต่เพราะผนังเดิมบริเวณนั้นถูกทุบทิ้งแล้วก่อผนังใหม่ รอยปิดทองที่ปรากฏจึงเป็นเพียงการบ่งบอกตำแหน่งที่เคยเป็นที่ปรากฏรอยเท้านั่นเอง










ข้อมูลจาก //www.samui2day.com/travel-samui/


วิหารพระ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด ติดกับพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ มีพระประธานองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๘ ศอก หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาทางด้านซ้ายและขวาของพระประธานด้านละ ๑ องค์ ด้านหน้าพระประธานมีรูปปั้นพระภิกษุโล้น เชื่อกันว่า เป็นรูปปั้นของขรัวพุดสอน ภายในวิหารพระด้านทิศใต้มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีพุทธลักษณะแตกต่างจากที่อื่นๆ กล่าวคือ หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก พระหัตถ์ด้านซ้ายหนุนพระเศียร พระหัตถ์ด้านขวาวางขนานไปกับพระองค์ และหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ภายในวิหารยังมีพระพระพุทธรูปอีก ๗๖ องค์ สร้างด้วยหินปะการัง โดยนำหินปะการังมาแกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูป ฉาบปูนโบราณ พระเกศาทำด้วยหอยเกลียวเล็กๆ ซึ่งพบได้ทั่วไปตามชายหาดนาเทียน หมู่ที่ ๒ ตำบลมะเร็ต ใกล้กับวัดสำเร็จ เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลในเกาะสมุย









ออกจากอาคารมา ก็จะพบกับ เจดีย์บรรจุอัฐิท่านขรัวพุทธสรณ์ จากข้อความที่จารึกบนแผ่นไม้ในวัดสำเร็จ สันนิษฐานว่าท่านพระครูวิบูลย์ธรรมสาร หลวงปู่เพชร ติสโส เป็นผู้สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์ เมื่อประมาณต้นทศวรรษที่ 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ค่ะ







ซึ่งจาก //nathoncity.com/paper/966 ได้บอกเล่าถึงพ่อเฒ่าขรัวพุทธสรณ์ไว้ดังนี้ค่ะ

พ่อเฒ่าขรัวพุทธสรณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขา เรื่อง "เสด็จประพาสแหลมมลายู" วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 ความว่า


"ที่ข้างแหลมเรียกว่า หน้าพระลาน...มีพระเจดีย์เป็นซุ้มคูหาสี่ด้านซ้อนสามชั้นสูงประมาณสามวา อยู่ในกลางที่นั้นองค์หนึ่ง ว่าเป็นที่บรรจุกระดูกขรัวพุดสอน ราษฎรนับถือกัน ถึงปีมาก่อพระทราย ถ้าเจ็บไข้ก็มาตั้งน้ำมนต์"


สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข (สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) ทรงนิพนธ์ถึงขรัวพุทธสรณ์ไว้ในหนังสือ "ชีวิวัฒน์" ตอนหนึ่งว่า


"ท่านขรัวพุดษรเป็นพระมาแต่ครั้งแผ่นดินขุนหลวงตาก"


นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ขรัวพุทธสรณ์มีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี และสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา มีคำบอกเล่าสืบกันมาถึงปูมหลังของขรัวพุทธสรณ์ว่า แต่ครั้งยังเด็กเป็นลูกทาสในเรือนเบี้ย บ้านของนายทาสอยู่ละแวกบ้านหน้าเมืองเกาะสมุย มีหน้าที่เลี้ยงควายให้นายทาส แต่ด้วยความที่เป็นผู้ใฝ่รู้ ระหว่างที่เลี้ยงควายอยู่นั้น มักให้ควายลงไปคลุกโคลนในปลักตามแอ่ง ตามหนอง แล้วใช้โคลนที่ติดตามตัวควายเมื่อกำลังแห้งหมาดเป็นที่ขีดเขียนอักขระหนังสืออยู่เสมอๆ


กระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าว แรงงานทาสได้หยุดล้อมวงกันกินข้าวปลาอาหาร และได้ไปตามขรัวพุทธสรณ์เมื่อครั้งยังเป็นเด็กมากินข้าวด้วยกัน ครั้นมาถึงที่ล้อมวงกินข้าวกันนั้นก็พบว่าพื้นที่แห้งไม่เฉอะแฉะน้ำล้วนถูกจับจองจนหมดสิ้นแล้ว ขรัวพุทธสรณ์จึงจัดการรวบต้นข้าวที่เก็บเกี่ยวรวงข้าวไปแล้ว ผูกเข้าด้วยกันสี่ห้าต้น แล้วขึ้นไปนั่งบนต้นข้าว


ผู้คนในที่ล้อมวงกินข้าวต่างมองด้วยความตะลึง เมื่อขรัวพุทธสรณ์แต่ครั้งเป็นเด็กขึ้นไปนั่งบนนั้นโดยต้นข้าวสี่ห้าต้นไม่ทรุดเอนหรือล้มลง ความในเรื่องนี้ทราบไปถึงนายทาส ซึ่งมีความเชื่อว่า ขรัวพุทธสรณ์คงเป็นผู้มีบุญมาเกิดจึงอนุญาตให้ขรัวพุทธสรณ์ไปอยู่วัด และได้บรรพชาเป็นสามเณร ครั้นถึงวัยอุปสมบทก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อ


หนังสือ "ชีวิวัฒน์" ยังได้กล่าวถึงขรัวพุทธสรณ์ต่ออีกว่า


"คนชาวเกาะสมุยนิยมนับถือว่า มีวิทยาอาคมศักดิ์สิทธิ์ ตลอดการเจ็บไข้จนถึงคนเดินเรือผ่านมาหน้าเกาะสมุยถูกคลื่นลม และบนบานคลื่นลมก็สงบเรียบร้อยไป เมื่อขรัวพุดษรตายแล้ว ราษฎรปลงศพเก็บอัฐิใส่โถแก้วตั้งไว้พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา ยังมีอยู่จนบัดนี้ ชาวเกาะถือว่าถ้าจะไปที่กันดารไปทัพเป็นต้น เชิญเอากระดูกขรัวพุดษรผูกคอไปด้วยอัน 1 เป็นที่นิยมนับถือเป็นอันมาก"


"จดหมายเหตุรายวัน" ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มีข้อความกล่าวถึงขรัวพุทธสรณ์ไว้ว่า


"วันเสาร์ ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2431 ชาวบ้านเรียกวัดมเรศ แต่มีชื่อตั้งอีกชื่อหนึ่งว่า วัดคงคาคีรี เป็นวัดของขรัวพุดสอนอยู่ ราษฎรในแขวงนั้นนับถือเป็นอย่างยิ่ง จะตายแต่เมื่อไรไม่รู้ เล่าเรื่องกันเป็นนิทานว่า ที่สมุยนี้ผีดุ ขรัวพุดสอนมาปราบคนจึงอยู่ได้ รอยตีนก็มี ไหน้ำมันนั่นเล่าว่า ขรัวพุดสอนสั่งไว้เมื่อจะตายว่า ถ้าตัวจุติแล้ว ไหนี้จะผุดขึ้น เดี๋ยวนี้ไหผุดแล้ว มีน้ำมันในนั้น ถามว่าคลื่นลมจัด ให้เอาน้ำมันทาเรือ คลื่นจะสงบ"


น้ำมันในไหนี้ ชาวเกาะสมุยนิยมกันว่า เป็นน้ำมันเสกของขรัวพุทธสรณ์ทำไว้ ถ้าผู้ใดเมื่อยขบและมีบาดแผลเป็นต้น โรคต่างๆ เอาน้ำมันในโอ่งนั้นทาเป็นหาย


วัดมเรศที่กล่าวถึง ปัจจุบันคือ วัดสำเร็จ






เนื่องจากจำนวนคำที่บล็อกแกงค์กำหนดเกินอีกแล้วค่ะ สถานที่อื่นๆ ขอยกยอดไปที่เอนทรี่ถัดไปนะคะ เฮ้ออออออออออออออออออ


1,469,696+2729961=4199657/11821/1008
Create Date :16 ตุลาคม 2558 Last Update :16 ตุลาคม 2558 8:31:33 น. Counter : 6122 Pageviews. Comments :13