bloggang.com mainmenu search


พิณพระจันทร์. ระบำอัปสรา. กรุงเทพฯ : ไฟน์บุ๊ค, 2551.



จากเว็บสำนักพิมพ์


อัปสรา บัณฑิตสาวใหม่หมาด หลังจากเรียนจบคณะโบราณคดี เธอได้สมัครเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ จ. สุรินทร์ ด้วยความหลงใหลในศิลปะเขมร โดยเฉพาะปราสาทหินนครวัดนครธม ซึ่งเธอก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงได้ฝังใจในนครวัดมากเพียงนี้ ระหว่างที่โทรศัพท์เพื่อติดต่อให้คนมารับเธอ อัปสราก็ได้ยินเสียงประหลาดแว่วมา อัปสรารู้สึกแปลกใจจึงได้บันทึกเสียงนั้นไว้

ราเชนทร์ และเพื่อน ๆ มารับอัปสราที่สถานีรถไฟ เพื่อพาเธอไปยังบ้านพักซึ่งเป็นบ้านเช่าของเขา คืนต่อมาเมื่อราเชนทร์โทรศัพท์หาอัปสราอีกครั้ง ทั้งเขาและเธอก็ได้ยินเสียงประหลาดนั้นอีก จนกระทั่งเกิดการพิสูจน์ว่า ตกลงใช่เขาแกล้งเธอหรือไม่

คลื่นโทรศัพท์ได้โยงไปถึงคลื่นประหลาดที่ทำให้เขาและเธอหลุดไปอยู่คนละมิติ อัปสราถูกชายโบราณคนหนึ่งดึงตัวไปอยู่ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วยเขามีความจำเป็นต้องขอร้องให้เธอช่วยเหลือในบางสิ่งบางอย่าง เช่นเดียวกับราเชนทร์ที่ถูกหญิงสาวจากยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ ดึงตัวไปด้วยเหตุผลเดียวกัน
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดอย่ารอช้า จงพลิกอ่านด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน

***********



จากเจ้าของบล็อก


พล็อตเรื่องของระบำอัปสรา เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวที่ทำผิด ลบลู่ศาสนาจึงทำให้ต้องคำสาปพลัดพรากกันถึง 1000 ปี ก่อนจะได้กับมาสมรักกันในที่สุด
พล็อตเรื่องนี้ไม่ใช่พล็อตใหม่ (พล็อตไหน ๆ ในโลกนี้ก็มีคนใช้มาแล้วทั้งนั้น ฮา)

ระบำอัปสรา อ่านชื่อดูพล็อตแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขอมโบราณแน่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ผสมย มีความรู้น้อยมาก ๆ เอาเป็นว่าถ้าใครเขียนอะไรให้น่าเชื่อแล้ว รับรอง ผสมย เชื่อโมดดดดด อิอิ

เรื่องระบำอัปสราเกิดขึ้นถึง 3 ยุค คือ ยุคขอมโบราณ ยุครัชกาลที่ 5 และปัจจุบัน เป็นการเวียนว่ายตามกรรมของตัวละครที่รอวันที่จะกลับมาพบกัน
ตัวละครต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความผิดพลาดที่ตนก่อไว้ และต้องยอมรับกับผลที่เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่ยอมรับก็ทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ตามมา

อัปสรา สาวน้อยแสนสวยราวกับนางอัปสราจากภาพแกะที่ปราสาทหิน เพิ่งจบจากคณะโบราณคดีหมาด ๆ เลือกไปทำงานที่จังหวัดสุรินทร์ เพราะหลงใหลในสถาปัตยกรรมขอมโบราณ แต่ฉากในการทำงานของนางเอก หรือสถานที่ทำงาน แทบไม่กล่าวถึงเลย
ผู้เขียนเขียนถึงนางเอกโดยให้ความเป็นมาว่าเป็นลูกสาวของตำรวจชั้นผู้น้อยกับแม่ค้าขายข้าวปิ่นโต เรียกว่าเป็นครอบครัวคนธรรมดาที่เรียกว่าหาเช้ากินค่ำก็ว่าได้ ซึ่งถ้าไม่บอกถึงอาชีพพ่อแม่แล้ว คนอ่านจะนึกว่าเป็นลูกคนรวยซะอีก เพราะนิสัยดูเป็นคุณหนูไปนิดนึง ประเภทพ่อแม่เลี้ยงแบบไม่ให้ไปไหน (ทั้งที่เรียนโบราณนะ เอิ๊กกก -_-")

ส่วนพระเอก ราเชนทร์ คนนี้จัดอยู่ในประเภทรูปหล่อพ่อรวย (กำลังจะได้แฟนสวย) เรียนมาทางประวัติศาสตร์ศิลป์ หลงใหลศิลปขอมเหมือนกันกับนางเอกเลย (ก็แหงสิ เขามีอดีตร่วมกัน)แต่อาชีพของพระเอกไม่ปรากฏแน่ชัด เดาว่าคงดูแลกิจการของครอบครัว กิจการเท่าที่เห็นมีบ้านเช่าที่หลังหนึ่งให้เพื่อนรุ่นพี่ของนางเอกเช่า อีกหลังให้นางเอกอยู่ มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะเป็ด ก็ไปดูไปแลอยู่แวบ ๆ ส่วนกิจการอื่นไม่ปรากฏ

สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนเขียนในแบบที่มีการปูพื้นของตัวละครค่อนข้างน้อย บรรยายเรื่องราวนั้นสั้น ๆ และน้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถเชื่อได้ว่า
เมื่อพระเอกกับนางเอกเจอกันจะเป็น "รักแรกพบ" หรือ "ความผูกพันในภพก่อน" จึงทำให้คนอ่านไม่ซาบซึ้งใจไปกับตัวละคร รับรู้เพียงแต่ว่า ตอนนี้ตัวละครทำแบบนี้ ๆ นะ แล้วยังไงต่อไปละ แล้วก็จบไป ไม่ลุ้นไม่เอาใจช่วยให้ทั้งสองสมรักกันให้สมกับที่พลัดพรากจากกันมานาน

แต่สำหรับเรื่องข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาเขียนนั้น น่าชื่นชมว่าผู้เขียนเป็นผู้ที่ค้นคว้าหาข้อมูลได้อย่างดีมาก ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ขอมโบราณเกี่ยวกับการสร้างนครธม รวมถึงประวัติศาสตร์ไทยในยุค ร. 5 แต่ถึงจะหาข้อมูลมาดีแค่ไหน ถ้าขาดการบรรยายให้ผู้อ่านได้เห็นถึงภาพที่เราจินตนาการเกี่ยวกับยุคสมัยนั้นแล้วไซร้ มันก็ไม่ต่างกับการอ่านตำราวิชาประวัติศาสตร์ที่แห้งแล้ง และมองไม่เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคก่อนเลย
คนเขียนนิยายควรจะสร้างภาพในจินตนาการออกมา และบรรยายถึงภาพนั้นให้ผู้อ่านได้รู้สึกเสมือนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ มิใช่แค่เป็นคำบอกเล่าเพียงว่า ยุคนั้นมีอะไรแล้วก็จบ นี่คือว่าต่างของหนังสือวิชาการกับนิยายค่ะ ถ้าเพิ่มตรงจุดนี้ได้จะทำให้เรื่องนี้มีความแข็งแรงมากขึ้น


อนุมานว่า ผู้เขียนเขียนนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ประสบการณ์ในการเขียนยังน้อยไปหน่อย แต่แนวคิดและพล็อตของเรื่องนั้นทำได้เยี่ยม การค้นคว้าข้อมูลดีมาก สิ่งที่ขาดก็คือการบรรยายที่สร้่างให้คนอ่านรู้สึกผูกพันและรักตัวละคร ถ้าทำตรงจุดนี้ได้ จะทำให้ "พิณพระจันทร์" คนนี้กลายเป็นนักเขียนที่น่าจับตามองมาก


ขอ ผสมย จับผิด อิอิ
1. ในเรื่องผู้เขียนบรรยายตอนต้นเรื่อง ว่า ปีปัจจุบันคือ ปี 2008 แต่ตอนท้ายกลับเขียนว่าเป็นปี 2546 ซะงั้น หน้าไหนไปค้นดูเอา ขี้เกียจเปิดหนังสือบอก
2. หน้า 125-126 ผู้เขียนบรรยายว่า ตัวละครเข้าไปในห้องทำงานเพื่อ "กด" โทรศัพท์ ดูแล้วเหมือนไม่มีอะไรผิดแปลกไปใช่ไหม แต่บังเอิญว่า ตัวละครตัวนี้เป็นสาวสมัย ร.5 และอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชในยุครัชกาลที่ 5 สมัยที่เมืองไทยเพิ่งเริ่มมีโทรศัพท์ใช้ ซึ่งโทรศัพท์ในสมัยก่อนนั้นเป็นแบบ "หมุน" ค่ะ ไม่ใช่กด ดังนั้นผู้เขียนจึงควรบรรยายว่าหล่อนหมุนโทรศัพท์มิใช่ฤๅ

สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ อาจจะมีบางคนว่า ผสมย จู้จี้จุกจิกเกินไป แต่ถ้านักเขียนเขียนให้ถูกต้องตามความจริงแล้ว คนอ่านก็จะไม่อ่านสะดุด
และสิ่งสำคัญคือเรื่องจะมีความน่าเชื่อถือ และนั่นก็จะเป็นเครดิตของคนเขียนเอง


***********



เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ผสมย ไปเที่ยวอัมพวามาค่ะ เป็นช่วงที่อัมพวามีงานพอดี ชื่องานคือ กาลครั้งหนึ่ง ณ อัมพวา นคราแห่งวัฒนธรรม
มีการแสดงแสงสีเสียงที่สองฝั่งลำคลอง ตอนเช้าวันอาทิตย์มีพิธีตักบาตรทางน้ำก็เลยได้โอกาสทำบุญตักบาตรในวันเกิดเสียเลย
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอวยพรวันเกิดไว้ที่บล็อกหน้าที่แล้วค่ะ
Create Date :22 กันยายน 2551 Last Update :22 กันยายน 2551 0:06:30 น. Counter : Pageviews. Comments :9