bloggang.com mainmenu search

“สะบายดีวันวิวาห์” (Lao Wedding)
ฤานี่คือการอำลาของหนัง หนุ่มไทยกับสาวลาว



บริษัท สปาร์ต้า ฟิล์ม ของ โป๋ย-ศักดิ์ชาย ดีนาน ได้สร้างความฮือฮาให้วงการหนังไทย ด้วยการสร้างหนังไตรภาคที่พูดถึงประเทศเล็กๆที่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิม ธรรมชาติที่สวยงาม จากมุมมองของหนุ่มไทยที่ได้เข้าไปสัมผัสและเกิดเรื่องราวขึ้นในหนัง สะบายดี หลวงพะบาง (2551), ไม่มีคำตอบจากปากเซ (2553) และการกลับมากับเรื่อง สะบายดี วันวิวาห์(Lao Wedding) ในปี 2554


สำหรับ สะบายดี วันวิวาห์(Lao Wedding) ซึ่งจะเข้าฉายในเมืองไทย 2 มิถุนายนนี้ โดย โป๋ย-ศักดิ์ชาย ดีนาน ยังคงทำหน้าที่ เขียนบท-โปรดิวเซอร์ และกำกับภาพยนตร์ เช่นเดิม นำแสดงโดย บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์(หลุดสี่หลุด , The Dog ชิงหมาเถิด , ปายอินเลิฟ, ฝัน-หวาน-อาย-จูบ ละครเรื่อง วายุภัคมนตรา , ไฟรักอสูร ,หัวใจสองภาค,สามหัวใจ) , อาลี่-คำลี่ พิลาวง(สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจากปากเซ และ สะบายดี หลวงพะบาง) และ จุก-ธนิยา อำมฤตโชติ (ภ.เรื่อง ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น , หนีตามกาลิเลโอ ,รถไฟฟ้ามาหานะเธอ)


“โป๋ย-ศักดิ์ชาย ดีนาน” เจ้าของภาพยนตร์เรื่อง "สะบายดี วันวิวาห์" ได้เปิดเผยถึงหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังไตรภาคเรื่องที่ 3 ของ สะบายดีหลวงพะบาง หรือไม่?


“จริงๆเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวละครไม่ได้ต่อเนื่องกัน คำลี่เองถึงแสดง 3 เรื่องแต่เล่นเป็นคนละคาแล็กเตอร์ คนละบุคลิก ผมก็คิดว่ามันคืออีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่าคอนเซ็ปต์มันที่ชัดเจนหน่อยก็คือหนังที่ถ่ายทำในเมืองลาว ความที่มันถูกเรียกจนติดปากไปแล้วว่า สบายดี แล้วอันนี้คือสบายดีภาค 3 ทั้งๆที่เราก็คิดว่าสบายดีหลวงพระบาง มันเป็นความตื่นเต้นของ เราคนไทยที่ไปลาว ไปเห็นเมืองลาวครั้งแรก ได้ไปเที่ยวลาว เราก็อยากถ่ายทอดมาเป็นหนังเดินทางท่องเที่ยว พอเรื่อง ไม่มีคำตอบจากปากเซ เป็นชีวิตช่วงหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจมาจากตอนที่ไปลาวแล้วมีประสบการณ์ แล้วก็มาทำหนัง แต่เรื่องลาวเว็ดดิ้งนี่ เหมือนเราไปเห็นงานแต่งงานที่ลาว เห็นพิธีการการแต่งงาน คือลาวกับภาคอีสานของเรามันมีอะไรคล้ายคลึงกันเยอะแต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างที่แตกต่างกัน คือโดยรวมๆคล้ายกัน แต่งานเค้าก็จะมีรูปแบบบางอย่างอย่างของเรา โต๊ะแขกก็จะติดกับเวที แต่ของลาวเขาจะมีพื้นที่ข้างหน้าเวทีสำหรับเต้น เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของเขา เราก็เลนอยากจะเล่าเรื่อง แต่ทั้ง 3เรื่องก็จะเล่าในมุมของคนนอก อาจจะด้วยความที่เราเป็นคนไทย มันก็จะเล่าเป็นมุมของผู้ชายไทยเข้าไปเจอโลกที่เมืองลาวเจอความรักที่นั่นอะไรอย่างนี้ คอนเซ็ปต์ที่คล้ายกันที่สุดของทั้ง 3 เรื่องก็น่าจะเป็นของคนจากเมืองไทยที่เข้าไปลาวแล้วไปเจอชีวิต เจอเรื่องราวที่นั่น ทั้ง 3 เรื่องมีส่วนตรงนี้คล้ายๆกัน”


ตั้งใจทำหนังเกี่ยวกับลาวไปเรื่อยๆ


“ตอนสบายดีหลวงพระบางพอฉายไปแล้วเรารู้สึกยังอยากทำหนังที่ลาวอีก ยังอยากไปลาวอีก คือเมืองลาวเป็นเมืองที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง สำหรับคนที่เคยไปเที่ยว หรือไปเจอเมืองลาว ก็เป็นเมืองที่ดูธรรมดา เหมือนๆภาคอีสานนี่แหล่ะ เป็นจังหวัดเล็กๆนี่แหล่ะ แต่เป็นเมืองที่เรารู้สึกว่าพอออกมาแล้ว กลับมาบ้านเราแล้ว เราคิดถึง แล้วก็อยากไปอีก อันนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้เราอยากไปทำหนังที่ลาว อยากไปเล่าเรื่องเมืองลาวที่ยังไม่ถูกเล่า ก็เลยไปทำ ไม่มีคำตอบขากปากเซ แล้วก็ต่อด้วย Lao Wedding อันนี้ ไปถ่ายทีเดียว 2 เรื่อง”


การตอบรับจาก “สบายดีหลวงพระบาง” และ “ไม่มีคำตอบจากปากเซ”เป็นยังไง”


“ที่ลาวถือว่าดีทั้ง 2 เรื่อง ด้วยความที่ลาวเขาไม่มีหนังมานานแล้ว ไม่มีหนังที่พูดภาษาตัวเอง หนังที่ถ่ายทำในประเทศลาว เขาก็ตอบรับดี ตอนสบายดีหลวงพระบางมีโรงหนังโรงเดียว ตอนนี้มี 3 โรงที่ ปากเซ สวรรณเขต และ เวียงจันทน์ เป็นพื้นที่เล็กๆแต่ว่าคนที่เวียงจันทน์ก็ดูเยอะ เช็คจาก ไม่มีคำตอบจากปากเซ ตั๋วขายได้ประมาณ ล้านบาท ก็ถือว่าดี เขาก็อยากดู ส่วนในไทยเอง ตอนสบายดีหลวงพระบางนี่ถือว่าดี ส่วนไม่มีคำตอบจากปากเซ นี่ลดลงกว่าเดิม อาจจะเพราะหนังที่ทำหรือเรื่องที่เล่ามันเป็นตลาดกลุ่มเล็กๆ มันไม่ใช่หนังนักเรียนหรือหนังวัยรุ่นที่คนดูหนังโรงส่วนใหญ่จะไปดู หรือเค้าอาจจะรอดูในแผ่นก็ได้ มันไม่ใช่หนังที่ร้อนพอที่เข้าโรงแล้ว ต้องไปดูให้ได้ คือมีคนสนใจอยู่แต่เป็นกลุ่มเล็กๆ”


เรื่องราวที่สร้างขึ้นให้กับหนัง มีที่มายังไง


“คือที่มามัน ถือว่าธรรมดา เป็นประสบการณ์ของเรา อย่าง สบายดีหลวงพระบาง ไปเที่ยวลาวครั้งแรกแล้วประทับใจเมืองลาว ก็จะเหมือน ตัวเรย์ในไม่มีคำตอบจากป่ากเซนั่นแหล่ะ นั่นคือก่อนจะทำสบายดี พอไม่มีคำตอบจากปากเซ นี่ก็ยิ่งง่าย จากประสบการณ์ที่ไปลาว ประสบการณ์ในวงการหนังที่อยู่ที่นั่น เคยไปร่วมงาน เคยไปเจอเหตุการณ์ในงานแต่งงาน แต่เป็นเรื่องไกลตัวกับประสบการณ์การแต่งงาน เพราะไม่เคยแต่งงาน แต่เราก็คิดว่าพอเข้าใจ พอรู้จัก โดยความที่ลาวกับภาคอีสานบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดเล็กๆ เราเข้าใจสังคมของคนเมืองเล็กๆ คนแต่งงานที่ญาติพี่น้องมารวมกันในงานแต่งงาน อยู่ในพิธี อารมณ์ร่วมของคนในครอบครัว เพื่อนฝูงซึ่งเราว่ามันก็คล้ายๆกันกับบ้านเรา”


เรื่องราวของ “สะบายดีวันวิวาห์”


“เป็นเรื่องของคนจากเมืองใหญ่คนหนึ่งไปรู้จักสาวที่ลาว ไปกินเลี้ยงแล้วเมา แล้วผู้หญิง ประคองมาส่งที่โรงแรม ซึ่งในบ้านเราเอง ในสังคมเล็กๆจะรู้จักกันหมด ก็จะพูดถึงกันเข้าใจผิดกัน มองผู้หญิงในทางเสียหายได้ ถ้าผู้หญิงคนนี้เข้าโรงแรมกับผู้ชายโดยที่ยังไม่แต่งงาน อาจมีเรื่องไม่ดี ไม่งามได้ เรื่องความเสียหายหน้าตาของครอบครัวผู้หญิง แล้วผู้ชายก็อยากรับผิดชอบไม่อยากให้ผู้หญิงเสียศักดิ์ศรีตรงนี้ เป็นเรื่องของคน 2 คนที่ยังไม่พร้อมที่จะแต่งงานกัน แต่มีเหตุมีภาวะที่จะแต่งงาน หนังจะเล่าเรื่องความเข้าใจของ 2 คนนี้ก่อนที่งานแต่งงานจะจบลง ซึ่งมันอาจจะพูดถึงสังคมเก่าก็ได้นะ เป็นโลกเก่าสักหน่อย แต่เราว่าที่เมืองไทยเองก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าจุดนี้มันถูกมองข้ามไป ถ้าเรามีลูกสักคน มีหลายสักคน แล้วเขาอยู่กับผู้ชายก่อนยังไม่แต่งงาน ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ทุกคนไม่ได้แฮปปี้หรอก ยิ่งฝ่ายหญิงด้วย แต่ทำอะไรไม่ได้ พอบอกแล้วนั่งเฉยๆแล้วใช้ชีวิตของมันต่อ บอกว่ามันโตแล้ว ทำงานแล้ว ซึ่งคนในเมืองเอง ในไทยเองก็อยากให้มำถูกต้องตามครรลองครองธรรม”






ทำไมถึงเลือกประเด็นการแต่งงาน

“อาจจะเป็นเพราะว่าพอทำ สบายดีหลวงพระบางมันเป็นเรื่องชวนฝัน การตกหลามรักที่นั่น ไม่มีคำตอบจากปากเซ ทำเรื่องเสียดสีวงการหนัง เสียดสีโลกคนทำหนังที่โอกาสทำหนังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พอเรื่องนี้ความคิดในตอนนั้นเราอยากเสนอเรื่องทีมันจริงจังหรือเรื่องที่มันจับจ้องได้หรือเรื่องที่มันชัดเจนไปว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างโลกที่ต้องอยู่ในเมืองลาวของคนเมืองอย่างพระเอกมันเป็นชีวิตจริงได้จริงหรือ จะใช้ชีวิตแบบนั้นได้จริงหรือ ต้องเปลี่ยนอะไรมากขนาดไหน เรารู้สึกว่าความเป็นวัฒนธรรมประเพณีในลาว เห็นการใส่บาตร เห็นการทำบุญอะไรพวกเนี่ย เรารู้สึกว่างานแต่งงานนี้มันชัดในแง่ของวัฒนธรรม ความเป็นสังคมของที่นั่น ก็เลยพูดถึงงานแต่งงานให้เป็นตัวสะท้อนสังคมของเมืองลาว ก็เลยเลือกเป็นงานแต่งงาน”


ทำไมเลือกใช้นางเอกเป็น “คำลี่” ทั้ง 3 เรื่อง


“คือพอเรื่องที่ 2 กับ 3 มันถ่ายต่อกันก็เลยไม่ได้เปลี่ยนนางเอก แล้วเรารู้สึกว่า คำลี่ ก็เป็นนักแสดงที่เปลี่ยนบุคลิกได้ เพราะเขาเล่น 3 เรื่องโดยบุคลิกไม่ได้เหมือนกัน ไม่ได้เล่นเป็นคนเดียวกัน อันแรกเป็นสาวไกด์ โก๊ะๆเป็นไกด์มือใหม่ เรื่องที่ 2 เป็นสาวเมืองนอก หัวสมัยใหม่ สาวลาวยุคใหม่ เรื่องที่ 3 เป็นสาวเมืองเล็กๆซื่อๆ ผู้หญิงเรียบร้อย อยู่ในกรอบประเพณีของคนลาว แล้วโดยนักแสดงในลาวจริงๆที่มีประสบการณ์ที่จะเล่นได้ก็หาใครไม่ได้ ที่นันไม่มีการแสดงให้คนเรียนรู้หาประสบการณ์ ก็เลยเป็นคำลี่ทั้ง 3 เรื่อง”


ขณะที่พระเอกก็เปลี่ยนมาใช้ “บอย ปกรณ์”


“พระเอกนี่ก็เปลี่ยนตามบุคลิกมั้ง เราเห็นบุคลิกตัวละครในวัย 24-25 ที่พร้อมจะใช้ชีวิตแต่งงานจริงๆ คนวัยนี้ยังสนุกกับการทำงาน แล้วพอตัดสินใจต้องแต่งงาน วัยนี้เหมาะกับบอยที่เป็นอยู่ บุคลิกหนุ่มรุ่นใหม่คนเมือง แล้วต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจะปรับตัวยังไงให้เห็นชัดเจน เรารู้สึกว่ามันเหมาะกับบอยที่จะถ่ายทอดตรงนี้ได้ ก็เคยเห็นบอยจากเรื่อง ปายอินเลิฟ รู้จักกันที่นั่น ก็มองเห็นบุคลิกของเขา วิธีคิดของเขา”


ความน่าสนใจของ “สะบายดีวันวิวาห์”


“คนดูจะได้ไปเห็นเรื่องราวความรักที่ซื่อๆใสๆของคนคู่หนึ่ง ในเมืองเล็กๆในวัฒนธรรมของเมืองลาวซึ่งคล้ายๆบ้านเรา ซึ่งผมว่าบ้านเราก็ยังมีอยู่ สิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นหรือลืมบางอย่างไป ในหนังเรื่องนี้ก็จะถูกนำมาให้ได้เจอได้พบ ก๋หวังว่าคนดูจะได้รับสิ่งตรงนี้กลับไป”


ความยากลำบากในการทำหนังเรื่องนี้


“ลำบากในเรื่องการหาทุน เพราะมันไม่ใช่ทุน Studio ไม่ใช่บริษัทใหญ่ ทุนสตูดิโอก็เป็นในบางเรื่อง งบทยอยมา ถ่ายบ้าง หยุดบ้าง งบพร้อมก็ถ่ายต่อ แต่ว่าของเราลำบากกว่าเพราะเราไปลาวรวดเดียว ถ้าถ่ายในกรุงเทพฯถ่ายได้ 4-5 วัน ก็หยุดก็ได้ เตรียมงานต่อ แต่พอไปลาวเราไปเดือนหนึ่งมันรันต่อด้วยค่าใช้จ่ายวันหยุดก็มีเบี้ยเลี้ยงสำหรับทีมงาน ถ้าเงินมาช้าก็จะลำบาก เหมือนทำโน่นทำนี่ลำบาก ตรงนี้แหล่ะ ที่ลำบาก เหมือนยกกองไปต่างประเทศปกติแหล่ะ ต้องถ่ายรวดเดียวให้จบ เพราะไปๆมาๆค่ารถ ค่าโรงแรม ค่าอะไร ก็แพง เป็นกองถ่ายอยู่ที่ลาวเป็นเดือน รันงานตลอดจนจบเรื่องแล้วค่อยกลับมาไทย บางช่วงงบมาไม่ตามแพลน ทำให้การทำงานสะดุดไปบ้าง “


กังวลไหมว่าอาจจะไม่ได้ทำจนจบ


“ระหว่างทำก็กังวลตลอดจะมีงบมาต่อหรือเปล่า ด้วยความไม่แน่ไม่นอนของหนังอิสระแบบนี้ ความจริงก็เป็นอย่างนี้มาทั้ง 3 เรื่อง ถ่ายไป 30% แล้ว 60% แล้วจะมีเงินมาถ่ายต่อหรือเปล่า นายทุนจะให้เงินมาถ่ายต่อหรือเปล่า พอถ่ายเสร็จมันก็จะมีงบโพสต์อีก มีงบโปรโมทอีก แต่มันก็ผ่านของมันไปได้ขนถึงฉาย เป็นอย่างนี้ก็เคยให้สัมภาษณ์ไปว่าเริ่มเหนื่อย เหนื่อยใจด้วย อะไรด้วย เพราะว่าเราทำหนังที่ไม่ได้ทำเงินกลับมาคืนให้นายทุนได้เต็มที่ มันก็เลยรู้สึกว่าอาจจะพอแล้วก็ได้กับหนังเล็กๆแบบนี้ อาจจะทำหนังแบบอื่น วิธีอื่น หรือรอระบบที่มันจะเปลี่ยนแปลงในวงการหรืออะไรไป รอใครเป็นผู้นำเป็นหัวหอกในการสร้างโมเดลที่น่าทำตาม วิธีการที่ทำกับ 3 เรื่องสำหรับเราเองมันเหนี่อยมาก หาทุนเอง เป็นโปรดิวเซอร์เอง วางระบบ จ่ายเงิน ทั้งบริษัทมีอยู่คนเดียวตามงาน ในบริษัทใหญ่ใช้คนเป็นสิบ แต่เราไม่มีเงินจ้าง ต้องทำเองก็เลยเหนื่อย ก็อาจจะพักไปก่อนสำหรับเรื่องนี้ เป็นบทส่งท้ายหนังจากเมืองลาวก็ได้”





การหาทุนอาจจะยากลำบาก แต่ทำไมนายทุนเลือกที่จะมาลงทุนด้วย


“คนทำหนังฝันถึงโลกที่สวยงามทั้งนั้น ไม่ได้ฝันถึงเรื่องที่หนังจะขาดทุน ก็จะคิดว่าน่าจะได้เท่าทุนหรือกำไรนิดหน่อย อีกอย่าง บริษัท ลาวอาร์ท ที่มาร่วมทุน เขามีมุมที่ว่าหนังลาวหายไปนาน 30 กว่าปีแล้ว ของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเริ่มต้นขึ้น ปี 2 ปีเรื่องก็ยังดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีแล้วหลังจากเรื่อง สบายดีออกไป ลาวอาร์ทเองก็ทำหนังเองแต่ยังเป็นหนังแบบฉายโปรเต็กเตอร์ วีซีดีพวกนี้กองละครร้องของหน่วยงานรัฐ เริ่มมีหนังสั้นเกิดขึ้นที่ลาว มีเทศกาลหนังสั้น เราก็ว่าเป็นจุดเริ่มต้นอันหนึ่งสำหรับประเทศเล็กๆ เมืองเล็กๆที่จะทำหนังขึ้นมา ต่อไประบบดิจิตอลที่ทำง่ายขึ้น ถูกลง มันก็อาจจะมีคนทำหนังจากเจ้าอื่นขึ้นมา ซึ่งในมุมของบริษัทลาวอาร์ทเขาก็มอง ว่าจะเป็นการจุดประกายการเริ่มต้นของการทำหนังในลาว”


การสร้างหนังสักเรื่องไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ใช้เงินสูงโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้คืนมาแค่ไหน จะเป็นไปอีกนานแค่ไหน?


“เดี๋ยวนี้ระบบโรงหนังเริ่มจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอล คือหนังเนี่ย หนังเล็กหรือหนังใหญ่เนี่ย ค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ใช้ทุนมากทุนน้อย เวลาไปทำโพสต์มันก็ทำโพสต์ราคาเดียวกัน แล็บคิดราคาเดียวกัน ปริ้นท์ฟิล์มก็คิดราคาเดียวกัน โปรโมทก็ราคาเดียวกัน ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เหมือนกับว่าคุณหาเงินมาได้ 4 ล้าน ก็ต้องหางบโพสต์อีก 4 ล้าน ก็อปปี้ฟิล์มอีก 4 ล้านโปรโมทอีก 4 ล้าน มันเป็นเพราะไม่มีหนังระบบกลางๆขึ้นมา แต่ก็เริ่มมีมาบ้างอย่างเรื่อง ศพไม่เงียบ เป็นหนังกลางๆที่ผ่านมาจะมีแบบฉาย 1 ก็อปปี้กับฉาย 40 ก็อปปี้ในกรุงเทพฯ หนังแบบที่ไม่ใช่หนังที่ทำเงินในกรุงเทพฯ 50 -60 ล้านบาทแล้วแบบไม่ได้ต้องการฉายโรงเดียว ต้องการ 15 โรง 20 โรง ระบบตรงนี้จะเกิดได้กับการฉายหนังในระบบดิจิตอล เดี๋ยวนี้การถ่ายหนังในเมืองไทยถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลกันแล้ว แล้วพอไม่ต้องโบล์เป็นฟิล์ม ไม่ต้องเสียค่าแล๋ปต่าปริ้นต์ฟิล์ม ก็จะประหยัดส่วนนี้ไป หนังเล็กๆไม่จำเป็นต้องซื้อสปอตทีวีอะไรเยอะ เมื่อมีโรงดิจิคอลเพิ่มขึ้น หนังที่ฉายโรงดิจิตอลได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้หนังอินดี้หนังกลางๆจะเกิดขึ้นได้”






ทางลาวมียื่นข้อเสนอให้ไปทำหนังเรื่องต่อไปบ้างไหม


“ที่ลาวยังอยากให้ไปทำหนังอยู่ แต่ตอนนี้มุมที่เล่ามา มุมหนุ่มไทยเข้าไปลาวมันเล่ามา 3 เรื่องแล้ว อาจจะต้องหามุมอื่นเอามาเล่ากับคนดู ไม่อยากทำหนังเรื่องที่ 4 แล้วไปซ้ำอยู่กับวิธีคิดเดิมมุมเดิม เออ..ถ้ามีมุมใหม่ วิธีคิดใหม่ ก็ยังหาพล็อตเรื่องอยู่ ยังไม่ลงตัวอะไร เพราะอุปกรณ์จากที่เคยทำ สบายดีหลวงพระบางเนี่ย ตอนนี้อุปกรณ์ที่ลาวก็มีแล้ว พร้อมแล้ว ถ่ายทำได้ง่ายกว่าตอนเราไปทำ 3เรื่องนี้ ต้องยกคน อุปกรณ์จากนี่ไป ตอนนี้ทำที่ลาวเองก็ได้แล้ว”


มองวงการหนังในไทยเป็นยังไงบ้าง


“เราว่าดีขึ้นเป็นลำดับใน 5 ปีนี้นะ ก่อน 5 ปีนี้จะมีหนังมากมายแบบนี้ที่ไหน เดี๋ยวนี้ไม่ใช่มีแค่ค่ายหลักเม่านั้น มีค่ายใหม่ขึ้นมา มีแบบทำหนังตลาด แบบหาทุนจากเมืองนอก ก็มีทำมาเรื่อยๆ มีทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม จะมีหนังใหม่ๆออกมา ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วด้วยซ้ำไป แล้วก็หลากหลายด้วย ในรอบ 5 ปีนี้วงการหนังไทยพัฒนาขึ้นมาก มีหนังหลายแนว ผู้กำกับรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หนังตลาด หนังอะไรก็ยังทำเงินอยู่ ปีนี้ก็มีหนัง 100 ล้าน ลัดดาแลนด์ก็ 100 ล้าน วงการหนังคึกคักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจริงๆก็เป็นทั่วโลกวีคนี้อาจจะมีหนัง 100 ล้าน อีก 2 วีคหนังคว่ำต่ำกว่า 5 ล้านมันเกิดขึ้นได้หมด วงการหนังก็เลยเป็นวงการที่ คนนอกเห็นมีหนังทำเงินถล่มทลายนี่ ก็เข้ามาทำ แต่เข้ามาก็อาจจะทำเงินน้อยก็ได้ ค่ายใหญ่ๆที่เขามีความพร้อมอาจยึดระยะต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็ถือว่าดีมันมีคนใหม่ๆเข้ามาทำ เพียงแค่เสียดายบางค่าย บางคนเข้ามาทำหนัง ไปเจอหนังบางเรื่องที่ถ่ายเสร็จแล้วเขาไม่ฉาย เพราะไปเจอคุณภาพของคนทำงานที่เขาไปเจอแล้วทำออกมายังไง ซึ่งพวกนี้เข้ามาเขาก็เข็ด ลงเงินไป 7 ล้าน 10 ล้าน ตัดออกมาแล้วดูไม่ได้ต้องทิ้งหนัง ก็เข็ดแล้ว ไม่ทำอีกแล้ว”


มองว่าวงการหนังไทยยังต้องเจอกับอุปสรรคอะไร


“อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่คนดู อยู่ที่คนทำ ว่าทำแล้วตรงใจคนดูหรือเปล่า ถามว่าพร้อมไหมสำหรับวงการหนังไทย บุคลากรก็เยอะ อุปกรณ์ก็ครบ โรงฉายก็พร้อมแล้ว คนทำเองต่างหากที่ทำแล้วคนไม่อยากดู ทำออกมาแล้วคนดูไม่สนุก ซึ่งเราเองก็เป็น ก็พลาดได้ คนไปดูแล้วผิดหวังกับหนังก็มี ก็เกิดขึ้นได้ บทไม่พร้อม การทำงานไม่พร้อม งานออกมาไม่เวิร์ค คือมันสามารถเกิดขึ้นได้หมด คนทำเรื่องหนึ่งออกฮาย ก็เริ่มต้นใหม่เริ่มนับหนึ่งใหม่ เหมือนคนสร้างบ้านสร้างบ้านหลังนี้สวย สร้างหลังต่อไปก็อาจไม่สวยก็ได้ เพราะไม่ได้เอาแปลนเดิมไปสร้าง ซึ่งมันเกิดขึ้นได้”

  • Comment
    *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก