ความต้องการเครื่องปรับอากาศในช่วงนี้ถือว่าสูงมากๆร้านแอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะถ้าเป็นร้านแอร์ขนาดใหญ่ ที่ทั้งจำหน่ายและรับติดตั้งช่วงนี้ก็จัดว่าเป็นช่วงรับทรัพย์กันถ้วนหน้า ทางด้านช่างแอร์ก็ต่างมีคิวงานแน่นจนแทบจะหาเวลาว่างกันไม่ได้เลย
ด้วยความต้องการเครื่องปรับอากาศที่มีมากมายในช่วงนี้ทำให้ช่างแอร์บางคนอาจจะใช้วิธีลัดเพื่อให้ขั้นตอนในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศถูกรวบรัดตัดตอนให้ใช้เวลาน้อยลงไปจากเดิมเพื่อจะได้รีบไปให้บริการลูกค้ารายต่อไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่มักจะถูกข้ามหรือตัดออกไป ในระหว่างการดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ ขั้นตอนที่มักถูกข้ามหรือตัดออกไป คือขั้นตอนของการทำสุญญากาศในระบบเครื่องปรับอากาศ ด้วยปั๊มสุญญากาศ Vacuum Pump หรือขั้นตอนที่ในวงการเครื่องปรับอากาศเรียกว่า "การแวคคั่ม"
ช่วงหน้าร้อนนี้ ผู้เขียนได้รับคำถามหนึ่งจากผู้ใช้ทางบ้าน เป็นคำถามในแนวเดียวกัน ที่ถูกถามมาจากผู้ใช้หลายท่าน ผ่านทางหลายๆช่องทาง
ซึ่งคำถามที่ว่านี้ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจาก...การติดตั้งแอร์ใหม่ แต่ช่างที่มาดำเนินการไม่ได้ทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศ
ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ถามคำถามแนวนี้เข้ามาหลายท่าน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงไม่ใช่น้อย เพราะช่วงนี้นับว่าเป็นคิวทองของช่างแอร์ส่วนใหญ่ ซึ่งมีงานเข้ามาเยอะมาก งานที่มีเข้ามามากอาจทำให้ช่างแอร์บางราย เร่งรีบในการทำงานมากจนเกินไป จนทำให้ต้องข้ามขั้นตอนในการติดตั้งไป เพื่อร่นระยะเวลาให้ใช้เวลาน้อยลงและเสร็จงานเร็วขึ้นในแต่ละที่
การข้ามขั้นตอนที่สำคัญ อย่างขั้นตอนการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญากาศ นับว่ามีความเสียงสูงในการใช้งานระยะยาว
เพราะในระบบทำความเย็นแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศที่ใช้กันในอาคารบ้านเรือน , เครื่องปรับอากาศรถยนตร์ หรือในตู้เย็น ตู้แช่ ก่อนที่จะจ่ายสารทำความเย็นให้เข้าสู่ระบบ จะต้องมีการดูดอากาศออกจากระบบด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม หากอากาศไม่ถูกนำออกไปจากระบบอย่างถูกวิธี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำความเย็น และอายุการใช้งานที่สั้นลง
เพื่อให้ผู้บริโภค ได้รู้ทันช่างแอร์(ส่วนน้อย)ที่มักง่าย ผู้เขียนเลยขอหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทความชุดนี้
อันดับแรก สำหรับหลายๆคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจ ว่าการทำสุญญากาศในระบบเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ คืออะไร และต้องทำไปเพื่ออะไร
ซึ่งผู้เขียนก็จะขออธิบายเรื่องการทำสุญญากาศ ให้โดยคร่าวๆ
การทำสุญญากาศ หรือการแวคคั่ม Vacuum เป็นขั้นตอนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การทำสุญญากาศจัดว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งขั้นตอนของการทำสูญญากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นในงานระบบเครื่องทำความเย็นแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความเย็นของตู้เย็น-ตู้แช่ หรือระบบปรับอากาศในรถยนต์ การทำสุญญากาศถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสิ้น และในระบบของเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งในอาคารบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก อย่างเช่น 9000 BTU ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีกำลังทำความเย็นเป็นแสน BTU ก็ต้องมีการทำสุญญากาศภายในระบบ
การทำสุญญากาศในระบบทำความเย็น มีจุดประสงค์ก็เพื่อต้องการนำเอาอากาศและความชื้นที่เข้าไปในระบบ(ในที่นี้คือท่อนำสารทำความเย็น)ออกไปทิ้งนอกระบบ ก่อนที่สารทำความเย็นจะถูกปล่อยเข้าสู่ระบบและเริ่มทำงาน
อากาศและความชื้นที่เข้าไปในระบบ ส่วนใหญ่จะเข้ามาในระหว่างที่ดำเนินการติดตั้ง เพราะในขณะที่ทำการติดตั้งและเดินท่อ เราไม่สามารถสร้างสภาวะแวดล้อมโดยรอบให้เป็นสุญญากาศได้ ระหว่างติดตั้งอากาศที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงเข้าไปภายในท่อนำสารทำความเย็น ทำให้เราต้องมาดำเนินการทำสุญญากาศในภายหลัง เพื่อนำเอาอากาศที่เข้าไปก่อนหน้านี้ออกมาทิ้ง
เหตุผลที่ไม่ต้องการให้มีอากาศอยู่ในระบบทำความเย็น ก็เพราะ...อากาศที่เข้าไปในระบบทำความเย็นก็คืออากาศที่เราหายใจเข้าไปนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปในอากาศก็จะประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจนประมาณร้อยละ 78 แก๊สออกซิเจนประมาณร้อยละ 21 และแก๊สอาร์กอนประมาณร้อยละ 0.93 แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ประมารร้อยละ 0.03 นอกจากนั้นอีกประมาณร้อยละ 0.04 เป็นแก๊สอื่นๆตามปกติแล้วจะไม่มีอากาศแห้ง เนื่องจากอากาศทั่วๆไปเป็นอากาศชื้นที่มีไอน้ำปนอยู่ มีความชื้นที่ปนอยู่ก็คือละอองไอน้ำขนาดเล็กที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ความชื้นจัดว่าเป็นตัวปัญหา หากมันเข้าไปอยู่ภายในระบบทำความเย็น และไม่ได้ถูกนำออกมาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ความชื้นมีหน่วยวัดเป็นไมครอน ความชื้นในระบบที่ยอมรับได้จะต้องต่ำกว่า 200 ไมครอน แต่หากความชื้นยังคงหลงเหลือในระบบมากกว่ากำหนด ก็จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น
อันดับแรกสุดคือ ความชี้นที่หลงเหลืออยู่ในระบบทำความเย็น เป็นตัวขัดขวางประสิทธิภาะในการทำความเย็น ทำให้เครื่องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
และเมื่อความชื้นที่หลงเหลืออยู่ในระบบ ไปเจอกับสารทำความเย็นในระบบก็จะทำปฏิกิริยากัน จนเกิดเป็น กรดไฮโดรคลอริค ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเกลือที่สามารถกัดกร่อนโลหะต่างๆได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายกับระบบท่อนำสารทำความเย็น อีกทั้งน้ำมันหล่อลื่นที่อยู่ในระบบซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นชิ้นส่วนกลไกลภายในคอมเพรสเซอร์ ตัวน้ำมันหล่อลื่นเองยังมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นได้ดี และเมื่อมาเจอกับกรดไฮโดรคลอริค น้ำมันหล่อลื่นก็จะมีความหนืดมากขึ้น จนอาจก่อตัวเป็นตะกรัน ส่งผลให้ความสามารถในการหล่อลื่นของน้ำมันลดลงอย่างมาก และทำให้คอมเพรสเซอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง
ความชื้นที่มีอยู่ในระบบทำความเย็นหากมีอยู่ในปริมาณมากพอก็อาจจะทำให้ระบบอุดตันได้ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพรา...เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงานสารทำความเย็นที่ถูกอัดออกมาก็จะเดินทางเข้ามาแผงควบแน่น(แผงคอยล์ร้อน)และออกจากแผงคอยล์ร้อนไปยังตัวควบคุมสารทำความเย็น
สำหรับในตู้เย็น-ตู้แช่และเครื่องปรับอากาศภายในอาคารบ้านเรือน ตัวควบคุมสารทำความเย็นที่ใช้ เรียกว่า Capillary tube หรือท่อรูเข็มซึ่งเป็นท่อที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กมาก และเมื่อสารทำความเย็นไหลผ่าน Capillary tube ก็จะเกิดการระเหยหรือเข้าสู่กระบวนการเกิดความเย็นทันทีสารทำความเย็นที่ระเหยในระบบ จะมีอุณหภูมิต่ำมากและถ้ามีความชื้นหลงเหลือในระบบมากพอความชื้นเหล่านั้นก็จะจับตัวกันเป็นผลึกน้ำแข็ง และอาจทำให้ Capillary tube เกิดการอุดตันและในที่สุดกระบวนการทำความเย็นก็จะหยุดชะงัก
ภาพ Capillary tube หรือ ท่อรูเข็ม
เบื้องต้นก็ได้ทราบกันไปแล้ว ว่าอากาศและความชื้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับระบบทำความเย็น หากอากาศและความชื้นที่มีอยู่ในระบบ ไม่ได้รับการกำจัดออกอย่างถูกวิธี ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้
แต่การจะนำพาอากาศออกไปจากระบบทำความเย็น เพื่อให้อากาศและความชื้นถูกนำออกไปอย่างสมบูรณ์ จะต้องทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยใช้ระยะเวลาอย่างเหมาะสม
วิธีการนำอากาศและความชื้นออกจากระบบทำความเย็น วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือการดูดอากาศออกโดยใช้เครื่องทำสุญญากาศ หรือปั๊มทำสุญญากาศ Vacuum Pump ซึ่งวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การดูดอากาศออกจากระบบโดยใช้ปั๊มทำสุญญากาศเป็นวิธีการมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และมีใช้กันมานานแล้ว
ขั้นตอนหลักๆในการทำสุญญากาศด้วยปั๊มสุญญากาศ หรือการแวคคั่ม Vacuum
ในเครื่องปรับอากาศรุ่นปัจจุบัน สำหรับเครื่องที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ทางผู้ผลิตได้ทำการอัดสารทำความเย็นมาให้จากโรงงานเรียบร้อยแล้ว โดยบรรจุในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit โดยมีปริมาณเพียงพอต่อการติดตั้งใช้งานด้วยท่อที่ให้มาพร้อมเครื่อง (ส่วนใหญ่จะให้มายาว 4 เมตร)
หลังจากติดตั้งตัวเครื่องเสร็จ และได้เดินท่อนำสารทำความเย็นรวมถึงเชื่อมต่อระบบเสร็จแล้ว ก่อนที่จะเปิดวาล์วให้สารทำความเย็นไหลเข้าระบบ ต้องมีการทำสุญญากาศในส่วนของท่อที่ได้ติดตั้งไว้ก่อน จึงจะปล่อยสารทำความเย็นเข้าระบบได้
การทำสุญญากาศ หรือการดูดอากาศออกจากระบบ หลักๆที่ต้องใช้คือ ปั๊มทำสุญญากาศ Vacuum Pump และ เกจแมนิโฟลด์ หรือเกจวัดน้ำยา
เครื่องทำสุญญากาศ Vacuum Pump สำหรับงานระบบทำความเย็นมี 2 ชนิด
1. เครื่องทำสุญญากาศแบบธรรมดา (Low Vacuum Pump) ใช้สำหรับดูดอากาศเพื่อทำสุญญากาศในระบบทำความเย็นทั่วไป เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยก่อน อีกทั้งตัวเครื่องยังมีราคาถูก และเพียงพอต่อความต้องการในการใช้ทำสุญญากาศให้กับระบบทำความเย็นทั่วๆไป เครื่องทำสุญญากาศแบบธรรมดานี้จะมีความสามารถในการดูดอากาศให้เป็นสุญญากาศ ได้ต่ำสุดที่ 25-27 inHg (นิ้วปรอท) ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่เป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ (0 abs) แต่ก็ถือว่าเพียงพอในงานเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ แบบทั่วๆไป
ภายหลังจากการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศแบบธรรมดา ความชื้นในระบบจะยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็มีเหลืออยู่ในปริมณที่ไม่มาก ซึ่งความชื้นที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย จะถูกจัดการด้วยอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Dryer Filter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการกรองสิ่งแปลกปลอมและดูดความชื้นในระบบเครื่องปรับอากาศ
2. เครื่องทำสุญญากาศแบบประสิทธิภาพสูง (High Vacuum Pump) เป็นเครื่องทำสุญญากาศที่มีประสิทธิภาพในการดูดสูง สามารถดูดอากาศออกจากระบบ ทำให้ระบบเป็นสุญญากาศได้ในระดับที่ตำไปกว่า 29-30 inHg (นิ้วปรอท) ซึ่งในระดับนี้เป็นระดับที่ต่ำมากๆจนถึงระดับที่เป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ (0 abs) ซึ่งเมื่อในระบบเป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ ความชึ้นและไอน้ำใน จะกลายเป็นแก๊สและถูกดูดออกไปจนแทบจะไม่มีความชื้นเหลืออยู่อีกเลย เครื่องแบบประสิทธิภาพสูงนี้ สามารถนำมาใช้กับงานระบบทำความเย็นได้ทุกประเภท แต่ตัวเครื่องมีราคาค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องแบบนี้ในงานที่เป็นกรณีเฉพาะ หรือมีใช้ในศูนย์บริการขนาดใหญ่ที่มีการเข้มงวดสูงในด้านมาตรฐานการให้บริการ
ในส่วนของระยะเวลาในการเดินเครื่องทำสุญญากาศ ส่วนใหญ่ให้อิงตามคู่มือการติดตั้งที่แนบมากับเครื่อง แต่ทั้งนี้จะอิงตามเวลาที่ผู้ผลิตแจ้งมาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งเครื่องทำสุญญากาศที่ใช้ ก็อาจมีกำลังในการดูดที่ไม่เท่ากัน ควรใช้การสังเกตค่าที่แสดงบนเกจแมนิโฟลด์ ซึ่งระหว่าที่ทำสุญญากาศ ค่าที่แสดงต้องอยู่ในสเกลที่บอกค่าสุญญากาศ ซึ่งมีหน่วยเป็น inHg (นิ้วปรอท)
โดยส่วนใหญ่ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ทำสุญญากาศ อยู่ที่ประมาณ 30 - 45 นาที
เบื้องต้น ก็ได้ทราบกันไปแล้ว ว่าการทำสูญญากาศด้วยเครื่องปั๊มสูญญากาศ ในระบบเครื่องทำความเย็น และ เครื่องปรับอากาศ ทำไปเพื่ออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ซึ่งแม้ว่าขั้นตอนในการทำสูญญากาศ จะเป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีความจำเป็น แต่ก็มีหลายครั้ง ที่ขั้นตอนนี้ถูกละเลยหรือถูกข้ามไป ในรายที่ดีหน่อยก็ใช้วิธีลัด โดยการนำสารทำความเย็นในระบบมาเป็นตัวไล่อากาศออกจากท่อ
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ หรือไม่เข้าใจว่าการใช้สารทำความเย็นไล่อากาศออกจากระบบ หรือการไล่อากาศ คืออะไร และมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายเบื้องต้น เกี่ยวกับการไล่อากาศให้ผู้ที่ยังไม่ทราบได้เข้าใจ
การใช้สารทำความเย็นไล่อากาศในระบบ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การไล่อากาศ" เป็นเทคนิควิธีลัด ที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ วิธีนี้ถูกนำมาใช้แทนขั้นตอนการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศ ซึ่งการไล่อากาศเป็นวิธีลัดที่ช่วยให้ประหยัดเวลาในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นิยมใช้กับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่เป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง และชุดท่อที่ใช้ติดตั้ง ก็เป็นชุดท่อที่ใหม่แกะกล่องซึ่งไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน
การไล่อากาศจะทำภายหลังที่ติดตั้งชุดเครื่องปรับอากาศเข้าที่ และมีการเดินท่อนำสารทำความเย็นเชื่อมต่อ ระหว่างชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit และชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้นผู้ติดตั้งจะทำการขันเพื่อเปิดวาล์วสารทำความเย็น โดยเปิดเพียงวาล์วของท่อทางอัด Discharge Line (ท่อเล็ก) ปล่อยให้แรงดันสารทำความเย็นไหลเข้าระบบ ผ่านชุดคอยล์เย็น แล้วกลับมารออยู่ที่วาล์วอีกด้านหนึ่งซึ่งยังไม่ถูกเปิด คือด้านท่อทางดูด Suction Line (ท่อใหญ่)
เมื่อสารทำความเย็นถูกเปิดเข้าระบบจากด้านท่อทางอัดแล้ว จึงทำการต่อเกจวัดแรงดันเข้าที่วาล์วลูกศร ซึ่งอยู่บริเวณเซอร์วิสวาล์วด้านท่อทางดูด แล้วใช้วาล์วที่เกจควบคุมการปล่อยสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศภายนอก แรงดันของสารทำความเย็นที่ถูกปล่อยออกมาจะนำพาอากาศที่ค้างอยู่ในระบบ และความชื้น(บางส่วน) ออกมาสู่บรรยากาศภายนอก
การปล่อยสารทำความเย็นเพื่อไล่อากาศออกจาระบบ จะอาศัยการปล่อยแบบเป็นจังหวะ หยุด/ปล่อย โดยระยะเวลาและจำนวนครั้งในการปล่อยจะไม่มีกำหนดเป็นรูปแบบตายตัว ไม่มีระบุในตำราทฤษฎี แต่จะอาศัยการประมาณจากความชำนาญของช่าง
ในส่วนของสารทำความเย็นที่ถูกนำมาใช้เพื่อไล่อากาศ เป็นสารทำความเย็นที่ถูกอัดมาให้ในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit ซึ่งถูกอัดมาพร้อมกับตัวเครื่องโดยโรงงานผู้ผลิต
การไล่อากาศด้วยสารทำความเย็น หากนำมาใช้ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ผลิตออกมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ยกชุด ไม่เคยถูกติดตั้งใช้งานมาก่อน การนำไปติดตั้งใช้งานใช้ท่อตามความยาวที่ผู้ผลิตให้มา โดยไม่มีการเชื่อมต่อท่อใดๆทั้งสิ้น เมื่อถูกติดตั้งใช้วิธีการไล่น้ำยาแทนการทำสูญญากาศด้วยปั๊ม ซึ่งทำในระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เหมะสม อากาศที่ค้างอยู่ในระบบเกือบทั้งหมดจะถูกแรงดันสารทำความเย็น ดันออกจากระบบสู่บรรยากาศภายนอก แต่อาจจะมีความชื้นบางส่วนหลงเหลืออยู่ ซึ่งหากในช่วงที่ติดตั้งมีการดูแลด้านความสะอาดที่ดี ความชื้นที่หลงเหลืออยู่ก็จะมีเหลืออยู่ไม่มาก และสุดท้ายความชื้อที่มีอยู่ไม่มากนี้ ก็จะถูกดักจับดูดซับด้วยตัวกรองความชื้นที่มีชื่อว่า Dryer Filter
หากเป็นไปตามเงือนไขที่กล่าวมา ส่วนใหญ่กว่า 80% จะไม่มีปัญหาในการใช้งานระยะยาว เครื่องปรับอากาศจะทำงานได้ปกติ มีความเย็นและใช้งานได้ตามปกตินานหลายปี
แต่ในบางรายที่ใช้การไล่อากาศกับเครื่องปรับอากาศชุดเก่าและท่อเก่า ที่ผ่านการติดตั้งใช้งานมาก่อน หรือเป็นเครื่องปรับอากาศชุดใหม่ ที่ไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาดในระหว่างการติดตั้ง รวมทั้งในกรณีที่มีการเชื่อมต่อท่อให้ยาวขึ้นกว่าเดิม การไล่อากาศถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่นเกิดการอุดตันในระบบ อันมีสาเหตุมาจากความชื้นที่เหลืออยู่ในระบบมากจนตัวกรอง Dryer Filter ไม่สามารถจัดการได้หมด
การใช้สารทำความเย็นไล่อากาศในระบบ หรือ "การไล่อากาศ" หากนำมาใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา ซึ่งเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-22 ยังถือว่าพอรับได้
แต่...หากนำไปใช้กับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410a ซึ่งเป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ กรณีนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่ง ให้นำวิธีลัดอย่างการไล่อากาศเข้ามาใช้ เพราะสารทำความเย็น R-410a มีลักษณะทางการยภาพต่างไปจากสารทำความเย็น R-22 อีกทั้งน้ำมันหล่อลื่นในระบบเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ยังเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ง่ายกว่า การติดตั้งอย่างผิดวิธี ไม่มีการทำสูญญากาศในระบบอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันในระบบได้ง่าย ซึ่งการซ่อมแซมก็จะทำได้ยากกว่าและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบที่ใช้ R-22
แต่ถึงอย่างไร ผู้เขียนก็ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้ใช้วิธีการไล่อากาศด้วยสารทำความเย็น แทนการทำสูญญากาศด้วยปั๊ม เพราะวิธีดังกล่าวเป็นขั้นตอนลัด ถือเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ยังไม่มีการศึกษาและวิจัยอย่างจริงจัง และยังไม่มีมาตรฐานออกมารับรองอย่างเป็นทางการ
ซึ่งการออกให้บริการติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกครั้ง ผู้ให้บริการควรใส่ใจในมาตรฐานการให้บริการ และให้บริการโดยยึดตามวิธีการที่เป็นหลักปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการอย่ามีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายไป
โดย: ดี IP: 115.87.109.183 18 มิถุนายน 2556 22:09:39 น.
โดย: enableSonic IP: 110.164.86.97 28 มิถุนายน 2556 14:07:54 น.
แล้วตอนอากาศที่โดนน้ำยาไล่ออกมาถึงวาวล์ตรงท่อใหญ่ เราจะเปิดวาวล์ที่ท่อใหญ่ด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่แล้วต้องเปิดไหม ถ้าเปิดเปิดได้ได้ตอนไหนครับ
โดย: เกือบเข้าใจ IP: 115.87.36.60 28 มิถุนายน 2556 15:11:12 น.
ซึ่งการไล่อากาศจะต่องเปิดน้ำยาจากท่อทางอัดหรือท่อเล็กเพียงท่อเดียว ปล่อยให้แรงดันน้ำยาวิ่งไปทั่วระบบ แล้วมาปล่อยออกที่เกจซึ่งต่อไว้บริเวณด้านท่อทางดูดหรือท่อใหญ่ครับ
โดย: AC&EE 24 กรกฎาคม 2556 0:39:35 น.
ถึงจะมั่นใจว่าเครื่องจะมีอายุการใช้งานได้ปกติ
โดย: สมศักดิ์ IP: 118.174.106.147 25 เมษายน 2557 11:12:36 น.
โดย: มือใหม่ IP: 171.99.73.62 9 พฤษภาคม 2557 7:47:58 น.
ถ้าถามในสิ่งที่ควรพิจารณา ในมุมมองผู้ใช้คือ แอร์เครื่องที่จะย้ายนั้นมีอายุการใช้งานมานานแล้วหรือยัง คุ้มค่าพอที่จะนำไปติดตังใช้งานในที่ใหม่หรือเปล่า
โดย: AC&EE 9 พฤษภาคม 2557 19:01:07 น.
โดย: สันติ IP: 101.108.29.25 27 พฤษภาคม 2557 10:18:46 น.
คุณมีสิทธิ์อะไร? มาสั่งให้ผมลบบทความชุดนี้ออก
บทความชุดนี้ ผมเพียงนำเสนอข้อมูล ที่เป็นวิธีทีหนึ่งซึ่งไม่ได้มีการกล่าวถึงในเอกสารทางวิชาการ แต่เป็นวิธีที่พบเห็นการนำมาใช้ในปัจจุบันอยู่ ซึ่งเนื้อหาที่ผมเขียนมา เพื่ออธิบายและไขข้อสงสัยให้กับผู้ข้องใจที่พบเห็นการใช้วิธีดังกล่าว
อ่านบทความให้จบ และทำความเข้าใจให้ดีครับ ผมเองไม่ได้มีการสนับสนุนให้ใช้วิธีนี้เลย และผมยังจะต่อต้านการใช้วิธีนี้ด้วยซ้ำ
โดย: AC&EE 15 มิถุนายน 2557 23:57:13 น.
ขอบคุณสำหรับบทความเพื่อผู้บริโภคนะครับ
โดย: นกน้อย IP: 171.101.93.13 3 กรกฎาคม 2557 18:36:13 น.
โดย: นกน้อย IP: 171.101.93.13 3 กรกฎาคม 2557 18:41:58 น.
โดย: ผ่านมาเจอ IP: 182.53.41.64 27 กรกฎาคม 2557 7:15:46 น.
โดย: ช่างเถอะ IP: 171.98.14.110 5 กันยายน 2557 15:43:04 น.
โดย: tongpoon IP: 125.24.127.235 4 ตุลาคม 2557 10:15:05 น.
โดย: chaibb IP: 203.153.160.143 16 ตุลาคม 2557 14:27:55 น.
ที่สนใจและจัดให้บทความนี้เป็นบทความดีๆ
บทความที่ผมได้นำเสนอนี้ มันจะดีจริงหรือไม่นั้น อยู่ที่ผู้อ่าน ว่าจะนำมันไปใช้ในลักษณะไหน
หลายอย่างบนโลกนี้ มีทั้งสองด้าน เหมือนดาบสองคม อยู่ที่ว่าจะนำไปใช้ในทางไหน
ส่วนตัวผมนั้น ยืนยันจุดเดิม คือเจตนาในการเขียนบทความ ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งหลักๆก็เพื่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน
แต่เมื่เป็นประโยชน์กับฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมมีอีกฝ่ายที่เสียประโยชน์ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นช่างแอร์หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงแอร์ ที่มักใช้วิธีนี้ในการหาประโยชน์อยู่
ผมเองก็ทำมาหากินในธุรกิจแวดวงของแอร์มาพอสมควร ที่ผ่านมาก็เห็นมาเยอะ กับคนกลุ่มน้อยที่ใช้วิธีลัด จนทำให้เกิดปัญหา และภาพลักษณ์ทางลบก็พลอยกระทบกับคนในแวดวงเดียวกันที่ปฏิบัติถูกต้องมาโดยตลอด
โดย: AC&EE 20 ตุลาคม 2557 22:38:30 น.
ผมนั่งเฝ้าตลอด ไม่เห็นมีการแวคคั่มอะไร ติดเสร็จก็จะไปติดที่อื่นต่อ ผมก็ใช้มาตลอด แม้จะไม่เปิดใช้ทุกวัน มาเมื่อคืนแอร์เป็นน้ำแข็ง ไม่รู้เป็นมานานหรือยังแต่สังเกตุเหมือนกันว่าว่ามันไม่ค่อยเย็นเหมือนตอนติดใหม่ๆ ตอนน้ำแข็งเกาะจะได้ยินเสียงแป็กๆ เป็นช่วงๆ
มาหาข้อมูลดูถึงเชื่อ ปัญหาคงเกิดจากฝีมือช่าง และการไม่ได้แวคคั่ม เพราะเพื่อนผมติดยี่ห้อเดียวกันใช้จะสิบปีแล้วยังไม่มีปัญหา เลยเรียกช่างที่จะติดบ้านใหม่มาดู ช่างบอกว่าน้ำยาแอร์รั่วเหลือแค่ยี่สิปอนด์ และมีท่อร้าวที่เกิดจากการขันเกลียวแน่นไป ช่างซ่อมพร้อมแวคคั่มเรียบร้อยแอร์เย็นฉ่ำเลย
โดย: กิตติ IP: 223.205.201.10 25 มกราคม 2558 15:21:42 น.
โดย: Jc IP: 14.207.153.194 23 กุมภาพันธ์ 2558 22:09:58 น.
ถ้าแอร์ที่ติดมาเสร็จแล้วช่างไม่ได้แว็คคั่มให้ หากหลังจากที่ตืดเสร็จ ใช้งานได้ปกติ แอร์ยังเย็นอยู่ ก็ถือว่าโชคดีที่ไม่เจอปัญหา ใช้ต่อไปได้ไม่ต้องปล่อยน้ำยาหรอกครับ
แต่ที่เน้นๆให้ต้องแว็คคั่ม เพราะมันเป็นมาตรฐานการติดตั้งที่ยอมรับกันในระดับสากล เป็นการรับประกันว่าความชื้นในระบบถูกทำให้หมดลงอย่าถูกต้องแล้ว ป้องกันการเกิดปัญหาจากความชื้นในภายหลัง
โดย: KanichiKoong 24 กุมภาพันธ์ 2558 22:23:07 น.
โดย: ต่อศักดิ์ IP: 14.207.174.36 19 เมษายน 2558 16:52:05 น.
กรณีที่เราถ่ายน้ำยาแอร์ R410A ออกและต้องทำเวคคั่มใหม่ ต้องขันน็อต 6 เหลี่ยมปิด ก่อนหรือเปล่าครับ หรือทำสูญญากาศได้เลยครับ
โดย: kajornsak IP: 1.20.53.241 20 เมษายน 2558 10:16:36 น.
โดย: piyawat IP: 110.77.148.196 24 เมษายน 2558 16:50:48 น.
มีโอกาสเป็นไปได้ว่าความชื้นในระบบทำให้ประสิทธิภาพลด
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็ต้องถ่ายน้ำยาของเก่าทิ้ง แล้วแว็คคั่มระบบใหม่ 30-45 นาที จากนั้นก็ให้เติมน้ำยาใหม่จากถังใหม่ ใส่เข้าให้เต็ม
แต่อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่ความชื้นในระบบจากการไม่ได้แว็คก็เป็นได้ครับ ถ้าหากใช้แอร์ขนาดเล็กไป แล้วเปิดช่วงกลางวันในตอนนี้ หลายที่มักจออาการคอมเดินตลอดก็มี
ลองดูก่อนนะครับว่าขนาดแอร์กับขนาดห้อง สัมพันธ์กันไหม เพราะถ้าพื้นที่ห้องอยู่ในระดับที่เกือบจะเกินขีดความสามารถของแอร์
ตัวอย่างเช่น...สมมติว่าเป็นกรณีที่ห้อง 19 ตร.ม. ใช้แอร์ 12,000 BTU ซึ่งแอร์ 12,000 BTU โดยส่วนมากจะมีขีดจำกัดที่ออกแบบไว้ คือห้องไม่เกิน 20 ตร.ม.
คือถ้าเป็นแบบกรณีนี้ แม้ติดตั้งมาถูกต้อง มีการแวคคั่มครบตามขั้นตอน แต่หากเปิดใช้งานช่วงตอนกลางวันในหน้าร้อนแบบนี้ ก็อาจจะเจอกรณีที่เรียกว่าแอร์ไม่สู้แดด ทำงานไม่ได้ตามความเย็นที่ตั้ง
โดย: KanichiKoong 25 เมษายน 2558 2:11:22 น.
น็อต 6 เหลี่ยมที่ว่า คือส่วนของตัววาล์วข้อต่อท่อน้ำยา(เซอร์วิสวาล์ว) ใช่หรือเปล่าครับ
ถ้าใช่
ตรงนี้เป็นวาล์วของระบบ ซึ่งจะใช้เปิดหลังจากติดแอร์เดินท่อแล้วเสร็จ และทำสุญญากาศระบบเสร็จ
ในกรณีที่คุณถ่ายน้ำยาของเดิมออก คือถ่ายทิ้งทั้งระบบ ก็ไม่ต้องไปปิดวาล์วที่ส่วนนี้ครับปล่อยมันออกมาทั้งระบบโดยคุมปริมาณการปล่อยออกมาทีละน้อยๆด้วยชุดเกจที่ต่อเข้าไป เพื่อไม่ให้น้ำมันในระบบพุ่งทะลักออกมาตามแรงดัน
พอน้ำยาในระบบหมดเกลี้ยงไม่เหลือแล้ว ก็เอาสายเกจมต่อเครื่องแว็ค เปิดวาล์วที่ตัวชุดเกจให้สุด ส่วนวาล์วทองเหลืองที่ขันด้วย 6 เหลี่ยมก็ยังคงเปิดจนสุดทั้งสองท่อ แล้วจึงแว็คคั่มต่อได้เลย เพราะเราต้องการดึงเอาอากาศและความชื้นทั้งหมดในระบบออกมา
โดย: KanichiKoong 25 เมษายน 2558 2:20:43 น.
ขนาดของเครื่องแว็คคั่มที่เลือก โดยปกติจะดูจากความสามารถในการแว็คคั่มเป็น ลิตร/นาที ยิ่งมากก็ยิ่งทำสุญญากาศได้โดยใช้เวลาน้อยกว่า
ซึ่งถ้าใช้งานกับการติดตั้งแอร์บ้านขนาดไม่ใหญ่มาก พวกแว็คคั่มปั๊มแบบโรตารี่ ที่ขายกันในปัจจุบัน ขนาด 90-120 ลิตร/นาที ก็พอใช้ได้แล้วครับ ขนาดกำลังดี พกพาไปหน้างานก็สะดวก
แต่ถ้าจะให้ดีสุด ควรจะใช้ แว็คคั่มปั้มแบบ 2 ชั้น ซึ่งประสิทธิภาพสูงกว่า เหมาะกับงานใหญ่ๆ หรือในบางเคสที่ระบบมีความชื้นอยู่มากๆ บางครั้งแว็คคั่มปั๊มแบบชั้นเดียวอาจจะทำได้ไม่ดีพอ
โดย: KanichiKoong 25 เมษายน 2558 2:32:12 น.
โดย: ต่อศักดิ์ IP: 14.207.140.45 1 พฤษภาคม 2558 16:35:05 น.
โดย: นะ IP: 27.130.90.25 30 มิถุนายน 2558 19:47:48 น.
โดย: นะ IP: 27.130.90.25 30 มิถุนายน 2558 19:49:35 น.
โดย: Nakanta IP: 125.27.79.123 18 กรกฎาคม 2558 22:28:04 น.
ถ้าใช้สมองตีความคุณจะเห็นผลดี ต่อผู้บริโภค มากกว่าผลเสีย ทำให้รู้เท่าทันว่าเมื่อเจอช่างแอร์ทำแบบนี้ คือเข้าข่ายไล่อากาศด้วยน้ำยา ซึ่งถือเป็น "งานกาก"
และคนโกงมันไม่ต้องมานั่งอ่านความรู้ยืดยาวแบบนี้หรอกครับ พวกนี้มันสมาธิสั้นเกินกว่าจะทำความเข้าใจกับตัวหนังสือได้ ถ้ารักงานกากจริง เจอช่างห่วยๆ ด้วยกันมันคุยกันถูกคอจิบเบียร์ไปแล้วทำตาม จะง่ายกว่าป่าว
มองกว้างๆ ครับ เจ้าของบล๊อคนี้ถือว่าเป็นช่างแอร์ระดับเพชรสำหรับผม หายาก เพราะมีทั้งความรู้ที่ไม่ปลอม และใจที่รักการเผื่อแผ่ อธิบาย โดยไม่รู้จักเบื่อ ผมติดตามมานานพอสมควร
โดย: แฟนคลับ Kanich.......มีปัญหาไม๊ ? IP: 192.99.14.34 18 พฤศจิกายน 2558 22:58:48 น.
การนำเสนอข้อมูลในบทความชุดนี้ ที่ต้องอธิบายในรายละเอียด ก็เพราะว่าต้องการให้ผู้บริโภคที่ไม่ใช่ช่างแอร์ ได้ทราบและเข้าใจว่าวิธีดังกล่าว ไม่ใช่สิงที่ถูกต้องในงานติดตั้งแอร์ตามมาตรฐานครับ
ขอบคุณที่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูล และขอบคุณที่เข้ามาติดตามบล็อกของผมนะครับ
โดย: KanichiKoong 21 พฤศจิกายน 2558 9:31:39 น.
โดย: สมศักดิ์ IP: 49.230.22.122 22 เมษายน 2559 20:00:41 น.
การแว็คไปก่อน 5-10 นาที ให้เข็มของเกจสวิงลงมาในระดับสุญญากาศ แล้วปิดวาล์วหยุดแว็คเพื่อตรวจดูที่เกจว่าค่าที่แสดงมีการตีกลับหรือไม่ ถ้ารอเป็นระยะเวลาสักพักหนึ่งแล้วเห็นว่าเข็มไม่ตีกลับ (ไม่รั่ว) ก็แว็คต่อได้ครับ โดยแว็คต่อไปให้ได้ระยะเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 นาที
แต่การทดสอบรอยรั่วระบบแอร์ด้วยสภาวะสุญญากาศ หากระบบมีการเชื่อมท่อหลายจุด ต้องทิ้งระยะเวลาไว้นานหน่อยนะครับ บางครั้งมีรอบซึมแบบตามด แต่ทิ้งไว้แค่ระยะเวลาสั้นๆมันอาจจะไม่เห็นว่าเข็มของเกจตีกลับก็ได้
โดย: KanichiKoong 23 เมษายน 2559 11:49:03 น.
ผมต้องการถ่ายนำยาแอร์เก่าออกจากระบบทั้งหมด แล้วแว็กคั่ม เติมนำยาแอร์ใหม่ ทั้งหมด
คำถาม
1.เวลาปล่อยนำยาแอร์ทิ้งทั้งหมดจะมีนำมันคอมเพรสเซอร์ออกมาด้วยไหมและถ้าออกมาจะทำให้ชิ้นส่วนระบบเสี่ยมสภาพเร็วไหมครับ
สมมุติว่าถ้ามีนำมันคอมเพรสเซอร์ออกมาจะมีวิธีเติมอย่างไร ขนาดเท่าไร หรือไม่ต้องเติม เติมแต่นำยาแอร์อย่างเดียว
2.อาการเข็มเกจกระดิกขึ้นลงในช่วงสั้นๆ วัดหลังจากเครื่องทำงานแล้ว 20-30 นาที แบบนี้เกิดจากอะไร ผมเช็คนำยาหลายๆอาทิตย์ ครั้งนึง ก็ปกติ แอร์ก็ยังเย็นอยู่
3.ถ้าล็อกนำยาแอร์แล้วทำสูญญากาศ กับปล่อยนำยาทิ้งทั้งระบบแบบไหนดีกว่ากัน แต่ไม่รู้จะทำแบบไหนดี ช่วยแนะนำด้วยครับ ผมห่วงเรื่องนำมันคอมเพรสเซอร์ ห่วงระบบจะเสี่อมเร็ว
4.ปัจจุบัน เครื่องแว๊กคั่ม ยี่ห้อไหน และขนาดไหน ที่ราคาคุ้มเงินครับ ใช้แล้วมัน ok หน่อย
5.เครื่องมือบานแฟร์ ยี่ห้อไหน ใช้งานได้ดีครับ บานแล้วไม่รั่ว ผมเห็นมีหลายมาก เลือกไม่ถูกเลย
6.การเปลื่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ มีวิธีเปลื่ยนอย่างไรครับ ผมเห็นช่างเขาเชื่อม แล้วก็กลัวคอมเพรสเซอร์ระเบิด
7.ท่อนำยาใช้แบบสำเร็จรูปหรือแบบม้วนกว่ากัน และควรใช้หนาเท่าไรถึงจะทน และดี ครับ
ขอรบกวนผู้รู้ช่วยตอบทีครับ
โดย: oil IP: 27.55.24.137 4 พฤษภาคม 2559 1:57:13 น.
1.เวลาปล่อยนำยาแอร์ทิ้งทั้งหมดจะมีนำมันคอมเพรสเซอร์ออกมาด้วยไหมและถ้าออกมาจะทำให้ชิ้นส่วนระบบเสี่ยมสภาพเร็วไหมครับ
สมมุติว่าถ้ามีนำมันคอมเพรสเซอร์ออกมาจะมีวิธีเติมอย่างไร ขนาดเท่าไร หรือไม่ต้องเติม เติมแต่นำยาแอร์อย่างเดียว
ตอบ ใช่ครับ การปล่อยแรงดันน้ำยาที่อยู่ในระบบแอร์ออกมาสู่บรรยากาศภายนอก ย่อมมีน้ำมันปะปนออกมาพร้อมกับแรงดันที่ถูกปล่อยออก การปล่อยน้ำยาที่ถูกต้องจะค่อยๆปล่อยออกมาทีละน้อยครับ เพราะการเปิดให้แรงดันถูกปล่อยออกมาที่ละน้อยๆ น้ำยาก็จะพาน้ำมันออกมาในปริมาณไม่มาก ไม่ส่งผลโดยตรงต่อการทำงาน แต่ถ้าช่างมักง่ายขี้เกียจรอ ปล่อยน้ำยาให้พุ่งออกเต็มแรง น้ำมันก็จะไหลออกมามากตามแรงดันที่ถูกปล่อยออก เมื่อน้ำมันไหลออกมามาก จนไม่พอใช้ในการหล่อลื่นและระบายความร้อนให้คอมเพรสเซอร์ ท้ายที่สุดอายุการใช้งานคอมเพรสเซอร์ก็จะสั้นลงครับ
ถ้าเติมน้ำมัน เขาจะเติมตั้งแต่แรกก่อนจะนำคอมเพรสเซอร์มาประกอบครับ ใช้การตวงด้วยกระบอกแก้วตวงปริมาตร ให้มีปริมาตรตามสเปคที่กำหนด แล้วให้คอมเพรสเซอร์ดูดน้ำมันเข้าไปครับ ส่วนเรื่องการมาเติมน้ำมันเพิ่มภายหลังไม่ค่อยจะทำกัน เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าตอนนี้มีน้ำมันเหลือในระบบทั้งหมดเท่าไหร่ เติมเพิ่มไปจนมีมากเกินก็ไม่ดี
2.อาการเข็มเกจกระดิกขึ้นลงในช่วงสั้นๆ วัดหลังจากเครื่องทำงานแล้ว 20-30 นาที แบบนี้เกิดจากอะไร ผมเช็คนำยาหลายๆอาทิตย์ ครั้งนึง ก็ปกติ แอร์ก็ยังเย็นอยู่
ตอบ ช่วงที่แอร์เริ่มทำงาน แรงดันที่วัดจากด้านของท่อแก็ส(ท่อใหญ่) จะไม่ค่อยนิ่ง อาจจะมีการขึ้นลงบ้านเป็นปกติ ต้องรอสักพักจึงจะนิ่งครับ และบางครั้ง อุณหภูมิแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะมีผลให้ค่าแรงดันที่อ่านได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
อันที่จริงถ้าแอร์ยังเย็นก็อย่าไปวัดน้ำยามันบ่อยๆเลยครับ เสี่ยงที่ยางโอริงในวาล์วลูกศรจะเสื่อมเร็วอีกด้วย
3.ถ้าล็อกนำยาแอร์แล้วทำสูญญากาศ กับปล่อยนำยาทิ้งทั้งระบบแบบไหนดีกว่ากัน แต่ไม่รู้จะทำแบบไหนดี ช่วยแนะนำด้วยครับ ผมห่วงเรื่องนำมันคอมเพรสเซอร์ ห่วงระบบจะเสี่อมเร็ว
ตอบ ถ้าน้ำยาของเดิมในระบบ ไม่มีการปนเปื้อน หรือมีความชื้นผสมอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยทิ้งครับ ปั๊มดาวน์ล็อกเก็บไว้ใช้ต่อได้
4.ปัจจุบัน เครื่องแว๊กคั่ม ยี่ห้อไหน และขนาดไหน ที่ราคาคุ้มเงินครับ ใช้แล้วมัน ok หน่อย
ตอบ ต้องดูที่ลักษณะงานใช้งาน และงบประมาณวางไว้ที่ระดับไหนด้วยครับ เพราะเดี๋ยวนี้แว็คคั่มที่มีขายในท้องตลาดก็มีให้เลือกหลากหลาย เริ่มต้นราคาพันหกพันเจ็ด เป็นแบบแว็คชั้นเดียวขนาดเล็ก แบบนี้ก็มีไว้ใช่้งานแบบเล็กๆน้อยๆหรือเอาไว้ติดบ้านแบบใครที่เอาไว้ทำงานแอร์ในบ้านเองก็พอได้อยู่ แต่ถ้าเอาไว้ทำงานออกให้บริการติดแอร์ ก็ควรเลือกให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยเพราะจะได้แว็คระบบได้ในปริมาตรที่มากกว่า
ส่วนถ้าให้บริการในระดับที่เป็นศูนย์บริการมีมาตรฐาน ก็อาจจะใช้เป็นแบบเครื่องแว็คสองชั้น ซึ่งจะแว็คระบบได้เร็วและแว็คได้ดีกว่า เหมาะกับงานที่ต้องตรงตามสเปค เหมือนที่ร้านผมเองก็ใช้แบบแว็คสองชั้นอยู่ครับ แต่ราคามันค่อนข้างแพงอยู่เหมือนกัน อันนี้จะใช้แบบไหนลองดูก่อนว่าขนาดงานที่ทำมันอยู่ในสเกลระดับประมาณไหน
5.เครื่องมือบานแฟร์ ยี่ห้อไหน ใช้งานได้ดีครับ บานแล้วไม่รั่ว ผมเห็นมีหลายมาก เลือกไม่ถูกเลย
ตอบ อยู่ที่งบประมาณเลยครับ ถ้าเอามาใช้ทำงานกับระบบแอร์ของตัวเอง หรือเริ่มต้นรับงานเล็กๆน้อยๆ ของไม่แพงที่มีขายอยู่ทุกวันนี้ ก็พอใช้ได้ครับ แต่ถ้าจะเอาเรื่องความทนทานและความน่าเชื่อถือ ที่ร้านผมใช้ของ Imperial (USA.) ยี่ห้อนี้เครื่องมืองานแอร์เป็นที่เชื่อมั่นกันมาหลายรุ่นแล้ว
6.การเปลื่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ มีวิธีเปลื่ยนอย่างไรครับ ผมเห็นช่างเขาเชื่อม แล้วก็กลัวคอมเพรสเซอร์ระเบิด
ตอบ ถ้าไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคยฝึกปฏิบัติโดยมีผู้รู้คอยควบคุมดูแล และไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือครบ ไม่แนะนำให้ทำเองครับ มันไม่ได้ง่ายๆแบบที่จะเขียนขั้นตอนให้เสร็จสรรพแล้วคนที่ไม่เคยทำมาก่อนจะเอาไปทำเองได้อย่างปลอดภัย
7.ท่อนำยาใช้แบบสำเร็จรูปหรือแบบม้วนกว่ากัน และควรใช้หนาเท่าไรถึงจะทน และดี ครับ
ตอบ ทนไม่ทนให้ดูเรื่องความหนาของทองแดงครับ
แบบสำเร็จรูปมักจะเป็นท่อแบบหนามาให้ ยาวราวๆ 4 เมตร หุ้มฉนวนพร้อม ภ้าคุณเอาไปติดในงานที่ใช้ท่อไม่ยาวไปกว่า 4 เมตร ก็ใช้ได้สบายๆ
ส่วนท่อทองแดงแบบม้วนใหญ่ มันมีอย่างหนาอย่างบาง หนึ่งม้วนจะยาวราวๆ 15 เมตร ท่อแบบนี้ต้องซื้อยางหุ้มท่อแยก
ถ้ารับงานใหญ่ติดแอร์แบบอื่นๆด้วย ก็ต้องซื้อแบบนี้คุ้มกว่า แต่ให้เอาอย่างหนาจะดีสุด เพราะอย่างบางถ้าคนติดไม่มีฝีมือพอ เวลาดัดท่ออาจจะบี้หรือรั่วได้ง่ายๆ แถมท่อบางก็ต้องคอยระมัดระวังมากด้วยเวลาทำงาน รวมๆกับความไม่ทนแล้วผมเลยไม่คิดจะใช้แบบบางครับ
โดย: KanichiKoong 4 พฤษภาคม 2559 6:37:49 น.
โดย: oil IP: 27.55.26.152 4 พฤษภาคม 2559 12:05:55 น.
ผมหาดูตามเว็บมีแพง ยี่ห้อเลย value coolmax imperial Ridgid เลือกไม่ถูก ไม่เคยใช้
โดย: เสริมศักดิ์ IP: 171.7.190.205 8 พฤษภาคม 2559 14:50:15 น.
ชุดบานแฟร์ รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆในงานท่อแอร์ หลักๆที่ผมให้ทีมช่างใช้เป็นเครื่องมือประจำ จะใช้เป็นของ Imperial เสียส่วนใหญ่ครับ
เพราะสมัยก่อน ยุคพ่อผม เครื่องมือเหล่านี้ล้วนใช้ของ Imperial (USA) และในปัจจุบันมันยังคงอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งที่ผ่านมาราวๆเกือบ 30 ปีแล้ว บางตัวยังคงใช้งานได้ปกติดีครับ แต่พวกเครื่องมือยุคก่อนปัจจุบันได้ปลดประจำการหมดแล้ว เพราะผมคิดว่ามันเปลี่ยนรุ่นแล้วด้วย บางอย่างอาจจะใช้งานได้ไม่ค่อยสะดวกเพราะผ่านงานมามากแล้ว และเครื่องมือเหล่านั้นก็ถึงจุดที่เรียกว่าทำงานให้เราได้เกินคุ้มแล้วด้วย เลยเปลี่ยนชุดใหม่ไปไม่กี่ปีนี่เอง
แต่ยังคงให้เครื่องมือที่สำคัญๆ และใช้สมบุกสมบัน เป็นของ Imperial
ถ้าซื้อไว้ใช้งานเอง ไม่ได้เอาไปออกรับงานอะไร ของถูกๆก็ได้เหมือนกันครับ ชุดบานแฟร์ของจีน ทังชุด(บรรจุในกล่องสีน้ำเงิน) ราคาราวๆ 8XX-9XX ตามร้านอะไหล่แอร์ใหญ่ๆน่าจะมี
แบบนี้ก็พอใช้ได้อยู่ครับ เห็นมีคนมาซื้อไปใช้งานเยอะพอสมควร
ผมว่าถ้าไม่ได้ใช้งานหนักๆหรือระดับงานมืออาชีพ มันก็พอจะใช้งานได้โอเคอยู่นะ
โดย: KanichiKoong 20 พฤษภาคม 2559 20:46:05 น.
โดย: จารุวรรณ IP: 171.6.133.218 7 มิถุนายน 2559 20:47:35 น.
โดย: ธนกร ศรีจันทร์ IP: 223.204.241.86 23 กรกฎาคม 2559 7:21:21 น.
โดย: ป๋า IP: 110.77.136.134 4 พฤษภาคม 2560 15:22:09 น.
พอน้ำยาในระบบหมดเกลี้ยงไม่เหลือแล้ว ก็เอาสายเกจมต่อเครื่องแว็ค เปิดวาล์วที่ตัวชุดเกจให้สุด ส่วนวาล์วทองเหลืองที่ขันด้วย 6 เหลี่ยมก็ยังคงเปิดจนสุดทั้งสองท่อ แล้วจึงแว็คคั่มต่อได้เลย เพราะเราต้องการดึงเอาอากาศและความชื้นทั้งหมดในระบบออกมา
การแว็คคั่มเช่นนี้จะเป็นการแว็คคั่มเอาน้ำมันคอมเพลศเซอร์ออกมาด้วยใช่หรือไม่ครับ
และถ้าเอาน้ำมันออกมาด้วยอย่างที่ผมเข้าก็แปลว่าต้องเติมน้ำมันเข้าไปใหม่ แต่ก็ไม่รู้ต้องเติมเท่าไหร่อย่างตอบคุณ oil ความคิดเห็นที่_34
แต่ถ้าไม่เอาน้ำมันออกมาด้วยก็สบายไปครับ
โดย: อนิรุทธ IP: 139.99.104.95 6 มีนาคม 2563 15:43:23 น.