bloggang.com mainmenu search


ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย แต่มาในยุคปัจจุบันซึ่งต้องคิดถึงโลกาภิวัตน์ หลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาลจนถึงการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ การทำธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องใช้แต่มิติในทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเสียแล้ว หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และยังเกี่ยวพันกับมิติในทางการปกครองอีกด้วย

วันนี้การทำธุรกิจในซีกของภาคเอกชน นักลงทุนหรือนักธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงการมีบรรษัทภิบาล ต้องมีซีเอสอาร์หรือความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องใส่ใจเรื่องการใช้แรงงาน สิ่งแวดล้อม การไม่ค้ากำไรเกินควร การไม่ผูกขาดตัดตอนทางการค้า การมีบทบาทในการช่วยรักษาความสงบเรียบร้อย คุณธรรม จริยธรรมในสังคม ขณะเดียวกันในซีกของภาครัฐนอกจากจะต้องควบคุมดูแลการทำธุรกิจให้อยู่ในร่องในรอย ไม่ขัดกฎระเบียบกติกามารยาท กฎหมาย และความตกลงระหว่างประเทศแล้วยังต้อง “คุ้มครอง” และ “ส่งเสริมสนับสนุน” การทำธุรกิจให้สะดวก สบาย เพราะเกี่ยวกับหน้าตาของประเทศ พันธะระหว่างประเทศ และรายได้ของประเทศ

ทุกวันนี้รายได้ส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศมักจะมาจากการลงทุนทางธุรกิจจากต่างประเทศ เช่น ได้ประโยชน์จากการจ้างงาน การจัดเก็บภาษี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้วัตถุดิบในประเทศ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องคุ้มครอง ส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนขนานใหญ่จนบางครั้งถูกคนในประเทศและนักลงทุนภายในเองแอบเขม่นหรือโกรธเคืองเอา ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูเรื่องการที่รัฐทุ่มเทป้องกันน้ำท่วมแก่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ได้

วันนี้โลกไปไกลกว่านั้นอีกก้าวเมื่อมีการทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อสร้างหลักประกันแก่นักลงทุนหรือนักธุรกิจต่างชาติว่ารัฐได้ปฏิบัติต่อนักธุรกิจชนชาติของตนอย่างไร จะต้องปฏิบัติต่อนักธุรกิจต่างชาติอย่างนั้น หรืออาจต้องปฏิบัติต่อนักธุรกิจจากประเทศที่เป็นคู่ตกลงในระดับหรือมาตรฐานที่ให้ความสะดวกสบายกว่านักลงทุนในประเทศด้วยซ้ำ เออีซีหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเริ่มใช้ใน พ.ศ. 2558 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้

เรื่องการคุ้มครองนักลงทุน เช่น ให้รอดปลอดพ้นจากการถูกมาเฟียหรือนักเลงข่มเหงรังแก เจ้าหน้าที่รีดไถ รัฐยึดหรือเวนคืนทรัพย์สินของนักลงทุนนั้นเรื่องหนึ่ง แต่การส่งเสริมสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเป็นอีกเรื่อง ถ้าการจะตั้งโรงงานต้องใช้เวลาขออนุญาตเป็นเดือน ๆ ได้ใบอนุญาตแล้วยังขอน้ำขอไฟไม่ได้ ยังถูก อบต. หรือสารพัดกรมเรียกร้องให้ต้องทำโน่นทำนี่ไม่รู้จักเสร็จสิ้น การเปิดสินเชื่อ การนำเข้าวัตถุดิบ การส่งสินค้าออกนอกประเทศยุ่งยาก การชำระภาษีจุกจิกหยุมหยิมหรือมีอัตราสูงลิบ การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดหรือผิดสัญญาต้องใช้เวลานานหลายปี นักลงทุนที่ไหนก็ไม่เอาด้วย

ธนาคารโลกหรือเวิลด์ แบงก์ ซึ่งเป็นเจ้าตำรับเรื่องธรรมาภิบาลได้สำรวจประเทศที่เหมาะหรือไม่เหมาะแก่การทำธุรกิจและการลงทุนมาหลายปีแล้ว และพิมพ์ออกมาเป็นรายงานประจำปีว่าด้วยการทำธุรกิจ (Doing Business) ฟ้องไปทั่วโลก

รายงานปีล่าสุดฉบับ ค.ศ. 2011-2012 เปิดเผยว่าไทยน่าทำธุรกิจอยู่ในลำดับค่าเฉลี่ยรวมที่ 17 ดีกว่ามาเลเซีย (18) ญี่ปุ่น (20) ไต้หวัน (25) สวิตเซอร์แลนด์ (26) แต่น้อยกว่าสิงคโปร์ (1) ฮ่องกง (2) อเมริกา (4) อังกฤษ (7) เกาหลีใต้ (8) ซาอุดีอาระเบีย (12) ออสเตรเลีย (15) แต่เราตกลงมาจากอันดับที่ 16 ในปีก่อนนั้น แปลว่าเราแพ้ตัวเราเอง

ดัชนีชี้วัดของธนาคารโลกคือการขออนุญาตก่อสร้างของไทยยุ่งยากมาก การขอไฟฟ้าล่าช้า การขออนุมัติสินเชื่อไม่สะดวก การจ่ายภาษีมีปัญหาซึ่งอาจรวมถึงการมีอัตราที่สูงเกินควร การใช้เวลาดำเนินคดีในศาลยุ่งยากและล่าช้ามาก การดำเนินคดีล้มละลายเองก็ยุ่งยาก ตัวชี้วัดเหล่านี้เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกงแล้วแต่ละข้อเขาอยู่ในอันดับดีเด่นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อรวมแล้วเขาจึงมาเป็นที่ 1 ที่ 2 และครองแชมป์อยู่ได้

รายงานนี้นำเสนอ ครม. ของไทยไปแล้ว และ ครม. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุง เรื่องเหล่านี้เราจะมองว่าช่างมัน ฉันไม่แคร์ก็ได้ แต่ถ้าประเมินทีใดเราร่วงลงทุกที ผมว่าจะเป็นปัญหาต่อความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างยิ่ง การสำรวจนี้อาจไปสอบถามหรือประเมินจากนักลงทุนต่างชาติ และที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาการลงทุนในไทย ถ้าประเมินจากความพึงพอใจของนักลงทุนไทยเองอาจหนักกว่านี้ก็ได้

ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายจึงต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงทั้งส่วนที่เป็นกฎกติกามารยาท วิธีการปฏิบัติราชการตลอดจนนโยบายและทัศนคติเจ้าหน้าที่ จะมีประโยชน์อะไรที่เรากลัวนักลงทุนญี่ปุ่นจะหนีน้ำไปที่อื่นบ้าง กลัวจะเสียเปรียบเมื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าบ้าง แต่แค่ที่เขาเข้ามาแล้วจะขอน้ำขอไฟ ขอใบอนุญาตก่อสร้าง จ่ายภาษี หรือขออนุญาตต่าง ๆ จากทางราชการยังยุ่งยาก โยกโย้โยเย ล่าช้า

จนเขาเอือมระอาเผ่นหนีกันไปหมด.

credit :  dailynews