bloggang.com mainmenu search


ร่องรอยโบราณสถาน
แบบจำลองเมืองสิงห์
หลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ นอกกำแพงเมืองสิงห์ด้านทิศใต้

สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จัก "ปราสาทเมืองสิงห์" มาก่อน ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม คงชวนให้เข้าใจว่า โบราณสถานดังกล่าว อาจตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี แต่แท้จริงแล้ว ปราสาทเมืองสิงห์ บ้างเรียกสั้นๆ ว่า "เมืองสิงห์" หรือชื่อเรียกเป็นทางการ คือ "อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์" นั้น อยู่ในตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ด้วยทำเลที่ตั้งเมืองสิงห์ อยู่บนพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย และมีเทือกเขาล้อมรอบ ทำให้พื้นที่ลาดเทลงมาทางลำน้ำแควน้อย จึงเป็นผลดีให้ดินบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก และเหมาะต่อการทำเกษตรกรรม

ขณะที่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ทำให้นักโบราณคดีพบว่า ตัวเมืองสิงห์เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพื้นที่ราว 1 ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ ที่ตำแหน่งกลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาทสร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะขอมแบบบายน

นอกจากนี้ นักโบราณคดียังขุดค้นพบหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ ฝังร่วมกับศพ จากบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย นอกกำแพงเมืองสิงห์ด้านทิศใต้ โดยลักษณะที่พบคล้ายคลึงกับหลุมฝังศพที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถูกกำหนดอายุอยู่ในตอนปลายยุคโลหะ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 2,000 ปี สมัยต่อมาจึงเป็นช่วงที่มีการสร้างเมืองสิงห์ ดังหลักฐานปรากฏจำนวนมาก

จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้เมืองสิงห์มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลานานตามที่มีปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะโบราณวัตถุ สามารถกำหนดอายุได้ว่า เมืองสิงห์และตัวปราสาท น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับรัชสมัยของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชา ตามปรากฏหลักศิลาจารึกหลักหนึ่ง

ศิลาจารึก ที่บ่งบอกเรื่องราวเมืองสิงห์ ถูกพบที่ปราสาทพระขรรค์ ทำขึ้นโดยเจ้าชายวีรกุมารพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีข้อความสรรเสริญความกล้าหาญ และการบุญกุศลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ทั้งนี้มีตอนหนึ่ง กล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ 6 เมือง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในภาคกลางของไทย ได้แก่ ลโวทยะปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกะปัฏฏนะ ชัยราชบุรี ศรีชัยสิงห์บุรี และศรีชัยวัชรบุรี ซึ่งเข้าใจกันว่า เมืองศรีชัยสิงห์บุรี ก็คือ เมืองสิงห์ ที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์ ในจังหวัดกาญจนบุรีนั่นเอง

ยังมีอีกแนวความคิดเกี่ยวกับที่มาของเมืองสิงห์ ที่เชื่อว่า น่าจะเป็นการก่อสร้างเลียนแบบปราสาทขอม สมัยหลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และไม่น่าจะเกี่ยวข้องอันใดกับชื่อเมืองศรีชัยสิงห์บุรี หรือศรีชัยสิงห์บุรี ในจารึก เนื่องจากเห็นว่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขาดความสมดุล และความลงตัว อีกทั้งเกิดความคลาดเคลื่อนในการวางตำแหน่งอาคาร ตลอดจนจารึกที่ฐานหินทรายรองรับประติมากรรมเป็นตัวอักษรและภาษาขอมสมัยหลังเมืองพระนคร หรือหลังจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

รวมทั้งชื่อเมืองสิงห์ ไม่เคยปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ใด ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเมืองสิงห์ยังปรากฏเป็นตำนานจากคำบอกเล่าของชาวพื้นเมืองว่า ท้าวอู่ทอง หนีภัยจากท้าวเวชสุวรรณโณ แล้วไปสร้างเมืองหลบซ่อนตามที่ต่างๆ โดยชื่อเมืองจะอธิบายโบราณสถานแห่งนั้นตามแนวคิดของตนกับสิ่งที่พบเห็น เช่น การตั้งชื่อเมืองว่า กลอนโด่ เพราะสภาพโบราณสถานเหลือเพียงซาก เนื่องจากผู้เล่าเห็นว่า เป็นกลอนประตูทิ้งอยู่ ดังนั้น เมืองครุฑและเมืองสิงห์ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้เล่าที่พบรูปครุฑ และรูปสิงห์ถูกทิ้งร้างอยู่ที่โบราณสถานแห่งนั้น

แม้ที่มาของเมืองสิงห์จะมีถึง 3 แนวคิด แต่การทำงานของนักโบราณคดี สามารถสรุปลักษณะของเมืองสิงห์ได้ว่า มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเนื้อที่ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 88 เมตร ส่วนแนวด้านเหนือถึงใต้ ยาวจรดแม่น้ำ 1,400 เมตร ตัวกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูทางเข้า-ออก 4 ด้าน

กำแพงด้านในถมดินลาด ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศตะวันตกมีคูน้ำคันดิน ล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนทางทิศใต้ กำแพงเมืองคดโค้งไปตามลำน้ำแควน้อย โดยใช้ลำแม่น้ำเป็นคูเมือง ภายในตัวเมืองมีสระน้ำ 6 สระ และสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาอีก 4 แห่ง

ผู้ที่สนใจชมร่องรอยประวัติศาสตร์ของเมืองสิงห์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท สอบถามเพิ่มเติมโดยตรงได้กับอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ 034-528456-7.

คลิกชมอ่านและชมภาพต่อ...ที่นี่ขอรับ

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

credit : dailynews