bloggang.com mainmenu search


ผลพระคุณ ธ รักษา : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอังกฤษ (1)

วันนี้เรามีรัฐที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติอยู่ 192 รัฐเอกราช ใน 192 รัฐนั้น มี 44 รัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใน 44 รัฐนั้น 16 รัฐอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ รวมอังกฤษเองด้วยที่เรียกว่าสหราชอาณาจักร ก็มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) ทรงเป็นประมุขร่วมกันอยู่องค์เดียว เพราะฉะนั้นอันที่จริงแล้วก็จะมีประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่วันนี้จริง ๆ ที่ไม่นับประเทศในเครือจักรภพก็เหลืออีก 28 ประเทศ ไม่มากเลยเมื่อเทียบกับจำนวนของสมาชิกสหประชาชาติ 192 รัฐนั้น และ 28 ประเทศที่เหลือนี้ ก็มีจำนวนไม่มากอีกนั่นแหละที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลาพันปี เป็นสัญลักษณ์แห่งอารยธรรม วัฒนธรรม และความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนเอกราชของชาตินั้น ๆ หลายประเทศเป็นประเทศที่อยู่ดี ๆ ก็มีพระมหากษัตริย์ขึ้นใหม่ ในยุคหลังสงครามโลกด้วยซ้ำไป เช่น สวาซิแลนด์ (King of Swaziland) นึกจะเป็นก็สถาปนากันขึ้นมา

ประเทศที่จะมีพระมหากษัตริย์นับมาเป็นพันปีอย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น ไทยนั้น มีไม่มากครับ ในบรรดา 28 ประเทศ ที่มีการปกครองหลากหลาย เราแยกการปกครองได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ในวันนี้

กลุ่มที่ 1 เราเรียกว่า ระบอบราชาธิปไตย ที่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Absolute monarchy วันนี้นับในโลกมีอยู่ 6 รัฐ ที่ยังใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตย คือ บรูไน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สวาซิแลนด์ และวาติกัน จะเห็นได้ว่าในประเทศที่ปกครองแบบราชาธิปไตยนั้น อาจจะมีการสืบราชสันตติวงศ์กันหรืออาจจะมีการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์กันก็ได้ อย่างในวาติกันคณะพระคาร์ดินัล (Cardinal) ทั้งหลายมาประชุมกันเลือกสมเด็จพระสันตะปาปา แต่เป็นราชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งในมาเลเซียพระมหากษัตริย์มาเลเซียที่เรียกว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง (Yang di-Pertuan Agong) ก็เป็นการเลือกกันระหว่างสุลต่านผู้ครองรัฐต่าง ๆ แต่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการสืบราชสมบัติจึงไม่ใช่เครื่องชี้ขาดว่าเป็นประชาธิปไตยหรือราชาธิปไตยในระบอบนี้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดล้นพ้นทางรัฐธรรมนูญและทางกฎหมาย คือ ทรงมีอำนาจนิติบัญญัติตรากฎหมายใช้บังคับได้ ทรงมีอำนาจบริหาร คือทรงเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเองก็ได้ และทรงมีอำนาจตุลาการ คือทรงตัดสินคดีได้ จะพระราชทานอำนาจใดให้ใครใช้ในพระปรมาภิไธยก็ได้ แต่หากพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งอย่างใดก็ต้องเป็นไปตามนั้น ใครจะมาโต้เถียงไม่ได้ แต่ในระบอบนี้พระมหากษัตริย์ของแต่ละประเทศก็ต้องมีหลักธรรมะในการกำกับการใช้พระราชอำนาจอยู่เหมือนกัน ไทยเราเองนั้นก่อน พ.ศ.2475 ก็มีหลักทศพิธราชธรรมที่ได้มาจากมหาหังสชาดก หลักจักรวรรดิวัตรธรรม ที่ได้มาจากจักกวัตติสูตร หลักราชสังคหวัตถุธรรม เหล่านี้เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ก็คือ กลุ่มที่มีประเทศที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Constitutional monarchy ที่บางคนแปลว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็มี 22 ประเทศ มีอังกฤษเป็นต้นแบบ จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการเป็นราชาธิปไตยทั้งสิ้น อย่างในอังกฤษก็เคยเป็นราชาธิปไตยแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ใครศึกษาประวัติศาสตร์การปกครองอังกฤษจะพบว่าปีที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษไม่สามารถที่จะทรงใช้พระราชอำนาจอะไรได้แล้วนอกจากโดยคำแนะนำของรัฐสภานั้น คือ ปี ค.ศ.1688 ที่เกิดการต่อสู้กันระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษฝ่ายหนึ่งกับขุนนางในสภาขุนนางและสามัญชนในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วก็มาเป็นระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ อย่างที่เราเห็นวันนี้ ของอังกฤษนั้นเริ่มในปี ค.ศ.1832 เมื่อมีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งแล้ว ว่ากันอันที่จริงนักรัฐธรรมนูญอังกฤษนั้นเขาถือว่าระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่อังกฤษนั้นเริ่มขึ้นหลังจาก ค.ศ.1867 เมื่อมีการขยายสิทธิเลือกตั้งไปยังประชาชนทั่วประเทศแล้ว

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น โดยทฤษฎีถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศไม่ได้อยู่ที่พระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวอย่างระบอบราชาธิปไตยอีกต่อไป แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะของตัวเองต่างกันไป อย่างในอังกฤษวันนี้ก็ถือว่าสมเด็จพระราชินีนาถกับประชาชนชาวอังกฤษมีอำนาจร่วมกัน ตามทฤษฎีนิติศาสตร์ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของสมเด็จพระราชินีนาถและรัฐสภา (Sovereignty of Queen in Parliament) การออกกฎหมายในอังกฤษจึงเป็น อำนาจของสมเด็จพระราชินีนาถและรัฐสภา เรียกเป็นภาษากฎหมายว่า “Queen in Parliament” ในเมืองไทยเองก็ถือว่าอำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศไทยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชนชาวไทย

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ยังไม่เหมือนกันอีกในแต่ละประเทศ เราสามารถจำแนกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มที่ 1 มีอังกฤษเป็นต้นแบบ เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีธรรมเนียมโบราณนานมา

2.กลุ่มที่ 2 มีประเทศในยุโรปเหนือเป็นต้นแบบ เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ที่ใช้ชีวิตเหมือนสามัญชน

3.กลุ่มที่ 3 มีไทยเป็นต้นแบบ เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีทั้งธรรมเนียมโบราณและความเป็นกันเองกับราษฎร.


ผลพระคุณ ธ รักษา : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2)
ตอนที่แล้วผมได้จำแนกระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 22 ประเทศ เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ

วันนี้จะได้ลงมืออธิบาย 3 กลุ่มนั้น

กลุ่มที่ 1 ก็คือ ประเทศอังกฤษและประเทศประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีธรรมเนียมโบราณนานมาแต่ก่อนเก่า เช่น ญี่ปุ่น กลุ่มนี้แหละเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญโดยเฉพาะประเทศอังกฤษซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ผ่านทั้งวิกฤติทั้งความสำเร็จความล้มเหลวมามาก จึงเป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังเช่น ธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นประเพณีในรัฐธรรมนูญอังกฤษ ถือว่าพระราชินีนาถ ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงได้รับการปรึกษาหรือให้คำแนะนำแก่รัฐบาล พระราชอำนาจที่จะทรงสนับสนุนและให้กำลังใจแก่รัฐบาล และพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือน ที่เรียกว่า “The right to be consulted, The right to encourage และ The right to warn” นั้น

พระราชอำนาจทั้ง 3 นี้ เป็นพระราชอำนาจหลัก ซึ่งวันนี้หนังสือล่าสุดที่พูดถึงเรื่องธรรมเนียมการปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1999 นี้เองยังอ้างคำของราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือ ท่านซอร์ วิลเลี่ยม เฮสันไทม์ เป็นหนังสือซึ่งมีไปถึงสื่อมวลชนทั้งหลายตอบโต้กรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ทรงพอพระทัยในนโยบายบางประการของ มิสซิสแทตเชอร์ (Mrs.Thatcher) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ท่านราชเลขาธิการท่านนี้ท่านพูดชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษทรงมีพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษในอันที่จะพระราชทานคำปรึกษา ใช้คำว่า The Sovereign has the right and duty to consult คือให้คำปรึกษา encourage คือพระราชทานกำลังใจและ warn her government คือตักเตือน เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้การปกครองของประเทศอังกฤษไม่ได้เพราะเขาเป็นต้นแบบของการปกครองระบอบนี้ ในระบอบการปกครองของอังกฤษนั้น แม้ว่าโดยปกติพระราชินีนาถจะไม่ค่อยมีพระราชดำริทางการเมืองแล้ว เพราะว่าทรงทำตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่กระนั้นพระราชินีนาถก็ยังทรงมีพระราชอำนาจบางประการนอกเหนือจากคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ ดังจะได้กล่าวต่อไป เพราะฉะนั้นประเทศนี้คือประเทศกลุ่มที่ 1 มีอังกฤษเป็นต้นแบบ แล้วก็มีประเทศอื่น ๆ

สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศอังกฤษและประเทศในกลุ่มนี้ เช่น ญี่ปุ่น นั้นจะมีความคงอยู่ยาวนานในประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นพันปี มีนิติราชประเพณี มีธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปกครองอยู่มากเป็นสถาบันที่ลึกลับศักดิ์สิทธิ์ไม่ค่อยปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะ พระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นจะเสด็จออกมหาสมาคมให้คนญี่ปุ่นได้ชมกันปีหนึ่งหนสองหนในเหตุการณ์สำคัญของประเทศ แต่แม้กระนั้นลักษณะของพระจักรพรรดิญี่ปุ่นก็ต่างจากพระราชินีนาถของอังกฤษดังจะได้เห็นในตอนต่อ ๆ ไป

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกันแต่พระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์แบบสมัยใหม่ ทรงปฏิบัติพระองค์เหมือนคนทั่วไป ถ้าท่านไปเนเธอร์แลนด์ท่านอย่าแปลกใจว่าถ้าท่านเข้าไปที่ร้านสะดวกซื้อแล้วพบสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงจักรยานไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ แล้วก็อย่าแปลกใจว่าพระราชาธิบดีสวีเดนเสด็จไปเสวยพระกระยาหารในภัตตาคารเดียวกับคนทั่วไป กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์แบบสมัยใหม่เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป ไม่ค่อยแตกต่างเท่าไหร่

และ กลุ่มที่ 3 คือ ประเทศไทยซึ่งอยู่ระหว่าง 2 กลุ่มข้างต้น จะเห็นได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นสืบสายมาจากอารยธรรมไทยเป็นพันปีจากสุโขทัยเรื่อยลงมาถึงอยุธยาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผ่านคติต่าง ๆ มามากมาย คติพ่อปกครองลูก ในสมัยสุโขทัยตอนต้นมาเป็น คติ ธรรมราชา ในยุคสุโขทัยตอนปลาย ต่อมาเป็นคติ เทวราชา ในยุคอยุธยา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้เป็นคติ ราชาประชาธิปไตย ผ่านมากว่าพันปี

แต่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีลักษณะเหมือนกับอังกฤษ หรือญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับสแกนดิเนเวีย ที่ผมบอกว่าอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่าง 2 กลุ่มที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนั้น ท่านที่เคารพก็จะสังเกตได้ว่า สัญลักษณ์แห่งอารยธรรม วัฒนธรรม และเอกราชที่เรามีด้วยความภูมิใจผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์เรานั้น เราจะเห็นได้หลายอย่างทีเดียว พระบรมมหาราชวังอันงดงาม พระที่นั่งพุฒตาลกาญจนสิงหาสน์ พระราชพิธีต่าง ๆ แม้กระทั่งพระราชพิธีพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ในวันนี้ จนกระทั่งเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับเหนือบุษบกในเรือพระที่นั่งนั้น
ถ้ามองอย่างนี้ท่านเห็นได้เลยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสถาบันสูงส่งทรงเกียรติยศสืบทอดอารยธรรม วัฒนธรรม เอกราชและความภูมิใจของคนทั้งชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงสืบสานประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติไทยไว้ด้วย มีแต่คนแห่มาดูสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทย เราคนไทยก็ได้ดูด้วยความภาคภูมิใจ เหมือนกับที่คนอังกฤษเห็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จไปเปิดประชุมรัฐสภาทรงพระราชขัตติภูษาภรณ์เต็มยศ พระมหาพิชัยมงกุฎของอังกฤษ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือลูกโลก พระหัตถ์ขวาทรงถือคทา ประทับอยู่บนพระที่นั่งหนังแกะในที่ประชุมของสภาขุนนางแล้วทรงอ่านพระบรมราชโองการจากราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นนโยบายจากรัฐบาล ถามว่าภาพอย่างนี้จะเห็นได้ในการปกครองระบอบอื่นหรือไม่

แต่ว่าไม่ใช่เท่านั้นนะครับ ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนอกจากมิติอารยธรรม ทางวัฒนธรรม ความภูมิใจอย่างที่ว่านั้นแล้วก็ยังมีมิติที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นอีก ก็คือว่า พระเจ้าแผ่นดินประเทศไทยไปประทับอยู่บนพื้นดินทรงถือแผนที่แล้วมีชาวบ้านนั่งอยู่ข้างพระองค์ท่านบนพื้นดินเดียวกัน และทรงรับสั่งกับชาวบ้านด้วยภาษาสามัญและชาวบ้านก็ทูลท่านด้วยภาษาสามัญเพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ เรื่องการเกษตร เรื่องอะไรทั้งหลายของราษฎรก็เป็นอันว่าพระมหากษัตริย์ไทยโดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ ท่านก็ไม่เหมือนควีนเอลิซาเบธ ท่านก็ไม่เหมือนกับพระเจ้าจักรพรรดิของญี่ปุ่นซึ่งไม่เคยไปประทับอยู่บนพื้นดินกับราษฎร ความใกล้ชิดของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันกับราษฎรของพระองค์ท่านนั้นเราจะเห็นได้ทุกวี่วันก่อนทรงพระประชวร วันนี้ทรงพระประชวรประทับอยู่ในโรงพยาบาลไม่ทรงมีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่ตลอด 60 ปี ในรัชกาลตั้งแต่ พ.ศ. 2489 และเมื่อเสด็จฯกลับมายังเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2493 ตั้งแต่เปล่งพระบรมราชโองการองค์แรกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 มาจนถึง 60 ปี เสวยราชเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 นั้น เราจะเห็นภาพนี้ชาชินมากที่ทรงลุยน้ำ ข้ามลำธาร ขับรถข้ามลำธารด้วยพระองค์เอง ประทับนั่งอยู่บนพื้นดินกับราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตามเสด็จ ประทับอยู่จนดึกดื่นค่ำคืนแล้วเสด็จฯ กลับอย่างนี้ เป็นต้น

ก็เป็นอันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่เหมือนกับชาติไหน ๆ อยู่ตรงกลาง คือเป็นสถาบันที่แสดงอารยธรรม วัฒนธรรมอันสูงส่ง แสดงความเป็นเอกราชอันน่าภาคภูมิใจ และแสดงความใกล้ชิดราษฎรของพระองค์.

ผลพระคุณ ธ รักษา : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอังกฤษ

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอังกฤษ สถาบันทุกสถาบันในอังกฤษเกิดจากพระราชอำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ศาล หรือคณะรัฐมนตรี ก็พัฒนามาจากสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ (Curia Regis ค.ศ. 1066-1215) ทั้งสิ้น จริง ๆ คณะรัฐมนตรีอังกฤษในทางกฎหมายถือว่าเป็นกรรมการชุดหนึ่งของคณะองคมนตรี (Privy Council) เท่านั้นที่เรียกว่า Cabinct Council ใน ค.ศ. 1605 แต่ว่าในอังกฤษนั้นการปกครองนั้นใช้ธรรมเนียมประเพณีการปกครองมากกว่ากฎหมาย

ในอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเริ่มจริง ๆ คือหลัง ค.ศ. 1832 แล้วว่ากันในอันที่จริงก็คือ ค.ศ. 1867 เมื่ออังกฤษก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยยุคใหม่ โดยมีการปรับระบบเลือกตั้ง ขยายสิทธิเลือกตั้งไปทั่วประเทศจึงถือว่าเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ดังนั้น คำว่า Constitutional Monarchy หรือระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1867 นั่นแหละ

ในอังกฤษนั้นมีหลักที่ถือกันเป็นหลักทั่วไปจนกระทั่งมีอิทธิพลถึงเมืองไทยด้วยก็คือหลักที่ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์อังกฤษทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีก็จะไม่ทรงมีพระราชดำริทางการเมือง แต่จะทรงทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน โดยกระบวนการที่เรียกว่าการลงนามสนองพระบรมราชโองการ (Counterseign) เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นคนทูลเกล้าถวายคำแนะนำก็จะต้องรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมืองแทนองค์สมเด็จพระราชินีนาถ จึงมีหลักว่า สมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษไม่ทรงกระทำผิดหรือหลัก The Queen Can Do No Wrong ก็เพราะว่าถ้ามี Wrong เกิดขึ้นหรือความผิดเกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือนายกรัฐมนตรีคนทูลเกล้าถวายคำแนะนำนั่นแหละ จะปัดไปให้สมเด็จพระราชินีนาถไม่ได้

เพราะฉะนั้นในอังกฤษถือหลักนี้เคร่งครัดมาก พระมหากษัตริย์อังกฤษหรือสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงมีพระราชอำนาจที่ไม่ต้องทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอยู่น้อยมาก แม้กระทั่งพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีนาถอังกฤษยังต้องให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนจะมีพระราชดำรัส ในหนังสือเรื่อง “Constitutional Practice” ของนาย Rodney Brazier พูดไว้ชัดเลยว่ามีพระราชดำรัสเพียงสององค์เท่านั้นที่พระราชินีนาถมีพระราชอัธยาศัยอย่างไรจะรับสั่งอย่างไรก็ทำได้

องค์แรกก็คือ Christmas Broadcast หรือพระราชดำรัสในวันคริส์ตมาสต่อประชาชนชาวคอมมอนเวลส์ (Commonwealth) หรือเครือจักรภพอังกฤษ แต่ถ้าเป็นพระราชดำรัสคริสต์มาสต่อคนอังกฤษก็ไม่ได้รับยกเว้น ราชเลขาธิการต้องส่งพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถไปให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน กับองค์ที่สองคือ สิ่งที่อังกฤษเรียกว่า Commonwealth Day Message หรือพระราชดำรัสวันเครือจักรภพ สมเด็จพระราชินีนาถจะรับสั่งอะไรกับชาว Commonwealth ก็ได้ มีสองพระราชดำรัสนี้เท่านั้นที่จะเห็นได้ว่าพระราชินีนาถมีพระราชอัธยาศัยจะรับสั่งอย่างไรก็ได้ และถามว่าธรรมเนียมนี้ทำหรือไม่ในประเทศไทย คำตอบว่าไม่เคยมีการทำในประเทศไทย เพราะ พระราชดำรัสทุกองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น รัฐบาลไม่เคยตรวจ รัฐบาลไม่เคยไปถวายคำแนะนำ เป็นพระราชดำรัสที่ออกมาจากพระองค์เองทั้งนั้น จะเอาประชาธิปไตยไทยไปเทียบกับประชาธิปไตยอังกฤษร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นคงทำไม่ได้

ดังนั้นในอังกฤษกลไกที่จะทำให้สถาบันที่สืบราชสมบัติอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งโดยประชาชนและประชาชนเป็นใหญ่ทางการเมืองได้นั้น ก็คือพระมหากษัตริย์ต้องไม่มีพระราชดำริทางการเมืองแล้วก็ทำตามคำแนะนำของรัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งมา แต่ว่ากระนั้นก็ตาม อำนาจที่รัฐบาลอังกฤษ ใช้ทั้งหมดวันนี้เป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลที่ยังไม่มีกฎหมายที่สภาตราขึ้นออกมาแก้ไขทั้งสิ้น ที่เรียกว่า The Royal Prerogative หรือพระราชอำนาจไม่ว่าจะเป็นพระราชอำนาจในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พระราชอำนาจในการประกาศสงคราม พระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการ พระราชอำนาจในการเรียกประชุมสภา พระราชอำนาจในการยุบสภา แต่ว่าทรงใช้ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ

ประการแรก อังกฤษคงจารีตประเพณีเดิมเป็นพัน ๆ ปีเอาไว้มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยจึงทำให้ลักษณะของกษัตริย์อังกฤษหรือสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษไม่เหมือนกับกษัตริย์ที่อื่น ยกตัวอย่างเช่น การที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงเป็นประมุขของศาสนจักรอังกฤษที่เรียกว่า Church of England ถามว่าพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นเป็นประมุขศาสนจักรหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่ว่าอังกฤษเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ออกกฎหมายมาประกาศตัวแยกออกจากพระสันตะปาปาที่วาติกัน แล้วก็สถาปนาพระองค์ท่านเองเป็นประมุขของ Church of England วันนี้สมเด็จพระราชินีนาถยังเป็นผู้แต่งตั้งสังฆราชแห่งแคนเทอเบอรี่ (The Archbishop of Canterbury) แล้วก็ไม่ขึ้นกับวาติกัน หรือ ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเราจะเห็นได้ว่าอังกฤษคงเอาไว้ก็คือ ในอังกฤษคนที่แถลงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษไม่ใช่นายกรัฐมนตรี คนที่แถลงคือสมเด็จพระราชินีนาถทรงแถลงในวันเปิดสมัยประชุมสภา โดยทรงเครื่องราชขัตติยภูษาภรณ์เต็มยศเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาในที่ประชุมของสภาขุนนางหรือ House of Lords ประทับบนพระที่นั่งที่เรียกว่าพระที่นั่งหนังแกะ บนพระราชบัลลังก์ซึ่งเป็นไม้ในสภาขุนนางนั้น แล้วขุนนางก็ใส่วิกนั่งอยู่เต็ม นายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้าสภาขุนนางไม่ได้ เพราะว่าเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณพันปีแล้วว่าสมาชิกที่จะเข้าสภาขุนนางได้ต้องเป็นขุนนาง เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องยืนอยู่นอกห้องเกาะราวประตู แล้วสมเด็จพระราชินีนาถก็จะทรงรับพระราชดำรัสที่นายกรัฐมนตรีร่างถวายนั้นมาทรงอ่านในสภาขุนนางโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานสภาสามัญและนายกรัฐมนตรีเกาะราวประตูฟังอยู่ ว่ารัฐบาลของข้าพเจ้า จะออกกฎหมายนี้ในสมัยประชุมนี้เพื่อให้นโยบายของรัฐบาลของข้าพเจ้า (My Government) เกิดความสำเร็จขึ้นได้

นี่เรียกว่า Speech From The Throne หรือพระราชดำรัสจากราชบัลลังก์ เมืองไทยก็เคยทำแบบนี้อยู่ระหว่างปี 2493-2500 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงแถลงนโยบายแบบนี้ในสภาเหมือนของอังกฤษแล้วมายกเลิกเอาตอน พ.ศ. 2500 เพราะฉะนั้นถ้าท่านไปค้นพระราชดำรัสในพิธีเปิดสมัยประชุมสภาของประเทศไทยก่อนปี 2500 จะพบว่านโยบายของรัฐบาลไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงแทนรัฐบาลบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ในพระที่นั่งอนันตสมาคมทำนองเดียวกับสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษทรงแถลงนโยบายรัฐบาลอังกฤษในที่ประชุมของสภาขุนนาง.



ผลพระคุณ ธ รักษา : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอังกฤษ

วันพุธที่ 18 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.


ถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอังกฤษจะพบว่า ก่อนปี ค.ศ.1688 ซึ่งถือว่าเป็นปีปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษถูกขุนนางในสภาขุนนางและสามัญชนในสภาสามัญร่วมกันปฏิวัติจำกัดพระราชอำนาจลงได้สำเร็จ พร้อมกับสถาปนา อำนาจอธิปไตยของรัฐสภา (Sovereignty of Parliament) ขึ้นสำเร็จนั้น พระมหากษัตริย์อังกฤษยังทรงพระราชอำนาจเต็มเปี่ยม ทั้งยังทรงใช้พระราชอำนาจนั้นโดยลำพังพระองค์เองก็ได้ หรือจะมีรัฐมนตรีที่ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยถวายคำแนะนำก็ได้

อันที่จริง คำว่า “Cabinet” ที่ต่อมาแปลว่า คณะรัฐมนตรีนั้นมีที่มาจากคำว่า “ห้องแต่งพระองค์” ของพระมหากษัตริย์ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางที่เป็นที่ปรึกษาไม่กี่คนซึ่งเป็นสมาชิกองคมนตรี (Privy Council) เข้าไปกราบทูลถวายความเห็นข้อราชการได้ ดังนั้น ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงเกิดการเรียกขุนนางไม่กี่คนที่มีอภิสิทธิ์นี้เชิงประชดว่า “สภาห้องแต่งพระองค์” (Cabinet Council) มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 (ค.ศ.1629-1645) เพราะถือว่าไม่ใช่ธรรมเนียมของกษัตริย์อังกฤษ แต่กษัตริย์อังกฤษไปหยิบยืมมาจากอิตาลีและฝรั่งเศส!

ครั้นอังกฤษได้กษัตริย์เชื้อสายเยอรมันจากราชวงศ์แฮนโนเวอร์ คือพระเจ้าจอร์จที่ 1 (ค.ศ.1660-1727) พระเจ้าจอร์จที่ 2 (ค.ศ.1727-1760) และพระเจ้าจอร์จที่ 3 (ค.ศ.1760-1820 ซึ่งเป็นช่วงที่ 13 อาณานิคมประกาศเอกราชเป็นสหรัฐอเมริกา) เนื่องจากกษัตริย์เหล่านี้ ไม่ได้ทรงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และทรงมีความรู้เรื่องการเมืองอังกฤษน้อยมาก จึงต้องทรงใช้ที่ปรึกษากลุ่มเล็ก ๆ จากขุนนางอังกฤษผู้มีอิทธิพล Cabinet ก็กลายเป็นคณะรัฐมนตรีขึ้นมา เพราะกษัตริย์ใช้เป็นประจำ นอกจากนั้น กษัตริย์โดยเฉพาะพระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงใช้ขุนนางผู้มีอิทธิพลและเงินมากในสภาขุนนาง คือ เซอร์ โรเบิร์ต วัลโพล เป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการ คนทั่วไปจึงเรียกเซอร์วัลโพลว่า “Prime Minister” หรือ “นายกรัฐมนตรี” เชิงประชด (คล้าย ๆ กับ “ตู้เอทีเอ็ม เคลื่อนที่” ซึ่งเราเคยเรียกนักการเมืองเราบางคนในอดีต!) ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ โดยไม่ใช่ตำแหน่งตามกฎหมายแต่เป็นตำแหน่งตามประเพณีการปกครอง

ดังนั้น ตั้งแต่ ค.ศ.1688 เป็นต้นมาจนมีการปฏิรูประบบเลือกตั้งเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่หลังปี ค.ศ.1832 และ 1867 เมื่อรัฐสภามีอำนาจสูงสุดทางกฎหมาย กษัตริย์อังกฤษจึงต้องบริหารราชการโดยอาศัยขุนนางที่มีอิทธิพลเหนือสภา จึงเกิดระบบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากขุนนางผู้มีเงินและอิทธิพลคุมได้ทั้งสภาขุนนางและสภาสามัญอย่างเซอร์วัลโพลขึ้นมา ดังนั้น ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17-ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักรัฐศาสตร์จึงถือว่า ระบอบการปกครองอังกฤษยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ (patronage system) คือ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีนาถยังทรงปกครองโดยทรงใช้อำนาจการเมืองผ่านขุนนางผู้มีอิทธิพล เช่น สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย เป็นต้น

แต่เมื่อมีการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในปี ค.ศ.1832 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1867 ซึ่งขยายสิทธิเลือกตั้งอย่างมโหฬารให้ประชาชนอังกฤษ ดังนั้น ขุนนางจึงไม่อาจควบคุมสภาสามัญ (หรือสภาผู้แทนราษฎร)ได้ กษัตริย์จึงหมดอำนาจการเมืองลง ขุนนางก็หมดอำนาจการเมืองลง เกิดพรรคการเมืองสมัยใหม่ (พรรคอนุรักษนิยม พรรคเสรีนิยม พรรคแรงงาน เป็นต้น)

ดังนั้น พระมหากษัตริย์อังกฤษจึงทรงต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคที่คุมเสียงข้างมาก ในสภาสามัญได้ และต้องทรงใช้พระราชอำนาจที่ทรงมีมาแต่โบราณกาล ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนายหนึ่ง คณะรัฐมนตรีอังกฤษสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยถือว่านายกรัฐมนตรีระหว่างปีค.ศ.1916-1922 เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริง ๆ

ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามนี้ อังกฤษเพิ่งมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง! ถ้านับถึงวันนี้ก็ 100 ปีเท่านั้น.

ผลพระคุณ ธ รักษา : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอังกฤษ (3)

ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างอังกฤษ อำนาจในการบริหารบ้านเมืองเกือบทั้งหมดเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณทั้งสิ้น เมื่อประเทศปกครองแบบราชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นเอง โดยอาจทรงปรึกษากับขุนนางที่ไว้วางพระราชหฤทัยก็ได้ ดังเช่นที่เคยเป็นในอังกฤษก่อนปี ค.ศ. 1688 ครั้นเมื่อบ้านเมืองก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้ง นายวอลเตอร์ แบทจอต (Walter Bagehot) จึงสรุปว่า “สมเด็จพระราชินีนาถทรงปกเกล้า แต่ไม่ได้ทรงปกครอง” (The Queen reigns, but she does not rule)นี่เองคือหัวใจของระบบรัฐสภา และนี่เองที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งสืบราชสมบัติและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเต็มภาคภูมิพึงสังเกตให้ดีว่า อำนาจบริหารที่รัฐบาลอังกฤษใช้อยู่นั้นเป็นพระราชอำนาจ (Royal Prerogative) แต่ทรงใช้ตามคำกราบบังคมทูลแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (Convention of the Constitution) หรือประเพณีการปกครองประเทศอังกฤษในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันว่า ตามกฎหมาย อำนาจเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ตามประเพณีซึ่งไม่ได้มีบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น โดยผ่านคำกราบบังคมทูลแนะนำ และพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถก็จะทรงทำตาม จึงกล่าวว่า พระราชอำนาจตามกฎหมายถูกจำกัดโดยประเพณี

คำถามมีว่า ถ้าสมเด็จพระราชินีนาถไม่ทรงทำตามประเพณี แต่ทรงใช้พระราชอำนาจโดยพระองค์เอง ไม่ทรงฟังเสียงนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ถ้าว่าตามกฎหมายแล้วทรงกระทำได้ แต่ทรงมีความเสี่ยงทางการเมือง เพราะนอกจากนายกรัฐมนตรีจะไม่ออกมาปกป้องและรับผิดชอบแทนแล้ว อาจทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงได้ !
จึงปรากฏว่าพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงปฏิบัติตามประเพณีเสมอคือทรงทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี เมื่อทรงทำตามคำแนะนำแล้ว เกิดอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีก็ต้องออกมารับผิดชอบและปกป้องสมเด็จพระราชินีนาถ นี่เองคือที่มาของหลัก “The King (หรือ Queen) can do no wrong” ที่ไม่มีความผิด (do no wrong) ก็เพราะทรงทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนของปวงชน! จึงถือว่าสมเด็จพระราชินีนาถไม่ทรงมีพระราชดำริทางการเมือง คนที่มีดำริทางการเมือง คือ นายกรัฐมนตรีต่างหาก ซึ่งต้องเป็นผู้รับไปทั้งผิดและชอบ!

ใน ปี ค.ศ. 2004 รัฐบาลอังกฤษได้พิมพ์พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งอ้างถึงในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน (www.guardian.co.uk) ดังนี้
พระราชอำนาจในราชการแผ่นดินในประเทศ ประกอบด้วย

- พระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

- พระราชอำนาจในการทรงเรียกประชุม ปิดประชุมรัฐสภาและยุบสภาสามัญ

- พระราชอำนาจในการให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติ

- พระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งข้าราชการทหาร และทรงบัญชาการกองทัพทั้งปวง

- พระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งองคมนตรี

- พระราชอำนาจในการทรงออก และยกเลิกหนังสือเดินทาง

- พระราชอำนาจอภัยโทษ

- พระราชอำนาจในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

- พระราชอำนาจในการพระราชทาน Royal Charter แก่

บริษัทที่น่าเชื่อถือ

- พระราชอำนาจในการสถาปนาสมณศักดิ์ของศาสนจักรอังกฤษทั้งพระสังฆราชและบิชอป

สำหรับพระราชอำนาจระหว่างประเทศ ได้แก่

- พระราชอำนาจในการทรงทำและให้สัตยาบันสนธิสัญญา

- พระราชอำนาจในการทรงประกาศสงคราม และสงบศึก

- พระราชอำนาจในการส่งทหารไปต่างประเทศ

- พระราชอำนาจรับรองรัฐอื่น

- พระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งเอกอัครราชทูตและทรงรับทูตจากต่างประเทศ

ความจริงพระราชอำนาจอื่น ๆ ยังมีอีกมาก เช่น พระราชอำนาจในการตัดสินคดีในสภาองคมนตรีซึ่งถือเป็นศาลสูงสุดในเครือจักรภพ เป็นต้น

ตอนต่อไปจะได้ลงสู่การใช้พระราชอำนาจบางอย่างในระบอบประชาธิปไตย.


credit :  daylynews