อักษรภาพ ประดิษฐ์เอง ตำนานกำเนิดสรรพสิ่งแต่งเอง และอะไรๆ ที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็ทำได้เองนะคร้าบ
 
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
18 สิงหาคม 2553

นิทานธรรมะ ตำนานกำเนิดสะดือแม่น้ำยม

นิทานธรรมะ ตำนานสะดือแม่น้ำยม

สะดือแม่น้ำ คือ จุดที่ลึกและมีน้ำตลอดปี แม้น้ำทั้งสายจะแห้งขอด สะดือแม่น้ำก็ยังมีน้ำอยู่ จึงเรียกว่าสะดือ นอกจากนี้ สะดือ ยังถือเป็น “ศูนย์กลาง” ขององคาพยพอีกด้วยเช่น สะดือทะเล นับเป็นจุดศูนย์กลางของทะเล, สะดือแผ่นดิน คือ จุดศูนย์กลางของแผ่นดิน ดังนั้น สะดือแม่น้ำ ยังหมายถึงความเป็นศูนย์กลางของแม่น้ำได้อีกด้วย โดยมิได้ถือเอาจากต้นน้ำและปลายน้ำหรือจากการกะกึ่งกลางแม่น้ำเป็นสำคัญก็หาไม่ เนื่องจาก แม่น้ำ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือ ยืดยาวออกไปหรือหดสั้นลงได้ จึงพิจารณาเอาจากลักษณะดินที่ลึกลงไปเป็นสะดือเป็นสำคัญ นอกจากนี้คำว่า “สะดือ” เมื่อใช้กับภูมิประเทศแล้วจะหมายถึง “จุดเริ่มต้น” ได้อีกด้วย เช่น สะดือแผ่นดิน ยังหมายถึง บริเวณแผ่นดินที่เริ่มต้นเกิดเป็นจุดแรก หลังน้ำท่วมโลก แผ่นดินที่ยกตัวพ้นน้ำขึ้นมาก่อน นับเป็นสะดือแผ่นดิน

“แม่น้ำยม” เป็นแม่น้ำหนึ่งในสี่สายสำคัญของแผ่นดินไทย ก่อนที่จะรวมตัวกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ช้านาน นับแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี กล่าวคือ แม่น้ำยมนี้เอง ที่ได้หล่อเลี้ยงให้ความอุดมสมบูรณ์เป็นเส้นเลือดหลักแห่งการเกษตรแก่เมืองสุโขทัย แล้วยังทำให้สุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของประเทศในสมัยอาณาจักรสุโขทัยยังเรืองอำนาจ นับจากวันนั้นถึงวันนี้ แม่น้ำยม ก็มีความสำคัญในระดับ ชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า ๙๐๐ ปี หากจากหาจุด “ชัยภูมิ” หรือจุด “ยุทธศาสตร์” ที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำยมว่าอยู่ที่ใด ก็ควรอยู่ในจังหวัดสุโขทัย เป็นแน่แท้ ในจังหวัดสุโขทัยนั้น มีเมืองโบราณที่สำคัญที่สุด ถึงสองเมือง คือ เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัย ซึ่งเมืองศรีสัชนาลัยนั้น มีความเป็น “ล้านนา” อยู่อย่างสมบูรณ์ แม้ในสมัยปัจจุบัน คนศรีสัชนาลัย ก็ยังพูด “คำเมือง” ได้เหมือนชาวล้านนา ยังมีอาชีพทอผ้า “ซิ่นตีนจก” ทำ “เครื่องเขิน” เผาเครื่องปั้นดินเผาจาก “เตาทุเรียง” และยังมีงานไม้ต่างๆ อีกไม่น้อยด้วย ขณะที่เมือง สุโขทัยในสมัยโบราณนั้นนับว่าเป็นเมืองขอมมาก่อนจึงมีอิทธิพลของวัฒนธรรมขอมและศาสนาพราหมณ์ฮินดู แต่ภายหลังเมื่อขับไล่ขอมออกไปได้แล้ว อิทธิพลขอมและศาสนาพราหมณ์ก็ยังไม่อาจหมดสิ้นไปจากความเชื่อความศรัทธาของชาวสุโขทัยแต่ดั้งเดิมได้ จึงเกิดแนวคิด “ผสมผสานวัฒนธรรม” ของชาวเชื้อชาติต่างๆ รวมไว้ในสุโขทัยแล้วสร้างขึ้นใหม่เป็นของตนเองขึ้น (เมื่อลบล้างความเชื่อเก่าไม่ได้ ก็รับของใหม่มาผสมใหม่เสีย เลย) ดังนั้น เมืองสุโขทัยจึงมีศิลปวัฒนธรรมที่แตกต่างจากศรีสัชนาลัยอย่างชัดเจน นับ เป็น “เมืองใหม่” ในยุคสมัยนั้นก็ว่าได้ และความที่เป็นเมืองใหม่ที่มีความเสรี เปิดกว้างนั่นเอง ทำให้ชนชาติต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยใต้ร่มโพธิสมภารกันอย่างมากมายล้นหลาม จนเมืองเล็กๆ กลายเป็น “ราชธานี” ในที่สุด ในขณะที่เมืองศรีสัชนาลัยยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ สุโขทัย จึงเป็นจังหวัดที่มีรากเหง้าวัฒนธรรมสองสายกระแส คือ วัฒนธรรมเก่าของศรีสัชนาลัย และวัฒนธรรมที่ถูกหล่อหลอมขึ้นใหม่แทนที่แบบขอม ของเมืองสุโขทัย สองเมืองนี้ มี อำเภอ “ศรีสำโรง” อยู่ระหว่างกลาง และมีแม่น้ำยมไหลผ่าน ในศรีสำโรงนั้นยังมีตำบลหนึ่งชื่อ “ตำบลวังทอง” ที่ได้ชื่อว่าวังทอง เพราะแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตำบลนี้ มีจุดหนึ่งที่มีวังลึกมาก และไม่เคยแห้งเหือดเลยตลอดทั้งปีเป็นตาน้ำ แม้ในปีที่น้ำในแม่น้ำแห้งขาดทั้งสาย น้ำในวังนี้ยังมีอยู่เช่นเดิม ไม่มีใครทราบว่าใต้วังนั้น มีอะไรอยู่ และไม่มีใครกล้าพิสูจน์ดูเพราะความหวาดกลัว นี่เองที่เรียกได้ว่าเป็น “สะดือแม่น้ำยม” ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยพอดี นับว่าเป็นชัยภูมิที่เป็น “ศูนย์กลาง” ของสองเมืองโบราณที่สำคัญ และยังเป็นศูนย์กลางของแม่น้ำอีกด้วย

แม่น้ำทุกสายจะมี “สะดือแม่น้ำ” อยู่ แม่น้ำอื่นๆ ก็มีสะดือแม่น้ำเหมือนกัน เช่น สะดือแม่ น้ำโขงอยู่ที่จังหวัดหนองคายเป็นต้น แม่น้ำทุกสายต่างมีประวัติศาสตร์มีความสำคัญและความเป็นมา มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำคงคา, แม่น้ำโขง หรือแม่น้ำเจ้าพระยา แต่แม่น้ำแต่ละสายมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกัน แม่น้ำยมอาจเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ สายหนึ่งในสี่ที่รวมตัวเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้วนับว่า “เล็กแต่เป็นเพชรเม็ดงาม” เพราะเคยเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงราชธานีไทยที่ยิ่งใหญ่มาแล้ว



Create Date : 18 สิงหาคม 2553
Last Update : 18 สิงหาคม 2553 10:09:57 น. 0 comments
Counter : 736 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ฉันนะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




[Add ฉันนะ's blog to your web]