บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
Life&Family(25)...เสียงไวโอลินที่ไม่มีใครได้ยิน





เช้าวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2550 ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ลองต์ฟองต์ พลาซา ในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. นักไวโอลินคนหนึ่งกำลังเล่นดนตรี บนพื้นเบื้องหน้าของเขาวางกระเป๋าไวโอลินที่เปิดอ้าอยู่เพื่อให้คนผ่านทางบริจาคเงิน เป็นภาพปกติของพื้นที่สาธารณะซึ่งมีวณิพกนักดนตรีแวะเวียนมาเล่นหาเศษเงิน

ระดับปรอทยามเช้าในเดือนแรกของปีอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส จัดว่าหนาวเอาการ แต่บรรยากาศดูร้อนรน ในชั่วโมงเร่งด่วนเช่นนี้ ชาวเมืองกำลังรีบไปทำงาน สถานีนี้อยู่ในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารธุรกิจ และราชการ แต่ละนาทีมีคนผ่านไปมาหลายร้อยคน

เสียงไวโอลินแผ่วพลิ้วสดใสกังวาน มันเป็นเพลงของบาค เพลงคลาสสิคกลืนหายไปกับเสียงจอแจของรถและผู้คน กระนั้นมันก็เป็นดนตรีไพเราะเสนาะจิต ฝีมือของวณิพกรายนี้ไม่เลวเลย

คนหลายคนเดินผ่านคนสีไวโอลินไปโดยไม่สนใจ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งหยุดดูแวบหนึ่งแล้วเดินต่อไป ผู้หญิงคนหนึ่งโยนเงินหนึ่งเหรียญลงในกระเป๋าบนพื้น แล้วจ้ำต่อไป อีกไม่กี่นาทีถัดมา มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งหยุดดูเขาเล่นดนตรี แล้วก็เดินต่อไปเพื่อไปทำงาน

ชั่วขณะนั้น เด็กชายคนหนึ่งหยุดฟังเสียงไวโอลินที่เขาบรรเลงอย่างจดจ่อ ทว่าอึดใจต่อมา แม่ของเด็กดึงเขาออกไป เด็กชายยังหันกลับมามองเขาเล่น เด็กอีกหลายคนก็มีปฏิกิริยาต่อเสียงดนตรีคล้ายกัน แต่พ่อแม่ของเด็กทุกคนก็ลากเด็กจากไป

ผ่านไปสี่สิบห้านาทีกับบาคหกเพลง นักดนตรีก็ยุติการแสดง เก็บไวโอลินใส่กระเป๋า นักไวโอลินเดินจากมุมนั้นของซับเวย์ไปเงียบๆ ไม่มีใครปรบมือชื่นชมวณิพก สี่สิบห้านาทีนั้นมีเพียง 6-7 คนที่หยุดฟังเขาเล่นดนตรีเพียงครู่สั้นๆ ยี่สิบคนให้เงินแต่ไม่หยุดฟัง นักไวโอลินเก็บเงินบริจาคได้ 32.17 ดอลลาร์จากผู้ผ่านทาง 27 คน

มันคงเป็นเช้าวันหนึ่งที่เหมือนกับทุกๆ เช้าในสถานีรถไฟใต้ดิน ผู้คนเดินผ่านมาแล้วผ่านไป ต่างแต่ว่าเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นถูกบันทึกไว้ในกล้องวิดีโอที่ซ่อนอยู่

มันคงเป็นการแสดงของนักดนตรีไส้แห้งคนหนึ่งในซับเวย์ที่ไม่มีคนสนใจเช่นทุกวัน ต่างแต่ว่านักไวโอลินผู้นี้มิใช่วณิพกยากไร้หรือนักดนตรีฝึกหัด นามของเขาคือ โจชัว เบลล์ นักไวโอลินมือหนึ่งของโลก เครื่องดนตรีในมือของเขาคือ สตราดิแวเรียส ปี ค.ศ. 1713 ราคา 3.5 ล้านดอลลาร์

สองวันก่อนหน้านั้น โจชัว เบลล์ เล่นไวโอลินที่ซิมโฟนี ฮอลล์ เมืองบอสตัน ราคาค่าตั๋วเฉลี่ยหนึ่งร้อยดอลลาร์ คนดูเต็มโรง!

นี่เป็นการทดลองศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในเมืองใหญ่ ริเริ่มโดยหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ เป็นการวิจัยเรื่องการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น รสนิยมของคน และการจัดลำดับความสำคัญของคน ใกล้ๆ จุดที่นักดนตรีเล่นไวโอลิน กล้องวิดีโอที่ซ่อนอยู่เก็บภาพทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นในช่วงสี่สิบห้านาทีนั้น

คำถามที่ผู้ทำวิจัยตั้งไว้คือ มนุษย์เรามีความสามารถในการรับรู้ความงามหรือไม่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เราจะหยุดเพื่อซึมซับความงามนั้นหรือไม่ เรามีความสามารถในการพบ ‘เพชรเม็ดงาม’ ในสภาพแวดล้อมที่คาดไม่ถึงหรือไม่

ในจำนวนคน 1,097 ที่เดินผ่านจุดนั้น มีเพียงเจ็ดคนที่หยุดฟังเสียงดนตรี และเพียงคนเดียวที่จดจำนักดนตรีได้

มันตั้งคำถามกับเราว่า เราสูญเสียโอกาสที่จะรับสิ่งที่ดีและงดงามไปมากมายเท่าไรแล้ว จากพฤติกรรมแสนเร่งรีบของเรา?

คิดดูก็น่าขัน คนส่วนมากใช้ชีวิตแบบรีบร้อนจนไม่มีเวลาใช้ชีวิต! เวลายี่สิบสี่ชั่วโมงผ่านไปทีละรอบ เหมือนๆ กันทุกวันจนทุกอย่างกลายเป็นเครื่องจักร และหลายคนกลายเป็นหุ่นยนต์

การทดลองยังบอกเราว่า เราอาจจมอยู่ในสังคมที่มองโลกแบบฉาบฉวย คนจำนวนมากเห็นคุณค่าของคนหรือสิ่งของเมื่อเขาหรือมันอยู่ในสภาพแวดล้อมบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เพชรในร้านหรูดูแพงกว่าเพชรแบบเดียวกันที่ร้านในตรอกสกปรก, อาหารจีนปรุงโดยพ่อครัวชาวจีนน่าจะอร่อยกว่าที่ทำโดยพ่อครัวชาวอิรัก, นักดนตรีที่แสดงในศูนย์วัฒนธรรมดูเก่งกว่านักดนตรีริมถนน, หนังสือที่เขียนโดยนักเขียนมีชื่อเสียงน่าจะดีกว่าโดยนักเขียนมือใหม่, ภาพเขียนโดยศิลปินระดับโลกดีกว่าภาพโดยจิตรกรท้องถิ่น ฯลฯ นี่เองที่ทำให้เราพลาดโอกาสใหญ่มากมายซึ่งซ่อนรูปในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

ชีวิตคนเรานั้นไม่ยาวนัก เป้าหมายของแต่ละคนก็ไม่น้อย ดังนั้นบางคนจึงเลือกที่จะรีบเพื่อไปให้ถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด

แต่การใช้ชีวิตมิได้จำเป็นต้องไปให้ถึงที่หมายอย่างเดียว มันคือการชมดูความงามของสองข้างทางชีวิตไปด้วย

เนื้อหาของนวนิยายแห่งชีวิตของเราแต่ละคนอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าบทสุดท้ายเป็นแฮปปี้ เอนดิ้ง หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบทส่วนใหญ่มีความสุขหรือไม่ต่างหาก เพราะหากบทส่วนมากเป็นเรื่องโศกเศร้าหมองหม่น ต่อให้บทสุดท้ายจบด้วยดี มันก็ถือว่าเป็นชีวิตที่เศร้า

บทจบจึงไม่สำคัญเท่าบทอื่นๆ ทั้งเรื่อง

จุดหมายอาจไม่สำคัญเท่าสองข้างทาง

บางครั้งเราอาจต้องวิ่ง บางครั้งก็ควรเดิน แต่ถ้าต้องวิ่งตลอดทางก็คงไม่ใช่ชีวิตที่สนุกนัก

หมายเหตุ : บทความเกี่ยวกับการทดลองนี้ทำให้ผู้เขียน จีน ไวน์การ์เตน หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ได้รางวัลพูลิตเซอร์ในปี พ.ศ. 2551



เรื่อง นทร์ เลียววาริณ



Create Date : 07 มกราคม 2554
Last Update : 7 มกราคม 2554 12:40:55 น. 0 comments
Counter : 1389 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.