หมอกมุงเมือง
Group Blog
 
<<
เมษายน 2567
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
28 เมษายน 2567
 
All Blogs
 

เพื่อนรัก : จุลลดา ภักดีภูมินทร์

เรื่อง : เพื่อนรัก
ผู้เขียน : จุลลดา ภักดีภูมินทร์
สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา
ปีที่พิมพ์ : 2518
เล่มเดียวจบ



          จุลลดา ภักดีภูมินทร์ หรือที่นักอ่านรู้จักกันดี ในนามปากกา สีฟ้า และศรีฟ้า ลดาวัลย์ เป็นนักเขียนนวนิยายรุ่นครู ผู้มีผลงานมากมายหลายแนว สำหรับ “เพื่อนรัก” เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวมิตรภาพแห่งวัยเยาว์ บอกเล่าชีวิตของเพื่อนรักสามคน สามเชื้อชาติ ที่ ความรักความผูกพันในความเป็นเพื่อนนั้น บริสุทธิ์และงดงาม ประทับใจผู้อ่านยิ่งนัก จนเชื่อว่า หลายคนที่มีโอกาสชมภาพยนตร์ น่าจะเสียน้ำตา ในฉากจบของเรื่องด้วยเช่นกัน

           ภุชงค์ เด็กชายวัยเจ็ดขวบ มีโอกาสรู้จักกับจิมมี่ เด็กชายลูกครึ่งอเมริกัน ในวัยเดียวกัน เด็กชายทั้งสอง แม้จะต่างเชื้อชาติ และสำเนียงภาษา แต่ก็มีหัวอกเหมือนกัน นั่นก็คือขาดความรัก จากคนในครอบครัว

          ภุชงค์ ไม่มีแม่ ซ้ำบิดาของเขาก็ไปเรียนต่อเมืองนอก ทิ้งเขาต้องอาศัยอยู่กับ ครูเจิมสิริ แม่เลี้ยงที่มีลูกของตัวเอง และป้าอ้น หญิงแม่บ้านสูงวัยที่ต่างก็ไม่ได้ให้ความรัก เอาใจใส่เขาแต่อย่างใด ซ้ำยังคอยพูดจาที่ทำร้ายจิตใจเด็กชายตัวน้อย และลงโทษในเวลาที่ไม่ได้ดังใจ ภุชงค์มีความใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งถ้ามีโอกาสจะไปตามหาแม่ ที่เขารู้แต่เพียงว่า เธอเป็นนักร้องอยู่กรุงเทพฯ

            ในขณะที่จิมมี่ เด็กชายที่อาศัยอยู่กับบ๊อบ บิดานายทหารที่มีความสัมพันธ์หญิงสาวชาวเกาหลี ก่อนจะมีเขาเกิดขึ้น จากนั้น เมื่อบ๊อบ ย้ายมาเมืองไทย ก็พาจิมมี่ มาอาศัยอยู่ด้วย ส่วนภรรยาชาวเกาหลี ก็มีครอบครัวใหม่ บ๊อบเองเมื่อมาอยู่เมืองไทย ก็มีหญิงสาวชาวไทย มาเป็น “เมียเช่า”อาศัยอยู่ร่วมบ้าน คือ แพตซี่ หรือภัสสรา ที่มีปัญหากับ ลูกเลี้ยง อย่างจิมมี่เป็นประจำ

           นิสัยแก่นกล้า ไม่กลัวใคร และกลั่นแกล้งผู้คนรอบข้าง จนต่างเอือมระอา ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะจิมมี่ ขาดความรัก ทั้งจากพ่อและแม่ ที่ไม่เคยสนใจ จนกระทั่งเขาได้มาพบกับ ภุชงค์ และเมื่อนั้นเอง มิตรภาพของเด็กชายทั้งสอง จึงเริ่มต้นขึ้น
            ++++++++++++++++++++++++
           หมวย เด็กหญิงตัวเล็กๆ ขี้อาย แถมยังพูดไทยไม่ชัด อาศัยอยู่กับนางกิมจู หญิงชราปากร้าย ที่ขอเธอมาเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะ และใช้งานหมวยไม่ต่างกับเป็นคนรับใช้ ชีวิตของหมวย ได้แต่ทำตามคำสั่งและรองรับอารมณ์ของนางกิมจู ที่เปิดร้านขายของในตลาด จนกระทั่งมีโอกาสได้พบกับภุชงค์และจิมมี่ ทำให้หมวยได้รู้จักมิตรภาพความเป็นเพื่อนจากเด็กชายทั้งสอง ที่หมวยไม่เคยได้รับจากใครมาก่อน สำหรับ ภุชงค์เขาเรียกเธอว่า “มะลิ” ส่วน จิมมี่ เรียกว่า “มอลลี่” ด้วยความคุ้นปาก มิตรภาพระหว่างเด็กสามคนเริ่มต้นขึ้นอย่างงดงาม แม้ว่า เด็กชายทั้งคู่ จะตั้งแง่ กับเด็กหญิงที่ขี้แย หวาดกลัวสารพัด แต่ยอมเป็นลูกไล่ขอตามไปทุกที่ จนใจอ่อนทุกครั้งก็ตาม

           และการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็เริ่มต้นขึ้นในวันตรุษจีน...
           +++++++++++++++++++++++++
           เมื่อภุชงค์ ถูกลงโทษจากแม่เลี้ยงและนางอ้น เพราะแอบหนีไปเที่ยวกับจิมมี่ จนทำให้เด็กชายเกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เมื่อจิมมี่ชวนให้ออกไปเที่ยวในตัวเมืองด้วยกัน ภุชงค์จึงไม่ปฏิเสธ โดยมีหมวย ที่ถือโอกาสช่วงตรุษจีนและนางกิมจูไม่ทันได้สนใจ ตามมาด้วย

           จากตัวเมืองโคราชอันเป็นบ้านเกิดนั่นเอง ที่เด็กทั้งสามโบกรถ โดยขอติดรถขนข้าวโพด มาจนถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงอันกว้างใหญ่ ด้วยความคึกคะนองสนุกสนานและต้องการผจญภัย ตามความใฝ่ฝัน ส่วนภุชงค์เองนั้น ลึกๆ ก็ต้องการจะออกตามหาแม่ของเขาอีกด้วย

          เมื่อไม่อาจเดินทางกลับโคราชได้เพราะรถที่มาส่งข้าวโพด ต้องเดินทางต่อ เด็กทั้งสามจึงตัดสินใจออกเดินทางด้วยตัวเอง โชคดี ที่ได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้พึ่งพาอาศัยกินข้าววัดพอประทังชีวิตไปด้วยกัน และที่วัดนั้นเอง ภุชงค์ได้เจอกับผู้หญิงคนหนึ่ง มาทำบุญที่นั่น ภาพของหญิงสาวคนนั้น ทำให้เขาอดนึกแม่ ที่อยู่ในจินตนาการไม่ได้

        และโชคดีที่เหลือเกิน เมื่อหญิงสาวใจดีคนนั้น รู้ว่า ทั้งสามสหาย พลัดหลงมาอาศัยใบบุญข้าววัด จึงพาตัวมาอยู่ร่วมบ้านด้วย ยิ่งทำให้ภุชงค์ หลงเข้าใจไปว่า เธอคือแม่ ของเขา

          เธอมีชื่อว่าเนื้อทอง และบ้านที่ เนื้อทอง พาเด็กทั้งสามมาอาศัย ก็มีลักษณะแปลกประหลาดเต็มทน

        ดูภายนอก เหมือนกับว่า บ้านหลังนี้คงมีแต่ความเงียบสงบ เพราะภายในบ้านเงียบ หน้าต่างชั้นบนปิดสนิท ไม่เปิดเลยสักบานเดียว
พอโผล่เข้าไป ก็เห็นผู้หญิงสาวๆ ห้าหกคน นั่งบ้างนอนบ้าง จับกลุ่มกันเล่มไพ่ฝรั่งอยู่ ภายในห้องโล่งๆ กลางเรือน ไม่มีเครื่องตกแต่งอะไรเลย
             +++++++++++++++++++++
         น่าแปลก บ้านนี้เหมือนไม่มีผู้ชายเลยสักคน แต่เด็กๆ ก็ได้ยินชื่อ “พี่แมน” ดังมาจากปากแม่ครัวตัวใหญ่ ท่าทางดุ และดูเหมือนสาวๆทุกคนในบ้านจะกลัวชื่อนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อมาอยู่สักพัก ความสงสัย ทำให้จิมมี่ อยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะข้อห้าม ที่ไม่ให้ขึ้นไปชั้นบนของบ้าน และเสียงร้องไห้ เสียงกรีดร้อง ราวกับมีผีอยู่บนบ้าน!

          จิมมี่ เข้าใจว่า จะมีอาชญากรรม เกิดขึ้นในบ้าน จึงแอบไปแจ้งตำรวจ แต่ก็ดูเหมือน นายตำรวจที่นั่นจะรู้อะไรบางอย่าง เลยไม่เอ่ยอะไร

         ไอ้บ้านหลังนั้น เขารู้อยู่เต็มอกว่ามันมีอะไรผิดปกติอยู่ ไม่ใช่เรื่องฆาตกรรมลึกลับอย่างที่เด็กลูกครึ่งมันวาดมโนภาพเอาตามประสาเด็กผู้ชายที่สมองนึกถึงแต่การต่อสู้โลดโผนผจญภัยดอก ทว่ามันเป็นเรื่องอื่น ซึ่งหมู่บั้งเดียวอย่างเขาไม่อาจจะเข้าไปแตะต้องได้
กรรมของตำรวจชั้นผู้น้อย บางทีก็อยู่ตรงนี้เอง!

         และต่อมา เด็กทั้งสาม ก็มีโอกาสได้เจอกับคุณน้าใจดี ที่มีชื่อว่า ทองคำ เมื่อรู้ว่า พักอยู่ที่บ้านหลังนั้น คุณน้าสอบถามพวกเขา ถึงผู้หญิงชื่อบัวไหล แต่ ทั้งหมดก็ไม่เคยได้ยินชื่อ คุณน้าใจดีพาเด็กๆ ไปเที่ยวเขาดิน และกินอาหารอร่อยๆ ยิ่งทำให้ หมวยและทุกคนประทับใจ จนอยากจะช่วยคุณน้าตามหาบัวไหล และในที่สุดคืนวันหนึ่ง ความจริงก็ปรากฏ

         เมื่อ นายแมน ชายหน้าตาดีร่างสูงใหญ่ ที่สาวๆทุกคนในบ้านเกรงกลัว สั่งให้เอารถมารับ และพาผู้หญิงคนหนึ่ง ขึ้นรถไปด้วย จิมมี่ ได้ยินแต่ว่า จะพาไปปักษ์ใต้
          และนั่นเอง ที่ทำให้เด็กทั้งสามแอบตามไป โดยขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนรถคันนั้นด้วย
             +++++++++++++++++++++++
          ระหว่างการเดินทางนั้นเอง ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น นายแมน เสียชีวิต ภุชงค์ และ จิมมี่ หนีออกมาได้หวุดหวิด ก่อนรถจะไฟลุกท่วม และ หมวย ก็บาดเจ็บสาหัส โดยมี คุณน้าทองคำตามมาช่วย จึงรู้ภายหลังว่าเขาคือนายตำรวจที่ปลอมตัวมาเพื่อสืบหา คดีลักพาตัวหญิงสาว มาขายซ่อง และช่วยบัวไหลออกมาได้สำเร็จ

       ภุชงค์กับจิมมี่ ไปเยี่ยมหมวยที่โรงพยาบาล โดยไม่รู้เลยว่า นั่นคือโอกาสสุดท้ายของชีวิตเด็กหญิงผู้อาภัพ!

         “ภุชงค์ กะจิมมี่ อย่าหนีหนูไปเที่ยวกันสองคนนะ รอให้หนูหาย แล้วให้หนูไปด้วยนะ หนูไม่ยุ่งหรอกจิมมี่”
ดวงตาแม่หมวยหรี่ลงเล็กน้อย ยิ้มค้างอยู่ริมฝีปากขมุบขมิบเป็นประโยคสุดท้ายว่า
         “หนูไม่ยุ่งหรอก”
        พ่อภุชงค์และพ่อจิมมี่คิดว่า แม่หมวยนอนหลับ เพราะแม่มวยหลับตาพริ้ม
          “เราจะรอให้มอลลี่หาย หายเร็วๆนะมอลลี่”
แล้วหันไปทำเสียงเคร่งขรึมกับพ่อภุชงค์เป็นการเอาใจแม่หมวย เพราะคิดว่า แม่หมวยเพิ่งหลับคงจะได้ยิน
       “มอลลี่ไม่ใช่ผู้หญิงยุ่ง เขาเป็น เอฟ.บี.ไอ. ได้อย่างเรา อย่างภุช็อง”
      ผู้ใหญ่ทั้งสาม คือทองคำ นายแพทย์และพยาบาล มองดูตากัน อยากจะขันก็ขันไม่ออก เพราะรู้ดีว่าเด็กหญิงเล็กๆ ไม่มีโอกาสจะได้ยินถ้อยคำของเพื่อนรักเสียแล้ว

            +++++++++++++++++++++++++
              ภายหลังภารกิจ ทลายแกงค์มิจฉาชีพที่มี นายแมน เป็นหัวหน้าค้าผู้หญิง หมวดทองคำ ตัดสินใจที่จะพา เด็กทั้งสองกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง และครั้งนี้ แม้ภารกิจตามหาแม่ไม่ประสบผล แต่ภุชงค์ก็ได้พบกับพ่อ ที่เพิ่งเดินทางกลับมา และเป็นห่วงเขาสุดหัวใจ อย่างน้อย เขาก็รู้ว่ามีคนที่รักรอคอยอยู่ในขณะที่ จิมมี่เอง บิดา ก็กำลังจะเดินทางกลับสหรัฐ และรอเขาด้วยความเป็นห่วงไม่ต่างกัน ยกเว้นแต่แม่หมวยที่ไม่ได้สนใจอะไร ว่า เด็กที่ตัวเองขอมาเลี้ยงจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

          ที่แม่หมวยจากไปเสียก่อนนั้นดีแล้ว เพราะถ้ามีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อกลับมาถึงบ้านก็คงไม่มีใครดีใจรับขวัญแม่หมวยอย่างเพื่อนรักทั้งสอง แล้ว แม่หมวยก็ต้องโศกเศร้าไปอีกนาน หากจะต้องจากเพื่อนรักสองคนแรกในชีวิตของแม่หมวย เพราะยายกิมจู แกคงไม่ปล่อยให้ออกมาพบ มาเล่นกับเด็กผู้ชายอีก

        แม่หมวยเกิดมาไม่เคยรู้จักความรัก ไม่มีใครเลยที่จะรักเอ็นดูแม่หมวยอย่างแท้จริง ทั้งๆที่ แม่หมวยเป็นเด็กเล็กอายุเพียง 5-6 ขวบ ซึ่งต้องการความรักความอบอุ่นเป็นนักหนา

        พ่อจิมมี่ยังมีบ๊อบเป็นเพื่อน พ่อภุชงค์ ก็ยังมีพ่อที่รักและห่วงใยตน
แต่แม่หมวยไม่มีใครเลย นอกจากพ่อภุชงค์และพ่อจิมมี่ ที่แม่หมวยทุ่มเทความรักให้ตามปะสาเด็ก ที่แม่หมวยชิงจากไปเสียก่อนนั้น ก็อาจถูกต้องและเป็นการดี สำหรับแม่หมวยแล้ว
          เพราะการจากตายของมนุษย์นั้น ในบางกรณีก็เจ็บปวดและทรมานน้อยกว่า การจากเป็นมากมายนัก...


         ผมขอปิดท้ายการเขียนบันทึกการอ่าน ด้วยคำนำ ของ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ต่อการเขียนนวนิยายเล่มนี้ และบทความในเพจ หอภาพยนตร์ ที่เขียนไว้ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

       ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงสะท้อนสังคมเช่นเดียวกับผลงานเรื่องก่อนหน้าของสักกะ แตกต่างที่สะท้อนผ่านสายตาของเด็ก ๆ ต่อปัญหาในสังคมทั้งเรื่องครอบครัว, การค้าประเวณี, การกดขี่ทางเพศ รวมไปถึงผลกระทบจากสงคราม โดยมีเพลงประกอบอันอ่อนโยนจากการประพันธ์ของ สุรพล โทณะวณิก ช่วยขับเน้นให้เห็นมุมมองแสนไร้เดียงสาของเด็ก ๆ ที่นำแสดงโดยนักแสดงเด็กหน้าใหม่ คือ ปัฐม์ ปัทมจิตร, Dana Myers และ พอหทัย พุกกะณะสุต โดยในการประกวดรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เด็กหญิงพอหทัย พุกณะสุต ผู้รับบทเป็นหมวย ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงิน นักแสดงรุ่นเยาว์ ในขณะที่ตัวภาพยนตร์นั้นได้รางวัลพิเศษ ประเภทภาพยนตร์ส่งเสริมศีลธรรม-ประเพณี

          เพื่อนรัก จึงเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของภาพยนตร์ไทยที่ใช้นักแสดงเด็กเป็นตัวละครหลักและถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังบันทึกสภาพสังคมไทยในช่วงปลายสงครามเวียดนามที่ “มหามิตร” อย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ และยังกระตุ้นเตือนให้ผู้ใหญ่หวนนึกถึงมิตรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ในวัยที่ยังไม่มีเงื่อนไขใดมาแบ่งแยก เพศ เชื้อชาติ พรมแดน หรืออุดมการณ์ทางการเมือง นอกเหนือไปจากนั้น เพื่อนรัก ยังมีคุณค่าในฐานะผลงานศิลปะที่เชิดชูความเป็นเด็กอย่างบริสุทธิ์ ดังคำอุทิศของผู้ประพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในตอนต้นของภาพยนตร์ว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ หากจะมีความดีอยู่บ้าง ผู้ประพันธ์ขออุทิศให้เด็กที่น่ารัก ซึ่งเกิดมาด้วยความบริสุทธิ์ เหมือน ๆ กันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กภาษาใดในโลก... โลกซึ่งกำลังคับแคบ และซึ่งมนุษย์ผู้ใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นทุกที”

          +++++++++++++++++++++++++
            สำหรับเรื่อง “เพื่อนรัก” นี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2520 โดยผู้แสดงบทบาท ภุชงค์ จิมมี่ และ หมวย คือเด็กชาย ปัฐม์ ปัทมจิตร เด็กชายเดน่า ไมเออร์ และ เด็กหญิงพอหทัย พุกกะณะสุต ร่วมด้วยคุณสมบัติ เมทะนี ซึ่งผมคิดว่าน่าจะรับบท น้าทองคำ วีรบุรุษในดวงใจของเด็กทั้งสาม รวมถึงคุณทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา และนักแสดงท่านอื่นอีกมากมายครับ


หมายเหตุ ผมขอขอบคุณภาพประกอบ จากเพจ เรื่องย่อหนังไทยในอดีต ครับ





 

Create Date : 28 เมษายน 2567
0 comments
Last Update : 28 เมษายน 2567 16:13:20 น.
Counter : 17 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สามปอยหลวง
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




ฉันติดคุก ครั้งนี้ ชั่วชีวิต เพราะทำผิด คิดรัก ตัวอักษร ถูกคุมขัง ตั้งแต่เช้า จนเข้านอน ขอวิงวอน โปรดอย่า มาประกัน

คุกหนังสือ คือโซ่ทอง ที่คล้องล่าม คุกหนังสือ คือความงาม ในความฝัน คุกหนังสือ คือดนตรี กล่อมชีวัน คุกหนังสือ คือสวรรค์ ฉันรักเธอ

จาก คุกหนังสือ : แคน สังคีต

New Comments
Friends' blogs
[Add สามปอยหลวง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.