เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
13 เมษายน 2551

ตอนที่ 4 กลับสู่รังเรียน

โรงเรียน ฮ นกฮูก
เรื่องราวของหม่าม้า ที่ร้างราตำราเรียนร่วม 30 ปี แล้วตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนใหม่ในวัย ฮ นกฮูก




ตอนที่ 4 กลับสู่รังเรียน

“ไม่อ้าว...จะกลับบ้าน..น..น ฮือ ฮือ”

“ ไม่ป้าย..ย โรงเรียน กลัวครูตีเหมือนในทอระทัศน์”

“ หม่าม้ามารับเร็วๆนะ ฮือ ฮือ.”

หลายคนคงจำบรรยากาศกระจองงอแงในวันเปิดเรียนวันแรกกันได้ดี
แทบทุกที่จะโกลาหลวุ่นวายโดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาล บรรดาเด็กๆจะตื่น..กลัว งุนงง แสดงอาการเหรอรา แปลกที่แปลกตา แม้บางคนจะเก่งเก็บสีหน้าไว้อยู่ เมื่อเห็นเด็กคนอื่นๆ ร้องโฮ โฮ ความเก่งก็เริ่มมลาย หน้าเริ่มแหย ปากเบะและร้องไห้ ดึงมือแม่ก้าวเดินออกจากสถานที่นั้น

เปิดเทอมวันแรกจึงเป็นวันอลเวงทั้งสำหรับผู้ปกครอง คุณครูและเด็กนักเรียนตัวจิ๋วๆทั้งหลาย

เปิดเทอมของฉัน แม้จะไม่มีเสียงร่ำไห้หวาดหวั่น แสดงอาการดิ้นทุรนทุราย แต่ในใจก็ขอยอมรับว่ามีอาการวิตกจริตไม่แพ้กัน

คณะวิชาที่จะกลายเป็นรังเรียนแห่งใหม่ในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปี แยกออกมาจากมหาวิทยาลัยเดิมมาตั้งเป็นแคมปัสต่างหากในอาคารออฟฟิคใหญ่แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก

บริเวณนี้มีอาคารออฟฟิคใหม่ๆหลายแห่ง รองรับการขยายตัวของเมืองออกไปรอบนอก ผู้เรียนถ้าไม่ได้ขับรถมาเองก็สามารถใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือถ้าขยันหน่อยก็เดินจากสถานีรถไฟฟ้าห่างออกไปประมาณ 1 ก.ม. เหงื่อออกกำลังดีก่อนเข้าห้องเรียนเย็นๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักสูตรปริญญาโทหลายสถาบัน ล้วนแยกออกมาบริหารและเช่าพื้นที่ในออฟฟิคสำนักงานสมัยใหม่ทั้งสิ้น เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าคนทำงานละแวกนั้นๆ บนเส้นทางสัญจรที่สะดวกกว่า มหาวิทยาลัยใหญ่ระดับภูมิภาคบางแห่งถึงกับต้องเปิดสาขาในกรุงเทพสำหรับให้คนเมืองกรุงมาเรียนโดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงต้นสังกัด

ดูเหมือนใครๆก็ต้องการจะเรียนต่อด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์เพื่ออยากเรียนจริงๆหรือเพื่อยกระดับวุฒิ ขั้นและเงินเดือน

พื้นที่ของรังเรียนใหม่ มีถึง 3 ชั้น เป็นส่วนห้องเรียน1 ½ ชั้น ที่เหลือเป็นสำนักบริหาร ห้องสมุด ห้องพักอาจารย์พิเศษ และห้องคอมพิวเตอร์ มองสภาพทั่วไป ก็ไม่ได้ตกแต่งเลิศหรูมากนัก มีวัสดุ อุปกรณ์มาตรฐานสำหรับใช้ในโรงเรียนตามสมควร

ฉันเคยรับรู้จากคำบอกเล่าเพื่อนๆที่เรียนด้วยภายหลังว่า บางสถาบันใช้เงินตกแต่งห้องผู้บริหารราวกับห้องสวีทในโรงแรม ทำให้เกิดเสียงครหาว่า เอาเงินค่าเล่าเรียนของเด็กๆ มาปรนเปรอความสุขและสถานภาพของตัวเอง ขณะที่ห้องคอมพิวเตอร์ต้องขี่คอกันแย่งใช้เครื่อง ห้องสมุดก็มีแต่ตำราสมัยโบราณ

วันแรกที่เข้าชั้นเรียน ฉันกะเวลาพลาดไปนิด เพราะไม่ได้ออกจากบ้านตอนเย็นๆโพล้เพล้มานาน คิดไม่ถึงว่าจะเจอสภาพรถติดขนาดหนัก ไม่ขยับเลย แถมฝนก็ตกอีกด้วย จากระยะทางไม่ถึงยี่สิบกิโลเมตร คำนวณเวลาสบายๆน่าจะอยู่ในภายหนึ่งชั่วโมง กลายเป็นชั่วโมงครึ่ง ไม่น่าประทับใจนักสำหรับวันเปิดเรียนวันแรก

พอมาถึงสถานที่ก็หน้าตาเลิ่กลักถามไถ่พนักงานธุรการนั่งเคาน์เตอร์ว่าชั้นเรียนเริ่มหรือยัง โชคดีที่อาจารย์ผู้สอนยังมาไม่ถึงเช่นกัน ฉันรีบจ้ำอ้าวเข้าห้องอย่างรวดเร็ว ในชั้นเรียนมีชายหญิงรออยู่กลุ่มใหญ่พอสมควร




 

Create Date : 13 เมษายน 2551
7 comments
Last Update : 13 เมษายน 2551 20:34:11 น.
Counter : 433 Pageviews.

 


อีกครั้งที่อดอมยิ้มไม่ได้ วินาทีแรกที่เดินเข้าห้องเรียน วงสนทนาเงียบชะงัก พร้อมจับจ้องอิริยาบถของผู้หญิงวัยเดียวกับคุณแม่ที่บ้านซอยเท้าเข้ามาอย่างเร่งรีบ ซึ่งถ้าฉันเดินไปบริเวณโต๊ะสอน ก็จะเปลี่ยนสถานภาพทันที ฮึมม์...ยังไม่ถึงเวลาอันเหมาะอันควร เลยมองหาที่นั่งว่างแถวหน้า หย่อนตัวลง หันไปยิ้มเปิดใจกับพวกเขาก่อน

“มาเป็นนักเรียนเหมือนกันค่ะ”

เสียงแปลกใจพึมพำต่อเนื่อง เด็กสาวๆ 4-5 คนจับกลุ่มคุยเสียงดัง คงเป็นเพื่อนเก่าหรือไม่ก้อทำงานที่เดียว ชวนมาเรียนด้วยกันอีก ที่เหลือในห้องนั่งเงียบไว้เชิง กระทั่งอาจารย์ผู้สอนมาถึง พร้อมคำขอโทษที่มาล่าในชั่วโมงแรกของการเปิดหลักสูตร

อาจารย์มองหน้าฉันครู่ใหญ่ระหว่างแนะนำชื่อให้รู้จัก แม้จะได้รับการบอก กล่าวล่วงหน้าว่ามีนักเรียนอาวุโสอยู่ในชั้นด้วย แต่คาดไม่ถึงว่าจะสูงวัยขนาดนี้กระมัง ดูท่าทีคงอึดอัดใจเล็กๆเหมือนมีผู้ใหญ่มาจับผิดการสอน แต่ผ่านไปสักสองสามครั้งก็น่าจะผ่อนคลายขึ้น

ชั้นเรียนเริ่มแล้ว ด้วยการร่ายยาวถึงหัวข้อวิชาที่จะต้องศึกษาทั้งหมด ความคาดหวังที่ผู้สอน - ผู้เรียนจะได้รับ การอ่านเอกสารและบทเรียนล่วงหน้า การบ้าน รายงานที่ต้องส่งทั้งในนามบุคคลและนามกลุ่ม

เพียงแค่อธิบายรายละเอียดของเนื้อหา หลายคนแอบถอนใจเบาๆ มองเห็นงานหนักลอยอยู่เบื้องหน้า แค่ออร์เดิร์ฟวิชาแรกเท่านั้นเองนะ

เนื่องจากเป็นภาคเรียนแรกของปีการศึกษา พวกเราทุกคนในชั้นต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันหมด ก่อนจะแยกย้ายไปเลือกเรียนวิชาเฉพาะของตัวเองในเทอมที่ 3 และเทอมต่อๆไป

นั่นหมายถึงอย่างน้อยอีก 2 เทอมที่เราจะเจอหน้าเดิมๆกันตลอด ฉะนั้น ระหว่างนี้ ทุกคนยังพอมีเวลาสำรวจชั่งใจดูความถนัดของตัวเอง และปรับตัวเข้ากับวิธีเรียน ตลอดจนเพื่อนร่วมกลุ่มที่สมัครใจเลือกกันเอง

ขอย้ำว่า กลุ่มเพื่อนเรียน เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จเบื้องต้นของการเรียนปริญญาโทให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะการบ้านส่วนใหญ่จะถูกมอบหมายให้ทำงานเป็นกลุ่มย่อย ถ้าได้กลุ่มที่ขยัน รับผิดชอบและขวนขวายก็โชคดีไป

ถ้าได้สมาชิกกลุ่มที่รักสบาย เรียนสบาย กินแรงคนอื่น ก็ต้องพยายามเปลี่ยนกลุ่มใหม่ให้ได้ เป็นเรื่องลำบากใจพอสมควร หากได้กลุ่มเพื่อนที่ไม่ลงตัว(ซะที)

เรื่องเพื่อนร่วมกลุ่มต่างวัยนี้ ฉันจะขอเล่ารายละเอียดในตอนถัดๆไป มีทั้งเรื่องรักโรมานซ์ ทะเลาะเล็กๆ ขัดแย้งหน่อยๆพอเป็นสีสัน

 

โดย: กูรูขอบสนาม 13 เมษายน 2551 20:36:23 น.  

 


เรียนปริญญาโทก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาเหมือนกันนะ แต่ไม่ต้องเอาใบลงทะเบียนหน่วยกิตไปให้เซ็นต์รับทราบเหมือนสมัยปริญญาตรี บทบาทของอาจารย์จะเป็นผู้คอยดูห่างๆมากกว่า สามารถเข้าหาขอคำแนะนำได้หากต้องการ

อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันเป็นผู้หญิง เรียกชื่อเล่นว่า อาจารย์จ้อ อายุอานามแก่กว่าลินินลูกสาวคนโตไม่กี่ปี หน้าตายิ้มแย้มรับแขก สมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

อาจารย์จ้อเคยทำงานบริษัทเอกชนมาก่อนพักหนึ่ง หลังจบปริญญาโทใหม่ๆ แล้วสมัครมาเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ กำลังมองลู่ทางเรียนต่อปริญญาเอกในเร็วๆนี้

“ เรียกดิฉันว่า หม่าม้าก็ได้ค่ะ”

ฉันบอก เมื่ออาจารย์แสดงท่าทีเคอะเขิน ไม่รู้จะเรียกชื่อฉันว่าอย่างไรดี อาจารย์จ้อคงเป็นคนใจดี อยากวางตัวให้สนิทกับลูกศิษย์เลยขอใช้ชื่อเล่นในบทสนทนา

“ คุณเอ้อ...หม่าม้าอาจจะ Culture Shock หน่อยนะคะ ที่ต้องเรียนกับเด็กคราวลูก” เธอเอ่ยอย่างเกรงใจนิดๆเหมือนใครๆก่อนหน้านั้น

“พอรับได้ค่ะ มีลูกๆอยู่ในวัยเดียวกับพวกเขา คุยสัพเพเหระทั่วไปได้ ไม่ตกข่าว”

แต่อย่าถามเชียวนะว่า ดาราคนนี้ชื่ออะไร เป็นแฟนกับใคร เพิ่งเลิกกับใคร หรือนักร้องคนไหนกำลังติดท้อปชาร์ทขายดี มิวสิควีดีโอ ค่ายเพลงไหนเพิ่งได้รับการโหวตว่า “โดน” ใจวัยรุ่นมากที่สุด วีเจกับดีเจต่างกันอย่างไร ทำไมเด็กรุ่นใหม่พูดเร็วระรัวไปหมด มีใครเป็นต้นแบบให้เลียนตามหรืออย่างไร

ครั้งหนึ่ง ฉันขำในความเชยสะบั้นของตัวเอง ขอขยายความขี้เท่อหน่อยเถอะ วันหนึ่ง ขณะนั่งดูโทรทัศน์เพลินๆปออ่อนพูดขึ้นว่า

“หม่าม้า ปออ่อนขอดูโอลิเวอร์นะคะ หม่าม้ายกยอดดูข่าวไปตอนดึกแล้วกัน”

“ อ้าว เดี๋ยวนี้มีหนังวรรณกรรมมาฉายทางเคเบิ้ลด้วยเหรอ ดีจัง”

ฉันเคยอ่าน Oliver Twist เป็นหนังสือเรียนภาษาอังกฤษสมัยมัธยมปลาย เคยผ่านตาภาพยนตร์ที่แสดงโดยมาร์ค เลสเตอร์ ดาราเด็กชื่อดังหน้าตาน่ารัก เสียงเพลง Where is the love ยังครวญเพราะเสนาะหู

“เค้าเก่งนะ หม่าม้า ทำกับข้าวได้มีสีสัน สนุกดี”

“ อะไรกัน โอลิเวอร์ เป็นเด็กกำพร้า จะทำกับข้าวได้อย่างไร ตอนหลังถูกบังคับให้เป็นนักล้วงประเป๋าแล้วเลยเจอกับคุณตาตัวเองต่างหาก”

“โอ๊ย คนละโอลิเวอร์แล้ว หม่าม้าขา นี่...เจมมี่ โอลิเวอร์ เป็นพ่อครัวทำกับข้าวโชว์นะ...”

แล้วลูกสาวก็จัดแจงเปิดช่องเคเบิ้ลให้แม่นกฮูกได้ประจักษ์ในความสามารถของหนุ่มอังกฤษที่มีลีลาทำกับข้าวไม่เหมือนใคร ชวนให้ดูเพลินจนจบ จนบางทีลืมไปแล้วว่าทำอาหารเมนูอะไรในตอนนี้


เห็นมั้ยล่ะ ชื่อเดียวกันแต่ต่างยุคต่างสมัย รับรู้ต่างกันลิบลับ

 

โดย: กูรูขอบสนาม 13 เมษายน 2551 20:38:21 น.  

 


ย้อนกลับมาที่อาจารย์จ้อ เธอให้ความกระจ่างต่อเนื่องถึงบรรยากาศและภูมิหลังของนักศึกษาที่มาเรียน โดยสำรวจจากข้อมูลปีก่อนๆ ปกติคณะจะรับนักเรียนได้ปีละประมาณ 100 -150 คน แบ่งเป็นภาควิชาสาขาผู้ประกอบการ บริหารจัดการทั่วไป บริหารทรัพยากรมนุษย์ มีสัดส่วนลดหลั่นกันไป แต่แนวโน้มการสมัครเรียนสาขาผู้ประ กอบการจะเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าคนรุ่นใหม่สนใจจะทำงานอิสระมากกว่า

“ เด็กนักเรียนที่นี่บางส่วน จะเกาะกลุ่มจากที่เรียนเดิม เลยสนิทกัน ที่เหลือก็กระจัดกระจายมาจากที่อื่นๆ มหาวิทยาลัยรัฐบ้าง เอกชนบ้าง ไม่จำกัดสาขา แรกๆยังไม่คุ้นเคยกันก็ใช้เวลาเรียนรู้พอสมควร พอได้ร่วมงานกลุ่มก็จะสนิทกันมากขึ้นไปเอง”

ส่วนบรรดาคณาจารย์ผู้สอน จะเป็นอาจารย์พิเศษเสียเกือบครึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ภาควิชาต้องการ เช่น มีประสบ การณ์ทำงานในหัวข้อที่ตัวเองสอนเป็นระยะเวลาพอสม ควร มีทักษะการสอนและถ่ายทอดให้คนเรียนเข้าใจ ข้อสำคัญ มีเวลาให้นักเรียนได้ซักถาม พูดคุย นอกเหนือจากชั่วโมงสอน

“บางท่าน พอจบชั่วโมงสอนปุ๊ป ปิดสวิทช์เลย ไม่เปิดช่องให้นักเรียนติดต่อเวลามีปัญหา อย่างนี้ ต่อให้สอนเก่งแค่ไหน ก็ไม่ขอให้กลับมาร่วมคณะอีก”

อาจารย์จ้อชวนสนทนาเรื่องอื่นๆ พอให้ฉันเข้าใจภาพของการเรียนในระดับนี้ แถมเอื้อเฟื้อให้เข้าพบปรึกษาพิเศษได้ทุกเมื่อ เดาเข้าข้างตัวเองว่า คงเพราะอาจารย์เห็นฉันแล้วอดนึกผู้ใหญ่ที่บ้านเธอไม่ได้ เป็นนักเรียน ฮ นกฮูกก็ดีอย่าง พอมีคนให้เอ็นดู(หรือสงสาร กลัวจะไปไม่รอด)อยู่บ้าง

 

โดย: กูรูขอบสนาม 13 เมษายน 2551 20:40:53 น.  

 


เอาล่ะ พักเบรคช่วงแรกแล้ว ยังมีบางคนเพิ่งมาถึงชั้นเรียน หน้าตื่นๆเล็กน้อย แม่บ้านเข็นรถอาหารว่างประเภทแซนวิช และเครื่องดื่มบริการไว้หน้าห้อง มื้ออาหารว่างนี้จะมีเสิร์ฟทุกช่วงเบรคของการเรียน ( รวมอยู่ในค่าเรียนเรียบร้อยแล้ว ) เพื่อไม่ให้ความหิวรังควานสติปัญญา

ฉันดื่มน้ำผลไม้และเคี้ยวอาหารว่างพออิ่มท้อง มองดูนาฬิกาทุ่มครึ่งพอดี ป่านนี้ลินินคงถึงบ้านแล้ว จัดการเรื่องอาหารการกินที่ฉันเตรียมไว้ ตั้งแต่บ่าย คอยปออ่อนกลับมาอีกคนค่อยทานข้าวพร้อมกัน

ส่วนป่านดำมีตารางทำงานที่เลิกช้ากว่าคนอื่น เลยขอทำหน้าที่โชเฟอร์ภาคดึกมารับฉันกลับบ้านทุกคืนที่มีเรียน ใจหนึ่ง คิดอยากจะโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อสำรวจความเรียบร้อย แต่นึกอีกที คงต้องปล่อยๆให้พวกเขาดูแลกันเองบ้าง มัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลัง อาจจะทำให้ฉันเสียสมาธิและความมุ่งมั่นไป

หลังจัดการปากท้องเสร็จ พอมีเวลาเหลืออีกสิบนาที (เอร็ดอร่อยอย่างรวดเร็วมาก ยังไม่ต้องเสวนาพูดคุยกับใคร) ฉันแวะไปชมห้องสมุดซึ่งอยู่ชั้นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ ฉันเคยมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้เมื่อวันเปิดบ้าน (Open House) ให้คนภายนอกเข้ามาฟังหลักสูตร เมื่อเห็นสภาพห้องสมุดที่สะอาดสะอ้าน มีคนดูแลโต๊ะ เก้าอี้ ไม่กระจัดกระจาย หนังสือเรียงแยกเป็นระเบียบตามหมวดหมู่ในระบบห้องสมุดมาตรฐาน ฉันตัดสินใจสมัครเรียนที่นี่ทันที

สิ่งหนึ่งที่ฉันเชื่อเสมอก็คือ คุณภาพของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรจะสะท้อนออกในคุณภาพของห้องสมุด หากห้องสมุดมีหนังสือดีๆเต็มชั้น มีมุมแนะนำหรือโชว์หนังสือใหม่ๆหมุนเวียน มีพื้นที่ให้นั่งอ่านสงบๆ พนักงานเอื้อเฟื้อมีน้ำใจ สร้างบรรยากาศให้ใครๆอยากเข้ามาใช้บริการ ฉันถือว่า มหาวิทยาลัยนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ของการบริการความรู้ได้ระดับหนึ่ง

ตรงกันข้าม ต่อให้มหาวิทยาลัยนั้นมีชื่อเสียงด้านการสอนแค่ไหน แต่ห้องสมุดรกเรื้อ เงียบเหงา ตามชั้นต่างๆมีแต่หนังสือเก่าๆฝุ่นจับเขลอะ ไม่มีการหมุนเวียนรายการยืมหนังสือ ถามเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่ามีหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้หรือเปล่า มุมนั่งอ่านกลายเป็นมุมแอบหลบงานของเหล่านักการหรือแม่บ้าน เหล่านี้ ล้วนเป็นสัญญาณบ่งถึงความเพิกเฉย ผู้บริหารไม่ใส่ใจคลังความรู้ของตนเลยไม่จัดสรรงบประมาณมาให้

แค่นี้ก็พอจะคาดเดาอนาคตของมหาวิทยาลัยนั้นได้แล้ว กระมัง

ฉันยิ้มให้กับพนักงานห้องสมุดเวรกลางคืน ขณะที่อีกฝ่ายยกมือไหว้ให้ความเคารพอย่างสำคัญผิดว่าฉันคงเป็นอาจารย์พิเศษคนใหม่ จะแก้ตัวทันทีก็ใช่ที่ ไว้ค่อยบอกความจริงตอนมายืมหนังสือวันหลังดีกว่า กวาดสายตาดูบรรดาหนังสือใหม่ที่โชว์เฉพาะปก เนื่องจากตัวเล่มต้องผ่านขั้นตอนการบันทึกข้อมูลเสียก่อน จึงจะให้ยืมได้ บอกกับตัวเองว่า ฉันเจอมุมโปรดในโรงเรียนนี้แล้ว

ใกล้ถึงเวลาเรียนอีกครั้ง เสียงซักถามของอาจารย์ผู้สอนกับผู้เข้ามาใหม่ดังแว่วๆ สักพักทุกคนก็ประจำที่ คราวนี้นับจำนวนเกือบเต็มห้อง 30 คน เรานั่งฟังเลคเชอร์ต่อจนถึงสามทุ่ม ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

นี่คือหนึ่งวันแรกของนักเรียน ฮ นกฮูก

“ ร้องไห้แงๆหรือเปล่า หม่าม้า”

เป็นคำทักทายจากลูกชายเมื่อขึ้นมานั่งบนรถ มุ่งสู่บ้านของเรา ฉันทอดสายตาออกไปนอกกระจก แม้จะเป็นช่วงดึก รถราก็ยังคลาคล่ำ ไฟท้ายส่องสว่างวิบวับ

ฉันกลั้นหาวไว้ เหมือนที่พยายามกลั้นระหว่างเรียน




 

โดย: กูรูขอบสนาม 13 เมษายน 2551 20:42:48 น.  

 

 

โดย: กูรูขอบสนาม 13 เมษายน 2551 20:44:04 น.  

 

 

โดย: หนังสือมือสอง (AngelTomorrow ) 13 เมษายน 2551 20:58:07 น.  

 



ในวาระดิถีปีสารทไทย
ขอนำชัยทุกสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์
มานิมิตดวงใจให้สดใส
ดังเช่นน้ำเย็นฉ่ำที่ชโลม
ให้หัวใจมีแต่สุขไร้ทุกข์เอ๋ย...

วันนี้คือวันสำคัญทางประเพณีและจิตใจ
ก็ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าความกตัญญูและอบอุ่น
ที่เรามอบให้ครอบครัวที่รัก..และผู้สูงอายุค่ะ
ขอให้มีความสุขและสมหวังในสิ่งคิดทุกคนนะค่ะ
สำหรับมิตรที่ดีเสมอจากมิตรภาพด้วยหัวใจค่ะ







รอบรู้จังเลยค่ะ

 

โดย: catt.&.cattleya.. 13 เมษายน 2551 23:35:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]