เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
11 เมษายน 2551

ตอนที่ 3 ขยับปีกโผผิน

โรงเรียน ฮ นกฮูก
เรื่องราวของหม่าม้า ที่ร้างราตำราเรียนร่วม 30 ปี แล้วตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนใหม่ในวัย ฮ นกฮูก




ตอนที่ 3 ขยับปีกโผผิน

แล้วฉันก็ได้รับการตอบรับกลับคืนสู่ห้องเรียนอีกครั้ง.... ในที่สุด ทั้งตื่นเต้น ดีใจ แกมวิตกนิดๆ ว่า จะไปตลอดรอดฝั่งหรือเปล่าหนอ เฮอ สอบติดก็กังวล สอบไม่ติดก็กังวล คนแก่นี่ขี้กังวลแบบนี้ทุกคน

“ ได้อยู่แล้วน่า หม่าม้าไม่เคยแพ้อะไรง่ายๆนี่” เสียงเชียร์ของปออ่อนทำให้หัวใจเบ่งบานนิดๆ

“ ตอนเด็กๆ ปออ่อนต้องส่งงานถักแทตติ้ง หม่าม้าอุตส่าห์ไปหาหนังสือต้นแบบแล้วลองถักตามจนด้ายหมดเป็นม้วนๆ แล้วค่อยมาสอนหนูไง”

ฉันนึกถึงภาพในอดีต ที่ต้องช่วยลูกสาวส่งงานฝีมือเย็บปักถักลูกไม้ ร้อยมาลัยต่างๆ ทั้งที่ตัวเองไม่เคยชอบงานประดิดประดอยพวกนี้มาก่อน ดูเป็นงานของเหล่ากุลสตรีเสียจริงๆ ให้ฉันขุดดิน ฟันจอบจนเหงื่อออกยังสนุกเสียกว่า

มีเวลาเตรียมการอีกไม่มาก มีเรื่องส่วนตัวอีกพะเรอที่ต้องจัดการ ฉันบอกลามีตติ้งเพื่อนฝูงชั่วคราว ทุกคนล้วนอวยพรให้โชคดีพร้อมสำทับว่า สามารถกลับใจใหม่ได้ตลอดเวลา ฉันหัวเราะเบาๆกับความปรารถนาดีเหล่านั้น ดูเอาเถอะ จนถึงป่านนี้แล้ว พวกเขายังไม่เชื่อว่า ฉันอยากจะเรียนต่อจริงๆ ( บางคนยังหยอกแรงๆว่า ปีศาจหลงวัยตนเดิมยังสิงอยู่ในร่าง รอวันออกมา ฉันถึงจะกลับมาเป็นคนเดิม)

พอมีเวลาว่างชั่วครู่ ฉันนั่งครุ่นคิดว่าต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้างสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตใหม่ที่เปิดประตูควักมือรับ

ข้อแรก เงินทุน ฉันพอมีเงินเก็บส่วนตัวอยู่บ้างสำหรับค่าลงทะเบียนทั้ง 5 เทอมตลอดหลักสูตร รวมทั้งค่าตำราเรียน เอกสาร อุปกรณ์เครื่องเรียนและค่ารักษาสถานภาพนักศึกษา(ซึ่งจะคืนให้เมื่อเรียนจบ) รวมยอดทั้งหมดก็เกือบสองแสนบาท แบ่งจ่ายทีละเทอม อาจจะหนักสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่มีรายได้ประจำหรือว่างงาน

“พวกเราจะช่วยออกค่าเทอมให้ค่ะ หม่าม้าเก็บเงินไว้เถอะ เผื่อต้องใช้ยามฉุกเฉิน”

ลินินเจ้ากี้เจ้าการชักชวน(แกมบังคับ)น้องอีก 2 คนให้เห็นดีเห็นงามร่วมขันกันออกทุนให้หม่าม้าเรียน เจ้าตัวทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งมีรายได้พอประมาณ จึงสามารถวางแผนบริหารการเงินส่วนตัวระยะยาวได้ดี

“โบนัสของป่านก็พอโปะได้สักเทอมสองเทอมล่ะ”

ลูกชายใจดียอมสละโบนัสให้ฉันล่วงหน้า ป่านดำทำงานในแวดวงไอทีซึ่งเป็นที่ต้องการของหน่วยงานทุกแห่ง งานหนัก เลิกดึก แต่จ่ายดีเมื่อเทียบกับเพื่อนฝูงที่จบสาขาอื่น

“ หนูจะช่วยออกด้วย เอาแตะเฮียสมัยที่ปะป๊า หม่าม้า อาม่า อากง ให้ รับรองอยู่ครบทุกบาท”

ปออ่อนไม่ยอมน้อยหน้าพี่สาว พี่ชาย เพราะเพิ่งทำงานปีแรกจึงไม่มีเงินออมมากนัก ปออ่อนทำงานเป็นผู้ประสานงานในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง เงินเดือนยังน้อยอยู่ ตามพี่ๆไม่ทัน แต่ด้วยนิสัยเก็บเงินเก่งอย่างนี้ อีกไม่กี่ปีคงแซงหน้าได้

ฉันมองดูลูกๆแต่ละคนอย่างซาบซึ้ง ครอบครัวเราเป็นคนชั้นกลาง ไม่ได้ร่ำรวยมากมายนัก แต่ทั้งสามีและฉันก็ทุ่มเทเรื่องการเรียนของลูกๆอย่างเต็มที่ เมื่อนึกถึงว่าพวกเขาจะต้องแข่งขัน ดิ้นรน ต่อสู้ เวียนวายตายเกิดในเมืองหลวง โดยที่พ่อแม่ไม่ได้วางหลักทรัพย์ หรือสะสมความมั่งคั่งไว้ให้ แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันไม่ลืมหยอดคำสอนลงไปเท่าที่ทำได้ก็คือ การมีน้ำใจกับคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่เขาขัดสนจำเป็นจริงๆ

“ หม่าม้าขอบใจทุกคน แต่ไม่ต้องหรอก หม่าม้ามีเงินเก็บในธนาคารอยู่ก้อนหนึ่ง เบิกจ่ายค่าเทอมทีละงวด ก็ยังพอมีดอกเบี้ยเล็กๆน้อยๆหลงเหลือบ้าง” ฉันไม่อยากจะเอาความมุ่งมั่นส่วนตัวไปเป็นภาระให้กับลูกๆ

“ เอาเป็นว่า หม่าม้าอาจจะต้องขอแรงพวกเราขับรถรับ-ส่งไปโรงเรียนหน่อยก็แล้วกัน บางวิชาต้องเรียนตอนเย็น กว่าจะเสร็จก็ดึก ปาไปเกือบ 4 ทุ่ม”

ถ้าเป็นสมัยห้าหกปีก่อน ฉันยังคงขับรถไปไหนมาไหนเองได้อย่างปลอดโปร่ง หากเมื่อเริ่มวัยเกินห้าสิบ สายตาชักพร่ามัว โดยเฉพาะเมื่อต้องเพ่งถนนยามค่ำคืน คอยหลบหลีกการปาดซ้าย ขวา ของเหล่านักบิดและนักซิ่งทั้งหลาย เคยหวุดหวิดเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมขับรถ กลายเป็นคุณนายมีคน(ลูก)ขับให้โดยปริยาย

“ขาไปนั่งแท๊กซี่ได้ แต่ขากลับหม่าม้าไม่อยากกลับแท๊กซี่”

แม้จะไม่ได้เรียกร้องเรื่องเงินค่าลงทะเบียนเรียนจากเด็กๆ พวกเขาสัญญาว่าจะนำซองเงินค่าขนมรวบรวมจากแต่ละคนมามอบให้ทุกสิ้นเดือน



Create Date : 11 เมษายน 2551
Last Update : 11 เมษายน 2551 10:45:13 น. 6 comments
Counter : 693 Pageviews.  

 

จบเรื่องเงินๆทองๆ ทีนี้มาถึงการจัดสรรเวลาให้ครอบครัว ดูซิ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน วันหนึ่งๆช่างมีเวลายาวเหยียด นึกอยากจะทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน ไม่มีข้อติดขัด เข็มนาฬิกาก็ดูเป็นมิตร ไม่เคยเร่งหรือบ่นอิดออด หากฉันผิดเวลา

เหลือบดูตารางเรียนของเทอมแรก มีเรียนตอนเย็น 2 วัน และวันเสาร์ ทั้งวัน ในฐานะนักเรียนเต็มเวลา (เพราะไม่ได้ทำงานอย่างอื่น) ฉันคงต้องจัดตารางชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับโลกใบใหม่ ถึงจะอยู่บ้านช่วงกลางวันเหมือนเดิม แต่ก็คงใช้โมงยามหมดไปกับการอ่านหนังสือ ค้นคว้าวิชาการ ทำรายงานและการบ้าน เหมือนอย่างที่เคยเห็นลินินหมกมุ่นสมัยเรียนปริญญาโทจนหน้าสาวน้อยลงไปชั่วระยะ

“บ้านจะรก ฝุ่นจะเขลอะไปหน่อย ก็ไม่เป็นไรมั้ง”

เรามองพื้นที่รอบๆบ้าน ซึ่งสะอาดสะอ้านเพราะปัดกวาดประจำ ที่บ้านเราเลี้ยงเจ้าเหมียวไว้ในบ้าน จึงต้องหมั่นเช็ดถูบ่อยๆ มิฉะนั้นขนแมวจะปลิวฟุ้งเกาะติดเก้าอี้ เบาะและเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

“ เรางดรับแขกและเพื่อนฝูงสัก 2 ปีแล้วกัน”

ป่านดำเสนอความเห็น แต่น้องสาวคัดค้าน เพราะเจ้าตัวมีเพื่อนมาหาบ่อยตามประสาเด็กสาวๆ ลินินจัดแจงเตรียมแบ่งหน้าที่ทำงานบ้านของแต่ละคน เฉพาะช่วงหยุดเสาร์ – อาทิตย์

“โอโฮ งานเยอะขนาดนี้ หม่าม้าเคยทำคนเดียวได้อย่างไร ทุกวันๆ”

ป่านดำร้องอุบเมื่อถูกมอบหมายให้เช็ดกระจก ขัดมุ้งลวด กวาดหยักใย่บนเพดาน และตัดต้นไม้รอบบริเวณบ้าน ขณะที่ลินินจะดูแลเรื่องการซัก-รีดผ้า กวาดถู ทำความสะอาดบ้าน - ห้องครัว ปออ่อนขอช่วยทั่วไปและดูแลเจ้าเหมียวเป็นพิเศษ

“หม่าม้าจะทำแกงเป็นหม้อๆไว้ หิวเมื่อไหร่ก็ตักแบ่งมาอุ่นแล้วกัน”

ทำอย่างกับครอบครัวเราอยู่เมืองฝรั่งอย่างนั้นแหละ ปรุงกับข้าวกินทีเป็นหม้อใหญ่ๆใส่ในตู้เย็นตุนได้เป็นอาทิตย์ เสียรสชาติหน่อย ไม่เป็นไร นี่เป็นวิธีเดียวที่ทุกคนกลับบ้านมามีข้าวกินอิ่มแน่นอน หลังจากที่ฉันฟังลินินเตรียมจะจ้างบริการปิ่นโตแถวบ้านส่งเฉพาะมื้อเย็น ป่านดำจะซื้อบะหมี่สำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งมาตุนไว้ ส่วนปออ่อนมองหาเมนูสารพัดจากไข่ ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ต้ม
ไข่ตุ๋น ฉันคงเป็นหม่าม้าที่ใช้ไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ลูกๆกินอาหารตามยถากรรมโดยข้ออ้างเพียงว่าไม่มีเวลา

วันอาทิตย์ซึ่งเคยเป็นวันสบายๆของแม่ลูก 4 คน ก็จะกลายเป็นวันที่เผื่อไว้สำหรับติวทบทวนความรู้อีกต่างหาก เพราะโดนขู่ไว้นักหนาว่าเรียนหนัก ในเมื่อไม่มีพื้นฐานหรือประสบการณ์มาก่อน ฉันต้องพยายามมากกว่าคนอื่นสองเท่า ถ้าไม่อยากเป็นตัวถ่วงของชั้นเรียนซึ่งมีแต่คนหนุ่มสาว

ฉันขอเวลาลูกๆแค่ 2 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเราก็จะกลับมาเป็นครอบครัวสุขสันต์ตามเดิม


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 11 เมษายน 2551 เวลา:10:48:34 น.  

 

เรื่องต่อมาก็คือ อุปกรณ์การศึกษา เปล่า ไม่ใช่ปากกา ดินสอ สมุดจดเลคเชอร์ หรือแฟ้มใส่เอกสาร เหมือนสมัย 30 ปีก่อนโน้น

เมื่อพูดถึงอุปกรณ์การศึกษาสมัยนี้หมายถึงคอมพิวเตอร์ และที่กลายเป็นอวัยวะส่วนที่งอกออกมา ไปไหนๆก็ต้องหิ้วติดตัวไปด้วย นั่นก็คือ โน้ตบุ๊ค ลำพังแค่คอมพิวเตอร์ พีซี ธรรมดาก็มีปุ่มคำสั่งมากมายให้เลือกจนงง แถมยังมีโปรแกรมอัจฉริยะปรับเปลี่ยนชิ้นงานได้ตามสั่ง

สมัยที่ฉันเป็นเลขานุการ อุปกรณ์มาตรฐานที่สุดก็เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าหัวก๊อกกระเตาะกระแตะ หรูหน่อยก็เครื่อง
กึ่งอีเล็คทรอนิคส์ เสียงเบาลงนิดหนึ่ง ฉันออกมาทำหน้าที่แม่บ้านก่อนที่จะมีโอกาสได้สัมผัสผู้ช่วยคนใหม่ประจำสำนักบ้านคือเจ้าคอมพิวเตอร์นี่แหละ กว่าที่พนักงานคนใช้เครื่องจะควบคุมและสั่งงานได้คล่องก็แทบจะดวลกันตายไปข้างหนึ่ง (คนที่ขอชิงตายไปก่อนก็มักจะเป็นคนใช้งาน)

“วันนี้เจ้านายขู่ว่า ถ้าทำคอมพ์แฮงก์อีก จะตัดเงินเดือน”

ลูกน้องคนสนิทซึ่งขึ้นมาทำหน้าที่แทน แอบโทรศัพท์มาระบายทุกข์เนืองๆ เมื่อบริษัทตัดสินใจสั่งซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ รุ่นแรกๆจะใหญ่ เทอะทะ ไม่สวยงามหรือดูใช้งานคล่องเหมือนปัจจุบัน สมัยนั้น คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ทุกสำนักงานหวงนักหวงหนาเพราะราคาแพงมาก คนที่รู้เรื่องใช้งานคล่องก็มีไม่มาก ต้องมีคนดูแลหนึ่งคนและจำกัดการใช้เฉพาะงานเท่านั้น แค่เครื่องรวนเล็กๆ คนทั้งออฟฟิคแทบจะหยุดงานอื่นทั้งหมดมาเฝ้าพะเน้าพะนอให้กลับคืนสู่สภาพเร็วไว

มาถึงเดี๋ยวนี้ เจ้าเครื่องสมองกลอัตโนมัติกลายเป็นอุปกรณ์ดาษดื่นที่แทบทุกบ้านจะขาดไม่ได้ หากมีสมาชิกเด็กๆหรือคนวัยทำงานอาศัยอยู่ ป่านดำยกเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องส่วนตัวออกมาตั้งใกล้โต๊ะทำงานแม่ ตัวเองมีโน้ตบุ๊คตัวเก่งของบริษัทใช้ประจำอยู่แล้ว

“หม่าม้าอย่าใช้โน้ตบุ๊คเลย หิ้วไปหิ้วมาไหล่จะเสียเปล่าๆ “

แม้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ลูกชายไม่สนับสนุนให้แม่ใช้โน้ตบุ๊ค เพราะขนาดของปุ่มและจอที่เล็กกว่าปกติ ทำให้นิ้วมือและสายตาผู้สูง อายุเมื่อยล้าได้ อีกทั้งน้ำหนักแต่ละเครื่องก็ไม่เบาเลย พยายามใช้คอมพิวเตอร์พีซี ธรรมดาดีกว่า

ป่านดำจัดแจงเปลี่ยนจอใหม่ให้มีขนาดใหญ่สุดดูสบายตา พร้อมจดวิธีเปิดเครื่องและกดคำสั่งต่างๆให้ฉันลองเล่นดู ทักษะด้านการพิมพ์สัมผัสสามารถประยุกต์ได้ดีและเร็ว เมื่อนำมาใช้บนแป้นคีย์บอร์ด ใช้บ่อยๆ ไม่นานก็เริ่มคล่อง ยกเว้นเสียแต่เครื่องจะแสดงอาการรวนและขี้เกียจเมื่อไหร่ก็ต้องหยุดพัก รอให้ผู้รู้มาแก้ไข

เมื่อใช้คอมพิวเตอร์กับงานเอกสารพื้นฐานได้แล้ว ฉันก็เริ่มไต่ระดับอีกขั้นถึงการสร้างแฟ้มงาน การใช้อินเตอร์เน็ท การส่งและรับจดหมายอีเล็คทรอนิกส์ การหาข้อมูลบนเว็ปไซค์ต่างๆ ตลอดจนการรู้จักดาวน์โหลดข้อมูล

ท่านผู้อ่านเป็นคนรุ่นใหม่คงนึกหงุดหงิดว่าหม่าม้าคนนี้ช่างเชยเบอะเสียนี้กระไร แค่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็ต้องมาอวดด้วย ก็ต้องขอกราบประทานโทษที่สร้างความรำคาญใจ เพียงแต่อยากจะแบ่งปันเสี้ยวชีวิตที่พลิกผันให้ได้รับฟัง จากมือที่เคยจับตะหลิวพลิกไข่เจียว (และอื่นๆ)วางบนจาน มาจับเม้าท์ คลิก คลิก คลิก ก็ได้รูปไข่เจียว(เสมือน)ปรากฏบนจอเหมือนกัน (เพียงแต่กินไมได้) ชั่วชีวิตนี้ฉันไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสจับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเป็นราวและต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน

“ พอใช้คล่องแล้ว จะสอนวิธีโหลดภาพจากกล้องลงไป ง่ายนิดเดียว”

ลูกชายผู้คลุกอยู่กับงานไอทีดิจิตอลกล่าวต่อท้าย เหมือนเป็นเรื่องโลว์เทคธรรมดาสามัญ สำหรับฉัน..กว่าจะทำเป็นก็แทบแย่ สายไฟพัลวันกันหมด หาช่องเสียบไม่เจอ


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 11 เมษายน 2551 เวลา:10:51:02 น.  

 

การเตรียมตัวต่อมาก็คือการแต่งกาย
แม้จะอนุญาตให้นักศึกษาสามารถแต่งตัวตามสบายได้ (ยกเว้นสายเดี่ยวและรองเท้าแตะ) แต่ในวัยวัย ฮ นกฮูกอย่างฉัน คงมีโอกาสเลือกสไตล์เสื้อผ้าชุดไปรเวทได้ไม่กี่ชุด อาชีพแม่บ้านหลายปีที่ผ่านมาทำให้ไม่ค่อยมีความจำเป็นต้องแต่งตัวภูมิฐานอวดตำแหน่งหน้าที่นี้กับใคร

ฉันเปิดตู้เสื้อผ้าในห้อง มีชุดกระโปรงตัวเก่งใส่ซ้ำๆจนสีซีด เสื้อผ้าไหมเทียมสองสามตัวที่ลูกๆซื้อให้ในวันเกิด
ยังใส่ไปไหนมาไหนได้ไม่ซอมซ่อเกินไป ควานหากางเกง แทบจะไม่มีเลย เพราะเลิกตัดมานานแล้ว รูปร่างที่เปลี่ยนไปตามอายุ (และไขมันพอกพูน)ที่เพิ่มขึ้นทำให้ไม่เหมาะกับการใส่อาภรณ์ชิ้นนี้เสียเลย

ลงท้าย ฉันคงใส่ได้แต่กระโปรงป้ายๆหลวมๆคลุมหัวเข่าสุภาพ(และเชยดี) ดูแล้วเหมือนครูประจำวิชาภาษาไทยมากกว่าจะมาเป็นนักศึกษาขอความรู้จากอาจารย์ อาจจะต้องหาซื้อเสื้อสูทดีๆสักตัวใส่คลุมไปเรียนกลายเป็นเครื่องแบบประจำตัว ส่วนกระเป๋าถือนั้น ทางภาควิชาจะแจกกระเป๋าเอกสารให้ทุกคน หลังจากชำระค่าเรียนเทอมแรกเรียบร้อย

ฉันมองกระจกดูหน้าตัวเอง ผมที่ยาวประบ่าถูกจับซอยให้สั้นลง ต่อแต่นี้คงต้องหาสไตล์ผมที่ดูแลง่าย ไม่ต้องดัด เซ็ทหรือเข้าร้านทำผมบ่อยนัก

การเตรียมตัวเรื่องสุดท้ายก็คือ สุขภาพ
เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องอดทน ป่วยให้น้อยที่สุดในระยะเกือบ 2 ปี ฮ นกฮูกอย่างเราๆต้องค่อยหมั่นตรวจสอบสุขภาพของตัวเองเสมอ

สุขภาพทางกายอาจจะล้าง่าย เหนื่อยง่าย ยังพอรับมือไหว แต่เรื่องหนึ่งที่ฉันยอมแพ้ก็คือ ระบบสมองที่ถูกใช้งานจนล่วงเลยมาถึงป่านนี้ จะจำอะไรได้สั้นลงและลืมได้ในทันที โดยเฉพาะชื่อบุคคลที่เพิ่งรู้จักระยะหลังๆ

ไม่น่าเชื่อที่สมัยก่อนฉันเป็นนักอ่านนิยายตัวยง สามารถจับชื่อคู่พระเอกนางเอกในนิยายได้นับร้อยเรื่อง มาถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังจำได้ลางๆ หากชื่อใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆกลับเป็นเพียงเสียงกระซิบผ่านแล้วผ่านเลย

บางครั้งลูกพาเพื่อนเข้าบ้าน ถามว่า หม่าม้าจำได้มั้ย เพื่อนที่เคยมาวันก่อน เพื่อไม่ให้เสียเชิงฉันก็มักจะพยักหน้า แต่ใจครุ่นคิดว่าชื่ออะไรน้า....เอิน เอิง อวนหรือ อ้อน เอ...สงสัยจะอ้นแน่ๆ ต้องเลียบๆเคียงๆคุยโน่นคุยนี่จนเจ้าตัวเอ่ยชื่อออกมาว่า “อ้วน”

นอกจากสมองจะจดจำอะไรได้สั้นและช้าลงแล้ว สมาธิก็ลดถอยลงด้วย อ่านหนังสือหน้าหนึ่งต้องอ่านซ้ำ 2 รอบถึงจับใจความได้ เรื่องขำขันบางเรื่องต้องให้คนเล่าซ้ำช้าๆอีกครั้งถึงจะขำตาม ขณะที่คนอื่นปล่อยฮาไปก่อนแล้ว (คล้ายๆกับดูหนังฝรั่งอ่านไตเติ้ลภาษาไทยจบแล้วค่อยขำ) ดูเผินๆเหมือนเป็นคนสมาธิสั้น แต่จริงๆแล้วฉันว่าน่าจะเป็นสมาธิวกวนมากกว่า

ปัญหาต่อมาก็คือสายตาที่เริ่มยาว ไม่สามารถอดทนกับการอ่านตัวอักษรเล็กๆที่ขยิบเรียงราย เต็มหน้ากระดาษหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ แม้จะมีแว่นตาช่วยแล้วก็เถอะ วิธีนี้หมอแนะนำให้หยุดพักสายตา แล้วไปทำอย่างอื่นเสีย เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนต่างๆที่เมื่อยล้าง่ายเมื่อนั่งทำงานนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถเดินไปเดินมาเสียบ้าง มิฉะนั้นอาจเกิดอาการปวดร้าวจนชาเข้าเส้น เดือดร้อนต้องไปทำกายภาพ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นไปตามสังขารนั่นแหละ ถึงจะไม่ได้กลับเข้าห้องเรียน สรีระต่างๆก็ต้องเสื่อมไปตามธรรมชาติ ก็หวังว่าการใช้ความคิดวิเคราะห์มากขึ้นจะช่วยกระตุ้นระบบสมองให้มีอะไรเต้นตึ๊บๆตื่นตัวได้บ้าง

ประการท้ายสุดที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ การปรับนาฬิการ่างกายในตัวให้ชินกับชั่วโมงเรียนใหม่ ดูจากตารางเรียน หลายวิชาเริ่มสอนตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสามทุ่มเศษๆ ปกติช่วงเย็นจนถึงค่ำของฉัน คือเวลาพักผ่อนเหมือนคนทั่วไป ปลดปล่อยร่างกายให้หายล้าจากกิจวัตรประจำวัน พูดคุยเล็กๆน้อยๆกับลูกๆ ดูรายการข่าว ฟังเพลง อ่านนิตยสารเพลินๆก่อนจะหลับใหลเมื่อข่าวภาคดึกจบลง

จากนี้ไป กลายเป็นช่วงที่สมองต้องถูกใช้งานมากที่สุดในการฟัง ซึมซับ ทำความเข้าใจและจดจำ อาการเตือนเช่นง่วงเหงาหาวนอนอาจ จะขอแทรกทำหน้าที่บ้าง ก็ต้องพยายามให้เกิดน้อยที่สุด พยายามไม่ดื่มกาแฟหรือชาเพื่อกระตุ้นตื่นเพราะกลัวจะเกิดอาการตาค้าง จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

ฉันเริ่มปรับนาฬิกาในร่างกายให้รองรับกับวิถีชีวิตใหม่ เช่น การอ่านหนังสือล่วงหน้าตอนหัวค่ำ ฟังวิเคราะห์ข่าวธุรกิจประจำวันจากช่องเคเบิ้ลทีวีแล้วจดสรุปเก็บเข้าแฟ้มบันทึกส่วนตัว เปิดดูอินเตอร์เนทเข้าเวปไซค์ของคนรุ่นใหม่เพื่อสังเกตและอ่านความคิดเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะต่างๆ รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้บ้าง ต้องมาถามความกระจ่างจากลูกๆ

ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องจัดแจงและตระเตรียมสารพัด ฉันดูปฏิทิน พร้อมนับวันเปิดเทอมที่ใกล้เข้ามาอย่างจดจ่อ




โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 11 เมษายน 2551 เวลา:10:54:13 น.  

 


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 11 เมษายน 2551 เวลา:10:56:33 น.  

 


โดย: นายแจม วันที่: 11 เมษายน 2551 เวลา:11:16:44 น.  

 
ลองดูอีก

Cool comment CLICK HERE !!! dกd


โดย: กูรูขอบสนาม IP: 124.121.99.111 วันที่: 12 เมษายน 2551 เวลา:12:15:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]