เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
9 เมษายน 2551

ตอนที่ 2 สอดส่ายหารังใหม่

โรงเรียน ฮ นกฮูก
เรื่องราวของหม่าม้า ที่ร้างราตำราเรียนร่วม 30 ปี แล้วตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนใหม่ในวัย ฮ นกฮูก




ตอนที่ 2 สอดส่ายหารังใหม่
ตะเบบูย่าทิ้งกลีบดอกสีชมพูอ่อนโรยทั่วพื้นถนนหน้าบ้าน ละลิ่ว ซ้ายที..ขวาทีเหมือนเริงร่ายตามจังหวะลม กลีบเบาบางสีชมพูอ่อนใสชวนให้นึกแก้มระเรื่อของเด็กทารกที่นุ่มนิ่มละเอียดเบาบางไม่แพ้กัน ถ้าเป็นช่วงเวลาที่ฉันว่างจากภารกิจงานบ้าน ก็มักจะทอด สายตามองฉากระบำดอกไม้อย่างรื่นรมย์ ( แล้วก็ต้องลุกไปกวาดถนนก่อนกลีบดอกจะร่วงรกเต็มไปหมด)

ฉันมักจะเฝ้ามองธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงผ่านต้นไม้ ใบหญ้า เช่น ตะเบบูย่าจะทิ้งดอกเหมือนร่ำลาสายลมหนาว ดอกคูณหรือชาวบ้านรู้จักกันในชื่อดอกลมแล้ง ชูช่อเหลืองละออกลางมีนาคมตามด้วยหางนกยูงแดงเพลิงทั้งต้นต้อนรับเด็กๆเปิดเทอม ส่วนหน้าฝนต้นไม้เล็กใหญ่จะสงวนดอกขออวดแต่ใบเขียวๆ จนถึงหน้าหนาวอีกครั้งค่อยผลิแต้มแปลงโฉมใหม่ ฉันมองความเปลี่ยนแปลงของพรรณพฤกษ์เหล่านี้ด้วยใจที่รื่นรมย์ จนลูกๆตั้งฉายาหม่าม้าของเขาเป็น “ผู้เฝ้าฤดูกาล”

ทว่า...นับจากนี้ ตั้งแต่เริ่มตัดสินใจจะกลับไปเป็นนักเรียนใหม่ ซึ่งต้องจัดสรรเวลาให้เข้มงวดขึ้น ไม่สามารถจะเอ้อระเหยปล่อยความคิดลอยละล่องไปมาเหมือนก่อนได้อีกแล้ว

เมื่อตั้งเข็มทิศว่าจะเรียนต่อด้านธุรกิจ ลำดับต่อมาที่ฉันต้องสืบเสาะค้นหาก็คือ จะมีสถาบันไหนบ้างที่เปิดโอกาสให้คนวัย ฮ นกฮูก ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจเลยเข้าเรียนได้บ้าง คำตอบที่ได้มาก็คือ แทบไม่มี หากไม่ไปเรียนร่วมกับเด็กๆหน้าอ่อนที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาหยกๆ

“หม่าม้าเรียนโปรแกรม Executive มั๊ยละคะ เรียนกับพวกคนทำงาน เป็นผู้ใหญ่ๆหน่อย จะได้คุยภาษาเดียวกัน”

ลินินเปิดหลักสูตรต่างๆที่กองอยู่เบื้องหน้า ดูรายละเอียดของแต่ละมหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชนมีชื่อ

“ หม่าม้ากลัวจะเรียนไม่ทันพวกเขานะสิ ทุกคนจะมีพื้นฐานการทำงานอยู่แล้ว คุยไม่เท่าไรก็กลมกลืนกันได้ เราจะกลายเป็นตัวถ่วงของชั้น”

นี่คือข้อกริ่งเกรงที่ฉันกังวล จริงอยู่ การเรียนร่วมกับวัยเดียวกันอาจจะลดความเคอะเขินลงได้บ้าง แต่ประสบ การณ์ ความสำเร็จที่ต่างกัน ยิ่งเพิ่มความประหม่าและกระดากอายสำหรับคนที่ไม่มีเรื่องเล่าโอ้อวดในชีวิตอย่างฉัน เออ...ถ้ามีใครอยากรู้ว่าปลูกพริกปลูกกะเพราให้ปลอดแมลงทำอย่างไร ต้นตำลึงมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ดูต่างกันอย่างไร หรือปลาจาระเม็ดขาวนึ่งกินอร่อยกว่าจาระเม็ดดำซึ่งเหมาะเอาไปทอด อย่างนี้ค่อยมีเรื่องให้เล่าหน่อย

“เขาคุยฟุ้งถึง Einstein เราได้แต่ส่ายหน้ากังวัลใจ I worry” ฉันเล่นคำพ้องแต่เปรียบนัยให้ลูกสาวฟังชัดเจน

“ หม่าม้าจะทนพวกเด็กๆได้เหรอคะ กระวี๊ดกระว๊าด ชิ้ทแช้ทกันทั้งวัน”
ลูกสาวไม่คลายห่วง ความจริงลินินก็เลยวัยสาวรุ่นมาไม่เท่าไหร่ แต่เพราะความเป็นพี่สาวคนโตจึงทำตัวเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ จนน้องๆอดค่อนไม่ได้ว่าเป็น “แม่แก่” ประจำบ้านอีกคน

“ได้ซิ ทนพวกเรามาตั้งกี่ปีแล้วล่ะ จะทนอีกสักปีสองปี เป็นไรไป”

สองแม่ลูกช่วยกันค้นหารังเรียนใหม่สักพักใหญ่ ล้วนเจอข้อจำกัดสารพัดไปหมด เช่นอายุต้องไม่เกิน 35 ปี พื้นฐานปริญญาตรีด้านบัญชี ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมหรือสายวิทยาศาสตร์อื่นๆ ประสบการณ์อย่างน้อย 3-5 ปี ตำแหน่งงานที่ดำรงอยู่ต้องเป็นผู้จัดการระดับกลางขึ้นไป ค่าเล่าเรียนที่แพงลิบจากหนึ่งแสนจนถึงเกือบหกเจ็ดแสนแล้วแต่โปรแกรม

“อันนี้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเมืองนอก มีโปรเฟสเซอร์บินมาสอน จ่ายแพงหน่อยค่ะ”

“ อันนี้รับแต่ผู้บริหารทำงาน 10 ปีขึ้นไป สอบสัมภาษณ์อย่างเดียว”

“ โอ้โฮ โปรแกรมสำหรับผู้ต้องการจะเป็น CEO ในอนาคต สงสัยอีกหน่อยต้องมีโปรแกรมประธานบริษัท”

“ อันนี้ยากหน่อยต้องสอบทั้ง G-Math ภาษาอังกฤษและความรู้ทางธุรกิจ ”

“ หม่าม้าต้องไปสอบ โทเฟล ให้ผ่าน 550 เพราะเป็นโปรแกรมอินเตอร์”

“สนใจอันนี้มั้ยคะ ทั้งชั้นเรียนรับไม่อั้น ฟังเลคเชอร์รวม สอบครั้งเดียวปลายเทอมแถมมีทริปต่างประเทศด้วย”

“ หรือจะเรียนโปรแกรมหลักสูตร 2 ภาษา เรียนเมืองไทย 1 ปี แล้วไปออสเตรเลียอีก 1 เทอม”

แต่ข้อกำหนดไหนก็ไม่ตลกคันๆเท่ากับข้อนี้

“ หม่าม้าต้องมีจดหมายแนะนำจากอาจารย์เก่าด้วย 3 คน”

โอ้โฮ... ป่านนี้อาจารย์ที่เคยสอนจะกระจัดกระจายไปอยู่ไหนแล้วบ้างหนอ พวกท่านจะยังจดจำลูกศิษย์รายนี้ได้หรือ แล้วจะให้ท่านเขียนแนะนำอะไรได้เล่า เพราะพวกเราเรียนแต่เรื่องภาษา กาพย์ กลอน ปรัชญาและจินตนาการทั้งสิ้น




 

Create Date : 09 เมษายน 2551
4 comments
Last Update : 9 เมษายน 2551 22:26:32 น.
Counter : 477 Pageviews.

 


หลังจากสาละวนหาข้อมูลหมดไปเป็นอาทิตย์ ในที่สุดพวกเรา ฉันและลูกๆก็ตกลงใจได้ว่าจะหารังเรียนที่ไหนดี เป็นคณะวิชาที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยเดิม เพื่อเปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจโดยเฉพาะ ตัวสถานที่ตั้งเป็นแคมปัสในตึกออฟฟิค ปะปนกับหน่วยงานเอกชนทั่วไป ค่อนข้างจะเปิดกว้างเรื่องอายุผู้สมัคร พื้นฐานปริญญาตรีจากสาขาไหนก็ได้ อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าต้องมีประสบการณ์มาก่อน มีการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ตามปกติ โดยสอบประมาณต้นเมษายน เปิดเรียนรุ่นใหม่มิถุนายนนี้

นั่นหมายถึงฉันมีเวลาเพียง 2 เดือนนับแต่นี้สำหรับเตรียมตัวดูหนังสือเพื่อสอบ ฉุกละหุกและกระทันหันพอสมควร

นึกถึงวันที่ไปขอใบสมัครและเข้าร่วมฟังการเปิดโรงเรียนบรรยายหลักสูตร (Open House) ให้บุคคลผู้สนใจ ฉันอดหัวเราะกับตัวเองไม่ได้ ใครๆก็คิดว่าฉันมารับฟังแทนลูกๆ ตามประสาแม่ที่ดีที่ใกล้ชิด ห่วงใย อยากปูทางอนาคตของพวกเขา ต่อเมื่อฉันเริ่มซักรายละเอียดจุกจิกมากขึ้นจนเจ้าหน้าที่ต้องเอ่ยปากตัดบทอย่างเสียมิได้

“ ให้น้องที่จะมาเรียนเข้าฟังอีกครั้งก็ได้นะคะ อาทิตย์หน้าก็จัดอีกวัน คุณป้าจะได้ไม่ต้องกังวลว่าถ่ายทอดไม่หมด”

ระหว่างที่ฉันชั่งใจว่า จะบอกความจริงเธอดีหรือไม่ เจ้าหน้าที่คนเดิมก็หันไปอธิบายกับผู้เข้าฟังบรรยาย 2 แม่ลูกรายใหม่และรายอื่นๆ ฉันบอกตัวเอง ไม่เป็นไร...คงต้องเจอเหตุการณ์ทำนองนี้อีกเยอะ

ฉันกรอกใบสมัคร ระบุอายุลงไปชัดๆ แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่รับสมัคร เธอมองอย่างไม่ค่อยแน่ใจว่า ฉันนี่หรือคือผู้สมัครเรียนที่นี่ต่อเมื่อได้รับคำตอบยืนกรานว่า เธอเข้าใจถูกแล้ว จึงไม่มีบทสนทนาต่อแต่อย่างใด นอกจากคำตอบสั้นๆว่า

“ทางโรงเรียนจะติดต่อไปนะคะ ถ้ามีปัญหาอะไร”

ฉันรอการติดต่อจากมหาวิทยาลัยอยู่นาน ก็ไม่มีใครโทรศัพท์หรือแจ้งจดหมายปฏิเสธมา จนกระทั่งได้รับเอกสารแจ้งกำหนดการสอบข้อเขียนเบื้องต้น แสดงว่า อย่างน้อยทางมหาวิทยาลัยก็ให้โอกาส ฮ นกฮูกตัวนี้เข้าไปสอบ

“ แหม ก้อหม่าม้าก็เสียค่าสมัครไปแล้ว เขาคงใจดีให้ไปทดสอบเคาะสมองเสียหน่อย” ป่านดำพูด ไม่รู้ว่าเข้าข้างใคร

“หม่าม้าไม่รับโทรศัพท์นะจ๊ะ บอกไปว่ากำลังอ่านหนังสือสอบอยู่”

ฉันตะโกนบอกลูกๆเผื่อมีพรรคพวกคนไหนมาชวนออกไปสังสันทน์ตามภาษาคนว่างงาน บนโต๊ะทำงานมีแต่กองหนังสือเก็งข้อสอบสำหรับสอบเข้าระดับปริญญาโทเต็มไปหมด

ฉันพลิกดูแต่ละเล่มหนาๆแล้วต้องถอนใจยาว ยกเว้นภาษาอังกฤษแล้ว ความรู้เก่าสมัยเรียนมัธยมแทบจะใช้ไม่ได้เลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาที่เกี่ยวกับตัวเลขซึ่งฉันเคยทำหยิ่ง ยะโส ไม่ขอข้องเกี่ยวใดๆทั้งสิ้น ถึงตอนนี้ได้แต่ส่งสายตาอ้อนวอนขอคืนดีอย่างวาดหวัง ตัวเลขสวยๆจ๋า คงใจดีให้ฉันมีโอกาสรู้จักเธอมากกว่านี้ได้มั๊ย..... เชอะ...เจ้าตัวเลขได้ที สะบัดหน้าใส่เหมือนโลกนี้ไม่ต้องแคร์คนสมองตื้ออย่างยัยคนนี้อีกแล้ว

 

โดย: กูรูขอบสนาม 9 เมษายน 2551 22:29:53 น.  

 


ร้อนถึงลูกชายต้องคอยมาช่วยจัดการ ป่านดำค้นตำราเก่าๆมาอธิบายให้แม่ฟัง มิวายต้องโดนคำถามซักมากมายจากหม่าม้าตามประสาคนแก่ช่างสงสัย

“ทำไมต้องใส่สูตรนี้ล่ะ สูตรนี้มาอย่างไง”

“หม่าม้าจำวิธีแทนค่าสูตรอย่างเดียวก็พอ ยิ่งอธิบาย เดี๋ยวยิ่งงง”

ป่านดำตอบคำถามเดิมซ้ำๆซากๆ เขาบอกให้ฉันเรียนเหมือนเด็กเล็กๆที่เรียนดนตรี สอนอะไรก็รับเข้าไปถ่ายเดียวก่อน ไม่ต้องตั้งข้อสงสัยมาก

“ เด็กถึงเล่นดนตรีได้ไวไง ไม่มีแรงต้าน”

เลขหลายข้อสามารถใช้สูตรตอบได้เลย แต่ความที่ฉันไม่แม่นและไม่แน่ใจ อดไม่ได้ต้องใช้วิธีแบบเก่าๆ ตั้งตัวเลขขึ้นมา แล้วคูณย้อนซ้ำไปอยู่นั่นแหละ ในที่สุดโจทย์เลขยกกำลังก็เลยหมดแรง ยกไปไม่ถึงไหน ป่านดำเกาหัวแกรกๆ ไม่รู้จะใช้กำลังภายในภาคไหนมาช่วยให้เข้าใจได้อย่างไร

“หม่าม้าจะต้องทำลายสถิติสอบเข้าด้วยคะแนนเลขต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แน่ๆ”

เป็นบทสรุปที่ให้กำลังใจดีมาก ก่อนจะจบบทเรียนวันแรกๆอย่างเหนื่อยอ่อน มองไม่ค่อยเห็นอนาคตเลย แต่ลูกชายก็ไม่ยอมแพ้ หาทุกวิถีทางให้หม่าม้าบรรลุสมความตั้งใจ ถึงจำตรรกวิธีการคิดทั้งหมดไม่ได้ จำคำตอบสุดท้ายให้ได้ก็ยังดี

“ เผื่อฟ้าจะเห็นใจ ออกข้อสอบเป็นปรนัย”

ส่วนวิชาภาษาอังกฤษไม่น่าจะมีอุปสรรคนัก ฟื้นไม่กี่อาทิตย์ก็พอออกนอกหน้าไม่อายคนตรวจข้อสอบ วิชาสอบที่เหลือคือการเขียนบทความบอกวัตถุประสงค์ว่าทำไมถึงอยากจะมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ สาขานี้ ทุกคนสามารถเรียบเรียงถ้อยคำล่วงหน้าได้ ก่อนจะเขียนคำตอบสมบูรณ์ลงไปในชั่วโมงสอบ ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ

ฉันผ่านการสอบข้อเขียนไปอย่างไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ใช้เวลาในการสอบครึ่งวัน นักเรียนคนอื่นๆมีบรรดาผู้ปกครองคอยให้กำลังใจส่งถึงหน้าห้องสอบ พร้อมถามไถ่ผลการสอบหลังออกจากห้อง ขณะที่ฉันบอกให้ลูกๆไปเดินเล่นที่อื่นก่อนแล้วค่อยมารับตามเวลานัด

“รับรอง หม่าม้าไม่เข่าอ่อนทรุดคาห้องสอบหรอกน่า”

ที่แท้เป็นเพราะเขินขวย ไม่อยากจะเป็นหัวข้อพาฉงนสนใจของบรรดาผู้ปกครองรายอื่นๆที่อยู่ในบรรยากาศใกล้ชิดกับการสอบมากกว่า

หากมีการคัดแค่คะแนนสอบข้อเขียน(โดยเฉพาะวิชาคำนวณ) ฉันคงตกรอบแรกไปแล้ว ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เมื่อได้รับจดหมายแจ้งถึงบ้านในอาทิตย์ต่อมาว่า ฉันติดเป็นตัวสำรองลำดับที่สิบ

“ ช่วยกันลุ้น ตัวสำรองลำดับต้นๆก็มีความหวังนะ”

ปออ่อนดูตื่นเต้นกว่าฉันเสียอีก ฉันถอนใจยาว ปลอบใจพลางๆว่า ถ้าไม่ได้ที่นี่ก็ลองดูที่อื่นก็ได้ หรืออย่างมหาวิทยาลัยเปิดก็ไม่ได้เลวร้ายนัก

“ ถ้าไม่มีใครสละสิทธิ์ หม่าม้าก็คงอด”

ฉันบอกลูกๆ ไม่ให้พะวงกับเรื่องของหม่าม้ามากเกินไปนัก ถึงอย่างไรถ้าไม่ได้เรียนต่อดังที่ตั้งใจไว้ ชีวิตก็ยังมีทางออกอื่นๆให้รื่นรมย์ “บางที หม่าม้าอาจจะคิดอะไรเกินตัวไปก็ได้”

ประโยคหลังนี้ พึมพำกับตัวเอง อย่าปล่อยให้หลุดรอดไปถึงบรรดาเพื่อนๆผู้หวังดี(แต่ปากร้าย)เชียวล่ะ จะโดนจิกตีกระหน่ำซ้ำซัดอย่างแรง

 

โดย: กูรูขอบสนาม 9 เมษายน 2551 22:31:37 น.  

 


แล้วกระบวนการการสรรหาสถานที่เรียนแห่งใหม่ก็เริ่มขึ้นอีก หากคราวนี้ไม่วุ่นวายหรือมีโอกาสเลือกมากมาย

ฉันเยี่ยมๆมองๆซื้อคู่มือรายละเอียดของหลักสูตรอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งมาดูพร้อมใบสมัคร ที่นี่ไม่ต้องสอบเข้า เพียงแต่สัมภาษณ์พอเป็นพิธี รับจำนวนนักศึกษาค่อนข้างมาก เน้นการบรรยายเป็นหลัก เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ทั้งวัน เลยไม่แน่ใจว่าแค่นั่งฟังทฤษฎีอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนอย่างฉัน อีกทั้งห้องเรียนที่ใหญ่เกินไป คงไม่สามารถจะแบ่งกลุ่มทำงานย่อยได้ ผู้ที่สมัครเรียนล้วนเป็นเจ้าของกิจการด้วยตัวเองแทบทั้งนั้น มาเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสริมความรู้เดิมให้แน่นขึ้น

หรือจะลองเข้าไปเรียนก่อน ถ้าไม่ไหวก็ออกมา.....

ระหว่างที่ลังเลอยู่นั้น เสียงกริ่งโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ฉันได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยแรกให้เตรียมตัวไปสอบสัมภาษณ์ในวันอาทิตย์ที่มาถึงนี้

ฉันมารู้ว่าตัวเลขอายุที่โดดเด่นได้กลายเป็นจุดดึงดูดความสนใจ ให้เลื่อนลำดับตัวสำรองขึ้นมาแทนที่ผู้ผ่านเข้ารอบรายก่อนหน้า คณาจารย์ผู้สอบสัมภาษณ์มีสามท่าน สองหญิง ชายหนึ่ง อายุอ่อนกว่าทั้งนั้น ถึงกับอึ้งเล็กน้อยขณะรับไหว้ผู้สมัครสูงวัยที่เดินเข้ามาในห้องสอบอย่างนอบน้อมที่สุด ( พยายามทำตัวให้ดูน่าเห็นใจเข้าไว้)

“ ทำไมถึงอยากมาเรียนต่อในวัยขนาดนี้ ” นี่คือคำถามยอดฮิตที่ฉันคาดการณ์อยู่แล้วว่าจะต้องถูกถามจากใครๆ

“ อยากจะมีความรู้และอาชีพติดตัวตอนแก่ค่ะ” เป็นคำตอบที่ตระเตรียมมาอย่างดี

“ ใครจะจ้างคุณ ”

“ คงเป็นนายจ้างตัวเองค่ะ ถึงเลือกเรียนสาขาผู้ประกอบการ”

“เคยทำอะไรมาก่อน นอกจากแม่บ้าน”

“เขียนหนังสือค่ะ แต่ไม่ประจำ”

“จะเรียนไหวเหรอ หนักนะ การบ้านก็เยอะ ”

ฉันให้คำมั่นว่า จะอดทนและพร้อมจะทำงานหนักในภาระกิจการเรียนทุกวิชา เกือบจะหลุดปากออกไปแล้วว่า......เลี้ยงลูกมา 3 คนด้วยตัวเอง ดูแลครอบครัวมาเกือบ 30 ปี ไม่มีงานไหนจะทดสอบความอดทนได้เท่ากับการเป็นแม่บ้านอีกแล้ว

“ทำไมมหาวิทยาลัยจะต้องรับคุณเข้าเรียนด้วย”

“ ดิฉันเชื่อว่า ตัวเองจะเป็นแบบอย่างของคนที่ขวนขวายความรู้ ในวัยที่เลยเกณฑ์เฉลี่ยไปแล้วค่ะ”

คำตอบข้อนี้ แอบเอามาจากตัวอย่างคำสัมภาษณ์งานในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการรับคนวัยอาวุโสเข้าทำงาน

“จะมีปัญหาไหมหากต้องเรียนร่วมกับเด็กๆคราวลูก”

“เด็กๆน่าจะมีปัญหามากกว่าค่ะ เพราะมีเพื่อนรุ่นคุณแม่ เป็นจุดเด่นเกินหน้าเกินตา”
กรรมการสัมภาษณ์บางท่านอมยิ้ม ฉันนึกเลยเถิดว่า ท่านกำลังนึกเปรียบเทียบฉันกับผู้ใหญ่ที่บ้านก็ได้

“ มีปัญหาสุขภาพบ้างมั้ย ที่ถามเพราะเกรงว่าจะสู้ไม่ไหว”

ฉันพยายามนึก...จะมีก็คงปัญหาสมองขี้เลื่อยที่ขาดการลับมานมนาน เออ..นึกๆแล้วก็อดจะสงสารบรรดาอาจารย์ที่จะต้องมาเจอลูกศิษย์สมองตื้อไม่ได้

“ คุณต้องพยายามหนักกว่าพวกเขาเป็นเท่าตัวเลยนะ ที่นี่สอนเร็ว จบเร็ว นักเรียนต้องค้นคว้าช่วยตัวเอง ถ้าได้เกรด C เกิน 2 ตัว ถือว่าตก ต้องออก เข้าใจนะครับ ? ”

ฉันรับปาก แม้รู้ว่าการกลับสู่รังเรียนในวัยนี้จะต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่ย่อมดีกว่าการใช้ชีวิตในบั้นปลายพ้นไปวันๆ เพียงเพื่อวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ แล้ววันอื่นๆ ผ่านเข้ามาและออกไปอย่างเปล่าดาย

ตะเบบูย่าร่วงหมดต้นแล้ว ทิ้งกิ่งก้านเปลือยโกร๋น โยกเบาๆเมื่อถูกลมพัด อีกไม่นานตุ่มเล็กๆก็จะระบัดใหม่ รอฝนฉ่ำและความชื้นพร่างพรม กลีบดอกบางนุ่มชมพูสวยก็จะผลิบานรับวันฟ้าใสอีกครั้ง




 

โดย: กูรูขอบสนาม 9 เมษายน 2551 22:35:14 น.  

 


วันนี้ ผมตัวรุมๆ แต่ก็ยังฝืนนั่งอัพบล๊อก เย้ เรื่องใหม่ของผมเสร็จพอดี

แบบนี้ เดี๋ยวก้อได้ดูบอล กะได้อ่าน โรงเรียน ฮ นกฮูก

โห ตั้ง 35 ตอน คนเขียนยอดมั่กมาก

 

โดย: yyswim 10 เมษายน 2551 0:48:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]