....ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะคน......
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
17 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
สวนในห้องน้ำก็ต้องดูแลนะจ๊ะ

สวนในห้องน้ำ




ช่วงเวลาแห่งความสุขในบ้านช่วงเวลาหนึ่งก็คือ “การอาบน้ำ” เป็นช่วงเวลาส่วนตั๊ว ส่วนตัวที่ทุกคนได้ผ่อนคลายจากสายน้ำที่รดตั้งแต่ศีรษะ ไหลลงมาตามลำตัว ได้สดชื่นกับสบู่หอม ๆ หลากกลิ่น รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่จินตนาการโลดแล่น ความคิดถูกปลดปล่อย


แต่หากความสุขเหล่านั้นถูกเติมเต็มด้วยบรรยากาศแสนรื่นรมย์แห่งมวลหมู่ไม้สีเขียวล่ะ? คงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขไม่รู้ลืมชนิดที่สุขภัณฑ์หรูหราใด ๆ ก็ให้ “อารมณ์” ไม่ได้เท่านี้แน่ ยิ่งกระแสธรรมชาตินิยมกำลัง “อิน” ซะขนาดนี้ ทำไมห้องน้ำจะเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ได้ใกล้ชิดกับพรรณไม้ล่ะ?


ไม่ว่าห้องน้ำของคุณจะใหญ่โตหรูหราขนาดไหน? จะเป็นแค่เพียงมุมส่วนตัวเล็ก ๆ หรือจะเป็นห้องน้ำกลางแจ้ง (อันนี้คงขาดแมกไม้สีเขียวไม่ได้แน่) หากคุณนำเอา “สวน” เข้าไปใส่ไว้ในนั้นแล้วล่ะก็ อย่าคิดว่าสวนนี้ไม่ต้องดูแลเพราะอยู่ในห้องที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่แล้วนะ เพราะนั่นเป็นความคิดที่ผิด


รศ.เอื้อมพร วีสมหมายผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้และแต่งหนังสือเกี่ยวกับพรรณไม้มามากมายหลายเล่มแล้วนั้นยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า “สวนและต้นไม้ในห้องน้ำก็ต้องดูแล” แต่เราจะดูแลอย่างไร? มีวิธีอะไรกันบ้างนั้น? คงต้องให้ท่านอธิบายกันแบบไม่ต้องสังเขป



“การดูแลต้องเริ่มตั้งแต่เริ่มจัดสวนในห้องน้ำเลยค่ะ” รศ.เอื้อมพรว่า “ถ้าเราอยากอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติแบบนี้ เราต้องวางแผนมาตั้งแต่การออกแบบสร้างบ้านแล้วค่ะ บ้านต้องมีปัจจัยที่เหมาะสมในการทำสวนในห้องน้ำ แน่นอนสิ่งที่ต้องคำนึงก็คือปัจจัยการเจริญเติบโตของต้นไม้ เช่น แสง เป็นต้น”


นั่นหมายความว่าพื้นที่สำหรับการจัดสวนในห้องน้ำนั้นต้องเป็นพื้นที่ที่แสงเข้าถึงเพื่อให้ต้นไม้ได้ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงตามธรรมชาตินั่นเอง แต่ขณะเดียวกันด้วยความเป็นห้องน้ำ โครงสร้างและระบบต่าง ๆ ก็ต้องเอาใจใส่ด้วย ยิ่งมีต้นไม้เข้ามาอาศัยด้วย ยิ่งต้องเอาใจใส่เพิ่มขึ้น ทั้งระบบระบายน้ำ กันซึม กันรั่ว ต่าง ๆ



“โดยปรกติแล้ว บ้านชั้นเดียวเหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดสวนในห้องน้ำเพราะสามารถทำหลังคาบนห้องน้ำให้เป็นหลังคาใสได้ แสงสามารถส่องลงมาถึง” รศ.เอื้อมพรแนะนำ “แต่ใช่ว่าบ้านแบบอื่นจะทำไม่ได้ คือเราอาจจะให้ห้องน้ำอยู่ชั้นบน ทำหลังคาแบบเดียวกันหรือให้ห้องน้ำอยู่นอกหลังคา รับแสงและอากาศแบบเต็มที่ไปเลย”


แต่ในกรณีที่เหลือบ่ากว่าแรงกว่านั้น เช่น ห้องน้ำอยู่ชั้นล่างโดยมีห้องอื่นอยู่ชั้นบน แสงจากธรรมชาติไม่สามารถตกมาถึงจุดนี้ได้เลย รศ.เอื้อมพรบอกว่าสามารถแก้ไขได้โดยการใช้แสงจากหลอดไฟเป็นแหล่งให้แสงสำหรับต้นไม้ ซึ่งแน่นอนว่าต้นไม้ที่ได้รับแสงแบบนี้คงแข็งแรงสู้ต้นไม้ที่ได้รับแสงธรรมชาติไม่ได้แน่ ๆ


“หรืออาจจะเปลี่ยนมาใช้ไม้กระถางแล้วหมั่นเปลี่ยนกระถางบ่อย ๆ ก็ได้ค่ะ ซึ่งมันก็เพิ่มภาระขึ้นมา เพราะฉะนั้นการวางผังตั้งแต่สร้างบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” รศ.เอื้อมพรให้ความเห็นก่อนจะแนะนำต่อว่า “ส่วนการเลือกพรรณไม้นั้น ก็ต้องเลือกที่สามารถอยู่ในร่มได้ดีหน่อยค่ะ”



พรรณไม้ที่รศ.เอื้อมพรแนะนำก็คือ “โมก” ซึ่งสามารถเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบห้องน้ำได้ดีที่สุด ส่วนพรรณไม้อื่น ๆ ก็เช่น สาวน้อยปะแป้ง, จั๋ง, เขียวหมื่นปี, ลิ้นมังกร, เดหลี, ไผ่ฟิลิปปินส์ด่าง, หวายไทยก็ถือว่า “พออยู่ได้” เหมือนกัน



“ส่วนเครื่องปลูกนั้น อยากจะแนะนำว่าควรมีลักษณะโปร่งเบา อาจจะใช้อิฐมอญทุบวางข้างล่างกระบะก่อน ผสมถ่านเพื่อการดับกลิ่นด้วยก็ได้ค่ะ ที่สำคัญควรมีชั้นที่เป็นแผ่นใยกรองเพื่อช่วยดักเศษดิน เศษทรายไม่ให้ไหลทิ้งปนมากับน้ำ จากนั้นจึงเป็นชั้นดินผสม ใบไม้ผุและขุยมะพร้าว” รศ.เอื้อมพรว่า



สำหรับงานระบบนั้นรศ.เอื้อมพรบอกว่าพื้นที่สำหรับจัดสวนกับพื้นในห้องน้ำควรต่างระดับกัน โครงสร้างและผนังของกระบะควรมีกันซึมและฉาบผิวรองรับด้วยเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรากับผนังห้องน้ำด้านนอก จากนั้นจึงค่อยมาตกแต่งผิวต่าง ๆ อีกที




“ท่อระบายน้ำทิ้งจากการใช้งานทั่วไปของห้องน้ำกับท่อระบายน้ำทิ้งจากกระบะปลูกต้นไม้ ควรแยกจากกันนะคะเพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกจากกระบะต้นไม้มาอุดตันท่อระบายน้ำทิ้ง” รศ.เอื้อมพรว่า “ที่สำคัญคือเราต้องทำความสะอาดแผ่นกรอง รวมทั้งหมั่นเก็บเศษใบไม้ร่วงด้วย ส่วนสารเคมีกำจัดโรคหรือแมลงห้ามใช้เด็ดขาดค่ะ”


นั่นก็เป็นข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อยจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้ ส่วนไอเดียการจัดนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละบุคคล อาจจะจัดสวนเป็นอ่างอาบน้ำกลางป่า, ฝักบัวกลางหมู่แมกไม้ หรืออาจจะใช้แค่ไม้กระถางซึ่งหลาย ๆ คนมองว่าลำบากในการที่ต้องคอยเปลี่ยนกระถาง แต่สิ่งที่ตามมาคือรูปแบบสวนที่เปลี่ยนไปนั่นเอง


“การมีสวนในห้องน้ำทำให้เวลาเราเข้าไปใช้เหมือนกับว่าเราเข้าไปพักผ่อน ได้มองเห็นสีเขียวแทนที่จะเป็นแค่ผนังกระเบื้อง ทำให้เราไม่อึดอัดมองแล้วรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา นั่นคือความสุขในช่วงเวลาแห่งความสุขค่ะ” รศ.เอื้อมพรปิดท้าย

เรื่องและภาพโดย พรชัย พงษ์สุกิจวัฒน์





Create Date : 17 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 5 กรกฎาคม 2554 12:31:28 น. 2 comments
Counter : 1933 Pageviews.

 


โดย: คนเมืองตำน้ำกิน (comnow1234 ) วันที่: 17 พฤศจิกายน 2553 เวลา:8:53:53 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: สาวสะตอใต้ วันที่: 17 พฤศจิกายน 2553 เวลา:20:51:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ปุ๋ยกะแมงปอ
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ปุ๋ยกะแมงปอ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.