" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
31 ตุลาคม 2557
 
All Blogs
 

002.ปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาสาระและการดำเนินงาน

ปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาสาระและการดำเนินงาน

กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย.


คำนำ




ยูเนสโกได้เล็งเห็นความสำคัญในอนาคตของการอุดมศึกษาที่ต้องพร้อมต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้ริเริ่มจัดการประชุมระดับโลกด้านอุดมศึกษาเป็นครั้งแรก ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนตุลาคม 2541 ซึ่งประเทศสมาชิกของยูเนสโกได้ให้การรับรองปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 : วิสัยทัศน์และการปฏิบัติและกรอบการดำเนินงานสำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาอุดมศึกษาเป็นบรรทัดฐานในการปรับปรุงอุดมศึกษา


ทบวงมหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการอุดมศึกษาและเป็นแกนในการนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา ได้ตระหนักถึงการพัฒนาระบบอุดมศึกษาซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถก้าวทันกระแสโลกาภิวัฒน์และการแข่งขันของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 จึงได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นต่อการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังตามแนวทางของปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาฯ โดยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 รวมทั้งจัดแปลปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาฯและกรอบการดำเนินงานสำคัญฯเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่อย่างกว้าวขวาง


หนังสือเรื่อง " ปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา สาระและการดำเนินงาน " ฉบับนี้ได้นำเอกสารสำคัญทั้งสองฉบับมาจัดแปลเป็นภาษาไทยเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างในแวดวงนักการศึกษาและประชาชนทั่วไปอันจะช่วยให้การปฏิรูปอุดมศึกษาของไทยบรรลุผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งได้นำผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาและผลการประชุมขยายผลดังกล่าวซึ่งจัดโดยทบวงมหาวิทยาลัยมารวบรวมไว้ในภาคผนวก


ทบวงมหาวิทยาลัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานด้านการศึกษาในการร่วมมือปฏิบัติภารกิจของตนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยพร้อมๆกับการปฏิบัติตามพันธกิจของประเทศที่จะสานต่อปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาฯต่อไป


( ดร.วันชัย ศิริชนะ )

ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย


ปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 วิสัยทัศน์และการปฏิบัติ

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

การประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา

อุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21: วิสัยทัศน์และการปฏิบัติ

กรุงปารีส วันที่ 5 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2541



อารัมภบท

เมื่อใกล้เข้าสู่ศตวรรษใหม่ ความต้องการศึกษาต่อใน ระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้นและการจัดการอุดมศึกษาก็ หลากหลายมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชน พากันตระหนักมากขึ้นถึงความสำคัญยิ่งของอุดมศึกษา ต่อการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้าง อนาคตซึ่งส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่จำเป็นต้องสร้างเสริมทักษะ ความรู้และอุดมคติใหม่ อุดมศึกษาครอบคลุมถึง "การศึกษา การฝึก อบรม หรือการฝึกอบรมเพื่อวิจัยในระดับหลังมัธยมศึกษาทุกรูปแบบ ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐรับรองว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษา"1 ไม่ว่าแห่งหนใด อุดมศึกษาต้องเผชิญกับความท้าทายและความยากลำบากอย่าง ใหญ่หลวงในเรื่องงบประมาณ ในด้านเงื่อนไขการเข้าศึกษา และ เงื่อนไขระหว่างศึกษาที่เป็นธรรม การพัฒนาบุคลากรที่ดีขึ้น การฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนา ทักษะ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพด้านการสอน การวิจัย และการบริการ ความสอดคล้องของหลักสูตร ความสามารถของบัณฑิตที่เอื้อต่อการมีงานทำ การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ และการได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ ระหว่างประเทศอย่างเป็นธรรม ในขณะเดียวกันอุดมศึกษายังต้อง ประสบกับความท้าทายจากโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งได้ปรับปรุงวิธีการสร้าง จัดการ เผยแพร่ เข้าถึง และควบคุม ความรู้ให้ดีขึ้น จึงควรมีการประกันให้การศึกษาทุกระดับสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากเท่า ๆ กัน ประวัติการอุดมศึกษาจะจารึกครึ่งหลังของศตวรรษนี้ไว้ว่า เป็นช่วงเวลาที่การอุดมศึกษาขยายตัวอย่างเด่นชัดที่สุด คือมีจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่า จาก 13 ล้านคนในปี 2503 เป็น 82 ล้านคนในปี 2538 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ช่องว่างด้านการเข้าศึกษาและทรัพยากรเพื่อการเรียนและวิจัยในระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาและโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาน้อย ที่สุด ซึ่งเดิมมีมากอยู่แล้วนั้นยิ่งมากขึ้นอีก ช่วงเวลานี้ยังมีการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม และเศรษฐกิจมากขึ้นและโอกาสการเข้าศึกษาภายในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งในประเทศที่พัฒนาที่สุดและมั่งคั่งที่สุดบางประเทศก็แตกต่าง กันมากขึ้น ประเทศใดก็ตามที่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย มากพอที่จะผลิตผู้มีความรู้และทักษะได้อย่างพอเพียง ก็ไม่อาจจะ มั่นใจได้ว่าจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในประเทศได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน จะไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างประเทศของตนกับประเทศพัฒนา ทางอุตสาหกรรมได้เลย การแบ่งปันความรู้ความร่วมมือระหว่าง ประเทศและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อลดช่องว่างนี้ได้

มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าอุดมศึกษาสามารถดำรง อยู่ได้นานนับศตวรรษที่ผ่านมาและสามารถปรับเปลี่ยน รวมทั้งก่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในสังคม ขอบข่ายและจังหวะของการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมต้องอิงความรู้มากขึ้น จนการศึกษาระดับสูงและการวิจัยกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาของปัจเจกบุคคล ชุมชนและประเทศชาติที่ยั่งยืนในสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ อุดมศึกษาเองจึงเผชิญกับความท้าทายที่ยากยิ่งและจะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้สังคมของเราที่กำลังประสบภาวะวิกฤตด้านค่านิยมสามารถหลุดพ้นจากข้อกำหนดเฉพาะด้านเศรษฐกิจไปสู่การประสมประสานมิติในเชิงลึกของศีลธรรมและจิตวิญญาณ

เพื่อแสวงหาคำตอบให้กับความท้าทายเหล่านี้และเพื่อเริ่มกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษาในเชิงลึกทั่วโลก ยูเนสโกจึงได้จัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21: วิสัยทัศน์ และการปฏิบัติในการเตรียมการจัดประชุมครั้งนี้ยูเนสโกได้จัดทำเอกสารเชิงนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุดมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ต่อจากนั้นได้จัดประชุมหารือระดับภูมิภาค 5 ครั้ง (ฮาวานา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ดาการ์ เดือนเมษายน พ.ศ. 2540 โตเกียว เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ปาแลร์โม เดือนกันยายน พ.ศ. 2540 และเบรุต เดือนมีนาคม พ.ศ. 2541) ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากการประชุมระดับภูมิภาคดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวได้นำมาประกอบการพิจารณาในการจัดเตรียมปฏิญญาฉบับปัจจุบันเช่นเดียวกับกระบวนการประมวลความคิดเห็นที่ดำเนินการเพื่อเตรียมการจัดการประชุม ระดับโลก

พวกเราที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม พ.ศ. 2541 จึงพร้อมใจกัน

ระลึกถึงหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

ระลึกถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 26 ย่อหน้าที่ 1 ว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา" และ "อุดมศึกษาพึงเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐาน ของความสามารถ" และเห็นชอบกับหลักการพื้นฐานของอนุสัญญา ต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (พ.ศ. 2503) ซึ่งในมาตรา 4 ได้กำหนดพันธกิจให้รัฐที่เป็นภาคี "จัดอุดมศึกษาที่ให้ทุกคนมีโอกาส อย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความสามารถของแต่ละบุคคล"

พิจารณาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอุดมศึกษาของคณะกรรมาธิการ และการประชุมสำคัญ ๆ รวมถึงคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้าน การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 คณะกรรมาธิการโลกด้านวัฒนธรรม และการพัฒนา การประชุมระหว่างประเทศด้านการศึกษาสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 และ 45 (เจนีวา พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2539) มติของการ ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 27 และ 29 ของยูเนสโกโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะด้านสถานภาพของครูระดับอุดมศึกษา การประชุมระดับ โลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (จอมเทียน ประเทศไทย พ.ศ. 2533) การประชุมของสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (ริโอ เดอจาเนโร พ.ศ. 2535) การประชุมเรื่องเสรีภาพทางวิชาการและ ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย (ซินเนีย พ.ศ. 2535) การประชุม ระดับโลกเรื่องสิทธิมนุษยชน (เวียนนา พ.ศ. 2536) การประชุม สุดยอดระดับโลกเพื่อพัฒนาสังคม (โคเปนเฮเกน พ.ศ. 2538) การ ประชุมระดับโลกครั้งที่ 4 เรื่องสตรี (ปักกิ่ง พ.ศ. 2538) การประชุม ระหว่างประเทศเรื่องการศึกษาและสนเทศศาสตร์ (มอสโคว์ พ.ศ. 2539) การประชุมระดับโลกเรื่องการอุดมศึกษาและการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์สำหรับศตวรรษที่ 21 (มะนิลา พ.ศ. 2540) การประชุม ระหว่างประเทศเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 5 (ฮัมเบอร์ก พ.ศ. 2540) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำหรับอนาคตภายใต้หัวข้อ 2 (ปรับปรุงเงื่อนไขและคุณภาพของการเรียน) ที่ระบุว่า "พวกเราตั้ง ปณิธาณว่าจะ ...เปิดโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแก่นักศึกษา ผู้ใหญ่... โดยเรียกร้องให้การประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา (ปารีส พ.ศ. 2541) ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของสถาบันระดับหลัง มัธยมศึกษาไปสู่สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตและกำหนดบทบาทของ มหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกัน"

เชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นเสาหลักของสิทธิมนุษยชน ประชา- ธิปไตย การพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติภาพ ดังนั้นการศึกษาจึงควรเปิด กว้างสำหรับทุกคนตลอดชีวิตและจำเป็นต้องมีมาตรการที่ก่อให้เกิด การประสานงานและความร่วมมือระหว่างภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะ ระหว่างสามัญศึกษา การศึกษาเทคนิค การศึกษาวิชาชีพ และ การศึกษาหลังมัธยมตอนปลาย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการประสาน ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันเทคนิค

เชื่อว่าในบริบทนี้วิสัยทัศน์ของสังคมอนาคตและบทบาทของ การศึกษาโดยทั่วไปและของอุดมศึกษาโดยเฉพาะจะเป็นตัวกำหนด ทางแก้ปัญหาที่ประสบในช่วงก่อนศตวรรษที่ 21

ตระหนักว่าเมื่อก้าวสู่สหัสวรรษใหม่อุดมศึกษาจะมีหน้าที่ ธำรงคุณค่าและอุดมคติของสันติภาพและจะต้องระดมสรรพกำลัง ของชุมชนแห่งภูมิปัญญาเพื่อจุดหมายนั้น

พิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงจริงจังและการพัฒนาอุดมศึกษา การปรับปรุงคุณภาพและความสอดคล้องของอุดมศึกษาและ การแก้ไขปัญหาท้าทายที่อุดมศึกษาประสบ ล้วนต้องการความ ร่วมมืออย่างแข็งขันทั้งจากรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษา รวมถึง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งนักศึกษาและครอบครัว ครู อาจารย์ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาคเอกชน รัฐสภา สื่อมวลชน ชุมชน สมาคมวิชาชีพ และสังคม ตลอดจนความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นของสถาบันอุดมศึกษาต่อสังคมและการจัดการให้สามารถ ตรวจสอบสถาบันอุดมศึกษาได้ในเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐและ เอกชนของชาติและนานาชาติ

เน้นย้ำว่าควรเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบอุดมศึกษา เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน เพื่อเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเพื่อสนองตอบความต้องการ ของสังคมและส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นธรรมระบบอุดมศึกษาควรมีและธำรงรักษาความเป็นต้นฉบับและ ความมีระบบระเบียบเคร่งครัดด้วยความเที่ยงธรรมในฐานะที่เป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับการพัฒนาและรักษาคุณภาพไว้ในระดับที่ต้องการได้ นอกจากนี้ควรจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาภายใต้แนวคิดการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเอื้อให้นักศึกษาสามารถประสานกลมกลืนเข้ากับสังคมแห่งการเรียนรู้ของโลกในศตวรรษที่กำลังจะมาถึงได้อย่างเต็มที่

เชื่อด้วยว่าความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เป็นหนทางสำคัญในการพัฒนาอุดมศึกษาทั่วโลก

ดังนั้น จึงร่วมกันขอประกาศดังนี้

ภารกิจและหน้าที่ของอุดมศึกษา

มาตรา 1 ภารกิจในการให้การศึกษา ฝึกอบรมและวิจัย

พวกเราขอยืนยันว่าควรดำรง เสริมสร้าง และขยายขอบเขต ภารกิจหลักและคุณค่าของอุดมศึกษา โดยเฉพาะภารกิจในการก่อให้ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและการปรับปรุงสังคมโดยรวมเพื่อ

ก. ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงและพลเมืองที่มีความ รับผิดชอบเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการดำเนินภารกิจ ของทุกภาคของสังคม โดยจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน รวมทั้งการฝึกอบรมวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยความรู้และทักษะระดับสูง โดยใช้หลักสูตรและเนื้อหาที่เหมาะสมและสอดรับกับความต้องการ ของสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างต่อเนื่อง

ข. สร้างโอกาส (espace ouvert) เพื่อการศึกษาระดับสูง และการศึกษาตลอดชีวิต โดยเปิดให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกสูงสุด และให้มีความยืดหยุ่นในการเข้าและออกจากระบบการศึกษา ตลอดจน ให้โอกาสในการพัฒนาตนเองและการเคลื่อนย้ายในสังคม เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดีและเพื่อให้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเข้มแข็งด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อสร้างศักยภาพส่วนตนและเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาธิปไตยและสันติภาพภายใต้บริบทของความยุติธรรม

ค. พัฒนา สร้างสรรค์ และกระจายความรู้ผ่านการวิจัย และถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องให้เป็นบริการแก่ชุมชน เพื่อช่วยเหลือสังคมในการพัฒนาทางวัฒนธรรม สังคม และ เศรษฐกิจ ส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และนฤมิตศิลป์

ง. ช่วยสร้างความเข้าใจ ตีความ อนุรักษ์ เพิ่มพูน ส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์ทั้งระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ ในบริบทของลัทธิพหุนิยมและความ หลากหลายทางวัฒนธรรม

จ. ช่วยปกป้องและเพิ่มพูนคุณค่าของสังคม โดยฝึกฝน เยาวชนเรื่องค่านิยมต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของชุมชนประชาธิปไตย และเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์และเป็นกลาง เพื่อช่วยในการถกประเด็น ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์และเพื่อเสริมสร้างมุมมองเชิงมนุษยธรรม

ฉ. เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาและปรับปรุงการศึกษาทุก ระดับรวมถึงการฝึกอบรมครู

มาตรา 2 บทบาทด้านจริยธรรม ความเป็นอิสระ ความ รับผิดชอบและหน้าที่ในการคาดการณ์

เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานภาพของ บุคลากรด้านการสอนระดับอุดมศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองโดย ที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 สถาบันอุดมศึกษา บุคลากร และนักศึกษาควรจะ

ก. ธำรงรักษาและพัฒนาภาระหน้าที่หลักของตน โดยใช้ จริยธรรมและความเข้มงวดเชิงวิทยาศาสตร์และปัญญาไม่ว่าจะ ในการทำกิจกรรมใด ๆ

ข. สามารถให้ความเห็นเรื่องจริยธรรม วัฒนธรรม และ สังคมได้อย่างอิสระเต็มที่และด้วยความตระหนักดีถึงความ รับผิดชอบของตน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเชิงภูมิปัญญาตามที่สังคม ต้องการเพื่อช่วยในการไตร่ตรอง สร้างความเข้าใจ และลงมือปฏิบัติ

ค. เพิ่มบทบาทของตนในการวิพากษ์และมองไปในอนาคต โดยหมั่นวิเคราะห์แนวโน้มทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีจุดเน้นที่ชัดเจนสำหรับการ คาดการณ์เตือนภัยและป้องกัน

ง. ใช้ความสามารถทางภูมิปัญญาและเกียรติคุณด้าน ศีลธรรมเพื่อปกป้องและเผยแพร่ค่านิยมซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับ สากลอย่างแข็งขัน รวมถึงสันติภาพ ความยุติธรรม เสรีภาพ ความ เสมอภาค และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญ ของยูเนสโก

จ. ใช้อิสรภาพและเสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มที่ตาม สิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันจะต้องมีความรับผิดชอบ ต่อสังคมและสามารถให้สังคมเข้ามาตรวจสอบได้อย่างเต็มที่

ฉ. ช่วยระบุและจัดการประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อ ความกินดีอยู่ดีของชุมชน ประเทศชาติ และสังคมโลก

การกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของอุดมศึกษา

มาตรา 3 ความเป็นธรรมในการเข้าศึกษา

ก. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 26.1 ของปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การรับบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาควรพิจารณาจากความสามารถ ความพยายาม ความพากเพียร และ ความทุ่มเทของบุคคลนั้น ๆ การรับเข้าศึกษาจะกระทำเมื่อไรก็ได้ ตลอดชีวิตโดยพิจารณาจากทักษะที่ได้สั่งสมมา ดังนั้น การให้โอกาสบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงไม่มีการเลือกประติบัติในเรื่องของเชื้อชาติ เพศ ภาษา ศาสนา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม หรือความพิการทางร่างกาย

ข. ความเป็นธรรมในการเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาควร

เริ่มจากการเสริมสร้างหรือจัดระเบียบความเชื่อมโยงระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาทุกระดับเสียใหม่ในกรณีที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับมัธยมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาไม่เพียงแต่จะต้องเป็นระบบที่กลมกลืนกับการศึกษาระดับปฐมวัย ประถมศึกษา เรื่อยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิตเท่านั้น แต่จะต้องเน้นการทำงานร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์นี้ด้วย สถาบันอุดมศึกษาต้องร่วมมือแข็งขันกับพ่อแม่ โรงเรียน นักศึกษา กลุ่มเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ รวมทั้งชุมชน การศึกษาระดับมัธยมศึกษามีหน้าที่ไม่เพียงแต่จะ พัฒนาขีดความสามารถในการเรียนขั้นพื้นฐานของบุคคลจนมี คุณสมบัติเหมาะสมที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ยังต้องเปิดโอกาสสู่การใช้ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง โดยจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับงานหรืออาชีพต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม โอกาสในการเข้าศึกษา ระดับอุดมศึกษาควรเปิดกว้างสำห รับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าหรือผู้ที่มีคุณวุฒิเหมาะสม ไม่ว่าจะอายุเท่าไรโดยไม่มีการเลือกประติบัติ

ค. ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จะเน้นแนวทางซึ่งยึดถือความสามารถของปัจเจกบุคคล เป็นหลักตามที่นิยามไว้ในมาตรา 3ก. ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

ง. จะต้องดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย พิเศษบางกลุ่ม อาทิ ชาวพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยต่างวัฒนธรรม และ ภาษา กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มผู้ตกอยู่ภายใต้การครอบครอง และกลุ่มที่ประสบความเดือดร้อนจากภาวะทุพพลภาพได้เข้าศึกษาในระดับ อุดมศึกษา เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้โดยปัจเจกบุคคลหรือโดยกลุ่ม อาจมีทั้งประสบการณ์และความสามารถพิเศษซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ความช่วยเหลือเป็นพิเศษด้านวัตถุและการแก้ปัญหาด้านการศึกษาสามารถช่วยกำจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งในการเข้าศึกษาและศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

มาตรา 4 เพิ่มพูนและส่งเสริมบทบาทของสตรี

ก. แม้ว่าสตรีจะเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษากันมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ แต่หลายแห่งในโลกยังคงปรากฏอุปสรรคต่าง ๆ ด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองที่ยังคงทำให้สตรีไม่อาจเข้าศึกษาได้อย่างเต็มที่และประสมประสานเข้ากับระบบที่มีอยู่ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ การขจัดอุปสรรคดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่เร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าระบบอุดมศึกษาที่มีอยู่จะเป็นธรรมและไม่เลือกประติบัติโดยยึดความสามารถของบุคคลเป็นหลัก

ข. จะยังต้องพยายามที่จะขจัดแบบการคิดตายตัวในเรื่องเพศทุกรูปแบบในการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาแง่มุมด้านเพศในสาขาวิชาต่างๆ และเพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมในการศึกษาทุกระดับและทุก สาขาวิชาซึ่งมีสตรีเพียงจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแข็งขันขึ้น

ค. ควรส่งเสริมสตรีศึกษาให้เป็นวิชาการแขนงหนึ่ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาและสังคม

ง. ควรจะพยายามขจัดอุปสรรคทางการเมืองและสังคม ซึ่งจำกัดบทบาทของสตรีและโดยเฉพาะเพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจภายในระบบของอุดมศึกษาและ สังคมให้มากขึ้น

มาตรา 5 การพัฒนาความรู้ด้วยการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และการเผยแพร่ผลงานวิจัย

ก. การพัฒนาวิชาการโดยการวิจัยเป็นหน้าที่ของระบบอุดมศึกษาทุกระบบ ซึ่งควรส่งเสริมการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ควรสนับสนุนและเสริมสร้างนวัตกรรม สหวิทยาการ และการจัด แบบข้ามสาขาวิชาให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์และความต้องการของสังคมและวัฒนธรรม ในระยะยาวควรสร้างความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างงานวิจัยพื้นฐานกับงานวิจัยที่เน้นเป้าหมายเฉพาะอย่าง

ข. สถาบันต่างๆ ควรประกันได้ว่าสมาชิกทุกคนของชุมชน วิชาการซึ่งทำงานวิจัยได้รับการฝึกอบรม ทรัพยากร และความ สนับสนุนที่เหมาะสม สิทธิทางปัญญาและวัฒนธรรมที่เกิดจากผลงาน วิจัยควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และควรได้รับการปกป้องเพื่อไม่ให้ถูกละเมิด

ค. จะต้องปรับปรุงการวิจัยในทุกสาขาวิชา รวมทั้งในสาขา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ (รวมทั้งอุดมศึกษา) วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ คณิตศาสตร์ สนเทศศาสตร์ และศิลปศาสตร์ภายใต้กรอบนโยบายวิจัยและพัฒนาระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ สิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษคือการเสริมสร้างขีด ความสามารถการทำวิจัยในสถาบันวิจัยระดับอุดมศึกษา เนื่องจากเมื่อมีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการทำวิจัยในระดับสูงภายในสถาบันเดียวกันแล้ว จะสามารถส่งเสริมกันและกันให้เกิด คุณภาพยิ่งขึ้น สถาบันเหล่านี้ควรหาความสนับสนุน ด้านวัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณที่ต้องการจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาค เอกชน

มาตรา 6 การปรับตัวระยะยาวโดยยึดความสอดคล้องเป็นหลัก

ก. ควรประเมินความสอดคล้องของอุดมศึกษาโดยพิจารณาว่า สิ่งที่สังคมคาดหวังให้สถาบันอุดมศึกษาทำและสิ่งที่สถาบันลงมือทำนั้นตรงกันหรือไม่ การประเมินนี้จำเป็นต้องอาศัย มาตรฐานเชิงจริยธรรม ความเป็นกลางทางการเมือง ความสามารถ เชิงวิพากษ์ และความสอดคล้องกับประเด็นปัญหาของสังคมและโลกของงานให้มากขึ้น โดยกำหนดทิศทางระยะยาวจากเป้าประสงค์ และความต้องการของสังคม รวมถึงการเคารพต่อการปกป้อง วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม พึงให้มีทั้งโอกาสที่จะรับการศึกษาสายสามัญในกรอบกว้าง และการศึกษาที่เน้นอาชีพตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมักจะเป็นการเรียนแบบสหวิทยาการที่เน้นทักษะ และความถนัด ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะช่วยให้ปัจเจกบุคคลสามารถใช้ ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงต่างๆ และสามารถเปลี่ยน อาชีพได้

ข. อุดมศึกษาควรสร้างเสริมบทบาทในการบริการสังคม โดยเฉพาะในกิจกรรมที่มุ่งขจัดความยากจน ความไม่อดกลั้น ความรุนแรง ความไม่รู้หนังสือ ความหิวโหย ความถดถอยของสภาพแวดล้อมและโรคภัยไข้เจ็บ โดยใช้แนวทางเชิงสหวิทยาการและ การจัดแบบข้ามสาขาวิชาในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่าง ๆ

ค. อุดมศึกษาควรเอื้อประโยชน์ให้แก่การพัฒนาระบบการศึกษาในภาพรวม โดยปรับปรุงการศึกษาของครู การพัฒนาหลักสูตร และการวิจัยทางการศึกษา

ง. ในที่สุดแล้ว อุดมศึกษาควรตั้งเป้าที่การสร้างสังคมใหม่ ที่ปราศจากความรุนแรงและการแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน อันประกอบด้วยปัจเจกบุคคลที่ได้รับการกล่อมเกลา มีแรงจูงใจ และมี ศักยภาพรอบด้าน โดยได้แรงบันดาลจากความรักที่มีต่อมนุษยชาติ และมีปัญญาเป็นเครื่องชี้นำชีวิต

มาตรา 7 การกระชับความร่วมมือกับโลกของงาน การวิเคราะห์ และคาดการณ์ความต้องการของสังคม

ก. ในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดแนวทฤษฎีการผลิตใหม่ๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิชาการและนำเอามาประยุกต์ใช้ รวมทั้งการจัดการข่าวสารข้อมูลควรที่จะกระชับและสาน ต่อความร่วมมือระหว่างอุดมศึกษา โลกของงานและภาคต่าง ๆ ของสังคม

ข. ตัวแทนของผู้จ้างงานควรได้มีบทบาทในการบริหาร สถาบันเพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับโลกของงาน นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมให้นักศึกษาและคณาจารย์มีโอกาสเข้าฝึกงาน และศึกษา ปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและโลกของงาน และการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติจริงในโลกของงาน

ค. สถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งฝึกฝนวิชาชีพ ปรับปรุงวิชาการและบุคลากรให้ทันสมัย จึงควรพัฒนาอย่างมีระบบ โดยคำนึงถึงแนวโน้มของโลกของงานและภาควิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ สถาบันอุดมศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของโลกของงานได้ด้วยการร่วมมือกันพัฒนาและประเมินกระบวนการเรียนการสอน หลักสูตรเตรียมความพร้อมการประเมินก่อน การเรียน และการรับรองวิทยฐานะซึ่งเป็นการประสมประสานทฤษฎี ให้เข้ากับการฝึกงาน นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาน่าที่จะช่วยสร้างงานใหม่ ๆ เพราะเป็นสถาบันที่มีบทบาทในการคาดการณ์แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่หน้าที่เดียวของสถาบันอุดมศึกษาก็ตาม

ง. ภารกิจที่สถาบันอุดมศึกษาควรให้ความสำคัญมากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาทักษะและความคิดริเริ่มในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยให้บัณฑิตมีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานต่าง ๆ ทั้งในฐานะที่เป็นผู้หางานและเป็นผู้สร้างงาน สถาบันอุดมศึกษาควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ โดยมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม สถาบันอุดมศึกษาจึงควรอบรมนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ และส่งเสริมให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะสร้างเสริมความเป็นธรรมและ ความยุติธรรม

มาตรา 8 การพัฒนาความหลากหลายของรูปแบบการศึกษาที่จะเพิ่มความเสมอภาคทางโอกาส

ก. จำเป็นต้องพัฒนารูปแบบอุดมศึกษา วิธีการและ เกณฑ์ ในการคัดเลือกนักศึกษาให้มีความหลากหลาย เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของนานาชาติซึ่งนับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อขยายโอกาสให้สาธารณชนเข้าสู่ระบบการศึกษาหลายรูปแบบ และกว้างขวางขึ้นภายใต้กรอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีความยืดหยุ่นทั้งในแง่ของการรับเข้าศึกษาและออกจากระบบการศึกษา

ข. ระบบอุดมศึกษาที่หลากหลายยิ่งขึ้นจะประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ เช่น สถาบันของรัฐ สถาบันของเอกชน และสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร เป็นต้น สถาบันต่างๆ ควรจะจัดการ ศึกษาและฝึกอบรมที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรแบบดั้งเดิม หลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรที่เรียนไม่เต็มเวลา ตารางเรียนแบบยืดหยุ่น หลักสูตรสำเร็จรูป การศึกษาทางไกล เป็นต้น

มาตรา 9 การใช้นวัตกรรมทางการศึกษา: แนวคิดเชิงวิพากษ์และความคิดสร้างสรรค์

ก. ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุดมศึกษา ต้องการวิสัยทัศน์และรูปแบบใหม่ ๆ ที่ถือนักศึกษาเป็นหลักทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องพิจารณาปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง พร้อมทั้ง ให้มีนโยบายที่เปิดกว้างเพื่อให้เอื้อต่อประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และให้มีการพัฒนาเนื้อหา วิธีการ แนวปฏิบัติ และวิธีการให้บริการทางการ ศึกษาบนพื้นฐานของการเชื่อมโยงและการสร้างหุ้นส่วนแบบใหม่ กับชุมชนและภาคต่าง ๆ ของสังคมให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้

ข. สถาบันอุดมศึกษาควรสอนให้นักศึกษาเป็นพลเมืองที่รอบรู้และกระตือรือร้น มีวิจารณ-ญาน สามารถวิเคราะห์และคิดหาหนทางและลงมือแก้ปัญหาของสังคมและรับผิดชอบต่อสังคม

ค. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้อาจจำเป็นต้องร่างหลักสูตรขึ้นใหม่ โดยใช้วิธีการใหม่ ๆ ที่เหมาะสม เพื่อสร้างหลักสูตร การเรียนการสอนที่มากกว่าการสอนให้นักศึกษาจดจำและเรียนเก่งใน สาขาวิชาที่เรียนเท่านั้น ควรสนับสนุนให้ได้เรียนรู้ถึงทฤษฎีการสอนแนวใหม่ ๆ เพื่อเสริมทักษะ สมรรถนะและความสามารถในการสื่อสาร การวิเคราะห์ในเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์ การคิดอย่างอิสระและการทำงานเป็นคณะในบริบทของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ที่ผสมผสานความคิดแบบดั้งเดิม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้ที่ได้มาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การร่างหลักสูตรใหม่ควรที่จะคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ทั้งมิติเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกสาขาวิชา โดยเฉพ าะอย่างยิ่งวิชาที่ เตรียมผู้เรียนให้เป็นนักประกอบการ ควรบรรจุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและการศึกษาเรื่องความต้องการของชุมชนทั่วโลก นักวิชาการควรมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเนื้อหาสาระของหลักสูตรด้วย

ง. วิธีการเรียนการสอนใหม่ย่อมหมายถึงวัสดุ อุปกรณ์ การศึกษาแบบใหม่ ซึ่งทำให้ต้องพัฒนาวิธีการทดสอบใหม่ ๆ เพื่อช่วยพัฒนาความสามารถในการจดจำและความเข้าใจในเนื้อหา รวมทั้งทักษะในการปฏิบัติและความคิดสร้างสรรค์

มาตรา 10 บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและนักศึกษา ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญ

ก. นโยบายการพัฒนาบุคลากรที่ขันแข็งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า อาจารย์ระดับอุดมศึกษามิใช่เพียงแหล่งความรู้ หากแต่ต้องสอน นักศึกษาให้รู้จักเรียนรู้และคิดริเริ่ม ควรจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการค้นคว้าวิจัย และปรับปรุงพัฒนาทักษะการสอนให้ทันสมัย โดยการพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสม การส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมในเรื่องหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสนับสนุนให้บุคลากรได้มีสถานภาพทางวิชาชีพและการเงินที่ เหมาะสม และเพื่อความเป็นเลิศทางการวิจัยและการสอน ซึ่ง เป็นไปตามบทบัญญัติของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานภาพของบุคลากรผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญของยูเนสโก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวควรส่งเสริมความสำคัญของประ สบการณ์ของนานาชาติ นอกจากนั้น หากพิจารณาถึงบทบาทของอุดมศึกษาในเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตแล้ว ก็ควรถือว่าประสบการณ์ภายนอกสถาบันเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา

ข. สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งควรมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเตรียมครูปฐมวัย ครูประถมศึกษา และมัธยมศึกษาโดยกระตุ้นให้มีนวัตกรรมด้านหลักสูตร วิธีการสอนที่ดีที่สุดหลากหลายวิธี และ ความรู้ความเข้าใจเรื่องแนวทางการเรียนรู้หลาย ๆ รูปแบบ สถาบันอุดมศึกษายังจำเป็นต้องมีบุคลากรในสายบริหารและวิชาการที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมด้วย

ค. ในการพัฒนาปรับปรุงอุดมศึกษาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งในระดับชาติและในระดับสถาบันควรคำนึงถึงความต้องการของนักศึกษาเป็นสำคัญ และควรคำนึงเสมอว่า นักศึกษาเป็นหุ้นส่วนใหญ่และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความรับผิดชอบ นักศึกษาจึงควรมีส่วนร่วมในเรื่องที่มีผลกระทบต่อการ ศึกษาระดับนั้น ๆ การวัดผล การปรับปรุงหลักสูตรและการสอน การกำหนดนโยบายและการจัดการสถาบันภายใต้กรอบงานของสถาบันที่มีผลใช้บังคับอยู่ นักศึกษาควรมีบทบาทในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ โดยสิทธิในการจัดการและเป็นตัวแทนกลุ่มตน

ง. สถาบันอุดมศึกษาควรร่วมมือกับองค์กรนิสิต นักศึกษา พัฒนาบริการแนะแนวและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังจะเข้าสู่อุดมศึกษาไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม โดยคำนึงถึง ความต้องการของผู้เรียนที่ยิ่งหลากหลายมากขึ้น นอกจากนักเรียนมัธยมที่เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาหรือผู้ที่ศึกษาต่อแล้ว สถาบันอุดมศึกษาควรคำนึงถึงความต้องการของนักศึกษาที่กำลังจะออกจากสถาบันและกลับไปสู่กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย การให้บริการสนับสนุนดังกล่าวจะทำให้มั่นใจว่า นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาที่เหมาะสมกับตนซึ่งจะลดจำนวนการออกกลางคันได้ นักศึกษาที่ลาออกกลางคันก็ควรมีโอกาสได้กลับเข้าสู่อุดมศึกษาอีกตามความเหมาะสม

จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ

มาตรา 11 การประเมินผลในเชิงคุณภาพ

ก. คุณภาพอุดมศึกษาเป็นแนวคิดที่มีหลายมิติ ซึ่งควรจะครอบคลุมภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งมวล อันได้แก่ การสอน และกิจกรรมเชิงวิชาการ การวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ การวางแผนบุคลากร นักศึกษา อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ การบริการ สังคม และบรรยากาศทางวิชาการ การประเมินผลตนเองภายในสถาบันและการประเมินโดยบุคคลภายนอกซึ่งดำเนินการอย่างเปิดเผยโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระหรือโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ หากเป็นไปได้ย่อมจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระระดับประเทศ และกำหนดมาตรฐานคุณภาพในเชิง เปรียบเทียบซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจคือ บริบทระดับสถาบันระดับชาติและภูมิภาคที่มีความหลากหลาย ซึ่งทำให้ต้องหลีกเลี่ยงระบบที่มีรูปแบบมาตรฐานเดียว ผู้ที่มี ส่วนได้ส่วนเสียควรจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินผลสถาบัน

ข. คุณภาพชี้นำให้อุดมศึกษาต้องมีมิติสากล เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างเครือข่ายปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา และโครงการวิจัยนานาชาติ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึง ค่านิยมทางวัฒนธรรมและสภาพการณ์ของแต่ละประเทศด้วย

ค. เพื่อพัฒนาและคงคุณภาพในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ สถาบันอุดมศึกษาจำต้องเลือกสรรบุคลากรอย่างรอบคอบ และดำเนินการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยการส่งเสริมการพัฒนาอาจารย์ที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงวิธีการเรียน การสอน การเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและในหมู่สถาบันอุดมศึกษา และระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับโลกของงาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายในประเทศและกับต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ ใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการนี้

มาตรา 12 ศักยภาพและการท้าทายของเทคโนโลยี

การค้นพบที่สำคัญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิธี พัฒนาองค์ความรู้ การเรียนรู้ และการถ่ายทอดความรู้ สิ่งสำคัญ ที่น่าจะกล่าวถึงเช่นกัน คือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้เปิดโอกาสให้มีการ สร้างนวัตกรรมด้านเนื้อหาของหลักสูตร วิธีการสอน และเปิดโอกาส การเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามควรระลึกไว้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ มิได้ทำให้ความต้องการครู อาจารย์ลดน้อยลง เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทของครูในกระบวนการเรียนการสอน และการสื่อสารระหว่างครู อาจารย์กับนักศึกษากลายเป็นส่วนสำคัญที่จะแปลงข้อมูลข่าวสารให้เป็นความรู้และความเข้าใจ สถาบันอุดมศึกษาควรมีบทบาทนำในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารใหม่ ๆ เพื่อประกันคุณภาพและรักษามาตรฐานการจัดการศึกษาและผลผลิตทางกา รศึกษาให้คงอยู่ใน ระดับสูงบนพื้นฐานของการเปิดเผย ความเป็นธรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศโดย

ก. มีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่าย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างขีดความสามารถ การพัฒนาวัสดุการเรียน การสอน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ในการสอน การฝึกอบรม และการวิจัยเพื่อให้ทุกคนได้รับความรู้

ข. ก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมใหม่ในการเรียนรู้ นับตั้งแต่สิ่ง อำนวยความสะดวกในการศึกษาทางไกล จนถึงระบบและสถาบันอุดมศึกษาเสมือนจริงอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถขจัดปัญหาเรื่อง ระยะทางและพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพสูง เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการเสริมสร้างประชาธิปไตย และความต้องการต่างๆ ที่สังคมให้ความสำคัญ โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาเสมือนจริงนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ภูมิภาค หรือระดับทวีป หรือระดับโลก ด้วยความเคารพต่อเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมและสังคมแต่ละแห่ง

ค. ระลึกว่าควรต้องมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ทั้งในหลาย ๆ ประเทศและระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการเข้าถึง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่ ๆ และในเรื่องการผลิต ทรัพยากรด้านนี้ เพื่อที่จะทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีประโยชน์แก่การศึกษาอย่างเต็มที่

ง. ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เข้ากับความต้องการระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น และจัดวางระบบทางเทคนิคการศึกษา การจัดการ และสถาบันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง

จ. ช่วยระบุวัตถุประสงค์ และความสนใจของนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศที่กำลังพัฒนาช่วยให้ทุกประเทศได้ใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่เทคโนโลยีนี้ให้แก่สังคมในวงกว้างโดยทั้งหมดนี้อาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

ฉ. ติดตามวิวัฒนาการของ "สังคมแห่งการเรียนรู้" อย่าง ใกล้ชิด เพื่อรักษาคุณภาพให้คงไว้ในระดับสูง และให้แน่ใจว่ามีกฎ ระเบียบการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นธรรม

ช. เมื่อคำนึงถึงสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พึงตระหนักว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นฝ่ายใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อปรับปรุงงานของตนให้ ทันสมัย มิใช่จะปล่อยให้เทคโนโลยีเหล่านี้เปลี่ยนสถาบันอุดมศึกษา จากสถาบันที่มีอยู่จริงเป็นสถาบันเสมือนจริง

มาตรา 13 การเสริมสร้างการจัดการและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอุดมศึกษา

ก. การจัดการและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอุดมศึกษาต้องอาศัยการพัฒนาแผนงานและความสามารถในการวิเคราะห์นโยบายรวมทั้งยุทธวิธีที่เหมาะสมบนพื้นฐานของหุ้นส่วน ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยวางแผนและประสานงานของรัฐ หรือระดับชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าทรัพยากร สถาบันอุดมศึกษาควรจะใช้วิธีการจัดการแบบมองไปข้างหน้า ซึ่งตอบสนองความต้องการของสภาพแวดล้อมของตนได้ ผู้บริหารอุดมศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ กระตือรือร้น มีความรู้ความสามารถที่จะประเมินประสิทธิภาพของกฎระเบียบและขั้นตอนการบริหารอย่างสม่ำเสมอ โดยอาศัยกลไกทั้งภายในและภายนอก

ข. สถาบันอุดมศึกษาจะต้องสามารถจัดการกิจการภายใน ของตนเองได้โดยอิสระ แต่ยังต้องชี้แจงเหตุผลการดำเนินการต่าง ๆ ต่อรัฐบาล รัฐสภา นักศึกษาและสังคมในวงกว้างได้อย่างชัดเจนและ โปร่งใส

ค. เป้าหมายสูงสุดของการจัดการอุดมศึกษาควรจะเป็นการปรับปรุงภารกิจของสถาบันโดยให้การศึกษา ฝึกอบรม วิจัย และบริการสังคมที่มีคุณภาพสูงเสมอ ทั้งนี้จำต้องมีการปกครองที่มีทั้ง วิสัยทัศน์ทางสังคม ความเข้าใจประเด็นปัญหาระดับโลกและทักษะการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ความเป็นผู้นำทางอุดมศึกษา จึงเป็นความรับผิดชอบอย่างสูงต่อสังคมที่จะสร้างเสริมได้ โดยการ เจรจาสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครู อาจารย์ และนักศึกษา ควรจะสนับสนุนให้ครูอาจารย์มีส่วนร่วมใน การบริหารสถาบันอุดมศึกษาภายในกรอบการจัดการปัจจุบันของ สถาบันและควรที่จะควบคุมขนาดขององค์กรบริหารต่าง ๆ ให้ พอเหมาะ

ง. จำต้องส่งเสริมความร่วมมือเหนือ-ใต้ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ความช่วยเหลือเชิงงบประมาณที่จำเป็นในการเสริม สร้างอุดมศึกษา

มาตรา 14 การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนอุดมศึกษาเพื่อสังคม

การสนับสนุนงบประมาณให้แก่อุดมศึกษาต้องอาศัยทรัพยากร ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

ก. สังคมสนับสนุนอุดมศึกษาดังจะเห็นได้จากงบประมาณ ที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจำต้องได้รับการอุดหนุนมากขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาอุดมศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพ รักษาคุณภาพ และความสอดคล้องของการจัดอุดมศึกษา ความสมดุลของสัมฤทธิผลในการปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษาและสังคมย่อมต้องอาศัยการสนับสนุนจากสาธารณชนต่อการอุดมศึกษาและการวิจัยต่อไป

ข. สังคมโดยรวมจะต้องสนับสนุนการศึกษาทุกระดับรวมทั้งอุดมศึกษา ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน การระดมสรรพกำลังเพื่อการนี้ ขึ้นอยู่กับสำนึกของสาธารณชนและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ และเอกชน รัฐสภา สื่อมวลชน องค์กรของรัฐ และองค์การนอกภาคราชการ นักศึกษา รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ ครอบครัว และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา

มาตรา 15 การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ข้ามประเทศและทวีป

ก. หลักการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาและฝึกอบรมในทุกสาขาวิชาที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ ระดับโลก บทบาทของการปกครอง แบบประชาธิปไตยและทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะในการแก้ปัญหาดังกล่าว และความจำเป็นที่ต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยมีวัฒนธรรมและ ค่านิยมที่แตกต่างกัน ระบบอุดมศึกษาทุกระบบควรใช้ภาษามากกว่า 2 ภาษาขึ้นไป มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ และสร้างสัมพันธ์ระหว่างสถาบันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางปัญญาและ วิทยาศาสตร์

ข. ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาควรดำเนินไปตามหลักการของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนความเป็นปึกแผ่น การยอมรับ และสนับสนุนกันและกัน ความเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่หุ้นส่วนทุกฝ่ายเท่า ๆ กัน และคุณค่าของการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ข้ามพรมแดน ซึ่งน่าจะให้ประโยชน์แก่ ประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด นอกจากนี้แล้วควรคำนึงถึงความต้องการที่จะปกป้องขีดความสามารถของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่ประสบปัญหาความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนจึงควรมีลักษณะสากลด้วย

ค. ควรจะให้สัตยาบันต่อกลไกมาตรฐานของภูมิภาค และนานาชาติที่ใช้รับรองคุณวุฒิการศึกษาและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานนั้น ๆ ซึ่งรวมถึงการรับรองทักษะ ความรู้ และความสามารถของบัณฑิต อันจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาในการเปลี่ยนทิศทางการศึกษาทำให้การเคลื่อนย้ายของบุคลากรทั้งในระบบ ภายในประเทศและระหว่างประเทศสะดวกยิ่งขึ้น

มาตรา 16 จากภาวะ "สมองไหล" (brain drain) สู่ภาวะ "สมองหลาย" (brain gain)

ภาวะ "สมองไหล" ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงต้องสูญเสียผู้ชำนาญการระดับสูงที่จำเป็นต่อการเร่งพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของตน จึงควรต้องแก้ไขโครงการความ ร่วมมือระหว่างประเทศจึงควรเป็นการสร้างความเป็นหุ้นส่วนในระยะยาวระหว่างสถาบันจากซีกโลกใต้และซีกโลกเหนือ และควรจะส่งเสริม ความร่วมมือใต้-ใต้ ควรให้ความสำคัญแก่การจัดการฝึกอบรมใน ประเทศกำลังพัฒนาและศูนย์ความเป็นเลิศต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย ในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยรวมหลักสูตรเร่งรัดเฉพาะทาง ระยะสั้นในต่างประเทศเข้าไว้ด้วย ควรพิจารณาสร้างสิ่งแวดล้อมที่จูงใจผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยให้กลับสู่มาตุภูมิอย่างถาวรหรือชั่วคราว โดยใช้นโยบายระดับชาติหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันควรจะพยายามสนับสนุนให้เกิดภาวะ "สมองหลาย" โดยอาศัยมิติความเป็นสากลจ ากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ สร้างและ เสริมสร้างสถาบันและส่งเสริมให้ใช้ขีดความสามารถที่มีอยู่ให้เต็มที่ ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการ UNITWIN/UNESCO Chairs และ หลักการของอนุสัญญาระดับภูมิภาคว่าด้วยการรับรองคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำคัญต่อการสร้างภาวะ "สมองหลาย" เป็นอย่างยิ่ง

มาตรา 17 หุ้นส่วนและพันธมิตร

หุ้นส่วนและพันธมิตรในบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้กำหนดนโยบายระดับชาติหรือระดับสถาบัน อาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยและนักศึกษา ผู้บริหารและนักวิชาการ ทั้งใน สถาบันอุดมศึกษา โลกของงาน และชุมชนเป็นกำลังอันทรงพลังในการจัดการการเปลี่ยนแปลง องค์การนอกภาคราชการต่าง ๆ ก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้ด้วย นับแต่นี้ไปหุ้นส่วนที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน ความเคารพและเชื่อถือซึ่งกันและกันจึง ควรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาการอุดมศึกษา

พวกเราที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา รับรองปฏิญญาฉบับนี้ และขอยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการ ศึกษาและมีสิทธิที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ตามความ สามารถของแต่ละบุคคล

พวกเราขอปฏิญาณว่า ภายใต้กรอบความรับผิดชอบของ ตนเองหรือความรับผิดชอบร่วมกัน พวกเราจะดำเนินการทุกประการตามจำเป็นเพื่อให้บรรลุถึงหลักการของอุดมศึกษาตามปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการเลือกประติบัติในการศึกษา

พวกเราขอยืนยันอย่างหนักแน่นถึงพันธกิจเพื่อสันติภาพโดยมุ่งมั่นที่จะถือว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพมีความสำคัญลำดับสูง และจะร่วมเฉลิมฉลองปีสากลแห่งการสร้างสันติภาพในปี พ.ศ. 2543

ดังนั้น พวกเราจึงรับรองปฏิญญาโลกว่าด้วยการอุดมศึกษา ในศตวรรษที่ 21: วิสัยทัศน์และการปฏิบัติ พวกเราเห็นชอบกับกรอบการดำเนินงานสำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาอุดมศึกษาต่อไปนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปฏิญญาฉบับนี้และ ให้ใช้ปฏิบัติทันที




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2557
0 comments
Last Update : 31 ตุลาคม 2557 21:48:45 น.
Counter : 925 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.