24.9 พระสูตรหลักถัดไป คือเทวทหสูตร [พระสูตรที่ 1]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
24.8 พระสูตรหลักถัดไป คือเทวทหสูตร [พระสูตรที่ 1]

ความคิดเห็นที่ 7-96
GravityOfLove, 6 ธันวาคม เวลา 22:55 น.

             คำถามโคปกโมคคัลลานสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979
            ๑. เป็นอันว่า พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ทรงติเตียนฌานที่ควรติเตียน
ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ
             ฌานที่ควรติเตียนคืออะไรคะ ส่วนฌานที่ควรสรรเสริญคือฌาน ๔
             ๒. วัสสการพราหมณ์ไม่ได้ขอขมาท่านพระมหากัจจายนเถระใช่ไหมคะ

ความคิดเห็นที่ 7-97
ฐานาฐานะ, 7 ธันวาคม เวลา 01:16 น.

GravityOfLove, 21 นาทีที่แล้ว
              คำถามโคปกโมคคัลลานสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979
              ๑. เป็นอันว่า พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ทรงติเตียนฌานที่ควรติเตียน
ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ
              ฌานที่ควรติเตียนคืออะไรคะ ส่วนฌานที่ควรสรรเสริญคือฌาน ๔
              ตอบว่า ควรทราบว่า ฌาน แปลว่า เพ่ง เช่น เพ่งอารมณ์หรือเพ่งลักษณะ.
              ฌานที่ควรติเตียนคือ การเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะกามราคะ
ทำกามราคะไว้ในภายใน, การเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะพยาบาท
ทำพยาบาทไว้ในภายใน, .... , การเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะวิจิกิจฉา
ทำวิจิกิจฉาไว้ในภายใน
              ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล
              กล่าวคือ การเพ่งอารมณ์ไปในกามราคะ ... วิจิกิจฉา อันทำให้นิวรณ์เจริญขึ้น
ไม่บรรเทาลง การเพ่งอารมณ์อย่างนั้น ควรติเตียน.
              เช่น เพ่งเล็ง ครุ่นคิด ทบทวนว่า เขาด่าเรา ด่ามิตรของเราอย่างนั้นๆ
หรือเขาตีเรา หรือตีมิตรของเราอย่างนั้น ย่อมทำให้พยาบาทเจริญขึ้น.

              คำว่า ฌาน 2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน

              ๒. วัสสการพราหมณ์ไม่ได้ขอขมาท่านพระมหากัจจายนเถระใช่ไหมคะ
ยินยอมเกิดเป็นลิงหรือคะ
10:55 PM 12/6/2013
              ตอบว่า คงไม่ได้ขอขมาครับ
              วัสสการพราหมณ์ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เกียรติยศมาก
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยให้เขามีมานะ และดื้อรั้น.

ความคิดเห็นที่ 7-98
GravityOfLove, 7 ธันวาคม เวลา 15:38 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-99
GravityOfLove, 7 ธันวาคม เวลา 15:46 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
              ๘. โคปกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโคปกโมคคัลลานะ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979&bgc=aliceblue&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วไม่นาน
             ท่านพระอานนท์อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่พระราชทาน
เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
             สมัยนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กษัตริย์แห่งมคธรัฐ ทรงระแวง
พระเจ้าปัชโชต (พระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี ผู้เป็นพระสหายรักของ
พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดา) (ว่าจะแก้แค้นแทนพระสหายรัก) จึงรับสั่งให้
ซ่อมแซมพระนครราชคฤห์
             ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ในเวลาเช้า
แต่ดำริว่ายังเช้าเกินไป ควรไปหาพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะยังที่ทำงาน
และที่อยู่เถิด
             (เป็นคราวจะสังคายนาพระธรรม ท่านพระอานนท์ต้องการให้พราหมณ์ผู้นี้
คุ้มครองพระเวฬุวัน)
             พราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะนิมนต์ท่านพระอานนท์นั่งแล้วกล่าวว่า
             มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ
และทุกๆ ประการ (ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ) ที่พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น
ทรงถึงพร้อมแล้ว
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก
ทรงทราบชัดมรรค  ทรงรู้แจ้งมรรค และทรงฉลาดในมรรค
             ส่วนเหล่าสาวกในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่
             ในขณะที่สนทนาค้างกันอยู่นั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ
เที่ยวตรวจราชการในพระนครราชคฤห์ ได้เข้ามา แล้วถามท่านพระอานนท์ว่า
             สนทนาเรื่องอะไรกันอยู่
             ท่านพระอานนท์จึงเล่าให้ฟัง
             วัสสการพราหมณ์ถามว่า
             มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอที่พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นทรงแต่งตั้งไว้ว่า
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึงอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้า
ทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง
             วัสสการพราหมณ์ถามต่อไปว่า
             มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหม ที่สงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกัน
สมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้
จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง
             วัสสการพราหมณ์ถามว่า
             เมื่อไม่มีที่พึ่งอาศัยอย่างนี้ อะไรจะเป็นเหตุแห่งความสามัคคีกันโดยธรรม
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า
             อาตมภาพทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัยเลย พวกอาตมภาพมีที่พึ่งอาศัย คือ
มีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
             วัสสการพราหมณ์ขอให้ท่านพระอานนท์อธิบาย
             ท่านพระอานนท์อธิบายว่า
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ
ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย ทุกๆ วันอุโบสถ
             อาตมภาพทั้งหลายเท่าที่มีอยู่นั้น จะเข้าไปอาศัยคามเขตแห่งหนึ่งอยู่ ทุกๆ รูป
จะประชุมร่วมกัน ครั้นแล้วจะเชิญภิกษุรูปที่สวดปาติโมกข์ได้ ให้สวด
             ถ้าขณะที่สวดปาติโมกข์อยู่ ปรากฏภิกษุมีอาบัติและโทษที่ล่วงละเมิด
อาตมภาพทั้งหลายจะให้เธอทำตามธรรม ตามคำที่ทรงสั่งสอนไว้
             เพราะฉะนั้น เป็นอันว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้ให้พวกอาตมภาพกระทำ
             ธรรมต่างหากให้พวกอาตมภาพกระทำ
             วัสสการพราหมณ์ถามว่า
             มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหม ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้วย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า มีอยู่รูปหนึ่ง
             วัสสการพราหมณ์ขอให้อธิบาย
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธ ตรัสบอกธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสไว้ ๑๐ ประการ
             บรรดาพวกอาตมภาพ รูปใดมีธรรมเหล่านั้น อาตมภาพทั้งหลาย
ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชารูปนั้น ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไป
อาศัยอยู่ในบัดนี้
             ธรรม ๑๐ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
             (๑) เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและ
โคจรอยู่ ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท
ทั้งหลาย
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อาจาระ&detail=on#find2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อาจาระ&detail=on
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=โคจร

             (๒) เป็นพหูสูต ทรงการศึกษา (ในที่นี้หมายถึงนวังคสัตถุศาสน์) สั่งสม
การศึกษา ธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ
พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เห็นปานนั้น
ย่อมเป็นอันเธอได้สดับแล้วมาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก เพ่งตามได้ด้วยใจ
แทงตลอดดีด้วยความเห็น
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=นวังคสัตถุศาสน์

             (๓) เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ

             (๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิตเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้ไม่ยาก ไม่ลำบาก
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

             (๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ เป็นต้น
             (๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกล
และที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
             (๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ จิตมีราคะ
ก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตยังไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น เป็นต้น
             (๘) ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ ระลึก
ได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏวิวัฏกัป
บ้าง เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ
             (๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
             (๑๐) ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อภิญญา_6

             วัสสการพราหมณ์ได้เรียกอุปนันทะเสนาบดีมาพูดว่า
             ที่พระคุณเจ้าเหล่านี้ สักการะธรรมที่ควรสักการะ เคารพธรรมที่ควรเคารพ
นับถือธรรมที่ควรนับถือ บูชาธรรมที่ควรบูชาอยู่อย่างนี้
             ตกลงพระคุณเจ้าเหล่านี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสิ่งนี้
             ถ้าพระคุณเจ้าเหล่านั้นจะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสิ่งนี้
พระคุณเจ้าเหล่านั้น จะพึงสักการะเคารพ นับถือ บูชาสิ่งไร แล้วจะเข้าไปอาศัยสิ่งไรอยู่ได้เล่า
             วัสสการพราหมณ์ถามท่านพระอานนท์ว่า ก็เวลานี้ พระอานนท์อยู่ที่ไหน
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า เวลานี้ อาตมภาพอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน
             วัสสการพราหมณ์ถามว่า
             พระวิหารเวฬุวัน เป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม
มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่หรือ
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า
             แน่นอน พระวิหารเวฬุวันจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ด้วยมีผู้รักษาคุ้มครองเช่นท่าน
             วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า
             พระวิหารเวฬุวันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ด้วยมีพระคุณเจ้าทั้งหลายเพ่งฌาน
และมีฌานเป็นปรกติต่างหาก พระคุณเจ้าทั้งหลายทั้งเพ่งฌานและมีฌาน
เป็นปรกติทีเดียว
             กระผมขอเล่าถวาย สมัยหนึ่งพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่
กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี
             ครั้งนั้น กระผมเข้าไปเฝ้า และพระองค์ได้ตรัสฌานกถาโดยอเนกปริยาย
พระองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติ แต่ก็ทรงสรรเสริญฌาน
ทั้งปวง
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่
ไม่ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
             ๑. มีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัด กามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว
บุคคลนั้นจึงเพ่ง หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำกามราคะเท่านั้นไว้ภายใน
             ๒. มีใจถูกพยาบาทกลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง
หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำพยาบาทเท่านั้นไว้ภายใน
             ๓. มีใจถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง
หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำถีนมิทธะเท่านั้นไว้ภายใน
             ๔. มีใจถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่
และไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิด
ขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำ
อุทธัจจกุกกุจจะเท่านั้นไว้ภายใน
             ๕. มีใจถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง
หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำวิจิกิจฉาเท่านั้นไว้ภายใน
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌาน ๔
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             เชิงอรรถ :
ธรรมที่สลัด มี ๓ ประการ คือ
             (๑) ธรรมที่สลัดด้วยการข่มไว้ หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์
             (๒) ธรรมที่สลัดด้วยองค์นั้น หมายถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน
             (๓) ธรรมที่สลัดด้วยการถอนขึ้น หมายถึงอรหัตตมรรค (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๙๓/๗๓-๗๔)
ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๙๓/๓๒๔-๓๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๙๔ }
//www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd14-1.htm

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 7-100
[ต่อ]

             วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า
             เป็นอันว่า พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ทรงติเตียนฌานที่ควรติเตียน
ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ
             วัสสการพราหมณ์ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์ แล้วหลีกไป
             เมื่อวัสสการพราหมณ์ไปแล้วไม่นาน พราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะกล่าวว่า
             ปัญหาของกระผม ซึ่งกระผมได้ถามพระคุณเจ้าๆ ยังมิได้ตอบกระผมเลย
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             ดูกรพราหมณ์ เราได้กล่าวแก่ท่านแล้วมิใช่หรือว่า
             ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ
ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว
             เพราะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ
ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้แจ้ง
มรรค และทรงฉลาดในมรรค
             ส่วนเหล่าสาวกในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่

[แก้ไขตาม #7-101]

ความคิดเห็นที่ 7-101
ฐานาฐานะ, 9 ธันวาคม เวลา 19:19 น.

GravityOfLove, วันเสาร์ เวลา 15:46 น.
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
             ๘. โคปกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโคปกโมคคัลลานะ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979&bgc=aliceblue&pagebreak=0
...
3:46 PM 12/7/2013

             ย่อความได้ดีครับ
             มีข้อติงเล็กน้อย ดังนี้ :-
             กรณีของการนำเชิงอรรถมาแสดง ควรระบุข้อให้ชัดเจน
             กล่าวคือ ข้อความว่า
             [อรรถกถา] สลัด มี ๓ ประการ คือ
             (๑) ธรรมที่สลัดด้วยการข่มไว้ หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภกัมมัฏฐาน
เป็นอารมณ์
             (๒) ธรรมที่สลัดด้วยองค์นั้น หมายถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน
             (๓) ธรรมที่สลัดด้วยการถอนขึ้น หมายถึงอรหัตตมรรค
(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๙๓/๗๓-๗๔))

             นำมาจาก ข้อ 84
             โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๙๔
//www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd14-1.htm
             ซึ่งเป็นเชิงอรรถในข้อย่อยที่ 1 เท่านั้น ดังนั้นหากจะนำมาเพื่อขยายความ
ก็ควรระบุว่า ขยายในส่วนใดด้วย.

             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. มีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัด กามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคล
นั้นจึงเพ่ง หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำกามราคะเท่านั้นไว้ภายใน
๒. มีใจถูกพยาบาทกลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง
หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำพยาบาทเท่านั้นไว้ภายใน
๓. มีใจถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง
หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำถีนมิทธะเท่านั้นไว้ภายใน
๔. มีใจถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่
และไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิด
ขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำ
อุทธัจจกุกกุจจะเท่านั้นไว้ภายใน
๕. มีใจถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจึงเพ่ง
หมกมุ่น จดจ่อ จินตนาการ ทำวิจิกิจฉาเท่านั้นไว้ภายใน
พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้

เชิงอรรถ :
ธรรมที่สลัด มี ๓ ประการ คือ (๑) ธรรมที่สลัดด้วยการข่มไว้ หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภกัมมัฏฐาน
เป็นอารมณ์ (๒) ธรรมที่สลัดด้วยองค์นั้น หมายถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน (๓) ธรรมที่สลัดด้วยการถอนขึ้น
หมายถึงอรหัตตมรรค (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๙๓/๗๓-๗๔)
ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๙๓/๓๒๔-๓๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๙๔ }
//www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd14-1.htm

             เชิงอรรถนั้น เข้าใจว่า น่าจะนำมาอรรถกถาพระสูตรชื่อสังคารวสูตร
             สังคารวสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=5377&Z=5501
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=193

             คำว่า ปหาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปหาน

ความคิดเห็นที่ 7-102
ฐานาฐานะ, 10 ธันวาคม เวลา 06:37 น.

             คำถามในโคปกโมคคัลลานสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. ในขณะที่เกิดพระสูตรนี้ ท่านพระอานนท์เถระเป็นพระอริยบุคคลขั้นใด?

ความคิดเห็นที่ 7-103
GravityOfLove, 10 ธันวาคม เวลา 20:56 น.

             ตอบคำถามในโคปกโมคคัลลานสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. ไม่มีภิกษุสักรูปหนึ่ง ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อและทุกๆ ประการ
(ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ) ที่พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมแล้ว
             เพราะพระพุทธองค์เป็นผู้ตรัสบอก มรรคที่ยังไม่มีใครบอก และทรงฉลาด
ใน  มรรค ส่วนสาวกเป็นผู้ดําเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่
             ๒. พระผู้มีพระภาคมิได้ตั้งภิกษุแม้รูปหนึ่ง ให้เป็นที่พึ่งของภิกษุทั้งหลาย
และสงฆ์ก็มิได้สมมติภิกษุรูปใด ให้เป็นที่พึ่งของภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระพุทธองค์
ล่วงลับไปแล้ว แต่ภิกษุทั้งหลาย มีธรรมเป็นที่พึ่ง
             ๓. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑๐ ประการ ภิกษุใดมีธรรมเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และย่อมเข้าไปอาศัยภิกษุนั้นอยู่
             ๔. พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญการเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ
มุ่งหมายเฉพาะนิวรณ์ ๕ ทำนิวรณ์ ๕ ไว้ในภายใน
             พระองค์ทรงสรรเสริญฌาน ๔
             ๕. พระสูตรนี้เกิดขึ้นเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว
ท่านพระอานนท์แบ่งพระธาตุแล้วมายังกรุงราชคฤห์ เพื่อจะทำการสังคายนาพระธรรม
             ๖. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุทั้งหลาย
มิได้วิวาทกันเลย แม้ความวิวาทที่ได้มีขึ้นนั้น ก็ได้สงบไปในที่นั้น
             ๗. สาเหตุที่วัสสการพราหมณ์ให้การอารักขาในพระเวฬุวัน
เพราะต่อไปถ้าตนเกิดเป็นลิงในนี้ จะได้มีที่หากิน
             พระขีณาสพมี ๒ พวก คือสตตวิหารีและโนสตตวิหารี
             ในพระขีณาสพ ๒ พวกเหล่านั้น พระขีณาสพผู้สตตวิหารี
แม้กระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจจะเข้าผลสมาบัติได้
ส่วนพระขีณาสพผู้เป็นโนสตตวิหารี เป็นผู้ขวนขวายกิจในกิจการ
มีประมาณเล็กน้อย ก็ไม่อาจแนบสนิทผลสมาบัติได้
----------------------------
             2. ในขณะที่เกิดพระสูตรนี้ ท่านพระอานนท์เถระเป็นพระอริยบุคคลขั้นใด?
             ดูกรอาวุโส ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นผู้มีอุปการะมาก
แก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ ก็เราได้ตรัสรู้ธรรม
(อรรถกถา : เป็นพระโสดาบัน) เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระปุณณมันตานีบุตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=2357&Z=2383&pagebreak=0

             บทว่า อจิรปรินิพฺพุเต ภควติ ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว
คือในกาลที่พระอานนท์แบ่งพระธาตุแล้วมายังกรุงราชคฤห์ เพื่อจะทำการสังคายนาพระธรรม.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=105&bgc=8

             ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุมทำสังคายนา
การที่เรายังเป็นพระเสขะอยู่ จะเข้าประชุมด้วยนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย
แล้วให้เวลาล่วงไปด้วยกายคตาสติกรรมฐาน ตลอดราตรีเป็นส่วนมากทีเดียว
             ในเวลาใกล้รุ่งของราตรีก็ลงจากที่จงกรมเข้าวิหาร เอนกายลงหมายจะนอน
เท้าทั้งสองพ้นจากพื้นแล้ว แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนี้จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=1#พระอานนท์บรรลุพระอรหัต

             ตอบว่า น่าจะยังเป็นพระโสดาบันอยู่ เพราะท่านพระอานน์บรรลุเป็นพระอรหันต์
ตอนใกล้รุ่งของวันที่จะทำการสังคายนา
             ในพระสูตรนี้ดูไม่เหมือนว่าเหตุการณ์เกิดในวันจะทำสังคายนา

ความคิดเห็นที่ 7-104
ฐานาฐานะ, 10 ธันวาคม เวลา 21:08 น.

GravityOfLove, 7 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในโคปกโมคคัลลานสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979
...
8:56 PM 12/10/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ
             ขอถามว่า ลิงค์ (เล่มที่ 17) ด้านล่างนี้ นำมาจากไหน
ค้นหาเอง หรือว่า จำมาจากไหนหนอ?
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=2357&Z=2383&pagebreak=0

ความคิดเห็นที่ 7-105
GravityOfLove, 10 ธันวาคม เวลา 21:12 น.

ค้นหาเองจากที่นี่ค่ะ
//topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2012/03/Y11859877/Y11859877.html#17

ความคิดเห็นที่ 7-106
ฐานาฐานะ, 10 ธันวาคม เวลา 21:14 น.

             เป็นอย่างนี้นี่เอง.

ความคิดเห็นที่ 7-107
ฐานาฐานะ, 10 ธันวาคม เวลา 21:17 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า โคปกโมคคัลลานสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1735&Z=1979

              พระสูตรหลักถัดไป คือมหาปุณณมสูตร [พระสูตรที่ 9].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
              มหาปุณณมสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1980&Z=2186
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=120

              จูฬปุณณมสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2187&Z=2323
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=130

ย้ายไปที



Create Date : 17 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:15:47 น.
Counter : 511 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog