27.7 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
27.6 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=26-03-2014&group=3&gblog=37

ความคิดเห็นที่ 6-72
ฐานาฐานะ, 2 มีนาคม เวลา 20:05 น.

             ๓. ให้อิงโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ แล้วละโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ
             เฉลยว่า
             ประกอบด้วยความเห็นส่วนตัว โปรดใช้วิจารณญาณ.
             ผมเห็นว่า น่าจะมีนัยอย่างนาวาสูตรและภูมิชสูตร นัยว่า
             โทมนัสเกิดขึ้นเพราะตั้งความหวัง เมื่อไม่ได้ตามนั้น จึงเสียใจ
ดังนั้น ควรละโทมนัสด้วยโสมนัสที่ได้เห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ 5
หวังหรือไม่หวังก็ตาม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมอำนวยผล ก็ย่อมบรรลุมรรคผล
เพราะความถึงพร้อมแห่งเหตุปัจจัยเอง.
             นาวาสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=17&A=3354
             ภูมิชสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=5609&Z=5818

ความคิดเห็นที่ 6-73
GravityOfLove, 2 มีนาคม เวลา 21:17 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-74
ฐานาฐานะ, 6 มีนาคม เวลา 00:14 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า สฬายตนวิภังคสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7799&Z=8027

              พระสูตรหลักถัดไป คือ อุทเทสวิภังคสูตร [พระสูตรที่ 38].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              อุทเทสวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8267&Z=8510
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=638

ความคิดเห็นที่ 6-75
GravityOfLove, 6 มีนาคม เวลา 00:45 น.

             คำถามอุทเทสวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8267&Z=8510

             จิตตั้งสงบอยู่ภายใน และจิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
อย่างใดที่เป็นที่น่าพึงปรารถนามากกว่ากันคะ
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-76
ฐานาฐานะ, 6 มีนาคม เวลา 15:36 น.

GravityOfLove, 9 นาทีที่แล้ว
              คำถามอุทเทสวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8267&Z=8510

              จิตตั้งสงบอยู่ภายใน และจิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
อย่างใดที่เป็นที่น่าพึงปรารถนามากกว่ากันคะ

ตอบว่า ตามนัยแห่งพระสูตรนี้
              จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน น่าพึงปรารถนามากกว่า เพราะเหตุว่า
              ทั้งจิตตั้งสงบอยู่ภายในและจิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน เป็นฌานจิต
หรือผู้ได้ฌาน แต่ว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ยินดีด้วยราคะ ความผูกพันใน
ปีติก็ตาม สุขก็ตาม อุเบกขาก็ตาม อันมีในฌานจิตนั้นๆ
              เมื่อยินดีติดข้องผูกพันไว้ ย่อมไม่มีฉันทะอุตสาหะที่จะละหรือ
สละเครื่องผูกนั้นๆ ไปได้ เป็นอันพอใจเพียงสุขในฌานเท่านั้นเอง.
              นึกถึงคำว่า เลิกเสีย ในระหว่าง
//84000.org/tipitaka/read/?7/402

              แต่ว่า คำว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน ก็เป็นจิตของผู้ได้ฌานจิต
เหมือนกัน แต่ไม่ติดข้องผูกพัน จึงไม่คลายความเพียรที่จะละ สละเครื่องผูก
เหล่านี้.

              คำว่า อุปัญญาตธรรม 2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อุปัญญาตธรรม

ความคิดเห็นที่ 6-77
GravityOfLove, 6 มีนาคม เวลา 21:25 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-78
GravityOfLove, 6 มีนาคม เวลา 21:26 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๘. อุทเทสวิภังคสูตร ว่าด้วยอุทเทสและวิภังค์
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8267&Z=8510&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสแสดงอุเทสวิภังค์ ดังนี้ว่า
             (อุทเทส ในที่นี้หมายถึงบทมาติกาหรือหัวข้อธรรม
วิภังค์ ในที่นี้หมายถึงการจำแนกเนื้อความให้พิสดาร)
             ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่
             (๑) ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก
             (๒) ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน (ไม่ติดข้องผูกพัน)
             (๓) ไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น
             เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้ แล้วเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร
             ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงปรึกษากันว่า
             พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเรา แต่ไม่ได้ทรงจำแนก
เนื้อความโดยพิสดาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความที่ทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้
             ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างว่า
             ท่านพระมหากัจจานะ อันพระศาสดาและภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว พอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้
             ถ้ากระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่าน แล้วพึงสอบถามเนื้อความนั้นกับท่านเถิด
             ภิกษุเหล่านั้นจึงไปหาท่านพระมหากัจจานะ แล้วเล่าเรื่องที่พวกตนสนทนา
กับพระผู้มีพระภาคให้ฟัง แล้วขอให้ท่านจำแนกเนื้อความโดยพิสดารให้ฟัง
             ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า
             เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ พึงสำคัญว่า
ควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้นเสีย ฉันใด
             ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านทั้งหลาย
พวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่า พึงสอบถามเราได้ ล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเสีย
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น
ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์
ประทานอมตธรรม ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น
             และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่ท่านทั้งหลายจะพึงสอบถาม
เนื้อความนี้กับพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่เราอย่างใด
พวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด
             ภิกษุเหล่านั้นกล่าวยอมรับ และกล่าวว่า
             แต่ว่าท่านพระมหากัจจานะ อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติ
พรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน ยกย่อง สรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความ
แห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้
             ขอท่านพระมหากัจจานะอย่าทำความหนักใจ โปรดจำแนกเนื้อความเถิด
             ท่านพระมหากัจจานะ กล่าวให้ตั้งใจฟังให้ดี แล้วกล่าวว่า
             ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้คือ
             ๑. ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก คือ
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ
แล่นไปตามนิมิตคือรูป กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือรูป ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือรูป
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือรูป
             เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กล่าวทำนองเดียวกัน

             ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก คือ
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือรูป ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือรูป ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิต
คือรูป ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือรูป
             เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กล่าวทำนองเดียวกัน

             ๒. จิตตั้งสงบอยู่ภายใน คือ
             ๒.๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดวิเวก
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
             ๒.๒ ภิกษุเข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน
มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้นเพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
             ๒.๓ ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่
และเสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า
ผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามอุเบกขา กำหนัดด้วยยินดีสุข
เกิดแต่อุเบกขา ผูกพันด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ประกอบด้วยสัญโญชน์คือ
ความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
             ๒.๔ ภิกษุเข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์
และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามอทุกขมสุขเวทนา
กำหนัดด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีอทุกขมสุขเวทนา

             จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน คือ
             ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน ฯลฯ อยู่
             ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุข
เกิดแต่วิเวก ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
             ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน กล่าวทำนองเดียวกัน

             ๓. สะดุ้งเพราะตามถือมั่น คือ
             ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ
             ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง
             รูปนั้นของเขาย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความแปรปรวน
เป็นอย่างอื่นของรูป เขาย่อมมีความรู้สึกปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป
ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดแต่ความปรวนแปรไป
ตามความแปรปรวนของรูป ย่อมตั้งครอบงำจิตของเขาได้
             เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้หวาดเสียว คับแค้น ห่วงใย
และสะดุ้งเพราะตามถือมั่น
             เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (สักกายทิฏฐิ ๒๐) กล่าวทำนองเดียวกัน

             ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น คือ
             อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
             ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง
             รูปนั้นของท่านย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความแปรปรวน
เป็นอย่างอื่นของรูป ท่านย่อมมีความรู้สึกไม่ปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป
ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดความปรวนแปรไป
ตามความแปรปรวนของรูป ย่อมไม่ตั้งครอบงำจิตของท่านได้
             เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ ท่านจึงเป็นผู้ไม่หวาดเสียว ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใย
และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น
             เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (สักกายทิฏฐิ ๒๐) กล่าวทำนองเดียวกัน

             ท่านพระมหากัจจานะกล่าวต่อไปว่า
             ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อนั้น ข้าพเจ้าทราบเนื้อความ
ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลายหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระองค์
แล้วทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด
พวกท่านพึงทรงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น
             ภิกษุเหล่านั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหากัจจานะแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลเล่าเรื่องทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคว่า
             ท่านพระมหากัจจานะจำแนกเนื้อความแก่พวกตนโดยอาการดังนี้
โดยบทดังนี้ และโดยพยัญชนะดังนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             มหากัจจานะเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถาม
เนื้อความนั้นกับเรา เราก็จะพึงพยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่
มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนี้เถิด
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 6-79
ฐานาฐานะ, 7 มีนาคม เวลา 03:21 น.

GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
              ๓๘. อุทเทสวิภังคสูตร ว่าด้วยอุทเทสและวิภังค์
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8267&Z=8510&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
9:25 PM 3/6/2014

              ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-80
ฐานาฐานะ, 7 มีนาคม เวลา 03:23 น.

             คำถามในอุทเทสวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8267&Z=8510

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 6-81
GravityOfLove, 7 มีนาคม เวลา 09:59 น.

             ตอบคำถามในอุทเทสวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8267&Z=8510

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทสวิภังค์แก่ภิกษุทั้งหลายว่า
             ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป
ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น
             เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์
และสมุทัยต่อไป
             ๒. ท่านพระมหากัจจานะอธิบายขยายความอุเทสที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อ
             ๓. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มหากัจจานะเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก
เนื้อความที่ท่านแสดงเหมือนกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

ความคิดเห็นที่ 6-82
ฐานาฐานะ, 7 มีนาคม เวลา 15:45 น.

GravityOfLove, 5 ชั่วโมงที่แล้ว
             ตอบคำถามในอุทเทสวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8267&Z=8510
...
9:59 AM 3/7/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ
             คำถามเบาๆ ถัดไปว่า
             เมื่อได้ศึกษาพระสูตรนี้ ได้เข้าใจการขัดเกลา
เข้าใจแนวทางปฏิบัติในพระศาสนานี้ อย่างไร?

ความคิดเห็นที่ 6-83
GravityOfLove, 7 มีนาคม เวลา 20:31 น.

แม้ความรู้สึกทางกุศลธรรม เช่น ปิติ สุข อุเบกขาที่เกิดขึ้น ก็ไม่พึงยึดติด

ย้ายไปที่
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 26 มีนาคม 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 18:42:07 น.
Counter : 542 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มีนาคม 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
26 มีนาคม 2557
All Blog