27.9 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
27.8 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=26-03-2014&group=3&gblog=39

ความคิดเห็นที่ 6-95
GravityOfLove, 10 มีนาคม เวลา 22:15 น.

ขอบพระคุณค่ะ
---------------------
             คำถามธาตุวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8748&Z=9019

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. [๖๗๘] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖
มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น
ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป
ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียก
เขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ
พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก
             ธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ
             แล้วธาตุวิภังค์หก หมายถึงอะไรบ้างคะ
             ๒. [๖๘๙] ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
             ๓. [๖๙๐]เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม
เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป
ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด
เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ต่อนั้น
สิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ อุเบกขา
อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย
และผ่องแผ้ว ฯ
             อทุกขมสุขเวทนาดับไปแล้ว ทำไมยังเหลืออุเบกขาอีกคะ
             สองคำนี้ความหมายไม่เหมือนกันหรือคะ
             ๔. [๖๙๒] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้
จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็น
ประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้นเมื่อ
เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และ
รู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดี
กันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ
             ๕. ได้ยินว่า พระเกศาและพระมัสสุเกิดเป็นเช่นกับบรรพชาของพระโพธิสัตว์นั้นแล.

ความคิดเห็นที่ 6-96
ฐานาฐานะ, 12 มีนาคม เวลา 00:29 น.

GravityOfLove, 26 นาทีที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
---------------------
              คำถามธาตุวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8748&Z=9019

              กรุณาอธิบายค่ะ
              ๑. [๖๗๘] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖
มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น
ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป
ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียก
เขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ
พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก ฯ
              ธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ
              แล้วธาตุวิภังค์หก หมายถึงอะไรบ้างคะ
ตอบว่า อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก หมายถึง ข้อ 678
              ส่วนวิภังค์ทั้งหกนั้น คือวิภังค์ ข้อที่เริ่มด้วยคำว่า ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า
อันได้แก่ข้อ 679, 680, 681, 682, 683, 693
              ในข้อ 682 และ 693 อาจจะมองว่า เหมือนซ้ำกันบางส่วน
แต่ควรเห็นว่า ข้อ 682 เป็นเหมือนตั้งสิ่งที่ควรเจริญ ส่วนข้อ 693
เป็นเหมือนบอกกล่าวว่า สิ่งที่ควรเจริญนั้น ควรได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
ควรให้ถึงที่สุดอย่างไร?
              กล่าวคือ เหมือนบอกว่า ควรมีปัญญา และมีปัญญา
ก็เพื่อใช้ปัญญาทำลายกิเลส ให้ถึงความหลุดพ้นเป็นต้น.
>>>
              [๖๘๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้
ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มี
สัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะเป็นธรรม
ควรตั้งไว้ในใจ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔
นั่น เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ
...
              [๖๙๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น
ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป
ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะ
เรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ความสำคัญ
ตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็น-
*สัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็น
สัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ดูกรภิกษุ
ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
ผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว และมุนีผู้สงบแล้วแล ย่อม
ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้อง
เกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย
จักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร ข้อที่เรากล่าว
ดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส
เครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและ
กิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น
เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ท่านจงทรงจำธาตุวิภังค์ ๖ โดยย่อนี้
ของเราไว้เถิด ฯ
<<<

              ๒. [๖๘๙] ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
สันนิษฐานว่า
              ในธาตุ 6 นั้น 5 ธาตุแรกเป็นรูปธรรม ธาตุสุดท้ายเป็นอรูปธรรม
              เมื่อทรงเริ่มอรูปกัมมัฏฐาน จึงทรงเริ่มโดยนัยที่ยังไม่เศร้าหมองก่อน.
อาจจะมีนัยว่า สามารถขัดเกลาจากกิเลสได้ เพราะเป็นของจรมา.

              [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล
เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ
//84000.org/tipitaka/read/?20/50

              สันนิษฐานล้วน.

              ๓. [๖๙๐] เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม
เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป
ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด
เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ต่อนั้น
สิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย
และผ่องแผ้ว ฯ
              อทุกขมสุขเวทนาดับไปแล้ว ทำไมยังเหลืออุเบกขาอีกคะ
              สองคำนี้ความหมายไม่เหมือนกันหรือคะ
สันนิษฐานว่า อทุกขมสุขเวทนา ในข้อ 690 มีนัยต่อเนื่องมาจาก
เวทนาทั้ง 3 คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ทั่วไป
เป็นการย้ำถึงสภาพของการมีปัจจัยจึงเกิดได้ เมื่อปัจจัยดับ ก็ดับ
จัดว่า แสดงถึงปัจจัยและอนิจจัง คือ ไม่ได้เกิดโดยไม่มีเหตุ
และเกิดแล้วก็ดับ คือมีแล้วไม่มี.
              ส่วนอุเบกขา (คำหลัง) น่าจะหมายถึง อุเบกขาในฌาน 4
              กล่าวคือ ท่านปุกกุสาติได้ถึงฌาน 4 อันมีอุเบกขาอยู่
              จึงเหมือนกล่าวว่า
              เมื่ออาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ...
              เมื่ออาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ...
              เมื่ออาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ...
เมื่อเข้าฌานที่ 4 ก็เหลือเพียงอุเบกขาอันบริสุทธิ์ ...
              เหมือนว่า ก่อนเข้าฌาน เวทนา 3 อย่างก็ปะปนกัน
เกิดสลับกันไป เมื่อเข้าฌานที่ 4 ก็เหลืออุเบกขา.
              น่าจะเป็นการปูทางไปถึงพระธรรมเทศนาในอรูปฌาน
ที่ประณีตยิ่งขึ้น จึงทำให้ความเลื่อมใสในฌานที่ 4 ในมั่นคงขึ้นก่อน.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

              ๔. [๖๙๒] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้
จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็น
ประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้นเมื่อ
เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และ
รู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดี
กันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ
ตอบว่า เป็นอุปมาความดับไปของการเสวยเวทนาของพระอรหันต์ว่า
เมื่อกายแตกไป หรือชีวิตสิ้นไป (กาลกิริยา) การเสวยเวทนาจะไม่เกิดอีก คือสงบไป
กล่าวคือ เวทนาก็เป็นสังขตะ เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานไป เวทนาก็เป็นอันสงบ
คือไม่เกิดอีก เพราะหมดปัจจัย.

              ๕. ได้ยินว่า พระเกศาและพระมัสสุเกิดเป็นเช่นกับบรรพชาของพระโพธิสัตว์นั้นแล.
ตอบว่า น่าจะเป็นการเทียบการบรรพชาของท่านปุกกุสาติว่า
เมื่อนำพระแสงดาบปลงผมและหนวด เหมือนอาการของพระโพธิสัตว์ดังเนื้อความว่า
              เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่
ได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.
//84000.org/tipitaka/read/?13/489

              คำว่า พระเกศาและพระมัสสุประมาณสององคุลีแม้ของพระราชาได้มีแล้ว.
              แต่อาการของพระเกศาและพระมัสสุจะดำรงอยู่ประมาณสององคุลี
ตลอดไปหรือไม่ ข้อนี้ไม่แน่ใจว่า จะกินความถึงนั้นหรือไม่?

              อรรถกถาอวิทูเรนิทาน [บางส่วน]
              พระโพธิสัตว์ตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งว่า เธอยังบวชไม่ได้ เธอจะต้องไป แล้วทรงมอบ
เครื่องอาภรณ์และม้ากัณฐกะให้ นายฉันทะรับไปแล้ว. ทรงดำริว่า ผมทั้งหลายของเรานี้
ไม่สมควรแก่สมณะ ทรงดำริต่อไปว่า ผู้อื่นที่สมควรจะตัดผมของพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มี.
เพราะเหตุนั้น เราจักตัดด้วยพระขรรค์นั้นด้วยตนเอง จึงเอาพระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์
เอาพระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา (จุก) พร้อมกับพระโมลี (มวยผม) แล้วจึงตัดออกเส้นพระเกศา
เหลือประมาณ ๒ องคุลี เวียนขวาแนมติดพระเศียร พระเกศาได้มีประมาณเท่านั้น
จนตลอดพระชนมชีพ.

              และพระมัสสุ (หนวด) ก็ได้มีพอเหมาะพอควรกับพระเกศานั้น
ชื่อว่ากิจด้วยการปลงผมและหนวดมิได้มีอีกต่อไป.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1&p=6#เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์

ความคิดเห็นที่ 6-97
GravityOfLove, 12 มีนาคม เวลา 10:54 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-98
GravityOfLove, 12 มีนาคม เวลา 10:55 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๔๐. ธาตุวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกธาตุ
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยัง
พระนครราชคฤห์ ทรงประทับในโรงของช่างหม้อชื่อภัคควะ ซึ่งมีกุลบุตรชื่อปุกกุสาติ
ผู้บวชอุทิศพระผู้มีพระภาคด้วยศรัทธา พักอยู่ก่อนแล้ว
             (เดิมคือพระเจ้าปุกกุสาติ เสวยราชสมบัติในพระนครตักกสิลา
เป็นพระสหายกับพระเจ้าพิมพิสาร)
             ในโรงช่างหม้อ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์ ดำรงพระสติมั่น
เฉพาะหน้า (ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ) จนล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก
             แม้ท่านปุกกุสาติก็นั่งล่วงเลยราตรี ไปเป็นอันมากเหมือนกัน
(นั่งเข้าอานาปานจตุตถฌาน (รูปาวจรฌาน) โดยเขาไม่รู้ว่าเป็นพระผู้มีพระภาค
เพราะพระองค์ทรงปกปิดพระพุทธสิริไว้)
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใส
เราควรจะถามดูว่า เขาบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดา ชอบใจธรรมของใคร
(ทรงทราบ แต่ทรงถามเพื่อเริ่มตั้งถ้อยคำขึ้น)
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ท่านปุกกุสาติตอบว่า
             มีพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวช
ทรงมีกิตติศัพท์ฟุ้งไป งามอย่างนี้ ... (พระพุทธคุณ ๙)
             ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             ตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน
             ตอบว่า ประทับอยู่ที่พระนครชื่อว่าสาวัตถีอยู่ในชนบท ทางทิศเหนือ
             ตรัสถามว่า ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่าน
เห็นแล้วจะรู้จักไหม
             ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย
ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก
             พระผู้มีพระภาคมีพระดำริว่า กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา เราควรแสดงธรรมแก่เขา
             พระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า
             ดูกรภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าวต่อไป
             ท่านปุกกุสาติทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ
             พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า คนเรานี้มี
             ๑. ธาตุ ๖
             ๒. สัมผัส ๖
             ๓. ความหน่วงนึกของใจ ๑๘
             ๔. ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ คือ มีปัญญา มีสัจจะ มีจาคะ มีอุปสมะ
             ๕. ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ
พึงศึกษาสันติเท่านั้น
             ๖. คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว
ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ซึ่งบัณฑิตจะ
เรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว
             นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก

             ๑. ธาตุ ๖ คือ
             ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธาตุ_6

             ๒. แดนสัมผัส ๖ คือ
             จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ผัสสะ_6

             ๓. ความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น คือ
             บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส
หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา (3)
             เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (6) ตรัสทำนองเดียวกัน (3 x 6 = 18)
             (ความหน่วงนึกของใจ (มโนปวิจาร ความท่องเที่ยวไปแห่งใจ) หมายถึง
วิตกและวิจาร)

             ๔. ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ (อธิษฐานธรรม) ๔ คือ
             ปัญญา สัจจะ จาคะ (ความสละกิเลส) อุปสมะ (ความสงบ)

             ๕. ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ
พึงศึกษาสันติเท่านั้น
             ๕.๑ ไม่พึงประมาทปัญญา
             (ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย ไม่ละเลยการใช้ปัญญา ในที่นี้หมายถึงไม่พึงประมาท
สมาธิปัญญาและวิปัสสนาปัญญาตั้งแต่ต้น เพื่อแทงตลอดอรหัตผลปัญญา)
             ธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ
             (๑) ปฐวีธาตุ
             ปฐวีธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี
             ปฐวีธาตุภายใน ได้แก่สิ่งที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
คือ ผม ฯลฯ อาหารเก่า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง กำหนดได้
มีในตน อาศัยตน
             ปฐวีธาตุทั้งภายในและภายนอก เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น
             พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
             ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุ

             (๒) อาโปธาตุ
             อาโปธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี
             อาโปธาตุภายใน ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้
มีในตน อาศัยตน คือ ดี ฯลฯ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบ
ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
             อาโปธาตุทั้งภายในและภายนอก เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น
             พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
             ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุ

             (๓) เตโชธาตุ
             เตโชธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี
             เตโชธาตุภายใน ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้
มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม
ยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว
ที่ลิ้มแล้ว ถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้ สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่น
ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
             เตโชธาตุทั้งภายในและภายนอก เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น
             พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
             ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุ

             (๔) วาโยธาตุ
             วาโยธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี
             วาโยธาตุภายใน ได้แก่สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไป
ตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ
ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
             วาโยธาตุทั้งภายในและภายนอก เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น
             พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
             ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้

             (๕) อากาสธาตุ
             อากาสธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี
             อากาสธาตุภายใน ได้แก่สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน
อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปากซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน
ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบาย
ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิด
ไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
             อากาสธาตุทั้งภายในและภายนอก เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น
             พึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
             ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอากาสธาตุ

             (๖) วิญญาณธาตุ
             วิญญาณธาตุรู้เวทนา และรู้เวทนาดับ
             ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีก (เพราะได้ตรัสรูปกัมมัฏฐานแล้ว) ก็คือ
วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
             บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า
สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง (เวทนา ๓)
             เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยเวทนา
ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนาอยู่
             เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั้นดับไป ย่อมรู้สึกว่า
ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ
             เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนสีกัน
ความร้อนที่เกิดจากไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเอง
แยกกันไปเสียคนละทาง ฉันใดฉันนั้น

             เวทนาต่างๆ ดับ เหลืออุเบกขาเวทนาอันเหมาะแก่การเจริญอรูปาวจรฌาน
             ต่อนั้น สิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง
อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว (หมายถึงอุเบกขาในฌาน ๔)
             เปรียบเหมือนทองที่หมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อน สลวย และผ่องแผ้ว
ประสงค์ชนิดเครื่องประดับใดๆ ย่อมสำเร็จความประสงค์อันนั้นแต่ทองนั้นได้ ฉันใด
             ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเหลืออยู่แต่อุเบกขา บุคคลนั้นย่อมรู้สึกว่า
             ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน
และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขา
อาศัยอากาสานัญจายตนฌานนั้น ยึดอากาสานัญจายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน
             ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน
และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง)
             วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ตรัสทำนองเดียวกัน
             บุคคลนั้นจะไม่คำนึงถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก ย่อมไม่หวาดเสียว ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน

             เวทนาดับเปรียบเหมือนไฟหมดเชื้อ
             ถ้าเขาเสวยเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ
ไม่เพลิดเพลิน (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ)
             ถ้าเสวยเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย (เสวยโดยปราศจากกิเลส)
             เขาเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า
กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
             เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า
กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว
ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้ จักเป็นของสงบ
             เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้จึงโพลงอยู่ได้
เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น ย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ฉันนั้น
             เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อม
ด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งนี้
             ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง

             ๕.๒ พึงตามรักษาสัจจะ
             (สจฺจมนุรกฺเขยฺย พึงรักษาวจีสัจตั้งแต่ต้นเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจ
คือนิพพาน)
             ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ
             เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดา นั้นเท็จ
             สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่นิพพาน นั้นจริง
             ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ
อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งนี้
             ก็สัจจะนี้ คือนิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง

(มีต่อ)

ความคิดเห็นที่ 6-99
(ต่อ)
             ๕.๓ พึงเพิ่มพูนจาคะ
             (จาคมนุพฺรูเหยฺย พึงพอกพูนการเสียสละกิเลสแต่ต้น เพื่อทำการสละกิเลสทั้งปวง
ด้วยอรหัตมรรค)
             บุคคลนั้น ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิเข้าไว้
(สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส)
             ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอุปธิ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งนี้
             ก็จาคะนี้ คือความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

             ๕.๔ พึงศึกษาสันติเท่านั้น
             (สนฺติเมว โส สิกฺเขยฺย พึงศึกษาการสงบระงับกิเลสตั้งแต่ต้น เพื่อสงบระงับ
กิเลสทั้งหมดด้วยอรหัตมรรค)
             บุคคลนั้น ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า
อาฆาต พยาบาท ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย
             ผู้ละอุกศลธรรมเหล่านี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่า
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งนี้
             ก็อุปสมะนี้ คือความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง

             ๖. คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว
ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ซึ่งบัณฑิตจะ
เรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว
             ความสำคัญตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น
เราจักต้องเป็นสัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา
เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่
             ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
             ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนี ผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมด
             และมุนีผู้สงบแล้ว ย่อมไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน
             แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้องเกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร
เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย จักกำเริบได้อย่างไร
เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อธิษฐานธรรม_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เวทนา_3
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปธิ

             ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว
จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วทูลว่า
             โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้าแล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด
ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระองค์ด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ
             ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม
เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ
             ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม
ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย
             ท่านปุกกุสาติทูลขออุปสมบท พระผู้มีพระภาคจึงทรงให้ไปหาบาตรและจีวรให้ครบ
             ขณะที่ท่านปุกกุสาติหาบาตรและจีวรอยู่นั้น ก็ถูกแม่โคขวิดเสียชีวิต
             ภิกษุมากรูปด้วยกัน ไปทูลเล่าแด่พระผู้มีพระภาคว่า
             กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระองค์ตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้น
ทำกาละเสียแล้ว แล้วทูลถามถึงคติของเขา
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว
ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ
(โอปปาติกะ) เพราะสิ้นสัญโญชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น
มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา (บรรลุเป็นพระอนาคามี)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โยนิ_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สังโยชน์เบื้องต่ำ&detail=on

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #6-100]

ความคิดเห็นที่ 6-100
ฐานาฐานะ, 12 มีนาคม เวลา 23:34 น.

GravityOfLove, 10 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๔๐. ธาตุวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกธาตุ
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
10:54 AM 3/12/2014

             เวทนาดับ เหลืออุเบกขาอันเหมาะแก่การเจริญอรูปาวจรฌาน
แก้ไขเป็น
             เวทนาต่างๆ ดับ เหลืออุเบกขาเวทนาอันเหมาะแก่การเจริญอรูปาวจรฌาน
(เพราะอย่างไรเสีย ในรูปฌานหรืออรูปฌานก็มีเวทนาอยู่)

และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุ่งแต่ง)
             แก้ไขเป็น
และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง)

ความคิดเห็นที่ 6-101
ฐานาฐานะ, 12 มีนาคม เวลา 23:46 น.

             คำถามในธาตุวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. พระพุทธคุณทั้งหลายเป็นต้นที่พระเจ้าพิมพิสารทรงลิขิต คือ
             ทรงลิขิตพระพุทธคุณทั้งหลายโดยเอกเทศอย่างนี้ว่า
              ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกนี้หรือโลกอื่น
              หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอ
              ด้วยพระตถาคต ไม่มี พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต
              ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14.0&i=673&p=1

             เป็นเนื้อความในพระสูตรชื่ออะไร?

             3. เนื้อความในอรรถกถาว่า
             สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
              ภิกษุ ๗ รูป เข้าถึงอวิหาพรหมโลกแล้วหลุดพ้น
              มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ข้ามตัณหาในโลก และท่าน
              เหล่านั้นข้ามเปลือกตม บ่วงมัจจุราช ซึ่งข้ามได้แสน
              ยาก ท่านเหล่านั้นละโยคะของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงโยคะ
              อันเป็นทิพย์.
              ท่านเหล่านั้น คือ อุปกะ ๑ ปลคัณฑะ ๑
              ปุกกุสาติ ๑ รวม ๓ ภัททิยะ ๑ ขันฑเทวะ ๑
              พาหุทัตติ ๑ ปิงคิยะ ๑ ท่านเหล่านั้น ละโยคะ
              ของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ ดังนี้.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14.0&i=673&p=2

             ใครเป็นผู้กล่าวไว้.

ย้ายไปที่
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 26 มีนาคม 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 18:45:46 น.
Counter : 579 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มีนาคม 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
26 มีนาคม 2557
All Blog