27.3 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
27.2 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=26-03-2014&group=3&gblog=33

ความคิดเห็นที่ 6-30
GravityOfLove, 23 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 19:31 น.

             คำถามโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622

             ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสถามคะว่า รู้จักเทวดานั้นหรือไม่
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-31
ฐานาฐานะ, 23 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 19:44 น.

              ตอบว่า สันนิษฐานว่า เป็นการทรงเกริ่นนำ
เพื่อจะตรัสบอก (ถึงลักษณะของเทวดานั้น) ว่า
              เทวบุตรนั้นชื่อว่าจันทนะ จันทนเทวบุตรย่อมมุ่งประโยชน์
ใส่ใจ เอาใจฝักใฝ่สิ่งทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม
              สันนิษฐานว่า น่าจะทำให้พระภิกษุรูปนั้น ตั้งใจที่จะเล่าเรียนยิ่งขึ้น.
              สรุปว่า ตรัสถาม เพื่อทรงตอบเอง.

              ปัญหาปุจฉาสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4450&Z=4465

ความคิดเห็นที่ 6-32
GravityOfLove, 23 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 19:47 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-33
GravityOfLove, 23 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 20:04 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยทรงแสดงเรื่องผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่พระโลมสกังคิยะ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             ครั้งนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว จันทนเทวบุตร ผู้มีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหาร
นิโครธารามให้สว่างทั่ว ได้เข้าไปหาท่านพระโลมสกังคิยะ แล้วถามท่านว่า
             ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม
             ท่านพระโลมสังกังคิยะกล่าวว่า เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ
             จันทนเทวบุตรกล่าวว่า แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถา
แสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม
             ท่านพระโลมสังกังคิยะกล่าวว่า เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ
             จันทนเทวบุตรกล่าวว่า ข้าพเจ้าทรงจำได้
             ท่านพระโลมสังกังคิยะถามว่า  ก็ท่านทรงจำได้อย่างไรเล่า
             (อุทเทส ในที่นี้หมายถึงบทมาติกาหรือหัวข้อธรรม
             วิภังค์ ในที่นี้หมายถึงการจำแนกเนื้อความให้พิสดาร
             ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ หมายถึงผู้ใช้เวลากลางคืนให้หมดไปด้วยการเจริญ
วิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ)
             คำว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ผู้มีราตรีเดียวเจริญ&detail=on

             จันทนเทวบุตรตอบว่า
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์
             ณ ที่นั้น พระองค์ได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
แก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า

                          บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา
                          ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่
                          ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
                          ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง
                          เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย
                          ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่า
                          ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เรา
                          ทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติเป็นอยู่อย่างนี้
                          มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า
                          ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

             จันทนเทวบุตรกล่าวต่อไปว่า
             ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้อย่างนี้แล
             ขอท่านจงร่ำเรียน และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุรุษผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด
เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้น
แห่งพรหมจรรย์ (หมายถึงข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์)
             จันทนเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง
             (จันทนเทวบุตรตั้งอยู่ในความประมาท ถูกอารมณ์อันเป็นทิพย์ทั้งหลายครอบงำ
จึงลืมพระสูตรโดยลำดับ ทรงจำได้เพียงคาถาเท่านั้น)
             พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว ท่านพระโลมสกังคิยะมุ่งจาริกไปยังพระนครสาวัตถี
เมื่อถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลเล่าเรื่องที่ตนสนทนา
กับเทวบุตรแด่พระองค์
             ท่านพระโลมสกังคิยะทูลขอพระองค์โปรดทรงแสดงอุเทศและวิภังค์
ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็เธอรู้จักเทวดานั้นหรือไม่
             ท่านพระโลมสกังคิยะกราบทูลว่า ไม่รู้จักเลย พระพุทธเจ้าข้า
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เทวบุตรนั้นชื่อว่าจันทนะ จันทนเทวบุตรย่อมมุ่งประโยชน์ ใส่ใจ
เอาใจฝักใฝ่สิ่งทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม
             ถ้าเช่นนั้น เธอจงตั้งใจฟังให้ดี

             บุคคลไม่ควรคำนึงถึง (ในที่นี้หมายถึงไม่ปรารถนาด้วยตัณหาและทิฏฐิ)
สิ่งที่ล่วงแล้ว (ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ ในอดีต) ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
             ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรม (ด้วยอนุปัสสนา ๗) ปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น
ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
             พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยน (เจรจาต่อรอง) กับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
             พระมุนี (พระพุทธเจ้า) ผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
             (อนุปัสสนา ๗ คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา
นิพพิทานุปัสสนา วิราคานุปัสสนา นิโรธานุปัสสนา ปฏินิสสัคคานุปัสสนา)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุเทศ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มาติกา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=วิภังค์
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ขันธ์_5#find1
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ภาวนา_2

             บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร
             คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว

             บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร
             คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว

             บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร
             คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต

             บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร
             คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต

             บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
             คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ
             ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง (สักกายทิฏฐิ ๒๐)

             บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
             คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
             ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระโลมสกังคิยะจึงชื่นชม
ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 6-34
ฐานาฐานะ, 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 18:13 น.

GravityOfLove, 41 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยทรงแสดงเรื่องผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่พระโลมสกังคิยะ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
8:04 PM 2/23/2014

             ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-35
ฐานาฐานะ, 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 18:14 น.

             คำถามในโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 6-36
GravityOfLove, 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 18:40 น.

             ตอบคำถามในโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
            ๑. บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเป็นอย่างไร
             (สั้นๆ คือ บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ คือผู้ที่ไม่มัวครุ่นคำนึงอดีต
ไม่เพ้อหวังอนาคต เห็นแจ้งธรรมในปัจจุบัน มีความเพียรพยายามตั้งแต่วันนี้
ไม่รอวันพรุ่งนี้)
             ๒. บุคคลคำนึงหรือไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว, บุคคลมุ่งหวังหรือไม่มุ่งหวัง
สิ่งที่ยังไม่มาถึงคืออย่างไร โดยจำแนกตามขันธ์ ๕
             ๓. บุคคลง่อนแง่นหรือไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน คือมีหรือไม่มี
สักกายทิฏฐิ ๒๐
             ๔. พระสูตรนี้กล่าวถึงตอนที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ
ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์
             อรรถกถากล่าวว่า พระองค์เสด็จไปจำพระพรรษาที่ชั้นดาวดึงส์
ในปีที่เจ็ดจากการตรัสรู้ แล้วทรงแสดงพระอภิธรรมแก่พระมารดา
             ๕. ณ ภพดาวดึงส์ พระผู้มีพระภาคตรัสอุทเทสและวิภังค์ของ
บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญตามลำดับ เพื่อทรงให้เกิดความสังเวชแก่ทวยเทพ
ที่ไม่อาจเพื่อแทงตลอดซึ่งกถาที่กำหนดรูปและอรูป อันลึกซึ้งละเอียด
ประกอบด้วยไตรลักษณ์.
             ๖. โลมสกังคิยะนั้นเป็นชื่อพระอังคเถระ. ก็พระเถระนั้นปรากฏชื่อว่าโลมสกังคิยะ
เพราะความที่กายมีอาการแห่งขน นิดหน่อย.
             ๗. สีของกัมพลศิลาอาสน์สีแดงนั้น มีสีเหมือนกองดอกชบา เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่าปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์.
             ๘. ผู้นิ่ง นั่งฟัง ชื่อว่าเรียน.
             เมื่อกระทำการสาธยายด้วยวาจา ชื่อว่าเล่าเรียน.
             เมื่อบอกแก่บุคคลเหล่าอื่น ชื่อว่าทรงจำ.

ความคิดเห็นที่ 6-37
ฐานาฐานะ, 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 19:11 น.

GravityOfLove, 22 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622
...
6:40 PM 2/24/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ.
             พระสูตรนี้ รู้กันกว้างขวาง ศึกษากันทั่ว ทั้งเทวดาและมนุษย์
             ท่านพระโลมสกังคิยะ ก็อุตสาหะเดินทางจากพระวิหารนิโครธาราม
เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท มาเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อฟังพระสูตรนี้ถึงที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี.
             คำอธิบายในอรรถกถาว่า
             เมื่อบอกแก่บุคคลเหล่าอื่น ชื่อว่าทรงจำ.
             ให้นัยว่า เมื่อทรงจำได้ ก็อาจสามารถบอกแก่ผู้อื่นได้
การที่สามารถบอกแก่ผู้อื่นได้ จึงเป็นเครื่องแสดงว่า ทรงจำได้.

ความคิดเห็นที่ 6-38
ฐานาฐานะ, 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 19:13 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622

              พระสูตรหลักถัดไป คือ จูฬกัมมวิภังคสูตร [พระสูตรที่ 35].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              จูฬกัมมวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=579

ความคิดเห็นที่ 6-39
GravityOfLove, 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 20:02 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรเล็ก
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น สุภมาณพ โตเทยยบุตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
             อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้มนุษย์ที่เกิดมา ปรากฏความเลวและความประณีต
คือปรากฏ (๑) มีอายุสั้น (๒) มีอายุยืน (๓) มีโรคมาก (๔) มีโรคน้อย (๕) มีผิวพรรณทราม
(๖) มีผิวพรรณงาม (๗) มีศักดาน้อย (๘) มีศักดามาก (๙) มีโภคะน้อย (๑๐) มีโภคะมาก
(๑๑) เกิดในสกุลต่ำ (๑๒) เกิดในสกุลสูง (๑๓) ไร้ปัญญา (๑๔) มีปัญญา
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้
             สุภมาณพ โตเทยยบุตร ทูลขอให้พระองค์ทรงอธิบายเนื้อความโดยพิสดาร
(โดยละเอียด) ให้ฟัง
             (พระผู้มีพระภาคตรัสให้แทงตลอดได้ยาก เพื่อทรงหักมานะของเขา)
             พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
             ๑. ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีอายุสั้น
             ๒. ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต มีความละอาย ถึงความเอ็นดู
อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีอายุยืน
             ๓. ผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีโรคมาก
             ๔. ผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีโรคน้อย
             ๕. คนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม
             ๖. คนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนน่าเลื่อมใส (หรือผิวพรรณน่าเลื่อมใส)
             ๗. ผู้มีใจริษยา ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะของคนอื่น เมื่อตายไป
จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีศักดาน้อย
             ๘. ผู้มีใจไม่ริษยา ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะของคนอื่น เมื่อตายไป
จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีศักดามาก
             ๙. ผู้ไม่ทำบุญทำทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อตายไป จะเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีโภคะน้อย
             ๑๐. ผู้ทำบุญทำทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีโภคะมาก
             ๑๑. คนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ เมื่อตายไป จะเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก (คนที่ควรกราบไหว้ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอริยสาวก )
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ
             ๑๒. คนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ เมื่อตายไป
จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง
             ๑๓. ผู้ไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล
อะไรเป็นอกุศล เป็นต้น เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีปัญญาทราม
             ๑๔. ผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล
อะไรเป็นอกุศล เป็นต้น เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
             ถ้ามาเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีปัญญามาก
             ตรัสต่อไปว่า
             ๑. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น
             ๒. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน
             ๓. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก
             ๔. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย
             ๕. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม
             ๖. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส
             ๗. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย
             ๘. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก
             ๙. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย
             ๑๐. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก
             ๑๑. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ
             ๑๒. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง
             ๑๓. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม
             ๑๔. ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก
             สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้กราบทูลว่า
             แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยาย
มิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ ฯลฯ
             ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า
เป็นสรณะ ขอเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ความคิดเห็นที่ 6-40
ฐานาฐานะ, 25 กุมภาพันธ์ เวลา 07:59 น.

GravityOfLove, 4 นาทีที่แล้ว
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
              ๓๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรเล็ก
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
8:02 PM 2/24/2014

              ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-41
ฐานาฐานะ, 25 กุมภาพันธ์ เวลา 08:03 น.

             คำถามในจูฬกัมมวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ นึกถึงพระสูตรใดบ้างที่ได้ศึกษามาแล้ว
ที่มีเนื้อความคล้ายกัน กล่าวคือ เรื่องกรรม และผลของกรรม.
             3. เมื่อจบพระสูตรนี้แล้ว สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้บรรลุธรรมอะไรบ้าง
หรือไม่?
             คำว่า กรรม 12
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กรรม_12

ย้ายไปที่
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 26 มีนาคม 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 18:36:44 น.
Counter : 794 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มีนาคม 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
26 มีนาคม 2557
All Blog